- วิชาหมวดวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชายาขมของเด็กไทย ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจยากจนไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตจริงเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน
- ดร.โก้ – พงศกร สายเพ็ชร์ เจ้าของเพจ วิทย์พ่อโก้ และเว็บไซต์ witpoko.com เขาสามารถหยิบทุกอย่างรอบตัวมาสร้างเป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่นอกจากจะสนุกแล้วยังพุ่งเป้าไปที่กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย
- “จุดบกพร่อง คือ เราเรียนกันเสร็จแล้วยังเชื่อ ตัดสินใจแบบใช้โชคลาง เชื่ออะไรต่างๆ เชื่อคำพูดของผู้วิเศษหรือ expert โดยที่เราไม่ได้คิดต่อ คือมันก็ค่อนข้างล้มเหลว เราเสียเวลากับการเรียนรู้เยอะมากแล้วมันไม่ค่อยได้ของมีประโยชน์”
แค่เอ่ยถึงวิชาวิทยาศาสตร์หลายคนก็แทบจะเบือนหน้าหนี ยิ่งเป็นฟิสิกส์ด้วยแล้วปฏิกิริยาความงุนงงคงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แต่ที่เรากำลังจะชวนแลกเปลี่ยน คือ ทำอย่างไรให้เด็กเล็กๆ เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีความสุขและได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่สำหรับ ดร.โก้ – พงศกร สายเพ็ชร์ เจ้าของเพจ วิทย์พ่อโก้ และเว็บไซต์ witpoko.com เขาสามารถหยิบทุกอย่างรอบตัวมาสร้างเป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่นอกจากจะสนุกแล้วยังพุ่งเป้าไปที่กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย
ดร.โก้ เริ่มต้นความสนใจด้านฟิสิกส์โดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เรียนชั้นประถมโดยมาในรูปแบบของความเป็นนักประดิษฐ์ นักเล่นและนักรื้อ จนกระทั่งได้เลือกเส้นทางการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ที่ The California Institute of Technology (Caltech) ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วต่อยอดไปถึงระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ แต่กลับไม่ได้ทำงานด้านที่เรียนมา เพราะจับพลัดจับผลูไปทำงานเกี่ยวกับการผลิตซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งมีลูก เขาจึงได้นำความรู้ที่มีกลับมาใช้อีกครั้งในฐานะครูอาสาที่โรงเรียนและเจ้าของเพจ
การมีลูก คือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์สร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ?
ตั้งแต่เรียนจบจนทำงาน ผมไม่ได้ใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์หรืออะไรที่เรียนมาเท่าไร แต่ว่าพอมีลูก เราก็เล่นกับลูกที่อยู่อนุบาล ก็ไปเป็นพ่อแม่อาสาที่โรงเรียน สอนให้เด็กทำของเล่น แล้วพบว่าเด็กชอบมาก เราก็เลยพัฒนากิจกรรมเหล่านี้ ให้เป็นกิจกรรมที่เด็กเข้าใจของเล่น แล้วเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็เข้าใจหลักการธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามปลูกฝังด้านวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ เข้าไป
นี่ก็ทำมาปีที่ 15 แล้ว ผมเน้นกับเด็กตั้งแต่อนุบาล 3 ถึงมัธยมต้น เด็กวัยประถมอะไรอย่างนี้ เขาจะยังมีความสนใจเรียนรู้สิ่งรอบๆ ตัวอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่ไปทำกิจกรรมด้วยเนี่ย จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวที่ไม่ใช่เด็กเร่งเรียน พูดตรงๆ สิ่งที่ผมสอนหรือทำกิจกรรมมันไม่ค่อยมีประโยชน์กับการสอบโดยตรงหรอก เพราะว่าอย่างประเทศไทยจะมีการสอบที่เน้นเนื้อหาอะไรบางอย่าง ซึ่งจริงๆ มันไม่สำคัญเท่าไร แต่เราพยายามทำกิจกรรมปลูกฝังสิ่งที่คิดว่ามันจะดีกับเด็กในระยะยาว ให้รู้ตัวว่าตัวเรามันมีข้อจำกัดอะไรเยอะเหมือนกัน ถูกหลอก หลอกตัวเอง ภาพลวงตาต่างๆ หรือได้ยินเสียงต่างๆ แล้วต้องไปแปรความทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ที่เริ่มมโนในหัวเรา
ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ค่อนข้างมาก?
