- “ถ้าเด็กที่มีธาตุลมอยู่ในตัวเองเยอะ รูปของเขามักจะเบา เพราะเขาขาดกลุ่มสีที่หนักแน่น ซึ่งกลุ่มสีที่หนักแน่นของเขาคือ ธาตุดิน เช่น น้ำเงิน น้ำตาล ส่วนธาตุไฟ คือเหลืองอุ่นๆ ส้ม หรือสีแดง อุปนิสัยร่าเริง คือธาตุลม สีเหมือนลมเลย เช่น สีเขียวอ่อน สีเหลืองเบาๆ แบบนี้เป็นต้น สีมันเผยธาตุของเขาเอง เราจึงต้องชวนให้เขามีในธาตุที่ไม่มีให้มากขึ้น เพื่อปรับสมดุลในตัวเอง”
- เมื่อการใช้สีในงานศิลปะไม่ได้บ่งบอกแค่สภาวะอารมณ์ของวัยรุ่น แต่ยังสะท้อนอุปนิสัยของแต่ละธาตุ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจโลกหลากสีหลายเฉดของวัยรุ่นมากขึ้น และช่วยประคับประคองเขาไปสู่การค้นพบพลังสร้างสรรค์ได้อย่างสมดุล
- เข้าใจวัยรุ่นผ่านวงล้อแห่งศิลปะและสีสันกับ ครูมอส – อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดแห่ง ๗ Arts Inner Place
ภาพ จรรสมณท์ ทองระอา
เข้มไปก็ไม่ดี อ่อนไปก็ใจบาง การใช้สีในงานศิลปะไม่ได้บ่งบอกแค่สภาวะอารมณ์ของวัยรุ่น แต่ยังสะท้อนอุปนิสัยของแต่ละธาตุ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจโลกหลากสีหลายเฉดของวัยรุ่นมากขึ้น และช่วยประคับประคองเขาไปสู่การค้นพบพลังสร้างสรรค์ได้อย่างสมดุล
The Potential Podcast รายการ ‘ในโลกวัยรุ่น’ อีพีที่ 2 โจ้ – กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential ผู้ดำเนินรายการ ชวนครูมอส – อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดแห่ง ๗ Arts Inner Place สนทนาถึงพลังของสีสันที่จะช่วยให้วัยรุ่นค้นพบเส้นทางของตนเอง ในชื่อตอน ‘สีสันของวัยรุ่น’ เข้าใจตัวตนหลากหลายของวัยรุ่นผ่านทฤษฎีสี
ศิลปะ และสี จะทำให้เราเข้าใจวัยรุ่นได้อย่างไร ชวนติดตามบทสนทนาต่อไปนี้
หรือรับฟังทางพอดแคสต์ได้ที่
บทความนี้ถอดความมาจากรายการพอดแคสต์ ‘ในโลกวัยรุ่น’ ตอนที่ 2 สีสันของวัยรุ่น เข้าใจตัวตนหลากหลายของวัยรุ่นผ่านทฤษฎีสี กับ ครูมอส อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี ดำเนินรายการโดย กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร
ตอนนี้พี่มอสทำอะไรอยู่บ้าง?
ปัจจุบันเป็นนักศิลปะบำบัด มีสตูดิโออยู่ที่เชียงดาว ชื่อว่า ๗ Arts Inner Place เป็นสตูดิโอศิลปะด้านใน ทำงานเกี่ยวกับการใช้ศิลปะบำบัด และมีการอบรมที่ใช้ศิลปะหลากหลายแขนง มีทั้งหมด 7 แขนง และอีกงานหนึ่ง คือ ทำงานโครงการศิลปะด้านใน เกี่ยวกับการพัฒนาคุณครูปฐมวัยผ่านกระบวนการสุนทรียภาพ
ไม่ใช่แค่ศิลปะในเชิงของสี หรือจิตรกรรมเท่านั้น แต่มีอีกหลากหลายแขนง?
