- The 12 Senses พัฒนาการการเติบโตในทางการแพทย์มนุษยปรัชญา กระบวนการสร้างประสบการณ์ผ่านสัมผัสของเด็กแต่ละช่วงวัยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ Sense of Body ในช่วงวัย 0-7 ปี, Sense of Soul ในช่วงวัย 7-14 ปี และ Sense of Spirit ในช่วงวัย 14-21 ปี
- บรรยายอย่างเข้าใจง่ายพร้อมยกตัวอย่างประกอบโดย นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล หรือ หมอปอง แพทย์ธรรมชาติบำบัด
- คำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า ทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่รู้จักกาลเทศะ, ไม่เห็นอกเห็นใจ, ไม่มี common sense ทั้งหมดนี้มีที่มาตั้งแต่แรกเกิดและอธิบายได้ผ่าน The 12 Senses
พัฒนาการต้องสำคัญ, ถ้าเด็กอ่านไม่ออกเขียนได้ไม่ทันเพื่อนจะทำอย่างไร, พัฒนาการของร่างกายช้าไปรึเปล่า, กินอาหารเสริมอะไรดี เล่นของเล่นสร้างพัฒนาการอย่างไรจึงจะดีที่สุด?
ยังมีความกังวลอีกมากของผู้ปกครอง -ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่รวมถึงลุง ป้า น้า อา ปู่ย่าตายาย รวมถึงเพื่อนของพ่อๆ แม่ๆ มาช่วยกังวลด้วยว่า ต้องเลี้ยงลูกอย่างไรจึงจะพร้อม พัฒนาการสมวัย
แน่นอนว่าพัฒนาการทางกายเป็นสิ่งสำคัญ แต่พัฒนาการทาง ‘จิตใจ’ ในฐานะพื้นฐานภายในที่เต็มพร้อมเป็นพลังงานขับเคลื่อนชีวิตของเขา (และเรา) ไปตลอดชีวิตนั้นไม่ค่อยมีใครพูดถึง ยังไม่มีใครชี้ชัดๆ ว่า หากไม่ทำ ไม่สร้าง หรือหากเข้าไปรบกวนพัฒนาการทางจิตวิญญาณจะส่งผลกระทบระยะยาวอย่างไร เป็นต้นว่า หลายคนเริ่มตั้งคำถามเช่น ทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่รู้จักกาลเทศะ, ไม่เห็นอกเห็นใจ, ไม่มี common sense ทั้งหมดนี้อธิบายได้ผ่าน The 12 Senses พัฒนาการผ่านสัมผัสรู้ในมุมการเติบโตในทางการแพทย์มนุษยปรัชญา (Anthroposophic Medicine)
“ในการพัฒนาการมนุษย์ ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงการเติบโตในเชิง spirit หรือจิตวิญญาณ 3 สิ่งคือ body, soul และ spirit ยังไม่ค่อยมีใครอธิบายว่าทั้งหมดนี้จะเข้ามาอยู่ในร่างกายและเชื่อมโยงทำงานร่วมกันอย่างไร แต่สิ่งที่เราบอกได้คือ ประสบการณ์ในอดีต (การถูกเลี้ยงดู) จะเป็นตัวปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์หรือความคิดจิตใจของเราให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่เคยชินหรือถูกเลี้ยงดูมา หมายความว่า ถ้าประสบการณ์เดิมไม่ดี ซอฟต์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้นก็จะไม่ดี
“ในทางการแพทย์มนุษยปรัชญาจึงบอกว่า กระบวนการกล่อมเกลาหรือเลี้ยงดูเด็กให้มีพัฒนาการทั้งกายและจิตใจ ต้องทำผ่านการสร้างประสบการณ์ให้กับผัสสะ (สัมผัส) ต่างๆ เพราะผัสสะเป็นการรับรู้โลกภายนอก เด็กไม่ได้เรียนรู้ผ่านการสอน แต่ผ่านประสบการณ์ผัสสะของเขา เราใส่อะไรผ่านผัสสะให้เขารับรู้ มันจะฝังในหัว ในตัวตน และจะส่งผลต่อการเป็นเขาในระยะยาว
