- แม้ว่า ‘การให้’ อาจไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราการเงินฉบับไหน แต่สำหรับผมแล้วการบริจาครายได้บางส่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรยึดถือเพื่อสรรสร้างสังคมที่ดีกว่า พ่อแม่แทบทุกคนจะต้องการเลี้ยงลูกให้รู้จักใส่ใจสังคมและคนรอบข้าง แต่บางครั้งเรากลับสร้างนิสัยเห็นแก่ตัวให้กับลูกๆ ด้วยการชื่นชมความสำเร็จส่วนบุคคลและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยไม่รู้ตัว
- หากจะฝึกการให้จนเป็นนิสัย เราต้องเริ่มจากการปันส่วนเงินออมจำนวนเล็กน้อยมาเก็บไว้สำหรับบริจาค โดยที่พ่อแม่คอยสอบถามว่าเจ้าตัวเล็กใส่ใจปัญหาสังคมเรื่องใด และคัดเลือกองค์กรการกุศลที่ขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งอธิบายให้เด็กๆ ฟังว่าเงินที่บริจาคไปนั้น องค์กรจะนำไปแก้ไขปัญหาอย่างไร
- โลกของเด็กๆ ใบเล็กกว่าเรามาก พวกเขาไม่เข้าใจหรอกครับว่าทำไมเด็กบางคนถึงร่ำรวยล้นฟ้า และเด็กบ้างบ้านอาจขาดแคลนและจำต้องใส่ชุดนักเรียนเก่าๆ เมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มสงสัย พ่อแม่ก็ควรให้เวลาพูดคุยในประเด็นดังกล่าว บอกเล่าให้ลูกรู้ว่าผู้ใหญ่แต่ละคนมีรายได้ไม่เท่ากันซึ่งอาจมีสาเหตุจากพื้นฐานของครอบครัว ความโชคร้าย หรือการขาดแคลนโอกาส แต่ละคนต่างต้องเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งที่เราสามารถทำได้คือพยายามเข้าอกเข้าใจและอย่ารีบด่วนตัดสินโดยเอาความเชื่อของเราเข้าไปสวมทับ
‘การให้’ อาจไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราการเงินฉบับไหน แต่สำหรับผมแล้วการบริจาครายได้บางส่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรยึดถือเพื่อสรรสร้างสังคมที่ดีกว่า แต่การปลูกฝังเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะเมื่อมันเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือสิ่งของ เจ้าตัวเล็กในบ้านอาจแสดง ‘ความหวงแหน’ ผิดวิสัยจนพ่อแม่หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเลี้ยงลูกตัวเองมาอย่างไร ทำไมถึงใจแคบอย่างไม่น่าเชื่อ!
แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินนะครับ บางทีพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นเรื่องของช่วงวัยที่โลกหมุนรอบเด็กๆ และบางทีเราเองก็อาจปลูกฝังความเห็นแก่ตัวให้ลูกไปโดยไม่รู้ตัว มีการสำรวจพบว่าพ่อแม่แทบทุกคนจะต้องการเลี้ยงลูกให้รู้จักใส่ใจสังคมและคนรอบข้าง แต่กลับให้น้ำหนักกับความสำเร็จส่วนบุคคลและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต้องเหนือกว่าคนอื่น ผลสุดท้ายคือเด็กส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า “พ่อแม่จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวฉัน ถ้าฉันเรียนได้เกรดดีมากกว่าที่ฉันช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียนและโรงเรียน”
บทความนี้จะเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนมาปลูกฝัง ‘ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’ ให้กับเด็กๆ ในบ้าน เพราะสิ่งสำคัญในชีวิตนอกจากการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและครอบครัวแล้ว อย่าลืมว่าความสุขทางใจก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยมีงานวิจัยยืนยันหลายต่อหลายชิ้นว่าคนที่รู้จักการแบ่งปันหรือทำงานอาสาสมัครอย่างสม่ำเสมอจะมีความสุขและสุขภาพทางใจที่ดีกว่าคนที่ไม่รู้จักแบ่งปัน