ครับ เราสามารถใช้ความหลากหลายของศิลปะ อย่างเช่น สถาปัตยกรรม การรู้สึกถึงสถานที่ว่าสถานที่นี้ให้พลังงานกับเราอย่างไร ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี ภาษาที่หมายถึงบทกวี การละคร การเคลื่อนไหว และศิลปะแห่งชีวิต เรียกว่า Social Art ซึ่งไม่ใช่คำใหม่ แต่อยากให้เป็นสังคมที่มีความหมายของศิลปะ หรือสังคมแห่งศิลปะ
เราอยู่ในพอดแคสรายการในโลกวัยรุ่น คำถามแรก อยากทราบว่าพี่มอสในช่วงวัยรุ่นเป็นอย่างไร และกว่าจะมาเป็นจิตรกร เจอตัวเองได้อย่างไร?
ในช่วงมัธยมต้น หลังเลิกเรียนได้เข้าไปหาคุณอัศศิริ ธรรมโชติ อยู่บ่อยๆ ท่านเป็นนักเขียนเรื่องสั้น และบรรณาธิการสยามรัฐในเวลานั้น ไปจนกองบรรณาธิการจำได้ แล้วเราได้บอกกับตัวเองว่าจะเป็นนักเขียน ก็เริ่มจากติดตามผลงานของคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ซึ่งมาจากการเริ่มอ่านหนังสือรางวัลซีไรต์ เริ่มเขียนหนังสือ และหลังจากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือที่ยากขึ้น จำได้ว่าตอนนั้นอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งของคุณอัศศิริ ชื่อว่า ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง และมีงานเขียนคลาสสิกเล่มหนึ่ง เหมือนทะเลมีเจ้าของ พูดถึงชาวประมงมีชีวิต นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานศิลปะผ่านการเขียน
แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่มาทำงานด้านศิลปะ?
จากการได้ไปเป็นลูกศิษย์ครูเป้ สีน้ำ ในสมัยก่อน ครูเป้สอนเด็ก เราเป็นคนเก็บของ เตรียมอุปกรณ์ให้ครู ก็ได้ไปนั่งรอครูสอน จนรู้สึกว่ามันเสียเวลา เลยเอากระดาษมาลองวาดรูปดู เนื่องจากเราอยู่ตรงนั้นก็พอจะซึมซับจากครูได้บ้าง แต่จุดที่เปลี่ยนจริงๆ คือ การแสดงงานในช่วงมหา’ลัยปี 3 ที่ได้จัดแสดงงานของตัวเอง มีทั้งกวีและภาพวาด ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีความกล้าหาญข้างในลึกๆ แต่ก็มีความกลัวด้วยนะ ขอบคุณเพื่อนๆ ขอบคุณคนที่เข้ามาดู มันทำให้เรามีความมั่นใจว่ามันมีเส้นทางนี้อยู่ในชีวิตเรา
หลังจากนั้นก็ได้ก้าวเข้ามาสู่คนที่ชอบศิลปะ และจังหวะที่มีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 20 ปีก่อน ครั้งนั้นก็มีการศึกษาแบบหนึ่งที่ให้คุณค่าของศิลปะเยอะมาก เป็นการศึกษาในแนวมนุษยปรัชญา หรือวอลดอร์ฟ (Waldorf) หลายๆ คนคงรู้จัก นั่นเป็นจุดที่สำคัญเลย ทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้วเราอยากไปเรียนด้านนี้ ทั้งที่ๆ เราไม่รู้จักประเทศเยอรมนีเลย แต่ในใจคิดว่าเราจะได้ไป น่าแปลกที่เราก็ได้ไปจริงๆ
เหมือนมีเสียงเรียกร้องภายใน เราจะได้เป็นในสิ่งนั้น ถือว่าเป็นวัยรุ่นที่โชคดีที่หาตัวเองเจอ
หลายคนบอกว่าผมโชคดีที่ค้นหาตัวเองเจอเร็ว ซึ่งมันก็เร็วจริง เพราะว่าตอนจบมหา’ลัยปีที่ 4 ก็ออกหนังสือเล่มแรก ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นคนแรกเลย แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ในความโชคดีก็จะมีพลังบวกของคนรอบๆ ข้างด้วยที่หนุนให้เราลงมือทำ เช่น พลังบวกของเพื่อน ของผู้ใหญ่ที่สนับสนุน เราจะต้องขอบคุณที่มีคนช่วยผลักดันที่ทำให้เรากล้าไปเรื่อยๆ
