- พูดคุยกับคุณผู้ปกครองและเด็กที่มีประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (บ้านเรียน) และถอดบทเรียนมาเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ว่าเราอาจมีตัวช่วยในสถานการณ์ “Learn From Home” นี้ได้อย่างไร ด้วยมุมมองที่ว่า “การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการไปโรงเรียน”
- เริ่มตั้งแต่ ‘การเล่น’ การเรียนรู้ของเด็กเล็ก การออกแบบวิถีชีวิตร่วมกันของวัยรุ่นที่โตขึ้นมาหน่อย สำรวจทรัพยากรที่มีแล้วลงมือทำกิจกรรมร่วมกัน สุดท้าย การตั้งหลักของผู้ปกครองที่ว่า ลดความคาดหวัง พลาดพลั้งคือก้าวสำคัญของการเรียนรู้
- “การกลับมาเรียนรู้ที่บ้านเป็นไปได้ว่าเราอาจต้องนิยามความหมายของ Space&Time คำว่า ‘บ้าน’ เสียใหม่ ต้องยกระดับขึ้นเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ ได้ด้วยแนวคิดการออกแบบ 3 กิจกรรม 3 พื้นที่ คือ การทำกิจกรรมในบ้าน (งานบ้าน) กิจกรรมนอกบ้าน (การเชื่อมโยงการเรียนรู้กับปรากฏการณ์ทางสังคม) และกิจกรรมตามความสนใจส่วนตัว จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันผ่อนคลายลง ทุกคนเป็นเจ้าของเวลาของตัวเอง ในพื้นที่ของตัวเอง” ป้อมปืน–วรวัส สบายใจ ผู้ที่มีประสบการณ์การเรียนรู้แบบบ้านเรียนมาก่อน
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นวงกว้าง หากพิจารณาในภาพย่อยๆ ระดับครอบครัว พ่อแม่จำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ประสบภัยกันถ้วนหน้า ทั้งมิติการทำงาน เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และสำคัญที่สุดคือการศึกษาของลูกซึ่งพ่อแม่อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบเป็นหลักไปก่อน
แม้นโยบายล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศว่าให้เลื่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่อาจยืนยันได้ด้วยซ้ำว่าเมื่อถึงเวลานั้น การเรียนการสอนจะเป็นไปได้ตามปกติจริงไหม เพราะการเรียนออนไลน์มีองค์ประกอบและปัจจัยสนับสนุนหลายประการเหลือเกิน ยังไม่นับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก และคนที่ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุดก็คือครอบครัวและพ่อแม่นั่นเอง
The Potential ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่และเด็กที่มีประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง(บ้านเรียน)มาก่อน ได้แก่ พ่อปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล, แม่เช็ง-ศุภรัตน์ ศุภชัยศิริกุล, แม่จิ๊บ-ธัญชนก สีหาพล, ป้อมปืน-วรวัส สบายใจ และถอดบทเรียนมาเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ว่าเราอาจมีตัวช่วยในสถานการณ์ “Learn From Home” นี้ได้อย่างไรบ้าง
โอกาสการเรียนรู้อยู่ทุกที่ของชีวิต
การศึกษาในความคุ้นเคยของพ่อแม่อาจหมายถึงการส่งลูกไปโรงเรียน เรียนเป็นวิชา วัดผลได้จากเกณฑ์การประเมินที่มี แต่อันที่จริงแล้วการศึกษาเป็นเพียงส่วนย่อยที่เล็กมากของคำว่า “การเรียนรู้” ในวิกฤติครั้งนี้ ก่อให้เกิดการล่มสลายของหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้คนรอดได้คือการมีทักษะชีวิต บางคนตกงาน แต่ยังอยู่รอดได้เพราะทำอาหารได้ ค้าขายออนไลน์เก่ง นำเอางานอดิเรกมาทำเป็นอาชีพเป็นรายได้หลักในช่วงเวลานี้ คนจำนวนมาก ใช้โอกาสนี้สร้างแหล่งอาหารประจำบ้านของตัวเอง ด้วยการปลูกผักสวนครัว รื้อฟื้นทักษะการถนอมอาหาร แปรรูปอาหาร เป็นความรู้ที่ช่วยชีวิตได้จริง
