- การตี เป็นหนึ่งในการสร้างวินัยเชิงลบ นอกจากความกลัวแล้ว ลูกจะไม่มีทางเข้าใจเลยว่าทำไมถึงถูกตี
- แม้การตีจะใช้ได้ผลในระยะสั้น (คือขู่ให้กลัว) แต่ในระยะยาวกลับส่งผลกระทบต่อจิตใจและทำลายความผูกพัน
- มีการฝึกอีกหลายวิธีที่ดีกว่าการตี ทั้งยังเพิ่มความเข้าใจ ดึงลูกให้เข้ามาใกล้ๆ ถือเอาโอกาสนี้ปรับและเปลี่ยนวินัยพ่อแม่ไปในตัว
ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่เรื่องการลงโทษทางร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น การตี เป็นประเด็นถกเถียงมานานพอสมควรในแวดวงวิชาการทั่วโลก
‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ คือผลพวงจากฝั่งสนับสนุนที่ใช้การสอนแบบนี้มานานปี แต่อาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบันนี้ เพราะเข้าข่ายวินัยเชิงลบ – ตีเพื่อให้กลัว แต่ไม่ได้สอนว่าทำไมถึงไม่ดีและไม่ควรทำ
จากการศึกษา วิธีการนี้ใช้ได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวกลับพบว่าการลงโทษด้วยการตี หรือการลงโทษทางร่างกาย (Physical Punishment) ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาพจิตใจของเด็ก
บทความวิชาการ ‘The Strength of the Causal Evidence Against Physical Punishment of Children and Its Implications for Parents, Psychologists, and Policymakers’ เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ให้ข้อสรุปว่า แม้อยู่ท่ามกลางบริบทชุมชนที่แตกต่างกัน ต่างภาษา ต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม การลงโทษทางร่างกายส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กในทุกสังคม ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของพ่อแม่ แต่เป็นเรื่องที่บุคคลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู นักจิตวิทยาครอบครัว หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่กำหนดนโยบายระดับชาติควรให้ความสำคัญ
ผลการศึกษาระบุชัดว่า เด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่ใช้การลงโทษทางร่างกาย มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ก้าวร้าว มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีปัญหาทะเลาะวิวาทใช้ความรุนแรง มีประสิทธิภาพการรับรู้และการเรียนรู้ต่ำ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองค่อนข้างห่างเหิน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว การศึกษานี้จึงเป็นหลักฐานเชิงข้อมูลยืนยันกับผู้ปกครองว่า การตีไม่ใช่ทางออก
‘ตี’ หรือ ‘ไม่ตี’ แล้วจะลงโทษลูกด้วยวิธีไหน ถึงจะดี?
คำตอบ…ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ
การลงโทษมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความขัดแย้ง ขุ่นเคืองใจ และปิดกั้นการเรียนรู้ ยิ่งเมื่อได้รับการลงโทษด้วยการตี จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านและตอบโต้ เนื่องจากสมองกลีบหน้า (Frontal cortex*) ได้รับการกระตุ้น แล้วเชื่อมโยงไปสู่กลไกการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน
นี่ยังไม่รวมความรู้สึกอับอาย ความโกรธ ความรู้สึกอดทนอดกลั้น จนนำไปสู่การหาวิธีการไม่ให้ถูกจับได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ
บทความเเรื่อง ‘Spanking Is Ineffective and Harmful to Children, Pediatricians Group Says’ ใน เดอะนิวยอร์คไทม์ส โดย คริสตินา คารอน (Christina Caron) นำเสนอเรื่องราวของหมอและกุมารแพทย์รวม 67,000 คนในสหรัฐอเมริกาที่ลงความเห็นตรงกันถึงความไม่มีประสิทธิภาพและผลกระทบเชิงลบจากการลงโทษเด็กทางร่างกาย
ข้อมูลนี้เผยแพร่โดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatric) จากการศึกษาและวิจัยร่วม 20 ปี นำเสนอในวารสารกุมารแพทย์ (Jornal Pediatrics) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“หนึ่งในความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรสร้างให้เด็กเกิดความกลัว จากการใช้ความรุนแรงในการลงโทษ” โรเบิร์ต ดี. เซจ (Dr. Robert D. Sege) กุมารแพทย์ จาก Tufts Medical Center and the Floating Hospital for Children หนึ่งในศูนย์การแพทย์สำหรับเด็กในบอสตัน กล่าว
