- เมื่อไรที่ควรคุยกับลูกเรื่องเพศ และ แนะแนวคำตอบเรื่องเพศที่เด็กๆ มักสงสัย
- เรื่องเพศไม่ควรรู้เฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพสำหรับตัวเอง แต่ควรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเพศกำเนิดที่ไม่ตรงกับเราด้วย
- ที่จริงแล้ว เด็กวัย 8 ขวบควรเรียนรู้และเข้าใจได้แล้วว่าร่างกายและอารมณ์ของเขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่ช้าที่จะเข้าสู่วัยแรกรุ่น ซึ่งถ้าถามว่าเร็วไปไหมเด็กวัย 8 ขวบ พิจารณาตามสถิติแล้ว เด็กผู้หญิงในวัยนี้จะเริ่มใส่ชุดชั้นในกันบ้างแล้ว ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเสียงแตกเมื่อล่วงเข้าขวบปีที่สิบหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย
เด็กสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศกันอย่างรวดเร็วและง่ายดายเพียงคลิกเดียว ไม่เว้นแม้แต่ละครหรือสื่อบันเทิงต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ให้เห็นเป็นเรื่องปกติจนพวกเขาอาจรู้เรื่องอะไรต่ออะไรก่อนเข้าสู่วัยแรกรุ่น (puberty) เสียอีก ดังนั้น บทบาทสำคัญของพ่อแม่อย่างหนึ่งจึงหนีไม่พ้นการหันมาใส่ใจสื่อสารความรู้ที่จำเป็นสำหรับวัยของพวกเขา เพราะแม้เขาจะเข้าถึงหรือได้ยินข้อมูลบางเรื่องมาบ้างแต่แหล่งข้อมูลที่ไม่รู้ที่มาที่ไปอาจทำให้เขาเกิดความเข้าใจแบบผิดๆ จะดีกว่าไหมถ้าเขาสามารถเรียนรู้พูดคุยและปรึกษาอย่างเปิดอกกับพ่อแม่ที่ให้ความรู้และแนะนำเขาได้อย่างถูกต้อง
อย่ารอให้ลูกเดินมาถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เพราะเขาอาจไม่กล้าพอที่จะเอ่ยถามตรงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่เคยพูดถึงหรือแสดงออกมาก่อนเลยว่าเขาสามารถยกเรื่องนี้มาพูดได้อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ
ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถชี้ชวนให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกช่วงของการเติบโตได้อยู่ตลอด เพราะเด็กๆ มักจะช่างซักถามตั้งแต่ยังเล็ก ผู้ใหญ่สามารถใช้โอกาสนั้นตอบคำถามและพูดคุยถึงธรรมชาติของร่างกายที่จะเกิดอาการแตกเนื้อหนุ่มหรือสาว เปลี่ยนแปลงและเติบโตตามวัยให้เขาฟังแต่เนิ่นๆได้
สำคัญอย่างยิ่งคือการตอบคำถามเรื่องความเปลี่ยนแปลงของวัยแรกรุ่น (puberty) ผู้ใหญ่จำเป็นต้องพูดอย่างเปิดอกตรงไปตรงมา อย่ารอจนลูกเก็บความสงสัยไว้ไม่ไหวจนต้องเอ่ยถาม
ที่จริงแล้ว เด็กวัย 8 ขวบควรเรียนรู้และเข้าใจได้แล้วว่าร่างกายและอารมณ์ของเขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่ช้าที่จะเข้าสู่วัยแรกรุ่น ซึ่งถ้าถามว่าเร็วไปไหมเด็กวัย 8 ขวบ พิจารณาตามสถิติแล้ว เด็กผู้หญิงในวัยนี้จะเริ่มใส่ชุดชั้นในกันบ้างแล้ว ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเสียงแตกเมื่อล่วงเข้าขวบปีที่สิบหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย
คุยเรื่องเพศ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ ‘ความรู้’ แต่เป็น ‘ความสัมพันธ์’ และ ‘ไว้วางใจ’
แต่ก่อนที่จะไปว่ากันเรื่อง ‘ความรู้’ ที่เราจะนำไปพูดคุยกับลูกเรื่องเพศ ที่อยากชวนผู้ปกครองกลับมาตั้งหลักก่อนคือ ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตัวเองเริ่มมีความรักครั้งแรกเมื่อไร รู้สึกอย่างไร ตอนมีประจำเดือนครั้งแรก หรือ ฝันเปียกครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร เวลาไหนจึงเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และอื่นๆ และ มีเรื่องอะไรที่เราคิดว่า หากได้รู้เร็วกว่านี้ จะดีต่อตัวเราในการใช้ชีวิตมากที่สุด?
และคำถามสำคัญ เมื่อวันที่เราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เราปรึกษาใคร ด้วยเหตุผลอะไร
เชื่อว่าในข้อสุดท้าย บางคนมีคำตอบในใจว่าคือ ‘พ่อแม่’ แต่ก็มีอีกมากเช่นกันที่ตอบว่า ‘เพื่อน’ ซึ่งในคนที่ตอบว่า ‘พ่อแม่’ นั้น ก็อาจมีอีกเช่นกันที่ ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่าง พยายามเลี่ยงไม่พูดถึง หรือไม่อีกที ก็อาจปฏิเสธไปเลยว่าไม่มีจริง
เมื่อหลายคนถูกปฏิเสธสิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญและเป็นเรื่อง ‘ภายใน’ ของเรา อาจทำให้เราไม่กล้าปรึกษาคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่อีกเลย คล้ายๆ ว่า ไม่แล้ว ฉันจะไม่พูดเรื่องนี้กับเธออีก
อันที่จริงอาจไม่ต้องยกตัวอย่างให้เสียเวลา เชื่อว่าหลายคนเข้าใจกันดีว่า ความไว้วางใจ ความสัมพันธ์ มีผลต่อการอยากพูดหรือเล่าเรื่องเพศกับผู้ปกครองมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่น่าจะตั้งต้นกันก่อนคือ ผู้ปกครองต้องทำให้การพูดคุยเรื่องเพศเป็นปกติ ไม่ปฏิเสธเมื่อถูกถาม นั่งฟังนิ่งๆ โดยไม่ตัดสิน
จะเป็นคีย์เวิร์ดที่ทำให้ลูกเปิดใจอยากพูดเรื่องเพศให้กันฟัง
เมื่อแตกเนื้อหนุ่มสาว
การได้เข้าใจและเตรียมตัวเรื่องประจำเดือนไว้เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กผู้หญิง หนูๆ อาจตกใจกลัวได้ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าร่างกายจะมีเลือดประจำเดือนออกมา
เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุ 12-13 ปี หรือหลังจากเข้าสู่วัยแรกรุ่นมาประมาณ 2 ถึง 2 ปีครึ่ง ในขณะที่เด็กบางคนเจริญวัยเร็วกว่าเพื่อนและเริ่มมีประจำเดือนที่อายุ 9 ปี หรือกรณีมาช้ากว่าเพื่อนเมื่ออายุ 16 ปี
สำหรับเด็กผู้ชายจะเข้าสู่วัยแรกรุ่นช้ากว่าเล็กน้อย โดยเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 10-11 ปี บางคนอวัยวะสืบพันธุ์อาจพัฒนารวดเร็วและเกิดการหลั่งอสุจิครั้งแรกได้ตั้งแต่ในขวบปีนี้
การบอกเล่าถึงธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของลูกไว้แต่เนิ่นๆ นั้นคล้ายคลึงกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในวัยผู้ใหญ่อย่างเช่น การย้ายบ้านหรือเปลี่ยนงานนั่นเอง ในมุมของเด็กๆ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้เข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของตนเองไว้ล่วงหน้าก่อนเวลานั้นจะมาถึง
ทั้งนี้ โรงเรียนบางแห่งมีการสอนเพศศึกษาให้กับเด็กๆ อยู่บ้างแล้ว แต่โดยมากมักแยกสอนหญิงชายออกจากกันชัดเจน เช่น เด็กผู้หญิงจะได้ทราบถึงประจำเดือนและการสวมเสื้อยกทรง ในขณะที่เด็กผู้ชายจะได้เรียนเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศและอาการเสียงแตก
แต่อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วเด็กผู้หญิงควรได้รู้ว่าเพศตรงข้ามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเด็กผู้ชายเองก็ควรรู้ถึงธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเด็กผู้หญิงด้วยเช่นกัน
การสอนหัวข้อเรื่องเพศศึกษานี้ พ่อแม่ควรปรึกษาและเช็คกับครูที่โรงเรียนว่ามีเนื้อหาการสอนอย่างไรเพื่อช่วยเสริมแทรกเรื่องที่ขาดตกบกพร่องไป นอกจากนั้นยังสามารถพูดคุยถามตอบข้อสงสัยที่เขาอาจมีต่อเนื้อหาวิชาเพศศึกษานี้กันที่บ้าน
จะเริ่มด้วยเรื่องอะไรดี
จุดสำคัญหนึ่งเมื่อเอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายกับลูกเมื่อเขาก้าวสู่วัยแรกรุ่นคือการให้เขารู้สึกมั่นใจว่าพึ่งพาเราได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับเด็กบางคน เขาอาจรู้สึกอ่อนไหวไม่มั่นใจเมื่อรู้สึกว่าต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพียงลำพัง
เป็นปกติสำหรับเด็กซึ่งกำลังก้าวเข้าวัยแรกรุ่นมักจะขาดความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทุกคนต่างก็เคยเป็นแบบนี้เช่นกัน มีไม่น้อยที่รู้สึกงุ่มง่ามแปลกแยกจากเพื่อน ให้เขาเข้าใจว่าเพื่อนๆ ของเขาต่างก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเดียวกันนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน บางคนอาจเป็นสิว อารมณ์แปรปรวน ตัวยืดแบบพรวดพราด ทั้งหมดคือกระบวนการหนึ่งของการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามธรรมชาติซึ่งทุกคนต้องเจอ เพียงแต่จะมากน้อยหรือเร็วช้าแตกต่างกันไป
เด็กผู้หญิงที่เจริญวัยเร็วหน่อยอาจเริ่มต้นตอนประถมปีที่ 2-3 ซึ่งหากลูกเริ่มมีหน้าอกเร็วขนาดนี้ เขาอาจทำตัวไม่ถูกและรู้สึกขัดเขินกับการใส่ชุดชั้นในก่อนใครเพื่อน
การเจริญวัยของเด็กผู้ชาย นอกจากเสียงแตกพร่าแล้วขนบนร่างกายส่วนต่างๆจะเริ่มขึ้นหนาอย่างเห็นได้ชัด ใครที่แตกหนุ่มก่อนเพื่อนก็อาจรู้สึกงุ่มง่ามหรือเขินอายเวลาเพื่อนเห็นหรือล้อไปบ้าง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกเรื่องวัยเจริญพันธุ์
- รูปร่างของเด็กผู้หญิงจะกลมกลึงมากขึ้น มีสะโพกและขาเรียวขึ้น
- หน้าอกเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีเนินและขยายขึ้นเรื่อยๆ บางคนอาจมีหน้าอกเร็วกว่าคนอื่น
- ทุกคนจะมีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและใต้วงแขน ขนหน้าแข้งหนาและเข้มขึ้น
- จะมีสิวกับเหงื่อออกมากขึ้น
- ร่างกายจะยืดตัวให้เห็นอย่างชัดเจน
- อวัยวะเพศและอัณฑะของเด็กผู้ชายจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
- เสียงของเด็กผู้ชายจะเปลี่ยนเป็นทุ้มขึ้นหรือเสียงแตก
- เด็กผู้ชายเริ่มมีหนวดเครา
- เด็กผู้ชายเริ่มฝันเปียก มีการหลั่งน้ำอสุจิตอนหลับ
- เมื่อเด็กผู้หญิงมีประจำเดือน จะมีเลือดออกเดือนละหนึ่งครั้ง กระบวนการคร่าวๆ คือท่อปัสสาวะจะเก็บเลือดเอาไว้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ในกรณีที่ไข่ไม่ถูกผสม เลือดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นประจำเดือนถูกขับออกมา และกลับกันเมื่อไข่ถูกผสม ก็หมายความว่าเกิดการตั้งครรภ์
- ประจำเดือนของเด็กผู้หญิงครั้งจะมาครั้งละ 3-7วัน ต้องใส่ผ้าอนามัยที่กางเกงชั้นในเพื่อรองรับเลือดประจำเดือน
คำถามที่ผู้ใหญ่มักถูกถามบ่อยๆ
เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆ ย่างเข้าวัยแรกรุ่นมักมีคำถามมากมายที่เขาข้องใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจที่จะให้เวลาพูดคุยตอบคำถามเขาอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมาและให้ข้อมูลถูกต้อง รวมทั้งหมั่นสอบถามความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คำแนะนำเป็นระยะ
คำถามยอดฮิตคือ
คำถาม: อะไรคือก้อนแข็งๆ ในหน้าอกหนู?
คำตอบ: ในเด็กผู้หญิง เมื่อถึงวัยแรกรุ่นอย่างหนูหน้าอกจะเริ่มมีก้อนเป็นไตขึ้นแบบนี้ทุกคนจ้ะ ต่อไปหน้าอกก็จะขยายใหญ่ขึ้นเป็นเต้านมซึ่งขนาดของแต่ละคนใหญ่เล็กต่างกัน และจะพัฒนาเร็วช้าต่างกันด้วย
คำถาม: ทำไมหน้าอกหนูเล็ก/ใหญ่จังล่ะคะ
ถามทวน: หนูกังวลเรื่องอะไรอยู่รึเปล่า? (เมื่อถามแล้วอาจรอให้เด็กๆ ได้ตอบคำถามออกมาว่าเขากังวลอะไรอยู่)
ในกรณีที่เขากังวลว่า เขามีหน้าอกที่ใหญ่กว่าเพื่อนในห้อง ทำให้รู้สึกผิดปกติและไม่ดีต่อตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องนี้อาจตอบว่า
คำตอบ: หน้าอกคือ ‘สรีระ’ ของคนจ้ะ ซึ่งแต่ละคนจะมีสรีระไม่เหมือนกัน ไซส์หน้าอกของหนูจะเป็นแบบหนึ่ง มีทรวดทรงแบบหนึ่ง ซึ่งของเพื่อนก็อาจจะไม่เหมือนกัน ขนาดของหนูกับของแม่ก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แม่เดาว่าหนูกำลังรู้สึกผิดปกติเพราะเริ่มมีหน้าอกเร็วกว่าเพื่อน แต่อยากให้หนูเข้าใจว่า การเติบโตทางสรีระเป็นพัฒนาการปกติ สาวๆ ทุกคนจะค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนแปลงนะ เดี๋ยวเพื่อนๆ ของลูกก็จะค่อยๆ มี ช้าเร็วต่างกันจ้ะ
คำถาม: ทำไม จู๋ผมเล็ก/ใหญ่จังครับ