เด็กสักประถมปลายจนถึงมัธยมต้นเนี่ย เราพยายามปลูกฝังว่า เรามี Cognitive biases อะไรบ้าง เช่น เวลาเราคิดหรือเชื่ออะไรบางอย่างเราจะเห็นเฉพาะข้อมูลที่มาสนับสนุนเราซึ่งมันอันตรายมาก เป็น Confirmation Bias ที่มีมนุษย์ทุกคนเป็น คือมันก็มีประโยชน์แหละ เพียงแต่ว่าในสังคมที่มันเปลี่ยนไป มันถูกวิวัฒนาการเมื่อนานมาแล้ว สภาพแวดล้อมไม่เหมือนตอนนี้ สภาพแวดล้อมตอนนี้มันยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น วิธีคิดแบบนี้มันทำให้เราตัดสินใจผิดอะไรต่างๆ ได้
แล้วก็ฝึกให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ คือ เห็นของอะไรบางอย่าง เห็นปรากฏการณ์อะไรบางสิ่งแล้วเราพยายามเข้าใจมัน ทีนี้ความเข้าใจอะไรทั้งหลาย ความรู้ทั้งหลายที่เกิดขึ้นใหม่ในโลก จากการที่เราไปเดาว่ามันเป็นอย่างไร พยายามอธิบายมันด้วยการเดา แต่ว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์มันได้ผลดีมากๆ เพราะว่า เดาแล้วเราตรวจสอบ เราเช็ก เราพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ว่าข้อมูลนี้มันขัดแย้งกับไอเดียเราอย่างไรหรือเปล่า หรือว่าเราจะออกแบบการทดลองอย่างไรดี
แต่เราจะไปให้เด็กเล็กๆ นั่งคิดเรื่องวิทยาศาสตร์แบบนี้เลยไม่ได้หรอก เราก็เลยหาพวกกล กลมันเป็นแบบจำลองปรากฏการณ์ประหลาดๆ ที่เด็กเห็นปุ๊บแล้วให้เด็กพยายามดูครึ่งแรกก่อนว่าเล่นแบบนี้แล้วมันเกิดได้อย่างไรบ้าง ฝึกว่าพอไปเจอปรากฏการณ์ที่ไม่เข้าใจ พยายามอธิบายว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดได้อย่างไร ก็สังเกต เช็กดูว่าข้อมูลมันขัดแย้งกับไอเดียเราอย่างไร
สำหรับเด็กที่โตขึ้น มีวิธีการแตกต่างกันไหม อย่างไร?
สำหรับเด็กโตขึ้นมาเนี่ยเราก็จะมีพวกของเล่นประเภทต่างๆ มาให้เด็กเล่นสนุกก่อนแล้วค่อยอธิบายว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ทำไมเล่นแบบนี้มันถึงยิงอะไรไปได้ไกลเท่าไร มันขึ้นกับอะไรบ้าง ขึ้นกับความเร็ว ขึ้นกับอะไร พยายามให้เข้าใจว่าธรรมชาติและจักรวาลทั้งหลายมันมีกฎเกณฑ์ เราก็ค่อยๆ เจอมันไปเรื่อยๆ และสะสมมันมา ความรู้ที่ว่าธรรมชาติทำงานอย่างไร มันทำให้ถ้ารู้มากพอก็เอาความรู้เหล่านี้มาสร้างของเล่น และเทคโนโลยีทั้งหลาย แล้วก็พยายามเอาคลิปสิ่งประดิษฐ์การค้นพบใหม่ๆ มาให้เด็กดูเรื่อยๆ พยายามปลูกฝังว่า ความรู้ใหม่ๆ มันถูกสร้างตลอดเวลา
ใช้เครื่องมืออะไรบ้างเพื่อถ่ายทอดฟิสิกส์ให้เด็ก?
มีของเล่น มีกล มีคลิปการทดลอง คลิปสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ทำไปเราก็จดไว้ว่าสัปดาห์นี้เรามีกิจกรรมประมาณนี้ มีลิงก์ที่เกี่ยวข้องอย่างนี้ๆ เราก็โพสต์ขึ้นไปเป็นเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่เข้ามาดูด้วย หรือคุณครูที่สนใจเกิดไอเดียประยุกต์ไปทำกิจกรรม คือมันใช้แทนการเรียนในประเทศเราไม่ได้ แต่มันน่าจะมีประโยชน์ในเชิงทักษะและความคิดของเด็กๆ ที่เขาต้องใช้ชีวิตต่อไป อย่างน้อยจะได้ถูกหลอกยากมากขึ้น เหมือนที่ผมย้ำกับเด็กๆ เวลาดูกลว่า ตกลงเขาเป็นผู้วิเศษหรือเปล่า? เสกนั่นเสกนี้ได้หรือเปล่า? หลังๆ เด็กก็ตอบว่า ไม่ใช่
ความคิดที่ว่าของทุกอย่างมันมีกระบวนการ มีกลไก พอมีใครมาบอกอะไร ก็จะมีคำถามกลับว่าแล้วมันทำงานได้อย่างไร มันเกิดได้อย่างไร เช่น ที่ผมภูมิใจมาก มีเด็กที่เรียนจบไปจากผมแล้วตอนนี้เขาอยู่ ม.2 ก็มีผู้ใหญ่หลายคนบอกว่ารักษาโควิดด้วยน้ำยาวิเศษกินแล้วมันจะหาย คนที่เชื่อฟังแล้วใช้เขาก็บอกว่ามันน่าจะใช้ได้เพราะว่ามีคนมาบอก คล้ายๆ ผู้มีความรู้หรือผู้วิเศษมาบอกว่าทำได้
แล้วเด็กคนนี้เขาก็ถามว่ามันทำงานอย่างไร ไปยุ่งกับไวรัสอย่างไร แล้วพอค้นคว้าเพิ่มเติมไปก็รู้ว่าวิธีสร้างมันมีสารเคมีอะไรบางอย่าง แล้วมันละลายด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ หนึ่งต่อร้อย ทำอย่างนี้หลายรอบมาก เพราะฉะนั้นมันเจือจางจนไม่มีโมเลกุลด้วยซ้ำ ไม่มีโมเลกุล มีแค่น้ำกับแอลกอฮอล์แล้วมันจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ เด็กเข้าใจอย่างนี้ มันไม่ใช่ความรู้เฉพาะอะไรนะ ผมว่าตรงนี้สำคัญ คือเขาพยายามทำความเข้าใจว่า เฮ้ย…ยานี้มันทำงานอย่างไร แล้วพอรู้เองมันก็สามารถป้องกันตนเองได้จากการเข้าใจผิดหรือถูกหลอก
พูดถึงเรื่องการศึกษาแบบไทยๆ เห็นจุดบกพร่องอะไรตรงนั้นบ้าง?
