- เรื่องราวของสาวสามัญชนที่ปรับสถานะเป็นเจ้าหญิงในชั่วข้ามคืน ถูกถ่ายทอดกันมาเกิน 300 ปี ถึงวันนี้ซินเดอเรลลายังเป็นนิทานประจำบ้านของครอบครัวทั่วโลก
- เมื่อเราอ่านนิทานจนจบ แต่ละเล่มมักทิ้งท้ายด้วยประโยค นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… แต่ในบทความนี้ “หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน” จะชวนมองหลายแง่มุมที่ นิทานเรื่องนี้(ไม่)สอนให้รู้ว่า… ผ่านการตั้งคำถามชวนคิดกับลูกจากโลกนิทาน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ในโลกความเป็นจริง
นิทานเรื่องนี้ (ไม่) สอนให้รู้ว่า
ซินเดอเรลลา หญิงสาวแสนสวยน้ำใจดี อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงใจร้ายและสองพี่สาวจอมรังแก เธอรับพรจากนางฟ้าเป็นชุดราตรียาวพร้อมรถฟักทองลิมูซีน เพื่อไปงานเลี้ยงเต้นรำของเจ้าชายเช่นเดียวกับสาวๆ ทั้งเมืองด้วยหวังจะเป็นผู้ที่ถูกเลือก เมื่อถึงเดตไลน์ที่นางฟ้าขีดเส้นไว้ เธอรีบวิ่งกลับบ้าน ทิ้งเพียงรองเท้าแก้วให้เจ้าชายออกตามหา และได้ครองรักกันในท้ายที่สุด
เรื่องราวของสาวสามัญชนที่ปรับสถานะเป็นเจ้าหญิงในชั่วข้ามคืน ถูกถ่ายทอดเล่าขานต่อกันมานับเกิน 300 ปี จนถึงวันนี้ซินเดอเรลลายังคงเป็นนิทานประจำบ้านของหลายครอบครัวทั่วโลก
นอกจากเรื่องราวที่สนุก ยังมีแง่มุมอื่นๆ ในนิทานเรื่องนี้ที่หมอโอ๋ หรือ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน อยากชวนให้ผู้ปกครองลองนำไปคุยกับลูกๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการตั้งคำถามและชวนหาคำตอบ ซึ่งแง่มุมที่หมอโอ๋หยิบยกมามีอยู่ 5 มุมด้วยกัน และตบท้ายด้วยเทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนิทาน
ฝันให้ไกล ไปให้ถึง… สิทธิอันพึงมีพึงได้
ถึงแม่เลี้ยงและพี่สาวใจร้ายจะดูแคลนและกีดกันทุกโอกาส แต่ซินเดอเรลลาไม่เคยรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า เธอเชื่อมั่นว่าตัวเองมีสิทธิเหมือนผู้หญิงทุกคนที่จะได้ไปร่วมงานเต้นรำ และลองสวมรองเท้าแก้วในวันที่เจ้าชายออกตามหา รวมทั้งกล้าที่จะยืนยันสิทธิ เธอไม่เคยหยุดฝันและไม่ลังเลที่จะยืนยันสิทธิของตัวเอง
กระนั้น ชีวิตจริงยิ่งกว่านิทาน บ่อยครั้งฝันไม่เป็นจริง หรือถึงจะเป็นจริงได้ เรื่องราวมักไม่จบด้วยความสุขที่ไม่สิ้นสุด ประเด็นจึงอยู่ที่
ทำอย่างไรจะหล่อเลี้ยงความฝันให้เป็นสิ่งนำทางชีวิต เก็บเกี่ยวความสุขในทุกๆ วัน ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ฝันอย่างไม่ท้อถอย
คำถามชวนคิด – ลูกคิดว่าอะไรที่ทำให้ซินเดอเรลล่ายืนยันที่จะไปงานเลี้ยงแม้ถูกกีดกัน
ต้องไม่ทน ถ้าโดน ‘บูลลี่‘
บุคลิกเด่นของซินเดอเรลลาคือเป็นคนใจดี ถึงจะถูกแม่เลี้ยงและพี่ๆ ใช้งานหนัก เธอก็อดทน ทั้งยังมีน้ำใจกับนกหนู ทำให้เธอเป็นที่รัก สัตว์เล็กๆ ในบ้านหาทางช่วยให้เธอได้ไปงานเลี้ยง รวมทั้งนางฟ้าที่มาให้พรเพราะเห็นว่าซินเดอเรลลานิสัยดี แต่การเป็นคนใจดี ไม่ได้แปลว่าต้องอดทนถ้าถูกรังแก แม้จะกล้าฝันและปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ซินเดอเรลลากลับยอมให้แม่เลี้ยงและพี่สาวกลั่นแกล้งซ้ำซาก
คำถามชวนคิด – ถ้าลูกเป็นซินเดอเรลลาแล้วโดนรังแกแบบนี้ คิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง, สอนลูกเรื่องการปกป้องตัวเองและหาทางให้รอดพ้นจากความรุนแรง
อภัยได้ ใจก็เป็นสุข
