- ‘การเงิน’ คำที่หลายคนได้ยินแล้วรู้สึกกลัว เพราะมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เข้าใจยาก แต่การเงินไม่ได้มีความหมายแค่การเล่นหุ้น หรือลงทุน เพราะหัวใจของการเงินคือการ ‘ตัดสินใจ’ ใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดในมือ ปันส่วนไปใส่ในแต่ละตัวเลือกอย่างเหมาะสม
- การบริหารเงินในชีวิตประจำวันจึงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องถ่ายทอดให้เด็กๆ รู้ตั้งแต่ยังเล็กๆ คำถามคืออายุเท่าไรจึงจะควรเริ่ม แล้วต้องสอนเรื่องอะไรบ้าง สอนอย่างไร
- ซีรีส์ ‘เงินทองต้องคิดส์’ โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ นักการเงินพ่อลูกอ่อนจะมาช่วยไขข้อสงสัยและความกังวลใจของผู้ปกครองในการสอนลูกเรื่องการเงิน
- อีพีแรกขอประเดิมด้วย 8 ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเริ่มสอนการเงินเด็กปฐมวัย
หลายคนอาจเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญทางการเงินแสดงความคิดเห็นว่าคนไทยในปัจจุบันจัดการการเงินไม่เป็นเพราะพ่อแม่และครูอาจารย์ไม่เคยปลูกฝังด้านการเงินให้กับเด็กๆ ทางแก้ปัญหาก็ตรงไปตรงมา คือ การให้ความรู้ทางการเงินตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าในรั้วบ้านหรือรั้วโรงเรียน เพียงเท่านี้อนาคตของชาติก็จะสดใสห่างไกลปัญหาทางการเงิน
ความคิดเห็นดังกล่าวฟังดูดีมีหลักการ หากคนพูดเป็นไลฟ์โค้ชชื่อดังก็อาจมีคนแชร์หลักหมื่นพร้อมเห็นดีเห็นงามที่ว่าผู้ปกครองและครูอาจารย์ก็ไม่เคยสอนเรื่องการเงินใดๆ ขณะที่พ่อแม่มือใหม่อย่างผมอ่านแล้วก็รู้สึกลุกลี้ลุกลนอยากจะหาข้อมูลแนวทางปลูกฝังนิสัยทางการเงินให้ลูกซึ่งนำไปสู่คำถามว่า การเงินสำหรับเด็กนั้นควรสอนเมื่อไหร่ เริ่มต้นอย่างไร แล้วจะเอาอะไรมาสอน เพราะคนเป็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยก็ยังเอาตัวเองไม่รอด
ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะต่อให้ชีวิตการเงินของเราเละเทะขนาดไหน แต่นั่นก็เป็นบทเรียนราคาแพงที่สามารถนำมาถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ให้เด็กน้อยในบ้านไม่ต้องย่ำซ้ำรอยเดิม ถึงแม้คำว่า ‘การเงิน’ จะเป็นศัพท์แสงที่ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นใจ
แต่การเงินไม่ได้มีความหมายแค่การเล่นหุ้น ซื้อประกัน หรือหากองทุนประหยัดภาษี เพราะหัวใจของการเงินคือการ ‘ตัดสินใจ’ ใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดในมือ ปันส่วนไปใส่ในแต่ละตัวเลือกอย่างเหมาะสม เพื่อความสุขในปัจจุบัน และความมั่นคงในวัยเกษียณ
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังควักกระเป๋าซื้ออาหารกลางวัน รูดบัตรเครดิตซื้อของออนไลน์ หรือจ่ายค่าน้ำค่าไฟผ่านแอปพลิเคชัน นั่นแหละครับคือการ ‘บริหารเงิน’ ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ในครอบครัว
ผมนับว่าโชคดีที่ได้เรียนการเงินและการบัญชีอย่างเข้มข้นตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย การบริหารเงินส่วนตัวจึงไม่ใช่ปัญหาแต่ทว่าการถ่ายทอดให้เจ้าตัวเล็กก็ดูไม่ใช่เรื่องง่าย ลองค้นหาบนโลกอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่เจอบทความที่ถูกใจ สุดท้ายจึงต้องพึ่งหนังสือหลากเล่มโดยพ่อแม่ทั้งโลกตะวันตกและโลกตะวันออก