ดังนั้นพ่อแม่อาจต้องมีมุมมองใหม่ว่า “การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการไปโรงเรียนเท่านั้น” และเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งที่ลูกสนใจ
การเล่นเป็นงานของเด็ก(เล็ก)
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ในทุกวันอยู่แล้วนับตั้งแต่เกิดโดยมีแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักเป็นของเล่นที่ดีที่สุด เป้าหมายการเรียนรู้ของเด็กเล็กในช่วง 0-7 ปี คือ “การเล่น” เล่นดิน เล่นทราย สำรวจธรรมชาติ ต่อบล็อคไม้ ให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อขาและนิ้วมือมากๆ และ “การฟังนิทาน” ทุกวัน เพื่อทำให้เด็กมีความมั่นคงภายใน(แม่มีอยู่จริง)และส่งเสริมพัฒนาการสมองทางอ้อมด้วย
คุณหมอยืนยันว่าเด็กเล็กช่วงปฐมวัยจึงไม่ต้องไปโรงเรียน(ในวิกฤติ)ก็ได้ สามารถเรียนรู้จากการเล่น ฟังนิทาน และการทำงานบ้านง่ายๆได้อย่างไม่มีปัญหาใดเลย
แม่จิ๊บ-ธัญชนก สีหาพล เป็นคุณแม่ของลูกวัย 5 ปี และ 3 ปี เป็นเจ้าของเพจเลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ แบ่งปันการดูแลลูกผ่านการเล่นและอาชีพของพ่อแม่ว่า
“ที่บ้านคุณพ่อปลูกผัก เราจึงปล่อยให้ลูกเล่นดินเล่นทรายเต็มที่ ชวนลูกคุยถ้าปลูกผักต้องใช้อุปกรณ์อะไร ต้องรดน้ำแบบไหน ผักหน้าตาเป็นอย่างไร เขาอาจแค่คุ้ยเขี่ยดิน แต่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ ได้อยู่กับธรรมชาติ เป็นโอกาสที่พ่อแม่ได้พักด้วย เด็กอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องหากิจกรรมเล่นให้เขาได้ใช้พลังและไม่เบื่อ แค่ได้โหนตัวกับต้นไม้ บางทีเขาก็สนุกมากแล้ว ที่บ้านเราอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืน แล้วชวนลูกคิดว่าพรุ่งนี้อยากทำอะไร เช่น ทำแคมป์ไฟ เล่นทราย ทำอาหาร ตื่นเช้ามาคนโตจะวาดรูปนำเสนอความคิดว่าที่เขาอยากได้คือแบบนี้ มีอะไรบ้าง แม่จะเตรียมของให้ เช่น ปิ้งลูกชิ้น มาชเมลโล ชวนลูกคุยว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือมีสิ่งไหนที่เราอยากทำให้ดีขึ้น เราขายหนังสือเด็กมือสองมาได้สองสามปีแล้วเพราะทำห้องสมุดที่บ้าน ลูกๆ มีโอกาสไปช่วยขายหนังสือด้วย เขาได้พบบรรยากาศที่เด็กๆ มาอ่านหนังสือ คนมาซื้อของ ได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ จนวันหนึ่งเขาก็พูดว่า ‘โตขึ้นภูจะช่วยแม่ขายหนังสือนะ’ ทุกอย่างที่เราทำจึงช่วยการเรียนรู้ของลูกเสมอ”
ออกแบบวิถีชีวิต(ใหม่)ร่วมกัน
เป้าหมายการเรียนรู้ของเด็กระดับประถมศึกษา (7-12ปี) คือการฝึกฝนความตื่นตัว ตั้งใจ คัดกรอง คัดเลือกข้อมูลเพื่อลงมือทำให้สำเร็จ ผู้ปกครองทำหน้าที่เพียงออกแบบโจทย์ปัญหาร่วมกับลูกเพื่อนำไปคิดวิเคราะห์ และลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ตามเป้าหมาย เด็กที่เริ่มโตขึ้นจำเป็นต้องทำตามหน้าที่ ขณะเดียวกันก็เริ่มต้องการพื้นที่และเวลาของตัวเอง
