- การรับมือกับวิกฤต ‘วัยทอง 2 ขวบ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พ่อแม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ด้วย 6 วิธี ที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีและเพื่อพัฒนาการของลูกในอนาคต
- ‘เวลาคุณภาพ’ ไม่ใช่เวลาแห่งการตามใจลูก แต่เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรให้ความสนใจกับลูกอย่างเต็มที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่อยากทำและสอนเขาด้วยวิธีที่เหมาะสม
- หัวใจสำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องไม่กลัวเมื่อเด็กอาละวาด แต่ให้ยอมรับว่าการอาละวาด การร้องไห้และการต่อต้านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของเด็กวัยนี้ ไม่ต้องตกใจและรับมือด้วยความสงบ
วิธีที่ 1 ก่อนจะสอนเรื่องใดๆ พ่อแม่สร้างสายสัมพันธ์กับลูกด้วยการมีเวลาคุณภาพให้เขา
หากเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พ่อแม่จะสอนลูกง่ายขึ้น เพราะเขาจะอยากฟังในสิ่งที่เราพูด และทำตามในสิ่งที่เราทำและสอน
สายสัมพันธ์ที่ดีเกิดจากการมีเวลาอยู่กับลูกอย่างแท้จริง เวลาที่ได้สบตากัน สัมผัสด้วยรักและความอบอุ่น กอด หอม และเข้านอนด้วยกัน เวลาที่ได้ทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือนิทานด้วยกัน เล่น ทำงานบ้านด้วยกัน
เวลาคุณภาพ ไม่ใช่เวลาแห่งการตามใจลูก แต่เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การให้ความสนใจกับลูกอย่างเต็มที่ วางทุกอย่างลง ทั้งมือถือและภาระงาน มองตาลูก รับฟัง และสอนเขาโดยการทำสิ่งนั้นไปพร้อมกับเขา
หากไม่ค่อยมีเวลา พ่อแม่มีทางเลือกคือ ‘ทำให้เวลาที่มีอยู่ ขอให้ใช้เวลานั้นอย่างมีคุณภาพที่สุด เพราะปริมาณสำคัญน้อยกว่าคุณภาพ’
หัวใจสำคัญของการสอนเด็กวัยนี้คือ ‘ผู้สอนต้องทำให้เป็นแบบอย่างและทำไปกับเขาด้วย’ ขั้นตอนการสอนมีดังนี้
1. ทำให้ดู
2. พาเขาทำ
3. ทำด้วยกัน
4. ปล่อยให้เขาทำเอง โดยมีเราดูอยู่ห่างๆ
5. เขาทำได้เอง แม้ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น
วิธีที่ 2 พ่อแม่มีหน้าที่ควบคุมกติกาและตารางเวลาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ควบคุมลูกด้วยการพูด‘ห้าม อย่า หยุด’ ตลอดเวลา
เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือ เขาอยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง หากแต่ต้องการโอกาสจากผู้ใหญ่
เด็กวัยนี้ชอบทำอะไรด้วยตนเอง เขาอยากช่วยเราทำงานบ้าน อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ทำ ถ้าเราไม่ให้ เขาทำ และในทางตรงกันข้ามเราเลือกทำสิ่งต่างๆ ให้เขา เพราะเรารู้สึกว่ามันสะดวกและง่ายกับเรามากกว่า นั่นเป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาหลายๆ ด้าน
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ
‘สอนลูกช่วยเหลือตัวเองและทำงานบ้านตามวัย’