ถึงจะโดนรังแกตลอดทั้งเรื่อง แต่ซินเดอเรลลาไม่เคยโกรธแค้นอาฆาตแม่เลี้ยงกับพี่สาว
การให้อภัย คือ ความกล้าหาญ
กล้าหาญในการต่อสู้กับสัญชาตญาณดิบของตัวเอง ที่อยากจะตอบโต้เอาคืนคนที่ทำไม่ดีกับเรา
กล้าหาญในการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง ที่จะไม่ได้รับในสิ่งที่คิดว่าเราควรจะได้รับ นั่นคือความยุติธรรมจากการได้เห็นความเจ็บปวดของศัตรู
การให้อภัยคือความกล้าหาญในการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง ที่จะมองหน้าศัตรูด้วยการวางอุเบกขา
การให้อภัยคือการปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธแค้น ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยตัวเราเองจากความทุกข์ภายในใจ คนที่เป็นสุขและรู้สึกเบาสบายไม่ใช่ศัตรู แต่คือตัวของเราเอง
คำถามชวนคิด – ถ้าลูกเป็นซินเดอเรลลา ลูกจะทำอย่างไรกับแม่เลี้ยงและพี่ๆ, การแก้แค้นเอาคืน เราได้อะไร เราเสียอะไร, การให้อภัย ดีไม่ดีกับตัวเราอย่างไร
‘ภาพจำ’ อาจจะไม่จริง
แม่เลี้ยงใจร้าย เจ้าหญิงแสนสวย ชีวิตเปลี่ยนเพราะเจ้าชายในฝัน ฯลฯ
ในชีวิตจริง ไม่ใช่ทุกคนที่ฝันจะได้เจอเจ้าชาย เจ้าชายอาจกลายเป็นฝันร้าย แม่เลี้ยงอาจจะใจดี เจ้าหญิงแสนสวยอาจจะนิสัยแย่ และที่สำคัญ “การครองรักกันอย่างมีความสุขตลอดไป” อาจเป็นเรื่องไม่จริง เพราะชีวิตจริงมีทั้งความสุขและทุกข์ปะปนกันไป
ภาพจำ คำตีตรา ความคิดซ้ำๆ จะทำให้การรับรู้บิดเบี้ยว และสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตและปรับตัว
คำถามชวนคิด – ลูกว่าคนสวย นิสัยดีทุกคนจริงไหม, คนหน้าตาไม่สวยต้องเป็นแม่มดหรือแม่เลี้ยงใจร้ายกันหมดหรือเปล่า
เรียนรู้เรื่องเท่าเทียม-เหลื่อมล้ำ ผ่านซินเดอเรลลา
ซินเดอเรลลาและผู้หญิงทั้งเมืองรองานเลี้ยงเต้นรำเพราะอยากเป็นคนที่เจ้าชายเลือกแต่งงานด้วย การได้แต่งงานที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล ในชีวิตจริง การที่ใครสักคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข อาจไม่ได้หมายถึงการต้องถูกเลือกจากเจ้าชาย แต่หมายถึงการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำที่ดี มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้มีความสุข เพื่อที่ทุกคนจะเป็นเจ้าหญิงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอเจ้าชายมาสวมรองเท้าให้เหมือนในนิทาน
คำถามชวนคิด – ถ้าให้เปลี่ยนแปลงเรื่องราวในนิทานซินเดอเรลลาได้ ลูกอยากให้อะไรแตกต่างไปจากเดิม
เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนิทาน
- การเลือกนิทาน พ่อแม่ผู้ปกครองควรอ่านก่อน เพื่อพิจารณาเนื้อหาว่าจะสื่อสารอะไรกับลูกบ้าง
- อ่านให้จบ แล้วตั้งคำถามชวนคิด จะฝึกให้ลูกมีวิธีคิดในการเข้าใจคนอื่น และมีวิธีการสร้างทางเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการสรุปข้อคิดจากนิทาน เพราะนิทานเรื่องหนึ่งมีหลากหลายแง่มุม เด็กๆ สามารถเก็บเกี่ยวความเข้าใจข้อคิดระหว่างทาง และบ่อยครั้งบทสรุปของนิทานอาจไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
คอลัมน์ นิทานเรื่องนี้ (ไม่) สอนให้รู้ว่า เป็นการสื่อสารแนวคิดและวิธีการสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและคนทำงานด้านเด็ก เพื่อให้เข้าใจการสร้างทักษะและมุมมองที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆ ผ่านเรื่องราวในสื่อ |