ป้อมปืน-วรวัส สบายใจ อายุ 27 ปี เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การเรียนรู้แบบบ้านเรียนมาก่อน และทุกวันนี้ยังคงเรียนรู้และทำงานเกี่ยวข้องการกับวิเคราะห์และพัฒนาการเรียนรู้อยู่เสมอ เขาแบ่งปันแนวทางการจัดสรรเวลาสำหรับพ่อแม่ในช่วงการเรียนที่บ้านว่า
“การกลับมาเรียนรู้ที่บ้าน(สำหรับคนที่ไม่เคยทำบ้านเรียน) เป็นไปได้ว่าเราอาจต้องนิยามความหมายของ Space&Time คำว่า ‘บ้าน’ เสียใหม่ ต้องยกระดับขึ้นเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ ได้ด้วยแนวคิดการออกแบบ 3 กิจกรรม 3 พื้นที่ คือ การทำกิจกรรมในบ้าน (งานบ้าน) กิจกรรมนอกบ้าน (การเชื่อมโยงการเรียนรู้กับปรากฏการณ์ทางสังคม) และกิจกรรมตามความสนใจส่วนตัว จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันของคนในบ้านผ่อนคลายลง ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของเวลาของตัวเอง ในพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย”
“ไม่อยากให้พ่อแม่คิดว่าลูกต้องเรียนรู้ตลอดเวลา การปล่อยให้ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองหรือทำสิ่งที่สนใจด้วยความสนุก ความอยากรู้ ก็ช่วยเพิ่มทักษะได้เหมือนกัน การออกแบบการศึกษาที่บ้านเราสามารถใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในบ้าน สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้สนุกได้”
1. ออกแบบตารางเวลาร่วม
เมื่อพ่อแม่และลูกจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ในขณะพ่อแม่หลายคนจำเป็นต้องทำงานที่บ้าน การออกแบบตารางเวลาร่วมกันเป็นเครื่องมือช่วยให้สมาชิกในบ้านเห็นภาพรวมที่ร่วมกันมากขึ้น โดยระบุเวลาที่ตายตัวของแต่ละคน เช่น พ่อแม่ต้องทำงาน ลูกต้องเข้าชั้นเรียน แล้วมาบริหารเวลาว่างที่เหลือที่มีร่วมกัน ว่าสามารถทำอะไรในช่วงไหนได้บ้าง หรือ บริหารเวลาระหว่างพ่อกับแม่ว่าเวลาไหน ใครต้องทำอะไร พ่อแม่ที่มีลูกเล็กอาจต้องแบ่งกันดูแลลูก หรือนั่งเรียนออนไลน์พร้อมกับลูก เป็นต้น
2. ออกแบบกิจกรรมร่วม
1) ใช้งานบ้านและวิถีชีวิตเป็นการเรียนรู้ในบ้าน โดยแบ่งกิจกรรมงานบ้านมอบหมายให้ทุกคนร่วมกันทำ ครอบครัวของ แม่เช็ง-ศุภรัตน์ ศุภชัยศิริกุล ใช้งานบ้านช่วยออกแบบการใช้ชีวิตร่วมกันกับลูกสาวทั้งสามคนวัย 13,18 และ 20 ปี
“ลูกทุกคนมีหน้าที่ทำงานบ้านโดยเลือกจากที่ชอบ อย่างพิกซี่ (ลูกคนเล็ก) ชอบเรื่องสัตว์ จึงมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลสัตว์ทั้งหมดในบ้าน แต่ไม่ชอบซักผ้าตากผ้า แฟรี่ (ลูกคนที่สอง) ก็เป็นคนทำ คนน้องจะรู้หน้าที่ตัวเอง ตื่นมาให้อาหารไก่ ปล่อยสัตว์ไปเดิน ปีนี้เขาได้รับมอบหมายโปรเจคที่ซับซ้อนขึ้น โดยมีหน้าที่สำรวจธรรมชาติทุกอย่างในรั้วบ้าน เช่น นกอพยพ แมลง สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ แล้วตรวจสอบข้อมูล นำถ่ายภาพมาวิเคราะห์เทียบเคียง ตรวจสอบอ้างอิงกับกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ถ้ายังไม่ได้คำตอบให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
