- “ผมไม่ได้เป็นคนชอบทำอาหาร ปกติทำแค่ไข่เจียวกับต้มมาม่า เพียงแต่ว่าบางเมนูมันหากินไม่ได้ก็เลยต้องทำเอง แต่จริงๆ ก็แค่หาเรื่องโทรไปถามเขาเฉยๆ แหละ การทำกับข้าวมันแค่สื่อกลาง เราไม่ได้จริงจังกับการทำกับข้าวขนาดนั้น แต่พอทำมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่าเราได้ทำหลายเมนูเลย แล้วบางเมนูที่คิดว่ามันยาก แต่พอได้ทำมันก็ไม่ยากอย่างที่คิด”
- แม้บางเมนูจะไม่อร่อยจนต้องเททิ้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก เพราะหัวใจของการทำอาหารของเพจคือการที่เราได้เปิดฉากคุยกัน ได้ใช้เวลาร่วมกันมากกว่า
- เปิดห้องครัวเล็กๆ ของ เค – คณิน พรรคติวงษ์ พร้อมเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ผ่านบทสนทนาง่ายๆ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก แม่ เมนูนี้ทำไง
ในเสียงสับหมูรัวๆ ตามจังหวะขึ้นลงของมือ เสียงฉ่า…เมื่อวัตถุดิบถูกเทลงกระทะ ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วห้องครัวเล็กๆ ในคอนโดมิเนียมใจกลางกรุง
จากคนที่ทำอาหารเป็นแค่ต้มมาม่ากับไข่เจียว จากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ที่ห่างเหิน จากครีเอทีฟโฆษณาที่มีฝันอยากทำงานผู้กำกับ วันนี้…เขากลายเป็นผู้ชายที่สนุกกับการได้เรียนรู้สูตรอาหารของแม่ ได้ลองทำหลายเมนูที่กินมาตั้งแต่เด็ก เมนูที่เรียบง่าย แต่อร่อยเกินต้าน เมนูที่เรียกชื่อไม่ถูกสักทีแถมยังหากินยาก ก็เลยต้องโทรไปถาม “แม่ เมนูนี้ทำไง” เรากำลังพูดถึงเพจอบอุ่นที่เกิดจากการหาเรื่องชวนแม่คุยผ่านการทำอาหาร ที่มี เค – คณิน พรรคติวงษ์ เป็นเจ้าของเพจ
“ฮัลโหล เออแม่ ไอ้..ถามหมูไอ้นั่นหน่อยดิ ชื่อหมูอะไรนะ หมูรวนเค็มเหรอ”
“เออ ทำไม จะทำเหรอ”
“เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าว่าจะทำ”
บทสนทนาแสนเรียบง่ายระหว่างเขากับแม่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ถ่ายทอดผ่านคลิปวีดีโอสั้นๆ ความยาวไม่ถึงสิบนาที คุยกันตั้งแต่เรื่องสูตรอาหาร ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ไปจนถึงสัจธรรมชีวิตในมุมของคนเป็นแม่
The Potential พาทุกคนไปเปิดห้องครัวเล็กๆ ของเค พร้อมเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ผ่านบทสนทนาง่ายๆ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’
โทรไปให้แม่สอนทำกับข้าว เป็นข้ออ้างให้เราได้คุยกัน
