- การควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นธุรกรรมสามัญธรรมดาที่เราต้องเจอในทุกๆ วัน ธรรมดาเสียจนบางครั้งเราละเลยที่จะสอนเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในบ้าน แต่หากใครคิดจะสอนเรื่องการเงินให้กับลูกหลาน สิ่งแรกๆ ที่ควรสอน คือ การยับยั้งชั่งใจก่อนจะจ่ายเงิน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เด็กๆ สามารถรับสื่อโฆษณาจากหลายช่องทางโดยไม่รู้ตัวทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์
- ในช่วงอนุบาล พ่อแม่ควรสอนให้เด็กแยกให้ออกระหว่าง ‘ความอยาก’ กับ ‘ความจำเป็น’ พร้อมทั้งอธิบายว่าโฆษณาคืออะไร ทำงานอย่างไร และมีที่มาจากไหนเพื่อให้เด็กๆ สามารถแยกได้ระหว่างโฆษณากับรายการทั่วไป ที่สำคัญคือพ่อแม่อย่ากลัวที่จะปฏิเสธลูก และต้องยืนยันหนักแน่นว่า ‘ไม่ก็คือไม่’
- ในช่วงวัยประถม พ่อแม่ควรเริ่มอธิบายเหตุผลในการเลือกซื้อสินค้าแต่ละชิ้นให้ลูกฟัง เปรียบเทียบว่าแต่ละยี่ห้อนั้นราคาและคุณภาพต่างกันอย่างไร แล้วทำไมเราถึงตัดสินใจเลือกสินค้าชิ้นนี้ เด็กๆ ยังควรเรียนรู้สิทธิของผู้บริโภค เช่น การคืนสินค้าหรือการแสดงความไม่พอใจเมื่อคุณภาพสินค้าที่ซื้อไปไม่เป็นไปตามโฆษณา และก้าวสุดท้ายคือการจัดสรรเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับในวันพิเศษเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อของที่ต้องการด้วยตนเอง
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนมีความอยากมีอยากได้ไม่ต่างกัน และในโลกทุนนิยม เราระงับความอยากด้วยการจับจ่ายใช้สอย การควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อสินค้าและบริการจึงเป็นธุรกรรมสามัญธรรมดาที่เราต้องเจอในทุกๆ วัน ธรรมดาเสียจนบางครั้งเราละเลยที่จะสอนเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในบ้าน เพราะมีสมมติฐานว่าเด็กๆ คงเข้าใจเอง
ความเข้าใจเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก หากใครคิดจะสอนเรื่องการเงินให้กับลูกหลาน สิ่งแรกๆ ที่ควรสอนคือการยับยั้งชั่งใจก่อนจะจ่ายเงิน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เด็กๆ สามารถรับสื่อโฆษณาจากหลายช่องทางโดยไม่รู้ตัวทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์
บางคนอาจไม่เห็นด้วยพร้อมกับบอกว่าถ้าพ่อแม่ใช้เงินอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมการใช้เงินเช่นนั้นไปเองโดยไม่ต้องเอ่ยปากสอนเพราะการกระทำย่อมมีค่ามากกว่าคำพูด
แน่นอนครับว่าคำพูดดังกล่าวมีส่วนถูก แต่เด็กๆ ไม่ได้รับอิทธิพลในการจับจ่ายใช้สอยจากพ่อแม่เพียงลำพัง แต่ยังตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์โดยอิงจากกลุ่มเพื่อน รวมถึงการถูกกระตุ้นให้ซื้อสินค้าจากเหล่านักโฆษณามืออาชีพที่พร้อมจะตะครุบความสนใจของเจ้าตัวเล็กซึ่งนับเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ (จากพ่อแม่) มากกว่าที่หลายคนคิด
