- วินัยสร้างได้ในครอบครัวก็จริง แต่ซูมให้ลึกลงไปกว่านั้น วินัยย่อมสร้างจาก ‘สัมพันธภาพที่ดี’ และ ต้องเป็น ‘วินัยเชิงบวก’ ที่จะกลับไปสร้าง ‘ตัวตน’ ที่เต็มพร้อม ไม่ใช้พฤติกรรมด้านลบมาต่อสู้หักหาญกัน
- 3 ประเด็นวินัยเชิงบวกกับ 3 วิทยากร บนเวที ‘วินัย สร้างได้ในครอบครัว’ โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) วันที่ 4 เมษายน 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ตั้งแต่วินัยเชิงบวกในปฐมวัย, วัยรุ่น และ การฟื้นคืนตัวตนของวัยรุ่นที่ก้าวพลาดด้วยวินัยเชิงบวก
“พ่อแม่อยากสอนให้ลูกมีวินัยในตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ แต่จะสร้างอย่างไรหากมันไม่มี ‘ตัวเอง’ ตั้งแต่ต้น?”
คือความเห็นของ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บนเวทีสนทนา ‘วินัย สร้างได้ในครอบครัว’ จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ประโยคข้างต้นแทบจะสรุปฮุคเข้ากลางใจใครหลายคน เพราะหลายครั้งที่นึกถึงคำว่า ‘วินัย’ มักให้ภาพการสั่งสอน เข้มงวด เป็นความสัมพันธ์เชิงสั่งการ แต่จุดประสงค์บนเวทีผ่านความเห็นวิทยากร 3 ท่าน พูดตรงกันว่า วินัยสร้างได้ในครอบครัวก็จริง แต่ซูมให้ลึกลงไปกว่านั้น วินัยย่อมสร้างจาก ‘สัมพันธภาพที่ดี’ และ ต้องเป็น ‘วินัยเชิงบวก’ ที่จะกลับไปสร้าง ‘ตัวตน’ ที่เต็มพร้อม ไม่ใช้พฤติกรรมด้านลบมาต่อสู้หักหาญกัน
3 ประเด็นวินัยเชิงบวกกับ 3 วิทยากร ไล่ลำดับเรื่องเล่าจากเด็กเล็กไปถึงวัยรุ่น คือ
- ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือ ครูหม่อม: วินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัย
- พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน: วินัยเชิงบวกในวัยรุ่น
- ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก: การฟื้นคืนตัวตนของวัยรุ่นที่ก้าวพลาดอย่างประณีต
วินัยเชิงบวก คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเพื่อป้องกันและจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งช่วยพัฒนาสมองด้านอารมณ์และสังคม แต่เพื่อให้เห็นภาพและประชิดตัวพ่อแม่ขึ้นมาอีกนิด วงสนทนาจะอธิบายว่า ‘วินัยเชิงลบ’ หน้าตาเป็นอย่างไร สร้างผลกระทบในเชิงจิตวิทยาและพัฒนาการทางสมองอย่างไร
วินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัย: ตั้งแต่ตื่นนอน คุณ ‘สั่ง’ หรือ ‘สอน’ มากน้อยแค่ไหนกัน?
ดร.ปนัดดา เปิดวงคุยด้วยการชวนผู้ปกครองคิดกันว่า ตั้งแต่ตื่นนอน คุณ สั่ง หรือ สอน, ดุ หรือ ปลอบ, ต่อว่า หรือ ชื่นชม มากน้อยแค่ไหนกัน?