แม้เส้นเรื่องหลักจะเป็นการทำอาหารโดยที่เคเป็นคนดำเนินเรื่อง มีแม่เป็นตัวละครสำคัญที่ขาดไม่ได้ และหลังๆ เริ่มมียายมาเสริมทัพ แต่เนื้อหาที่ถูกแทรกอยู่ในคลิปเหล่านั้น คือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของคนสองคน ทั้งเขาและเธอได้พูดคุยกันมากขึ้น จากที่เคบอกว่า จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ของเขากับแม่ ไม่ได้สนิทสนมกันออกจะห่างเหินด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะเหตุการณ์ที่แม่ประสบอุบัติเหตุรถชน ณ ตอนนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะมีให้เราได้ทำอะไรดีๆ ให้กันอีกไหม ดังนั้นเวลาที่ยังมีอยู่เราคุยกันให้มากขึ้นดีกว่า
“เอาจริงๆ ตอนแรกมันก็เป็นทั้งความบังเอิญผสมกับความคิดมาแล้วเหมือนกัน ความบังเอิญแรกก็คือ ผมอยากจะมีเพจ อยากจะมีพื้นที่อะไรที่ทำงานสร้างสรรค์ลงไปอยู่แล้ว เพราะตัวเองก็ทำงานประจำเป็นครีเอทีฟโฆษณา งานสร้างสรรค์มันก็ไปอยู่ในแพลตฟอร์มได้หลายๆ รูปแบบ แต่ละคนมีแชนแนลของตัวเอง ผมก็อยากจะมีพื้นที่ตรงนี้บ้าง อยากจะเอาสกิลเราไปโชว์บ้าง ก่อนหน้านี้ก็มีทำเพจนู่นนี่นั่นมา มันก็แป๊ก ไม่ค่อยเวิร์ก ทีนี้ก็มีช่วงหนึ่งที่คิดจะออกจากงานประจำ อยากไปกำกับโฆษณา ก็เลยคิดว่าจะต้องทำอะไรที่เราจะได้แสดงผลงาน แสดงฝีมือตัวเองซะหน่อย”
“แล้วปลายปีที่แล้วแม่ก็ประสบอุบัติเหตุรถชน ก็เลยเป็นความบังเอิญที่สอง พอตอนไปเยี่ยมแกที่โรงพยาบาลเราก็รู้สึกว่า เราไม่ค่อยได้คุยกันเลย ทำไมช่วงนี้เราห่างกันจัง ยอมรับตรงๆ พอย้ายมาทำงานในเมืองเราก็สนใจแต่เรื่องของตัวเอง จนก็ลืมครอบครัวไป งั้นหาเรื่องที่จะคุยกับแม่ให้มากขึ้นดีกว่า ก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร นึกขึ้นได้ว่าก็เหลือแต่เรื่องกับข้าวนี่หว่าที่ว่าเรายังไม่ได้ถามเขา”
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ ซึ่งในตอนแรกเคพยายามเลี่ยงที่คุยกันผ่านการโทรโดยตรง ด้วยความไม่ชินกับการโทรคุยที่บ้านบ่อยๆ จึงใช้วิธีทักแชททักไลน์ไปแทน แต่ตัวหนังสือก็ให้ความรู้สึกที่แห้งไปหน่อย เนื่องจากว่าไม่มีเสียง สัมผัสไม่ได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกสักเท่าไร และบทสนทนาก็จบลงแบบห้วนๆ เขาจึงตัดสินใจสลัดความไม่คุ้นชินนั้นทิ้งต่อสายตรงคุยกันเลยดีกว่า จากนั้นก็อัดเสียงไว้ซะหน่อยเพื่อที่จะสามารถทำตามได้ พูดง่ายๆ ก็คือ กลัวตัวเองจะลืม สุดท้ายก็ออกมาเป็นบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติอย่างที่เห็น
“ผมไม่ได้เป็นคนชอบทำอาหาร ปกติทำแค่ไข่เจียวกับต้มมาม่า เพียงแต่ว่าบางเมนูมันหากินไม่ได้ก็เลยต้องทำเอง แต่จริงๆ ก็แค่หาเรื่องโทรไปถามเขาเฉยๆ แหละ การทำกับข้าวมันแค่สื่อกลาง เราไม่ได้จริงจังกับการทำกับข้าวขนาดนั้น
แต่พอทำมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่าเราได้ทำหลายเมนูเลย แล้วทุกเมนูนี่ผมทำครั้งแรกหมดเลย ตอนแรกไม่กล้าทำด้วย พวกต้มๆ อะไรแบบนั้นยิ่งไม่กล้าทำ เพราะคิดว่ามันยาก แต่พอได้ทำมันก็ไม่ยากอย่างที่คิด”
