- สามีภรรยาเลิกกันได้ แต่ความเป็นพ่อแม่เลิกไม่ได้ ทำอย่างไรให้ลูกโอเคที่สุดเมื่อบ้านไม่กลับไปเหมือนเดิม
- แน่นอน ลูกได้รับผลกระทบ แต่เขาจะค่อยๆ ปรับตัวเมื่อพ่อแม่ร่วมมือกัน จับมือเป็นทีมเวิร์คช่วยประคับประคองให้ลูกใช้ชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากปัญหา
- เดินเว้นระยะเป็นคู่ขนาน ย่อมดีกว่าเดินด้วยกันแล้วทำร้ายซึ่งกันและกัน ความเป็น พ่อ-แม่-ลูก จะยังคงอยู่อย่างแข็งแรง
เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ถึงทางตัน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกแล้ว คำถามที่อยู่ในใจคนเป็นพ่อแม่คำถามหนึ่ง น่าจะหนีไม่พ้น
“เลิกดีไหม หรือจะอยู่กันต่อไปเพื่อลูกดี?”
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชวนกระอักกระอ่วนนี้ หลายคู่ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ แล้วก็ผ่านมาได้ด้วยการยังคง “ความเป็นพ่อแม่” ให้กับลูก หากลองนึกดูดีๆ เราเห็นตัวอย่างการตัดสินใจลักษณะนี้มากขึ้นผ่านสื่อ จากความสัมพันธ์ส่วนตัวของดารานักแสดงที่เลี่ยงการเป็นจุดสนใจจากสาธารณะไม่ได้ หลายคนจำใจต้องตอบคำถามผ่านการสัมภาษณ์ โดนวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ให้กำลังใจบ้างแตกต่างกันไป
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตัดสินใจ ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้เห็นข้อดี ข้อเสีย วิธีการรับมือและวิธีการพูดคุยกับลูกหากจำเป็นต้องมีการหย่าร้าง ซึ่งจะช่วยคุณให้รอด!
หรือหากความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของคุณ มีความเข้าใจกันดี เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันและทำให้คุณเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกมากขึ้น!!
อยู่ด้วยกันหรือแยกกันอยู่…ทางไหน คือ ทางรอด
เอมี่ มอริน (Amy Morin) นักจิตอายุรเวท (psychotherapist) และอาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น Northeastern University) เมืองบอสตัน (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) การพูดบนเวที TEDx Talk ของมอรินในหัวข้อ The Secret of Becoming Mentally Strong เป็น 1 ใน 50 TEDx ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เธอกล่าวถึงสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการทะเลาะกันของพ่อแม่ไว้ในบทความ “How Parents Fighting Affects a Child’s Mental Health” ว่า
ความขัดแย้งที่รุนแรงในครอบครัว ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างแน่นอน ไม่ว่าจากการเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน การขว้างปาสิ่งของ การทำร้ายร่างกาย การพูดจาดูถูกเหยียดหยาม ด่าทอ การขู่ว่าจะออกจากบ้านหรือแยกทางกัน ไม่เว้นแม้แต่การนิ่งเงียบ หรือเดินหนีออกจากบทสนทนาแห่งความขัดแย้งตรงหน้า ที่เหมือนไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ หรือคล้ายจะเป็นทางออกทางหนึ่ง แต่วิธีการนี้กลับเป็นการตอบสนองที่สร้างพลังงานลบ ทำลายบรรยากาศและความอบอุ่นในครอบครัว
เด็กสามารถสัมผัสพลังงานลบนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาว โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 19 ปี ซึ่งก็คือช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการใช้ชีวิตนั่นเอง
นอกจากนี้ หากการเงียบไม่พูดไม่จาและเดินหนีจากปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นการแสดงตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก ในระยะยาวจะทำให้ลูกขาดทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการควบคุมอารมณ์ต่ำ และไม่มีทักษะจัดการกับความขัดแย้ง
หลายคนอาจกำลังตั้งคำถามต่อว่า การมีพ่อแม่อยู่ด้วยกันก็ดีกว่าการแยกกันอยู่ไม่ใช่หรือ? เพราะยังรักษาความเป็นครอบครัวไว้ได้
ไม่เสมอไป!
