- Adverse Childhood Experiences (ACE) ประสบการณ์เจ็บปวดหรือบาดแผลร้ายรุนแรงทางใจในวัยเด็ก ส่งผลต่อความป่วยไข้เรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ เช่น มะเร็ง, โรคผิวหนังเรื้อรัง, โรคไขข้ออักเสบ, โรคกระดูก, การอักเสบทางสมอง โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน, ซึมเศร้า และโรคอื่นๆ
- ACE หมายถึงสถานการณ์ที่เด็กคนหนึ่งหรือตัวเองในอดีต ต้องอยู่ในภาวะความเครียด กดดัน หาที่พึ่งหรือคนพักพิงไม่ได้ ก่อเกิดเป็นบาดแผลทางใจและฝังลึกเป็นรอยแผล
- เยียวยาได้ไหม? เพียงเด็กรู้ว่ามีใครสักคนที่เค้าพึ่งพาได้ เป็นที่พึ่งทางใจได้ ไว้วางใจได้ และรู้สึกปลอดภัยหากมีคนผู้นี้อยู่ในชีวิต เพียง ‘พลังของผู้ใหญ่แค่คนเดียวที่พึ่งพาได้’ เท่านี้เด็กก็รอดแล้ว
เราต่างมีปมด้วยกันทั้งนั้น… นานๆ ครั้งมันก็ลุกขึ้นมาหลอกหลอนเราโดยไม่รู้ตัว
แต่มันมีเส้นบางคั่นกลางระหว่างปม (trauma) – เหตุการณ์ที่มีผลให้เราเป็นเราทุกวันนี้ ให้เจ็บปวดเปราะบางกับเหตุการณ์มากน้อยแตกต่างกันไป กับ Adverse Childhood Experiences (ACE) ประสบการณ์เจ็บปวดหรือบาดแผลร้ายรุนแรงทางใจในวัยเด็ก ซึ่งไม่ได้แค่ส่งผลลัพธ์ตรงไปตรงมาอย่างพฤติกรรมเสี่ยงในวัยผู้ใหญ่ เช่น การใช้ยาและสารเสพติด, พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ, เสพติดการใช้ความรุนแรง และอื่นๆ แต่มีนัยสำคัญถึงความป่วยไข้เรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ เช่น มะเร็ง, โรคผิวหนังเรื้อรัง, โรคไขข้ออักเสบ, โรคกระดูก, การอักเสบทางสมอง โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน, ซึมเศร้า และโรคอื่นๆ – ที่เราเคยคิดว่าโรคเหล่านี้เป็นผลจากพันธุกรรมหรือแค่ความโชคร้ายในชีวิต
แม้ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจะเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่อย่างไร แต่ปัจจุบัน ACE ถูกไฮไลต์โดยวงการแพทย์และคนทำงานด้านประชากร ยืนยันด้วยงานวิจัยหลายร้อยชิ้น ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนที่คนทำงานหลายวงการต้องเข้าใจเพื่อออกแบบแก้ปัญหาให้ถูกจุด – ทั้งปัญหาสุขภาพและความรุนแรงที่แม้ไม่มีบาดแผลในครอบครัว กลับส่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงตลอดช่วงชีวิตคน
Adverse Childhood Experiences (ACE) คืออะไร และ ส่งผลต่อโรคร้ายในวัยผู้ใหญ่อย่างไร
ประสบการณ์เจ็บปวดหรือบาดแผลร้ายรุนแรงทางใจในวัยเด็ก – ซึ่งเป็นวัยสำคัญของพัฒนาการทางร่างกาย รวมถึงการฟอร์มและปรับเปลี่ยนกลไกทางสมองก็เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในช่วงเวลานี้ – หมายความตรงตัวถึงประสบการณ์ร้ายที่เราเจอในวัยเด็ก เช่น ถูกทอดทิ้งทางใจ, ต้องอยู่กับพ่อแม่ที่ใช้สารเสพติด, การถูกทำร้ายร่างกาย, การต้องเห็นพ่อแม่ถูกทำร้ายร่างกายหรือตายไปต่อหน้าต่อตา และอื่นๆ ที่ทำให้จิตใจบอบช้ำและทิ้งรอยแผลเป็นที่กดลึก
