- สนทนาเรื่อง ‘เล่น’ อย่างจริงจัง จากคนในวงการของเล่น นักออกแบบ และนักการศึกษา
- ต้องโละความคิดว่าการเล่นเป็นเรื่องเสียเวลาออกไปก่อน เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ ไม่มีใครมานั่งสั่งสอนระหว่างการเล่น และเด็กเติบโตได้จากการเล่น
- สิ่งสำคัญคือ ‘ความรู้ของพ่อแม่’ และทัศนคติว่าการเรียนรู้ที่จริงควรเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเรายังตีความ ‘ความเก่ง’ ในความหมายแคบแค่เรื่องวิชาการอย่างเดียว
เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘การเล่น’ กับ ‘เด็ก’ เป็นของคู่กัน ไม่จำเป็นต้องใช้แนวคิดวิชาการเรื่องพัฒนาการเด็กและจิตวิทยาเข้าอธิบายก็เข้าใจดีว่า การเล่นคือการเปิดโลกแห่งจินตนาการ จำลองกระบวนการคิด และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ขมวดไอเดียให้ชัดกว่านั้น… เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเล่น และนี่คือห้องเรียน (รู้โลก) ของพวกเขา
23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดห้องประชุมต้อนรับผู้ชมร่วมสนทนาประเด็น Learning Through Play: ทำเรื่อง ‘เล่น’ ให้จริงจัง ความน่าสนใจของงานอยู่ที่การพูดถึงการเล่นและพัฒนาการเด็กผ่านสายตาของนักออกแบบ (ซึ่งโดยปกติคนที่ call for action มักเป็นคนในวงการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก) และเชิญวิทยากรในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยาเด็กเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย ได้แก่…
- วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร PlanToys แบรนด์ของเล่นที่ดีต่อพัฒนาการเด็กและสิ่งแวดล้อม
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ เหมชะญาติ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ในมุมพัฒนาการเด็กในมุมมองวิชาการ
- คุณครูต้อย-สุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้บริหารจากโรงเรียนรุ่งอรุณ ในมุมบทบาทและความสำคัญของคุณครูเด็กปฐมวัย
- ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม เจ้าของห้องเรียนสไตล์ฟินแลนด์สาขาเมืองไทย และ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ในมุมนวัตกรรมการเล่น
Learning Through Play: ไม่ใช่แค่การเล่นแต่คือ ‘การเข้าใจโลก’
เริ่มต้นเวทีด้วยเจ้าของแบรนด์ของเล่นอย่างวิฑูรย์ ที่ย้ำว่าตัวเองเป็นนักออกแบบและเป็นนักธุรกิจเต็มตัว และทำธุรกิจโดยคิดถึงผลกำไรเป็นหลัก แต่มากกว่านั้น เขามีนโยบายส่วนตัวว่าสินค้าที่ทำต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพนักงาน
ใช่แล้ว… CEO ผู้นี้กล่าวบนเวทีอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมต้องขอโทษที่ไม่ได้คิดถึงสุขภาพของเด็กๆ เป็นอันดับแรก แต่คิดถึงสุขภาพของพนักงานของผมก่อน เพราะถ้าระหว่างทำ พนักงานได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แล้วสินค้าจะดีต่อสุขภาพของเด็กๆ ได้อย่างไร”
วิฑูรย์ไม่ได้ขึ้นมาบนเวทีในแง่การโปรโมทธุรกิจ แต่กำลังพูดกับผู้ฟัง – ซึ่งกว่าครึ่งคือนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และจิตวิทยา ว่า ‘คอนเซ็ปต์การเล่น’ มีส่วนพัฒนาไม่เฉพาะพัฒนาการ แต่หมายถึงจินตนาการ การรับรู้และเข้าใจโลก และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนได้อย่างไร การออกแบบผลิตภัณฑ์และพื้นที่การเรียนรู้ที่ตั้งใจทำมาตลอดหลายปี เป็นไปเพื่อรับใช้ความคิดแห่ง ‘สังคมที่เติบโตจากการได้เล่น’
ตัวอย่างที่วิฑูรย์ทำเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก (มากไปกว่าการทำผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาการและสิ่งแวดล้อม) เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่จังหวัดตรัง แน่นอนว่าสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กๆ เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ แต่มากกว่านั้น เขาต้องการทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเวลาที่เด็กๆ ได้เล่นสำคัญอย่างไร ความสุขของพวกเขาหน้าตาประมาณไหน และการเล่นในพื้นที่กลาง (public space) ที่ต้องมีกติการ่วม เช่น เล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่ เล่นแล้วห้ามนำกลับบ้าน นั้นช่วยสร้างทักษะและการเรียนรู้ให้พวกเขาได้อย่างไร
ล่าสุดกับ นิทรรศการเล่นได้ – Forest of Play นิทรรศการแบบมีส่วนร่วม (Hands-On Exhibition) โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ร่วมกับ PlanToys จัดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เข้ามาเล่นของเล่นและให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าของเล่นแต่ละชิ้นสร้างการเรียนรู้ด้านไหนและอย่างไร
Learning Through Play: คำถามคือ เรานิยามการเล่นว่าคืออะไร?
