- เด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถจับสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติของผู้ใหญ่ ทั้งยังตีความหมายท่าทางดังกล่าวและหาเหตุผลได้ด้วยตัวเอง
- การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านร้าวฉาน ยังส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของเด็กจนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและการทำร้ายตัวเอง
- หนึ่งในหนทางเยียวยาความสัมพันธ์ที่ดีคือ การที่ผู้ใหญ่เปิดใจนั่งจับเข่าคุยบอกเล่าถึงปัญหาข้อเบาะแว้งที่เกิดขึ้นให้เด็กฟัง ยังต่อยอดให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ ทักษะสังคมและความสัมพันธ์ได้อีกด้วย
รู้กันอยู่แล้วว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นส่งผลเสียต่อหลายๆ มิติ ทั้งความสัมพันธ์ ร่างกายและจิตใจของสมาชิกแต่ละคนในบ้านที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นความรุนแรงในครอบครัวแค่การโต้เถียงโดยใช้อารมณ์หรือมีปากเสียงทะเลาะกันเพราะเห็นต่างกันต่อหน้าเด็ก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลี้ยงดูพวกเขาเอง ก็ให้ผลลัพธ์เชิงลบไม่ต่างกัน
แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ทุกความสัมพันธ์จะต้องมีการโต้เถียงเพราะความเห็นที่ไม่ตรงกันและผู้ใหญ่จะสามารถจัดการจบปัญหาดังกล่าวนั้นได้ด้วยดี แต่อย่าลืมว่าเด็กไม่ได้จบและจัดการปัญหานั้นได้เหมือนผู้ใหญ่ เมื่อพวกเขากลายเป็นประเด็นให้คนรอบข้างทะเลาะกันแต่ถูกกีดกันให้กลายเป็นคนนอก บางคนอาจจะต้องรู้สึกแบบนั้นไปตลอดชีวิต ถึงจะผ่านช่วงวัยเด็กไปแล้วก็ตาม
พ่อแม่รู้สึกแย่ เด็กก็รู้สึกแย่เหมือนกัน
บางครั้งผู้ปกครองเองก็เผลอลืมความรู้สึกของเด็กๆ เมื่อพวกเขาต้องได้ยิน รับรู้และพบว่าตัวเองเป็นปัญหา เด็กเองก็รู้สึกแย่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (University of Sussex) โดยศาสตราจารย์กอร์ดอน ฮาโรลด์ (Gordon Harold) ซึ่งเผยแพร่ลงวารสารวิชาการ The Journal of Child Psychology and Psychiatry โดยได้ทำการสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ในบ้านของกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลาหลายสิบปี พบว่าเด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไปจนถึงช่วงวัยรุ่น พวกเขามีความสามารถในการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใหญ่และสามารถจับความผิดปกติทางอารมณ์ในเชิงลบของผู้ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
แม้การโต้เถียงเหล่านั้นจะอยู่ ‘นอกสายตา’ พวกเขาหรือจะเป็นการโต้เถียงกันใน ‘พื้นที่ส่วนตัว’ เด็กก็มีไหวพริบมากพอที่จะจับสังเกตได้
น่าสนใจกว่านั้น ทีมวิจัยยังพบว่าแม้แต่เด็กหกเดือนก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงความขัดแย้งของผู้ใหญ่ โดยเด็กจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นและฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น
เท่ากับว่า ผู้ใหญ่อย่างเราอย่าประเมินหรือคิดไปเองโดยเด็ดขาดว่าการที่เด็กทำเป็นไม่สนใจหรือมีท่าทีไม่รับรู้อะไรนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่รู้สึกอะไร เพราะหลายครั้งที่เด็กเก็บเอาประเด็นต่างๆ ที่พ่อแม่ทะเลาะกันมาโทษตัวเองและตามมาด้วยความกังวลว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับผู้ปกครองจะแย่ลงไปมากกว่าเดิม
ส่งผลเสียขนาดไหน?
เมื่อผู้ใหญ่อย่างเรารู้อยู่เต็มอกว่า การทะเลาะเบาะแว้งในบ้านอาจนำมาสู่ผลเสียในระยะยาวต่อเด็กๆ แทบทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านเท่านั้นแต่ส่งผลครอบคลุมไปถึงสุขภาพจิต การศึกษาและทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ในอนาคต
อย่าคิดว่าพวกเขาเด็กเกินไปจนไม่เข้าใจอะไร เพราะแท้จริงแล้วพวกเขาสามารถตีความหมายท่าทางหรืออาการของผู้ใหญ่ พร้อมทั้งดึงประสบการณ์ทางความทรงจำมาร่วมหาเหตุผลประกอบได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ และหากเรื่องที่พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นเพราะตัวเขาเอง เด็กยิ่งรู้สึกผิดและกล่าวโทษตัวเองมากขึ้น
อันตรายกว่านั้นคือ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองช่วงต้น นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองขั้นเรื้อรัง เลวร้ายกว่านั้นคือ การทำร้ายตัวเอง – ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตพวกเขาก็จะมีอาการไม่ต่างกัน
นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังอธิบายอีกว่า เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันและแสดงออกมาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจมากกว่าเด็กผู้ชาย ในขณะที่เด็กผู้ชายจะมีปัญหาทางพฤติกรรมมากกว่าเด็กผู้หญิง
พันธุกรรมหรือการเลี้ยงดู?
แม้จะมีข้อกังขาเรื่องการแสดงออกและพฤติกรรมของเด็กๆ เหล่านั้นอาจมาจาก ‘ธรรมชาติ’ ของพวกเขา กล่าวคือ ‘พันธุกรรม’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิตของเด็กรวมถึงต่อท่าทีการตอบสนอง เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง จนกลายเเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจากภาวะความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ทั้งหมดนั้นฮาร์โรลด์ไม่ปฏิเสธ
อย่างไรก็ดีเขาชี้ว่า ปัจจัยภายนอกอย่าง ‘สภาพแวดล้อม’ และ ‘การเลี้ยงดู’ ยังคงเป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพราะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อจิตใจเด็กและความสัมพันธ์ในครอบครัวสูงไม่แพ้กัน
นั่นหมายความว่า การตอบสนองที่แสดงออกมาทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กส่วนหนึ่งก็ไม่อาจมองข้ามปัจจัยใดๆ ไปได้ – ขีดเส้นใต้ประโยคดังกล่าวพร้อมท่องจำให้ขึ้นใจ
“ไม่ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรือมีพันธุกรรมที่เหมือนหรือไม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างผู้ปกครองและเด็กยังคงเป็นสิ่งสำคัญ” ฮาร์โรลด์กล่าว
เยียวยาความสัมพันธ์: เปิดใจและนั่งจับเข่าคุยกัน
หากเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นไปแล้ว ฮาโรลด์เสนอว่าสิ่งที่จะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาเหมือนเดิมควรทำอย่างไร เขาเสนอว่าควรนั่งจับเข่าคุยกันและอธิบายสาเหตุให้เด็กฟังอย่างสมเหตุสมผลมากที่สุด
“เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเรา (ผู้ปกครอง) จะทะเลาะกันหรือเห็นต่างกัน แต่ข้อเท็จจริงคือเด็กส่วนใหญ่ตอบสนองได้ดีเมื่อผู้ใหญ่หันหน้าเข้าหาพวกเขาและอธิบายให้ฟังอย่างเหมาะสมถึงข้อโต้เถียงของผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้น”
ฮาร์โรลด์ยังกล่าวอีกว่า วิธีการลักษณะนี้ยังเป็นบทเรียนที่ดีในการช่วยนำทางอารมณ์และความสัมพันธ์ของเด็กให้ออกไปนอกเหนือจากวงสังคมที่บ้านได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีในบ้านเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่เด็กจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ไม่ว่าจะกับญาติพี่น้อง เพื่อนในโรงเรียนหรือครูต่างก็มีอิทธิพลสำคัญในการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมให้ได้ในระยะยาว