เพื่อให้เขาได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตั้งแต่เล็ก เมื่อเขาเติบโตมา เขาเรียนรู้โดยธรรมชาติว่า สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่และส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา ที่สำคัญเขาจะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องรอเราไปช่วยเขา เขาสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาทำให้ ความหงุดหงิดจะลดลง ความภาคภูมิใจในตัวเองจะเกิดในวัยนี้
‘กำหนดกติกาของครอบครัวให้ชัดเจน’
ไม่ต้องเยอะข้อและทุกคนในครอบครัวอยู่ภายใต้กติกา เดียวกัน เช่น กฎ 3 ข้อ ‘ไม่ทำร้ายผู้อื่น’ ‘ไม่ทำร้ายตนเอง’ ‘ไม่ทำลายข้าวของ’ หากทำผิด เราจะให้โอกาสโดยการเตือนเขาก่อนในครั้งแรก หากเขาเลือกที่จะทำต่อไป นั่นคือเขาไม่พร้อมทำสิ่งนั้นต่อและควรพาออกมาคุยกันก่อน
‘มีตารางเวลาที่ชัดเจน’
สิ่งที่จำเป็นต้องทำ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า เก็บ ของเล่น เข้าห้องน้ำ
การมีตารางเวลาที่ทำสม่ำเสมอ เด็กจะจดจำและรู้หน้าที่ของตนเองว่า เขาต้องทำอะไร ตอนไหน ตารางเวลาเป็นผู้ควบคุมเขา ไม่ใช่พ่อแม่ และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้ทำตามตารางเวลา โดยไม่ต้องให้พ่อแม่มาควบคุมเขา
‘กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรได้/อะไรไม่ได้’
ทางที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยนี้ หากเราไม่อยากห้ามเขาเยอะ ให้พาเขาไปในที่ที่เหมาะสมกับวัยของเขา เช่น สนามเด็กเล่น สนามหญ้า สวน หรือ จะจัดบ้านให้เหมาะกับการเล่น เพื่อที่ว่าเขาจะได้ใช้ร่างกายออกแรงเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าข้าวของจะพังเสียหาย หรือต้องคอยระวังอันตรายมากนัก ที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่ควรมอบสิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าจอ’ ให้กับเขาในวัยนี้ เพราะเด็กมีแนวโน้มจะติดง่ายมาก เนื่องจากความสามารถในการยับยั้งชั่งใจยังมีไม่มากพอเมื่อเทียบกับเด็กโต ผนวกกับ ร่างกายและสมองที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากเด็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ เขาจะสูญเสียโอกาสที่จะได้ใช้ร่างกายช่วยเหลือตัวเอง เล่นอย่างเต็มที่ และพัฒนาสมองในทุกๆ ส่วน
วิธีที่ 3 ให้เด็กได้เล่นและออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ
ควรเน้นการเล่นที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็ก ไม่ใช่การดูหน้าจอ หรือ เล่นเกม
อย่าคาดหวังให้เด็กวัยนี้นั่งรอเรียบร้อยดั่งผ้าที่พับไว้ เพราะธรรมชาติของเด็กวัยนี้คือนักวิ่งร้อยเมตรที่วิ่งได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ถ้าเหนื่อย(แบตหมด) คือจอดแบบไม่ส่งสัญญาณใดๆ
พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กวัย 2-4 ปี คือ ร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเขาทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นเด็กอยากทดสอบกำลังแขน ขา ของเขาในการทำสิ่งต่างๆ และสิ่งที่เด็กวัยนี้ทำได้คือ วิ่ง ปีน คว้า โยน ขว้าง ฉีก ขยำ เตะ ปัด ตี และอื่นๆ
‘เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยกิจกรรมดีๆ’
เด็กวัยนี้ชอบโยน ขว้าง เราให้เขามาโยนบอล โยนผ้าลงตะกร้า เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเราไม่ต้องห้ามเขาด้วย หรือเด็กชอบเล่นเลอะเทอะ ให้เขาได้เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เล่นสีนอกบ้าน หรือจะปูผ้ายางให้เขาได้ละเลงให้เต็มที่ เมื่อเด็กได้ทำเต็มที่ เขาจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นในที่ๆ ไม่เหมาะสมเอง
เด็กวัยนี้ควรเล่นโดยการออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 2-3 ชั่วโมง การเล่นที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เด็กหงุดหงิดและอึดอัด เขาจะแสวงหาที่ระบายแรงด้วยตัวเขาเอง ซึ่งบ่อยครั้งการระบายมักออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กระทืบเท้า ทำลายข้าวของ และโมโหง่าย วิธีการแก้ไขคือ ‘การปล่อยเด็กคืนสู่ธรรมชาติ’ หาที่โล่งให้เขาได้วิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย กลิ้ง มุด อย่างเต็มที่ ถ้าที่บ้านไม่มี ให้เขาได้ไปว่ายน้ำ หรือจะเติมน้ำใส่กะละมังให้ลูกเล่นในห้องน้ำก็ได้ หรือเล่นทรายที่สนามเด็กเล่น ถ้าไม่มีสนามใกล้เคียง เราจะซื้อทรายมากองไว้หน้าบ้าน ก็ทำได้เช่นกัน
ชวนลูกทำงานบ้านไปกับเราเช่น ถูพื้น ใช้ผ้าผืนเดียวและถูโดยไม่ต้องมีไม้ถู หรือจะรดน้ำต้นไม้ก็ได้เช่นกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้เวลาร่วมกันและโอกาสในการมองเห็นคุณค่าภายในตนเองของลูก
วิธีที่ 4 ผู้ใหญ่มีหน้าที่ช้าลงและเผื่อเวลาให้กับเด็ก
การที่เด็กใจร้อน ไม่ได้แปลว่า ผู้ใหญ่ต้องตอบสนองเขาทันทีทันใด เราต้องช้าลง ให้เขารอบ้าง ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่รอนานเกินความสามารถของเด็กวัยนี้ นั่นคือ รอเกิน 7-10 นาที
เด็กอยากช่วยเหลือตัวเอง แต่เขาเพิ่งเริ่มหัดทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เขาจึงทำได้ช้าและอาจจะทำไม่ได้สมบูรณ์แบบ ผู้ใหญ่มีหน้าที่เผื่อเวลาให้เขา หากเด็กทำไม่ได้ หรือขอความช่วยเหลือ เราค่อยเข้าไปพาเขาทำ
สำคัญที่สุด ‘อย่าประเมินเด็กที่ผลลัพธ์ที่เขาทำออกมา’ ให้ชื่นชมที่ ‘ความพยายามและความตั้งใจที่จะทำมันด้วยตนเอง หรือ ‘ความกล้าหาญที่เขากล้าที่จะเริ่มทำด้วยตนเอง’
เคล็ดลับ ‘กฎ 5 นาที’ ให้เผื่อเวลา 5 นาที
ให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองก่อนเราจะเข้าไปช่วย
ให้ลูกได้เตรียมใจก่อนเก็บของเล่น หรือ ยุติกิจกรรม
ให้ลูกได้สงบก่อนที่เราจะพูดสอนอะไร
วิธีที่ 5 สอนการสื่อสารบอกความต้องการ ขอความช่วยเหลือ และปฏิเสธอย่างเหมาะสม
เด็กวัยนี้มีแนวโน้มจะตอบสนองสิ่งต่างๆ ด้วยร่างกายก่อนการสื่อสารด้วยคำพูด เพราะภาษาของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้หากต้องพูดออกมา อาจจะช้าและไม่ทันใจเขา จึงพบว่าเด็กวัย 2 ขวบ เวลาเขาอยากได้อะไร เขาจะหยิบจากมือเราทันที หรือวิ่งปรู๊ดเข้าไปหาสิ่งนั้นทันที ผู้ใหญ่ต้องไม่กระพริบตาหรือปล่อยเด็กวัยนี้ไว้ลำพัง