ปัจจุบัน ACE ได้รับการพัฒนาและแบ่งประเภทผ่านประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับบาดแผลจากใจและกายจากพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดู ดังตารางต่อไปนี้
กลับมาที่ประเด็นว่าประสบการณ์ร้ายฝังใจในอดีตเกี่ยวกับความป่วยไข้เรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างไร…ในตารางข้างต้นไม่ใช่แค่ ‘ประเภทประสบการณ์’ ที่เด็กคนหนึ่งจะพบเจอ แต่มันหมายถึงสถานการณ์ที่เด็กคนหนึ่ง (หรือเราในอดีต) ต้องอยู่ในภาวะความเครียด กดดัน หาที่พึ่งหรือคนพักพิงไม่ได้ และเอาเข้าจริงแล้ว เราต่างเคยมีประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจและฝังลึกเป็นรอยแผลไม่มากก็น้อยและในข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเราจะพูดกันต่อไปว่าการมี ACE เป็นเรื่องปกติและอันที่จริงมันก็เป็นประสบการณ์ที่สร้างความเข้มแข็งให้เรา(ต่าง)เป็นเราวันนี้ได้เช่นกัน แต่หลังอ่านบทความจบแล้ว อยากลองชวนเข้าไปทำแบบประเมิน ACE ที่ถูกพัฒนาให้เป็นปัจจุบันได้ที่นี่
คีย์เวิร์ดของ ACE คือสถานการณ์ที่เด็กอยู่ในภาวะเครียดตลอดเวลาและยาวนาน (ต่างกับการเกิดปมที่เหตุการณ์นั้นอาจเป็นสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งแต่ทิ้งรอยแผลเอาไว้ อ่านเรื่องปมวัยเด็กได้ที่นี่) ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อคนเราเข้าสู่ภาวะเครียด จะเกิดการปรับตัวทางสมองครั้งใหญ่เพื่อต่อสู้และคลี่คลายกับความเครียดนั้นได้เอง*
แต่กับสถานการณ์ความรุนแรงทางใจและกายในบ้านที่ไม่เคยหยุดหย่อน ทำให้เกิดสมองมีภาวะตึงเครียดอย่างไม่เคยได้พัก ความเครียดที่ว่าจะส่งสัญญาณไปเปลี่ยนแปลงการทำงานสมอง เช่น…
การปรับลดเนื้อเยื่อสมองสีเทา: เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านวัยเด็กสู่วัยรุ่นเพื่อปรับลดเซลล์ประสาทโดยธรรมชาติอันจะทำให้วงจรประสาททำงานได้ว่องไวขึ้น รับส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น ดึงข้อมูลที่เก็บอยู่ในความจำมาใช้เพื่อคิดตัดสินใจก็จะทำได้เร็วขึ้น แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในวัยเด็กทำให้ไมโครเกลีย (เป็นเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาท) กัดกินเซลล์ประสาทและทำให้เกิดสภาวะอักเสบของเซลล์ประสาท กระตุ้นให้สมองกำหนดวิธีทำงานใหม่และยิ่งสร้างสภาพซึมเศร้าและวิตกกังวลให้เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามากเพราะแต่เดิมเราเชื่อว่าการอักเสบของสมองจะเกิดขึ้นเมื่อสมองได้รับความกระทบกระเทือน เช่น อุบัติเหตุ แต่การอักเสบในระดับต่ำจากความเครียดเรื้อรังก็เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของสมองได้เช่นกัน
เมื่อเซลล์ประสาทถูกทำลายมากเกินไป มันเชื่อมต่อกับกลไกสมองเรื่องความทรงจำ – การทำงานของฮิปโปแคมปัสเรื่องความทรงจำ และ คอร์ปัส-แคลลอสซัม และสมองส่วนหน้า – ทั้งหมดนี้มีผลต่อความสามารถในการคิด ตัดสินใจ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์
