- ตื่นสาย ไปดูหนัง นั่งกินข้าวนานๆ มาสก์หน้าแล้วหลับไปเลย สิ่งเหล่านี้คนที่เป็นพ่อแม่เคยทำบ้างหรือเปล่า
- ‘เคย’ บางคนอาจตอบอย่างนี้ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้เข้าข่ายเห็นแก่ตัว สู้แบกความความคาดหวังว่าฉันจะเป็นพ่อแม่ที่ดีเอาไว้ดีกว่า
- Flock Learning คือกลุ่มที่เห็นภาระอันหนักอึ้งเหล่านี้ จึงอยากเปิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้พ่อแม่มาแชร์และเช็คทุกข์สุขและความคาดหวังของตัวเอง
ภาพ: Flock Learnin
“เราเปิดกิจกรรมด้วยการชวนคุยว่า ‘อะไรที่เมื่อเป็นพ่อแม่แล้วไม่ได้ทำ’ คำตอบส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยนะ เป็นเรื่องเล็กมากอย่างการนอนตื่นสาย ไปดูหนัง ได้นั่งกินข้าวนานๆ ที่ร้านอร่อยๆ และทุกคนจะตอบตามมาว่า ‘แต่มันไม่เป็นอะไรนะ เรื่องของเราเอาไว้ก่อนได้ จัดการลูก ดูแลครอบครัวก่อน’ เราเองก็เป็นเหมือนกันนะ แม้จะเป็นแม่มาแค่ 3 ปีแต่ก็เป็นเหมือนกัน ลูกมาก่อน เสื้อผ้าให้ลูกก่อน ข้าวปลาต้องให้ลูกก่อน
“คำตอบนี้มันทำให้เห็นอะไร? มันทำให้เห็นว่าเวลาที่เราทุ่มพลังให้คนอื่นไปจนหมด แล้วเอาเรื่องตัวเองไว้ทีหลังหรือบางทีก็ไม่มีเรื่องของตัวเองเลย มันดูเหมือนจะเล็กน้อยแต่จริงๆ แล้วโคตร (เน้นเสียง) จะสำคัญเลยนะ พ่อแม่เกือบทุกคนที่เข้าเวิร์คช็อปส่วนใหญ่ก็มาเพราะต้องการให้ ‘ลูกมีความสุข’ แต่มันตามมาด้วยการ ‘แบก’ แบกความคาดหวังตัวเอง ฉันต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี ฉันยังดีไม่พอ ฉันต้องทำนู่นทำนี่ แต่เราลืมทำแล้วลูกจะมีความสุขไหมนะ?”
ฝน-ภัทรภร เกิดจังหวัด หนึ่งในกระบวนกร ทีม Flock Learning – กลุ่มคนทำงานด้าน ‘การเรียนรู้’ ที่เชื่อว่าการเรียนรู้มีความหมายกว้างขวางกว่ารั้วโรงเรียนและต่อเนื่องยืนยาวไปได้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะเครือข่ายพ่อแม่ในฐานะ Key Learning สำคัญของสังคม – เล่าให้ฟังถึงเสียงจริงๆ ของพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่เข้ามาเวิร์คชอป “เติมความเป็นโค้ชให้พ่อแม่” จัดขึ้นโดยกลุ่ม Flock
ยังมีคำถามเปิดอีก 3 คำถามหลักที่ Flock ใช้ตั้งต้นคือ
1. คาดหวังอะไรกับการมาเวิร์คช็อป
2. คาดหวังอะไรกับลูก
3. คาดหวังอะไรกับตัวเองในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าคำตอบแต่ละคนคืออะไร หน้าที่ของคำถามข้างต้นมีเพียงอยากให้คนที่อยู่ในบทบาทพ่อแม่มา … (โปรดเติมจำนวนปีในช่องว่าง) … ปี ได้ย้อนเวลากลับไปทบทวนชีวิตการเป็นพ่อแม่ เปิดพื้นที่ให้เอาตัวเองเป็นที่ตั้งเหนือความคาดหวังของสังคมและตัวเอง เช็คกันว่า การสวมบทพ่อแม่ของเรานี่มันเป็นอย่างไร อย่างน้อยในเวิร์คช็อปครั้งนี้ Flock ต้องการสร้างพื้นที่ให้พ่อแม่ได้ระบายความทุกข์ให้กันและกันฟังบ้าง
หากคนที่อ่านบทความนี้อยู่เป็นลูก (โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นต้นไป) เสียงในหัวอาจดังขึ้นมาว่า “พ่อแม่ก็เป็นห่วงเรามากเกินไปหรือเปล่า คาดหวังในตัวเรามากไปหรือเปล่า ไปจนถึง เราคาดหวังต่อคำว่า ‘พ่อแม่’ เกินไปหรือเปล่า สังคม romanticized ความเป็นพ่อแม่เกินไปหรือเปล่า?”