จุดบกพร่องคือ เราเรียนกันเสร็จแล้วยังเชื่อ ตัดสินใจแบบใช้โชคลาง เชื่ออะไรต่างๆ เชื่อคำพูดของผู้วิเศษหรือ expert โดยที่เราไม่ได้คิดต่อ คือมันก็ค่อนข้างล้มเหลว เราเสียเวลากับการเรียนรู้เยอะมากแล้วมันไม่ค่อยได้ของมีประโยชน์ อย่างแรกการเข้าใจสิ่งรอบตัวก็ไม่เยอะเท่าไร พอความรู้ไม่เยอะ ไม่ตรงกับความจริงมันก็สร้างความรู้ต่อยาก สร้างเทคโนโลยีต่อยาก เราก็เลยกลายเป็นใช้ชีวิตแบบอยู่ในเมฆหมอก แล้วเดี๋ยวก็เจออะไรบางอย่างมากระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ไม่เข้าท่าได้
จริงๆ เราก็เห็นมานานว่าการศึกษาเรามันมีปัญหา คือเราเรียนเยอะเกินไปมากๆ เนื้อหามันเยอะไป แล้วเนื้อหาที่เยอะๆ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อยู่เยอะ พอไปเจอวิธีเรียนที่ไม่มีกิจกรรมให้มันน่าสนใจ น่าสนุก มันทำให้คนหมดความสนใจในการเรียนรู้หรือพยายามเข้าใจ
หลายๆ วิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันทำให้คนเรียนเกลียดวิชาเหล่านั้น ซึ่งมันแย่มาก จริงๆ เหล่านี้มันเป็นตัวอธิบายว่ากฎเกณฑ์ธรรมชาติรอบตัวมันเป็นอย่างไร ถ้าเรามีความเข้าใจบ้าง มันจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
คนเกลียดวิชาเหล่านี้ไปเลยเพราะมันเรียนอะไรก็ไม่รู้ เรียนเอาไปสอบ ฟิสิกส์กลายเป็นว่าเรียนเพื่อแก้โจทย์เลข หรือเคมีกลายเป็นว่าจำว่า อะตอมมีอิเล็กตรอนเรียงอย่างงี้ๆ เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งของอย่างนี้มันไม่จำเป็นต้องจำแล้วไปสอบแข่งกันไง เราอาจจะถามเรื่องที่มันสร้างสรรค์กว่านี้ เราเรียนเนื้อหาเยอะไป จริงๆ แล้วควรเน้นที่พื้นฐานแน่นๆ เรียนช้าๆ ก็ได้ มีตัวอย่างหลายๆ อัน พอพื้นฐานมันแน่นแล้วไม่ต้องสอนต่อ
อีกอันคือ ให้ใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ อย่างน้อยอ่านหรือฟังได้เบื้องต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไปต่อยอดเองได้ เราไม่จำเป็นต้องอัดความรู้เผื่อเต็มไปหมด เพราะถ้าพื้นฐานไม่ดี เนื้อหาที่อัดๆ ไปมันก็ไม่ได้ไปเชื่อมโยงอะไร แค่จำได้ว่ามันพูดถึงอย่างนี้แต่ไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันอย่างไร
ในต่างประเทศ จำเป็นต้องทำให้เด็กสนุกกับวิทยาศาสตร์ไหม หรือว่าจริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเล่าสนุกก็ได้?
จริงๆ แล้วยกตัวอย่างการศึกษาที่ประเทศอเมริกาเองเขาก็ไม่ได้วิเศษอะไรนะ เขาก็ยังบ่นเรื่องการศึกษาของเขา ตอนจบก็คือเด็กๆ หลายคนก็ไม่ได้หลุดไปจากเรื่องพวกนี้หรอก วิธีการสอนและการสอบก็ไม่ได้ดีอะไรเท่าไรหรอก แต่ว่าเนื่องจากมันไม่สุดโต่งเหมือนประเทศเรา และมันมีอาชีพที่ทำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรงๆ เยอะ มีมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการค้นคว้าเยอะกว่า เลยทำให้คนมีโอกาสหลุดเข้าไปทำงานในด้านนั้นเยอะกว่า
ทีนี้มันต้องสนุกหรือเปล่า เอาเป็นว่ามันมีกิจกรรมน่าสนุกเยอะกว่า ถ้าไปดูในอินเทอร์เน็ต มันมีกิจกรรมทั่วไป คือสิ่งที่ผมทำมันไม่ใช่สิ่งวิเศษหรือแปลกมากอะไรนักหนา มันเป็นสิ่งที่อย่างน้อยครูวิทยาศาสตร์ควรจะทำบ้าง หรือดูในยูทูบมันก็มีตัวอย่างอะไรต่างๆ มีช่องกิจกรรมที่น่าสนใจเยอะ แต่จริงๆ เรียนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ไม่ยาก แต่อย่างแรกมันต้องสนใจ อดทน ต่อสู้กับความยากให้ได้ก่อน
แต่ถ้าเราไม่สนใจก็ทนเรียนให้จบ สอบเสร็จเลิกกัน แล้วได้ความเข้าใจผิดๆ ไปว่าฟิสิกส์มันคือการแก้สมการ ของขยับ วิ่งจากโน่นมาชนนี่ แค่นี้แล้วก็ลืมไป จริงๆ ควรจะรู้ธรรมชาติรอบตัวว่ามันมีอะไรบ้าง เช่น น้ำ มีคุณสมบัติอย่างไร ดำไปในน้ำมีความดันอย่างไร เราอยู่ใต้น้ำแล้วเรารู้สึกอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่าทำไมท้องฟ้ามันเป็นอย่างนี้ ข้างล่างของเมฆมันเรียบแล้วทำไมข้างบนมันฟูๆ ท้องฟ้าทำไมสีฟ้า ใบไม้ส่วนใหญ่ทำไมสีเขียว มันเกี่ยวข้องอะไรกับอุณหภูมิดวงอาทิตย์
แต่วิทยาศาสตร์ของเรากลายเป็นมานั่งคำนวณอะไรบางอย่างแล้วก็มาตอบกัน วิธีให้คะแนนก็แบบว่า คำนวณผิดนิดหนึ่งคือศูนย์เลย มันไม่ได้วัดความเข้าใจ มันวัดว่าทำพลาดหรือเปล่า ซึ่งในชีวิตจริงก็มีการเช็กการอะไร ทำงานเป็นทีม ว่าเออข้อมูลนี้คำตอบมันเชื่อถือได้แค่ไหน กลายเป็นว่าการสอบไม่มีการวัดแบบนี้เลย มันเลยไม่มีประโยชน์
การนำฟิสิกส์มาใช้กับลูก ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง?
ก็โอเคนะ มีความสุขดี ตอนอนุบาลเราก็เอาไปเข้าโรงเรียนแถวๆ นี้ โชคดีที่เป็นโรงเรียนไม่เร่งเรียน เน้นกิจกรรม พอประถมก็อยากหาโรงเรียนที่ไม่เร่งเรียนแบบนี้ แล้วก็ไม่แพง แต่มันไม่มีหาไม่ได้ เราเลยรวมกลุ่มพ่อแม่หลายๆ บ้าน เป็นสิบบ้านเหมือนกัน จัดการศึกษาเอง จบเป็น home school มันเลยอิสระในการที่ว่าจะจัดการศึกษาอย่างไร เด็กๆ ก็มีความสุขดี ตอนนี้ก็อายุ 18, 16 และ 14 แต่ละคนก็มีสิ่งที่เขาสนใจและอยากจะทำ ประดิษฐ์โน่นประดิษฐ์นี่ มีคนชอบวาดรูปมาก ชอบศึกษาวิทยาศาสตร์ ก็ต้องลองดูๆ กันไป แต่เขาก็มีความเข้าใจอะไรที่น่าจะทำให้ชีวิตไม่เลวร้ายนัก ดูมีความสุข ไม่มีความเครียด
ผมเห็นเด็กประเทศเรานี่เครียดมากเลยนะ เรียนไม่เก่งก็เครียดแบบหนึ่ง คนเรียนเก่งก็เครียดไปอีกแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไอ้สิ่งที่เครียดๆ ไปเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเครียด ตอนจบเราก็รู้ว่ามันเป็นเกมที่ไม่สัมพันธ์กันเท่าไร คือชีวิตมันมีสิ่งที่ควรจะทำมากกว่านั้น และเติบโตได้มากกว่านั้น
แล้วลูกๆ รักวิทยาศาสตร์ไหม?
