- แม้สังคมจะเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่หลายครอบครัวก็ยังกังวล ทั้งจากความไม่เข้าใจและความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย การเปิดใจคุยกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เติบโตในแบบของตัวเองและมีความสุขอย่างแท้จริง
- แม่ตุ๊ก-อังสุมาลิน อากาศน่วม ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะแม่ของลูกหลากหลายทางเพศ “…หลายคนเมื่อเริ่มสงสัยว่าลูกเป็น LGBTQ+ มีความกังวลอยู่มาก ใจเย็นๆ ค่ะ ตั้งสติก่อน LGBTQ+ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย LGBTQ+ คือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นคนโรคจิต ไม่ได้ผิดปกติ เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่ได้ศึกษาความหลากหลายทางเพศที่ลื่นไหลไปไกลกว่าแค่ กะเทย ทอม ดี้”
ภาพ : ปริสุทธิ์
มีคนถามว่า “ต๊าย…เธอเลี้ยงลูกยังไงให้เป็นแบบนี้”
เราก็ตอบกลับไปว่า เลี้ยงลูกแบบให้มีความสุขไงคะ ลูกอยากเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็น เพราะสำหรับ แม่ตุ๊ก-อังสุมาลิน อากาศน่วม เจ้าของเพจ ‘LGBTQ+’s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ’ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการได้เห็นลูกเติบโตอย่างมีความสุขในสิ่งที่เขาเลือก
เมื่อตั้งโจทย์ไว้เช่นนั้น การเปิดใจทำความรู้จักและยอมรับในความหลากหลายทางเพศของคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ทว่าด้วยความซับซ้อนของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งด้านที่เปิดกว้างและคับแคบ แม่ตุ๊กได้ใช้ความรู้ความเข้าใจของตัวเองมาสื่อสารและเรียนรู้ไปกับพ่อแม่ผู้ปกครองหัวอกเดียวกันที่อาจกำลังสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก ขณะเดียวกันก็ใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าใจตัวเอง พอๆ กับเข้าใจผู้อื่น
ที่สำคัญคือ เพื่อให้พวกเขารู้จักปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่นเดียวกับการไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้วย
เพจ LGBTQ+’s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ มีที่มาอย่างไรคะ
ก็คือ ลูก (ปาร์คเกอร์) มาบอกว่าเขาเป็น LGBTQ+ แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า อยากจะเข้าใจเขา ตอนแรกยังไม่ได้เปิดเพจ แต่ลูกบอกว่าอยากจะไปทำกิจกรรมกับกลุ่ม Non-binary เราก็เอ๊ะ! คืออะไร ทีนี้เขามีนัดกับกลุ่มทำกิจกรรมกัน ด้วยความที่เรากับลูกสนิทกันมาก เมื่อลูกถามว่า “แม่อยากไปไหมล่ะ ถ้าแม่อยากไปก็ไปได้” ก็เลยตามไปดูสิว่าเขาทำอะไรกัน แล้วกลุ่มนี้มันคืออะไร
ต้องบอกว่าตัวเราเองมีความรู้เรื่อง LGBTQ+ ก็แค่ เกย์ กะเทย เลส ทอม ดี้ Bisexual เรารู้แค่นั้น แต่ Queer กับ Non-binary คือคำใหม่สำหรับเรา พอได้มาทำกิจกรรมกับลูก เราก็เห็นว่าเอ๊ะ! ทุกคนดูตื่นเต้นว่าทำไมถึงพาแม่มาได้ แม่ไม่ห้ามเหรอ ปฏิกิริยาคนรอบข้างมันทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นเรื่องแปลกเหรอที่พ่อแม่ผู้ปกครองมากับลูก หรือการที่เราไม่ต่อต้านในสิ่งที่เขาเป็น มันแปลกมากเหรอ
ในกลุ่มนักกิจกรรมด้วยกัน เราจะเห็นว่าหลายๆ คนก็มีปัญหาในเรื่องการยอมรับ การถูกบูลลี่ บางทีเราอาจจะมองเขาผิวเผินเกินไป การปฏิบัติกับเขา การใช้คำพูด บางครั้งเราไม่ได้คิดให้ลึกซึ้ง หรืออาจลืมไป เพราะเราไม่ได้เป็นเขา เราก็เห็นในสังคมทั่วๆ ไป เขาก็พูดกับแบบนี้ เล่นกับแบบนี้ แต่บางคำพูดหรือการแสดงออกบางอย่างมันไปกดทับคนที่เป็น LGBTQ+ ให้เขารู้สึกเหมือนถูกบูลลี่ และเป็นการไปลดคุณค่าเขา