การสร้างจุดเด่นให้กับเพจทำอาหารของตัวเองท่ามกลางเพจทำอาหารมากมายในโซเชียล เคจึงต้องสร้างความแตกต่าง ดึงจุดที่คนจะหันมาสนใจและรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่เขานำเสนอ
“เราทำเพจอาหาร แต่ยังไม่ค่อยเห็นคนจะทำแบบถ่ายสวยๆ ไปเลย อาจจะเห็นของต่างชาติมันก็อาจจะมีเป็น vlog ของญี่ปุ่น เกาหลีก็มีถ่ายสวยๆ บ้าง แต่ของไทยไม่ค่อยเห็นเท่าไร แต่จุดสำคัญใหญ่ๆ เลยก็คือ กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มคนที่จะดูเพจนี้คือใคร พอมันเริ่มต้นจากตัวเองเลยใช้ตัวเองเป็นกลุ่มเป้าหมาย ก็คือ เด็กต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมือง กำลังเริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือน คนเราต้องกินข้าวอยู่แล้ว ทุกคนก็มีแม่อยู่แล้ว มันก็เลยเป็นจุดร่วมที่เขาจะเชื่อมโยงกันได้ง่ายๆ แล้วคนไทยเป็นคนที่อินกับเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเรื่องอะไรพวกนี้เขาก็จะทัชได้ง่าย ยิ่งด้วยบรรยากาศในช่วงโควิด การที่กลับไปบ้านไม่ได้มันก็มีความคิดถึง”
ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นในทางที่ดี
จะเห็นว่าเพจนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากผู้ติดตามเพียงหลักพันตอนนี้กลายเป็นหลักแสน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเคกับแม่ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามไปด้วย
“เอาจริงๆ ตอนแรกไม่สนิทกันเลย เรารู้สึกว่าห่างเหินกันด้วยซ้ำไป อยู่ด้วยกันแม่ก็เป็นคนเงียบๆ ก็จะคุยกันน้อยมาก โตมาเราถึงจะกล้าคุยกับแม่เยอะขึ้น เด็กๆ ผมก็ขี้อายแม้กระทั่งกับแม่ตัวเอง”
เหมือนประโยคหนึ่งเคพูดไว้ท้ายคลิปว่า
“…ตอนเด็กๆ เรายังถามนู่นถามนี่เขาอยู่เลย แต่พอโตมาก็ไปถามกูเกิลแทน”
แต่แล้วความสัมพันธ์ที่ห่างเหินก็ค่อยๆ ดีขึ้น จากคลิปแรกจนถึงคลิปนี้อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อกันเปลี่ยนไปในทางที่ดี
“ถ้าฟังจากน้ำเสียงแม่ ตอนแรกเขาก็จะแบบโทรมาอีกแล้ว มีความเหนื่อยๆ เนือยๆ อยู่ในน้ำเสียง แต่หลังๆ เขาก็เริ่มรู้ เขาเริ่มเห็นแล้วว่า เราเอาไปทำอะไร แล้วมีคนมาติดตาม มีคนมาเป็นแฟนคลับแม่ มีคนมาชม เขาก็แฮปปี้ไปด้วย รู้สึกดีกับสิ่งที่เราทำไปด้วย ทีนี้โทรไปเขาก็ไม่บ่นละ ถึงจะโทรแบบวันเว้นวันเลยนะ น้ำเสียงก็ยังสดใสขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคุยกันเยอะขึ้น ทำอะไรด้วยกันมากขึ้น”