คือคำอธิบายของ นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล หรือ หมอปอง แพทย์ธรรมชาติบำบัด ตามแนวมนุษยปรัชญา ในเวิร์คช็อปห้องเรียนพ่อแม่ไทยพาณิชย์* ณ อนุบาลบ้านรัก วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562
พูดในอีกความหมาย The 12 senses คือกระบวนการสร้างประสบการณ์ผ่านสัมผัสของเด็กแต่ละช่วงวัย แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
- Sense of Body: สร้างประสบการณ์ของเด็กในช่วงวัย 0-7 ปี
- Sense of Soul สร้างประสบการณ์ของเด็กในช่วงวัย 7-14 ปี
- Sense of Spirit สร้างประสบการณ์ของเด็กในช่วงวัย 14-21 ปี
อย่างที่คุณหมออธิบายว่า
“พัฒนาการของผัสสะทั้ง 12 เซนส์ เหมือนประตูของดวงจิตที่เปิดออกสู่โลกสามโลก โลกที่หนึ่ง-ผัสสะที่รับรู้ร่างกายของตัวเอง (Sense of Body), โลกที่สอง-ผัสสะที่จะรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก (Sense of Soul) สุดท้าย-ผัสสะและดวงจิตที่เชื่อมโยงกลับไปยังสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา ความคิด (Sense of Spirit)”
The Potential เข้าไปซิทอิน จดเลคเชอร์วิธีคิดของคุณหมอ และเรียบเรียงออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ คุณป้าคุณน้า หรือใครก็ตามที่กำลังมีบทบาทใดบทบาทหนึ่งในชีวิตที่ต้องกอปรสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ ที่ไม่ได้เติบโตแค่ ‘พัฒนาการ’ แต่คือการเติบโตภายใน
Sense of Body
สร้างประสบการณ์ผ่าน ‘ร่างกาย’ ในช่วงวัย 0-7 ปี
ใน 4 เซนส์ หรือ 4 ประสบการณ์ทางผัสสะแรกในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย Senses of Touch, of Life, of Movement และ of Balance
คุณหมออธิบายเพื่อทำความเข้าใจก่อนว่า ในช่วงขวบปีแรก คิดง่ายๆ ว่าเป็นทารกที่เพิ่งคลอด ทารกยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความทรงจำติดตัวมา เปรียบเทียบในแง่พัฒนาการ ช่วงทารกเป็นวัยที่มองไม่เห็น เดินไม่ได้ เท่ากับว่าความเข้าใจเรื่อง ‘ชีวิต’ ยังไม่เคยเกิดขึ้น ผัสสะที่จะถูกสร้าง คนรอบข้างมอบให้ คือประสบการณ์ใหม่ทั้งหมด
ผัสสะแรก – Senses of Touch จึงเป็นการรับประสบการณ์ผ่านการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการโอบกอด อุ้ม ให้นมจากเต้า และสัมผัสอื่นๆ จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้เขารับรู้ถึงการมีชีวิต มั่นคง และ ‘ไว้วางใจ’ (trust) ต่อโลก – ย้ำว่าไม่ใช่แค่ trust ที่เกิดแค่กับผู้มอบสัมผัส แต่เป็น trust ต่อโลก