หรือ แกนตอบสนองความเครียด HPA (ไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) ถูกตั้งโปรแกรมให้เร่งผลิตฮอร์โมนความเครียดในชื่อคอลติซอลและไซโตไคน์ ภาวะนี้หมายถึงสมองถูกตั้งโปรแกรมให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วยความเครียดได้ง่ายและคลี่คลายยาก นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนจึงหลุดจากภาวะเครียดหรือเอาตัวเองออกจากความคิดด้านลบได้ยากโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทบางประเภท นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสมัยใหม่บอกว่ามันส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย
ACE กับปัญหาโรคร้ายแรงในวัยผู้ใหญ่
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดจากความเครียดต่อเนื่องและคาดเดาไม่ได้ในวัยเด็ก แต่สุดท้ายแล้วกลับส่งผลกระทบออกมาเป็นความป่วยไข้ทั้งภายในภายนอก และนี่คือกลุ่มอาการที่เป็นผลพวงจาก ACE – กลุ่มอาการที่ครั้งหนึ่งวงการแพทย์ไม่คิดว่ามันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ร้ายวัยเด็ก แต่คิดว่าเป็น
ผลจากพันธุกรรม หรือการทำลายตัวเองด้วยพฤติกรรมเสี่ยงโรคร้ายด้วยตัวเอง เช่น ภาวะติดแอลกอฮอล์, ติดสารเสพติด, พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ, การส่งต่อความเครียดจากแม่สู่ลูกในครรภ์, ซึมเศร้า, มะเร็ง, โรคอ้วน และอื่นๆ ดังปรากฎในรูปด้านล่าง
หลักฐานว่า ACE เกิดขึ้นกับเราและคนรอบข้างในสัดส่วนที่มากจนน่าตกใจ
งานวิจัยที่อาจเรียกว่าเป็นวิจัยบุกเบิกชี้ชวนให้วงการแพทย์และคนทำงานด้านประชากรต้องหันมาสนใจประเด็นนี้คืองานวิจัยของ Vincent Felitti, Robert Anda และทีมงานในปี 1995 – 1997 และยังติดตามต่อเนื่องเป็นช่วงเวลาอีกอย่างน้อยถึงปี 2009 กับประชากรชาวอเมริกันชนชั้นกลางจำนวน 17,377 คน สิ่งที่อยากรู้คือ ACE มีผลต่อการป่วยไข้เรื้อรังและการตายในวัยผู้ใหญ่หรือไม่ งานวิจัยในภาพรวมพบว่าคนทั่วไปมีคะแนน ACE มากกว่า 1 คะแนนขึ้นไป (เต็ม 8) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มาก ตรงนี้ตีความได้ว่าเราต่างมีบาดแผลวัยเด็กด้วยกันทั้งนั้น – แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มี ACE ทุกคนจะเสี่ยงเป็นโรคร้าย เพียงแต่พบว่า ยิ่งมีคะแนน ACE มากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่และชีวิตส่วนตัวก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่านั้น
งานวิจัยพบอีกว่า ในกลุ่มที่ศึกษามี 1,539 คน เสียชีวิตระหว่างติดตามวิจัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 77.5 ปี ผู้ตายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผิวสี ไม่แต่งงาน จบการศึกษาไม่สูง และมักมีปัญหาเรื่องการเงิน ตัวเลขที่แสดงนัยยะคือผู้ที่มีคะแนน ACE มากกว่า 6 ขึ้นไปเสียชีวิตเร็วกว่า 20 ปี ของอายุเฉลี่ย