เริ่มต้นเวทีใหม่ด้วยคำถามที่ว่า แม้เข้าใจแล้วว่าการเล่นนั้นสำคัญทั้งในทางพัฒนาการและสร้างประสบการณ์ แต่พ่อแม่ยุคใหม่จำนวนมากยังติดใจกับคำว่า ‘เล่น’ – เล่นคือการทิ้งเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นประโยชน์ เล่นคือทักษะที่พ่อแม่ลืมไปแล้วและไม่รู้จะเริ่มกับลูกอย่างไรด้วยซ้ำ
“สิ่งแรกที่ต้องทำ อาจเป็นการกำหนดนิยามคำว่า ‘เล่น’ ก่อน” ดร.วรวรรณ แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ชวนตั้งต้น และเล่าให้ฟังว่า คำว่า Learning Through Play นั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 หมายความว่าในวงการศึกษาให้ความสำคัญกับการเล่นมาแล้วตั้งแต่ช่วงเวลานั้น
ดร.วรวรรณย้ำว่า ปรัชญาของการเล่นคือ ไม่มีใครมานั่งสั่งสอนระหว่างการเล่น กระนั้น เด็กกลับเรียนรู้ได้หลากหลายผ่านสิ่งที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย สิ่งของจะสอนเขา ของเล่นจะสอนเขา พื้นที่แห่งนั้นจะสอนเขา
“สำคัญที่สุด คนที่เขาได้เล่นด้วย …จะสอนเขา แต่เป็นการสอนที่ไม่มี ‘คำสั่งสอน’ เลย”
ต่อมาในประเด็น “รู้ว่าการเล่นสำคัญก็จริง แต่ในผู้ใหญ่ที่ลืมทักษะการเล่น ลืมจินตนาการและการไร้ขอบเขตแห่งการเล่นไปหมดแล้ว จะเริ่มอย่างไรดี?” ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ตอบคำถามด้วยรอยยิ้มว่า
“นี่เป็นการดีเลย การเล่นอยู่ในตัวเราทุกคนไม่เฉพาะกับเด็ก เพียงแต่เราอาจลืมไปเพราะอยู่แต่ในโลกการทำงานของตัวเอง อย่างนี้นะคะ ง่ายๆ แค่ลองเดินเข้าร้านของเล่นและลองหยิบเล่นด้วยตัวเอง ปล่อยความเครียดของตัวเองออกมาแล้วกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
“หรือให้ง่ายกว่านั้น เราถามผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่นอย่างเด็กที่อยู่ตรงหน้าเราได้นะคะ เข้าไปเลย แค่เริ่มถามว่า ‘นี่ตัวอะไรเหรอ?’ ‘เล่นยังไง’ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนะคะ แต่คือความใส่ใจและปฏิสัมพันธ์”
อันที่จริงยังมีคำถามอีก 3 คำถามที่อยู่บนเวที แต่ด้วยเงื่อนเวลาทำให้อาจารย์ทั้งสองท่านต้องตอบคำถามเร็วๆ ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอสรุปหัวข้อคำถามและคำตอบ ดังนี้
Q: EF เกิดไม่ได้ด้วยตัวเองแต่ต้องฝึกฝน?