ไม่แน่ใจว่าจะมีใครทำงานด้านวิทยาศาสตร์หรือเปล่า แต่เขาสนใจ Engineering ประดิษฐ์ของอะไรบางอย่าง อีกคนชอบ Biology ก็ไม่แน่ใจว่าอยากเป็นหมอหรือเปล่า เขาก็อ่านวิจัยเหมือนกัน อ่านพวกการค้นพบทางการแพทย์เยอะ พวกทำวัคซีนเขาก็สนใจ เขาเป็นเด็กหญิงไง เขาก็เห็นฮีโร่ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น คนเล็กก็เขียนโปรแกรม วาดรูป เขาอยากเป็นอะไรผมก็ตามใจเขา
ผมสอนเด็กๆ ว่าเราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเราจะทำอะไร ผมเองผมก็ไม่รู้ตอนเด็กๆ สิ่งสำคัญคือมองรอบๆ ตัวว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องการคนแก้ แล้วเราก็ไปแก้มองดูว่ามันเป็นอาชีพได้ไหม บอกให้มองแบบนั้นมากกว่า ไปเรียนให้จบแล้วค่อยหางานทำบางทีมันไม่สนุกเท่าไร คนส่วนใหญ่รวมถึงผมด้วยเรียนมาแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำงานตรงกับที่เรียนมาจริงๆ หรอก ผมยังมองเลยว่า อยากจะทำอะไร แล้วต้องฝึกวิชาอะไรบ้าง ฝึกก็ไม่ต้องไปเข้าเรียนนะ อาจจะเรียนจากคนเก่งๆ ในยูทูบแล้วลองทำเอง มันขาดอะไรก็ไปหาเพิ่ม เราบอกอย่างนี้
สถานการณ์โควิดที่ต้องล็อกดาวน์ ถือเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้มีโอกาสจัดการเรียนรู้ร่วมกับลูกไหม?
มันก็พูดยาก อย่างแรกคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ลูกมากขึ้นแต่เรื่องเวลามันลำบากมาก มันต้องทำงานด้วย เรียนออนไลน์หลายๆ ก็มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น คือบางบ้านมันก็ได้ บางบ้านมันก็ไม่ได้ เป็นรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงมากนะ แต่ผมว่าทำให้มีคนมองว่าเราจัดคลาสการศึกษาเองเลยไหมสำหรับเด็กๆ ซึ่งจริงๆ แล้วผมว่าหลายๆ บ้านมันดีนะ ดีทั้งเด็กแล้วก็พ่อแม่ด้วย ถ้าทำได้แล้วมันมีประโยชน์กว่าผมก็สนับสนุนให้ลองทำดู แต่ถ้าทำแล้วไม่เวิร์กก็ไม่ต้องทำ หาทางอื่น
สำหรับผม ผมเล่นกับเด็กๆ มากกว่า มันมีอะไรที่เราอยากจะปลูกฝังให้ติดตัวเด็กไปบ้างก็หาทางเล่นสนุกกับเขา ผมไม่ได้มีความรู้ทางการเรียนการสอนลึกซึ้งอะไร ผมแค่จัดกิจกรรมให้สนุกสานแล้วก็หวังว่าจะติดตัวเด็กไปบ้าง แล้วก็พยายามบันทึกไว้ว่าเราทำอะไร เผื่อว่าคุณครูหรือคนที่มีความรู้มากกว่าเราจะดูแล้วประยุกต์อะไรได้ไหม หรือเป็นไอเดียให้คุณพ่อคุณแม่ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร
คิดกระบวนการหรือขั้นตอนการเรียนรู้เหล่านี้อย่างไร?
มองรอบตัวว่าเราอยู่กับอะไร รอบตัวในบ้านเรามีอะไรบ้าง ดูในช้อปออนไลน์ว่าของเล่นอะไรน่าสนใจ อะไรที่เราอยากเล่น แล้วเราก็จินตนาการว่าถ้าเด็กเล่นมันจะน่าสนุกหรือเปล่า สมมติเราได้ของเล่นมาชิ้นหนึ่ง ก็เตรียมว่ามันทำงานอย่างโน้นอย่างนี้นะ ถ้าเราจะแทรกกฎเกณฑ์ธรรมชาติต่างๆ จะแทรกเรื่องอะไรบ้าง เช่น กฎอนุรักษ์พลังงาน โมเมนตั้ม เราก็เตรียมเนื้อหาพวกนั้นไว้แล้วเราก็ไปเล่นกัน คุยกัน อธิบาย ให้เห็นว่าสมมติเราจะปรับปรุงของเล่นนี้ให้มันดีขึ้น ลอยนานขึ้น บินตรงขึ้น จะทำอย่างไรดี ก็ทดลอง หรือกลง่ายๆ ผมก็เล่นได้ ถ้ากลที่ต้องใช้ทริกอะไรเยอะหน่อยผมก็หาคลิปในอินเทอร์เน็ตเตรียมดูก่อนว่าการทำงานมันเป็นอย่างไร
ตอนแรกๆ มันจะยาก ดูไปเรื่อยๆ เราจะรู้แล้วเพราะมันมีไม่กี่มุกหรอกที่เขาจะเล่นกล เราก็เตรียมให้เด็กดู เด็ก 20-30 คน แล้วเราก็ถามหนูคิดว่าเขาทำอย่างนี้ได้อย่างไร เราก็พยายามแย้งเขาด้วย ว่าเขาลอยได้อย่างนี้ ทำไมเราไม่เห็นเส้นลวด ขัดแย้งกับไอเดียเขาด้วยเพื่อให้เขาเช็กไอเดียเขาว่าที่คิดมันใช่จริงไหม
คาดหวังกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในรูปแบบนี้มากน้อยแค่ไหน?
ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ ผมมองว่าผมทำอะไรได้บ้าง อาจหวังว่ามันพอจะมีประโยชน์บ้าง มีคนที่เอาไปทำได้ มีผลกับเด็กๆ รอบตัวเขา แต่ถ้าหวังผลใหญ่ๆ เลยไม่ได้มอง แค่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำได้ก็ควรจะทำ
เด็กที่เรียนกับผมเพิ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 กันเอง ส่วนใหญ่ไปทางสถาปนิกกันเสียเยอะเลยนะ คือนอกจากเขารู้ด้านวิทยาศาสตร์เขายังได้เรียนรู้การฝึกจากครูด้านอื่นๆ ทั้งศิลปะ ธรรมชาติ ดูแล้วเด็กมีความสุขเป็นคนที่โอเค เราคาดหวังแค่นั้นเราก็แฮปปี้แล้ว แล้วก็บอกเด็กๆ ว่าให้มองรอบๆ ตัวว่าเราจะทำสิ่งรอบๆ ตัวให้ดีขึ้นได้อย่างไร แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ต้องรออีกสักพักมั้งครับ
อีกอย่างตอนที่เพิ่งกลับจากอเมริกาใหม่ๆ ผมก็ไปสอนที่มหิดล ภาควิชาฟิสิกส์ ก็มีคนที่เรียนด้านนั้นเขาก็มาเป็น Professor เป็นคุณครูในวงการนั้นหลายคน มันอาจจะไม่เกี่ยวกับผมเลยแต่เราก็มีความสุขและภูมิใจว่าลูกศิษย์เราหลายๆ คนทำงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือไปสอนอะไรต่อได้
ไม่สามารถฟันธงได้ว่าสิ่งที่ผมทำมันส่งผลอย่างไรกับแต่ละคน เขาก็กล่าวถึงผมด้วยว่าผมสอนสนุกดี เราก็เออ…ไม่เลวนักในการสอน