อ่านจบก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมาเขียนตามนิสัย กลายมาเป็นซีรีย์ เงินทองต้องคิดส์ ไล่เรียงแต่ละหัวข้อการเงินที่พ่อแม่ควรถ่ายทอดให้กับเด็กๆ พร้อมแนวทางภาคปฏิบัติแบบนำไปปรับใช้ได้จริง ครอบคลุมตั้งแต่การออมเงิน หนี้สิน การใช้จ่าย การลงทุน และที่ขาดไม่ได้คือการคืนกำไรให้กับสังคม โดยจะแบ่งเป็นสองช่วงอายุคือเด็กเล็กกว่าชั้นประถม และเด็กโตตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย
ส่วนในบทความชิ้นแรกนี้ ผมขอเริ่มด้วยการปูพื้นฐาน 8 ข้อสำหรับเมื่อพ่อแม่มือใหม่ที่ตั้งใจจะเริ่มสอนลูกเรื่องการเงิน
1. เริ่มให้เร็ว
พ่อแม่หลายคนอาจคิดว่าลูกตัวเองยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจความหมายของเงิน แต่การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสันพบว่าเด็กอายุ 3 ขวบจะเริ่มเรียนรู้แนวคิดทางเศรษฐกิจ เช่น มูลค่าและการแลกเปลี่ยน เจ้าตัวเล็กยังสามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง และเลือกที่จะยับยั้งชั่งใจ (delayed gratification) หากการรอจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
ผู้ใหญ่หลายคนมักแสดงความไม่พอใจเมื่อเด็กเล็กหยิบจับบัตรเครดิต เล่นกระเป๋าสตางค์ หรือพยายามกดตู้เอทีเอ็ม แต่ความเป็นจริงแล้ว เราควรใช้โอกาสที่เด็กน้อยกำลังให้ความสนใจ อธิบายแนวคิดง่ายๆ ว่าเงินคืออะไร พ่อแม่หามาได้อย่างไร แล้วการซื้อของโดยใช้เงินสดและบัตรเครดิตแตกต่างกันอย่างไร
แน่นอนว่าเจ้าตัวเล็กคงไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่นี่ก็ถือเป็นก้าวแรกๆ ในการคุยเรื่องการเงินกับลูก และเปิดทางให้พวกเขาพร้อมเข้ามาถามคำถามเรื่องเงินในอนาคต
2. ยกตัวอย่างจากชีวิตจริง
อย่าให้การสอนลูกเรื่องการเงินกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อโดยการบรรยายเหมือนในห้องเรียน พ่อแม่สามารถหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวิตคนรู้จักแล้วนำมาดัดแปลงเพื่อเล่าให้เหล่าตัวเล็กฟังในรูปแบบคล้ายนิทานก่อนนอน เช่น น้ามายด์ (นามสมมติ) ถึงจะมีรายได้ไม่มาก แต่ก็เก็บเล็กผสมน้อยจากเงินที่ได้ทุกเดือนจนตอนนี้เปิดร้านกาแฟตามฝัน แถมยังทำไอศกรีมและขนมเค้กอร่อยด้วย หรือลุงโอ๊ต (นามสมมติ) ใช้เงินซื้อของเกินตัว ออกของเล่นเป็นกล้องรุ่นใหม่แทบทุกปี แถมยังยืมเงินไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้ลำบากมากเพราะต้องทำงานหาเงินใช้หนี้แบบไม่มีวันพัก
เรื่องเล่าเหล่านี้จะเน้นให้เด็กๆ เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน ทั้งตัวอย่างที่สำเร็จด้วยการเก็บออมและลงทุน รวมถึงหายนะหากใช้จ่ายเงินแบบไม่บันยะบันยัง
3. เล่าด้วยตัวเลข
คนจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยสันทัดวิชาคณิตศาสตร์สักเท่าไหร่ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเงินแบบให้เห็นภาพ การเล่าเรื่องแบบมีตัวเลขก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อให้เจ้าตัวเล็กเห็นภาพได้ง่ายขึ้น จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ เราอาจใส่ตัวเลขเพิ่มเติมไป เช่น น้ามายด์วางแผนว่าจะเปิดร้านกาแฟใช้เงิน 500,000 บาท เขาเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาททุกเดือนเกือบ 10 ปีก่อนที่ฝันจะเป็นจริง หรือลุงโอ๊ตเดือนหนึ่งหาเงินได้ 30,000 บาท แต่ซื้อกล้องที่เป็นแสนก็เลยต้องใช้บัตรเครดิต ตอนนี้เลยต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละหลายพันบาทให้ธนาคาร
เพียงเท่านี้ เด็กๆ จะพอเห็นภาพและสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเงินในเรื่องที่พ่อแม่เล่าให้ฟังนั้นมูลค่ามากน้อยเพียงใด
4. อย่าโกหก
เวลาเด็กน้อยงอแงอยากได้ขนมหรือของเล่นในห้างสรรพสินค้า พ่อแม่หลายคนจะมีระบบตอบรับอัตโนมัติว่า ‘พ่อพกเงินมาไม่พอ’ หรือ ‘แม่ไม่ได้หยิบกระเป๋าสตางค์มา’ ซึ่งเปรียบเสมือนคำขาดที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กสงบสติอารมณ์เพราะรู้ว่าโวยวายต่อไปก็ไม่มีประโยชน์
แต่รู้ไหมครับว่า เด็กๆ รู้นะว่าผู้ใหญ่กำลังโกหก (ก็แน่สิ! ตอนไปซื้อของแผนกอื่นเห็นมีเงินเป็นฟ่อน) ดังนั้นแทนที่จะโกหกลูกว่าเงินไม่พอ เราควรบอกเหตุผลจริงๆ ว่าทำไมเราถึงตัดสินใจไม่ซื้อให้ เช่น อยากได้เยลลี่รูปหมีเคี้ยวหนุบหนับ ก็บอกไปว่าคุณหมอฟันแนะนำว่าหนูยังไม่ควรกินขนมหวานนะครับ อยากได้รถของเล่นที่มีอยู่เต็มบ้าน ก็บอกไปว่าที่บ้านพ่อยังเห็นหนูเล่นไม่ครบทุกคันเลย ไว้ไปเล่นของเล่นที่บ้านให้เบื่อก่อนนะ หรืออยากได้ชุดเจ้าหญิงราคาแพงจนพ่อแม่จ่ายไม่ไหว ก็บอกไปตรงๆ ว่าพ่อแม่ยังไม่มีเงินพอที่จะซื้อให้ แต่ถ้าหนูอยากได้จริงๆ เรามาช่วยกันเก็บเงินกันซื้อในวันเกิดหนูครั้งหน้า แต่ก่อนถึงวันนั้นต้องงดซื้อขนมและของเล่นทุกอย่างนะจ้ะ
5. อย่าทะเลาะเรื่องเงินต่อหน้าลูก
ความเห็นไม่ลงรอยกันเป็นเรื่องสามัญของคู่สามีภรรยา แต่เรื่องเงินก็เช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องที่ต่อให้คิดต่างกันก็ไม่ควรทะเลาะต่อหน้าลูก งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าวัยรุ่นที่เติบโตมาในบ้านซึ่งพ่อแม่ทะเลาะกันเรื่องเงินบ่อยครั้งจะมีแนวโน้มใช้จ่ายเกินตัวและติดหนี้บัตรเครดิตแม้ว่าจะเป็นเด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยก็ตาม นอกจากนี้ รอยแผลเรื่องการเงินในวัยเด็กยังส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ใช้สารเสพติด หรือมีภาวะก้าวร้าวอีกด้วย
ครั้งหน้าถ้าลูกๆ เดินมาขอเงินก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ลงเรียนพิเศษ หรือไปเที่ยวต่างประเทศ ก่อนที่พ่อหรือแม่จะตอบรับหรือปฏิเสธแบบทันควัน ผมแนะนำให้ขอ ‘เวลานอก’ ปรึกษากันให้เรียบร้อยเสียก่อนเพื่อให้คำตอบของทั้งสองคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
6. แค่เอาเงินให้ยังไม่เพียงพอ