“งานบ้านเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ได้เยอะมาก ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ การทดลอง เราใช้เวลาช่วงกินข้าวโยนคำถามให้กัน เช่น กินแกงเทโพ แล้วสงสัยว่าผักบุ้งมีกี่แบบ ที่ใส่เย็นตาโฟ กินกับส้มตำ ที่ทำผัดผักบุ้งต่างกันไหม แค่นี้ก็เป็นคำถามให้ค้นคว้าได้แล้ว สายพันธุ์ผักบุ้งมีอะไรบ้าง อะไรคือพันธุ์พื้นบ้าน อะไรคือพันธุ์ต่างถิ่น แล้วเต้าเจี้ยวที่ใส่ผัดผักบุ้ง ทำยังไง ใช้อะไรหมัก ถ้าพ่อแม่เคารพลูกนะ เราจะเห็นเลยว่าลูกโดยเฉพาะเด็กโตมีความสามารถในการหาข้อมูลที่ลึกมากเลย บางทีเค้าตีข้อมูลเรากระจายเลย(หัวเราะ) นี่แหละคือการเรียนรู้ที่เราทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การเรียนแบบที่เราคุ้นชินเป็นวิชาๆ”
2) ใช้ปรากฏการณ์ทางสังคมเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ เช่น ตั้งคำถามว่าเราจะช่วยผู้อื่นในสถานการณ์โรคระบาดนี้ได้อย่างไร อาจชวนกันแบ่งปันอาหาร สิ่งของให้ผู้ได้รับผลกระทบ การออกแบบวิถีชีวิตใหม่หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด เพื่อฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ ฝึกการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังคม ฝึกความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยุค AI ทำงานแทนคนได้มากขึ้น บางครอบครัวใช้สถานการณ์ไฟไหม้ป่าภาคเหนือเป็นจุดเริ่มต้นในการสอนลูกเรื่องการแบ่งปัน การทำเพื่อผู้อื่น เช่น การร่วมบริจาคสิ่งของให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า การช่วยทำแนวกันไฟ และต่อเนื่องถึงการช่วยเหลือดูแลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า เป็นต้น
3. มีพื้นที่และเวลาส่วนตัวของแต่ละคนด้วย
การอยู่ร่วมกันไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยกันไปทั้งหมด ควรมีเวลาอิสระสำหรับแต่ละคนได้ด้วยเพื่อผ่อนคลายและทำสิ่งที่สนใจตามความต้องการของตัวเอง เด็กๆ อาจใช้เวลาว่างของเขาเล่นเกม ดูทีวี พ่อแม่ก็ต้องเคารพช่วงเวลานี้ของเขาด้วย สิ่งสำคัญที่สมาชิกทุกคนจะได้จากการจัดการเวลาร่วมกัน คือการสร้างจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกัน มีทั้งพื้นที่ส่วนรวม พื้นที่ส่วนตัว และเรียนรู้การเคารพเวลาและสิทธิของกันและกันด้วย
สำรวจทรัพยากรที่มีแล้วลงมือทำเลย
วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับพ่อแม่คือการสำรวจทรัพยากรในบ้านและชุมชนแล้วนำมาสร้างการมีส่วนร่วมเรียนรู้และสร้างโจทย์ปัญหาอย่างง่ายๆเพื่อเล่นสนุกไปด้วยกันกับลูก
พ่อปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้จัดการโรงเล่น พิพิธภัณฑ์ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ จ.เชียงราย ใช้บรรยากาศชุมชน พ่อครูแม่ครูเป็นต้นทุนให้ลูกชายสองคนเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ในกรณีของลูกชายคนโต เขาได้เติบโตจากเด็กที่เล่นของเล่นพื้นบ้าน มาสู่การรื้อซ่อมของเล่น ออกแบบของเล่นด้วยตัวเอง จนปัจจุบันได้พัฒนาความซับซ้อนกลายเป็นการออกแบบรถไฟฟ้าสามล้อที่เคลื่อนที่ใช้ได้ในชีวิตจริงด้วยการลงมือทำเองทั้งหมด ส่วนลูกคนเล็กก็พัฒนาสินค้าเป็นของเล่นและงานฝีมือจากผ้าในแบรนด์ปักด้ายปักดีร่วมกับคุณแม่ โดยยกระดับสู่การขายออนไลน์ร่วมกันทั้งครอบครัว (The Potential จะนำเสนอบทความในรายละเอียดต่อไป)
“การเริ่มต้นจากทรัพยากรที่มีในบ้าน ทำให้เราไม่ต้องลงทุนใหม่ ลองดูว่าในชั้นหนังสือ ห้องครัว ในสวน พื้นที่รอบชุมชน เรานำอะไรเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้บ้าง เช่น เราชวนลูกคุยว่าถ้าในหนึ่งสัปดาห์นี้เราจะไม่ออกไปตลาดเลย เราควรจะต้องมีวัตถุดิบอาหารอะไรบ้าง หรือถ้าหนึ่งเดือนเราจะไม่ออกไปตลาดเลย เราต้องปลูกผักอะไรไว้บ้าง มีอะไรที่เราจะสร้างเป็นอาหารได้บ้าง ก็เกิดเป็นรูปแบบกิจกรรมอย่างง่ายๆขึ้น ทดลองกันออกแบบเมนูอาหาร เช้ากลางวันเย็น น่าจะมีเมนูอะไรบ้าง
“การที่เรามาชวนลูกทำเรื่องอาหาร ไม่ได้แค่อาหารที่กินแล้วอิ่มอย่างเดียว แต่ได้เรื่องปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนสนทนากับลูก อย่างเช่นเมนูกะเพรา เด็กที่ไม่เคยลงมือทำมาก่อนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องใส่กระเทียม พริก แล้วพริกมีกี่แบบ ไฟอ่อนหรือแรงได้ผลต่างกันไหม ทำไมต้องใส่ใบกะเพรา ถ้าเปลี่ยนเป็นใบอย่างอื่นได้หรือเปล่า เครื่องปรุงต้องใช้อะไร ทุกอย่างเป็นทั้งคำถามและการเรียนรู้การทำอาหารหรือการเรียนรู้ร่วมกับลูกในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่ได้หวังผลระยะสั้นทันที แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับแนวคิดของทั้งพ่อแม่และเด็กๆว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลา”
ทรัพยากรในที่นี้ยังอาจหมายรวมถึงความสนใจของเด็ก อุปกรณ์ เครื่องมือที่พ่อแม่จะสนับสนุนให้ได้ เช่น หัดถ่ายภาพ หัดตัดต่อวีดีโอ การลองถ่ายสารคดี การวาดสติกเกอร์ไลน์ หรือความเป็นไปได้ทุกอย่างที่เด็กอยากรู้อยากเห็นที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง
ลดคาดหวัง พลาดพลั้งคือก้าวสำคัญของการเรียนรู้
ความสนุกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก การทดลองริเริ่มทำบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะในระหว่างการทำพลาดนั้น เด็กๆ ก็เกิดการเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน พ่อแม่อาจใช้โอกาสของการเรียนที่บ้านเป็นสนามเด็กเล่นหรือเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เราสามารถใช้ความอยากรู้อยากเห็น มาออกแบบสู่การแสวงหาคำตอบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทุกๆขั้นตอนของการลองผิดลองถูก เราถือว่าเป็นการเรียนรู้ทั้งสิ้น
แม่เช็ง-ศุภรัตน์ ศุภชัยศิริกุล มองว่าวิกฤตินี้ทำให้ทุกคนตึงเครียดอยู่แล้ว พ่อแม่ต้องลดความคาดหวังลง แล้วหันมายืนอยู่ข้างเดียวกับลูกเพื่อสามารถเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน
“อยากให้พ่อแม่มองว่าเรามีโอกาสเรียนรู้จากทุกๆ อย่าง ถ้าไม่มองเรื่องความสำเร็จ ทุกสิ่งที่เราทำพลาด เราเรียนรู้และพัฒนาอะไรจากมันได้ นี่มีความหมายมากแล้ว เพราะฉะนั้น พ่อแม่ไม่ต้องเก่งที่สุด ดีที่สุด แต่เราก็จะเรียนรู้ไปด้วยกันกับลูกได้ทุกครั้ง”
(พ่อแม่)เหนื่อยนักก็พักก่อน
วิถีชีวิตที่ต้องทั้งทำงานจากบ้านและเลี้ยงลูก (ให้เรียน) ที่บ้าน อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคน จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวกันทุกคน ข้อนี้เชื่อมโยงกับข้อก่อนหน้า ถ้าเราลดความคาดหวังลงไปบ้าง ทั้งจากตัวเองในฐานะพ่อแม่และจากลูก ชีวิตจะโปร่งเบาไปได้มาก ให้ยอมรับและเข้าใจว่าในการเริ่มต้นใหม่ ทุกเรื่องต้องใช้เวลาเรียนรู้ด้วยกันทั้งสิ้น