คำตอบ: ในเด็กผู้ชาย อวัยวะเพศหรือจู๋ (อยากให้ผู้ปกครองสบายใจที่จะเรียกชื่ออวัยวะเพศอย่างสมจริง อย่างรู้สึกว่ามัน ‘ชื่อ’ คือของอวัยวะหนึ่ง) จะเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดเลยล่ะ และแต่ละคนเปลี่ยนเร็วช้าต่างกันนะ ถ้าเห็นเพื่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน เราก็จะรู้สึกว่าทำไมของฉันเล็ก หรือ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเพื่อน เราก็จะรู้สึกว่าทำไมฉันใหญ่จัง จริงๆ แล้วจู๋ของเพื่อนลูกทุกคนก็จะเปลี่ยนแปลงเหมือนกันหมด แต่รูปร่างและขนาดจะต่างกันไป เมื่อมันแข็งตัวขนาดและรูปทรงของแต่ละคนก็จะไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก
คำถาม: ทำไมหนู/ผม ยังไม่มีขนขึ้นที่ตรงนั้นซักที
คำตอบ: ทุกคนมีขนขึ้นที่อวัยวะเพศหมดแหละจ้ะ เพียงแต่จะขึ้นเร็วขึ้นช้าเท่านั้น แล้วแต่ละคนก็มีมากน้อยไม่เหมือนกัน
คำถาม: ทำไมผมถึงมีนมขึ้นเหมือนผู้หญิงละครับ
คำตอบ: ช่วงแตกหนุ่มบางคนจะมีหน้าอกขึ้นแป๊บนึงอย่างนี้แหละลูก มันเป็นอาการซึ่งมีชื่อด้วยนะ เรียกว่า ไกเนโคมาสเตีย (gynecomastia) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย สักพักมันจะหายไปเอง บางคนขึ้นมาเป็นเดือนหรือบางคนเป็นปีก็มีนะ
คำถาม: ทำไมหนูยังไม่มีประจำเดือนซักที
คำตอบ: แต่ละคนมาช้ามาเร็วไม่เหมือนกันจ้ะ ส่วนใหญ่แล้วพอเริ่มเป็นสาว ประจำเดือนจะมาก็อีก 2 ปี-2ปีครึ่ง ถ้าเพื่อนๆ ของลูกเป็นสาวเร็วเขาก็จะมีประจำเดือนเร็ว ช่วงวัยที่จะมีประจำเดือนบางคนมาเอาตอนอายุ 16 ปีก็มี ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกตินะ หนูไม่ต้องกลัว แต่เตรียมพร้อมตัวเองไว้ว่าถ้ามีประจำเดือนแล้ว เราต้องใส่ผ้าอนามัยและรักษาความสะอาดนะ
มีเรื่องอะไรต้องบอกลูกอีกไหม
ให้เขารู้เสมอว่าพ่อกับแม่พร้อมที่จะพูดคุยและเป็นที่ปรึกษาให้เขาตลอดเวลา รวมทั้งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ที่จะต้องเป็นฝ่ายเข้าหาและเปิดการสนทนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยแรกรุ่นของเขาด้วย รวมถึงไม่เอาแต่อธิบายหลักการ พ่อแม่ต้องเข้าให้ถึงความรู้สึกต่างๆ ของลูกที่มากับการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าอกเข้าใจ
สำหรับบางบ้านที่รู้สึกขัดเขินกับการพูดคุยหัวข้อนี้แบบเปิดเผย ก็ควรต้องพยายามหาโอกาสพูดและแนะนำเขาให้ได้อยู่ดี อาจสร้างความมั่นใจด้วยการศึกษาข้อมูลให้มากขึ้นและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสริม เพราะก่อนตอบคำถามของลูกๆ ก็ควรแน่ใจเสียก่อนว่าตัวเองไม่มีข้อสงสัยอะไรค้างคา แต่ถ้าไม่กล้าและรู้สึกกระดากที่จะเป็นฝ่ายเริ่มพูดเรื่องนี้กับลูกจริงๆ อาจจะต้องเกริ่นนำกับเขาว่า พ่อหรือแม่อาจจะถามไม่เป็นหรืออธิบายไม่เก่ง แต่ถ้าลูกต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลืออะไร สามารถมาพูดคุยได้เสมอ
อ้างอิง
Steven Dowshen, MD