A: อาจารย์ทั้งสองท่านช่วยกันขยายความก่อนว่า EF หรือ Executive Function เป็นระบบปฏิบัติการทางสมองที่ช่วยเรื่องการคิดเป็นเหตุผล ตัดสินใจ และควบคุมตัวเอง แบ่งการทำงานเป็น 3 หมวดพื้นฐานใหญ่คือ ความจำพร้อมใช้งาน, ความคิดยืดหยุ่น และ การหยุด
แต่ก่อนเด็กๆ อาจมี EF ได้เองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องโฟกัสหรือสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้าง EF มาก แต่ในปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เทคโนโลยี – ซึ่งในปัจจุบันเป็นของเล่นหลักของเด็กๆ ทำให้ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องรอ พูดง่ายๆ ว่าสิ่งแวดล้อมที่ฝึกให้เด็กได้คิด อดทน และวางแผนจัดการตัวเองโดยธรรมชาติที่ฝังในชีวิตประจำวันนั้น ค่อยๆ เลือนหายไปตามการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตมนุษย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กๆ จะต้องถูกฝึกเพื่อสร้างทักษะพื้นฐาน EF ทั้งสามอย่างข้างต้น (อ่านเรื่อง EF โดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ได้ที่นี่)
Q: ลูกเราไม่เก่งเท่าลูกเพื่อน
A: อาจารย์ทั้งสองท่านตั้งคำถามฮุกกลางใจว่า “นิยามความเก่งคืออะไร?” ปัญหาสมัยนี้คือ ทุกคนมักพุ่งเป้านิยามความเก่งไปที่ ความฉลาดทางวิชาการ หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่ลูกเพื่อนเก่ง แต่สิ่งที่ต้องไฮไลท์คือ ทุกคนมีความเก่งแต่ละด้านแตกต่างกันไป
ความแตกต่างที่ว่านั้นมาจากสองส่วนคือ เรื่องโครงสร้างสมองและพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับ และการอบรมเลี้ยงดู
ทั้งคู่ย้ำว่า ทั้งหมดต้องกลับไปถามผู้เลี้ยงดูว่าได้มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าเหล่านี้ให้เด็กๆ หรือยัง แน่นอนว่าหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีเหล่านั้นคือการเล่น ความใส่ใจ และปฏิสัมพันธ์
ที่ทั้งคู่เน้นย้ำก่อนจบหัวข้อคำถามนี้คือ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่กำหนดว่าคุณค่าความเก่งของเด็กคืออะไร แต่รวมถึงครูและสังคมที่มีอิทธิพล (กดดัน) เด็กด้วย ยกตัวอย่าง คำว่า ‘เก่ง’ ในฟินแลนด์ คงไม่เหมือนกับ ‘เก่ง’ ในไทยแน่นอน และนั่นคือสิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อว่า อะไรทำให้ความเก่งของแต่ละสังคม มีความหมายไม่เหมือนกัน?
Q: ลูกต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? (ภายใต้พ่อแม่ที่ถูกเลี้ยงให้มีทักษะศตวรรษที่ 20)
A: อธิบายก่อนว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย 3 หมวดคือ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะสารสนเทศ และทักษะชีวิต ทั้งคู่ตอบว่าในมุมนักวิชาการ ทักษะศตวรรษที่ 21 สำคัญและจะยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว แรง ขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีแต่เป็นองค์ความรู้ที่เปลี่ยนเร็วด้วย เด็กรุ่นใหม่จึงต้องเป็นนักคิดริเริ่ม ตั้งคำถาม และทักษะคาแรคเตอร์อื่นๆ ที่จะ ‘อยู่รอดในสังคมและมีความสุขด้วย’
ก่อนจบการพูดคุยในส่วนนี้ ดร.จิรภัทร กล่าวในฐานะนักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็กๆ ว่า
ตลอดเวลาที่ทำงานกับเด็ก ทุกครั้งที่ขุดลึกลงไปถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหาในจิตใจ สุดท้ายก็คือปัญหาครอบครัวทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเพิกเฉยจากพ่อแม่หรือความกดดันของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมากเกินไป ต่างเป็นปัญหาในสังคมตลอดมา และมันอาจฝังใจติดตัวเด็กๆ ไปตลอดชีวิต
Learning Through Play: ความสำคัญของคุณครูเด็กปฐมวัย
พูดถึงความสำคัญของการเล่นในฐานะ ‘การออกแบบประสบการณ์’ ติดๆ กันไปแล้วสองเวที เวทีที่สามเป็นของ คุณครูต้อย ผู้บริหารจากโรงเรียนรุ่งอรุณ พูดถึงบทบาทของครูปฐมวัย ในฐานะ ‘ดีไซเนอร์’ ออกแบบการเรียนรู้ของนักเรียน แต่เจาะในมุมว่า เมื่อต้องฝึกครูใหม่โดยเฉพาะนักศึกษาฝึกงานในทุกๆ เทอม โรงเรียนรุ่งอรุณมีวิธีทำงานอย่างไร
ก่อนจะเล่าวิธีฝึกครูปฐมวัย ครูต้อยเล่าก่อนว่า เบื้องหลังการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละเทอมจะเรียนรู้ผ่าน ‘ธีม’ ไม่ใช่สอนผ่านวิชาในหนังสือแต่ใช้ประเด็นทางสังคมนำทาง เช่น ในเทอมนี้เป็นธีม ‘ประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน น้ำ อากาศ กลุ่มคุณครูก็จะนำธงมาออกแบบการสอนและวางเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ธีม เด็กจะต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงและให้บทเรียนนั้นแฝงฝังในชีวิตประจำวันของนักเรียน
เช่น นักเรียนทุกช่วงชั้นจะต้องทำอาหารเอง เมื่อต้องทำเองหมายถึงการตระเตรียมวัตถุดิบด้วยตัวเอง ทุกเช้าเด็กๆ จะต้องออกไปจ่ายตลาดกับครู (โรงเรียนจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นตลาด ของในตลาดจำนวนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ เพาะปลูกเอง) หากวัตถุดิบมีไม่ครบอย่างที่ตั้งใจไว้ จังหวะนี้เด็กๆ จะต้องปรับเปลี่ยนเมนูมื้อกลางวันร่วมกันกับครู (จุดนี้เด็กๆ ฝึกความคิดยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการ) การออกไปจ่ายตลาดเองเท่ากับเด็กๆ จะรู้จักวัตถุดิบ รู้จักหน้าตาของผักผลไม้ที่มีความหลากหลายและผันเปลี่ยนตามฤดูกาล ถ้าเด็กในระดับที่โตขึ้นไปหน่อยอย่างระดับประถม เด็กๆ จะได้เป็นคนคุมงบประมาณจัดซื้อเองด้วย
นี่เป็นแค่ตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ครูใหม่จะถูกฝึกผ่านการดูแลเด็กๆ ด้วยชุดประสบการณ์เดียวกัน อย่างที่ครูต้อยบอกว่า ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก ปรัชญาการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของเด็ก และการดูแลห้องเรียนในวิธีอื่น อะไรที่เด็กได้ผ่านการเรียนรู้ คุณครูเข้าใหม่ก็ได้รับเหมือนกัน