การสื่อสารจึงสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้มากๆ หากสื่อสารได้มากก็ยิ่งลดความคับข้องใจลงได้มาก พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องกรี๊ด กัด ตี และอื่นๆ ก็จะลดลงเช่นกัน
การสื่อสารแรกที่ควรสอนคือ ‘การบอกความต้องการ’ และ ‘ขอความช่วยเหลือ’
ลูกอยากได้อะไร อยากให้ช่วยอะไร ให้เขาสื่อสารออกมาก่อน พ่อแม่ต้องไม่รู้ใจลูกและทำให้ลูกทันที รอเขาก่อน หากเขาไม่สื่อสารออกมาให้เราถามและสอนเขาพูด เช่น ลูกอยากกินขนม เขาพยายามแย่งขนมจากมือเรา
ในเด็กที่พูดได้แล้ว ให้เราสอนลูกว่า “ขอกินหน่อยค่ะ”
ในเด็กที่ยังไม่อยู่ในวัยที่พูดได้ ให้เราสอนเขาทำท่าแบมือสองมือ และให้เราพูดพร้อมกับที่ลูก ทำท่านั้นว่า “ขอ…”
ลูกอยากให้ช่วยเปิดถุงขนมให้
ในเด็กที่พูดได้แล้ว ให้เราสอนลูกว่า “เปิดให้หน่อยค่ะ”
ในเด็กที่ยังไม่อยู่ในวัยที่พูดได้ ให้เราสอนเขามองตาเราก่อน และให้เราพูดกับลูกว่า “ให้ แม่เปิด” แล้วเราค่อยเปิดให้เขา แม้เด็กจะยังไม่พูดแต่เขาจดจำและเชื่อมโยงคำพูดของพ่อแม่กับสถานการณ์ต่างๆ ได้ เมื่อเขาพูด เขาจะสามารถนำคำพูดนั้นมาใช้งานได้
สำหรับด้านภาษา เด็กวัย 2 ปี กำลังเรียนรู้คลังคำศัพท์ใหม่ๆ หากอยากให้เขารู้จักคำศัพท์ ใหม่ๆ และเรียนรู้การสื่อสารอย่างเหมาะสม ‘ผู้ใหญ่ต้องไม่รู้ใจเด็ก’ เพราะเราจะทำให้เขา ก่อนที่เด็กจะได้สื่อสารออกมาเสียด้วยซ้ำ
สอนคำใหม่ให้เด็ก ก่อนยื่นของให้เขา ให้ผู้ใหญ่พูดชื่อของสิ่งของนั้นชัดๆ 3 ครั้ง
ครั้งแรกที่พูดชื่อ เด็กจะได้ยินชื่อนั้น (รับรู้)
ครั้งที่สองที่พูดชื่อ เด็กจะได้มองปากเราขยับ (เรียนรู้การออกเสียง)
ครั้งที่สามที่พูดชื่อ เด็กจะได้เชื่อมโยงคำนั้นกับของชิ้นนั้น (เข้าใจความหมายของคำ)
การสื่อสารที่สองที่ควรสอนคือ ‘การบอกปฏิเสธ’
เวลาเด็กๆ ไม่ชอบหรือไม่อยากได้อะไร การปฏิเสธของเขามักจะแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมมากกว่าการสื่อสารผ่านคำพูด เช่น ผลัก ตี กรี๊ด สะบัด ร้องไห้
ดังนั้นหากพ่อแม่รับรู้ว่าลูกต้องการปฏิเสธสิ่งนั้นให้เราสอนเขาสื่อสารอย่างเหมาะสม เช่น เด็กกินอิ่มแล้ว ไม่อยากกินต่อ
ในเด็กที่พูดแล้วให้เราสอนลูกว่า “พอแล้วค่ะ” “อิ่มแล้วค่ะ”
ในเด็กที่ยังไม่พูด ให้เราสอนเขาใช้ท่าทางสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นส่ายหัว หรือ ปัดมือ เพื่อให้เด็ก ใช้ท่าทางสื่อสารแทนการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม
วิธีที่ 6 รับมือกับการอาละวาดด้วยความสงบและมั่นคง
เนื่องจากภาษายังไม่พัฒนาเต็มที่ สมองส่วนของเหตุและผลจึงยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เช่นกัน เด็กวัยนี้ใช้สมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณในการตอบสนองเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘การอาละวาด (Temper tantrum)’ เป็นของคู่กันของเด็กวัยนี้
ดังนั้นเวลาไม่พอใจ เขาจะแสดงออกชัดเจนด้วยการร้องไห้ กรี๊ด หรือใช้ร่างกายที่แข็งแรงของเขาต้านเราเต็มเเรง ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องสู้หรือพูดอะไรมากมาย ณ ตอนที่เด็กอาละวาด
แนวทางการรับมือกับการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก
ขั้นที่ 1 เข้าไปถึงตัวเด็กเวลาต้องการห้ามเขาทำอะไร ย่อตัวลง ให้ตาสบตา ใช้มือจับมือเขา แล้วบอกสั้นๆ ว่า “ไม่ทำ”
ขั้นที่ 2 ถ้าเด็กไม่หยุดทำและเริ่มอาละวาด ให้พาเขาไปหาที่สงบและปลอดภัย บอกเด็กสั้นๆ ว่า “ถ้าหนูสงบ/พร้อม แม่จะอยู่ตรงนี้พร้อมคุยกับหนู” ระหว่างที่เด็กร้องไห้ อาละวาด หากเขายอมให้เรากอด เราสามารถกอดเขาได้ แต่ถ้าเด็กดิ้น อาละวาด ให้เรานั่งลงข้างๆ ในระดับเดียวกับเขา ดูแลไม่ให้เขาหัวโขก
ขั้นที่ 3 ผู้ใหญ่รอและรออย่างอดทน จนกว่าเขาจะสงบ ขั้นตอนนี้อาจจะยาวนานมาก หากเพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก หากเด็กไม่มีท่าทีว่าจะสงบลงได้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่สามารถพาเขาไปล้างหน้า หรือเปลี่ยนสถานที่ เพื่อให้เขาไม่จมอยู่กับอารมณ์ตรงนั้นนานจนเกินไป
ขั้นที่ 4 เมื่อเด็กพร้อมฟัง แม้จะยังมีสะอึกสะอื้นบ้าง แต่เขาไม่มีท่าทีที่ขัดขืนเราแล้ว นั่นก็เพียงพอต่อการพูดคุยกัน เราย้ำเตือนว่าสิ่งที่ลูกทำไม่เหมาะสมเพราะอะไร และทางเลือกที่ดีกว่าคืออะไร เช่น
“ลูกอยากกินขนม แต่เราต้องกินข้าวก่อน กินข้าวหมดลูกถึงจะกินขนมได้” เราถาม ย้ำลูกกลับไปได้ว่า “เรากินขนมได้เมื่อไหร่นะ” เพราะจะช่วยให้ลูกรู้ว่าเขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการเมื่อใด
ขั้นที่ 5 สอนเสร็จ ถ้าเด็กทำไม่เหมาะสม สอนเขาพูด “ขอโทษ” กับคนที่เขาทำไม่เหมาะสมด้วย ถ้าเด็กไม่ยอมทำเราพูดไปพร้อมเขาและจับมือเขาทำได้ “ขอโทษค่ะ/ครับ ที่หนูทำ” เช่น ถ้าเขา ตีแม่ ให้คุณแม่จับมือน้อง แล้วพูดว่า “ขอโทษค่ะ ที่หนูตีคุณแม่” เด็กจะได้รับรู้ว่า เขาขอโทษ เรื่องอะไร ไม่ใช่ใช้การพูดขอโทษเพื่อให้หลุดออกมาจากสถานการณ์เท่านั้น
ขั้นที่ 6 สุดท้าย ควรจบด้วยการกอดและความเข้าใจ ทุกครั้งที่ลูกอาละวาด เป็นโอกาสดีเสมอ ที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่รักเขาและยอมรับเขาไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กไม่น่ารักในวันนี้ สายสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นทุกครั้ง ถ้าจบเช่นนี้ หัวใจสำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องไม่กลัวเมื่อเด็กอาละวาด เพราะเด็กรับรู้ได้ในสีหน้าท่าทางความไม่มั่นใจของเรา ดังนั้นให้ยอมรับว่าการอาละวาด การร้องไห้ และการต่อต้านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของเด็กวัยนี้ เราไม่ต้องตกใจ รับมือด้วยความสงบ อะไรได้ไม่ได้ เรามั่นคงตามนั้น เชื่อว่า ‘ผู้ใหญ่รอเด็กสงบได้ เพราะเรามีความอดทนมากกว่าเด็ก จริงไหม?’
สุดท้าย การเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเอง และทำสิ่งต่างๆ ที่เขาทำได้ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เด็ก ๆ จะเกิดเป็นความชำนาญในทักษะดังกล่าว ในขณะเดียวกันพวกความมั่นใจในตัวของเขาก็ ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับทักษะที่เกิดขึ้นด้วยทักษะพื้นฐาน ผนวกกับการรับรู้ถึงศักยภาพภายในตัวเอง สามารถแผ่ขยายไปสู่การเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไป