- การล้อเลียนเป็น Generalistic Context มันคือบริบทที่สามารถเกิดได้ทั่วๆ ไป และเกิดได้อย่างธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนอยู่กับการล้อเลียนหรือการถูกล้อมาตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งวัยรุ่นเป็นวัยที่เจอกับการล้อเลียนหนักที่สุดแล้ว
- ระดับการล้อเลียนมี 3 สถานะ โดยส่วนมากเราอาจจะอยู่ในสถานะสีเหลือง แต่ถ้าหากมันล้ำเส้นขึ้นมามันก็อาจจะกลายเป็นสีส้มหรือสีแดง
- ผลกระทบจากการล้อเลียน มากที่สุดคือ เด็กมีความอยากเอาคืน รองลงมาคือ เด็กมีความเครียดโดยไม่จำเป็น สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เพราะการถูกล้อเลียนทำให้เขาเฮิร์ทฟูล เขาอยากหลีกหนีจากสิ่งที่ทำให้ทุกข์
“อ้วน เตี้ย ดำ บ้านนอก” หรือแม้แต่เรียกแทนกันด้วยชื่อพ่อแม่ของอีกฝ่าย คล้ายจะเป็นเรื่องล้อเล่นของเด็กๆ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่น่าเชื่อว่าจนถึงวันนี้ที่โลกเปลี่ยนไปอย่างมากมาย เราก็ยังเห็นพฤติกรรมแบบนี้ในโรงเรียน
ทำไมเด็กบางคนถึงชอบล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ล้อสีผิว ล้อรูปร่างคนอื่น การล้อกันมันสะท้อนจิตใจของเด็กอย่างไร และส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กที่ถูกล้อเลียนมากแค่ไหน? ที่สำคัญคนใกล้ชิดจะช่วยเด็กให้รับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร? เราหอบความสงสัยนี้ต่อสายตรงถึง นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน
เธอบอกว่า การล้อเลียน (teasing) ก็คือการล้อคนในปมด้อย เริ่มจากผู้ใหญ่ล้อเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนกว่าที่คิด การล้อเลียนจะแตกต่างจากการบูลลี่ซึ่งชัดเจนว่าเป็นเรื่องความรุนแรง เพราะมันคือการทำให้อีกคนได้รับความเจ็บปวดอย่างแน่นอน แต่ในประเด็นของการล้อเลียนมันมีความตลกขบขันเข้ามาเกี่ยวด้วย จึงเป็นความกำกวมว่าจะเข้าข่ายรุนแรงหรือไม่ เพราะไม่ได้มีเพียงด้านลบอย่างเดียว ดังนั้นจึงอยากให้ดูที่วัตถุประสงค์หรือเจตนาของผู้กระทำ “ถ้าเจตนาเขาดี แล้วเราโอเค” เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากทำให้อีกคนเจ็บปวด อาจจะกลายเป็นความรุนแรงได้ และอาจทำให้เป็นเด็กที่ค่อนข้างก้าวร้าว
“การล้อเลียนมันไม่มีความตายตัว ไม่สามารถตอบได้ว่าเราล้อเลียนเพราะอะไร ทุกอย่างมันมีเหตุและมีผล ก็ต้องมาดูว่าถ้าเป็นกรณีที่หนึ่ง ฉันไม่ชอบขี้หน้าและต้องการทำให้เขาเจ็บปวด อันนี้คือตอบได้ว่ามันคือสิ่งที่เราไม่เรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง”
บทสนทนานี้จะชวนทุกคนทำความรู้จักพฤติกรรม ‘การล้อเลียน’ ที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไปพร้อมๆ กันว่า มันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราจะดีลกับมันอย่างไรดี
มนุษย์อยู่กับการล้อเลียน
“เราไปอ่านเจอในหนังสือเขาบอกว่า การล้อเลียน มันเป็น Generalistic Context มันคือบริบทที่สามารถเกิดได้ทั่วๆ ไป และเกิดได้อย่างธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนมนุษย์ทุกคนอยู่กับการล้อเลียน หรือการถูกล้อมาตั้งแต่เด็กๆ ยังจนโต ซึ่งวัยรุ่นเป็นวัยที่เจอกับการล้อเลียนหนักที่สุดแล้ว”
เนื่องจากหลายๆ เรื่องวัยรุ่นก็เซนซิทีฟมากที่สุด แม้ว่าการล้อจะมีทุกช่วงวัย แต่วัยรุ่นเป็นวัยที่โดนล้อหนักที่สุด อีกทั้งจากการสำรวจเรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษา” ของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กอายุ 10-15 ปี อยู่ในช่วงการถูกล้อเลียนและบูลลี่มากที่สุด ซึ่งการถูกล้อเลียนเป็นอันดับที่สองที่เด็กๆ โดน โดยจะล้อบุพการีร้อยละ 43.57, พูดจาเหยียดหยามร้อยละ 41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์
“ซึ่งในเด็กเล็กก็โดนล้อนะ แต่บางทีเขาอาจจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ได้ ด้วยความที่มันอาจจะมีเรื่องของ Cognition (ความรู้ความเข้าใจ) มันคือพัฒนาการทางสมองที่เด็กๆ อาจจะยังไม่ได้ Aware(ตระหนัก) กับสิ่งที่แมสเซสส่งมาแล้วรู้สึกว่า นี่ล้อฉันนี่นา ฉันไม่พอใจนี่นา คำมันก็เลยอาจจะทำให้เด็กๆ ที่ถูกล้อไม่ได้ตีความลึกซึ้ง อันนี้ในเด็กเล็กๆ ก็คงมีโดน ก็อาจจะไม่พอใจนิดหน่อย แล้วก็หายไป หรือบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันถูกล้ออยู่นะ”
ต่างจากในมุมของผู้ใหญ่ ซึ่งเธอเล่าว่า บางครั้งเราก็มีการจัดระบบสมอง หรือว่ามีการเลือกรับข้อมูล ข้อมูล เป็นการตีความของผู้ใหญ่ที่อาจจะมองว่ามันไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชีวิตเท่าไร และปล่อยมันไป เหมือนที่เขาว่า ลอยตัวเหนือดรามา นี่ก็เป็นการลอยตัวเหนือคำล้อเลียน
5 เรื่องที่คนเรามักจะล้อหรือโดนล้อกันและระดับของการรับรู้ที่ไม่ควรละเลย
นีทอธิบายต่อว่า โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะล้อหรือโดนล้อกันด้วย 5 เรื่อง เรื่องแรกคือ การแสดงออกและบุคลิกภาพในเรื่องทั่วไป เช่น เราอาจเป็นคนไม่เก่งกีฬา ก็อาจจะโดนล้อเรื่องเพอฟอร์แมนซ์ที่แสดงออกมาว่าเล่นกีฬาไม่เก่ง เล่นดนตรีไม่เก่ง เต้นไม่สวย ร้องเพลงไม่เพราะ หรืออาจจะเป็นในเรื่องของบุคลิกภาพ เช่น เดินไม่ดี เดินหลังค่อม เดินลากเท้า อันนี้ก็จะเป็นบุคลิกภาพที่เราจะโดนล้อ
เรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเรียน ซึ่งก็โดนสองอย่าง “เรียนเก่งคนก็อิจฉา เรียนไม่เก่งคนก็ว่าโง่”เรื่องที่สามเป็นการล้อในเรื่อง การเข้าสังคมหรือเป็นบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับการเข้าสังคม เช่น เธอไม่ใช่คนร่าเริง เป็นคนขี้อาย ขี้กังวล สื่อสารไม่เก่ง ส่วนเรื่องที่สี่อันนี้คิดว่าทุกคนคุ้นเคยกันในบริบทคนไทย เป็นเรื่อง ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นหลัง ภูมิหลัง ฐานะ เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ชื่อพ่อแม่ก็จะโดนล้อ และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่อง รูปลักษณ์ภายนอกของเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง หน้าตา สีผิว เพศ เชื้อชาติ
ทั้งนี้ การล้อเลียนยังมีหลายระดับ และไม่ได้มีเพียงแง่ลบเท่านั้น งานวิจัยบางมุมก็พูดถึงการล้อเลียนในมุมบวก นีทสรุปจากความเข้าใจของตนเองว่า จริงๆ แล้วการล้อเลียนมันมีระดับของการรับรู้ของคน โดยแบ่งเป็น 3 สี คือ สีเหลือง สีส้ม สีแดง
เริ่มต้นที่ สีเหลือง เป็นอัตราการล้อเลียนที่เรารับรู้ว่า เป็นเรื่องของการล้อเลียนเพื่อ ‘เพลย์ฟูล’ (playful) มันคือฟีลเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิง ล้อเลียนเพื่อกระชับมิตรกัน เช่น เราเรียกแทนแฟนเราว่า อ้วน ซึ่งก็ถือเป็นการล้อเลียน แต่มันเป็นการล้อเลียนที่เพลย์ฟูล เป็นด้านบวกของการล้อเลียนที่กระชับความสัมพันธ์ให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น
แต่ว่าสีส้มกับสีแดงก็จะเป็นการล้อเลียนอีกแบบหนึ่งที่เราเรียกว่า ‘เฮิร์ทฟูล’ (Hurtful) มันคือการล้อเลียนที่ทำให้คนเราสามารถเจ็บปวด รู้สึกอับอาย และไม่โอเค ถ้าเป็นสีส้มก็อาจจะไม่รุนแรงมาก อาจจะเริ่มรู้สึกว่าไม่โอเคนะ แต่ยังไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด จนการรับรู้เดินทางมาถึงสีแดง ซึ่งระดับนี้อาจเข้าข่ายการถูกบูลลี่หรือที่เราเรียกว่า การบูลลี่ทางวาจา คือทำให้เจ็บปวดด้วยคำพูดด้วยถ้อยคำ
การสื่อสารระหว่างเราสร้างทั้งความเข้าใจและความร้าวฉาน
“คราวนี้นีทก็เลยอยากจะมาชวนขยายว่า เออแล้วการล้อเลียนที่มันมีตลอดของสีที่ว่ามันมีความซับซ้อนอยู่นะ อยู่ตรงในเรื่องของที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสาร สิ่งๆ นี้มันเป็นความกำกวมที่ทำให้คนไม่รู้ว่าระดับการล้อเลียนของเรามันอยู่ที่สีไหน สมมติในกรณีเดียวกัน ผู้ส่งสารรู้สึกว่าเราเล่นๆ วัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารคือ ฉันรู้สึกว่ามันเป็นเพลย์ฟูลแหละ แต่ปรากฏว่าผู้รับสารไม่รู้สึกว่าเป็นเพลย์ฟูล กลับรู้สึกว่ามันเป็นเฮิร์ทฟูล แล้วเราจะแบ่งสียังไง”
หลักๆ ใจความสำคัญอยู่ที่ ‘ผู้ตีความ’ ว่าเขาตีความสารที่ส่งมาหาเขาเป็นแบบไหน จึงเป็นจุดสำคัญที่ว่า การล้อเลียนมีความซับซ้อนและซ่อนเงื่อนตรงที่มันมีหลายกระบวนการ แม้ว่าคนส่งสารจะส่งมาเล่นๆ แต่หากผู้รับสารรู้สึกไม่เล่นก็กลายเป็นการล้อเลียนในทางลบในทันที แม้ว่าเจตนาของผู้ส่งสารจะไม่ได้รู้สึกว่าลบก็ตาม เพราะว่าระดับการรับสารของแต่ละคนไม่เท่ากัน
“อันนี้มันเลยเป็นจุดบางๆ ของการล้อเลียนที่ว่า มันอาจจะมีความเลยเถิดของเส้นปรอทโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายนึงคิดยังไงด้วย มันก็เลยเป็นประเด็นว่าเรื่องการล้อเลียนนี่นะมันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ มันคือความรู้สึกและการตีความของมนุษย์”
หากเราลองจำลองสถานการณ์ที่มักเห็นในละครหลายๆ เรื่อง เป็นฉากในห้องเรียนที่ตัวละครหลักสักตัวในเรื่องมักเจอเมื่อย้ายจากโรงเรียนในชนบทเข้ามาโรงเรียนในเมือง นั่นคือการถูกเพื่อนล้อเรื่องหน้าตา ล้อว่าบ้านนอก ต่างๆ นานา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สร้างปมวัยเด็กให้กับคนๆ นั้น
ในฐานะนักจิตวิทยาโรงเรียน เธอบอกว่า เวลาที่คนเราล้อเลียนมันมีสองรูปแบบในการล้อเลียน รูปแบบแรกก็คือ เขา(คนนั้น)มีความผิดแปลก แปลกแยกจากบรรทัดฐานทางสังคม ก็เลยจะเป็นจุดเด่นในการโดนล้อได้ง่าย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง อาจเป็นความรู้สึกไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ก็อาจจะใช้ความรุนแรงได้ผลกระทบที่เกิดมีอะไรบ้าง
ผลกระทบที่ตามมาจากการล้อเลียน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นนำสู่ความรุนแรงที่มากกว่าแค่เรื่องเล่นๆ จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนข้างต้น ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเมื่อเด็กโดนล้อเลียนและโดนบูลลี่ เกิดผลเสียอะไรบ้าง
มากที่สุดคือ เด็กมีความอยากเอาคืน ร้อยละ 42.86 มันเป็นเรื่องของความ aggressive เหมือนเธอทำฉันมา ฉันทำเธอกลับ มันก็เลยกลายเป็นว่าจุดเริ่มต้นของการล้อเลียนธรรมดาเพิ่มผลเสียให้เด็กอาจจะเป็นคนก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น
รองลงมา ร้อยละ 18.2 การล้อเลียนทำให้ เด็กมีความเครียดโดยไม่จำเป็น เราลองมาจินตนาการแบบนี้ ไปโรงเรียนแล้วอยู่ดีๆ ก็โดนเพื่อนล้อ เหมือนเราเป็นคนไม่มีเพื่อน เราก็เครียด ทำไมเราถึงต้องมาเจอสภาพแวดล้อมแบบนี้
“ความเครียดจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เฉพาะเรื่องเรียน ความเครียดมันหมายความว่า การที่เราไปเจอสถานการณ์นึงแล้วเรารู้สึกว่าถูกคุกคาม นี่คือนิยามของความเครียด เพราะฉะนั้นเด็กที่โดนล้อเลียน เขาก็จะรู้สึกว่าทำไมการล้อเลียนนี้มาคุกคามฉันจังเลย ฉันไม่ได้รู้สึกโอเคที่จะให้คนมาคุกคาม เขาก็จะเกิดความเครียดได้”
สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ ฉันไม่อยากไปโรงเรียน เมื่อการไปโรงเรียนมันคือการที่เราไปแล้วเราควรจะมีความสุข แต่เมื่อเราถูกล้อเลียนในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราเฮิร์ทฟูลกับเรา ก็รู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียน มันเป็นอัลโตเมติกของมนุษย์ทุกคนที่เราก็อยากหลีกเลี่ยง หรือหลีกหนีจากสิ่งที่ทำให้เราทุกข์
และสุดท้ายหากโดนล้อเลียนบ่อยๆ สิ่งที่ตามมาและน่าจะเป็นขั้นหนักสุด ก็คือ เด็กอาจมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ถ้าหากโดนมากขึ้นไม่ได้รับการดูแลก็อาจจะมีโอกาสพัฒนากลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อไรจะผันเปลี่ยนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
บทบาทครูในการช่วยแก้ปัญหาเด็กๆ ล้อเลียนกันในโรงเรียน
สำหรับนีทเธอมองว่า การช่วยเหลือเด็กมีสองส่วน คือ ‘การป้องกัน’ กับ ‘การแก้ไข’ ซึ่งการแก้ไขในที่นี้ คือเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้วเราจะแก้ไขมันอย่างไรดี
“นีทคิดว่าคาบโฮมรูม เป็นคาบที่เราสามารถคุยในหลายๆ เรื่องกับเด็กได้เลยนะ ที่ให้เด็กเข้าใจชีวิตมากขึ้น เรื่องของความเชื่อ เรื่องของการล้อเลียน เรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง เรื่องอะไรต่างๆ ที่มันเป็นปัญหาสังคม เราสามารถเอาไปพูดในคาบโฮมรูมได้เลย พอพูดเสร็จนีทว่าเด็กจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น รับมื อกับปัญหาตัวเองได้ดีมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ครูป้องกันเด็กๆ ได้”
และสิ่งที่ครูต้องทำอยู่แล้วคือ ‘การแก้ไข’ เมื่อเด็กมีปัญหาหรือว่าเด็กโดนล้อ
คุณครูต้องไม่เพิกเฉยกับปัญหา และไม่รู้สึกว่าเธอจะมาโวยวายอะไรเรื่องแค่นี้ ครูควรให้ความสำคัญกับทุกๆ จิตใจของเด็ก แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกว่าเรื่องแค่นี้เอง เรื่องธรรมดา แต่มันคือแค่นี้ของเรา ไม่ใช่แค่นี้ของเขา
สำหรับในกระบวนการของนักจิตวิทยาโรงเรียน ขั้นตอนแรกคือ การฟังเรื่องราวของเด็ก แล้วก็ต้องมาปรับใจเขาก่อน และต้องถามเขาด้วยว่าเรื่องนี้อนุญาตให้ไปบอกครูประจำชั้นไหม เพื่อให้ครูเป็นคนดีลกับเด็ก
“การโดนล้อมันแก้ฝ่ายเดียวไม่ได้ จะบอกว่าหนูต้องอดทนค่ะ มันเรื่องเล็กน้อยมาก ทำอย่างนั้นไม่ได้ หนูไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายอดทนถ้าอีกคนนึงเป็นฝ่ายทำให้หนูเจ็บปวด เมื่อเราขออนุญาตเขาเราถึงจะสามารถดำเนินการต่อในการขอให้คุณครูดูแลเรื่องนี้ต่อได้ หรือเรียกเด็กที่มีปัญหามาคุยกันได้”
จากนั้นนักจิตวิทยาก็ต้องดูแลสภาพจิตใจเด็กทั้งสองคน ทั้งเด็กผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ และติดตามสภาพจิตใจเด็กต่อว่าปัญหามันถูกได้รับการแก้ไขจริงๆ หรือยัง
พ่อแม่จะรับมืออย่างไร? เมื่อลูกถูกเพื่อนล้อ หรือลูกชอบล้อเพื่อน
หากลูกเป็นฝ่ายกระทำ พ่อแม่จำเป็นต้องสอนให้เขารู้สึกว่า เขาทำผิดแล้วต้องขอโทษอีกฝ่ายหนึ่ง และปรับพฤติกรรมในสิ่งที่เขาทำไม่ดีไป
“ซึ่งการปรับพฤติกรรมก็ต้องดูว่าสาเหตุมาจากไหน ถ้าสาเหตุมาจากการที่รู้สึกว่าไม่ชอบขี้หน้า ต้องการทำให้เขาเจ็บปวด เราก็ต้องสอนวิธีการจัดการอารมณ์และสอนวิธีการที่จะสื่อสารและจะจัดการกับความไม่พอใจของตัวเองอย่างไร ด้วยวิธีการที่ไม่ aggressive (ก้าวร้าว)
แต่ถ้าหากเป็นคนที่ล้อเลียนเพื่อเพลย์ฟูล แต่ปรากฏว่าการล้อเลียนของเขาไม่เพลย์ฟูล ถ้าจะดีลกับเขาก็ต้องปรับความคิดว่า หนูอาจจะไม่รู้สึกแต่ว่าเพื่อนเขารู้สึก เพราะฉะนั้นสิ่งๆ นี้ไม่สามารถเอาประเด็นของหนูมาไม่รู้สึกได้ เพราะหนูทำให้เขาเจ็บปวด ก็ต้องสอนให้เขามี empathy กับเพื่อน ว่าสิ่งที่เขาทำมันทำให้เพื่อนเจ็บปวด เพราะฉะนั้นต้องไม่ทำอีก นี่ก็จะเป็นวิธีการปรับว่า เราต้องปรับที่พฤติกรรมส่วนไหน หรือเราปรับแค่ทัศนคติก็พอ”
แต่หากลูกเราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ วิธีการแรกที่เธอแนะนำก็คือ ‘การเยียวยาจิตใจ’ เพราะเขาคงเจ็บปวดมากกับการโดนกระทำ เขาคงอยากจะมีพื้นที่ในการระบายว่าเขาไม่โอเคอย่างไรบ้าง จากนั้นให้เขาสำรวจจิตใจตัวเอง เป็นการปรับเปลี่ยนจิตใจ เวลาที่เราโดนล้อเลียนมากๆ เช่น เราโดนล้อว่า “ดำ” แต่ว่าความดำมันมาแต่ชาติกำเนิด ก็ต้องดีลกับความรู้สึกตัวเองว่า การที่เราผิวดำน่าเกลียดจริงเหรอ
วิธีการก็คือ เราต้อง Reframe Thinking ให้เขารู้สึกว่า จริงๆ แล้วตัวเขาก็มีคุณค่าในตัวเอง การเป็นคนผิวดำไม่ใช่เรื่องแย่ ไหนเราไปลองดูสิว่ามิสยูนิเวิร์สของหลายๆ ประเทศ จะผิวแทน ผิวดำ เขาก็สวยได้ เพื่อให้เขารู้สึกดีกับตัวเองก่อน หรือในบางกรณี เช่นอ้วนแล้วเรารู้สึกว่ามันก็ไม่ได้โอเคจริงๆ วิธีการยอมรับตัวเองไม่ใช่บอกว่าฉันอ้วนแล้วดีจังเลย บางอันเป็นเรื่องที่เปลี่ยนได้แล้วดีกว่านี้ เราก็อาจจะยอมรับว่าเราอ้วน แต่ไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงได้ เรามาเปลี่ยนแปลงหุ่นให้ดี เพื่อห่างไกลจากการเป็นโรคดีกว่า
“อีกอย่างการโดนล้อเลียนมันก็มีสิ่งที่ไม่จริงขึ้นมา อย่างเช่น คนนี้เป็นเด็กมีน้ำใจแล้วโดนเพื่อล้อว่า ประจบครู อันนี้ไม่ได้อยู่ที่ยอมรับ เพราะเด็กคนนั้นเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ประจบครู เขาแค่เต็มใจช่วยครูเฉยๆ ก็ต้องสอนให้เด็กรู้จักไม่สนใจ ถ้าไม่จริงก็ปล่อยไป”
เรื่องแบบนี้เราสามารถ ‘ป้องกัน’ ได้ จากการ Teaches and Models สอนเด็กๆ ให้เขารู้ว่า ล้อเลียนมันคืออะไร แล้วมันไม่ดีอย่างไร เป็นสิ่งที่เราสามารถสอนผ่านโมเดลหรือผ่านตัวแบบต่างๆ ได้
แล้วจะสอนอย่างไรดีละ? “ก็ต้องบอกว่าแล้วแต่วัยด้วย ถ้าเป็นในวัยเด็กๆ อาจจะสอนผ่านนิทาน เช่น น้องกระต่ายชอบแซวคนแล้วมีความสุข วันนี้เธอไปเจอน้องหมีแล้วกินเยอะ เธอเรียกว่าตุ้ยนุ้ย แล้วน้องหมีทำหน้าบึ้ง น้องกระต่ายต้องรู้แล้วนะว่าน้องหมีไม่โอเค ไม่ควรพูดแบบนี้ อันนี้คือเป็นการสอนเบื้องต้นว่าคนเราแซวได้อย่างมีข้อจำกัด เราต้องมีวิธีการสอนให้เด็กสังเกตแล้วรู้ว่า แซวได้แค่ไหนและเมื่อไรการแซวกลายเป็นการล้อเลียน เป็นการสอนเชิงบวกให้เด็กเข้าใจในสิ่งต่างๆ มากขึ้น เพราะเราไม่สามารถห้ามให้ทุกคนไม่ล้อเลียนใครได้ แต่เราต้องสอนให้เขารู้จักระดับของการล้อเลียน”
“ถ้าเป็นเด็กโตอาจจะเป็นการพูดคุย- อภิปราย ในเรื่องๆ นี้ อาจจะมีสถานการณ์นึงให้เด็กอ่านเกี่ยวกับเรื่องการล้อเลียนแล้วให้เขาวิเคราะห์ทำไมคนนี้ถึงล้อเลียน คนล้อเลียนรู้สึกยังไง คนถูกล้อเลียนเป็นยังไง จะแก้ปัญหายังไง และถ้าหากตัวคุณเองเป็นคนแบบนี้คุณจะทำยังไง เป็นการตั้งคำถามที่ให้เด็กเข้าใจเรื่องของการล้อเลียนได้ดีมากขึ้น แล้วก็จะเป็นการสอนเขาและป้องกันเขา พร้อมให้เขาคิดด้วยว่า ถ้าเป็นตัวเขาเขาจะทำแบบนี้มั้ย”
สิ่งสำคัญก็คือ มันเป็นเรื่องที่เราต้องปลูกฝังหรือเพิ่มสกิลให้กับเด็กทุกคนก็คือเรื่องของการมี Self-esteem หรือการรักในตัวเองในแบบที่เราเป็น ซึ่งนักการศึกษาหรือว่าพ่อแม่อาจจะลืมสอนเรื่องนี้กับลูกไป
“สมมติว่าเราไม่ค่อยมี Self-esteem การล้อเลียนอาจจะมาทำให้เราเจ็บปวดสักสิบ แต่หากเรามี Self-esteem ขึ้นมา การล้อเลียนมันจะถูกแบบบัฟเฟอร์ เราอาจจะเฮิร์ตแค่ประมาณห้า นั่นหมายความว่าช่องว่างอีกห้ามันมี Self-esteem มาบัฟเฟอร์ความเศร้าหรือความเจ็บปวดนี้”
“เรื่องของการล้อเลียนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน สิ่งสำคัญที่นีทอยากให้ทุกคนแคร์ที่สุดก็คือ ผู้รับสาร ว่าเขารู้สึกกับสิ่งๆ นี้ยังไง แต่บางครั้งเราก็โทษผู้กระทำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะผู้กระทำเขาก็ไม่รู้ไงว่าเธอตีความแบบเดียวกับที่ฉันตีความรึป่าว เธอโอเคกับมันรึป่าว ถ้าหากเราไม่สื่อสารให้ชัดเจน คือไม่มีไดเรคว่าเราไม่ชอบที่เธอพูดแบบนี้ คนอื่นเขาก็จะไม่รู้ แล้วไปทุกข์อยู่คนเดียวมันก็ไม่ได้
ดังนั้นผู้กระทำควรดูแลการตีความดีๆ อย่าคิดไปเอง ส่วนผู้ที่ถูกกระทำก็ต้องกล้าที่จะบอกตรงๆ ว่า เราชอบหรือเราไม่ชอบ เพื่อให้ทุกอย่างมันดำเนินไปได้ด้วยดี ปรับให้มันอยู่ในทิศทางที่มันบวก”
เราคงทำให้การล้อเลียนหายไปเลยไม่ได้ เพราะบางทีเราก็ไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้เจตนา เราเพียงอยากล้อเพื่อความสนุกสนาน แต่เมื่อความสนุกของเรากลายเป็นความเจ็บปวดของเขา โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ การล้อเลียนจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป
อ้างอิง
https://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.718.9851&rep=rep1&type=pdf