1. จัดหา ‘กระปุกหมู’ เพื่อการให้
หากใครยังจำบทเรียนเรื่องการออมได้ ผมแนะนำว่าเด็กๆ ควรแบ่งกระปุกออมสินตามเป้าหมาย ทั้งการออมเพื่อซื้อของในระยะสั้น การออมสำหรับของชิ้นใหญ่ในระยะยาว แต่ที่ขาดไม่ได้คือกระปุกหมูสำหรับการให้
อย่างไรก็ดี เราควรมีเป้าหมายจัดสรรเงินสำหรับบริจาคในระดับที่สมเหตุสมผล โดยแบ่งมาใส่สัก 5 เปอร์เซ็นต์หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่จะเก็บออม เมื่อถึงวันที่กระปุกมีเงินเยอะมากพอ พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้คำแนะนำว่าควรจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้ทำอะไรด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “ถ้าอยากทำให้อะไรบนโลกดีขึ้นหนึ่งอย่าง หนูจะเลือกเปลี่ยนอะไร”
คำตอบอาจเป็นปัญหาน้ำท่วมที่ต่างจังหวัด หมอกควันในกรุงเทพฯ คนขอทานที่เห็นตามท้องถนน หรือสุนัขจรจัด เมื่อจับประเด็นได้ ขั้นตอนต่อไปคือการมองหาองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว โดยที่เราต้องอธิบายอย่างชัดเจนว่าเงินที่บริจาคไปนั้นจะนำไป ‘เปลี่ยนโลก’ ตามที่เจ้าตัวเล็กคาดหวังได้อย่างไรบ้าง
2. เมื่อได้ของใหม่ ให้บริจาคของเก่า
กฎนี้เป็นกฎง่ายๆ สำหรับหลายบ้าน คือ เมื่อได้อะไรใหม่มาสักหนึ่งอย่าง ให้นำของหนึ่งอย่างในบ้านที่ไม่ได้ใช้แล้วไปให้คนอื่นซึ่งอาจมีความต้องการใช้มากกว่า กุศโลบายนี้ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะสอนเรื่องการแบ่งปันแล้ว ยังช่วยจัดการกับปัญหาของล้นบ้านได้อีกด้วย
ข้อดีของกฎนี้คือลูกๆ สามารถเลือกที่จะบริจาคอะไรก็ได้ในบ้านตามสมัครใจ เพียงแค่เจ้าตัวเล็กจะต้องยอมให้อะไรบางอย่างเมื่อได้ของชิ้นใหม่ แต่สำหรับเด็กบางคนที่ต่อต้านวิธีปฏิบัติเช่นนี้ พ่อแม่ก็อย่าไปฝืนใจ การให้เป็นสิ่งที่เราควรจะมีความสุขกับมัน เราควรทำใจให้สงบแล้วบอกว่าสักวันหนึ่งเมื่อหนูโตพอก็น่าจะเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับการให้เหมือนกับพ่อแม่
3. เล่าให้ลูกฟังเกี่ยวกับการตัดสินใจบริจาคเงิน
การเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริจาคเงินหรือทำงานอาสาสมัครอาจยังไม่เพียงพอที่จะปลูกฝังให้ลูกรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราจะต้องพูดคุยเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมถึงตัดสินใจช่วยเหลือองค์กรเหล่านี้ โดยที่เราอาจเน้นว่าเงินก้อนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับอะไรบ้างและประเด็นสาธารณะที่เงินจะถูกนำไปใช้นั้นมีความสำคัญกับเราอย่างไร
อย่าคิดว่านี่เป็นการอวดโอ่เรื่องการทำความดีให้ลูกฟังนะครับ เพราะมีการศึกษาโดยองค์การสหประชาชาติที่ติดตามเด็กจำนวน 900 คนเป็นเวลาร่วม 6 ปีพบว่าเด็กๆ ที่พ่อแม่พูดคุยเรื่องการบริจาคเงินมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแบ่งปันเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป้าหมายสาธารณะ เมื่อเทียบกับพ่อแม่ที่บริจาคเงินอย่างสม่ำเสมอก็จริงแต่ไม่เคยหยิบมาบอกเล่าให้ลูกฟัง
