- คุยกับ แคลร์ จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับซีรีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ ที่ใช้ภาพยนตร์มาเป็นสื่อ ถ่ายทอดอีกมุมมองหนึ่งต่อความเป็น”ครอบครัว”
- แคลร์โตมากับการดูหนังและละคร เธอเชื่อว่าแมสเสจในหนังทำให้เห็นโลกของบ้านหลังอื่นๆ รวมทั้งทำให้แคลร์ในวัยมัธยมสามารถรับมือกับสถานการณ์ในบ้านของตัวเองได้ วันนี้เธอจึงอยากส่งต่อแมสเสจความหลากหลายของรูปแบบครอบครัวผ่านหนังและซีรีส์ เพื่อสื่อสารกับทุกคนว่า พ่อ แม่ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ผิดพลาดได้ มีความรักใหม่ได้ และเรายังเป็นครอบครัวเดียวกันได้แม้ในวันที่พ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแล้ว
- “กับแม่มุก เราตั้งใจให้เขาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความรักได้ อกหักได้ เห็นแก่ตัวได้ ตัดสินใจผิดพลาดได้ เราอยากเห็นตัวละครแม่แบบนี้บ้างในสื่อไทย เพราะหวังว่าแม่บางคนที่ดูเรื่องนี้อยู่จะรู้สึกว่าชีวิตเขามันไม่ได้หนักหนา มันโอเค เขามีเพื่อนนะ”
- คอลัมน์ Dear Parents รอบนี้อยากชวนผู้ปกครองทุกท่าน นั่งดูซีรีส์เรื่องนี้ไปพร้อมกับลูกๆ วัยรุ่น และชวนสร้างบทสนทนาเพื่อหาความหมายของความเป็นครอบครัว ในพื้นที่ที่เราต่างนึกถึงความสุขของลูก แล้วอะไรคือสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆ
มีคำกล่าวว่า “ลูกคือโซ่ทอง คล้องใจของพ่อกับแม่” แต่ในวันที่ใจของพ่อกับแม่ไม่ได้อยากอยู่ใกล้กันอย่างที่เคย โซ่ทองกลับกลายเป็นโซ่ล่ามสองหัวใจที่อยากแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต การเลือกที่จะปลดโซ่หรือก้าวออกจากความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องเปราะบางและท้าทาย
หนึ่งในเหตุผลที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อพ่อแม่พยายามประคองความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยรอยร้าวคือ ”เพื่อลูก” แต่ในวันที่หัวใจของผู้ปกครองเองก็บอบช้ำ เราจะซุกซ่อนรอยร้าวนี้เพื่อไม่ให้มันบาดหัวใจลูกได้จริงหรือ และหากวันนี้เราต่างทำ “เพื่อลูก” อะไรคือสิ่งที่ลูกอยากบอก
ชวนคุยกับ แคลร์ จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับและเป็นหัวหน้าทีมเขียนบท ซีรีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ จากค่าย GTH นำแสดงโดย สาวๆ ไอดอล BNK48
ซีรีส์ที่หยิบยื่นนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในละครไทย ซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวความรักครั้งใหม่ ของบ้านแม่มุก (แสดงโดย แหม่ม – แคทลียา) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่กับลูกสาววัยรุ่นห้าคน กับ บ้านพ่อตั้ม (แสดงโดย ดู๋ – สัญญา) คุณพ่อหม้ายลูกสอง โดยมีโจทย์คือการสร้างครอบครัวใหม่ที่ไม่ทำร้ายใจลูกๆ ของทั้งสองบ้าน
ทีเเรกเราเองก็คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นแค่ซีรีส์วัยรุ่นทั่วไปอีกเรื่องหนึ่ง และหากวันนั้นเพื่อนไม่ชวนให้นั่งดูด้วยกัน เราคงกดข้ามเรื่องนี้ไป
และคงเป็นฉากคุณพ่อนั่งเป่าผมให้ลูกสาว พร้อมพูดว่า “ลูกจำกฏของบ้านเราได้ไหม ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเราจะไม่โกหกกัน เราจะพูดความจริงเสมอ” ที่ทำให้เราตามดูซีรีส์เรื่องนี้ต่อ
เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าการพูดความจริงคือทางออกของทุกปัญหา แต่ในพื้นที่ของครอบครัว ที่ที่ทุกคนรักกัน “ฉันคิดถึงความสุขของเธอก่อน*” นั้นก็จริงเสมอเช่นกัน การโกหกสีขาวจึงถูกหยิบมาใช้บ่อยครั้งกว่าจนเกิดข้อขัดแย้ง (conflict) จากการที่ทุกคนรักและหวังดีต่อกัน
และหากความจริงในครอบครัววันนี้คือ “พ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแล้ว” หรือ “แม่มีความรักครั้งใหม่” เราควรจัดการกับความจริงแบบไหน จะประคับประคองแก้วที่ร้าวนี้ต่อไปอย่างไรให้ไม่บาดหัวใจลูก พ่อแม่จะเริ่มต้นกับความรักครั้งใหม่ได้ไหม แล้วทุกคนจะมีความสุขไปพร้อมกันได้อย่างไร คือเรื่องที่แคลร์อยากสื่อสารผ่านซีรีส์เรื่องนี้
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำซีรีส์เรื่องนี้
คนชอบคิดว่าการดูละครก็แค่เพื่อความบันเทิง แต่เราเชื่อจริงๆ ว่ามันมีอะไรบางอย่าง มีข้อมูลบางอย่างที่ละครส่งมาแล้วมันฝังอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น กรณีข่มขืนแล้วรักกัน เราดูสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก ดูซ้ำๆ จนบางทีบางคนเขาอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่โอเค เราเลยไม่อยากทำอะไรที่สร้างค่านิยมที่ผิดให้กับคนดู สิ่งนี้คือสิ่งที่เราตระหนักอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน เราอยากสร้างความคิดที่ดีให้คนดูเขาได้ซึมซับกับเรื่องนี้ไป ให้มันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขาได้เห็น
อย่างเรื่องนี้เราพูดถึงครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบตามค่านิยม ‘พ่อแม่ลูกแล้วทุกคนแฮปปี้’ เรื่องนี้คือครอบครัวที่แตกกัน เขาผ่านการหย่าร้าง ผ่านปัญหามาแล้วเขาพยายามที่จะ move on จนเกิดครอบครัวแบบใหม่ เป็นโมเดิร์นแฟมิลี
สมัยนี้อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น น่าจะมีเด็กหรือคุณพ่อคุณแม่ที่มีประสบการณ์แบบนี้เยอะ เลยอยากพูดถึงครอบครัวแบบนี้บ้าง อยากให้คนที่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาดูแล้วรู้สึกว่าเขามีเพื่อนที่เข้าใจสิ่งนี้นะ แล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไรที่คุณจะไม่ประสบความสำเร็จในความรักหรือว่าครอบครัวแตกแยก มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย มันเป็นความจริงของมนุษย์ที่เราต้องรับผิดชอบกับมันแล้วใช้ชีวิตกันต่อไป
แล้วเนื้อเรื่องนี้เกี่ยวกับครอบครัวของแคลร์บ้างไหม
เรื่องนี้มันมาจากแม่เราเยอะเหมือนกัน พ่อแม่เราแยกทางกันสมัยมัธยม ซึ่งเรารู้สึกว่าแม่เองก็ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น พยายามปิดบัง มีความยื้อเพื่อคงอยู่ในความสัมพันธ์นี้ ขณะที่เราในฐานะลูกกลับรู้สึกว่ามันโอเคถ้าคุณจะแยกทางกัน ถ้าคุณไม่รักกันแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องอยู่เพื่อลูก เพราะยิ่งอยู่ต่อไปเราก็ยิ่งต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่มันไม่ดี แล้วคำว่าครอบครัวในหัวเรามันจะยิ่งไม่ดี
สถานการณ์ในตอนนั้นเป็นยังไง ส่งผลต่อตัวเเคลร์ยังไงบ้าง
ตอนนั้นเราค่อนข้างเครียด เพราะเราอยู่บ้านเดียวกัน แล้วพอพ่อแม่เขาเจอกันก็จะมีเรื่องทะเลาะกันตลอดเวลา พอเจอสภาพแวดล้อมที่มีการทะเลาะตลอดเวลามันเครียด ทำให้เราเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข
มันไม่มีการคุยกันตรงๆ ฝั่งพ่อเขาไม่ได้พูดอะไร ฝั่งแม่จะพูดบ้างแต่มันเป็นอารมณ์เพราะเหมือนเขาเป็นฝั่งที่โดนกระทำ ก็จะพูดว่าร้ายพ่อให้ฟัง แต่เราไม่ได้เกลียดพ่อเลยนะ รู้สึกว่าเราโตพอและเข้าใจ ไม่ได้โกรธที่เขานอกใจแม่ แต่เราโกรธที่เขาทำให้ครอบครัวมีปัญหา เราแค่ไม่ชอบที่เขาทำให้บ้านมันเครียด ถ้าเขามีคนอื่น แล้วทำให้เราเข้าใจได้ หรือไม่มาทะเลาะต่อหน้าเรา เราก็จะรู้สึกโอเคนะ
เลยคิดว่าทางออกมันคือต้อง”สื่อสารกัน” ทั้ง พ่อ แม่ ลูก ใช้อารมณ์ให้น้อยลง ซึ่งเราเข้าใจนะว่าเรื่องแบบนี้มันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เรื่องความรักชายหญิง แต่คิดว่าต้องพยายามแยก คุณมีสิทธิ์ที่จะรู้สึก แต่พอมีลูกเข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้พยายามเอาตัวเองออกมามองสถานการณ์และใช้เหตุผลแก้ปัญหา
อย่างบ้านเรา เขาอาจจะมองว่าเราจะไม่เข้าใจรึเปล่า เราอาจจะเด็กเกินไปรึเปล่า แต่เราเข้าใจนะตอนนั้น ถ้ามันมีการคุยกันให้เข้าใจว่าสถาณการณ์ตอนนี้คืออะไร ไม่พ่นความเกลียดชังให้กัน มันอาจจะดีกว่านี้
คิดว่าอะไรที่ทำให้เขาไม่กล้าตัดสินใจจบ
เรารู้สึกว่าแม่ในยุคหนึ่งมีความเชื่อว่าเขาต้องเป็นแม่และเมียที่ดี การที่ชีวิตครอบครัวล้มเหลวเป็นเรื่องผิดต่อการเป็นผู้หญิงคนหนึ่งมาก อย่างแม่เราเขาไม่อยากให้บอกใครเลยว่าพ่อไม่อยู่แล้ว เพราะเขาอายที่จะยอมรับว่าเขาเป็นคนล้มเหลวในชีวิตคู่ โดยเฉพาะผู้หญิง ก็ไม่อยากถูกมองว่าสามีไปมีผู้หญิงคนอื่น
ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่เลย เราอยากให้เขาเปลี่ยนความคิดและเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์ที่จะ move on ไปมีใครใหม่ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
ความเชื่อเรื่องพ่อแม่แยกทางเท่ากับครอบครัวล้มเหลว มันอยู่มานานในสังคมไทย อีกปัจจัยคือครอบครัวดารา ซึ่งมีอิทธิพลหนักมาก โดยเฉพาะสื่อที่ชอบไปเล่นเรื่องบ้านเล็กบ้านใหญ่ หรือเวลาดาราเลิกกันแล้วแยกย้ายไปมีคนใหม่ สื่อทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ มันเลยยิ่งตอกย้ำภาพเลิกกันคือล้มเหลวให้เเข็งแรง ทั้งที่การเลิกกัน การเริ่มใหม่ มันเป็นเรื่องปกติ เราเลยยิ่งอยากสื่อสารเรื่องนี้ผ่านสื่อ
เรามักได้ยินเหตุผลที่หลายครอบครัวพยายามประคองสถานะการอยู่ด้วยกันเพื่อรักษาครอบครัว “เพื่อลูก” ในมุมลูกคุณมีความเห็นอย่างไร
เราคิดว่าคำว่าเพื่อลูกของแต่ละครอบครัว ของแต่ละคนต่างกัน ลูกของแต่ละครอบครัวมีความต้องการไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเรา เราไม่อยากอยู่ในบ้านที่มีแต่มวลไม่มีความสุขอะ เวลาคนสองคนไม่รักกัน หรือเขาต้องอยู่ด้วยกันทั้งที่เขาไม่ได้อยากอยู่ด้วยกัน มันรับรู้ได้ มันมีมวลการปฏิบัติหรือการพูดจาที่มันไม่ปกติ ยิ่งพอเราเป็นคนที่อยู่บ้านเดียวกัน ลูกรับรู้ได้อยู่แล้ว แล้วลูกก็รับความรู้สึกนั้นมา
เรารู้สึกว่ามันโอเคถ้าคุณจะแยกทางกัน ถ้าคุณไม่รักกันแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องอยู่เพื่อลูก เพราะยิ่งอยู่ต่อไปเราก็ยิ่งต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่มันไม่ดี แล้วคำว่าครอบครัวในหัวเรามันจะยิ่งไม่ดี
ในฐานะลูก เราอยากเห็นพ่อแม่อยู่ในบ้าน อยากเห็นเขามีความสุขอยู่แล้ว
แต่การอยู่ด้วยกันถ้ามันทำให้เขาไม่มีความสุข เราก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้น เราแค่อยากให้เขาอยู่ตรงไหนก็ได้ที่เขาอยู่แล้วมีความสุข พร้อมเมื่อไหร่ก็มาเจอกัน ถึงพ่อแม่จะเลิกรักกันแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกเป็นครอบครัว
เลยกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ของแม่มุกและพ่อตั้มในซีรีส์ 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ?
กับแม่มุก เราตั้งใจให้เขาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความรักได้ อกหักได้ เห็นแก่ตัวได้ ตัดสินใจผิดพลาดได้ เราอยากเห็นตัวละครแม่แบบนี้บ้างในสื่อไทย เพราะหวังว่าแม่บางคนที่ดูเรื่องนี้อยู่จะรู้สึกว่าชีวิตเขามันไม่ได้หนักหนา มันโอเค เขามีเพื่อนนะ
พอเรามีตัวละครในบ้านแม่มุกที่โกลาหลประมาณหนึ่ง แม่ลูกบ้านนี้เขาผ่านเรื่องราวลำบาก ผ่านอะไรกันมาเยอะมากๆ เราเลยคิดว่าถ้าเขาจะเริ่มต้นใหม่กับใครอีกครั้ง อีกครอบครัวหนึ่งมันต้องไม่ใช่แบบเดียวกัน มันต้องเติมเต็มบางอย่างให้กัน ซึ่งจะเห็นว่าฝั่งบ้านแม่มุกเขาจะไม่ค่อยคุยกัน เราเลยอยากเห็นครอบครัวที่เขาคุยกัน
บ้านพ่อตั้มเลยเป็นบ้านที่คุยกัน เขาเลี้ยงดูกันแบบเพื่อน พ่อไม่ได้วางตัวห่างกับเด็ก มีอะไรเขาคุยกันหมด เรารู้สึกว่ามันเป็นครอบครัวที่ดีจังเลย ในบ้านพ่อตั้มเขาจะมีกฎว่า “ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราจะไม่โกหกกัน เราจะพูดความจริงเสมอ” พอมันเกิดการคุยกัน มันเลยไม่ได้มีปัญหาอะไร หรือถ้ามีปัญหาบ้างก็คุยกัน พอเข้าใจกันก็ก้าวไปต่อได้
บ้านพ่อตั้มคือครอบครัวแบบที่อยากเห็น ?
ใช่ๆ บ้านพ่อตั้มคือภาพครอบครัวที่เราอยากนำเสนอให้สังคมเห็น สิ่งที่เราอยากให้คนดูคือสิ่งที่พ่อตั้มคุยกับลูก
เรื่องที่พ่อตั้มพูดคือเรื่องที่เราอยากให้พ่อแม่คุยกับลูกจริงๆ เป็นตัวละครที่เราอยากให้พ่อแม่เป็นแบบนี้ ให้พ่อแม่เปิดใจคุยกับลูกอย่างเป็นตามธรรมชาติ
ซึ่งมันไม่ได้เป็นความตั้งใจแต่แรกก่อนเขียนบทนะ แต่พอเราเขียนไปมันกลายเป็นว่าเราเรียนรู้ความสัมพันธ์ในแต่ละบ้านไปเอง ตัวละครต่างเรียนรู้ในแบบของกันและกัน เราก็เรียนรู้ไปกับตัวละครด้วย
นอกจากความรักของคู่พ่อแม่แล้ว มันมีความรักของลูกๆ ที่มาเป็น conflict ของเรื่อง ไอเดียนี้มาจากไหน
ส่วนตัวเราชอบดูความรักที่มันผิดที่ผิดทาง ซึ่งไออะไรแบบนี้เรารู้สึกว่ามันจริง เราจะอินกับอะไรแบบนี้มากกว่าหนังที่ความรักมันง่ายๆ เราเลยชอบโมเมนต์อะไรแบบนี้ก็เลยคิดพลอตนี้ขึ้นมา
ความตั้งใจแรกของเราคืออยากทำซีรีส์ที่ตัวละครรักกัน ตัวอย่างเช่น เรื่อง Reply 1988 ซึ่งเป็นซีรีส์เกาหลีเล่าเรื่องครอบครัวที่ทุกคนรักกัน แล้วเราอินมาก ร้องไห้หนักมาก ที่เรื่องต่างๆ เกิดขึ้นเพราะทุกคนรักกันทั้งหมดแล้วทำเพื่อกันและกัน มันเรียล มันไม่ได้น้ำเน่า แล้วความรู้สึกที่เราได้รับมันดีอะ เหมือนเราดูอะไรที่มันโหดร้ายมาเยอะ พอมาดูอะไรแบบนี้เเล้วจิตใจเราพองโต แต่พอหันกลับมาดูละครไทยแล้วมันไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาส เราอยากทำอะไรแบบนี้ แล้วพอโอกาสมันเข้ามาพอดี เราเลยอยากไปทางละครที่ดูแล้วจิตใจพองโตบ้าง เลยอยากทำซีรีส์ครอบครัวที่ไม่มีตัวร้าย แต่ว่าทุกคนรักกันมากๆ เนี่ยแหละมันเลยเกิด conflict เล่าบนพื้นฐานความจริง การดีลกับความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือจากเพื่อนอะไรแบบนี้
อยากให้คนดูคอนเนคกับสิ่งนี้ได้จริงๆ อยากให้คนดูเจอ energy ของความรักกัน ไม่ต้องร้ายใส่กันอะ ความรู้สึกที่ตัวละครรักกัน เผื่อดูแล้วจะรู้สึกรักคนรอบข้างมากขึ้น
แต่ว่าความรักกันมากๆ เนี่ย มันก็เจ็บปวดมากด้วยนะ แล้วทางออกของมันคืออะไร
มันเจ็บปวดแต่มันสวยงามป่ะ มันแค่ต้องคุยกัน สุดท้ายแล้วทุกคนรักกันมากแหละ แต่ต่างคนต่างมีช้อยส์ที่ตัวเองอยากจะทำหรืออยากใช้ชีวิต บางที สิ่งที่เขาอยากเลือกอาจจะดูผิด แต่มันไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี มันเลยต้องเกิดการคุยกันโดยเฉพาะในครอบครัว บางครั้งเรามีอะไรเราไม่ค่อยคุยกันในบ้าน แล้วก็เกิดการผิดใจกัน จริงๆ แค่คุยกันก็จะเข้าใจกันมากขึ้นและทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นมากขึ้นด้วย