งานวิจัยใหม่ๆ ยืนยันผลลัพธ์ที่คล้ายกันกับงานวิจัยของ Felitti และคณะ แต่ให้รายละเอียดของโรคเรื้อรังที่หลากหลายขึ้น เช่น หากเข้าไปดูรายชื่องานวิจัยที่รวบรวมไว้ใน CDC จะเห็นความหลากหลายของโรค เช่น โรคซึมเศร้า, ระบบภูมิคุ้มกัน, โรคผิวหนัง, มะเร็งชนิดต่างๆ, ไมเกรนเรื้อรัง ที่น่าสนใจคือมันเกี่ยวพันกับการอักเสบในสมองชนิด Acquired brain injury (ABI) หรือการอักเสบที่ไม่ได้มาในทางพฤติกรรมหรือมีมาแต่กำเนิด ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
ACE ในฐานะมรดกความสัมพันธ์ที่เลวร้าย
สิ่งที่ต้องไฮไลต์เวลาพูดถึง ACE คือ ‘มันเป็นมรดกความสัมพันธ์ที่เลวร้าย’ ตัวอย่างชีวิตของผู้คนในหนังสือ Childhood Disrupted How Your Biography Becomes Your Biology, and How You Can Heal โดย Donna Jackson Nakazawa บอกเล่าคล้ายกันว่า ยิ่งพวกเค้ามีคะแนน ACE มากเท่าไร เมื่อย้อนอดีตกลับไปก็ยิ่งพบว่า พ่อแม่ของพวกเค้าต่างถูกเลี้ยงดูจาก ปู่-ย่า-ตา-ยาย หรือคนใกล้ชิดด้วยวิธีที่คล้ายกับที่เลี้ยงดูพวกเค้ามา คืออาจใช้ความรุนแรง ถูกกระทำทางเพศ ถูกทอดทิ้งทางความรู้สึก (เพิกเฉย ละเลย ไม่สนใจ) อยู่ในครอบครัวที่ใช้สารเสพติดหรือยา พูดอีกแง่หนึ่งได้ว่า พ่อแม่เลี้ยงเรามาแบบเดียวกับที่พวกเค้าเคยถูกเลี้ยงดู และถ้าเราไม่เห็นวงจรเหล่านี้ เราก็อาจส่งต่อมรดกแห่งบาดแผลทางใจต่อเนื่องไปยังลูกเราได้
นอกจากนี้มันอาจส่งผลกระทบกับเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องความสัมพันธ์ เช่น ในหนังสือ Childhood Disrupted หลายคนอธิบายปัญหาความสัมพันธ์ทั้งในแง่เพื่อน คนรัก และกับคนในครอบครัวว่าพอถึงจุดหนึ่งพวกเค้าจะรู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมโยง หรือไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับใครไว้ได้ ลึกลงไปเป็นเพราะความหวาดกลัว ไม่เคยเห็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มั่นคงว่าเป็นอย่างไรและเพราะประสบการณ์เลวร้ายยังหลอกหลอนให้ไม่อาจยอมรับได้ว่าความสัมพันธ์ที่มั่นคง (healthy) จะเกิดได้จริง
เยียวยาบาดแผลเลวร้ายในวัยเด็กอย่างไร
แม้ ACE คล้ายฝันร้ายที่เหมือนจะแก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อพูดว่ามันกระทำการในทางสมองและภูมิคุ้มกันเราไปเรียบร้อย แต่ข้อดีของสมองที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอและปรับตัวได้อย่างทรงพลังยืนยันกับเราว่า เราทำความเข้าใจกับมันได้ (สมองและจิตใจ)เยียวยาได้ และดูแลจัดการมันได้ และต้องไม่ลืมว่า หากเราไม่ได้มีคะแนน ACE มากเกินไป เรารู้ตัว จำเหตุการณ์เลวร้ายช่วงนั้นและทำความเข้าใจตัวละครแต่ละตัวในอดีต บาดแผลในวัยเด็กก็จะเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันสร้างความเข้มแข็งและกล้าหาญต่อเราในวันนี้ก็ได้
อย่างที่ใครพูดกัน …แม้เรื่องเลวร้ายในวันนั้น ก็ทำให้เป็นชั้นในวันนี้ และเราจะเป็น ‘ต้นอ่อนลู่ลม’ ที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่รอบข้างเด็กที่เข้าข่ายได้รับการกระทำทางกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อนข้างบ้าน ลุงป้าน้าอา หรือใครก็ตาม หากเจอเหตุการณ์เข้าข่ายทำร้ายร่างกายหรือทารุณกรรมเด็ก – ให้แจ้งความก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กตามกระบวนการ**