เซจ ย้ำผลลัพธ์จากการศึกษาว่า หากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงลงโทษลูก จะส่งผลให้ลูกมีความก้าวร้าวและขาดความยับยั้งชั่งใจ สนับสนุนข้อมูลที่นำเสนอโดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกันด้วยเหตุผลหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ผลจากการตีส่งผลเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง
ผลกระทบจากการตีไม่ต่างจากผลที่เกิดกับเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ สมองส่วนหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้ทางสังคม รวมถึงสมองส่วนที่เชื่อมโยงการเรียนรู้จะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็กเข้าสังคมยากและมีศักยภาพในการเรียนต่ำลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้แล้วพ่อแม่บางคนหลีกเลี่ยงการลงโทษมาเป็น ‘การนิ่งเงียบ เฉยชา ไม่พูดไม่จา’ กับลูก ผลการศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง ‘Not in Front of the Kids: Effects of Parental Suppression on Socialization Behaviors During Cooperative Parent–Child Interactions’ เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก บอกว่า หากพ่อแม่นิ่งเงียบ แอบซ่อนความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่แสดงอารมณ์ใดๆ เลยเมื่อลูกกระทำความผิด ส่งผลให้ลูกมีความร่าเริงน้อยลง กลายเป็นเด็กเก็บกด และขาดความอบอุ่น เนื่องจากภาวะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ลูกไม่กล้าพูดคุยอย่างเปิดเผยกับพ่อแม่ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพัฒนาการและการแสดงออกทางอารมณ์ของลูกด้วย
การตีไม่ใช่ทางออกแรกและไม่ใช่ทางออกสุดท้าย
ฮีเธอร์ เทอร์เจียน (Heather Turgeon) นักจิตวิทยาอายุรเวท ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็ก เขียนถึงวิธีการรับมือเมื่อลูกไม่ได้อย่างใจไว้ได้อย่างน่าคิด บทความมีชื่อว่า ‘Which is Better, Rewards or Punishments? Neither.’ ในนิตยสารเดอะนิวยอร์คไทม์ส (The New York Times)
เธอบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการหลอกล่อด้วยของรางวัล (rewards) หรือ การลงโทษ (punishments) ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไขให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่หากพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกถึงความรักและสัมผัสได้ถึงการดูแลเอาใจใส่อย่างเปิดเผย วิธีการนี้ไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ให้ลูกต่อต้านหรือปฏิวัติพ่อแม่ได้เลย
รางวัลล่อตามีอิทธิพลต่อแรงจูงใจที่อาจชักพาไปสู่ความคิดผิดๆ
การดึงดูดใจด้วยสิ่งของเป็นการลงโทษแบบแอบแฝงอย่างหนึ่ง วิธีการนี้ดูอ่อนโยน น่ายอมรับมากกว่าการลงโทษ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กในระยะยาวได้ แถมยังส่งผลย้อนกลับสร้างพฤติกรรมที่ไม่น่ารักให้กับลูก
“ถ้าหนูทำตาม แล้วหนูจะได้รางวัลเป็นอะไร?”
ลองจินตนาการถึงประโยคสวนกลับนี้จากลูก เมื่อคุณแค่เอ่ยปากบอกให้ลูกรักษาความสะอาดห้องนอนหรือเก็บของให้เป็นระเบียบ
เจอแบบนี้พ่อแม่คงชะงัก
เทอร์เจียนบอกว่า นักจิตวิทยาเห็นพ้องต้องกันว่า การให้รางวัลผิดจังหวะ แทนที่จะเป็นแรงกระตุ้น กลับลดแรงจูงใจและความเพลิดเพลินตามธรรมชาติของเด็ก
ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยกับเด็กที่ชอบวาดรูป เด็กกลุ่มที่รู้ว่าตัวเองจะได้ค่าตอบแทนในการวาด กลับวาดได้น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการชักชวนให้มาวาดเพื่อความสนุกสนานแต่ไม่ได้ค่าตอบแทน
เห็นได้ว่าการมีรางวัลเป็นของล่อตาล่อใจ ด้านหนึ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กไม่คิดอย่างลึกซึ้งและไม่ปล่อยให้จินตนาการโลดแล่นเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างชิ้นงาน
หากมองอีกมุมหนึ่งกับดักที่แท้จริงของเรื่องนี้อยู่ที่ผู้ใหญ่หรือเปล่า?
เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือการให้รางวัล ต่างก็เกิดขึ้นจากสมมุติฐานเชิงลบของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กว่า เด็กควรได้รับการดูแลและอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีและไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางแต่ปฏิบัติในทางที่ผิด แต่การดูแลที่ว่ากลับกลายร่างเป็น ‘การควบคุม’ เพราะขาดความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจถูกเรื่องการอบรมดูแลลูกเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองก่อน
เมื่อถึงคราวที่ลูกดื้อไม่อยู่ในระเบียบวินัยขึ้นมาจริงๆ พ่อแม่เปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้จากการเปลี่ยนวิธีพูดและการแสดงออกของพ่อแม่เอง งานนี้ไม่มีการควบคุมใดๆ ไม่ต้องตี ไม่ต้องทำดีหลอกล่อ และไม่ต้องทำหน้าตาบึ้งตึงไม่พูดไม่จาใส่กัน
สิ่งแรกที่ผู้ปกครองควรทำ คือ เชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในตัวเอง มีน้ำใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความอดทน และสามารถทำงานอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
หากพ่อแม่เชื่อแบบนี้ ความเชื่อนี้จะเปลี่ยนสายตาของพ่อแม่ที่ใช้มองลูก จากที่ไม่เคยฟัง ใช้อำนาจในการควบคุม พ่อแม่จะสามารถรับฟังลูกอย่างเข้าใจ และพูดคุยกับลูกได้อย่างมีเหตุผล
ต่อไปนี้เป็น 4 วิธีที่จะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกมากขึ้น และทำให้ลูกมีระเบียบวินัยได้โดยไม่ต้องตี
- หนึ่ง มองให้ลึกถึงสาเหตุที่แท้จริง
ธรรมชาติแล้วเด็กๆ ไม่ตีพี่น้อง ไม่ทะเลาะกับเพื่อนที่เล่นด้วยกัน ไม่เฉยเมยหรือโมโหร้ายใส่พ่อแม่ หรือไม่ร้องไห้งอแง ชักดิ้นชักงอในร้านขายของเล่นโดยไม่มีเหตุผล พ่อแม่ช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลักษณะนี้ได้ ด้วยการมองหาต้นเหตุที่แท้จริง พูดง่ายๆ คือ พ่อแม่ต้องรู้ใจลูก เช่น เอ่ยปากถามก่อนตำหนิหรือตีว่า “เป็นอะไรลูก?”
เมื่อถามแล้ว แน่นอนว่าลูกอาจไม่ตอบในครั้งแรก หรือไม่ตอบอะไรเลย แต่ยังคงร้องไห้หรือทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนด้วยการถามซ้ำด้วยน้ำเสียงปกติ แล้วทำท่ารับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ใส่อารมณ์ไปตามอารมณ์แปรปรวนของลูก
หรือขณะที่เดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ หากพ่อแม่รู้ว่าลูกจะร้องไห้โวยวายทุกครั้งเมื่อต้องกลับบ้าน วิธีการคือบอกให้ลูกรู้ก่อนล่วงหน้าก่อน 10, 5 หรือ 2 นาที ตามความเหมาะสม เพื่อให้ลูกปรับตัว
การร้องไห้ โวยวาย หรือแม้กระทั่งกรีดร้อง การดื้อไม่ฟังเหตุผล และการแสดงอาการโมโห เป็นการแสดงออกที่ไม่น่ารัก แต่จริงๆ แล้วลูกอาจกำลังหิวหรือเปล่า ลูกง่วงนอนเพราะนอนน้อยเกินไหม ลูกอยู่ในสถานที่ใหม่ซึ่งไม่คุ้นเคยหรือเปล่า หรือทำกิจกรรมมามากมายทั้งวันจนเหนื่อยแล้วก็เป็นไปได้
พ่อแม่ถามลูกได้เพื่อแสดงให้ลูกเห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใย ให้ลูกเปิดใจและไว้วางใจที่จะบอกความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องแสดงทีท่าฉุนเฉียววางทีท่าควบคุมลูก
อลิซาเบธ แพนท์ลีย์ (Elizabeth Pantley) ผู้เขียนหนังสือ ‘The No-Cry Discipline Solution’ ยกตัวอย่างพฤติกรรมของเด็กในวัยหัดเดินที่ยังไม่รู้ความนัก พวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ จึงแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ตอนไหนอารมณ์ดีก็ยิ้มแย้มเฮฮา แต่ตอนจะร้องไห้ก็เต็มที่ โดยเฉพาะเวลารู้สึกเหนื่อย หิว เบื่อ และอึดอัด
เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติตามพัฒนาการการเจริญเติบโต จึงทำให้พวกเขาแสดงอารมณ์เพื่อทดสอบการตอบสนองของพ่อแม่ จุดนี้เองที่พ่อแม่ต้องแสดงออกให้ถูกทาง
แทนที่จะพูดว่า
“ทำตัวดีๆ ลูก เล่นเบาๆ แบ่งเพื่อนด้วย ไม่งั้นแม่/พ่อ ไม่ให้ดูการ์ตูนนะ”
ลองพูดแบบนี้สิ
“แม่/พ่อ รู้ว่าลูกกำลังจะแบ่งของเล่นกับเพื่อน แม่/พ่อ รู้ว่าแรกๆ มันอาจจะยาก แล้วลูกก็ไม่ชอบ ลูกลองคิดดูสิว่าจะแบ่งของเล่นกับเพื่อนยังไงบ้าง น่าสนุกดีออก ถ้ามีอะไรให้แม่/พ่อ ช่วยก็บอกได้นะ”
หรือเมื่อลูกงอแงไม่ยอมเข้านอน
“ลูกอยากทำอะไรก่อน ระหว่างแปรงฟันหรือว่าจะใส่ชุดนอนก่อน?”