หลายครอบครัวมองว่าการสอนเรื่องการเงินที่ดีที่สุด คือ การให้เงินจำนวนจำกัดแล้วให้เด็กๆ ไปบริหารจัดการด้วยตนเอง แน่นอนครับว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่เหมาะสมแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะพ่อแม่ควรพูดคุยเรื่องเงินกับลูกๆ อยู่เสมอ ว่าเงินที่ได้ไปนั้นใช้พอหรือไม่ แต่ละวันนำไปใช้อะไรบ้าง ถ้าอยากได้เงินค่าขนมเพิ่มจะนำไปใช้อะไร
นอกจากนี้ การจัดการทางการเงินยังมีมิติที่มากกว่ารับมาและใช้ไป ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญในการเก็บออม ทางเลือกต่างๆ ในการลงทุน การตัดสินใจทำประกัน ไปจนถึงการบริจาคเพื่อคืนกำไรให้กับสังคม ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่ปูพื้นฐานให้ก่อนที่ลูกน้อยจะเติบโตไปและต้องรับผิดชอบชีวิตการเงินของตนเองในอนาคต
7. ให้เรื่องเงินเป็นเรื่องของทุกคน
“ไปถาม (พ่อ/แม่) สิ!” ประโยคคลาสสิคของหลายครอบครัวที่คุณพ่อหรือคุณแม่เพียงคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการการเงินทั้งหมดของบ้าน แต่ประโยคดังกล่าวอาจไม่เหมาะควรนัก ถึงแม้ว่าคุณพ่อจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน หรือคุณแม่มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมธนาคารมากว่าสิบปี แต่เรื่องเงินในบ้านควรเป็นเรื่องที่ทุกคน ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
หากเราไม่แน่ใจว่าควรจะตอบคำถามลูกอย่างไร พ่อหรือแม่ก็สามารถตอบไปก่อนได้ว่า “ไม่แน่ใจ แต่ (พ่อ/แม่) จะไปหาคำตอบมาให้” แต่ที่สำคัญคือต้องทำตามสัญญาโดยการหาคำตอบมาให้กับเจ้าตัวเล็กด้วยนะครับ
8. อย่าทำนิสัยทางการเงินแย่ๆ ให้ลูกเห็น
แม้เราจะวาดหวังว่าการสั่งสอนให้ลูกเก็บออม ใช้จ่ายเงินพอดีตัว และรู้จักยับยั้งชั่งใจ จะผลิดอกออกผลให้เจ้าตัวเล็กในวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินในวันหน้า แต่บทเรียนที่พร่ำสอนด้วยคำพูดทุกวันคงไร้ประโยชน์หากสิ่งที่พ่อแม่พูดกับการกระทำต่างกันราวฟ้ากับเหว
เด็กที่เริ่มรู้ความย่อมสังเกตเห็นได้ว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้านทุกวันเพราะพ่อแม่ซื้อสินค้าออนไลน์แบบไม่เว้นวันหยุดราชการ ขณะที่บอกกับลูกว่าให้ซื้อเฉพาะของที่ ‘จำเป็น’ ไม่ใช่ทุกอย่างที่อยากได้ ซื้อเสื้อผ้าและกระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง ขณะที่สอนให้ลูกรู้จักประหยัด หรือเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่โดยใช้บัตรเครดิต ขณะที่สอนให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้หากไม่จำเป็นจริงๆ
หากคิดจะสอนเรื่องการเงินให้กับเจ้าตัวเล็ก สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำก็คือนำบทเรียนที่กำลังจะสอนมาสอบทานพฤติกรรมของตัวเอง แล้วค่อยๆ จัดการชีวิตทางการเงินของตัวเองให้ดีขึ้นเพราะตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ามากกว่าคำสอน
อนึ่ง อย่าคิดว่ากฎพื้นฐานทั้ง 8 ข้อคือกฎเหล็กที่ห้ามล่วงละเมิดนะครับ ผมเข้าใจดีในฐานะคนเป็นพ่อที่บางทีเจอลูกอ้อนเข้าใจก็มีอาการ ‘ใจบาง’ กันบ้าง หากพลาดพลั้งยอมแพ้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ให้พ่อแม่รวมพลังตั้งต้นกันใหม่ เพราะเรื่องการเงินนั้น ไม่มีคำว่าช้าเกินกว่าที่จะเรียนรู้ครับ