ผัสสะที่สอง – Senses of Life อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เพราะทารกเกิดมาโดยที่ไม่มีไอเดียของชีวิตอยู่เลย สัมผัสต่างๆ ที่ได้รับย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจต่อชีวิต พลังงานของชีวิต คุณหมอยกตัวอย่างให้เห็นถึงภาพกิจวัตรของเด็กที่มักร้องไห้ ด้วยเหตุผลที่ตรงไปตรงมาคือ ร้องเพราะไม่สบายตัว ร้องเพราะหิว ซึ่งหากสังเกต จะพบว่าเด็กมักร้องไห้อย่างเป็นเวลา เป็นจังหวะ หรือ rhythm
“จังหวะชีวิตสำคัญมากที่ทำให้เด็ก กิน อยู่ หลับ นอน ง่ายดาย ในภาษาแพทย์เรียกว่า rhythm ถ้า rhythm ไม่ดี เด็กจะมีอาการงอแง โยเย เลี้ยงยาก สังเกตได้เลยว่าถ้าวันไหนเราไม่อยู่บ้าน ไปช็อปปิ้ง เปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง เช่น พาออกไปเที่ยว เราทำให้ Sense of Life ของเด็กผิดจังหวะ งอแงผิดปกติ แก้ยังไง? ถ้าอยากให้ลูกมีความมั่นคงต่อพลังชีวิต ก็ต้องสร้าง rhythm ที่สม่ำเสมอ
“สิ่งที่เราจะเห็นในการจัดการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ คือการจัดจังหวะ เช่น การจัดกิจกรรมในโรงเรียนต้องมีจังหวะที่ชัดเจน เช่น เข้ามาที่ห้องอาหารปุ๊บ จังหวะคือ เด็กต้องร้องเพลงขอบคุณอาหาร กินร่วมกัน จากนั้นจึงช่วยกันล้างจาน แล้วไปรวมกันอีกห้องซึ่งมีแต่นิทานและมีที่นอน ถ้าทำแบบนี้ทุกวันเป็นจังหวะเดิม เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงเวลากินข้าว กิน ถึงเวลานอน นอน สำคัญคือเราต้องชัดเจน ถ้าเข้าไปห้องนอนแล้วมีเกมเต็มไปหมด เด็กก็จะสับสนว่าจะให้เล่นหรือนอนกันแน่? หรือ กำลังจะกินข้าว แต่บนโต๊ะอาหารมีหนังสือนิทาน นั่นเท่ากับเราสื่อสารไม่ชัดว่าจังหวะนี้ต้องการอะไร
“ถ้าเราอยากให้ลูกเราสุขภาพดีในระยะยาว การฝึกสิ่งเหล่านี้ให้เขารับรู้พลังชีวิตของตัวเอง และจังหวะเหล่านี้จะติดตัวเขาไปตลอด”
ผัสสะต่อชีวิต สำคัญต่อวิธีคิดในการจัดจังหวะชีวิต ส่งผลต่อวิธีคิดในการจัดการเวลาตอนโตขึ้น ทั้งยังเกี่ยวพันถึงเรื่องสุขภาพในระยะยาว อย่างที่คุณหมอยกตัวอย่างติดตลกว่า
‘เคยไหมที่เห็นเพื่อนบางคน ถึงเวลากินไม่กิน ถึงเวลานอนไม่นอน ถึงเวลาป่วย ดันโหมทำงาน?’ นี่นับเป็นผลพวงหนึ่งของการที่ถูกเลี้ยงอย่างไม่มีกิจกรรมที่มีจังหวะชัดเจน
ผัสสะที่สาม – Sense of Movement พัฒนาการที่สำคัญในช่วงผัสสะนี้คือช่วงที่เด็กเริ่มอยากจะเคลื่อนไหว การตั้งไข่ หัดคลาน หัดเดิน คุณหมอย้ำว่าพัฒนาการในช่วงนี้ไม่ใช่แค่ ‘การเดินได้เร็ว’ แต่คือการเห็นภาพ อยากจะยืดเหยียดแขนออกไปจับต้องสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับความปรารถนาของตัวเองและการควบคุมจังหวะชีวิต
“การรู้ว่าร่างกายเราเคลื่อนไหวได้ มันสำคัญยังไง? เมื่อรู้ว่าเราเคลื่อนไหวได้ มันเกิดความเชื่อมโยงระหว่างความปรารถนาของตัวเองกับการเคลื่อนไหวไปหยิบจับ เช่น สมมุติเขาเห็นผลส้มอยู่ตรงหน้า การที่เขาสั่งจิตตัวเองให้เคลื่อนไปหยิบส้มลูกนั้นได้ มันเชื่อมโยงระหว่างความคิดกับเจตจำนงของตัวเขา
“มีคนบอกว่า ถ้าอยากให้เด็กเดินเร็วขึ้น ก็มีอุปกรณ์ให้เด็กเดินเร็ว เครื่องช่วยพยุง หรือพาไปลอยในน้ำดีไหมครับ? ถ้ามองในแง่พัฒนาการ เราอาจบอกว่า… ก็ดีนะ เขาอาจเดินเร็วขึ้นอีกหน่อย แต่ในมุมมองมนุษยปรัชญาบอกว่า สิ่งที่เขาไม่ได้ คือกระบวนการเรียนรู้บางอย่าง เช่น การใช้ความพยายามหาจังหวะจะคืบคลาน หรือเด็กที่ไม่เคยได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก ส่วนใหญ่ใช้เวลากับเทคโนโลยี อาจไม่รู้จังหวะที่จะเข้าหาคน ทำอะไรไม่เคยสอดคล้องกับจังหวะสังคม คือเข้ากับคนอื่นได้ยากไม่เท่ากับที่ศักยภาพเขาควรมี เพราะเขาไม่เรียนรู้จังหวะภายใน เราไปขัดขวางกระบวนการเรียนรู้จังหวะควบคุมการกระทำของตัวเขาเอง”
ผัสสะที่สี่ – Sense of Balance ต่อเนื่องจากการคลาน พัฒนาการต่อไปคือการตั้งไข่และเริ่มก้าวเดิน การเดินที่หมายถึง ทักษะการทรงตัว อันหมายถึง ชีวิตที่สมดุล แต่นอกจากความสมดุลในชีวิต ผลพวงที่ได้มาคือการได้มองโลก ในทางการแพทย์ยังพบด้วยว่า คนที่มีสมดุลทางกายไม่ดี มีผลต่อทักษะการพูดและการฟังด้วย (ความเชื่อมโยงทักษะการฟัง จะกล่าวถึงใน Sense of Hearing)
“Sense of Balance หรือทักษะการทรงตัว โดยส่วนใหญ่จะพัฒนาเสร็จสิ้นในช่วง 1 ปี เร็วหรือช้ากว่านั้นไม่มาก สิ่งที่ล้ำลึกคือ นอกจากการพัฒนากล้ามเนื้อที่ได้มาพร้อมการยืนหรือทรงตัว คือการพูด เพราะเมื่อไรที่เรายืนได้อย่างมั่นคง เด็กจะมองไปไกล โอ้… ตรงนั้นมีคนอยู่ คุณแม่กำลังทำอะไรนะ ผู้ชายที่แม่เรียกว่าพ่อเขาทำอะไร ความอยากรู้อยากเห็นจากการมองไปได้ไกลเป็นตัวกระตุ้นทำให้เขาอยากพูด”
คุณหมอยกตัวอย่างเคสที่เคยให้คำปรึกษาครอบครัวหนึ่ง มีเด็กผู้ชายอายุราว 8 ขวบเข้าปรึกษาคุณหมอด้วยอาการติดอ่าง รักษาหลายศาสตร์แล้วแต่ไม่ดีขึ้น จนมาถึงคุณหมอปอง เมื่อพูดคุยแล้วพบว่า แม้น้องคนนี้จะอายุ 8 ขวบแล้วแต่ยังขี่จักรยานไม่ได้ คุณหมอจึงแนะนำให้ครอบครัวรักษาด้วยการ ‘ไปฝึกขี่จักรยาน’ และเล่น ‘โรลเลอร์เบลด’ ฝึกราว 1 ปี น้องคนนี้เริ่มพูดคล่องขึ้น”
กล่าวโดยสรุป 4 ผัสสะแรก คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านผัสสะของร่างกายในช่วงที่ทารกยังไม่รับรู้เซนส์ของการมีชีวิต ซึ่งแต่ละผัสสะไม่ใช่แค่พัฒนาตรงตัว แต่เกี่ยวกับทักษะชีวิตในอนาคต กล่าวคือ
- Senses of Touch เชื่อมโยงกับความรู้สึกมั่นคง (trust) ปลอดภัยต่อโลก
- Senses of Life เชื่อมโยงกับการจัดจังหวะ (rhythm) และการมีสุขภาพดีในระยะยาว
- Sense of Movement เชื่อมโยงกับการมองเห็น ความปรารถนา เจตจำนง และการควบคุมจังหวะชีวิต
- Sense of Balance เชื่อมโยงกับการมองเห็นโลก ทักษะการพูดและการฟัง
Sense of Soul
สร้างประสบการณ์ของเด็กในช่วงวัย 7-14 ปี
4 เซนส์ต่อมา คือ Sense of Smell, of Taste, of Sight และ of Warmth ผัสสะเหล่านี้จะถูกพัฒนาอย่างยิ่งยวดในช่วงปฐมวัย จากที่เคยเล่นน้ำกลางแดดได้หลายชั่วโมง พอเข้าช่วงประถมก็เริ่มบ่นร้อนหนาวหนักเป็นพิเศษ จากที่เคยหยิบของตกพื้นมากิน ในวัยนี้แค่ปอกกล้วยแล้วขั้วดำ ก็เริ่มร้องยี้ไม่ขอจับอีกต่อไป