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่เวิร์คช็อป Flock ครั้งปฐมฤกษ์นี้ต้องการคลี่คลาย …มาคุยกันหน่อยได้ไหมว่า ‘เรา’ คาดหวังอะไรกับการเป็นพ่อเป็นแม่
Flock Learning กลุ่มคนที่เชื่อว่าการเรียนรู้มีความหมายกว้างขวางกว่ารั้วโรงเรียนและต่อเนื่องยืนยาวไปได้ตลอดชีวิต
ก่อนจะเจาะไปที่การเปิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้พ่อแม่มาเช็ค ‘ความคาดหวัง’ ของตัวเอง อธิบายก่อนว่าองค์กร Flock คือใคร ทำอะไร ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไร
เท้าความไปถึงครั้งที่แล้วที่ The Potential คุยกับ แม่บี-มิรา ชัยมหาวงศ์ นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือก ผู้มีประสบการณ์ด้านการเรียนรู้กว่า 20 ปีและหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมัชชาพ่อแม่-เครือข่ายแม่พ่อไม่รอระบบ คุยถึงบทบาทการเป็นแม่ (อ่านที่นี่) หลังปิดเครื่องอัดเสียง แม่บีเล่าให้ฟังว่าอีกหนึ่งความฝันคือการสร้างเครือข่ายพ่อแม่ที่จะได้มามีปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ และชวนกันพูดคุยเรื่อง ‘การสร้างการเรียนรู้ของเด็กๆ’ ให้เกิดขึ้นภายในบ้าน
การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ให้เด็กมีวิชาความรู้ในแง่รู้หนังสือ แต่คือทักษะในเนื้อตัว การเป็นเจ้าของเป้าหมาย ความมานะพยายาม ทัศนคติที่มุ่งมั่น เชื่อมั่นในตัวเอง และอีกหลายอย่างที่รวมกันเป็น ‘อาวุธ’ ‘ทักษะ’ และ ‘คาแรคเตอร์’ ที่มนุษย์คนหนึ่งจะพบความรู้ ความชอบ และอยากเรียนรู้ด้วยตัวเองต่ออย่างไม่รู้จบ – นี่คือการเรียนรู้ในความหมายของแม่บี
คำถามของแม่บีคือ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาเท่านั้นหรือไม่?
“แต่ภายใต้ระบบการศึกษาที่เป็นปัญหาและเราต่างรู้ดี การหวังให้ระบบใหญ่เปลี่ยนนั้นคงยากและใช้เวลา แต่ในเมื่อผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังต้องฝากความหวังเรื่อง ‘การสร้างการเรียนรู้’ ของลูกไว้กับโรงเรียน
พ่อแม่ ในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นโลกทั้งใบของลูก เราจะทำอะไรได้บ้าง?
“ให้ลึกไปกว่านั้น เราอยากพูดถึงการเรียนรู้ของสังคม อยากเห็นคนสร้างการเรียนรู้ให้กันและกันได้ แต่มันควรจะเริ่มจากตรงไหนดี มีคนทำประเด็นเรื่องการเรียนรู้ไว้หลายเรื่องแล้ว แต่กับครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐานที่สุดกลับมีโปรเจ็คต์ที่ทำงานเรื่องนี้ไม่มากและเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งที่มีคนพูดเรื่องพ่อแม่เต็มไปหมด มีคนเอาทฤษฎีมาบอก คุณหมอหลายคนพูดเรื่อง parenting แต่ไม่มีใครลงไปทำเรื่องการเรียนรู้กับพ่อแม่จริงๆ” แม่บีตอบคำถามนั้น
พฤษภาคมปีนี้ เราเห็นเพจใหม่บนหน้าเฟซบุ๊คชื่อ Flock Learning ที่แปลว่า ‘ฝูง’ คำอธิบายเพจตรงมุม about me เขียนแนะนำไว้ว่า ‘Flock เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ มีความหมายที่กว้างขวางกว่ารั้วโรงเรียน และต่อเนื่องยืนยาวไปได้ตลอดชีวิต’ แน่นอนว่าไม่ใช่ ‘ของ’ แม่บีเพียงคนเดียว ฝูงชนชาว Flock มีทั้งหมด 3 ท่าน หนึ่งคือแม่บี และอีกสองท่าน – จะเรียกว่าพวกเขาเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ก็ได้ ป่าน-ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ และ กุ๊กไก่-ขนิษฐา ธรรมปัญญา จากทีม Fathom Bookspace ร้านหนังสือและพื้นที่การเรียนรู้ และยังมีวิทยากรที่ทำงานร่วมในเวิร์คช็อปอย่างวิทยากรแม่ฝน (เจ้าของประโยคข้างต้น) และ ร่ม-ฉัตรวรุณ เล้าแสงชัยวัฒน์
ธงของ flock.co คือเรื่องการเรียนรู้โดยเจาะไปที่การสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากพ่อแม่ กระบวนการที่วางไว้จึงมีตั้งแต่ หนึ่ง – การพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้พ่อแม่สนับสนุนการเรียนรู้ให้กับลูกได้ เครื่องมือแรกเรียกว่า ‘search model’ สอง – Flock ต้องการช่วยรวมกลุ่มพ่อแม่เพื่อสร้างการเรียนรู้ทั้ง offline และ online สาม – สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสำหรับคนที่สนใจเรื่องการสร้างการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายบางอย่างและมาทำงานด้วยกันได้ ช่วยกันสร้างการเรียนรู้ที่กว้างและลึกขึ้น
ทั้งหมดนั้นคือภาพใหญ่หรือเจตนารมณ์ของ Flock แต่ในฐานะคนทำงานกับสมัชชาพ่อแม่-เครือข่ายแม่พ่อไม่รอระบบ ปัญหาหนึ่งที่ Flock เห็นว่าสำคัญและอยากเปิดพื้นที่เพื่อคลี่คลายก่อนคือ…
การตรวจสอบสภาวะจิตใจของคนที่สวมบทบาทพ่อแม่ – ความสับสน อึดอัด สิ่งที่ค้างในใจในฐานะการสวมบทบาทเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผู้ปกครอง ที่เรามักเห็นแต่พฤติกรรมที่แสดงออก แต่ภายใต้ความต้องการภายใต้ภูเขาน้ำแข็งที่อาจมองไม่เห็น มีความกังวลอะไรฝังอยู่
Flock Learning เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ แบกอะไรไว้บนบ่าบ้าง
อันที่จริงจุดตั้งต้นของเวิร์คช็อป “เติมความเป็นโค้ชให้พ่อแม่” 5 จังหวัดทั่วประเทศไทย คือการให้เครื่องมือแก่พ่อแม่เพื่อสนับสนุนการสร้างเรียนรู้ให้ลูกเองได้ผ่านเครื่องมือ SEARCH Model* แต่ก่อนจะไปเป็นโค้ชให้ลูก พ่อแม่เป็นโค้ชให้ตัวเองก่อน หนึ่งในกิจกรรมเวิร์คช็อปจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ได้มาคุยถึง ‘สัมภาระ’ หรือสิ่งที่ตัวเองแบกไว้
“พ่อแม่จำนวนมากมีความทุกข์นะ เราสันนิษฐานว่าคนที่ตัดสินใจเข้ามาเวิร์คช็อปก็เพราะเขากำลังเจอปัญหาอะไรบางอย่าง อย่างหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือเขาอาจไม่ได้ดูแลตัวเองมากพอ แต่พุ่งเป้าความต้องการของเขาไปที่เด็กๆ อย่างเดียว บางคนก็ทิ้งตัวเอง ทิ้งความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ลืมตัวเองไปเลย พอทิ้งไปนานๆ เขาตามตัวเองได้ไม่ทัน กระทั่งเวลาไม่แฮปปี้ บางทีพ่อแม่นึกไม่ออกแล้วว่าต้องทำยังไงนะ?” ป่านเล่า ‘เสียง’ ที่ได้ยินในเวิร์คช็อปให้ฟัง
กุ๊กไก่ช่วยเสริมประเด็นว่า “ทีนี้ พอทุ่มเทอยู่กับลูกมากๆ เหมือนความสำเร็จบางอย่างของลูกมันไปชุบชูบางอย่างของพ่อแม่เนอะ ความสนใจทั้งหมดของเขาเลยไปลงที่ลูก ลูกทำแบบนั้นนะแล้วลูกจะแฮปปี้ ทำแบบนี้แล้วจะโอเค อีกเรื่องคือ เราพบว่า พ่อแม่ต้องการเพื่อนนะ หมายถึงว่าเพื่อนที่ไม่ต้องมาบอกฉันนหรอกว่าฉันต้องทำยังไง ขอแค่พื้นที่จะคุยกันว่า ‘เนี่ย… ฉันไปเจออันนี้มา ฉันทำไม่ดีเลยแต่ฉันก็พยายามทำแล้วนะ’ ต้องการเพื่อนปรับทุกข์ เพื่อนแชร์ ซึ่งการเวิร์คช็อปมันให้บรรยากาศแบบนั้น ให้บรรยากาศว่า ‘นี่ไง มีเพื่อนที่เจอแบบเราจริงๆ ด้วยนะ’ ให้เขารู้ว่ามันคือความปกติ มันเป็นไปได้ เพราะเวลาอยู่คนเดียวมันจะกังวลทุกอย่างเลย ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดนั้นถูกหรือผิดยังไง”
ก็อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีน่ะ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ มีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงดูตัวเอง รูปร่างหน้าตางดงามเข้าสังคมได้ไม่อายใคร ลูกคนข้างบ้านเพิ่งถอยรถยนต์คันใหม่ ไม่ได้อยากให้ลูกซื้อตามหรอกนะ แต่รถยนต์คือตัวแทนของความมั่นคงต่างหาก – ทั้งหมดนี้ทีม Flock ไม่ได้กล่าว แต่เป็นเสียงที่ช่วยกันจำลองว่าเสียงในหัวของพ่อแม่หลายคนที่ความต้องการส่วนใหญ่อยากเห็น ความสุข ความมั่นคง ในภาพคร่าวๆ ประมาณนี้ และยังไม่ได้นับรวมปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่าง ปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ความยากจน และอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความทุกข์ที่กระทบต่อชีวิตที่อยู่ในบ้าน
“ความคิดเช่น พ่อแม่ต้องเป็นฮีโร่ พ่อแม่ต้องเข้มแข็งเสมอเพื่อเป็นความเข้มแข็งของลูกเช่นกัน พ่อแม่ผิดพลาดไม่ได้ อันนี้ก็เป็นอันที่พ่อแม่แบกนะ มีน้องคนนึงมาสังเกตการณ์ตอนทำเวิร์คช็อป เขาบอกว่าดีมากเลยที่บอกว่าพ่อแม่ผิดพลาดได้นะ เพราะเขาเป็นเด็กคนนึงที่ไม่กล้าผิด เพราะพ่อแม่ไม่เคยผิดพลาดให้เห็นเลย บางครั้งทำให้เขาไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะกลัวผิด
“ความต้องการของพ่อแม่ส่วนใหญ่ ทบทวนไปจนท้ายที่สุดแล้วมันไปจบที่ ‘ความสุข’ ของลูกทั้งหมดนั่นแหละ แต่มันกลายเป็นความคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ในเวิร์คช็อป เราเปิดด้วยไม่กี่คำถาม ซึ่งเท่านี้บางคนก็ร้องไห้จนสุดตัว บางคนสะเทือนกับความคาดหวังกับลูก บางคนสะเทือนกับความคาดหวังต่อตัวเอง เขาบอกว่ามันเป็นคำถามที่ไม่เคยถามตัวเองเลย มันไม่มีโอกาสรู้ตัว ความคาดหวังที่เขาแบกไว้เต็มหลัง มันหนักและมันกด เฮ้ย… ไหนบอกว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่คาดหวังอะไรเลยไง แต่จริงๆ มันเต็มไปหมดและมันก็ทำให้เหนื่อยมากเลย” วิทยากรแม่ฝนเล่า
เราสงสัยว่าคนที่เข้ามาเวิร์คช็อปส่วนใหญ่เป็นใครกันบ้างและส่วนใหญ่เข้ามาด้วยความต้องการเฉพาะแบบไหน ทีมงานตอบว่าค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ คุณแม่ที่อยู่ในบทบาทครูแต่รู้สึกว่าใจดีกับลูกศิษย์มากกว่าลูกของตัวเอง คู่สามีภรรยาที่มาเวิร์คช็อปเพราะต้องการเข้าใจความเสียงของกันและกันมากกว่าเดิม พ่อแม่ที่อยากเตรียมพร้อมลูกสำหรับการเติบโตในโลกผันผวน พ่อแม่ที่ต้องการเข้าใจธรรมชาติของปู่ย่าตายาย คุณยายที่ต้องการเข้าใจและรับมือหลานเจเนอเรชั่นอัลฟ่า พ่อแม่ที่อยู่มาวันหนึ่งลูกก็โตเป็นวัยรุ่นและเริ่มถอยห่างกันไป และอื่นๆ
เชื่อว่าลึกลงไปยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมากที่การทำเวิร์คช็อป 2 วันอาจคุ้ยไม่เห็น แต่เฉพาะปัญหาภายในใจที่คิดว่าพ่อแม่คลี่คลายและปลดภาระบางอย่างได้คือ การตั้งคำถามกับตัวเอง ช้าลงเพื่อใคร่ครวญกับตัวเอง ทำให้เสียงของตัวเองชัดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราได้ยินเสียงเด็กๆ ชัดขึ้นด้วยในที่สุด
“ถามว่าถ้าไม่มีเวิร์คช็อปแบบนี้พ่อแม่จะจัดการตัวเองได้ไหม? ได้ แต่ปัญหาของพ่อแม่อย่างหนึ่งคือ เขาไม่มีพื้นที่ มันไม่มีแบบ… ‘เอ้า ทุกคน วันนี้มาคุยกันเรื่องลูกกันเถอะ’ มันไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยสบายใจ พาไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่มีพื้นที่ให้ได้ลอง มันไม่มีกระบวนการที่ให้ได้มาขุดคุ้ยเสียงข้างในแบบนี้ การที่คนไม่รู้จักกันมาเจอกันแล้วแลกเปลี่ยน เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” วิทยากรแม่ฝนกล่าว
เช่นกัน ในฐานะลูก บางทีเราก็ลืมไปว่าในความเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่กัดกินลึกเข้าไปข้างในมันคืออะไร เอาเข้าจริงเราก็ไม่เคยมานั่งถามพ่อแม่เหมือนกันว่า “ประเมินหน่อยสิ เป็นแม่มาแล้วหลายปี รู้สึกอย่างไรบ้าง?” คงไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้นที่เจ็บปวด แต่ในความเป็นมนุษย์เราต่างก็มีสัมภาระส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้น
“ใจดีต่อตัวเอง” คำนี้คือคำที่ทีม Flock พูดถึงอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่ ‘เสียง’ หนึ่งที่อยู่ในเวิร์คช็อป Flock ยังมีหน้างานที่อยากผลักดันอีกหลายอย่าง อย่างที่แม่บีกล่าวว่า “Flock ไม่ได้ตั้งสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อจะจบให้ได้ภายในหนึ่งปี แต่ความตั้งใจคือเราอยากได้พ่อแม่ 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคมที่เปลี่ยน (ประมาณ 2 แสนคน) การเปลี่ยนของพ่อแม่ 1 เปอร์เซ็นต์นี่มันสามารถเปลี่ยน paradigm บางอย่างที่เคลื่อนสังคมได้เลยนะ แต่พอบอกว่า ‘เราจะทำ’ ก็ทำแค่เราสี่ห้าคนไม่ได้ ชวนพ่อแม่ที่สนใจ สงสัย อยากรู้ และสนใจเรื่องทักษะชีวิตของเด็ก มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ขยับขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีคนถามเราเยอะมากว่าทำไมไม่ทำกับกลุ่มเด็กขาดโอกาส เราอยากทำ แต่ตอนนี้กำลังเรายังไม่เยอะพอ ซึ่งมันต้องเข้มแข็งเพียงพอนะไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราพูดไปมันจะกลายเป็นว่าพูดแล้วเหมือนเททิ้งลงน้ำ ไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าสิ่งนี้น่าสนใจและไปต่อได้”
พ่อแม่คือ ‘ระบบนิเวศของลูก’ แต่ก็เป็นระบบนิเวศที่ผิดได้พลาดเป็น เป็นระบบนิเวศที่เป็นมนุษย์ ไม่ต้อง ‘สมบูรณ์’ ก็ได้ แค่ดีพอ ก็พอแล้ว
ใจดีต่อตัวเอง… แม้เป็นพ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งเสมอไป
*SEARCH Model เครื่องมือที่จะเป็นตัวช่วยพ่อแม่สร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ (self-directed learning) พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการเรียนรู้ของของชาว Flock เป็นรหัสหรือคำย่อจากเครื่องมือ 5 ตัวคือ sensing, empathy, aspiration, reconstruct, chance และ hearten Sensing: คือการ ‘ฟัง’ ในสิ่งที่ไม่ได้ยิน ฟังในสิ่งที่ลูก (หรือใครก็ตาม) ไม่ได้บอกคุณ แต่คือการใช้ ‘เซนส์’ ทั้งหมดของคุณรับรู้ว่าขณะนี้เด็กๆ กำลังอยู่ในภาวะอะไร หงุดหงิดอยู่หรือเปล่า เศร้า อึดอัด ต้องการคำปลอบใจ ซึ่งภาวะที่แตกต่างเหล่านี้ต้องการการดูแลที่ต่างกันเช่น ในสถานการณ์ที่กำลังพูดคุยกันอยู่ คุณอาจยิงไปหลายคำถามเพื่อ (เค้น) อยากได้คำตอบ แต่ลูกเริ่มหยุดพูด หน้าตาหงุดหงิด เบื่อหน่าย แต่คุณยังคงยิงคำถามต่อไปอย่างไม่ ‘เซนส์’ ว่าขณะนี้เด็กๆ ไม่เปิดใจรับฟังคุณแล้ว จังหวะนี้ถ้าคุณยิ่งรัวคำถาม ตามที่เคยฟังเคยอ่านมาว่าคำถามที่จะเวิร์ค สิ่งที่เกิดอาจเป็นการปะทะและทำให้เรื่องมันแย่กว่าเดิมแทน แต่ถ้าคุณ ‘เซนส์’ ได้ว่าจังหวะนี้คนตรงหน้าไม่โอเคแล้ว เขาแค่อยากให้ฟังเขา หรือถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วรอจังหวะดีๆ ค่อยเข้าไปคุยกันใหม่ แบบนี้อาจทำให้เรื่องง่ายกว่า Empathy: การเข้าไปนั่งในใจลูก แต่สิ่งนี้ไม่ใช่การสอนให้ลูกมี แต่ Flock จะชวนให้พ่อแม่มีในใจตัวเองก่อน ลูกจะเริ่มเป็นในสิ่งที่พ่อแม่เป็น เริ่มจากมี sensing ที่จะฟังในสิ่งที่เด็กๆ ไม่ได้พูดและพยายามเข้าไปนั่งอยู่ในใจ เข้าใจตัวเอง และเข้าไปลองนั่งในใจคนอื่นให้ได้ นอกจากพ่อแม่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น มันจะเป็นจุดที่ลูกรับรู้ได้เช่นกันว่าพ่อแม่พยายาม อยากจะเข้าใจเขา และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่อาจเปลี่ยนไป และเด็กๆ ก็จะเริ่มมองตัวเอง และคนอื่นได้ดีขึ้น เห็นคุณค่าความหมายของตัวเองและความแตกต่างหลากหลายได้นอกจากความพยายามเข้าใจลูก บี-มิราแนะนำว่าเวลาพูดคุยกันเรื่องสถานการณ์รอบตัวหรือขณะเล่านิทาน ชี้ชวนกันถามด้วยยังได้ ‘ลูกคิดว่าคนนี้จะรู้สึกยังไง’ แบบนี้ก็เป็นการพัฒนาความรู้สึกเข้าอกเข้าใจของเด็กๆ ได้เช่นกัน Aspiration: การพูดคุยเรื่องการตั้งเป้าหมาย แต่เป็นการคุยเพื่อขีดเส้นใต้ให้ชัดว่านี่คือเป้าหมายของลูก เป้าหมายของแม่ หรือเป็นเป้าหมายร่วมกัน หัวใจสำคัญคือการทำให้เด็กมีเป้าหมายในชีวิตที่เป็นของเขาเอง“เราคุยกันบ่อยมากว่าทุกวันนี้ที่เด็กๆ ทำอยู่มันเป็น aspiration ของใคร เด็กรู้ไหมว่าทำไมต้องไปโรงเรียน เขามีเป้าหมายกับการไปโรงเรียนหรือเปล่า แต่ aspiration คือการทำให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จะเป็นของเขาไม่ใช่ของพ่อแม่ เด็กทำในสิ่งที่เราบอกได้อยู่แล้วเพียงแต่มันไม่ใช่ตัวเขา แต่เด็กจะพัฒนาตัวตนจากตรงไหน? ถ้าเขามีเป้าหมายจริงๆ การเรียนรู้จะเป็นของเขา” แม่บีกล่าวขณะที่ป่านเสริมว่า “สมมุติถ้าเราอยากเป็นคนเก่ง อยากภูมิใจในตัวเองได้ นี่เป็นเป้าหมายนามธรรมของเรา ฉะนั้นเราจะทำยังไงให้เราไปสู่เป้าหมายนี้ เราจะคิดรูปธรรมในแบบเราขึ้นมา เราอยากไปเรียนอันนี้ เราไม่ต้องการการแข่งขันนะ แต่เราอยากเก่งขึ้น