แม่จิ๊บ-ธัญชนก สีหาพล แบ่งปันมุมมองของการเป็นคุณแม่เด็กปฐมวัยว่า “บางทีพ่อแม่แบกคำว่าการเรียนรู้มากเกินไป บางครั้งเราเห็นลูกทำด้วยความสนุกด้วยตัวเอง ไม่แบก ไม่ต้องมาคิดว่าจะเรียนรู้อะไร เขาจึงมีความสุข เราต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากลูกด้วย”
เช่นเดียวกับที่ พ่อปุ๊-วีรวัฒน์ กังวาลนวกุล ส่งพลังให้กำลังใจแก่พ่อแม่ทุกคนว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ได้ทั้งนั้น แม้แต่วิถีชีวิตของพ่อแม่ สิ่งนั้นสอดคล้องกับการศึกษาไหม เราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความสุขจึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยให้ชีวิตรวน ต่อให้ลูกได้การศึกษาที่ดีแค่ไหนมันกลายเป็นปัญหาอยู่ดี ทำให้สมดุล ยืดหยุ่นและเหมาะสมในแบบของเราเอง เราจะมีความสุขในแบบของเราเอง ขอให้เริ่มด้วยความสนุก ถ้าเริ่มต้นจากสิ่งนี้ได้ ทุกอย่างจะไปต่อได้ง่ายมาก”
หากเหนื่อยหนักนักหนากว่านั้น นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เขียนไว้ในเพจเฟซบุ๊กของท่านเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่อย่างเข้าอกเข้าใจต่อสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านคราวนี้ว่า
“เหนื่อยมาก ท้อใจ จนตรอก ที่ควรทำคือกินและนอน ถ้ามีลูก เล่นกับลูกไปวันๆ ก็พอ อย่าพยายามทำอะไร กินและนอน พลังจะคืนมาเอง ไม่ต้องพยายามเรียนอะไร หรือพัฒนาตัวเองอะไรเพิ่มไปอีก”
ในบริบทเช่นนี้ มีความหมายถึงการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด ถ้ากลับไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญเสมอ สิ่งสำคัญของเด็กเล็กมีเพียงแค่ กิน นอน เล่น ฟังนิทาน ทำให้แม่มีอยู่จริง ส่วนเด็กโตคืออ่านหนังสือ แก้ปัญหา ทำงานบ้าน หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็ถือว่าได้ทำมากพอแล้ว
ในยามวิกฤติ พลังชีวิตของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งถ้ารู้สึกว่าชีวิตมัน “แบก” มากเกินไป ลองปล่อยวางและ “มีความสุขกับการไม่ทำอะไร” หรือปล่อยให้ทุกอย่างไม่สมบูรณ์แบบดูบ้าง อาจเป็นหนทางของการเรียกพลังกลับคืนได้อย่างดีที่สุดเช่นกัน
เรียนรู้ให้พอดีกับแต่ละช่วงวัย The Illinois State Board of Education ได้เสนอแนะการใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งพ่อแม่อาจใช้เป็นแนวทางทำกิจกรรมที่บ้านได้ ดังนี้ – เด็กอายุ 5 ปี เรียนรู้อย่างน้อย 20 นาทีแต่ไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน – เด็กอายุ 6 ปี เรียนรู้อย่างน้อย 30 นาทีแต่ไม่เกิน 90 นาทีต่อวัน – เด็กอายุ 7-8 ปี เรียนรู้อย่างน้อย 45 นาทีแต่ไม่เกิน 90 นาทีต่อวัน – เด็กอายุ 9-11ปี เรียนรู้อย่างน้อย 60 นาทีแต่ไม่เกิน 120 นาทีต่อวัน – เด็กอายุ 12-14 ปี เรียนรู้ในชั้นเรียนครั้งละ 15-30นาที รวมแล้วไม่เกิน 90-180 นาทีต่อวัน – เด็กอายุ 15-18 ปี เรียนรู้ในชั้นเรียนครั้งละ 20-45นาที รวมแล้วไม่เกิน 120-270 นาทีต่อวัน (อ้างอิง : Remote Learning Recommendations During Covid-19 Emergency by The Illinois State Board of Education) |