- การลงทุนเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กเล็กที่มักมีปัญหาในการเข้าในแนวคิดเรื่องวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรืออนาคตอันไกลแสนไกล การลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากยิ่งกว่า หนึ่งวิธีในการทำความเข้าใจ คือ การทำให้แนวคิดนามธรรมจับต้องได้ ก็คือการสอนผ่านนิทานหรือการชวนทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ต้องรอเวลาก่อนจะได้ผลตอบแทน เช่น การปลูกผักหรือดอกไม้
- เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงประถมวัยและเริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น พ่อแม่อาจชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจของเจ้าตัวเล็กเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภาพใหญ่อย่างไร เช่น อธิบายเรื่องหุ้นและบริษัทผ่านสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ชวนคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงด้วยการทดลองทางความคิดอย่างเช่น จะเป็นอย่างไรถ้าร้านอาหารมีเมนูแค่เมนูเดียว เป็นต้น
- ‘ล็อตเตอรี่’ อาจดูเหมือนเป็นการลงทุนใกล้ตัวที่ใครๆ ก็รู้จักรวมถึงเด็กๆ ในบ้าน หากเจ้าตัวน้อยอยากทดลองหาทางลัดรวยเร็วด้วยการเล่นล็อตเตอรี่ ผมแนะนำว่าไม่ควรห้ามแต่ลองให้เอาเงินออมในกระปุกมาลองซื้อจริงจะได้เจ็บจริงเพราะโอกาสถูกล็อตเตอรี่นั้นน้อยมากๆ เมื่อได้ลองขาดทุนกับตัวก็ถือเป็นโอกาสให้พ่อแม่เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้าเราเอาเงินที่จะซื้อล็อตเตอรี่มาเก็บออมและลงทุนนั้น ผ่านไปสิบปีจะมีเงินเท่าไหร่
แม้ตัวผมเองจะจบด้านบัญชีและการเงินมาโดยตรง แต่พอก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยก็ต้องเจอกับสารพัดรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องบริหารจัดการ ตั้งแต่รายรับรายจ่ายแต่ละเดือน การสมัครบัตรเครดิต การขอสินเชื่อ การกำหนดวงเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การยื่นภาษี และอีกสารพัด
แต่เรื่องยอดนิยมที่สุดในแวดวงคนทำงานก็คงหนีไม่พ้น ‘การลงทุน’
เมื่ออ้าปากพูดถึงเรื่องดังกล่าว ศัพท์เทคนิคก็จะหล่นมาเป็นพรวนตั้งแต่อัตราส่วนทางการเงินเพื่อเลือกหุ้นที่น่าสนใจ วิธีดูกราฟปริมาณการซื้อขายเพื่อหาจังหวะซื้อ รายชื่อกองทุนเด็ดของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางคนอาจไปไกลถึงขั้นสารพัดตราสารอนุพันธุ์ ฟิวเจอร์ส สว็อป ออปชัน หรือกระทั่งสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์ที่การันตีว่าจะรวยง่ายและรวยเร็ว
ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ยังปวดหัว แล้วจะเอาอะไรไปสอนเจ้าตัวเล็กในบ้านล่ะครับ?
สำหรับใครที่กำลังคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่ลูกๆ จะเรียนรู้เรื่องการลงทุน ผมขอให้หยุดความคิดนั้นไว้ก่อนเพราะบทความนี้จะแนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่อยากสอนการลงทุนให้เจ้าตัวเล็ก ที่อ่านได้ทั้งคุณแม่ผู้เชี่ยวชาญโลกการเงินระดับผู้จัดการธนาคาร หรือคุณพ่อที่ยังแยกไม่ค่อยออกระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับตลาดหลักสี่
เรื่องการเงินเริ่มยิ่งเร็วยิ่งดีเพราะทุกนาทีที่ปล่อยผ่านไปต่างก็มีราคาที่เรียกว่า ‘ค่าของเงินตามเวลา’
วัยอนุบาล เริ่มจากแนวคิด
1. การลงทุน คือ สิ่งที่เราจะได้รับผลตอบแทนในวันข้างหน้า
สำหรับเด็กเล็กเราต้องเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยให้เข้าใจแนวคิดพื้นฐานก่อนว่า ‘การลงทุน’ คือ การกระทำอะไรก็ตามที่เราจะได้รับผลตอบแทนเมื่อเวลาผ่านไป
คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการสื่อสารกับเหล่าเด็กเล็กด้วยนิทานที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการทำงานหนักและเก็บหอมรอบริบในตอนนี้ โดยสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไว้จะงอกเงยเป็นผลกำไรในอนาคต ตัวอย่างคลาสสิคก็หนีไม่พ้นนิทานเรื่องมดกับจิ้งหรีด เปรียบเทียบระหว่างมดที่ทำงานหนักเพื่อเก็บอาหารในฤดูร้อนเพื่อรอการมาถึงของฤดูหนาว ส่วนจิ้งหรีดร้องรำทำเพลงไม่สนใจอนาคต เมื่อฤดูหนาวทำให้พืชพันธุ์อาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์หดหาย เหล่ามดก็เอาตัวรอดได้สบายเพราะลงทุนเก็บอาหารไว้ก่อน
สำหรับใครที่เบื่อนิทานเชยแสนเชยนี้ ผมแนะนำให้ลองหาหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตร การก่อสร้าง หรืออะไรก็ตามที่ต้องอาศัยความมุมานะบวกกับเวลาที่จะนำไปสู่ผลตอบแทนในอนาคต ถ้าเด็กๆ ชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษก็อย่าลืมเอามาแบ่งปันกันนะครับ
2. เปลี่ยนการลงทุนให้จับต้องได้
การลงทุนเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กที่อาจมีปัญหาในการเข้าใจแนวคิดเรื่องวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรืออนาคตอันไกลแสนไกล การลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากยิ่งกว่า หนึ่งวิธีในการทำความเข้าใจ คือ การทำให้แนวคิดนามธรรมจับต้องได้ โดยแปลงเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ต้องลงแรงและรอเวลาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในอนาคต
พอจะนึกออกไหมครับว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง?
กิจกรรมที่ผมตั้งใจว่าจะใช้สำหรับสอนเจ้าตัวเล็กที่บ้านเรื่องการลงทุน คือ การปลูกพืชผักสวนครัว เริ่มจากการเพาะเมล็ด รดน้ำทุกวัน ใส่ปุ๋ย เฝ้ารอดูมันเติบโต จนถึงวันที่เก็บเกี่ยวออกมาเป็นพืชผักสดใหม่แล้วนำมาปรุงอาหารทานร่วมกัน แล้วจึงชี้ให้เด็กน้อยเห็นว่าการรดน้ำใส่ปุ๋ยก็คือการลงทุน ส่วนผลผลิตแสนอร่อยที่เก็บมากินก็คือผลตอบแทน