“เวลาที่แม่สั่ง เด็กต้องคิดไหม? เรากำลังกระตุ้นสมองส่วนคิด หรือ ส่วนต่อสู้ของเขา” ดร.ปนัดดายิงคำถามต่อ
ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างวินัยที่ดีและสร้างให้เกิดจริงอย่างไรนั้น ดร.ปนัดดากลับไปอธิบายพัฒนาการทางสมองของเด็กในช่วงปฐมวัย (ตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึง 8 ปี) ก่อนว่า สมองคนเราแบ่งออกอย่างง่ายเป็น 3 ส่วน คือ สมองส่วนหน้า กลาง และท้าย ส่วนที่อยู่ลึกและเก่าแก่ที่สุดตั้งอยู่บริเวณท้ายทอย เรียกว่าส่วนสัญชาตญาณ สมองส่วนนี้จะเต็มพร้อมตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ ต้องพัฒนาอย่างเต็มพร้อมก่อนที่เด็กจะลืมตาดูโลก พร้อมออกไปเผชิญโลกและเอาตัวให้รอดในโลกใบนี้
สมองส่วนกลางคือส่วนอารมณ์ จะเติบโตเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เช่นเดียวกัน ส่วนสุดท้ายคือส่วนความคิด ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาก อย่างที่นักการศึกษาหลายคนชี้ว่า นี่คือที่ตั้งของ EF (Executive function)* สมองส่วนนี้จะเติบโตพัฒนาอย่างเต็มที่หลังคลอดโดยเฉพาะช่วง 10 ปีแรก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนไปสิ้นสุดที่ช่วงวัยรุ่น
สิ่งที่ ดร.ปนัดดา เน้นย้ำก็คือ สมองครึ่งหนึ่ง – ส่วนสัญชาตญาณและอารมณ์ เจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สมองส่วนความคิดต่างหาก คือสิ่งที่พ่อแม่และคนรอบข้างต้องช่วยกระตุ้นให้เติบโต
วกกลับไปยังคำถามของ ดร.ปนัดดา ที่ว่า ในแต่ละวัน ผู้ปกครอง ‘สั่งหรือสอน, ดุหรือปลอบ และ ต่อว่าหรือชื่นชม’ มากกว่ากัน การสั่ง ดุ ต่อว่า คือการสั่งการที่กระตุ้นให้สมองส่วนความคิด ได้ทำงานหรือเปล่า?
แล้วการสั่ง ดุ ต่อว่า เกี่ยวข้องกับสมองของเด็กอย่างไร? ดร.ปนัดดาอธิบายว่า
“ยิ่งสั่ง ยิ่งดุ ยิ่งต่อว่า ก็เหมือนเรายิ่งหยอด (ประสบการณ์) ด้านลบเข้าไปในกระปุก หยอดอะไรเยอะก็เป็นการทำให้รู้ว่าตัวตนของตัวเองเป็นยังไง ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะ ‘ตัวตน’ (self) เป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็กด้วย เราหยอด (ประสบการณ์) อะไรลงไปในสมอง ลูกจะประมวลผลและเกิดการพัฒนา self-concept หรือการมองว่าตัวเองเป็นยังไง เรื่องนี้เป็นธรรมชาติ เป็นพัฒนาการนะคะ
“หากเราหยอดแต่คำว่า ‘ดื้อ’ ‘เกเร’ ‘โตแล้วยังต้องให้ว่า’ ‘ปากจะฉีกถึงหู’ เขาก็จะมองว่าตัวเองเป็นแบบนั้น ข้อมูล (ที่สะสมในกระปุก) ตรงนี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อไปสร้างอัตลักษณ์ตัวเองต่อในวัยรุ่น และเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรของเขา เช่น หากเรามองว่าตัวเองเป็นร็อคเกอร์ เดินไปเจอผ้าลูกไม้วางขายอยู่ เราจะซื้อไหม? ก็ไม่ซื้อใช่ไหมคะ หรือ เพื่อนของเราจะเป็นขาร็อคเหมือนกันหรือจะเป็นสไตล์แนวบอยแบนด์? ก็ต้องเป็นชาวร็อคเหมือนกัน นี่คือการสร้างตัวตน”
ดร.ปนัดดาขยายความต่อว่า การหยอดประสบการณ์ในกระปุกก็คือ ความทรงจำที่ฝังลงในสมองพร้อมถูกหยิบไปใช้งาน (working memory) เมื่อไรก็ตามที่มีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ความพร้อมใช้งานเหล่านี้จะถูกหยิบไปประเมินผลร่วมด้วยเสมอ
“คำถามคือ ใครเป็นคนใส่ประสบการณ์เดิมให้พวกเขา? ประสบการณ์เยอะหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับ ประสบการณ์เดิมที่มีนั้น มีคุณภาพเพียงพอให้เด็กคนหนึ่งดึงออกมาแล้วคิดอย่างมีประสิทธิภาพได้ไหม
“เช่น มีรุ่นพี่มาจีบลูกของเรา หยอดคำหวานว่า ‘เขาจะมีแต่น้องคนเดียว’ แล้วก็ชวนไปมีอะไรกัน จุดที่ตัดสินใจ เขาต้องดึงประสบการณ์เดิมออกมาพิจารณา ถ้าหยิบประสบการณ์เดิมออกมาแล้วมีแต่คำต่อว่า พ่อบอกว่าแรด หยิบของแม่ออกมามีแต่คำว่า ‘ตั้งแต่มีแกก็ทำให้ไม่มีเวลาเลย ไม่น่ามีแกเลย’ คิดว่าแบบนี้เด็กจะไปไปไหมคะ?”
ดร.ปนัดดาย้ำว่า การสั่ง ดุ และต่อว่า นอกจากจะไม่กระตุ้นให้สมองส่วนหน้าทำงานแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณ และเมื่อสมองส่วนนี้ทำงานร่วมกัน (อารมณ์และสัญชาตญาณ) จะไม่เปิดโอกาสให้สมองส่วนหน้าลงมาร่วมทำงานด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า การต่อว่า ซ้ำเติม เข้มงวดเพื่อให้เกิดวินัยไม่อาจปลูกฝังวินัยให้เกิดได้จริง เพราะสมองส่วนความคิดไม่ได้ทำงาน มากกว่านั้น ในช่วงวัยเด็กเล็ก การดุว่าของพ่อแม่ที่หยอดกระปุกความทรงจำด้วยประสบการณ์ร้ายๆ ยิ่งทำให้เด็กไม่อาจพัฒนา ‘ตัวตน’ อย่างที่ ดร.ปนัดดาตั้งคำถามว่า
“พ่อแม่อยากสอนให้ลูกมีวินัยในตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ แต่จะสร้างอย่างไรหากมันไม่มี ‘ตัวเอง’ ตั้งแต่ต้น?”
วินัยเชิงบวกในวัยรุ่น: พฤติกรรมลบๆ ในวัยรุ่น อาจเป็นแค่การเอาคืน?
พญ.จิราภรณ์ รายงานสถานการณ์คนไข้ที่เธอดูแลอยู่ว่า จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าในวัยรุ่นมีมากขึ้นจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้คุณหมอให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพสังคมที่ทำให้พ่อแม่ในปัจจุบันต้องส่งลูกไปให้คนอื่นเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายที่อยู่ต่างจังหวัด หรือแม้จะเลี้ยงดูด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นการดูแลที่ไม่สร้างความสัมพันธ์ หรืออย่างคำของ ดร.ปนัดดาที่ว่า ไม่หยอดกระปุกประสบการณ์ที่มีคุณภาพ
คล้ายกับความเห็นของวิทยากรท่านอื่น พญ.จิราภรณ์ชี้ว่าการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี การใช้เวลาร่วมกันที่มีแต่การดุด่า ต่อว่า บังคับ กระทั่งตามใจจนไม่มีขอบเขต เหล่านี้ล้วนสร้าง ‘วินัยเชิงลบ’ ที่ส่งผลร้ายต่อการสร้าง ‘self-esteem’ หรือคุณค่าในตัวเอง เมื่อหาไม่ได้ในบ้าน สังคมนอกบ้านคือคำตอบ
พญ.จิราภรณ์ อธิบายว่า เหตุที่พ่อแม่มักบ่นว่า ‘พูดอะไรไปลูกไม่ฟัง’ อาจเป็นผลลัพธ์ของครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยวินัยเชิงลบ นั่นคือ พ่อแม่ที่ใช้อำนาจเข้าควบคุมลูก มักใช้การดุด่า ควบคุม เข้มงวด อยากให้ลูกมีวินัย ทำทั้งหมดยกเว้น ‘การแสดงความรัก’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างบุคลิกภาพและปมปัญหาทางจิตใจให้กับลูก เช่น อาจทำให้มีการแสดงออกด้วยวิธีการ เอาคืน, หนี และ ยอมตาม
“เมื่อสมองต้องอยู่กับภาวะเครียด เด็กจะใช้สมองส่วนสัญชาตญาณเพื่อเอาตัวรอด แต่ก่อนเราใช้สัญชาตญาณเพื่อหนีสิงสาราสัตว์ใช่ไหมคะ ตอนนี้เราหนีพ่อแม่ค่ะ (หัวเราะ) เด็กจะสู้ ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง หลายครั้งวัยรุ่นแสดงความรุนแรงด้วยการเอาคืนในรูปแบบอื่น เช่น ทำตัวแย่ เพราะลึกๆ มันสะใจที่ได้เห็นพ่อแม่รู้สึกเสียใจในสิ่งนั้น เป็นการต่อสู้ในรูปจิตวิทยา ไม่อยากให้กลับบ้านดึก/จะกลับ อยากให้ตั้งใจเรียน/ไม่เรียน มีไรปะ? ซึ่งเขาไม่ได้ทำด้วยความรู้ตัวนะคะ ทำโดยไม่รู้ตัว เป็นการเอาตัวเองให้รอดและตอบโต้ความโกรธในจิตใจด้วยการเอาคืนในรูปแบบที่ฉันทำได้
“การหนี เช่น เด็กหลายคนเรียกมาทำการบ้านไม่ทำ เขาไม่ได้หนีการบ้านนะ แต่หนีความเครียดที่แม่มาจี้ มาว่า มาตำหนิ เด็กเหล่านี้จะไม่เอา ไม่ลอง ไม่ทำ ไปจนถึงการปกปิด โมโห บิดเบือน ไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เด็กเหล่านี้โตไปมีภาวะวิตกกังวล เพราะเวลาที่เราหนี ลึกๆ แล้วไม่ได้สบายใจหรือปลอดภัยนะ เรากังวล
“อีกรูปแบบหนึ่งที่วินัยเชิงลบทำงานได้ผล คือการยอม พ่อแม่เงื้อมมือจะฟาด เด็กก็ยอมทำตาม แต่ทุกครั้งที่เด็กยอม ตัวตนภายในที่เขาสร้างคือ ‘ชั้นเอาชนะใครไม่ได้’ ‘ชั้นสู้เขาไม่ได้’ ‘ชั้นแพ้อีกแล้ว’ โตมาเขาจะยอมจำนน ใครให้ทำอะไรก็ทำ”
อีกหนึ่งวินัยเชิงลบในลูกอมสีหวาน คือวินัยเชิงลบในนามความรัก เพราะรัก จึงตามใจทุกอย่าง
“รักมาก แต่วินัยไม่มี เพราะไม่อยากให้ลูกเสียใจ และเข้าใจว่าถ้าลูกเติบโตด้วยการถูกรัก จะสร้างความรู้สึกดีให้เด็ก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเด็กจะเติบโตมาแบบไม่มีขอบเขต ลองนึกภาพเราถูกจับไปทิ้งกลางทะเล ว่ายไปทีไรไม่เคยเจอขอบสักที จริงๆ เราไม่ปลอดภัยเลยนะ insecure ในตัวเองตลอด เพราะไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดของมันอยู่ตรงไหน
“เด็กที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่กับความผิดหวังได้ ลึกๆ จะไม่เคยรักตัวเอง เด็กที่ผิดหวังแล้วกลับมาเข้มแข็งได้ จัดการกับ ‘ความไม่ได้’ ของตัวเองได้ หลายครั้งกลายเป็นเด็กที่เคารพตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง แต่พ่อแม่ที่ตามใจจะไม่สร้างสิ่งเหล่านี้ หลายครั้งความรักทำลายเด็ก แม้เขาจะรู้สึกว่าเป็นที่รักและได้ทุกสิ่ง แต่ไม่ได้ภูมิใจกับตัวเอง”
คุณหมอกล่าวสรุปอย่างติดตลกว่า คลินิกที่ดูแลอยู่ทำงานกับวัยรุ่นซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยงด้วยวินัยเชิงลบที่ไม่สร้างตัวตนและสัมพันธภาพ จุดนี้เป็นจุดทำงานกับวัยรุ่นช่วงสุดท้าย หากไม่ได้ผล สิ่งที่ตามมาคือการตัดสินใจผิดพลาด นำไปสู่การดูแลของนักสังคมสงเคราะห์อย่างป้ามลต่อไป
การฟื้นคืนตัวตนของวัยรุ่น: เหนือความผิดพลาดของเด็ก คือสังคมที่ไม่ลงทุนกับครอบครัว
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสัมพันธภาพที่สะสมตั้งแต่วัยเด็ก อธิบายโดย ดร.ปนัดดา และปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น โดย พญ.จิราภรณ์ เมื่อแก้ไม่ทัน สะสมนานวันเข้าจนแผลปริแตก บ้านหลังต่อมาคือสถานดูแลเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ
“จากการทำงานและได้พูดกับพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ พวกเขาไม่ต่างกับพ่อแม่ทั่วไปที่อยากดูแลให้ลูกให้ดี แต่เพราะความยากลำบาก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหารุมเร้าต่างๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่ทำให้พ่อแม่เหล่านี้ไปไม่ถึงเป้าหมาย
“ในมุมของป้า เด็กเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรแต่คือผู้แพ้ของสังคม บ้านกาญจนาฯ เป็นปลายน้ำของความล้มเหลวเชิงสังคม ไม่ใช่ปัจเจก”
ในฐานะผู้ที่ทำงานกับเด็กก้าวพลาดมาค่อนชีวิตและเคยทำงานดูแลเด็กบ้านเด็กกำพร้า ทิชาเห็นว่าปัญหาสำคัญคือการที่ระบบไม่ลงทุนกับสถาบันครอบครัว และการศึกษาที่ล้มเหลว หลักฐานที่ชัดเจนคือปริมาณเด็กที่ออกจากระบบการศึกษากลางคัน ปัญหาเชิงสังคมที่ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องออกไปหาตัวตนที่อื่น
การทำงานในบ้านกาญจนาฯ การทำงานกับเด็กที่หลายคนบอกว่า ‘ไม่มีวินัย’ ไม่ใช่การสร้างระเบียบมาแล้วบังคับให้เด็กท่องจำและปฏิบัติตาม ไม่ใช่การฝึกวินัยเข้มงวดแบบภาพเบื้องหลังกรงเหล็กทั่วไป แต่คือการทำงานที่ทิชาใช้คำว่า ‘ประณีต’ ฟื้นคืนตัวตน ให้เห็นความสำคัญของตัวเอง ใส่ความเชื่อถือเชื่อมั่นว่าพวกเขาพัฒนาและดีกว่านี้ได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งหมดนี้กลับไปร้อยโยงกับประเด็นตั้งต้นที่ว่า วินัยที่ดี สร้างจากความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระ ไม่ใช่การบีบบังคับให้ทำตาม
อยากให้ลูกมีวินัยในตัวเอง แต่จะสร้างอย่างไรหากไม่มี ‘ตัวเอง’ ตั้งแต่ต้น?
EF (Executive Functions) คืออะไร ความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ควบคุมตนเอง (self control), ความจำใช้งาน (working memory – อย่างที่บทความนี้ใช้คำว่า ‘ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ’) และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น (cognitive flexibility) |