ผัสสะที่ห้า – Sense of Smell หรือการดมกลิ่น ในทางการแพทย์อธิบายว่าการดมกลิ่นมีความเชื่อมโยงสำคัญกับประสาทสมองทำให้แยกกลิ่นออกเป็นประเภทๆ ได้ ในอีกมุมหนึ่ง กลิ่นยังบอก เตือน หรือให้สัญญาณต่อชีวิตบางอย่าง จำแนกว่าสิ่งที่ดี หรือ อันตราย ร่างกายควรรับเข้าไปหรือไม่
“ปัญหาคืออะไร? ปัญหาคือถ้าเราเลี้ยงเขาด้วยกลิ่นสังเคราะห์ เลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่เห็นแต่ภาพ ไม่เคยพาออกไปเล่นข้างนอก ไม่เคยให้สัมผัสกับดอกไม้จริงหรือได้กลิ่นดินกลิ่นโคลน นอกจากสัมผัสจมูกเสียแล้ว คอมมอนเซนส์หรือการแยกแยะสิ่งดีสิ่งผิดปกติก็หายไปด้วย”
ผัสสะที่หก – Sense of Taste ต่อจากการดม คือการรับรสหรือการกิน ซึ่งเป็นการกินที่ ‘เลือก’ ว่าจะรับพลังงานอะไรเข้าไปในร่างกาย แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกให้กินในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สวย ไม่น่ารับประทาน เป็นเรื่องชวนหัวในหมู่ผู้ปกครอง แต่คุณหมอย้ำว่า การฝึกให้กิน นอกจากฝึกให้สมองคุ้นชินกับรสชาติอาหาร ยังเป็นเรื่องของการฝึกให้ ‘อดในสิ่งที่อยาก ทนในสิ่งที่ไม่ชอบ’ การกินไม่ใช่แค่การรับพลังงานเข้าร่างกาย แต่ผัสสะในการกิน มีผลต่อ ‘เทสต์’ หรือรสนิยมของเขาด้วย
“มนุษยชาติเป็นนักชิมและรู้ด้วยว่าอะไรดีต่อร่างกายโดยไม่ต้องเสิร์ชหา แต่มีเซนส์จับได้ว่า กินสิ่งที่มีรสฝาดๆ เข้าไปนี้รู้เลยว่ามันจะทำให้ร่างกายกลับสู่สมดุลยังไง กินสิ่งนี้เข้าไปแล้วทำให้ร้อนในรึเปล่า รับรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับสุขภาพ หมายความว่า เมื่อไรที่เสียเซนส์นี้ไป ไม่ได้เสียเรื่องการกิน แต่เสียเรื่องความคิดด้วย เหมือนในรากศัพท์ภาษาอังกฤษ taste ยังแปลว่ารสนิยม
“จะทำลายเทสต์ได้ยังไง? แทนที่จะกินอาหารสด ก็กินอาหารกระป๋อง กินอาหารสังเคราะห์ กินไปเรื่อยๆ เทสต์เราก็ฝาดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เขามีรสนิยมดี ก็ต้องให้เขากินดีหน่อย รวมทั้งต้องสอนให้เขา ‘ทนในสิ่งที่อยาก และอดในสิ่งที่ไม่อยาก’ เช่น รู้ว่าผักมันขม แต่กินนะลูก”
ผัสสะที่เจ็ด – Sense of Sight การสอนให้เด็กมีผัสสะทางสายตา หมายถึง การไม่ตัดสินจากภายนอก แต่ให้สร้างกระบวนการให้เด็กมองเห็นคุณค่าจากภายใน
“อันนี้วิกฤติเหมือนกัน ทำไมเดี๋ยวนี้เด็กอยากเป็นดารากันหมด เพราะเราเชื่อทุกอย่างที่ตาเห็นแต่ไม่รู้สึกถึงความเป็นจริงด้านอื่นที่อยู่ตรงหน้า ทุกคนอยากสวย อยากหล่อ เกิดเทรนด์การทำศัลยกรรม สำหรับคนที่อยากทำ เป็นสิทธินะครับ แต่กำลังชี้ว่า หน้าที่ของพ่อแม่คือทำยังไงให้เขามองข้ามสิ่งเหล่านี้ มองเห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่ข้างใน เป็นเรื่องที่เราต้องสอนให้เขาเรียนรู้”
ผัสสะที่แปด – Sense of Warmth นอกจากผัสสะที่รับรู้ว่าถึงความร้อน/เย็น ลึกไปกว่านั้นคือความอบอุ่นจากข้างใน
“ตัวอย่าง ถ้ามีอ่างน้ำสองใบ ใบหนึ่งใส่น้ำร้อน ใบหนึ่งใส่น้ำเย็น เราเอามือข้างหนึ่งจุ่มน้ำร้อน อีกข้างจุ่มน้ำเย็น สักพักหนึ่งแล้วลองสลับข้างกัน มือที่เคยอยู่ในน้ำเย็นจะรู้สึกร้อน ส่วนมือที่อยู่ในน้ำร้อนจะเย็น หมายความว่าการรับรู้ร้อนเย็นไม่เหมือนปรอทหรือการวัดค่าสัมบูรณ์ แต่รับรู้ว่ากำลังมีอะไรเคลื่อนเข้ามาในตัว หรือกำลังสูญเสียอะไรออกไป การเข้าหรือออกของสิ่งนั้นมันเปลี่ยนความรู้สึก
“ความรู้สึกนี้เช่นเดียวกับ smell และ taste นะครับ คือมันอยู่ในการรับรู้ของดวงจิต ในแก่นของเราด้วย ถ้าเด็กคนไหนร้องอยู่ในเปลแล้วไม่มีคนสนใจ เด็กเหล่านี้ต้องทำตัวดื้อๆ หน่อย โดนตีก็ยังดี เด็กคนหนึ่งล้มเจ็บแล้วมีคนมาทายาให้ มีคนเข้ามาปลอบประโลม ข้างในมันรับรู้ได้ว่า กำลังมีความอบอุ่นจากข้างนอกเข้ามาข้างใน”
“เราจะไปบอกเด็กว่าช่วยทำตัวน่ารักหน่อยได้ไหม ไม่ได้ เพราะเราไม่เคยใส่ผัสสะความอบอุ่นให้กับเขาเลย ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนกำลังมีลูกอยู่ในวัยประถม คือ 7-14 ปี ช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ให้หน่อยนะครับ โตไปจะได้มีอนาคตที่ดี ไม่ได้พูดถึงอนาคตไหนนะครับ (หัวเราะ) อนาคตไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่บ้าน”
กล่าวโดยสรุป 4 ผัสสะใน Sense of Soul นี้ ไม่ใช่การแค่การรับรู้ในเชิงกายภาพ แต่เชื่อมโยงกับการเติบโตในการเป็นมนุษย์อีกด้วย คือ
- Sense of Smell เชื่อมโยงกับ การแยกแยะสิ่งที่ดีและผิดปกติ
- Sense of Taste เชื่อมโยงกับ รสนิยมในการใช้ชีวิต
- Sense of Sight เชื่อมโยงกับ การไม่ตัดสินจากภายนอก
- Sense of Warmth เชื่อมโยงกับความรู้สึก ‘อบอุ่น’
Sense of Spirit
สร้างประสบการณ์ของเด็กในช่วงวัย 14-21 ปี
4 ผัสสะสุดท้าย คือหมวดจิตใจภายใน คือ Sense of Hearing, of Speech, of Thought และ of Self ความน่าสนใจของเซนส์ในกลุ่มนี้คือ แต่ละเซนส์จะโยงกลับไปที่พัฒนาการทางผัสสะใน 4 เซนส์แรก เป็นการย้ำเตือนว่า หากพัฒนาการในช่วงแรกไม่ดี หรือประสบการณ์ในช่วงแรกไม่ถูกเติมเต็ม ยิ่งมีผลต่อพัฒนาการทางความคิดในตอนโต
ผัสสะที่เก้า – Sense of Hearing ไม่ใช่การได้ยินในเชิงสู่รู้อยากรู้เรื่องของคนอื่น แต่เป็นการเปิดให้อะไรบางอย่างเข้ามาในตัวเรา และวิวัฒนาการหูมนุษย์ยังถอยห่างจากอวัยวะภายในเชิงปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ ออกมาอยู่สูงขึ้นและแยกจากอวัยวะอื่น นั่นจึงทำให้เราได้ยินเสียงที่ละเมียดละไม ประณีต และสุนทรียะขึ้น มากกว่านั้นคือ ไม่ใช่การได้ยิน แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับการทรงตัว หรือ Sense of Balance ด้วย