ต่อมา มันเป็นข้อเท็จจริงว่าเพียงเด็กรู้ว่ามีใครสักคนที่เค้าพึ่งพาได้ เป็นที่พึ่งทางใจได้ ไว้วางใจได้ และรู้สึกปลอดภัยหากมีคนผู้นี้อยู่ในชีวิต เพียง ‘พลังของผู้ใหญ่แค่คนเดียวที่พึ่งพาได้’ เท่านี้เด็ก(หรือพวกเราเองนั่นแหละ) ก็รอดแล้ว
สเตปต่อมา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่ามีบาดแผลเลวร้ายในวัยเด็ก หรือเข้าไปทำทดลองได้ที่นี่ คุณสามารถเข้ารับการพูดคุยบำบัดจากมืออาชีพเพื่อช่วยชำระเรื่องราววัยเด็กได้ ปัจจุบันมีหลายศาสตร์ที่ทำงานกับเรื่องนี้และเรายอมรับกันแล้วว่าการพูดคุยบำบัดหรือรับคำปรึกษาเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณเข้าใจที่มาที่ไปและจัดการกับตัวเองได้ดีขึ้น
หรือให้ง่ายและสบายใจกว่านั้น (ย้ำอีกครั้ง – สมองของเรามีการปรับตัวอยู่เสมอแม้ในวัยผู้ใหญ่) มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์สมองยืนยันว่าการเล่นโยคะ, ไทเก๊กและชี่กง, ออกกำลังกาย, ฝึกสมาธิ, เขียนหรือวาดบำบัด และวิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการได้หยุดพัก ทบทวน และให้เวลาเพื่อจดจ่อกับอะไรบางอย่าง เหล่านี้ช่วยปรับโครงสร้างสมองเพื่อทำให้อาการป่วยทางใจและช่วยสมานการเชื่อมโยงระหว่างสมองให้ดีขึ้นได้ (ความสงบจากสมาธิช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนเครียด การจดจ่อไปที่ ‘ความรู้สึก’ ทำให้สมองส่วนความรู้สึกฟื้นฟูขึ้นมาได้)
และหากคุณเคยได้ยินกรอบคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset – วิธีคิดที่เชื่อว่าเราจัดการปัญหาได้ แก้ไขได้ ความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างแรงกล้า เชื่อไหมว่างานเขียนหลายชิ้นยืนยันเช่นเดียวกันว่า กรอบคิดเติบโตช่วยเราจัดการกับความคิดลบๆ ที่ถูกตั้งโปรแกรมในสมองและช่วยปรับโครงสร้างการทำงานมันได้เลยทีเดียว
เรารู้ทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร?
ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำให้เรื่องที่เราเคยเพิกเฉย คิดว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว หรือฝังอดีตเลวร้ายไปกับกาลเวลาโดยไม่พยายามทำความเข้าใจมัน เปลี่ยนมันกลับขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในสังคม หยุดวงจรการทำร้ายร่างกายและจิตใจวัยเด็ก และรู้ว่าผลกระทบของการเพิกเฉยส่งผลร้ายรุนแรงไม่ใช่แค่บาดแผลทางร่างกายที่ไม่นานก็จะหายไป ส่งข้อมูลชุดเดียวกันให้นักกำหนดนโยบาย นักการศึกษา ผู้ที่ทำงานเรื่องประชากรศาสตร์ และคนในเครือข่ายภาคประชาชน ให้เข้าใจและเข้าแก้ไขจัดการได้ทัน
สำคัญที่สุด ฟังสัญญาณร่างกายตัวเอง ถ้าคุณรู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรังตลอดเวลา บางครั้งการย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์วัยเด็กเพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์นั้นใหม่ คุณอาจพบคำตอบการแก้ปัญหาสุขภาพที่ไม่เคยคาดคิดก็ได้