แต่ละครอบครัวเมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมมีปัญหาต่างกันไป ผลการวิจัย ระบุว่า ความขัดแย้งในครอบครัวหรือชีวิตแต่งงานส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพจิตใจของลูก เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรรระวัง เพราะความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ทำให้…
หนึ่ง เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย (Kids are emotionally insecure.) เกิดความหวาดระแวงขณะใช้เวลาอยู่ร่วมกับพ่อแม่ เนื่องจากไม่รู้ว่าพ่อกับแม่จะทะเลาะกันอีกตอนไหน ความรู้สึกนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับลูกด้วย เพราะพ่อแม่เองก็ต้องเผชิญหน้ากับความเครียด หากพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง และไม่สามารถแบ่งเวลาให้กับลูกได้อย่างมีคุณภาพ จะยิ่งสร้างบรรยากาศที่น่าอึดอัดในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของลูกอย่างแน่นอน
สอง ผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว (Long-Term Mental Health Effects)
มีการศึกษาช่วงปี 2012 เผยแพร่ในวารสารการพัฒนาเด็ก เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจิตในเด็กกรณีที่พ่อแม่มีปัญหาขัดแย้งกัน กลุ่มเป้าหมาย คือ ครอบครัวที่อาศัยในเขตตอนกลางฝั่งตะวันตกและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา จำนวน 235 ครอบครัว แต่ละครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 60,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน และมีลูกที่กำลังศึกษาอยู่ระดับอนุบาล
นักวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยการถามคำถามยากๆ กับผู้ปกครอง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสถานการณ์การเงิน เพื่อสังเกตทีท่าว่าทั้งพ่อและแม่มีความคิดเห็นตรงกันหรือไม่ มากน้อยขนาดไหน
หลังจากนั้น 7 ปีจึงกลับมาสัมภาษณ์ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คือ ลูกเติบโตขึ้นจากระดับอนุบาลมาสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ครั้งนี้นักวิจัยทำการสำรวจด้วยการถามคำถามทั้งผู้ปกครองและลูก ได้ข้อสรุปว่าเด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ลงรอยกัน หรือทะเลาะกันบ่อยครั้ง ลูกจะมีอาการซึมเศร้า มีความวิตกกังวล และมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า
และ สาม ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เช่น มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้น้อยลง ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ เนื่องจากเด็กตกอยู่ในภาวะกดดัน มีความเครียดและหวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดปฏิภาณไหวพริบ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ความก้าวร้าว การทะเลาะวิวาท สูบบุรี่ ติดเหล้า หรือการหันไปพึ่งพายาเสพติด เป็นต้น
เมื่อการดันทุรังอยู่ด้วยกันมีแต่จะสร้างผลเสีย แต่มอรินก็ไม่ปฏิเสธว่าการหย่าร้างส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ยังอยู่ที่ ‘พ่อกับแม่’ ที่แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แต่คงต้องทำหน้าที่พ่อและแม่ เป็นทีมเวิร์คช่วยประคับประคองให้ลูกใช้ชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากปัญหา
รู้ก่อนเพื่อรับมือกับการร้างลา
มอริน บอกว่า ปีแรกหลังการหย่าร้างเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด
การหย่าร้างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก 48% ของครอบครัวอเมริกันและอังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ผลการสำรวจพบว่า เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 16 ปี ช่วง 1 – 2 ปีแรกหลังพ่อแม่แยกทางกัน เด็กมักตกอยู่ในภาะซึมเศร้า ฉุนเฉียวง่าย มีความวิตกกังวล หวาดกลัว อึดอัดใจ สับสน และปฏิเสธทุกอย่างรอบตัว
สำหรับช่วงวัยเด็ก ในระยะแรกพวกเขาอาจเกิดความสับสนจากการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปมาระหว่าง 2 บ้านเพื่ออยู่กับพ่อและแม่ หรือเกิดความวิตกกังวลว่าหากพ่อกับแม่ไม่รักกันแล้ว ต่อไปพ่อกับแม่จะไม่รักพวกเขาด้วย
สำหรับวัยประถมพวกเขามักโทษตัวเองว่า การที่พ่อกับแม่แยกทางกันเป็นความผิดของพวกเขา คงเป็นเพราะพวกเขาทำตัวไม่ได้หรือทำอะไรผิดสักอย่าง
ส่วนวัยรุ่นมักฉุนเฉียวและหงุดหงิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โทษพ่อแม่ หรือคนใดคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวล่มสลาย
นอกจากนี้ภาวะความเครียดจากการหย่าร้างทำให้พฤติกรรมของพ่อแม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่รู้ตัวแต่ลูกสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยปละละเลย การไม่ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เช่น พ่อแม่อาจเคยเข้มงวดกับบางอย่าง แต่กลับปล่อยผ่านไม่สนใจระเบียบข้อนั้นอีก การแสดงความรักต่อลูกที่มีน้อยลง หรือเด็กหลายคนปรับตัวไม่ทัน เพราะอาจถึงกับต้องย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน และเข้าอยู่ในสังคมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
สิ่งที่ต้องพึงระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ เด็กที่เติบโตจากครอบครัวหย่าร้างมักเป็นคนที่ชอบความเสี่ยง นำไปสู่การอยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นโทษต่อตัวเอง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาคุณแม่วัยใส หรือการมีลูกในขณะที่ตัวเองยังไม่มีความพร้อมเพราะอายุยังน้อย ยังเรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ และไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดูลูก
ผลการสำรวจบอกว่า การใช้ชีวิตคู่โดยไม่ตั้งใจตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวโน้มแยกทางกันสูงนำมาสู่การหย่าร้างวนเป็นวัฎจักรปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สุด
คำถามต่อมา ลูกควรอยู่กับใคร
เมื่อคำตอบสุดท้าย คือ การหย่า คำถามต่อมาคือ ลูกควรจะอยู่กับใคร? ลูกควรจะอยู่กับแม่มากกว่าไหม? หรืออยู่กับใครดีกว่ากัน?
พ่อแม่มีความสามารถในการเลี้ยงลูกได้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกผู้หญิงหรือลูกผู้ชาย ดังนั้นแทนที่ผู้ปกครองจะโฟกัสตามความเชื่อว่าลูกผู้หญิงควรอยู่กับแม่ ลูกผู้ชายควรอยู่กับพ่อ หรือลูกควรอยู่กับแม่มากกว่า ทั้งพ่อและแม่ถึงแม้หย่าร้างกันแล้ว ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อลูก ด้วยการให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาอยู่กับลูกเท่าๆ กัน
หลังการหย่า คุณภาพของเวลาที่พ่อแม่ใช้อยู่กับลูกมีความสำคัญมากกว่าระยะเวลา พ่อแม่บางคนอาจมีเวลาน้อย แต่หากได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพในทุกๆ ครั้งที่เจอกัน คุณภาพของเวลาจะส่งผลต่อการปรับตัวของลูกได้ดี ยกตัวอย่างเช่น การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยสื่อสารระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความผูกพันและความเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับลูกได้
ผลการศึกษาที่นำเสนอในวารสารการดูแลลูก (Journal of Custody Child) เกี่ยวกับการแบ่งบทบาทพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก กรณีศึกษาเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ดำเนินการขอคำตัดสินทางกฎหมายจากศาล
การศึกษาโฟกัสไปที่ผลลัพธ์เรื่อง การปรับตัวของเด็กกับการแบ่งบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง (Parent–child gender matching and child psychological adjustment after divorce) ซึ่งผู้เป็นพ่อมักได้รับคำตัดสินให้รับผิดชอบดูลูกผู้ชาย ส่วนแม่ให้ดูแลลูกผู้หญิง บทความนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ราวท์เลดจ์ (Routledge) ของอังกฤษซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระบุว่า เทคโนโลยีช่วยให้ระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูกลดลง เนื่องจากไม่ว่าลูกจะอยู่กับพ่อหรือแม่ ลูกสามารถติดต่อสื่อสารกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยี ในทางกลับกันผู้ปกครองก็สามารถใช้เทคโนโลยีพูดคุยสื่อสารกับลูกได้ตลอดเวลาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาสรุปว่า
การสานต่อความเป็นพ่อแม่ด้วยความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้ปกครอง ด้วยการจับมือกันทำหน้าที่ดูแลลูก โดยไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายหลังจากชีวิตคู่สิ้นสุดลง ส่งผลอย่างมากต่อพฤติกรรมและการปรับตัวของลูกในเชิงบวก เพราะความรู้สึกเชิงลบต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลาย เมื่อพวกเขาพบว่าบรรยากาศแห่งความตึงเครียดเวลาพ่อกับแม่ทะเลาะกัน หรืออยู่ด้วยกันนั้นหายไป
เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่องสภาวะการณ์การเลี้ยงลูกหลังการหย่าร้าง ความขัดแย้ง และคุณภาพการเลี้ยงดูที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของเด็ก (Latent Profiles of Postdivorce Parenting Time, Conflict, and Quality: Children’s Adjustment Associations) ในวารสารจิตวิทยาครอบครัว (Journal of Family Psychology) โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้ผลลัพธ์ระบุว่า การเลี้ยงดูลูกหลังผู้ปกครองหย่ากัน ลูกจะปรับตัวได้ดีที่สุดเมื่อผู้ปกครองไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน
แม้ความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแบ่งเวลาและใช้เวลาร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพโดยไม่เกี่ยวข้องว่าใช้เวลานานแค่ไหน ผลการศึกษาย้ำว่า ต่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมาก แต่พ่อแม่ไม่ร่วมมือกัน ไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกรู้สึกถึงความรักได้ นั่นเท่ากับไม่ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ เวลาที่ใช้ไปนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้นกุญแจสำคัญในการเลี้ยงดูลูกหลังการหย่าร้างของทั้งพ่อและแม่ คือ การแบ่งเวลา และการใช้เวลาที่มีอย่างมีคุณภาพ
หย่าก็หย่า แต่ว่าจะบอกลูกยังไง?
มอริน ย้ำว่า ทีมเวิร์คระหว่างพ่อกับแม่เป็นเรื่องสำคัญ
แม้จะไม่ชอบหน้า ไม่อยากพูดจาปราศรัย ไม่อยากใช้เวลาร่วมกันมากขนาดไหน พ่อแม่ต้องคุยและตกลงกันให้เข้าใจถึงทิศทางการดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเวลา หากมีลูกมากกว่า 1 คน ใครจะเป็นคนดูแลลูกคนไหน โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้ง
อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก และอย่ายกภาระให้ลูกเป็นฝ่ายเลือกว่าอยากอยู่กับใครเด็ดขาด
กรณีที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าเพื่อคุยกับลูก พ่อแม่ต้องตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไหน ให้คำพูดเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่โทษว่าเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง
หากตัดสินใจชัดเจนเรื่องการหย่า พ่อแม่สามารถชวนลูกคุยถึงเรื่องการแยกกันอยู่นี้ได้ 2 อาทิตย์ก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะย้ายออก ถ้ามีลูกหลายคนสามารถอธิบายให้ลูกฟังพร้อมๆ กันในคราวเดียว และบอกให้ครูประจำชั้นรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ที่ตัดสินใจบอกเรื่องนี้กับลูก ทั้งนี้ เพื่อให้ครูช่วยสังเกตและคอยดูแลขณะอยู่ที่โรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ไม่เผลอหรือพลาดพูดสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจเด็กอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ต้องให้เวลากับลูก ให้โอกาสเขาได้ถามในสิ่งที่สงสัยและค้างคาใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างคำพูดที่ใช้พูดกับลูก
ยกตัวอย่างเช่น
“พ่อกับแม่ตัดสินใจว่า เราจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่เราต้องตัดสินใจ พ่อกับแม่รักลูกมาก การที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกันไม่ใช่ความผิดของลูกนะ พ่อกับแม่ไม่ได้จะหนีไปไหน ลูกยังมีเราและยังอยู่กับเรา”
ระวังคำพูดที่ว่า “ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างโอเค” หรือ “อย่าร้องไห้นะลูก”
พ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ลูกแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเต็มที่“พ่อกับแม่รู้ว่าลูกรู้สึกกลัวมากตอนนี้”
“พ่อกับแม่รักลูกมาก เรารู้ว่าลูกเสียใจที่เราจะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันอีก”
และเมื่อถึงเวลาต้องแยกจากกันจริง ๆ หลีกเลี่ยงความดราม่า เพราะนี่ไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายของชีวิตความเป็นพ่อแม่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ควรทำ คือ ให้แยกจากกันด้วยรอยยิ้ม ทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย ให้ลูกสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรน่ากังวล หรือแม้กระทั่งนัดกันอย่างชัดเจนว่าอีกฝ่าัสดยจะมารับลูกเมื่อไหร่ แล้วบอกให้ลูกรู้
เมื่อตัดสินใจเริ่มต้นชีวืตคู่กับใครสักคน คงไม่มีใครอยากให้เส้นทางความสัมพันธ์ เปลี่ยนจากการเดินทางไปด้วยกันมาสู่ทางแยก แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้พ่อแม่เองก็ต้องปรับจูนทางเดินชีวิตให้เป็นทางแยกที่วิ่งคู่ขนานกันไปให้ได้ พ่อและแม่ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อลูก หากพ่อแม่ร่วมมือกัน จัดสรรเวลาให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ และยังคงช่วยเหลือด้านการเงินให้ลูกตามสมควร โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ปัญหา ปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับลูกก็จะลดลงตามไปด้วย