สำหรับใครที่ไม่สันทัดพืชผักอาจปรับกิจกรรมเป็นการปลูกดอกไม้แทนก็ได้นะครับ ที่สำคัญคือควรเลือกพืชที่ดูแลง่ายและโตเร็วสักหน่อยเพื่อให้เด็กๆ ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในแต่ละวัน
วัยประถม เข้าใจหลักการพื้นฐาน
1. รู้จัก ‘หุ้น’ จากสิ่งรอบตัว
หากเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพ ‘หุ้น’ ก็คือชิ้นส่วนของบริษัทที่เราสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ แต่ถ้าเอาประโยคนี้ไปเล่า เจ้าตัวเล็กก็คงไม่ฟังแถมอาจจะงงหน่อยๆ ว่าพ่อพูดภาษาอะไร แทนที่เราจะบอกนิยามอย่างตรงไปตรงมา เราอาจต้องเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กๆ ที่สุด นั่นคือสารพัดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั่นแหละครับ
เด็กในวัยนี้จะพอเข้าใจว่าสินค้าและบริการผลิตโดย ‘บริษัท’ หากสบโอกาสพ่อแม่อาจเล่าให้ฟังว่ายี่ห้อโปรดหรือของเล่นไม้ที่อยู่ข้างเตียงต่างก็มีบริษัทเป็นผู้ผลิตขึ้นมาเพื่อขายให้เรา แต่ก่อนที่จะเริ่มผลิตได้ บริษัทพวกนี้ก็ต้องหาเงินมาเป็นทุนตั้งต้นโดยการขาย ‘หุ้น’ ให้กับพวกเรา การที่เราเข้าไปซื้อหุ้นก็เสมือนได้ครอบครองชิ้นส่วนเล็กๆ ของบริษัทซึ่งจะได้ส่วนแบ่งเมื่อบริษัทมีกำไรจากการขายของต่างๆ
แน่นอนครับว่าเจ้าตัวเล็กคงไม่ได้นำความรู้นี้ไปใช้เลือกซื้อหุ้น แต่อย่างน้อยก็นับว่าเป็นก้าวแรกเพื่อให้เด็กๆ เห็นภาพว่าการตัดสินใจซื้อของแต่ละครั้งนั้นส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร
2. สอน ‘กระจายความเสี่ยง’ ด้วยการทดลองทางความคิด
‘อย่าเก็บไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าใบเดียว’ คำพูดคลาสสิคเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงที่อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจนสำหรับผู้ใหญ่ แต่ถ้าจะนำไปเล่าต่อให้เจ้าตัวเล็กฟังก็อาจต้องเลือกบริบทสักหน่อย
สำหรับแนวคิดนี้ ผมว่าช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดคือระหว่างเลือกเมนูตอนรับประทานอาหารนอกบ้าน พ่อแม่อาจชวนลูกจินตนาการเล่นๆ ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเมนูอาหารในร้านมีเพียงของโปรดของเจ้าตัวเล็กแค่อย่างเดียวคือ ‘สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศหมูสับ’
แน่นอนว่าลูกค้าต้องมาน้อยลงแน่ๆ อย่างน้อยคุณแม่ก็คงไม่อยากมาเพราะไม่สันทัดกับอาหารที่คลุกซอสมะเขือเทศ ส่วนเด็กๆ ก็คงมากินอีกไม่กี่ครั้งเพราะเบื่อที่จะต้องกินอย่างเดิมซ้ำๆ ถึงจะเป็นของโปรดก็ตาม นี่คือเหตุผลที่ร้านอาหารต้องมีเมนูให้เลือกหลายอย่างเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายซึ่งก็คล้ายกับแนวทางเรื่องการกระจายความเสี่ยง