หากเป็นไปได้ ทุกครั้งที่เราบริจาคนอกจากจะเล่าให้ลูกฟังแล้ว ก็ถือโอกาสลองชวนลูกมาบริจาคร่วมกันนะครับ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีนซึ่งเด็กๆ อาจได้เงินสดมาก้อนใหญ่ซึ่งพ่อแม่สามารถชักชวนให้ลูกแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับมอบให้แก่สังคม
4. สอนลูกให้เข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ
โลกของเด็กๆ ใบเล็กกว่าเรามาก พวกเขาไม่เข้าใจหรอกครับว่าทำไมเด็กบางคนถึงร่ำรวยล้นฟ้า และเด็กบ้างบ้านอาจขาดแคลนและจำต้องใส่ชุดนักเรียนเก่าๆ เมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มสงสัย พ่อแม่ก็ไม่ควรบอกปัดและควรให้เวลาพูดคุยในประเด็นดังกล่าว บอกเล่าให้รับรู้ว่าผู้ใหญ่แต่ละคนมีรายได้ไม่เท่ากันซึ่งอาจมีสาเหตุจากพื้นฐานของครอบครัว ความโชคร้าย หรือการขาดแคลนโอกาส แต่ละคนต่างต้องเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งที่เราสามารถทำได้คือพยายามเข้าอกเข้าใจและอย่ารีบด่วนตัดสินโดยเอาความเชื่อของเราเข้าไปสวมทับ
มีการศึกษาพบว่า เด็กนักเรียนชั้นมัธยมที่พ่อแม่ชวนพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างสม่ำเสมอจะไม่เชื่อมายาคติที่ว่าคนจนเพราะพวกเขาไม่ฉลาดหรือว่าไม่ขยันซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อ
สำหรับพ่อแม่ที่อยู่ในเมืองอาจต้องเจอกับสถานการณ์กระอักกระอ่วน เช่น เจอกับขอทานตามท้องถนน หรือคนแต่งตัวมอซอมาขอให้ช่วยอุดหนุนสินค้า บางคนอาจยอมควักกระเป๋าให้แบบไม่ยากเย็น ขณะที่บางคนอาจยึดถือว่าจะไม่ให้เงินแก่คนเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าคุณจะดำเนินตามแนวทางไหนก็ไม่ควรทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยิน แต่ควรตอบปฏิเสธอย่างสุภาพหากคุณยึดตามแนวทางอย่างหลัง ในกรณีที่ลูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ช่วยคนที่ลำบาก ให้ใช้โอกาสนี้อธิบายเหตุผลให้ฟัง พร้อมกับเล่าว่าเราบริจาคเงินผ่านช่องทางอื่นใดบ้างที่เรามองว่ามีความสำคัญไม่ต่างกัน
5. อย่าบังคับคนอื่นให้ทำความดี
บางบ้านที่ปลูกฝังลูกให้มีจิตสำนึกต่อสังคมได้สำเร็จก็อาจเผชิญกับปัญหาที่น่าปวดหัวอย่างอื่นเช่นการที่เด็กๆ ในบ้านเริ่มคาดคั้นให้คนอื่นบริจาคให้กับองค์กรที่ตัวเองสนใจ หรือกลับมาจากการทำงานอาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาดแล้วเริ่มเกรี้ยวกราดใส่ทุกคนที่ใช้หลอดพลาสติก
เมื่อเด็กๆ เริ่มมีพฤติกรรมแบบ ‘เกินเลย’ หรือเข้าขั้นระรานคนอื่น อย่างแรกที่ต้องทำคือการหายใจเข้าลึกๆ และพยายามมองข้ามคำพูดไม่รื่นหูของเจ้าตัวเล็ก แต่หากคิดว่ามีจุดไหนที่เกินกว่าจะรับไหว เราก็อาจต้องเรียกมาพูดคุยปรับความเข้าใจโดยเริ่มจากแสดงความยินดีที่ลูกๆ เริ่มก่อร่างสร้าง ‘ชุดคุณค่า’ เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ตนเองใส่ใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบอกให้เข้าใจว่าคนอื่นๆ อาจให้น้ำหนักกับประเด็นสาธารณะที่แตกต่างกันออกไป ตราบใดที่เรายังอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน เราก็ต้องประนีประนอมในบางเรื่องและเคารพในความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน
สำหรับบางบ้านอาจเจอกับสถานการณ์ที่ลูกๆ เริ่มไปร้องขอให้คนอื่นบริจาคเงิน พร้อมกับบ่นตัดพ้อต่อว่าเมื่อระดมเงินได้ไม่ถึงเป้า เราอาจต้องเรียกมาปรับความคิดเสียใหม่โดยเน้นว่าแต่ละคนต่างก็เผชิญกับความท้าทายทางการเงินที่แตกต่างกัน แม้ว่าลูกจะรวบรวมเงินเพื่อทำในสิ่งที่คิดว่าดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีกำลังพอที่จะจ่ายไหว พร้อมกับถือโอกาสสอดแทรกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำให้เด็กๆ ฟังไปด้วย
6. ระมัดระวังเรื่องการซื้อพ่วงบริจาค
ปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งเริ่มมีโครงการบริจาคกำไรบางส่วนที่ได้จากการขายสินค้า (ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า แว่นตากันแดด หรือขวดน้ำดื่ม) ให้แก่คนที่ยากไร้ แน่นอนครับว่าโครงการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่าเรามีทางเลือกคือการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกลงสักหน่อย แล้วนำเงินส่วนต่างไปบริจาคให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ขับเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญสำหรับเราจริงๆ
ข้อควรระวังของโครงการซื้อของพ่วงบริจาคคือเราอาจตกหลุมพรางแล้วซื้อสินค้ามากเกินกว่าที่เราต้องการ และบางครั้งการใช้จ่ายจนเกินตัวอาจทำให้เรารู้สึกดีที่ได้ช่วยสังคมจากการซื้อสินค้าเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำ
7. อย่าลืมเก็บใบเสร็จเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี
ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะเป็นเงินบริจาคของเจ้าตัวเล็กที่ไม่มีรายได้ หรือเป็นของลูกๆ ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พ่อแม่ควรให้คำแนะนำเรื่องการเก็บใบเสร็จรับเงินเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี ตามกฎหมายไทยแล้ว เงินบริจาคให้แก่องค์กรสาธารณกุศลจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาหรือโรงพยาบาลของรัฐจะนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่า ที่สำคัญอย่าลืมระบุชื่อผู้บริจาคให้เป็นผู้มีรายได้สูงที่สุดในครอบครัวเพื่อจะได้ช่วยประหยัดภาษีให้ได้มากที่สุด
แน่นอนครับว่าการลดหย่อนภาษีไม่ใช่เป้าหมายหลักของการให้ แต่การลดหย่อนภาษีก็อาจช่วยเราบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง อีกทั้งยังทำให้เรามั่นใจว่าเงินที่บริจาคไปนั้นมี ‘ใบเสร็จ’ และจะนำไปทำประโยชน์สาธารณะจริงๆ ไม่ใช่สูญหายไปเข้ากระเป๋าใคร
ทั้ง 7 ข้อคือหลักการปลูกฝังเรื่องการให้ที่ทุกครอบครัวสามารถไปประยุกต์ใช้ได้สำหรับลูกๆ ตั้งแต่วัยเตาะแตะไปจนถึงวัยทำงาน ผมอยากเน้นย้ำอีกครั้งว่าเราควรนำเรื่องการบริจาคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายในครอบครัว แม้อาจไม่ใช่เงินบริจาคก้อนใหญ่มากมายอะไร แต่ผมเชื่อว่าสังคมในฝันของทุกคนย่อมเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่แก่งแย่งแข่งขันและต่างคนต่างอยู่
คุณและครอบครัวสามารถร่วมสร้างสังคมนั้นได้ ด้วยการนำเงินไปบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะที่คุณคิดว่าสำคัญ