“ที่ยกตัวอย่างในช่วงแรกว่า ถ้าเราไปเร่งหรือช่วยให้เด็กยืนเร็วเกินไป หรือไม่มี Sense of Balance สิ่งที่ตามมาคือ เขาจะเสียจังหวะในการอ่านด้วย เช่น ‘ไก่ จิก เด็ก ตาย เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง’ จังหวะการอ่านเขาอาจเสีย หรือความคิดในหัวไม่ flow อ่านไม่แตก เวลาอ่านต้องเริ่มจากการลดรูป กอ-ไอ-ไก-ไม้เอก-ไก่ เพราะอย่างนั้นจะกลับไปแก้อะไร? ไปหัดขี่จักรยาน (หัวเราะ) แต่มากกว่านั้น เวลาอ่านหรือพูด เราต้องเห็นภาพคำศัพท์ในหัว ต้องเชื่อมคำให้เป็นประโยค ต้องเกิด flow ในหัว ที่เกิดเป็นอีกทักษะที่เรียกว่า Sense of Language”
ผัสสะที่สิบ – Sense of Language ถ้าการได้ยิน เชื่อมกลับไปที่ทักษะการทรงตัว ทักษะด้านภาษา ก็เชื่อมกลับไปที่การเคลื่อนไหว หรือ Sense of Movement เช่นกัน
“ในเรื่องภาษา เด็กหลายคนสะกดคำได้ อ่านออก แต่ไม่มีทักษะทางภาษา ไม่สามารถแตกเป็นประโยคหรือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางภาษาได้ ถ้าเราอยากพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เราต้องให้เขามีการเคลื่อนไหวเยอะๆ เทคนิคหนึ่งคือการให้เด็กโยนรับของแล้วสับคำในหัว เช่น โยนหมอนแล้วเรียกชื่อคนมารับ โยนปุ๊บ ‘หนูไก่’ หนูไก่โยนต่อ ออกเสียง ‘คุณพ่อ’ กระบวนการนี้ช่วยให้พัฒนาการทางภาษาดีขึ้นเพราะเชื่อมคำให้เป็นประโยคจากมูฟเมนต์ของเขา”
ผัสสะที่สิบเอ็ด – Sense of Thought ไม่ใช่แค่ทักษะทางภาษาในเชิง พูดได้หรือไม่ได้ แต่เป็นเชิงการตีความระหว่างบรรทัด หรือ read between the line ซึ่งเชื่อมกลับไปยัง Sense of Life ในแง่การเข้าใจ ‘ชีวิต’ อีกด้วย
“งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การสื่อสารของเราใช้วัจนภาษาแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 70 เปอร์เซ็นต์ผ่านอวัจนภาษาหรือน้ำเสียง เช่น ถ้าหมอบอกว่า ขอยืมรถคุณหน่อยได้ไหม สวยจังเลย แล้วคุณบอกว่า ‘ได้สิ’ (กดเสียงต่ำ) หรือ ‘ได้ซิ’ (ขึ้นเสียงสูง) แบบนี้ … ผมไม่ยืมนะ (หัวเราะ) ไม่น่าจะใช่คำอนุญาต
“ในทางการศึกษาจึงมักฝึกให้เด็กเล่นละคร เพราะคือการ integrate ระหว่างความคิดและการเคลื่อนไหว และความคิดกับภาษากายได้ดี”
ผัสสะที่สิบสอง – Sense of Self หรือ ‘I’ หมายถึงความเข้าใจในตัวตน เป็นได้ทั้งเข้าใจตัวตนของคนอื่นและตัวเอง เชื่อมโยงกลับไปสัมพันธ์กับ Sense of Touch ในแง่ที่ว่า หากตอนเด็กๆ ได้รับสัมผัสที่เต็มพร้อมจากคนรอบข้าง รู้ได้ว่านี่คือแม่ มีความชอบ มีตัวตนแบบนี้ นี่คือพ่อ มีความชอบ มีตัวตนแบบนี้ เด็กจะรับรู้ได้ว่า มีตัวตนอื่นอยู่ในสังคมนี้
“นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งเดินไปเจอของสิ่งหนึ่งวางอยู่ อยากได้ จึงหยิบมา เพราะเขาไม่รู้ว่าของนี้มีตัวตนของเจ้าของอยู่นะ สไตเนอร์บอกว่านี่คือหลักของคุณธรรม หรือ moral เลย ไม่ว่าจะเป็น ความเห็นอกเห็นใจ ความเกรงใจ แล้วจะพัฒนา moral ยังไง ให้เด็กท่องศีล 5? (หัวเราะ) ไม่ต้องหรอก แค่กอดเยอะๆ ให้ความสัมพันธ์ดีๆ กับเขาก่อนมันจึงเกิดความรู้สึกว่า เออ… มันมีคนอื่นที่มันต้องปฏิสัมพันธ์นะ”