น่าสนใจมาก ชีวิตวัยรุ่นต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราสามารถที่จะกล้าลอง กล้าลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครู ที่เป็นแรงผลักดันให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้
สิ่งที่สำคัญ คือ การที่เราเจออุปสรรค แม้ว่าเหมือนเราจะมีหนทางที่ถูกปูมาและชัดเจน แต่จริงๆ แล้วมันไม่เรียบ ซึ่งช่วงนั้นเรายังเด็กมาก และเป็นความท้าทายมากว่า เวลาเรามีปัญหา เราจะก้าวผ่านมันยังไง เราจะเดินต่อ ถอยหลังกลับ หรือจะเลิก นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เริ่มต้นชีวิตของเราจริงๆ เพราะชีวิตมันไม่ได้ราบเรียบ คำนี้มันลอยขึ้นมาเลย เช่น ตอนที่ไปเยอรมนี แต่เข้าประเทศไม่ได้ เพราะเราไปเรียนโรงเรียนที่เป็นทางเลือก เราโดนปฏิเสธวีซ่า และสถานทูตงงว่าเราจะไปไหน เพราะเราไปเรียนโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองจากมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายทางรัฐบาลเข้าใจ ที่เล่ามาเพราะต้องการปูให้เห็นว่าความกล้าอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ได้ด้วย
ชีวิตการเป็นวัยรุ่นที่เจอในสิ่งที่ใช่ จนพัฒนามาเป็นวิชาชีพไม่ได้ง่าย ตอนนี้เราอยากรู้จักวัยรุ่นผ่านโลกแห่งสีสัน ในฐานะที่พี่มอสเป็นจิตรกร ถ้าเปรียบวัยรุ่นกับสี วัยรุ่นเปรียบได้กับสีอะไร ?
ในวัยต่างๆ ตามแนวคิดของมนุษยปรัชญา มักจะเชื่อมโยงกับสี ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยม ก็จะเป็นสีโทนน้ำเงิน เทอร์ควอยซ์ หรือว่าติดม่วง เพราะสีเหล่านี้เป็นสีที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องพลังของความคิด แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กจะเป็นสีโทนอุ่น แต่ถ้าวัยที่เข้าสู่ช่วงใช้ความคิด ตรรกะ เหตุผล จะเป็นสีโทนเย็น เพราะฉะนั้นถ้าเราเปรียบเทียบว่าวัยรุ่นหัวร้อน อาจจะไม่ใช่ ขึ้นอยู่ว่ากำลังเปรียบกับอะไร
ถ้าพูดถึงวัยรุ่น เราจะพูดถึงภาพใหญ่ แต่วันนี้จะชวนคุยภาพเล็กลงมาว่า เด็กวัยอนุบาล ประถมศึกษา และก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มันมีเหตุปัจจัยอะไร หรือจุดเปลี่ยนอะไร และยังมีเรื่องอุปนิสัยหรือพื้นอารมณ์ (Temperament) เทียบกับธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่บ่งบอกว่าวัยรุ่นแต่ละคนเป็นอย่างไร เช่น
ถ้าพูดถึงดิน (Earth) ก็จะมีความสัมพันธ์กับคำว่า มั่นคง ธาตุดินถ้ามีพอดีๆ ก็จะมีความหนักแน่น แต่ถ้ามีมากเกินไปจะให้อุปนิสัยของความเศร้าในด้านจิตวิญญาณ ธาตุน้ำ น้ำคือการไหลเรื่อยๆ ถ้ามีสูงเกินไปก็จะมีความเฉื่อยชา ธาตุลม เปรียบได้กับความร่าเริง ไม่อยู่กับที่ ธาตุไฟ ข้อเด่นคือจะมีความทะเยอทะยาน แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะเป็นในเรื่องของอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งธาตุทั้ง 4 ก็มีความเป็นสีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่
วัยรุ่นอยู่ในช่วงอายุเท่าไร ?
ตามหลักการเปลี่ยนแปลงทั่วไปก็จะ 0 – 7 ปี และ 7 – 14 ปี จะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น การเปลี่ยนผ่านที่เป็นสัญญาณชัดเจนเลยก็จะเป็นในเรื่องของร่างกายที่เติบโตขึ้น เสียงที่เปลี่ยน การแสดงออกทางร่างกาย เราจะเห็นความชัดเจนตรงนี้ออกมา
ทั้ง 4 ธาตุที่พูดถึงเชื่อมโยงกับวัยรุ่นอย่างไร ?
ในช่วงเด็กเล็กอาจยังไม่ชัดที่จะสามารถบอกอุปนิสัยได้ จะเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงประถมศึกษา และชัดเจนมากในช่วงวัยรุ่น แต่เราไม่ได้พูดว่าเด็กคนนี้เป็นธาตุนี้เท่านั้น มันจะมีความสัมพันธ์กันอยู่ 2 อุปนิสัยในตัวของเด็กคนนั้น ทำให้เราเห็นว่าวัยรุ่นแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
จะมี 2 อุปนิสัยที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงวัยรุ่น ซึ่งก็จะมี 1 อุปนิสัยที่เด่นและชัดเจนมาก 80 เปอร์เซ็นต์ เช่น เด็กที่เฉื่อยชา เด็กที่เก็บตัว เด็กที่มีไฟ หรือเด็กที่ร่าเริง เพื่อที่จะเห็นภาพว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งมีรากฐานมาจากอุปนิสัยที่สร้างมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเห็นถึงลักษณะการทำงานในชั้นเรียน เช่น การทำงานศิลปะ เราอาจจะสังเกตเด็กตอนที่เขาทำศิลปะว่าเขามีอาการหรือท่าทีอย่างไร เช่น ถ้าเขามีอุปนิสัยของธาตุไฟ เขาจะทำงานศิลปะอย่างเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการจุ่มสี การปัดแปรง แต่รายละเอียดยังตกหล่น โทนสีที่ใช้จะติดสีส้ม หรือสีแดง เพราะมีความร้อน และความแรงในตัวของเขา เพราะฉะนั้น ในภาพวาดจึงมีความสัมพันธ์กับอุปนิสัยของเด็กคนนึงได้อย่างน่าสนใจ
แปลว่าเราจะรู้จักวัยรุ่นคนหนึ่งได้จากภาพของเขาเลย ซึ่งจะมองได้หลากสีหลายเฉดและหลากหลายธาตุด้วย
ใช่ครับ เราอาจสังเกตว่าลูกๆ ชอบใช้สีอะไร แล้วเวลาลูกชอบใช้สีอะไร มันสามารถอนุมานไปได้ในมุมของธาตุ หรืออื่นๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน การที่เด็กบางคนวาดภาพดูมีน้ำหนักมาก แต่เด็กอีกคนดูเบา เช่น ประสบการณ์ของผมคือมีรุ่นพี่บอกว่าให้วาดรูปเข้มๆ หน่อย แต่จริงๆ
การวาดภาพไม่ได้เปลี่ยนได้ด้วยคำพูดเพียงหนึ่งคำ เพราะว่าน้ำหนักในภาพวาดมันมาจากธาตุ เด็กที่มีอุปนิสัยร่าเริง รูปของเขาจะลอยได้ตลอดจากตัวของเขา หรือลักษณะจิตวิญญาณของเขาที่ไม่ได้อยู่ในร่างตลอดเวลา คือภาวะใจลอย
เราสามารถเห็นพัฒนาการวัยรุ่นผ่านรูปได้ 2 แบบ ใช่ไหมครับ?