แล้วถ้า conflict มันไปถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่าง ประคองหัวใจตัวเอง กับ ประคองหัวใจคนที่เรารักล่ะ
เราว่ามันต้องหาบาลานซ์ มันอยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วยังอยากอยู่ด้วยกันไหม ถ้าภาพสุดท้ายยังอยากอยู่ด้วยกัน เราเชื่อว่ามันมีวิธีแก้ปัญหาเยอะแยะมาก ครอบครัวมันคือการ compromise ต้องคุยกัน มาหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้าสุดท้ายต้องเลือกจริงๆ เราเชื่อว่าต้องเอาตัวเองเป็นหลัก เพราะสุดท้ายคนที่ต้องอยู่กับตัวเรามากสุดคือตัวเราเอง
คุณคิดว่าหนังหรือละครส่งสารไปถึงคนดูได้มากแค่ไหน
สมัยก่อนเราไม่มีโซเชียลมีเดียให้ไปรู้ชีวิตคนอื่นได้มากเท่านี้ เลยมีละครทีวีนี่แหละที่ทำให้เราได้เห็นโลกภายนอก มันเลยเป็นสื่อที่ส่งผลต่อความคิดของเรา เป็นสิ่งที่เราเสพแล้วทำให้เราเห็นว่าที่บ้านอื่น ในโลกเขามีชุดความคิดแบบนี้
อย่างเช่น ในตอนเด็กที่พ่อแม่เราเลิกกัน คิดว่าวันนั้นความเข้าใจของเรามันเกิดเพราะเราดูหนังต่างประเทศ มันเลยเห็นความหลากหลายในความหมายของครอบครัวตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเราเห็นตัวอย่างจากในหนังในซีรีส์มาแล้ว พอมาเจอเรื่องจริงเลยนึกออกว่ามันเป็นแบบนี้
ส่วนปัจจุบันวัยรุ่นไทยเขามีทางเลือกมากขึ้นที่จะเสพสื่อ แล้วสื่อไทยมันยังค่อนข้างจำกัด มันเลยทำให้ละครดูมีความน่าเชื่อถือน้อยลง บวกกับมีคอนเทนท์ให้ได้เลือกมากขึ้น ละครมันเริ่มมีผลน้อยลงกว่าแต่ก่อน
อย่างงานเราด้วยช่องทางออนไลน์ อาจจะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ได้ยากขึ้น เพราะเขาไม่รู้จักแพลตฟอร์ม หรือภาพของ BNK48 ที่ดูวัยรุ่น แต่พอฉายออกไป ได้รับรีวิวที่ดี มันก็เกิดการบอกปากต่อปากนะ ซึ่งถ้าได้ฉายทีวีแต่แรกก็อาจจะเข้าถึงแมสได้มากขึ้น แต่ก็จะมีข้อจำกัดที่ต่างกัน เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของวิธีสร้างคอนเทนท์ละครด้วย ละครออกแบบมาให้ดูไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วยได้ เปิดทีวีไปรีดผ้าไป เนื้อหากลับมาแล้วต่อติด คนทำต้องออกแบบคอนเทนท์ที่คนได้ยิน ซึ่งต่างจากหนังหรือซีรีส์ที่เน้นงานภาพหรือใส่สัญลักษณ์ลงไปได้มากกว่า แต่มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนนะ อย่างล่าสุดซีรีส์ฉลาดเกมส์โกง ที่ฉายทีวีช่วงไพรมไทม์ แม่เราก็ติดมาก มันต้องมีตัวอย่างให้คนทำคอนเทนท์ละครเห็นว่าเนื้อหาอื่นๆ มันมีคนดู เพื่อให้เขากล้าที่จะผลิตอะไรที่หลากหลาย ซึ่งตอนนี้ก็คงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว มันคือการเพิ่มตัวเลือกให้คนดูด้วย สร้างคอนเทนท์ที่มันหลากหลายและสร้างสรรค์
ภาพครอบครัวของแคลร์ในวันนี้เป็นแบบไหน
ครอบครัวที่ดีของเราคือครอบครัวที่เราเลือกเอง เรามองเพื่อนเป็นครอบครัวเหมือนกัน เพราะเพื่อนช่วยให้เราผ่านช่วงชีวิตที่หนักหนาหรือเศร้าใจมาได้ มันเลยแล้วแต่ว่าคนจะมองว่าใครเป็นครอบครัวของใคร คุณสามารถเลือกครอบครัวคุณได้ ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ลูกก็ได้ แต่เราต้องยอมรับว่าพ่อแม่ส่งผลต่อลูกจริงๆ
อย่างที่มีคนพูดว่าบางทีพ่อแม่พูดหรือทำอะไรออกไปโดยที่ไม่ทันได้ไตร่ตรอง แต่คำนั้นกลายเป็นคำที่ลูกจำฝังใจไปจนวันตาย มันเลยเป็นความสัมพันธ์ที่ยากและซับซ้อนมาก เราเลยนับถือความเป็นพ่อเป็นแม่ของคนเสมอ มันยากมากนะที่จะเลี้ยงดูคนหนึ่งคนขึ้นมาในขณะที่เขาก็ยังต้องมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งความสัมพันธ์นี้หรือครอบครัวมันพังพินาศ เราไม่อยากให้ไปตำหนิว่าใครพลาด
อยากบอกอะไรกับผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ในวันนี้
อยากให้พ่อแม่เป็นเซฟโซนของลูก ตอนเด็กเรามีความกลัวว่าจะทำอะไรผิดตลอดเวลา เหมือนโตมาด้วยความรู้สึกว่าไม่สามารถพูดอะไรกับพ่อแม่ได้ขนาดนั้น เหมือนฝังหัวไปแล้วว่าพูดแล้วเขาจะโกรธเลยไม่อยากพูด พอโตมาแม่เราพยายามลดความดุและเป็นเพื่อนกับเรามากขึ้น แต่มันยากสำหรับเราแล้ว เพราะเราฝังหัวตั้งแต่เด็กไปแล้วว่าการคุยกันจะสร้างปัญหาตามมา
เลยอยากให้พ่อแม่คุยกับลูกตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่เป็นเซฟโซนของเขาตั้งแต่ประถม
อยากชวนให้ทุกคนมาเปิดใจดูซีรีส์เรื่องนี้ และเปิดใจคุยกันเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ชื่อ “ครอบครัว” เพื่อทุกคน tv.line.me/oneyeartheseries
เพราะทุกคนรักกันนั่นแหละ เรื่องต่างๆ จึงเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าเราจะเสียน้ำตา หรือเจ็บปวดแค่ไหน มันก็คือความเจ็บปวดที่สวยงาม และมั่นใจได้เสมอว่ายังมีคนรักเราอยู่จริงๆ บนโลกใบนี้นะ
*ฉันคิดถึงความสุขของเธอก่อน มาจากเนื้อเพลง มปร. เพลงประกอบซีรีส์
ขอบคุณภาพจาก GDH 559