แม้แต่เรากับลูกเองก็เจอปัญหานี้ในช่วงแรกๆ เพราะเขาเคยเป็นเด็กผู้หญิง แล้วเราก็เลี้ยงเขามาอีกแบบหนึ่ง พอโตมาเขาบอกว่าเขาไม่ใช่นะ เขาไม่ใช่ผู้หญิง เขาเป็นผู้ชาย ตัวตนเขาเป็นแบบนี้ แล้วเขาก็ขอไปเทคฮอร์โมนด้วย นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ก็ยังความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ด้วยที่เราจะต้องดูแลเขา เลยต้องมีการปรับตัวกันเยอะเหมือนกัน และเราเองก็ยังมีความกังวลว่า… ลูกเราจะใช้ชีวิตลำบากในสังคมนี้ สังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่คิด
อีกอย่างการสื่อสารกับพ่อแม่ เพื่อนปาร์คเกอร์หลายคนถามว่า “คุณแม่คะ หนูจะไปคุยกับที่บ้านอย่างไรดี” “ทำยังไงให้เขายอมรับได้” ถ้าอย่างนั้นฉันเปิดเพจแล้วกัน หวังว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้คนที่กำลังเผชิญกับเรื่องแบบนี้อยู่รู้สึกว่าเขามีเพื่อนคุยที่เข้าใจเขา เป็นศูนย์กลางให้ทั้งพ่อแม่และลูกได้ลองเปิดใจทำความรู้จักความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
เพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าจริงๆ แล้ว การที่มีลูกเป็น LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และสำหรับแม่ การที่ปาร์คเกอร์เปิดตัวแบบนี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการใช้ชีวิตเลย ถามว่ามีคนเคยมาพูดแอนตี้ไหม มีนะ ต๊าย…เธอเลี้ยงลูกยังไงให้เป็นแบบนี้ เธอเลี้ยงลูกแบบไหนเนี่ย แม่ก็ตอบว่า ก็เลี้ยงลูกแบบลูกให้มีความสุขไงคะ ลูกอยากเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็น นั่นคือ Point ของฉัน
แล้วการที่เราออกไปทำกิจกรรมกับลูกทำให้หลายๆ คนเห็นว่าบ้านนี้เขายอมรับ เขาก็มีความหวังว่าสักวันพ่อแม่เขาน่าจะรับได้บ้าง คนถามเยอะว่าทำไมคุณแม่ยอมรับ เราก็ถามกลับไปว่าแล้วทำไมต้องไม่ยอมรับล่ะ ในเมื่อมันเป็นตัวเขา แล้วการที่เขาเป็นอะไรมันไม่ได้เดือดร้อนใครนะคะ
ในเพจแม่ตุ๊กรับบทเป็นที่ปรึกษาให้กับพ่อแม่และลูก มีเคสเข้ามาปรึกษาเรื่องอะไรบ้าง แล้วให้คำแนะนำอย่างไร
ส่วนมากในเพจจะเป็นลูกๆ ไม่มีพ่อแม่เข้ามาเลย เราจะได้คุยกับพ่อแม่ก็ในงานกิจกรรมต่างๆ แล้วเด็กๆ ที่เข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่ก็จะเป็นคำถามประมาณว่า “ทำยังไงดีที่บ้านไม่ยอมรับ” อันนี้คือ point หลักที่เจอเลย เราก็ตั้งใจเปิดเพจมาเพื่อแบบนี้แหละค่ะ มีเรื่องไม่สบายใจมาคุยกับแม่ได้ ทำให้มีแฟนคลับที่เป็นลูกๆ งอกขึ้นมาเยอะมาก
สำหรับคำแนะนำที่มักบอกเสมอ คือ บางทีเราต้องให้เวลาครอบครัวในการยอมรับด้วย หรือบางทีปาร์คเกอร์เขาก็ให้คำแนะนำเหมือนกัน อย่างพวกคำถามที่ว่า อยากเปิดตัวกับพ่อแม่ทำยังไงดี เขาก็แนะนำว่า ลองโยนหินถามทาง คุยเรื่อง LGBTQ+ กันดูก่อน แล้วดูว่าพ่อแม่มีทัศนคติยังไง แอนตี้ไหม ถ้ายังแอนตี้อยู่ก็พยายามจะเล่าถึง LGBTQ+ ที่เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ คนที่ประสบความสำเร็จ อย่างประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาเขาก็ตอบรับ LGBTQ+ มีรัฐมนตรีที่เป็น LGBTQ+ เราก็สามารถจะอ้างได้ พูดได้ว่านี่ไงอย่างแคนาดาในคณะของผู้บริหารก็มีรัฐมนตรีที่เป็น LGBTQ+ ตั้งหลายคน
แต่ถ้ายังแอนตี้มากๆ ก็หยุดก่อนค่ะ ไม่ปลอดภัย อย่าเพิ่งเปิดตัว แต่ลองหาคนในครอบครัวคนอื่นๆ ที่พอจะคุยได้ก่อน มันต้องมีบ้างสักคน ถ้าในบ้านไม่มีดูญาติพี่น้อง เริ่มหาพวกก่อนแล้วค่อยๆ มาโน้มน้าวทีละนิดทีละหน่อย คือต้องเข้าใจเหมือนกันว่าบางคนเขาถูกสอนมาอย่างเข้มงวดจริงๆ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก เป็น โฮโมโฟเบีย (Homophobia) หรือ อาการเกลียดกลัวคนที่เป็น LGBTQ+
ซึ่งอันนี้ก็ต้องบอกว่าสื่อก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สื่อคุณควรคำนึงถึงสังคม ไม่ควรจะสร้างภาพจำแบบนั้น ทำให้ครอบครัวยิ่งยอมรับยาก การสร้างภาพจำที่ว่า กะเทยจะต้องตลก ต้องโอเวอร์แอคติ้ง มันทำให้คนที่เป็นผู้ปกครองจินตนาการไปแล้วว่า ถ้าลูกฉันเป็นจะต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเรานี่แหละ
บางทีเราอาจจะต้องเรียนรู้มากขึ้น มีกรณีที่คนถามเยอะมากคือ อย่างเป็นชายข้ามเพศ (transman) หรือ หญิงข้ามเพศ (transwoman) จำเป็นไหมจะต้องชอบขั้วตรงข้าม พูดง่ายๆ สมมติแต่งหญิงแต่ชอบผู้หญิง ทุกคนงงว่าแล้วจะเป็นทำไม ต้องแยกว่า ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ กับ ‘รสนิยมทางเพศ’ ไม่เกี่ยวกันเลย
บางคนเขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชาย อย่างปาร์คเกอร์เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แต่อาจจะชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็ได้ เขาเป็น Aromantic asexual transman คือเขาก็ไม่ได้อยากแปลงเพศ ความเป็นทรานส์ของเขาคือ ไม่ได้อยากจะ transformation เปลี่ยนแปลงทั้งหมด อันนี้พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเป็น LGBTQ+ ที่เขาอยากจะเปลี่ยนสภาพตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพที่สำคัญมาก
คนที่เป็นทรานส์จะชัดเจนมากว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากเทคฮอร์โมน อยากแปลงเพศ อยากทำหน้าอก หากไม่สามารถคุยกับที่บ้านได้ แล้วถ้าเขาอยากจะเปลี่ยนสภาพร่างกายตัวเอง ก็ต้องใช้เงิน ยิ่งถ้าไม่มีเงินอาจจะแอบไปซื้อยามากินเอง แอบไปผ่าตัด ซึ่งมันอันตรายมาก ถ้าพ่อแม่บอกไม่รู้หรอกว่าลูกเป็นอะไรก็ปล่อยลูก แต่ปล่อยไปโดยไม่ได้สนใจ แล้วเวลาที่เขามีปัญหาจะไม่ได้รับรู้หรือช่วยเหลือเขา
บางคนไม่ยอมรับตัวเองด้วย เพราะรู้ว่ารอบข้างไม่ยอมรับแน่ๆ ก็พยายามจะกดตัวเองไว้ ตำหนิตัวเอง ลงโทษตัวเอง ฉันไม่ดีพอ ฉันทำให้ทุกคนผิดหวัง เราเคยไปเป็นวิทยากรของยูเอ็น เขามีรายงานการศึกษาวิจัยในเอเชีย ในประเทศไทยเรื่อง LGBTQ+ ซึ่งมีประมาณ 60% ที่อยู่ในภาวะเป็นโรคซึมเศร้า และกว่า 50% ที่เคยคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งมันเยอะมาก
ครั้งล่าสุดที่ไปงานยูเอ็นมีอาจารย์คนหนึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับคนที่เป็น transwoman ในพัทยาที่ทำงานเป็น เซ็กส์เวิร์กเกอร์ พบว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้รับความเท่าเทียม แต่ส่วนมากจะไม่ขอความคุ้มครองทางกฏหมาย และไม่บอกแม้แต่ครอบครัว เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหา ก็ไม่ควรจะสร้างปัญหาเพิ่มหรือเรียกร้องอะไร ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ทำให้เขาคิดว่าการได้รับการปฏิบัติแบบนี้สมควรแล้ว แต่มันไม่ใช่ ดังนั้นความรู้สึกกับตัวเอง การยอมรับตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
แล้วส่วนมากพ่อแม่ที่ไม่ได้ห้าม แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามลูกเรื่องแบบนี้ มันเลยไม่เกิดการสื่อสารกัน คือเป็นการยอมรับโดยปริยาย ลูกเองก็ก่ำกึ่งว่าการที่แม่เงียบนี่ตกลงแม่รับได้หรือจำใจยอมรับหรือเปล่า ลูกก็เกิดกำแพงไม่กล้าเข้าไปคุยกับแม่ เหมือนกับว่าถ้ายิ่งพูดจะยิ่งทำให้พ่อแม่ผิดหวังมากขึ้น เลยไม่ได้เปิดใจกัน ทำให้มีช่องว่างระหว่างกัน
สังเกตดูคนที่เป็นแบบนี้ที่บอกว่าที่บ้านก็รับได้ คำว่า ก็รับได้ เหมือนกับว่า ก็ไม่รู้ เขาทำอะไรกับฉันไม่ได้ ฉันก็จะเป็นยังนี้ แต่ไม่ได้คุยกัน คนกลุ่มนี้เวลาอยู่ในสังคมเขาจะเซนซิทีฟกับคำพูดของคนมาก คนรอบข้างจะรู้สึกยังไงกับเขา สิ่งที่เราเห็นชัดคือ เขาจะไม่มั่นใจในตัวเอง และเขาจะแคร์เสียงคนรอบข้างมาก
มีคนเคยถามว่า ถ้าสมมติว่ามีคนไม่เห็นด้วยมาพูดกับคุณแม่ แล้วคุณแม่จะทำยังไง เราตอบคำเดียวเลยว่า ไม่สนใจค่ะ เพราะคนเราชอบพูดเรื่องชาวบ้าน แต่ถามว่าสนใจไหม ไม่ เดี๋ยวก็ลืม ไม่มีใครสนใจใครจริงๆ จังๆ บางทีคนพูดก็แค่อยากพูดเพื่อความสะใจแต่ไม่ได้ใส่ใจจริงๆ ในการใช้ชีวิตเรารับผิดชอบตัวเราเองอยู่แล้ว เพราะงั้นอย่าไปแคร์คนอื่นมากเกินไป เพราะบางคนที่พูดเขาไม่ได้หวังดีกับเราด้วยซ้ำ แล้วยิ่งคนที่พูดไม่ได้สำคัญกับชีวิตเรา ก็ควรมองข้ามไป
ถ้าเราสังเกตเห็นลูกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เป็นอะไรก็ตามที่ไม่ได้จำกัดแค่หญิงชาย ซึ่งเขาอาจกำลังสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ สิ่งที่แม่ควรจะทำเป็นอันดับแรก?
สำหรับครอบครัวเรา ในช่วงแรกๆ ที่คุณตาคุณยายรู้เขาก็ไม่เข้าใจ เราถามคำเดียวเลยว่า รักลูกรักหลานไหมล่ะ อยากให้เขามีความสุขหรือเปล่า ถ้าไม่พยายามเข้าใจเขาก็จะออกไปข้างนอกนะ ก็เห็นตัวอย่างกันมาแล้วว่าคนที่ที่บ้านไม่ยอมรับเขาเป็นยังไง เข้าใจว่าคุณตาคุณยายเขาก็เป็นห่วงว่าหลานจะปลอดภัยไหม ในสังคมตอนนี้ ถ้าเกิดยังไม่เป็นที่ยอมรับแล้วเขาเปิดตัวไปจะโดนต่อต้านหรือเปล่า จะใช้ชีวิตในสังคมยังไง แต่สุดท้ายก็เปิดใจยอมรับได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสุขของลูกและหลาน
เราคิดว่าพ่อแม่หลายคนสังเกตเห็น แต่ยังไม่ฟันธง คือทุกคนก็ไม่อยาก และคิดว่าไม่หรอก ไม่เป็นหรอก เพราะหนึ่ง อาจจะเป็นคนที่รับไม่ได้เลย สอง อย่างตอนลูกเราก็ยังไม่ฟันธง เราก็มีความกังวลนิดๆ ว่าถ้าเขาเป็นจริงๆ อาจอยู่ยาก ไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับ มันเป็นสิ่งที่เรากังวลแทนเขา เพราะเราเห็นจากในข่าวมาเยอะว่าเด็กบางคนเป็น LGBTQ+ แล้วไปเรียนหนังสือ โดนอาจารย์กลั่นแกล้ง โดนรังเกียจ โดนต่อต้าน โดนเลือกปฏิบัติ เราก็กลัว
อีกอย่างบ้านเรายังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น ถึงแม้ใครจะบอกว่า บ้านเราเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ ซึ่งมันไม่ได้มีบริบทอะไรที่มารองรับ และยังมีเงื่อนไขอีกมาก คนที่ถูกยอมรับจะต้องมีเงื่อนไขมาทำให้เป็นที่ยอมรับหนักมาก ต้องเก่ง ต้องเป็นคนดี ต้องประสบความสำเร็จ ต้องพิสูจน์ตัวเองมากมายเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม
หลายคนเมื่อเริ่มสงสัยหรือคิดว่าลูกเป็น LGBTQ+ มีความกังวลอยู่มาก ฉันจะทำยังไงดี ใจเย็นๆ ค่ะ ตั้งสติก่อน LGBTQ+ ไม่ผิดกฎหมายค่ะ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย LGBTQ+ คือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นคนโรคจิต ไม่ได้ผิดปกติ เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่รับความรู้ใหม่หรือยังไม่ได้ศึกษาความหลากหลายทางเพศที่ลื่นไหลไปไกลกว่าแค่ กะเทย ทอม ดี้
แล้วถ้าอยากรู้ว่าเขาเป็นอะไร หาข้อมูลค่ะ ตอนนี้บนโลกโซเชียลมีข้อมูลเยอะมาก ถ้าเข้าไม่ถึงก็มีหลายหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องนี้ อย่าง สสส. ก็จะมีให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือจะเข้ามาพูดคุยกับเราก็ได้ ถ้าเริ่มหาข้อมูลคุณจะเห็นว่า LGBTQ+ ในระดับสากลก็เป็นที่ยอมรับ 30 ประเทศทั่วโลกผ่านกฎหมายสมรสบุคคลเพศเดียวกัน คือ คนเพศเดียวกันสามารถที่จะจดทะเบียนสมรสและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตอนนี้ก็คือประเทศชั้นนำอย่างอเมริกา แคนาดา เยอรมัน อังกฤษ หรือไต้หวัน รวมถึงประเทศแถบยุโรปก็ยังผ่านแล้ว
แม้แต่ WHO ก็ประกาศตั้งแต่ปี 1970 ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศคือคนปกติ เขาถอดออกจากบัญชีที่เคยบอกว่าเป็นโรคจิต ถอดออกนานกว่า 30 ปีแล้ว แต่คนไทยอาจจะยังไม่ได้มีการสื่อสารใหม่อย่างทั่วถึง ทั้งในวงการการศึกษาด้วย ต้องบอกว่าปัจจุบันแบบเรียนสุขศึกษาของเรา ก็มีการรีไวซ์ใหม่ ในปี 2562 ใส่เรื่องของความหลากหลายทางเพศลงไป นั่นคือเรามีการผลักดันทั้งภาครัฐ ทั้งการทำกิจกรรมแบบใหม่ๆ ให้ความรู้กับคนทั่วไป เพื่อที่จะทำให้เปลี่ยนทัศนคติเดิมๆ อยากจะให้คนที่เป็นพ่อแม่มองดูปัจจุบัน อย่าไปยึดติดกับอดีต ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นตลอดเวลา
เพราะการไม่ถูกยอมรับจากคนในครอบครัว มีผลกระทบต่อจิตใจคนเป็นลูกมาก รุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้เลย อย่างเพื่อนสนิทคนหนึ่ง พอจบมหาวิทยาลัยเขาเริ่มเปิดตัวเอง เริ่มสงสัยว่าตกลงฉันเป็นอะไรกันแน่ และมีภาวะซึมเศร้าแบบรุนแรง เพราะว่าไม่รักษาด้วย แล้วที่บ้านแม่เขาก็ไม่ยอมรับ เนื่องด้วยเป็นบ้านคนจีน พ่อแม่ก็พยายามบอกหมอทุกคนว่าทำยังไงก็ได้รักษาให้ลูกเขาหายจากการเป็นกะเทย (เขาคิดว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่หมอสามารถจะรักษาหายได้) ซึ่งเพื่อนคนนั้นเขากินยาฆ่าตัวตายหลายรอบ
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ที่บ้านเรารู้สึกว่าคนเป็น LGBTQ+ เขาลำบากมากๆ แล้วไม่มีความสุขเลย เหมือนกับทุกข์ทรมานใจว่าทำไมพ่อแม่ไม่ยอมรับ เขาทำอะไรผิด พอมาถึงลูกเรา มันก็ง่ายขึ้นในการจะสื่อสารตรงนี้กับคนในครอบครัว
ปาร์คเกอร์เอง เขาก็เป็นซึมเศร้านะคะ แต่ก็ไปพบแพทย์ตลอด คือกว่าเขาจะรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร กว่าที่เขาจะกล้าเปิดเผยกับเรา เขาต้องไปตีกับตัวเอง ต้องผ่านความสับสนอยู่นาน เขาเคยมาบ่นๆ กับเราว่า เขาไม่เหมือนเพื่อนเขาเลย เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่รู้จะเข้ากลุ่มไหน
เราก็รู้สึกว่ามันเป็นช่วงยากของวัยรุ่นมากๆ กว่าที่เด็กคนหนึ่งจะรู้ว่าสิ่งที่เขาเป็นคืออะไร ก็ต้องค้นหา พอหาเจอกว่าจะยอมรับตัวเองได้ ไหนจะความคาดหวังของครอบครัว ความกลัวที่ว่าจะถูกยอมรับไหม จะถูกต่อต้านไหม จะโดนอะไรบ้าง ช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้จึงสำคัญมาก
สำหรับพ่อแม่แล้ว การเปิดใจทำความรู้จักกับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องยากไหม แล้วจะเริ่มอย่างไร
เริ่มจาก ‘เปิดใจ’ ก่อน คุณอาจจะมีความเชื่อเดิมๆ ในเรื่องนี้ เนื่องจากถูกสั่งสอนมาอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมต่างๆ เราถูกปลูกฝังว่า แบบนี้มันผิดปกติ อาจใช้คำว่า วิปริตผิดเพศ โรคจิต หรืออะไรก็ตาม ขอให้วางตรงนั้นลงก่อน คิดก่อนเลยว่าเรารักลูกไหม สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังกับลูกคืออะไร ให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการหรือให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ใช้ชีวิตในแบบของเขา
บางคนคาดหวังกับลูกไว้เยอะมาก บังคับทุกอย่าง ไม่ต้อง LGBTQ+ นะ เด็กทั่วไปก็โดน เธอจะต้องเรียนเก่งสอบได้ที่หนึ่ง ต้องเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ คณะดังๆ ซึ่งมันหนักมากสำหรับเด็กคนหนึ่ง แล้วบอกเลยว่าไม่มีลูกคนไหนอยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ทุกคนอยากเป็นลูกรัก อยากเป็นที่ยอมรับ
การออกมาทำกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้มันเกิดการกระจายความรู้ ต้องบอกว่าบางคนที่เขาไม่ยอมรับ เพราะเขาไม่รู้ และเขายังติดกับความเชื่อเดิมๆ หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงกล้าออกมา ไม่อายเหรอ แล้วทำไมต้องอายล่ะ ลูกฉันเป็นเด็กปกติค่ะ ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล แล้วอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เขาทำกับตัวเขาเอง ไม่ได้เดือดร้อนใคร แล้วเราควรเคารพความคิดเห็นของคนอื่น ทุกคนมีสิทธิพื้นฐาน ทุกคนควรได้รับความเคารพและการยอมรับ
สิ่งที่สำคัญคือ ‘การยอมรับ’ อย่างแรกคือยอมรับตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามจะบอกกับคนที่เป็น LGBTQ+ เพราะก่อนที่คุณจะ come out ออกมาคุณต้องยอมรับตัวเองก่อนว่าคุณเป็นอะไร คุณมีคุณค่า รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือไม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น คุณต้องภูมิใจที่ฉันเป็นฉัน
แล้วยังมีด่านทดสอบของสังคมอีกที่เขาจะต้องเรียนเก่ง หน้าตาดี ต้องประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ออกมาเชิดหน้าชูตาในสังคมได้ว่าฉันเป็น LGBTQ+ แล้วฉันภูมิใจในตัวเอง ทำไมล่ะ! เป็นแค่คนธรรมดาไม่ได้เหรอ ทำไมการจะเป็นที่ยอมรับต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เหมือนกับที่มีคนชอบพูดว่า “ไม่ว่าลูกฉันจะเป็นอะไร แค่ลูกฉันเป็นคนดีก็พอแล้ว” ซึ่งเราแอนตี้เรื่องนี้มาก ความเป็นคนดีทุกคนควรมีเหมือนกันไหม แต่ทำไมต้องมาบอกว่าเป็น LGBTQ+ ก็ได้แต่เป็นคนดีก็พอ เหมือนกับว่าความเป็น LGBTQ+ มันด้อยค่า เลยจะต้องบอกว่าเป็นคนดีนะ เพื่อที่จะมาดึงคุณค่าขึ้นให้เท่ากับคนอื่น
ถามว่าใครจะเป็นคนดีได้ตลอดเวลา มีใครไม่เคยทำอะไรผิดพลาดบ้าง แล้วความดีเอาอะไรเป็นมาตรฐาน ต้องทำดีเท่าไรถึงจะเรียกว่า ดีพอ เขาควรได้รับการยอมรับเท่ากับคนอื่นหรือเปล่า เราไม่ควรเอาความคิดของเราหรือมาตรฐานของเราไปตัดสินใคร
หลังจากครอบครัวเข้าใจและยอมรับแล้ว เรายังต้องรับมือหรือเผชิญหน้ากับสังคมภายนอกด้วย
สำหรับพื้นฐานครอบครัวที่สนิทกัน คุยกันได้ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการ come out ของลูก เพราะเราพร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจเขา แต่ครอบครัวที่มีช่องว่างระหว่างกันเยอะแนะนำว่า อย่าเอาประสบการณ์หรือความเชื่อเดิมๆ มาตัดสินทุกเรื่องที่เกิดในปัจจุบัน เราเองก็ถูกเลี้ยงมาแบบหัวโบราณ ถูกจำกัดทุกอย่าง ห้ามๆๆๆ แต่ห้ามแล้วได้ผลไหม ห้ามอะไรเราทำอย่างนั้น ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้มาแล้ว
เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกเราต้องนึกถึงตอนที่เราเป็นเด็กด้วย ต้องไม่ลืมว่าตอนนั้นเรารู้สึกยังไง เราไม่ชอบถูกห้าม ลูกก็ไม่ชอบเหมือนกัน บอกเลยว่าลูกไม่ได้ฟังสิ่งที่เราพูด แต่ลูกดูในสิ่งที่เราทำ คุณสอนไปเถอะคุณจะพูดมีหลักการยังไง แต่ถ้าตัวคุณเองยังทำไม่ได้ แล้วลูกจะเอาตัวอย่างจากไหน เพราะฉะนั้นอย่าโทษใครเลยค่ะ ต้องดูสิ่งแวดล้อม ดูตัวเองด้วย
ยากนะคะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้โต เราต้องมีความอดทนมากๆ แล้วเด็กก็คือเด็ก มีทำผิด อยากทำตามใจตัวเอง เราก็ต้องสอนหรือทำให้เขารู้ว่าเขาควรมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำ ต้องรู้จักปรับปรุงแก้ไขตัวเอง แล้วตัวเราเองต้องทำให้เห็นด้วย เวลาเราทำผิดก็ต้องรู้จักยอมรับ รู้จักขอโทษลูกให้เป็น ไม่ได้บอกว่าความอาวุโสของฉัน ความเป็นแม่ของฉันต้องถูกทุกอย่าง
คนเราไม่ว่าจะอายุเท่าไรทุกคนทำผิดพลาดได้ การยอมรับเป็นพื้นฐานของหลายๆ พฤติกรรมที่จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้น นั่นคือการสอนลูกของเรา
และไม่เฉพาะ LGBTQ+ แต่หมายรวมถึงทุกคน แต่ลูกที่เป็น LGBTQ+ เราต้องสอนเขามากกว่านั้น เพราะเขาจะต้องไปอยู่ในสังคมที่มีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจ เราบอกเขาเสมอว่าถ้าเขาไม่เข้าใจก็พยายามสื่อสารให้เขาเข้าใจ หรือบางครั้งมีคนมาพูดล้อเล่นกัน แบบที่ตลกชอบใช้ ซึ่งมันอาจสะเทือนใจเรา เขาอาจไม่ได้ตั้งใจก็ได้ ให้ดูก่อนว่าเจตนาไหม เพราะบางคนเขาก็ไม่รู้จริงๆ ว่าคำล้อเล่นพวกนั้นมันสร้างบาดแผลหรือเปิดปม แล้วมันไม่ตลกเลย เป็นการละเมิดทางเพศเขาด้วยซ้ำ
ด้วยความเคยชินบางคน ไม่ได้อยู่สังคม LGBTQ+ บางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจหรืออาจเข้าใจผิด เพราะถูกสอนมาให้เหยียด ถูกสอนมาว่าคนกลุ่มนี้ผิดปกติ อาจจะเป็นสังคมที่เขาอยู่ ครอบครัว หรือแม้แต่ศาสนา เราก็ต้องยืดหยุ่นหน่อย
ตอนปาร์คเกอร์เด็กๆ เขาก็จะหัวร้อน เกรี้ยวกราดเลย เพราะเขาไม่เข้าใจ เราก็ต้องคอยบอกลูก เตือนเขาให้ใจเย็นๆ บางทีมันก็ต้องใช้เวลา แม้แต่ในบ้านเราเองกับคุณตาคุณยายกว่าเราจะปรับตัวที่จะคุยกันแบบให้เข้าใจกันได้ ให้โอเคกับสิ่งที่เขาเป็น ยังต้องใช้เวลาเลย เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจ การปรับตัว แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน
ช่วงนี้กระแสซีรีส์วายกำลังมาแรง แม่ตุ๊กมองว่าช่วยทำให้สังคมเข้าใจ LGBTQ+ ได้ดีขึ้นไหม
ซีรีส์วายเราต้องดูที่เนื้อหาด้วย มันเป็นความชื่นชอบของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘สาววาย’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ถามว่ามันจะสร้างการยอมรับไหม ก็มีทั้งสองแง่ ถ้าออกมาดีก็คือจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของคนที่เป็น LGBTQ+ แต่ถ้าในแง่ลบก็จะสร้างภาพจำผิดๆ แต่นิยายก็คือนิยาย บางทีเขียนมาเพื่อสนอง need คนแต่งและคนอ่านที่อยากจะให้มันเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เราไม่ปฏิเสธว่า ความรักสวยงาม แต่ในชีวิตจริงมันมีดีเทลที่มากกว่านั้นเยอะ
เราไม่แอนตี้นะคะ มีก็ดีที่มีการสื่อสารเกี่ยวถึง LGBTQ+ อาจจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าใจ มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคม อาจจะทำให้คนที่ไม่รู้อะไรเลยแอนตี้ไปเลยก็ได้ เพราะว่าเห็นเนื้อหาที่สร้างภาพจำผิดๆ เหมือนกับที่เรามองภาพจำว่ากะเทยต้องตลกนั่นแหละ บางทีการสื่อสารมันดีทำให้เขามีพื้นที่ในสังคม เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่มันต้องระมัดระวังมากเหมือนกันในเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกไป อย่างหลายๆ เรื่องที่เป็นนิยายเกี่ยวกับ LGBTQ+ บางเรื่องก็ทำออกมาดี แต่ส่วนตัวไม่ดูซีรีส์วายไทยค่ะ
ถ้าดูจะเป็นภาพยนตร์แนว Boy’s Love มากกว่า เรื่องที่ดูและชอบเลยคือเรื่อง Dallas Buyers Club เรื่องราวของคนที่เป็นเอดส์ ในยุคที่คนยังเข้าใจว่าเป็นโรคของคนรักเพศเดียวกัน เขาจึงพยายามสร้างความเข้าใจกับสังคม ส่วนของไทยนี่ยังต้องอิงตลาดหลักๆ ไว้อยู่ เราก็เลยไม่เห็นเด่นชัดว่าเรื่องไหนจะนำเสนอได้ชัดเจน ซีรีส์ที่ดังๆ อย่างฮอร์โมนก็บิดเบี้ยว อยากให้ขายของที่มีคุณภาพ บางทียิ่งนำเสนอก็ยิ่งผิดพลาดนะ แล้วอีกอย่างในปัจจุบันการนำเสนอสิ่งที่สวนกระแสกับขนบธรรมเนียมหมิ่นเหม่มาก อย่างเรื่องเด็กที่มาเรียกร้องว่าทำไมคุยเรื่องเพศไม่ได้ ก็จริง ทำไมการคุยเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม แทนที่ลูกจะสามารถคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กับพ่อแม่ก็คุยไม่ได้แล้วลูกจะไปหาความรู้จากไหน ก็จากเพื่อน จากอินเทอร์เน็ต มันจะดีกว่าไหมถ้าเราได้ทำหน้าที่เป็นทั้งเพื่อน ทั้งพ่อแม่ให้กับลูก
แล้วถ้าลูกติดซีรีส์วายมองว่าเป็นปัญหาไหม มีผลกระทบต่อตัวลูกอย่างไรบ้าง
ติดขนาดไหน เขาอาจจะชอบเหมือนติดการ์ตูน ติดเกม ก็จะมีวัยหนึ่ง แต่ถ้ามันมากไปก็ลองไปดูกับลูกไหม คุณต้องไปดูก่อนว่าทำไมลูกติด คุยกับลูก ถามเขาว่ามันดียังไง สนุกตรงไหน บอกหน่อยสิ แล้วดูปฏิกริยาของเขาตอนดูด้วยกัน ลูกอาจจะชอบแค่ผู้ชายหล่อๆ หน้าตาดี เหมือนกับแฟนตาซีผู้ชายหน้าตาดีมากๆ มาชอบกัน แล้วก็ไม่ต้องไปแย่งกับผู้หญิงด้วยกัน ต้องดูว่ามันกระทบกับชีวิตหรือเปล่า
แม้จะให้อิสระกับลูก แต่เขาต้องรู้กติกาการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น หนึ่ง ต้องไม่ทำอะไรให้เดือดร้อนตัวเองและคนอื่น สอง ต้องไม่ล้ำเส้นคนอื่น รู้จักพิจารณาตัวเอง แน่นอนทุกคนทำผิดพลาดได้ แม่ไม่ได้ตัดสินว่าเมื่อทำผิดเท่ากับตายเลย ทุกอย่างแก้ไขได้เพียงแต่ต้องรู้ว่าตัวเองผิดอะไร และต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น
ที่สำคัญต้องมีมารยาทด้วย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละจะทำให้กลายเป็นนิสัย ซึ่งเราไม่ควรละเลย อันนี้เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ การเลี้ยงลูกก็ต้องมีขอบเขตเหมือนกันค่ะ แล้วเราก็ต้องสอนให้เขาดูแลตัวเองเป็น ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถจะอยู่กับเขาไปได้ตลอด
ครอบครัวคนที่เป็น LGBTQ+ อาจจะมีน้อยว่าครอบครัวอื่นๆ จึงอยากฝากไว้ว่าควรสอนลูกด้วยว่า มีคนที่เป็น LGBTQ+ และการปฏิบัติกับคนที่เป็น LGBTQ+ ควรจะทำอย่างไร เด็กบางคนถูกเพื่อนรังแก บูลลี่ แล้วบางคนไม่สอนลูก ซึ่งปัญหามันอยู่ที่เด็กที่รังแกคนอื่น ควรสอนเรื่องการปฏิบัติตัวกับคนอื่น เราควรจะทำเหมือนกับที่เราให้เกียรติตัวเองด้วย อย่าปฏิบัติกับคนอื่นในสิ่งที่ตัวเราเองก็ไม่ชอบ