อีกทั้งตอนนี้ไม่ได้มีแค่แม่อย่างเดียว แต่เคยังทาบทามยายของเขามาร่วมเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สร้างสีสันให้กับคลิปด้วย แถมยายมักจะให้ข้อคิดดีๆ ที่ไม่ได้ให้กำลังใจเพียงหลานชาย แต่เผื่อแผ่มายังผู้ที่ผ่านเข้ามาดูคลิปนั้นด้วย เป็นการปิดจบที่อบอุ่นเสมอ อย่างเช่นท้ายคลิปเมนู ข้าวเหนียวทุเรียน
“เก่งแล้วล่ะ สู้ๆ วันหลังมีใหม่ก็ทำใหม่ คนเรามันก็ยังมีความหวังอะ เราอย่าท้อ ทำอะไรเราอย่าท้อ เราก็สู้ๆ ไปเรื่อยๆ สักวันนึงต้องเป็นของเรา”
“จริงๆ ผมก็สนิทกับยายมากกว่าแม่นะ รู้สึกว่าคุยกับยายโบ๊ะบ๊ะกันได้มากกว่าแม่ คุยแกล้งอะไรเขาบ่อยก็เลยโทรไปหายายด้วยดีกว่า สำหรับหลายๆ คนยายก็เป็นแม่คนที่สองเหมือนกัน แล้วแม่กับยายนี่คนละอารมณ์เลย ยายเราก็จะแหย่ๆ เขาได้ แต่แม่ก็จะมีความไม่เข้าขากันอยู่ เราแหย่ไปก็แห้ง แม่แหย่มาเราก็ไม่เก็ตมุข ก็ยังอยู่ในช่วงค่อยๆ คุยกัน ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ เพราะเราคุยกันน้อยจริงๆ แต่แม่ก็จะได้มุมที่มันอบอุ่น ยายก็จะได้มุมกวนๆ ตลกๆ เป็นหนังคนละแบบ”
หลังจากที่เขาทำเพจมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ การสื่อสารผ่านคลิปของเขาไปไกลมากกว่าเพื่อตัวเองอย่างที่เขาได้พูดไว้ หลายคนที่ได้เห็นต่างก็เชื่อมโยงกับตัวเองได้ง่าย คิดถึงคนที่บ้านขึ้นมาเมื่อดูจบ หรือเผลอยิ้มมุมปากโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นคอมเมนต์หนึ่งที่ทำเอาเครู้สึกดีไปด้วย
“ฟีคแบคดีกว่าที่คิดเหมือนกันนะ ก็อย่างที่บอกว่าตอนแรกสุดเลยเราทำเพื่อตัวเองล้วนๆ มันจะเป็นผลงานของเรานะ เดี๋ยวเราจะมีงานเข้ามานะ เราจะทำเพื่อคุยกับแม่ เราอยากทำกับข้าวนี้ อยากกินเมนูนี้ แต่พอไปอ่านคอมเมนต์หนึ่งเขาบอกว่า
ช่วงนี้พ่อเขาเป็นโควิด อยู่โรงพยาบาลสนาม พ่อเขาก็บ่นว่าอาหารในโรงพยาบาลสนามเนี่ยไม่อร่อยเลย กินไม่ค่อยได้ เขาก็เลยคุยกับพ่อถามสูตรกับข้าวพ่อแล้วก็ทำไปให้พ่อกิน ทำให้มีความสุขในช่วงเวลานี้ได้ ก็เลยรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำเพื่อตัวเอง มันดีกับคนอื่นได้ขนาดนี้เลยเหรอ”
เมนูประจำบ้าน แค่ได้กลิ่นก็หวนนึกถึงวัยเด็ก
เคบอกว่า ทุกเมนูที่เขาเลือกทำเป็นเมนูที่แม่เคยทำให้กินตอนเด็กๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะต้มมะระยัดไส้หมูสับ ต้มผักกาดดอง แกงส้มชะอมไข่ ปลาสลิดทอด แกงเขียวหวาน หมูสับผัดปลาอินทรีย์เค็ม ฯลฯ แต่ถ้าถามว่ามีเมนูไหนที่ทำให้ฟินสุดๆ ทั้งเรื่องรสชาติและกลิ่นอายเรื่องราวในวัยเด็กที่หวนให้นึกถึง เขายกให้เมนูแรกที่ทำเลย นั่นก็คือ หมูสับผัดปลาอินทรีย์เค็ม
“เมนูแรกก็เป็นที่สุดแล้วละ เพราะมันเป็นเมนูที่ง่ายมากๆ แล้วเพราะมันติดอยู่ในใจมากๆ ก็เลยเป็นเมนูแรกมั้งที่อยากจะรู้จริงๆ ว่า ที่เรากินตอนเด็กๆ เนี่ย มันเป็นยังไง มันคืออะไร เรียกก็เรียกไม่ถูก ไปสั่งตามร้านอาหารก็สั่งผิดเป็นหมูหนำเลี๊ยบ ซึ่งมันไม่ใช่ ไม่ใกล้เคียงเลยด้วย แล้วก็หากินไม่ค่อยได้ แต่พอได้ทำ ตอนทำกลิ่นมันมา สีมันมา กินกับข้าวต้มรสชาติแบบนี้เลย แล้วก็ไม่คิดว่าจะทำง่ายขนาดนี้ ทำง่ายจริงๆ แล้วอร่อยด้วย”
แต่เมนูที่ยากสำหรับเค คือ ปาท่องโก๋ ในคลิปเป็นยายที่ร่วมด้วย ซึ่งยายเองก็ทำไม่เป็นเช่นกัน เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน กับอีกเมนูหนึ่งคือ ต้มผักกาดดองซี่โครงหมู วิธีการทำอาจไม่ยุ่งยากนัก วัตถุดิบก็มีเพียงสองสามอย่าง แต่เคบอกว่าการทำให้อร่อยนั้นยากกว่า และถึงแม้จะไม่อร่อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเขา เพราะหัวใจคือการที่เราได้เปิดฉากคุยกัน ได้ใช้เวลาร่วมกันมากกว่า
ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขา จึงเหมือนเมนูๆ นี้ หมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม คือ ดูเป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่ว่ารู้กันแค่กลุ่มน้อยๆ เพราะสูตรนี้ไม่สามารถจะไปหาจากที่อื่นได้เลย นั่นก็เลยทำให้ครอบครัวมีความเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร
“ทุกบ้านจะมีเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ประจำบ้านตัวเองอยู่แล้ว ความสัมพันธ์หรือความเป็นครอบครัวมันก็เลยเป็นอะไรที่เฉพาะ มองตาก็รู้กัน แค่ส่งเสียงก็รู้กันละ มันไม่ต้องมีอะไรมาก เป็นอะไรที่เรียบง่ายและรู้กันเอง แค่ได้กลิ่นปลาเค็มก็รู้แล้วว่าต้องเป็นเมนูนี้ ก็นึกถึงแม่แล้ว แค่ได้ยินเสียงหมูสับจังหวะแบบนี้ ก็รู้แล้ว”
การทำอาหารก็เหมือนการใช้ชีวิต ต้องฝึกฝนถึงจะทำเป็น ต้องใส่ใจและตั้งใจในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ไม่ว่าจะอะไรก็ตามกว่าที่จะประสบความสำเร็จต่างต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งนั้น
“ไม่ยากหรอก ถ้าเราใส่ใจที่จะทำ ถ้าทำทีแรกมันไม่ดี พอหนที่สองเราก็ดูว่าครั้งแรกที่เราทำไม่ดีเพราะอะไร เราก็ปรับปรุงมันก็จะดีขึ้นเอง ทำหนแรกมันจะดีเลยเป็นไปไม่ได้หรอก ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย” แม่ของเค กล่าวไว้ในคลิปเมนู หมูพะโล้
ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเริ่มต้นได้ ถ้าเราเปิดใจรับฟังกันก่อน
หลายคนที่กำลังคิดว่าอยากสร้างบรรยากาศในบ้านให้ดีขึ้น อยากคุยกันมากกว่านี้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่เรากลับบ้านไม่ได้ จากที่ห่างกันอยู่แล้วก็อาจยิ่งห่างไปอีก เคแนะนำวิธีการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวฉบับตัวเองมาแชร์กันสักหน่อย เผื่อว่าใครที่อยากจะเริ่มต้น แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี
“ผมว่ามันคือ การฟังกันก่อน ก่อนที่เราจะคุยกัน เขากำลังพูดอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ พูดด้วยน้ำเสียงแบบไหน อารมณ์ไหนอยู่ ต่างคนต่างฟังกันก่อน ถ้าเกิดเราพูดอยู่ฝ่ายเดียวหรือเขาพูดอยู่ฝ่ายเดียวมันก็จะไม่มีวันมาคุยกันได้ง่ายๆ หรือถ้าสมมุติเราไม่ได้ฟังเขา เราก็พูดแต่เรื่องของเราอย่างเดียว ใส่แต่ข้อมูลที่ทำให้เขาหงุดหงิดไปมากกว่าเดิม ความสัมพันธ์มันก็จะยิ่งห่างกันไปอีก แต่มีใครคนนึงพูดเยอะเกินไปก็ให้เราหยุดพูดก่อน หันมาฟังกันก่อน”
แต่สำหรับตัวเขาเอง มักใช้วิธีสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัวตรงนั้นให้ดีขึ้นมาสักหน่อยก่อน หลังจากบรรยากาศเริ่มดีขึ้น ก็จัดแจงหาของอร่อยๆ มานั่งกินกัน เมื่อทุกคนอารมณ์ดีแล้ว จึงพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น คุยกันด้วยสติ
“มีครั้งหนึ่งที่ยายหงุดหงิดมาก กำลังบ่นน้อง แล้วบรรยากาศบ้านมันดูหงุดหงิดมาก เราก็อาศัยการแซวยายไปเลย อยู่ๆ ก็แซว บ่นแบบนี้เป็นห่วงมันน่ะสิ รักมันใช่ไหมล่ะ พยายามเปลี่ยนเรื่องคุย ทำให้บรรยากาศตรงนั้นดีขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องเดิมใหม่ค่อยมาหาวิธี ถามเหตุผลว่าเมื่อกี้มันเกิดอะไรขึ้น
บรรยากาศมันก็สำคัญเหมือนกัน อย่างการคุยแชทมันก็ไม่ค่อยดีเท่ากับการโทรคุยกัน เพราะได้ยินน้ำเสียงได้หรือวิดีโอคอลเราก็รู้แล้ว ตาได้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าเขาอารมณ์ไหน ถ้าเรามีสติคุยกันมันก็จะดีขึ้น แต่มันก็ไม่ได้เวิร์กกับทุกบ้านนะ”
เพจนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่า…ต้องลองทำถึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นยากหรือง่าย
“พอได้มาทำเพจก็ได้เรียนรู้ว่า อะไรที่เราเคยคิดว่ามันยาก มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ ถ้าเกิดเราได้ลองทำไปก่อน อันแรกสุดมันอาจจะยังไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ว่าทำไปก่อนแล้วก็ทำไม่หยุดด้วย ทำไปเรื่อยๆ ถ้ามัวนั่งคิดเยอะเกินไป กังวลเยอะเกินไป เครียดเกินไป มันก็ไม่ได้ทำสักที เหมือนกับบางทีทำกับข้าว ถ้าเราหิวอะ แต่เรามัวแต่นั่งคิดเมนู นั่งนึกไปเรื่อยๆ หมดวันละ ไม่ได้กินข้าว เราว่าให้ความหิว ให้ความกระหายนี่แหละช่วยขับเคลื่อน ในการที่เราจะรีบๆ ลงมือทำ”
แล้วก่อนจะมาลงเอยที่เพจนี้เคเองก็ทำมาหลายเพจอยู่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียล คือ การต้องลองทำ ลองผิดลองถูก
“ผมพูดในสิ่งที่คนจะมีอินไซด์ มีความรู้สึกภายในร่วมกัน พูดในสิ่งที่คนอื่นจะรู้สึกอินกับเราได้ หมายถึงสิ่งที่คนจะสนใจ เหมือนเวลาถ้าเราเข้าไปอยู่ในห้องกับเพื่อนกลุ่มนึง แล้วอยู่ๆ เราก็พูดในสิ่งที่คนอื่นอาจจะไม่เก็ต แต่ถ้าเกิดมันมีจุดร่วมที่เขาเชื่อมโยงกันได้ เขาก็อินกับเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดเราพูดแต่เรื่องของตัวเอง พูดเรื่องที่เราอินจัดๆ มันก็จะได้คนเฉพาะกลุ่มซึ่งก็ดีในแบบของมัน แต่พอเราพยายามปรับให้คนอื่นเขาฟังได้ด้วย พูดในคอนเทนต์ที่เขาไม่ต้องรู้จักเราเขาก็สามารถเก็ตเราได้”
การโทรไปให้แม่สอนทำกับข้าว เป็นข้ออ้างให้เราได้คุยกัน ถือเป็นโมเดลอย่างหนึ่งที่เราไม่ต้องรู้จักกัน แต่สามารถมาเสพคอนเทนต์นี้ แล้วรู้สึกอินไปด้วยกันได้
อีกเรื่องที่ทำให้เคเรียนรู้ได้ดีเลยก็คือ การมีเดดไลน์ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นให้เขารีบลงมือทำอะไรสักอย่างเหมือนกัน
“อย่างที่แม่โดนรถชน เราก็คิดว่าต้องเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง เลยทำเพจนี้ เริ่มลงมือทำ หั่นผัก จับกระทะ จับกล้อง ทำไปก่อนแล้วเราค่อยไปหยิบจับสิ่งที่งอกมาทีหลัง เน้นความเป็นธรรมชาติ ถ้าเกิดเราทำคลิปแบบมีสคริปต์ เขียนสคริปต์ นั่งวิเคราะห์ เขียนบทให้แม่ ก็ไม่ได้ทำสักที เราก็ทำอะไรเท่าที่ทำได้ไปก่อน ถ้าลองแล้วไม่เวิร์กก็ไม่ต้องทำ”
นอกจากนี้เขายังมีอีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากจะทำต่อ ผ่านโปรเจกต์เล็กๆ ที่หวังว่าจะกระจายรายได้และช่วยส่งเสริมธุรกิจในต่างจังหวัดได้บ้าง
“ผมจะทำร้านโลคอลในต่างจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ของต่างจังหวัด อยากจะช่วยขายของให้คนที่เป็นนักธุรกิจเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด อยากให้เศรษฐกิจต่างจังหวัดมันโต ไม่อยากให้ทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่กรุงเทพฯอย่างเดียว อยากเห็นคนกลับบ้าน อยากเห็นคนอยู่กับบ้านมากกว่าเข้ามาในเมือง อยากเห็นคนได้อยู่ใกล้ครอบครัวมากกว่า
บางคนสุดท้ายก็อยากกลับไปทำอะไรที่บ้าน แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี สำหรับผมไม่ได้มีปัญหากับการอยู่ในเมืองนะ แต่ว่าสำหรับคนอื่นบางงานแทนที่มันสามารถอยู่ต่างจังหวัดก็ได้ ทำไมมันจะต้องกระเสือกกระสนจากบ้านมาไกล ซึ่งรายได้มันก็ไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าเกิดเศรษฐกิจต่างจังหวัดมันเจริญกว่านี้ดีกว่านี้ แบรนด์มันแข็งแรงกว่านี้ มันน่าจะมีงานที่ต่างจังหวัดเยอะขึ้น น่าจะช่วยกระจายรายได้ได้มากขึ้น”