เราอยากมีทักษะที่มากขึ้นเราก็ใช้วิธีพัฒนาตัวเองแบบหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นเป้าหมายของแม่ขึ้นมา มันจะมีคำถามแบบ ถ้าจะเก่งคือเราควรต้องแข่งหรือเปล่า เวลาที่เราแข่งเราต้องชนะไหม หรือเราควรทำยังไง เราจะไม่รู้เลยนะเพราะไม่ใช่เป้าหมายเรา รู้แต่ว่าเก่ง แล้วเก่งคือยังไง? จุดหมายคือตรงไหน แล้วถ้าไปถึงแล้วยังไงต่อ มันไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ก็ไม่มีความหมายสำหรับตัวเขาเองจริงๆ แต่ถ้าเรามีเป้าหมายของเราเอง เราจะรู้ทุกอย่าง พอรู้ทุกอย่าง ทำให้เรามีแพชชั่นที่จะไป รู้ว่าไปเอาอะไร ไปทำไม ทำแบบไหน และจะทำยังไงให้มันดีกว่านี้อีก” Reconstruct: ใช้คำถามเพื่อให้ลูกเห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เห็นตัวเองได้ชัดขึ้นว่าเขากำลังเผชิญกับอะไร ไม่ใช่การรีบป้อนคำตอบ ความยากคือ จะตั้งคำถามอย่างไรที่จะไม่ชี้นำและไม่ใช่ถามเพื่อให้ได้คำตอบอย่างที่อยากได้ยิน“เช่น มีเคสเล่าว่าลูกถูกแกล้งที่โรงเรียน สิ่งที่แม่คิดในใจคือ จะให้ลูกไปจัดการกับเพื่อนกลุ่มนี้ได้อย่างไร พ่อแม่ก็เลยช่วยไกด์ ช่วยตั้งคำถามกับลูก ‘ลูกคิดว่าทำไมเพื่อนถึงแกล้ง’ ลูกบอกว่า ‘คิดว่าเพื่อนคงอยากเล่นด้วยมั้ง’ แม่เลยถามตามความคิดของแม่ว่า ‘แล้วจะทำยังไงให้เพื่อนเข้ามาเล่นกับลูกได้’ ขณะที่เราไม่รู้เลยว่า ‘แล้วลูกอยากเล่นกับเขาหรือเปล่า’“ฉะนั้นการถามของเรามันก็ทำให้เราได้ทบทวนว่าเขาอยากแก้ปัญหาแบบไหน เขาอาจมีคำตอบในใจก็ได้ว่า ‘อ๋อ… จริงๆ เราไม่ได้อยากเล่นกับเพื่อนกลุ่มนี้นะ’ พ่อแม่ถามให้เขาเห็นหลายๆ มุมได้ว่าเขาอยากแก้ปัญหายังไงโดยที่ไม่ต้องถามเพื่อให้รู้คำตอบหรือเพื่อบอกคำตอบ เราช่วยให้เด็กๆ ได้คิดเอง” ป่านอธิบาย Chance: การเลือกที่นำไปสู่การทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เครื่องมือนี้เป็นตัวที่ใกล้ๆ กับ aspiration และ reconstruction เพราะพอได้ตั้งเป้าหมาย ผ่านการตั้งคำถาม ได้เห็นโอกาสในการดำเนินชีวิตหรือการแก้ปัญหาหลายอย่าง สุดท้ายก็ต้อง ‘เลือก’ แน่นอนว่าเราเลือกทุกอย่างไม่ได้ แต่พ่อแม่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เขาเห็น ‘ทางเลือก’ ที่มากพอ และช่วยตั้งคำถามต่อได้ว่า เขาอยากเลือกทางไหน และทำอย่างไรที่จะทำให้เขาทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือยาก นี้ให้สำเร็จได้ Hearten: สุดท้ายคือการเสริมแรง ให้กำลังใจ เชียร์อัพ ลุย! แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปใช้ sensing ด้วยนะคะ บี-มิราย้ำว่า “บางครั้งลูกท้อๆ ร้องไห้มา แล้วเราไม่ sensing บอกเขาว่า ‘อย่าร้อง เป้าหมายมีไว้พุ่งชน ไปเลยๆ’ แบบนี้ก็ไม่ได้ บางครั้งการเสริมแรงอาจคือการเป็นฟูกนิ่มๆ ให้เขานอน” |