ตัวอย่างความชาญฉลาดของนักการตลาด เช่น การออกแบบกล่องซีเรียลอาหารเช้า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์พบว่ากล่องซีเรียลของเด็กนั้นจะวางที่ระดับความสูงประมาณ 23 นิ้วโดยที่เหล่าตัวการ์ตูนหน้ากล่องจะมองต่ำลงมาประมาณ 10 องศาเพื่อให้ ‘สบตา’ กับเด็กๆ ที่เดินอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ซีเรียลสำหรับผู้ใหญ่จะวางไว้สูงกว่าและมองในทิศทางที่เกือบตรง การศึกษาชิ้นดังกล่าวยังพบว่าการที่ผู้บริโภคสบตากับตัวการ์ตูนหน้ากล่องไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะทำให้รู้สึกชื่นชอบและเชื่อใจในผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น
คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าเด็กสมัยนี้ต่างถูก ‘ถล่ม’ ด้วยการตลาดไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และเป็นหน้าที่ของเราผู้เป็นพ่อแม่ยุคใหม่ที่จะสอนให้ลูกเติบโตมาเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดและรู้จักยับยั้งชั่งใจก่อนใช้เงิน
วัยอนุบาล เริ่มด้วยการแยกแยะ
1. แยกให้ออกระหว่าง ‘ความอยาก’ กับ ‘ความจำเป็น’
การแยกแยะระหว่างสิ่งที่อยากได้และของที่จำเป็นต้องใช้อาจเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่สำหรับเจ้าตัวเล็กทุกความต้องการของเขาอาจเป็น ‘ความจำเป็น’ ตั้งแต่เค้กแสนสวย ชุดซุปเปอร์ฮีโร่ หรือสนามแข่งรถราคาแพง พ่อแม่จึงต้องเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ให้เด็กๆ ผ่านเกมส์ “อยากได้” หรือ “จำเป็น”
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเล่นเกมส์ดังกล่าวคือระหว่างการเดินในซุปเปอร์มาร์เก็ต พ่อแม่สามารถชี้ชวนให้ลูกดูของต่างๆ แล้วถามว่าของชิ้นนี้ ‘อยากได้หรือจำเป็น’ นม ข้าว ไข่ ผักผลไม้ โยเกิร์ต คือของจำเป็นจึงต้องเอาใส่รถเข็น ส่วนขนมขบเคี้ยว ลูกอมลูกกวาด น้ำหวานคือสิ่งที่อยากได้ก็ไม่ต้องหยิบใส่ หรือหากบ้านไหนผ่อนคลายหน่อยก็อาจอนุญาตสักสองสามชิ้น
ไม่นานหรอกครับที่เด็กๆ จะเริ่ม ‘เข้าใจ’ ว่าพ่อแม่จะสอนอะไร แต่ระวังด้วยนะครับเพราะเจ้าตัวเล็กอาจแผลงฤทธิ์ถามกลับว่าของที่พ่อแม่หยิบใส่รถเข็นสำหรับนั่งกินดื่มเพื่อผ่อนคลายนั้น ‘อยากได้หรือจำเป็น’
2. อย่าเชื่อโฆษณา
ในสายตาผู้ใหญ่การแยกแยะระหว่างโฆษณากับรายการทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีการศึกษาพบว่าเด็กในช่วงปฐมวัยไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ตนเองรับชมนั้นคือโฆษณาหรือรายการทั่วไป พ่อแม่จึงต้องบอกอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่อยู่บนจอคืออะไร พร้อมทั้งอธิบายให้เข้าใจว่าโฆษณาทำงานอย่างไร
ตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อลูกนั่งดูทีวีอยู่ด้วยกันแล้วมีโฆษณาน้ำหวานแทรกขึ้นมา คุณพ่อก็บอกได้ว่าบริษัทนี้หาเงินโดยการขายน้ำหวานให้กับเด็กๆ ก็เลยพยายามดึงดูดให้เรารู้สึกอยากซื้อ คนในจอเป็นแค่นักแสดงที่ถูกจ้างมาให้ทำท่าสนุกสนาน แสงสีเสียงที่สดใสถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเชื่อมโยงระหว่างน้ำหวานกับความสดใสชื่นใจ ดังนั้นเวลาดูโฆษณาแบบนี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้เราลองคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง
การรับสื่อโฆษณาเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรใส่ใจและระมัดระวัง เพราะมีการวิจัยยืนยันว่าเด็กๆ สามารถรับรู้แบรนด์ได้ตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น โดยนอกจากจะออกเสียงอ่านชื่อได้อย่างถูกต้องแล้ว เด็กบางคนยังสามารถบอกได้ถึงผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์จำหน่ายเพียงแค่เห็นรูปโลโก้
3. อย่ากลัวที่จะปฏิเสธลูก
ภาพเด็กดีดดิ้นกับพื้นในห้างสรรพสินค้าคือฝันร้ายที่พ่อแม่แทบทุกคนหวาดกลัว จนบางครอบครัวเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว
แต่ทางเลือกที่ดีกว่าและสอดคล้องกับความเป็นจริงคือการให้ลูกเรียนรู้ที่จะผิดหวัง แม้ว่าเด็กจะดีดดิ้นกรีดร้องราวกับจะตายเสียให้ได้หากไม่ได้ซื้อของที่ต้องการ แต่หลังเหตุการณ์นั้นไม่นานเจ้าตัวเล็กก็อาจจะลืมไปขณะที่ทิ้งบาดแผลในใจพ่อแม่เสียมากกว่า หากลูกของคุณสามารถสงบสติอารมณ์ได้ไม่นานก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากเด็กเล็กมีแนวโน้มจะโยเยแม้ว่าเคยถูกปฏิเสธไปแล้ว คุณอาจต้องเตรียมแผน เช่น การทำสัญญาเกี่ยวก้อยกับลูกเสียก่อนเดินเข้าแดนอันตราย
สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องเข้มแข็งให้คำว่าไม่ก็คือไม่ มิฉะนั้นเจ้าตัวเล็กจะพัฒนากลยุทธ์โดยร้องโยเยทุกครั้งจนกว่าจะได้ของที่ตัวเองต้องการ
วัยประถม ก้าวแรกสู่การเป็นผู้บริโภคตัวน้อย
1. เช็คราคาก่อนซื้อเสมอ
การอ่านป้ายราคาแทบจะเป็นกระบวนการอัตโนมัติสำหรับผู้ใหญ่ แต่อย่าลืมว่าเด็กๆ ไม่ได้มีทักษะดังกล่าวติดตัว ดังนั้นก่อนหยิบอะไรใส่ตะกร้า อย่าลืมชวนให้เจ้าตัวเล็กเช็คราคาสินค้าให้ติดเป็นนิสัย เพื่อให้รู้จักเปรียบเทียบราคาระหว่างสินค้าหลากหลายแบรนด์ รวมถึงการเลือกซื้อให้อยู่ในงบประมาณที่จำกัด
2. อธิบายเหตุผลในการซื้อ
หลายครั้งที่พ่อแม่ต้องแอบไปซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น โทรทัศน์เครื่องยักษ์หรือรถคันใหม่โดยไม่บอกราคากับลูกๆ เพราะกลัวลูกจะรู้ว่าพ่อแม่ที่คอยห้ามซื้อนู่นซื้อนี่แท้จริงแล้วมีเงินในบัญชีมหาศาล (ในมุมมองของเจ้าตัวเล็ก) โดยอาจลืมมองไปว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าวคือบทเรียนสำคัญที่ลูกควรเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย แถมยังสามารถสะท้อนคุณค่าและการลำดับความสำคัญของแต่ละครอบครัวอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น คุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกฟังว่าที่ครอบครัวตัดสินใจซื้อรถตู้ขนาดเล็กซึ่งใช้ระบบไฮบริดก็เพราะรถคันใหม่นี้จะใส่ของและพาคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายไปเที่ยวด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาได้ รถไฮบริดประหยัดน้ำมันเพราะใช้พลังงานส่วนหนึ่งจากไฟฟ้า แล้วก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ารถทั่วไป
หากเป็นไปได้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เจ้าตัวเล็กรับรู้การบริหารจัดการเงินในแต่ละเดือน เหตุผลที่คุณพ่อเลือกซื้อไข่ไก่แบรนด์นี้ทั้งที่แพงกว่าแบรนด์อื่น หรือคำอธิบายจากคุณแม่ที่ตัดสินใจซื้อชีสลดราคา พร้อมรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ ว่าควรปรับเปลี่ยนการใช้เงินอย่างไร นี่คือแบบฝึกหัดการเงินในชีวิตจริงที่หลายบ้านมักมองข้าม
3. เรียนรู้สิทธิของผู้บริโภค
การใช้เงินอย่างชาญฉลาดนั้นไม่ได้จบแค่การซื้อสินค้าหรือบริการ แต่ยังรวมถึงการรับรู้สิทธิของผู้บริโภค เช่น นโยบายการคืนสินค้าว่าหากมีปัญหาจะทำการคืนอย่างไร ต้องเก็บใบเสร็จรับเงินและกล่องไว้หรือไม่ หรือห้ามแกะสติกเกอร์ตรงไหนเพื่อให้การขอเปลี่ยนสินค้าไม่มีปัญหา
อีกหนึ่งสิทธิของผู้บริโภคคือการแสดงความไม่พอใจเมื่อได้รับสินค้าที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เด็กๆ ควรทราบว่าตนเองมีสิทธิยกหูโทรศัพท์หรือส่งจดหมายไปแสดงความคิดเห็นเพื่อให้บริษัทปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ดียิ่งขึ้น หรือขอคำอธิบายในฐานะผู้บริโภค เพราะไม่ว่าจะอายุน้อยแค่ไหนแต่ก่อนจะได้สินค้ามาก็ต้องควักกระเป๋าเงินจ่ายในราคาเท่ากัน ดังนั้นแทนที่จะอัดอั้นความโกรธไว้กับตัว พ่อแม่ก็สามารถสนับสนุนให้ลูก ‘ปล่อยพลัง’ ในฐานะลูกค้าคนหนึ่ง
4. เปิดโอกาสให้ตัดสินใจใช้เงินก้อนใหญ่
ช่วงประถมเป็นวัยที่เด็กๆ เริ่มเข้าสังคมและเห็นว่าเพื่อนร่วมชั้น ‘มีและไม่มี’ อะไร รวมถึงผลิตภัณฑ์ไหนกำลังเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนสวยงาม กิ๊บสุดน่ารัก สมุดบันทึกกุ๊กกิ๊ก ของเล่นจากการ์ตูนเรื่องดัง หรือรองเท้ากีฬาแบรนด์เนม ซึ่งของบางอย่างราคาแพงจนเกินความจำเป็น
อย่างไรก็ดี การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนในวัยนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูกๆ เช่นกัน พ่อแม่อาจหาโอกาสพิเศษเพื่อซื้อของพวกนี้ให้โดยที่เจ้าตัวเล็กร่วมสมทบเงินบางส่วน เมื่อวันนั้นมาถึง เราอาจพาเด็กๆ ไปห้างสรรพสินค้าแล้วยื่นเงินสดให้ตามที่สัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจเองว่าจะทุ่มเงินทั้งก้อนเพื่อซื้อสินค้าราคาแพงตามที่ตั้งใจไว้ หรือยอมลดสเปคลงมาหน่อยแล้วใช้เงินก้อนดังกล่าวไปซื้อของอย่างอื่นที่อยากได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือให้ลูกหัดตัดสินใจจัดการกับเงินก้อนใหญ่ด้วยตัวเอง
การยับยั้งชั่งใจก่อนการใช้เงินไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การตลาดรุมเร้าเราทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ แถมการจ่ายเงินก็ง่ายแสนง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ความสะดวกสบายนี้ทำให้หลายคนติดอยู่ในกับดักหนี้สินเพราะการใช้จ่ายเกินตัว แต่ปัญหาดังกล่าวป้องกันได้โดยการปลูกฝังเด็กๆ ให้แยกแยะระหว่างสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่ต้องการ รวมถึงการฝึกใช้เหตุผลก่อนตัดสินใจหยิบสินค้าใส่ตะกร้าและกดจ่ายสตางค์