ส่วนพ่อแม่คนไหนที่ไม่สันทัดเรื่องการลงทุนและยังนึกไม่ออกว่าการกระจายความเสี่ยงจะนำมาประยุกต์ใช้กับโลการลงทุนอย่างไร ผมลองให้นึกเล่นๆ ว่าถ้าเราทุ่มเงินออมทั้งหมดไปซื้อหุ้นของบริษัท ก. เพียงบริษัทเดียว หากบริษัทดังกล่าวผลประกอบการดีจนราคาพุ่งกระฉูดก็นับว่าโชคดีไป แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้างเงินทั้งหมดที่เก็บหอมรอบริบไว้อาจสลายหายวับไปกับตา ดังนั้นทางดีกว่าคือการกระจายความเสี่ยงฃ แทนที่จะลงทุนกับบริษัทเดียว เราอาจแบ่งเงินเป็นหลายๆ ก้อนเพื่อลงทุนกับบริษัทอื่นด้วย เมื่อกระจายเงินลงทุนแล้ว ต่อให้บริษัท ก. จะย่ำแย่จนราคาหุ้นเหลือแค่ศูนย์ เราก็ยังมีเงินลงทุนในบริษัทอื่นทำให้ไม่เจ็บหนักมากนัก
3. ชวนลูกเล่นล็อตเตอรี่
เชื่อไหมครับว่าถ้าลองถามเจ้าตัวเล็กในบ้านถึงวิธีที่จะทำให้รวยได้อย่างรวดเร็ว เด็กๆ ส่วนใหญ่อาจตอบโดยทันทีทันใดว่าให้ซื้อล็อตเตอรี่ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เจ้าตัวน้อยจะตอบแบบนั้นเพราะล็อตเตอรี่คือการเดิมพันยอดนิยมที่ทั้งถูกกฎหมายและมีเงินสะพัดหลักแสนล้านในแต่ละเดือน เมื่อเด็กเห็นผู้ใหญ่หลายคนมีความสุขและความหวังจากการซื้อล็อตเตอรี่สองครั้งต่อเดือน อิทธิพลดังกล่าวย่อมส่งต่อให้กันแบบรุ่นสู่รุ่น
แต่ทราบไหมครับว่าถ้าเราซื้อล็อตเตอรี่ไปเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก สถิติบอกกับเราว่าทุกๆ เงิน 80 บาทที่ลงไปนั้นจะได้กลับมาเพียง 48 บาทหรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนเรียกว่ายิ่งซื้อยิ่งขาดทุนก็ว่าได้
แต่ตัวเลขน่าเบื่อเหล่านี้หรือจะสู้เงินรางวัลที่แสนเย้ายวนจากการซื้อล็อตเตอรี่ แม้ว่าโอกาสจะถูกรางวัลนั้นน้อยแสนน้อยก็ตาม หากเด็กๆ บ้านไหนรู้สึกว่าล็อตเตอรี่คือวิธีที่ช่วยให้รวยได้แบบง่ายๆ พ่อแม่ไม่ควรห้ามนะครับ แต่ควรให้ลองจริง (และเจ็บจริง) โดยการอนุญาตให้เจ้าตัวเล็กนำเงินในประปุกไปซื้อล็อตเตอรี่สักใบซึ่งเชื่อได้เลยครับว่าถูกกินแน่นอน
หลังจากเจ็บตัวแบบพอหอมปากหอมคอก็ได้เวลาที่พ่อแม่จะถอดบทเรียนให้เจ้าตัวเล็กฟัง สมมติว่าเราเอาเงินไปซื้อล็อตเตอรี่เดือนละ 1,000 บาท ผ่านไป 10 ปีเงินที่หามาอย่างยากลำบากที่หากเก็บไว้เฉยๆ ในธนาคารก็จะได้อย่างน้อย 120,000 บาท แต่การแสวงโชคด้วยการซื้อล็อตเตอรี่จะทำให้เงินก้อนนั้นหดเหลือเพียงราว 72,000 บาท ส่วนคนที่ฉลาดลงทุนแล้วนำไปหาผลตอบแทนได้ปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ เงินก้อนเดียวกันนี้เองก็จะงอกเงยเป็น 173,084 บาท
หากเปรียบเทียบอย่างชัดเจนอย่างนี้ เชื่อผมเถอะครับว่าไม่มีเด็กๆ คนไหนจะตอบว่าล็อตเตอรี่คือเส้นทางรวยแน่นอน
เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุน เรามักจะกระโดดข้ามแนวคิดพื้นฐานไปลงรายละเอียดในแง่เทคนิคว่าลงทุนที่ไหนจึงจะได้ผลตอบแทนดีโดยที่ความเสี่ยงต่ำ แต่การสอนเจ้าตัวเล็กเรื่องการลงทุนนั้นเสมือนหนึ่งย้อนกลับมาวางรากฐานเสียใหม่ เริ่มจากแนวคิดว่าการลงทุนคือการอดทนรอเพื่อจะได้ผลตอบแทนในอนาคต ทำความเข้าใจว่าหุ้นที่ซื้อขายกันนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร รวมทั้งหลักการกระจายความเสี่ยงเบื้องต้น และการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลโดยยึดเอาผลตอบแทนมากกว่าความหวังที่ยากจะเป็นความจริง