มากกว่านี้คือ ทุกครั้งที่มีการออกแบบการเรียนรู้ (ในฐานะดีไซเนอร์) คุณครูทุกคนไม่ว่าเก่าหรือใหม่จะถูกตั้งคำถามว่า วิชานี้มีคุณค่าอะไรต่อนักเรียนและมันเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขารึเปล่า ที่ถามไม่ใช่แค่อยากรู้ว่านักเรียนจะได้อะไร แต่คือ… ครูเข้าใจหรือยังว่ามันสำคัญอย่างไรกับผู้เรียน
และนี่คือหนึ่งในปรัชญาการเรียนรู้ ที่ต้องเกิดขึ้นในตัวครูผู้สอนก่อน ความเข้าใจที่ชัดเจนต่อตัวเองว่า จะมอบประสบการณ์แบบไหนให้ผู้เรียน และมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ใครอีกคนอย่างไร
Learning Through Play: นวัตกรรมแห่งการเล่น
ในช่วงสุดท้าย ผศ.ดร.พิชญ์วดี เจ้าของห้องเรียนสไตล์ฟินแลนด์สาขาเมืองไทย และ เบญจรัตน์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ขึ้นมาจับไมค์ขมวดประเด็นนวัตกรรมการเล่นจากทั่วโลก โดยเฉพาะวิธีคิดจากห้องเรียนฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่แค่เด็กๆ มีทักษะชีวิตและการเรียนติดอันดับโลก แต่ติดอันดับเด็กๆ ที่มีความสุขที่สุดในโลกด้วย
เวทีนี้ฉายภาพนวัตกรรมการเล่นทั่วโลก อาทิ forest kindergarten หรือ โรงเรียนปฐมวัยที่เข้าไปเรียนในป่า ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ผศ.ดร.พิชญ์วดี ก็เพิ่งจัดค่ายนำเด็กๆ จากประเทศไทยไปร่วมแคมป์ในป่าที่ฟินแลนด์มาเช่นกัน Sure Start Program: คู่มือการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้สัมพันธ์กับพัฒนาการเด็ก และนวัตกรรมอื่นๆ
ในฐานะผู้ที่ศึกษาและใกล้ชิดกับห้องเรียนฟินแลนด์ ผศ.ดร.พิชญ์วดี อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์สร้างการเรียนรู้ให้คนในประเทศไม่ใช่ความคิดว่าจะใส่ความรู้ (input) อะไรให้เด็ก เพราะอ่านเกมขาดตั้งแต่สิบปีก่อนแล้วว่าโลกสมัยใหม่ความรู้จะมีอายุสั้นลง (ถูก disrupted) สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เด็ก ‘รู้ว่าจะเรียนรู้อะไร’ (learn how to learn)
อีกประการหนึ่ง นวัตกรรมหนึ่งที่ฟินแลนด์ใช้คือ STEAM (ประเทศไทยใช้ STEM) ประกอบไปด้วย Science, Technology, Engineering, Art และ Mathematics ด้วยวิธีคิดว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดจะเกิดเมื่อสมองสองข้างทำงานพร้อมกัน (แต่ถ้าเรียนวิชาการเครียดๆ อย่างเดียว เช่น STEM สมองจะทำงานข้างเดียว)
แน่นอนว่าฟินแลนด์ไม่ได้ใช้แค่ STEAM และการเรียนรู้นอกห้องเรียน ยังมีกลไกทางสังคมอีกมากที่ทำให้แม้แต่เด็ก 5 ขวบ ก็สร้างนวัตกรรมของตัวเองและทำให้มันเป็นจริงได้ เช่น ไม่มีการสอบวัดประเมิน ให้คุณค่ากับความสุข มากกว่านั้น ยังมีกฎหมายใหม่ๆ มาช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ เยอะมาก เช่น หากวันนี้มีเด็ก 5 ขวบเขียนแปลนออกแบบท่าเรือ รัฐบาลสามารถให้เงินซื้อแบบกับเด็กคนนี้และนำไอเดียมาออกแบบท่าเรือได้
ขณะที่เบญจรัตน์ กล่าวก่อนจบว่า สิ่งที่ทำให้นวัตกรรมเล่นๆ กลายเป็นจริงได้ หรือพัฒนาการเรียนรู้ได้ สิ่งที่สำคัญคือ ‘ความรู้ของพ่อแม่’ และทัศนคติว่าการเรียนรู้ที่จริงควรเป็นอย่างไร นิยามการเรียนรู้ของเราเป็นอย่างไร และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรายังตีความ ‘ความเก่ง’ ในความหมายแคบแค่เรื่องวิชาการอย่างเดียว