กล่าวโดยสรุปใน 4 ผัสสะสุดท้าย คือ
- Sense of Hearing เชื่อมโยงกับความละเมียดละไม สุนทรียะ และ กลับไปเชื่อมโยงกับทักษะการทรงตัว หรือ Sense of Balance
- Sense of Language เชื่อมโยงกับทักษะการเคลื่อนไหว หรือ Sense of Movement
- Sense of Thought เชื่อมโยงกับ การตีความระหว่างบรรทัด และกลับไปเชื่อมโยงกับ Sense of Life ในแง่การเข้าใจ ‘ชีวิต’
- Sense of Self เชื่อมโยงกับการรับรู้ตัวตนของตัวเองและคนอื่น กลับไปเชื่อมโยงกับ Sense of Touch
ก่อนปิดห้องเรียนและมีกิจกรรมสร้างพัฒนาการด้วยเสียงเพลงกันต่อ คุณหมอกล่าวปิดท้ายว่า
“ถ้าเรามี Sense of Thought แน่นอนเรามี IQ สูง แต่สิ่งที่อยากได้มากกว่าคือความเป็นคน และทั้งหมดไม่ได้เกิดจากการนั่งเรียนในห้อง แต่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ทุกคน
“ในช่วง 0-7 ปีของเขา ให้เขาได้เคลื่อนไหวเยอะๆ, 7-14 ปี สอนให้อดให้ทน อดในสิ่งที่ชอบ ทนในสิ่งที่ไม่ชอบ มองข้ามสิ่งที่ตาเห็นเข้าไปสู่คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ และ 14-21 ปีค่อยพัฒนาเรื่องปรัชญา ความจริง ศิลปะ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ถ้าทำแบบนั้นได้ เราจะได้นักปรัชญาที่เป็นมนุษย์”
Fun Fact *ห้องเรียนพ่อแม่ไทยพาณิชย์: ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำโครงการห้องเรียนพ่อแม่ไทยพาณิชย์ ด้วยเข้าใจถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาในชั้นอนุบาลที่ต้องเน้นสร้างพัฒนาการร่างกายมากกว่าเร่งเนื้อหาทางวิชาการ ขณะเดียวกัน ตระหนักดีว่ามีผู้ปกครองหลายท่านเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ดีแต่มีข้อจำกัดในชีวิตการทำงาน ทั้งโรงเรียนทางเลือกในลักษณะนี้มีจำกัดและมักมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้พ่อแม่พนักงานไทยพาณิชย์มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลและส่งเสริมให้ลูกเกิดพัฒนาการตามวัย จึงจัดตั้งโครงการห้องเรียนไทยพาณิชย์เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับพนักงาน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ตามพัฒนาการในพื้นที่ของตัวเองได้ **The 12 Senses คือกระบวนการสร้างประสบการณ์ผ่านสัมผัสของเด็กแต่ละช่วงวัย เสนอครั้งแรกโดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาชาวเยอรมัน-ออสเตรีย ทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม สถาปนิก และสนใจปรัชญาแบบ คุยหลัทธิ (Esotericism) มีนักวิชาการและนักการศึกษา ศึกษาและตีความแนวคิดของสไตเนอร์อย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือการตีความด้วยแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) |