วันนี้เราชวนมองในอุปนิสัย เช่น ถ้าเด็กที่มีธาตุลมอยู่ในตัวเองเยอะ รูปของเขามักจะเบา เพราะเขาขาดกลุ่มสีที่หนักแน่น ซึ่งกลุ่มสีที่หนักแน่นของเขาคือ ธาตุดิน เช่น น้ำเงิน น้ำตาล ส่วนธาตุไฟ คือเหลืองอุ่นๆ ส้ม หรือสีแดง อุปนิสัยร่าเริง คือธาตุลม สีเหมือนลมเลย เช่น สีเขียวอ่อน สีเหลืองเบาๆ แบบนี้เป็นต้น สีมันเผยธาตุของเขาเอง เราจึงต้องชวนให้เขามีในธาตุที่ไม่มีให้มากขึ้น เพื่อปรับสมดุลในตัวเอง
ที่พี่มอสได้ทำงานกับวัยรุ่นที่เข้ามาที่สตูดิโอ บอกได้ไหมว่าเทรนด์สีของวัยรุ่นไทยเป็นสีอะไร?
เรามีข้อสังเกตว่าเด็กไทยจะมีแบบใจลอยและเปลี่ยนบ่อย คือทุกๆ สิบถึงสิบห้านาที สิ่งที่ตั้งใจทำจะถูกเปลี่ยน เขาไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ไม่ใช่แค่กับวัยรุ่นอย่างเดียว โดยส่วนใหญ่อุปนิสัยของคนไทยจะเป็นลมกับน้ำ คือ ไม่ได้หนักแน่นมากกับรากฐานที่กำลังทำอยู่
แล้วมันส่งผลกับชีวิตของเขาอย่างไร?
คิดว่าสิ่งที่ชัดเจนก็คือ ลักษณะของการไม่ได้ทำอะไรที่จริงจัง หรือไม่ได้ทำจนเข้าเนื้อ
ถ้าเราบอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน ค้นหาความชอบของตัวเอง แล้วการที่วัยรุ่นมีธาตุลมเยอะ เปลี่ยนบ่อย ทำอะไรไม่เสร็จ มันจะส่งผลให้วัยรุ่นหาตัวเองลำบากหรือเปล่า ?
สามารถเชื่อมโยงไปแบบนั้นได้ แต่ในฐานะที่เราเป็นครู พ่อแม่ หรือนักบำบัด สิ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ ของท่านผ่านสถานการณ์นี้ไปได้คือ ให้เขาทำจนกว่ามันจะสำเร็จในระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยให้พื้นที่ออกไปทำสิ่งใหม่ เราไม่ได้โอนอ่อนผ่อนตาม ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาเปลี่ยน เขาจะปักหมุดไม่ได้สักครั้ง แต่เราควรปรับวิธีการ เช่น ให้เขาทำสำเร็จก่อนในสิ่งที่อาจจะไม่ได้ชอบนัก แต่เขาจะได้ทำอะไรต่อเนื่องอย่างอื่นด้วย สิ่งนี้ก็จะทำให้เด็กที่หลุดออกจากตัวเองตลอด ได้กลับมาลองทำมัน และเมื่อได้ลองทำมันมากขึ้น เขาจะได้รู้จักมันมากกว่าที่จะตัดสินก่อนว่าไม่ชอบแล้วและเปลี่ยนมัน
วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน มีกระบวนการทางศิลปะอะไรบ้างที่ช่วยประคองให้วัยรุ่นได้นำประสบการณ์มาใช้กับตัวเองอย่างจริงจัง ?
ในกระบวนการของศิลปะถือเป็นบททดสอบเล็กๆ ทางด้านจิตใจ ไม่มีภาพไหนที่ดูแล้วราบรื่น มันจะมีอุปสรรคของมันเอง เช่น อุปสรรคในการวาดเหมือนไม่เหมือน หรือเป็นปัญหาที่บางทีเขาไม่สามารถแก้เองได้ เช่น วาดรูปสัตว์แล้วเขาไม่สามารถทำรูปทรงนั้นให้ใกล้เคียงกับภาพสัตว์ที่มีในใจ เพราะฉะนั้น นักบำบัดต้องเข้าไปช่วยแนะนำว่าลองเปลี่ยนตรงนั้นดู ตรงนี้ดู แล้วให้เขาทำต่อ การทำในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กได้ไปต่อมากกว่าล้มเลิก
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความมั่นคงจะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงไปด้วย สำหรับลักษณะของเด็กที่ล้มเลิกเร็ว ยกตัวอย่างถ้าในบ้านมีจังหวะที่ชัดเจน เปรียบเสมือนมีหลักที่ชัดเจน เช่น วันนี้เราจะทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญตั้งแต่เด็กเล็ก แล้วพอเขามีจังหวะที่ชัดเจน ก็จะกลายเป็นเด็กที่มีหลักชัดเจน ซึ่งมันดีกว่าไม่มีหลักอะไรเลย
เพราะฉะนั้นในรูปแบบของศิลปะที่พูดถึง เราพูดถึงกระบวนการในการวาดรูป มันจะต้องมีขั้นตอน มีลำดับ ไม่ใช่เรื่องของการด้นสดเสมอไป เช่น ปัญหาคือการวาดสัตว์ เด็กนึกไม่ออกว่าจะวาดยังไง แต่ความจริงสัตว์มาจากรูปทรงเป็นหลัก และมันมีเทคนิค เพราะฉะนั้นเราช่วยให้เขาเห็นกระบวนการทำงาน จะช่วยให้เขาวาดรูปสัตว์ได้ และการปั้นก็เป็นเรื่องเดียวกัน เริ่มจากหัวก่อน มันคือคำอธิบายของกระบวนการทำงานศิลปะ ซึ่งจะทำให้เด็กมีขั้นตอน และอยู่กับตัวเองมากขึ้น ทั้งหมดนี้เราพูดถึงอุปนิสัยด้านบวก แต่บางครั้งอุปนิสัยของเรามี 2 ด้าน เวลาเราบอกพ่อแม่ เราจะบอกว่า ให้มองในสิ่งที่เด็กมีก่อน และพอเขาขาดอะไรไป เราจะรู้ว่าเขามีบางอย่างด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้พ่อแม่
ถ้าเราอยากรู้จักวัยรุ่นในมุมมองปัญหาที่เราเห็น จะเทียบได้กับสีอะไร ?
ทุกสีมีความดีหมด เพียงแต่จะมีโทนอ่อนหรือเข้ม แน่นอนที่สุดคือสีที่เข้มจัดจะไม่ให้ประโยชน์กับเด็ก เช่น สีน้ำเงินเข้มจะให้ความหนักเกินไป หรือสีส้มเข้มจะให้ความดุดันเกินไป มันมีทั้ง 2 ขั้ว ขั้วที่ Passive มากๆ หนักมากๆ จนทำให้เขาเข้าสู่สภาวะที่บอบบาง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเงิน หรือม่วง แต่ขั้วสีที่อุ่นและหนัก นั่นคือเด็กอาจจะมีปัญหา เพราะฉะนั้น เราสามารถเปรียบได้กับทุกสี แต่สีนั้นควรจะมีความสัมพันธ์กับคำว่าโปร่งใสและโปร่งแสง เช่น เราพยายามให้เด็กคนหนึ่งไม่ตึงเครียด หายใจเข้า และหายใจออกได้ ดังนั้น ความสมดุลในเชิงการศึกษา คือการที่การศึกษาให้พลังของศิลปะที่สมดุลในช่วงวัยรุ่นจะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งตอนนี้ค้นพบว่าในชั้นมัธยม วิชาศิลปะขาดหายไปเยอะมาก เพราะไปเรียนวิชาอื่นๆ
น่าตั้งข้อสังเกตว่าวิชาที่สามารถประคับคองจิตใจของเด็กได้ และให้เด็กได้มีโอกาสหายใจเข้าและหายใจออก คือวิชาศิลปะ เป็นเหมือน Transitional การเปลี่ยนผ่านอย่างมีสุนทรียะในตัวของพวกเขา แต่พอเป็นวิชาศิลปะในช่วงมัธยม มันกลายเป็นเรื่องทฤษฎีต่างๆ แต่จริงๆ ความสำคัญของศิลปะในระดับ ป.5 ป.6 หรือ ม.1 ไม่ว่าจะเป็นในงานฝีมือ งานไม้ งานแกะสลัก งานกวีต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลย เพราะฉะนั้น อยากชวนให้พ่อแม่เข้าใจหรือเห็นความสำคัญของศิลปะ ว่าเราไม่สามารถตัดวิชาศิลปะ เพราะเป็นวิชาของเด็กเล็ก และในวัยรุ่นจุดเปลี่ยนผ่านของเขาจะเยอะมาก ตอนนี้เราคงเห็นศักยภาพของเด็กๆ ว่าเขามีพลังในหลายแง่มุม ซึ่งในพลังต่างๆ นั้น ถ้าเราสามารถให้โลกของศิลปะประคับประคองจิตใจเด็กไป เขาจะไปสู่พลังที่สร้างสรรค์ นี่คือหัวใจของศิลปะที่จะพาไปถึง
ในวัยรุ่นที่มีพลังสร้างสรรค์ พี่มอสจะไม่พยายามให้เป็นสีใดสีหนึ่ง แต่เป็นสีที่หลากหลายและสมดุล
โดยภาพรวมๆ เราจะเปรียบให้เห็นว่าเขา Active เปลี่ยนผ่านและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ คือสีโทนอุ่น เขาจะอยู่ในโหมดนั้น แต่ถ้ามองภาพเล็ก จะมีเด็กบางคนเป็นข้อยกเว้น
ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ จะช่วยประคับประคองหรือหล่อเลี้ยงวัยรุ่นอย่างไรให้เขาได้ใช้พลังสร้างสรรค์ให้เกิดความสมดุลที่สุด
ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญ เช่น ช่วง 7 ปีแรก หรือ 14 ปีต่อมา การวางบทบาทที่ลงตัวจะช่วยทำให้เด็กยังคงยึดถือเป็นแบบอย่างตามมา เช่น การที่เขาได้เห็นครูคนหนึ่งในชั้นเรียนแล้วได้นำไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง แสดงว่าครูคนนี้เป็นหัวใจของเด็ก สิ่งที่เขาเห็นนั้นก็คือความงามของผู้ใหญ่ที่จะประทับเข้าไป เรามักบอกอย่างหนึ่งว่า เราไม่ได้สอนศิลปะกับเด็ก แต่เราจะให้ศิลปะเป็นความงามที่ประทับอยู่ในตัวผู้ใหญ่และเด็กเห็น นี่ต่างหากคือสิ่งที่เด็กจะจดจำ
คือการนำความงามเข้าสู่วัยรุ่น โดยที่ตัวเราสร้างสรรค์ความงามนี้ขึ้นมาประทับที่ตัวเรา แล้วความงามจะเข้าสู่ตัววัยรุ่นได้เอง
ใช่ ผมเชื่อว่าสิ่งนี้มันสำคัญกว่าการที่เราบอกว่าให้เธอทำศิลปะอย่างนี้สิ หรือว่าไปทำอย่างนี้สิ น้ำหนักไม่มากเท่ากับที่สิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบข้างเป็นแบบอย่างที่ดีในแต่ละช่วงวัย ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จะต้องการการโอบอุ้มอีกแบบหนึ่ง