- สอง กระตุ้นแทนให้รางวัล
แรงจูงใจเป็นเรื่องที่ดี ถ้าใช้คำพูดสร้างแรงจูงใจอย่างถูกต้อง
แทนที่จะพูดว่า
“ถ้าลูกทำความสะอาดห้องให้สะอาด เราจะออกไปสนามเด็กเล่นกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องไป”
ลองพูดแบบนี้สิ
“พอห้องลูกสะอาดแล้ว เราออกไปสนามเด็กเล่นกัน พ่อ/แม่รอได้ หรือถ้าลูกอยากให้พ่อ/แม่ ไปช่วยก็บอกนะ”
หรือขณะที่ผู้ปกครองกำลังทำความสะอาดบ้านอยู่ ลองชวนลูกสั้นๆ ว่า
“พ่อ/แม่ เชื่อว่าลูกอยากช่วย เราเป็นทีมเดียวกัน”
- สาม ‘ช่วย’ แทนที่จะ ‘ลงโทษ’
ไอเดียของการลงโทษ คือ การทำให้ลูกอยู่ในการควบคุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวกลับเป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พยายามทำร้ายตนเอง ในทางปฏิบัติพ่อแม่สามารถวางข้อตกลงและแนะนำลูกได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงโทษ
แทนที่จะพูดว่า
“จะต้องให้พ่อ/แม่ พูดอีกกี่ครั้งว่าให้เล่นเบาๆ”
ลองพูดแบบนี้สิ
“ลูกเล่นแรงไปแล้ว พ่อ/แม่จะให้ลูกหยุดเล่นก่อน เพราะมันอันตราย ถ้าลูกนิ่งแล้วเรามาเล่นกันใหม่”
‘ไทม์ เอาท์’ (Time Out) สำหรับบทความนี้ขอเรียกว่า ‘พื้นที่พักใจ’ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ลูกสงบ แต่ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ อาจฟังแล้วแปลกหู และไม่คุ้นเคยสำหรับวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบไทยๆ แต่ลองดูก็ไม่เสียหาย
พื้นที่พักใจเป็นการกำหนดพื้นที่สักส่วนหนึ่งในบ้าน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกสำหรับสงบสติอารมณ์ อาจเป็นบันไดบ้าน มุมบ้านส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อลูกร้องไห้งอแงหรือทำความผิด ให้เขาได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของเขา โดยไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปรบกวน
ระยะเวลาที่ใช้เทียบเคียงกับอายุของลูกได้ เช่น เด็กอายุ 3 ขวบ ให้ใช้เวลาในพื้นที่พักใจประมาณ 3 นาที เป็นต้น
- สี่ เป็นทีมเดียวกันกับลูก
ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ขี้เกียจ โดยเฉพาะวัยเด็ก พ่อแม่สามารถให้พวกเขาทำโน่นทำนี่ได้ทั้งวัน หากทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่แกล้งหลอก เมื่อลูกเริ่มรู้ความ เป็นไปได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มหัดเดิน พ่อแม่สามารถสื่อสารให้ลูกฟังได้ว่างานที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ในระยะแรกอาจเริ่มจากงานบ้าน พ่อแม่แจกแจงให้เห็นว่างานบ้านที่ต้องรับผิดชอบมีอะไร แล้วสิ่งไหนที่ลูกอยากทำ
การมีส่วนร่วมที่ว่านี้ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้นหากทำขึ้นเป็นชาร์ต โดยระบุหน้าที่ของพ่อแม่ลงไปด้วย เมื่อใครทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยก็ให้มาขีดเครื่องหมายว่าได้ทำงานตามมอบหมายแล้ว เมื่อลูกทำได้สำเร็จ (เหมือนพ่อแม่) พวกเขาจะเกิดความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แนวคิดปฏิเสธการตีนี้ได้รับการเผยแพร่และยอมรับจนเป็นมาตรฐานเดียวกันในสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักจิตวิทยาครอบครัวก็ควรให้คำแนะนำและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ไปพร้อมๆ กับภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการลงโทษลูกด้วยการตี และเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาหากลูกไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
เห็นได้ว่าทางออกสำหรับการไม่ลงโทษ คือ การสื่อสารกับลูกอย่างถูกวิธี การเลี้ยงดูลูกจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการแตกต่างกันไป เด็กแต่ละคนเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับเขาไม่เหมือนกัน หากอยากให้ลูกเข้าใจพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเข้าใจลูกก่อน และทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่เป็นทีมเดียวกับเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม…