- “โรงเรียนที่คุณจะไป จริงๆ แล้วเขาอาจจะมีครูที่ดี แล้วเด็กเหล่านั้นก็โชคดีอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงไม่อยู่โรงเรียนนี้แล้วทำให้เด็กโรงเรียนนี้โชคดีที่มีคุณเป็นครูละ” จุดเปลี่ยนที่ทำให้ครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม์ คิดว่าการเป็นครูไม่เพียงพอ แต่เขาต้องเป็น ‘นักการศึกษาที่ทำงานในโรงเรียน’ ด้วย
- ทดลองจัดห้องเรียนหลายๆ รูปแบบเพื่อตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน จนได้ออกมาเป็น 5 รูปแบบ, ใช้คาบชุมนุมให้เป็นห้องทดลอง ปลดปล่อยความชอบและพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน, ทำ SLC (School as Learning Community) ที่ไปไกลกว่าให้ฟีดแบ็กการสอนของครู แต่ดูไปที่ผลลัพธ์ว่าผู้เรียนได้อะไรบ้าง นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มที่จะชวนครูกุ๊กกั๊กคุยกันในตอนนี้
- “ผมคิดว่าการลองผิดลองถูกระหว่างครูกับเด็กอันนี้สำคัญ ครูหลายๆ คนจะยึดติดความไม่กล้าผิดเอาไว้ ในช่วงแรกผมก็เป็นนะ แต่ถ้าเกิดลองแล้วไม่เวิร์ก สิ่งหนึ่งที่ครูทำได้คือขอโทษเด็ก ขอโทษไปเลย บอกเด็กไปเลยว่าอันนี้ครูพยายามทดลองอยู่ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เดี๋ยวครูสอนใหม่”
“เชื่อไหมครับ เวลาที่เราสอนหน้ากระดานแบบหนึ่ง แต่ลองไปพูดอีกแบบหนึ่งในระยะที่ใกล้กันนะครับ เด็กจะรู้เรื่องแล้วบอกว่า ‘ทำไมครูไม่พูดแบบนั้น’ แล้วผมก็แบบ… ‘กูก็พูดแบบเมื่อกี้ กูแค่มาอยู่ข้างหน้ามึงเฉยๆ’ (หัวเราะ) แสดงว่าระยะห่างระหว่างครูกับเด็ก ยืน นั่ง มีผล อาจจะด้วยปัจจัยความรู้สึกก็ได้ หรือการฟังซ้ำก็อาจจะมีผล ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นระบบนิเวศน์แบบหนึ่ง
“ฉะนั้น ถ้าลองคลี่ห้องเรียนของผมออกมา ผมน่าจะสอนอยู่ประมาณ 5 แบบ คือ 1.แบบบรรยายหน้ากระดาน 2.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนแบบกลุ่ม 3.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนเป็นแบบคู่ 4.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนแบบเดี่ยว และ 5.แบบเรียนด้วยตัวเอง
“เพราะฉะนั้นในหนึ่งห้องเรียนเราก็พยายามจัดบรรยากาศให้นักเรียนได้เรียนผ่านวิธีการเรียนรู้หลายๆ แบบ แล้วเขาก็มีวิธีการรับรู้ที่ต่างกัน อันนี้คือใน 60 – 70% ของเทอม”
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้ม การจัดห้องเรียนแบบ ครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย ประจำวิชาคณิตศาสตร์สุดติสต์แห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม
คำพูดเบื้องต้นดูเหมือนว่าเค้าเป็นคนซีเรียสและจริงจังกับการจัดห้องเรียน… ซึ่งในเวลาสอนของเขาก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่เมื่อการเลคเชอร์จบลง เขาอาจจะหยิบกีตาร์ขึ้นมาเกลาและชวนนักเรียนทำโจทย์เลขไปด้วย ร้องเพลงไปด้วย
ครูกุ๊กกั๊กเป็นครู เป็นนักดนตรี เป็นเนิร์ดทางคณิตศาสตร์ เป็นครูที่ใช้นวัตกรรมคู่การสอน เช่น QR Sheet ที่ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ที่ไหน เข้าหรือไม่เข้าเรียนก็จะยังตามทันสิ่งที่ครูสอน เป็นครูนักทดลองที่พร้อมจะขอโทษนักเรียนเสมอ และ… อื่นๆ ที่หลุดพ้นจากกรอบเกณฑ์การเป็นครูที่เข้มงวดในหมวดคณิตศาสตร์
ชวนอ่านอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ใหญ่ โดยครูสัญญา มครินทร์ ครูสุดเท่แห่งบ้าน… ในรายการ ข้างๆ ครูคูล
คลิกฟังที่นี่
เรื่องเล่าวัยเด็กของครูกั๊ก
ก่อนที่เราจะไปคุยพาร์ทความเป็นครู อยากชวนครูกั๊กช่วยเล่าชีวิตตัวเองนิดหนึ่งครับว่าเส้นทางการเติบโตของเด็กชายกุ๊กกั๊กเป็นยังไง กว่าจะมาเป็นครูกุ๊กกั๊กสุดมันในวันนี้
ถ้าพี่ถามว่าผมเติบโตมายังไง ผมเติบโตมาเพราะว่าผมต้องการที่จะจีบผู้หญิง (หัวเราะ) คือ ทักษะหลายๆ อย่างที่ใช้ในชีวิตทุกวันนี้มาจากการจีบผู้หญิงหมดเลยครับ อย่างแรกเลย ตอนนั้นเล่นวอลเลย์บอล จริงๆ ครอบครัวเราเป็นนักกีฬาด้วย คือทั้งบ้านเล่นวอลเลย์บอล คุณแม่เป็นนักกีฬาเขตมาก่อน ส่วนคุณพ่อเป็นโค้ชราชนาวี พี่สาวก็เป็นนักกีฬาโรงเรียน เราก็เล่นวอลเลย์บอลเป็นตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เรารู้สึกว่า เฮ้ย…การเป็นนักกีฬาโรงเรียนมันเท่ เราก็พยายามเล่นจนเก่ง แต่ผู้หญิงแต่ละคนชอบผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้หญิงทุกคนไม่ได้ชอบนักวอลเลย์บอล บางคนชอบฟุตบอล เราก็เลยไปลองคัดตัวเป็นนักกีฬาฟุตบอล ก็ตกรอบ เพราะว่าเราวิ่งไม่ทัน (หัวเราะ) แล้วตอนนั้นมีความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ วาดรูป จริงๆ เคยวาดรูปจนได้ที่หนึ่งของโรงเรียนเลยนะ แล้วก็รู้สึกว่าตอนนั้นเราน่าจะยึดความเป็นนักวาดรูปเอาไว้จีบสาวได้ แต่ปรากฏว่าเขาก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น
จนไปชอบเพื่อนคนหนึ่ง อยู่วงดุริยางค์โรงเรียน เราก็เอ้อ…ไหนลองเล่นดนตรีสักหน่อยซิ ก็ไปหยิบคีย์บอร์ดของพี่สาวที่บ้านมา แล้วก็ลองแกะเพลง รู้สึกว่าจะเป็นเพลงลาภูพิงค์ ของสุนทราภรณ์ คือวันนั้นเป็นวันที่มหัศจรรย์ตัวเองมาก เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร ฟังแล้วก็แกะ ลองเล่นลงไปบนโน้ตคีย์บอร์ด ปรากฏว่าเล่นได้เลย กดไม่กี่ทีก็ อ๋อ…โน้ตมันประมาณนี้ แล้วก็ไปสมัครเข้าวงดุริยางค์ จนเล่นดนตรีทุกอย่างของวงในโรงเรียนเป็นก็เลยโตมากับดนตรี ส่วนผู้หญิงคนนั้นก็เป็นเหมือนปั๊ปปี้เลิฟ แล้วก็แยกจากกันไป (หัวเราะ)
กลายเป็นว่าตอนประถมได้ทักษะทั้งกีฬา วาดรูป แล้วก็ดนตรี พอโตมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่า อ๋อ… ความเป็นวิชาการมันต้องมี ก็เลยเพิ่งมาตั้งใจเรียนเอาตอนม.ปลาย เพิ่งเรียนคณิตได้ตอนม.4 เองนะ ก่อนหน้านั้นพีพีโกรัสอะไร ทำไม่ได้เลย แล้วก็ใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัย
นิยามความเป็นครูของครูกั๊ก
ต้องขอบคุณผู้หญิงคนนั้นเนอะที่มอบทักษะอะไรหลายอย่างให้คุณมากเลย (หัวเราะ) แล้วพอมาเป็นครู ครูกุ๊กกั๊กนิยามความเป็นครูของตัวเองยังไงบ้างครับ ก่อนหน้านี้เห็นบอกว่าไม่ได้ชอบคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำ
ใช่ครับ ผมนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักการศึกษาที่ทำงานในโรงเรียน’ รู้สึกว่าสำคัญมากที่นิยามตัวเองแบบนี้ ตอนแรกเรานิยามตัวเองว่าเป็นคุณครูคณิต ซึ่งนิยามแบบนี้เราก็ต้องนำเนื้อหาวิชาการคณิตศาสตร์ไปปล่อยให้กับนักเรียน ฉะนั้นภาพในหัวตอนนั้นเหมือนเราแบกเป้เข้าไปในห้อง แล้วก็ อ๊ะ…เรียนสิ บรรยากาศทั้งหมดทั้งมวลมันก็เป็นแบบ Passive Learning เด็กเรียนไป ฉันก็พูดไป แต่พอไปอ่านๆ หรือฟังๆ มาก็มีคนบอกว่า เฮ้ย…เราลองนิยามตัวเองว่าเป็นครูสิ เราอาจจะได้เห็นมิติการทำงานที่มากขึ้น เลยทำให้เราชวนเด็กคุยบ้าง ชีวิตตอนนี้เป็นยังไง เราเป็นยังไง แบ่งปันประสบการณ์ให้กับเด็ก แต่เราก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่
จนได้เป็นข้าราชการ รู้สึกว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เขียนใบลาออกแล้วนะ แล้วก็เขียนใบสมัครโรงเรียนใหม่เสร็จแล้วด้วย มีใบรับรอง Recommended letter จากอาจารย์ที่คณะเรียบร้อยแล้ว แต่ว่ามีอยู่คำถามหนึ่งของอาจารย์ฮูก (อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล) เขาถามว่า “ทำไมถึงอยากไป” ผมคุ้นๆ ว่าตอบอาจารย์ไปว่า เหตุผลที่เราเข้ามาสอนมันไม่ใช่เหตุผลนี้ แต่เรากำลังจะไปด้วยเหตุผลอื่นซึ่งเป็นเหตุผลจากตัวเรา
อาจารย์ฮูกเขาก็บอกว่า “โรงเรียนที่คุณจะไป จริงๆ แล้วเขาอาจจะมีครูที่ดี แล้วเด็กเหล่านั้นก็โชคดีอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงไม่อยู่โรงเรียนนี้แล้วทำให้เด็กโรงเรียนนี้โชคดีที่มีคุณเป็นครู” โอ้โห… จังหวะนั้นคือ เฮ้ย…จริงๆ เราสามารถทำให้ตัวของเรามีคุณค่าและให้เด็กของเรารู้สึกโชคดีได้นะที่มีเราเป็นครู
ผมก็เลยตัดสินใจเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตารามต่อ แล้วก็นิยามตัวเองใหม่เลย เป็นครูไม่พอละ ต้องเป็นนักการศึกษาที่ทำงานในโรงเรียนด้วย หมายความว่า เรื่องใดก็ตามที่เราต้องต่อสู้ ทั้งกับเชิงโครงสร้างของอำนาจและในการซัพพอร์ตนักเรียน การเป็นครูเฉยๆ ผมคิดว่าอาจจะไม่พอ แต่ถ้าเราเป็นนักการศึกษา เราสามารถมีข้อมูลอื่นๆ ที่สู้ได้ และไม่ต้องกลัวว่าเขาจะมาไล่เราออก เราก็เลยนิยามตัวเองแบบนี้ดีกว่า
โอ้โห… แค่นิยามตัวเองเปลี่ยนก็เหมือนเปลี่ยน Mindset ตัวเองเลย ผมจำได้ว่าผมก็นิยามตัวเองช่วงเป็นครูแรกๆ อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่พอเปลี่ยนนิยาม มันจะมีขอบที่เชื่ออีกแบบหนึ่ง แล้วก็กระทำอีกแบบหนึ่งเลย และทราบมาว่าครูกั๊กเองก็มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชอบซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครูกั๊กด้วย คือเล่ม ‘กล้าที่จะถูกเปลี่ยน’ ขยายความมิตินี้ เรื่องนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ
จริงๆ หนังสือเล่มนี้มันมีหลายมิติมากเลย แต่ผมชอบอันหนึ่งมาก เขาบอกว่า ‘คนที่สนใจเรา มีเราคนเดียว’ ถ้าพูดเหมือนไม่ได้คิดอะไรมาก หรือฟังแบบไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก อาจจะรู้สึกว่า ทำไมคนนี้มันเห็นแก่ตัวจังวะ แต่ถ้าลองมองแบบเป็นเนื้อแท้จริงๆ เวลาที่เราต้องการให้ห้องเรียนของเรามีความสุข นักเรียนต้องยิ้มได้ อาจจะฟังเหมือนเราทำเพื่อเด็กใช่ไหมครับ แต่จริงๆ เราทำเพื่อเรา คือเราอยากมีความสุขเพราะเราเห็นเด็กเขายิ้ม ลองวิเคราะห์รวมไปถึงพ่อแม่นะครับ ใครไม่เห็นด้วยไม่เป็นไรนะ แค่อยากนำเสนอมุมมองนี้ เขาบอกว่าเวลาที่เรามีลูก แล้วเราอยากทำเพื่อให้ลูกมีอนาคต จริงๆ แล้วเรากำลังคำนึงถึงความสุขของตัวเรานี่แหละ ว่าเห็นเขาได้ดี แล้วเราก็จะมีความสุข เนี่ย…คนที่สนใจเรา มีเราคนเดียวจริงๆ
รวมถึงเวลาที่เราทะเลาะกับใครหรือว่าอะไรก็ตามแล้วเราเศร้า ถ้าเราจัดการความเศร้านั้นได้ เราก็สุขของเรา คนที่ทำอะไรเราได้ก็คือเราคนเดียว ผมจะพยายามเคลียร์ตัวเองให้ได้ ถ้ารู้สึกว่ามีปัญหากับคนใดคนหนึ่ง จะต้องไปบอกเขาว่าตอนนี้เรามีปัญหาแบบนี้ในใจกับเขานะ รู้สึกว่าการได้พูดออกไปมันเป็นการดีท็อกซ์ตัวเองแบบหนึ่ง รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และอยากชวนคุณครูหลายๆ คนให้ลองทำ จำได้ว่าคราวที่แล้วเราเปิดพื้นที่ให้ครูได้คุยกัน สิ่งที่ครูบอกก็คือ ‘ขอบคุณมากเลย รู้สึกเหมือนได้ระบาย’ แล้วก็ไม่ต้องมีนักจิตวิทยาของเด็กอย่างเดียวนะ มีของครูด้วย รู้สึกว่าครูก็ป่วยเหมือนกัน
มิติการสอนในห้องเรียน 5 รูปแบบของครูกั๊ก
ย้อนกลับมาที่ห้องเรียนครูกั๊กบ้าง ส่วนตัววิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผมชอบนะ แต่พอเจอวิธีการสอนของครู หรือเจอเนื้อหาที่มันหนักๆ เราก็ปฏิเสธมันเลย แต่ที่ผมติดตามคุณจากเฟซบุ๊กหรือรายการ มันเป็นวิชาที่น่าเรียน (หัวเราะ) เอาเพลง เอาเกม เอาการพูดคุย หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ มาใช้ในห้องเรียน อยากให้ครูกั๊กเล่าให้ฟังหน่อยครับ บรรยากาศห้องเรียนเป็นยังไง และสิ่งที่ครูกั๊กทำมันดีกับเราและนักเรียนยังไงบ้าง
ผมเรียกว่าระบบนิเวศน์ของการเรียนคณิตศาสตร์ละกันฮะ เราฮะแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ จริงๆ ก็ไม่ได้เป๊ะ คือ เราจะบรรยายหน้ากระดานประมาณ 30% ผมเชื่อว่าการบรรยายจริงๆ มันสนุกได้ ก็เลยเป็นตัวเองมากๆ เวลาบรรยาย เช่น ผมเป็นคนพูดคำหยาบนะแต่ก็ไม่ได้แปลว่าเวลาที่ผมสอนอยู่จะหยาบตลอดเวลา จังหวะที่เล่นกับเด็กก็มี ‘เฮ้ย…พวกมึงเป็นไงมั่งวะ’ ‘เจ๋งวะ’ ก็คือพูดแบบนี้อยู่แล้ว แต่พอเริ่มสอนจะมีโหมดมาเอง ‘อะ…พอละ เรามาเริ่มเรียนกันดีกว่า ตรงนี้นะครับนักเรียน’ คือมันสวิตช์เองเลย แต่ในบรรยากาศของอารมณ์ยังคงอยู่ เพียงแต่เราเปลี่ยนคำพูดเฉยๆ ซึ่งมันฟังได้ แล้วเด็กก็ไม่ได้รู้สึกว่าครูเป็นไบโพลาร์ (หัวเราะ)
เราต้องยอมรับว่าเด็กที่เรียนหน้ากระดานแล้วรู้เรื่องก็มี ซึ่งหน้ากระดานของผมคือ หน้าจอทีวีหรือจอโปรเจกเตอร์และผมก็เปลี่ยนนิยามการสอนคณิตจากที่ต้องเป็น Chalk and Talk ไปแล้ว ผมใช้พาวเวอร์พอยต์ล้วน 99.99% วันที่เด็กถามแล้วอธิบายด้วยพาวเวอร์พอยต์ไม่ได้ ผมถึงจะหยิบปากกามาเขียน ผมจะใช้พอยน์เตอร์ (Pointer) ในการเดินคุยกับเด็ก ทุกๆ ตัวอักษรหรือทุกๆ แอนิเมชันที่ขึ้นจะเสมือนว่ามีอีกคนหนึ่งช่วยผมเขียนอยู่ สมมติผมพูดว่า X ก็กด X หนึ่งที บวกก็กดบวก คือทำละเอียดขนาดนั้นเพื่อให้เด็กเห็นว่าขั้นตอนทั้งหมดมันมีกระบวนการอย่างไร แล้วพาวเวอร์พอยต์เนี่ยเขียนสวยแน่ๆ และไม่ผิดแน่ๆ ถ้าสอนซ้ำกันมาแล้ว ถึงผิดก็ผิดไม่เยอะ แล้วเราก็จะไม่ลืมว่าสิ่งที่เราอยากจะเน้นเด็กคืออะไร เพราะฉะนั้นผมไม่ได้เข้าไปห้องเรียนคนเดียวละ แต่ผมมีพาวเวอร์พอยต์เป็นตัวช่วยสอน แล้วผมก็สามารถเดินไปหาเด็กได้
หลังจากนั้นเวลาเราให้เด็กทดลองทำแบบฝึกหัด เราก็จะให้อิสระเด็ก อยากทำไรทำ ขอเพลงได้ด้วย ทุกคาบผมจะต้องเป็นดีเจ ‘เอาเพลงไรๆ’ โอ๊ย…แต่ละเพลง
เอากีตาร์มาอย่างนี้เลยหรอ?
ใช่ครับ บางทีก็หยิบกีตาร์มาเล่น อยู่ที่ว่าวันนั้นอารมณ์ผมติสต์ไหม แล้วบอกเด็ก ‘วันนี้ฟังเพลงไปด้วยนะ’ แล้วเราก็ร้องไปกับเขา จังหวะที่ทำแบบฝึกหัดจะเป็นจังหวะที่เด็กที่ชอบเรียนรู้แบบกลุ่ม แบบเดี่ยวและแบบคู่ ซึ่งเค้าก็จะมีเวลาเป็นของตัวเอง
เชื่อไหมครับ เวลาที่เราสอนหน้ากระดานแบบหนึ่ง เด็กยกมือ ‘ครูช่วยสอนอันนี้หน่อย เมื่อกี้หนูฟังไม่เข้าใจ’ แต่ลองไปพูดอีกแบบหนึ่งในระยะที่ใกล้กันนะครับ เด็กจะรู้เรื่องแล้วบอกว่า ‘ทำไมครูไม่พูดแบบนั้น’ แล้วผมก็แบบ… ‘กูก็พูดแบบเมื่อกี้ กูแค่มาอยู่ข้างหน้ามึงเฉยๆ’ (หัวเราะ) แสดงว่าระยะห่างระหว่างครูกับเด็ก ยืน นั่ง มีผล อาจจะด้วยปัจจัยความรู้สึกก็ได้ หรือการฟังซ้ำก็อาจจะมีผล ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นระบบนิเวศน์แบบหนึ่ง
รวมถึงเด็กที่รู้สึกเกรงใจ ไม่กล้าเรียกครู ไม่อยากเป็นภาระครู เขาก็สแกนคิวอาร์โค้ดได้ คือในเอกสารประกอบการเรียนของผมจะมีคิวอาร์โค้ดที่เป็นวิดีโอการสอนของผมเอง ซึ่งมันจะรันตามชีทพอดี ผมก็เลยเรียกว่า ‘คิวอาร์ชีท’ แปลว่าถ้าเด็กไม่มาโรงเรียน แต่เขามีเอกสารนี้ เขาก็จะสามารถสแกนแล้วเรียนที่บ้านได้ จากที่เคยทำวิจัยในชั้นเรียน เด็กที่ดูวิดีโอซ้ำๆ คือชัวร์แล้วว่าเรียนรู้เรื่องแน่ๆ ซึ่งทำมา 2 – 3 ปีก็วิเคราะห์ว่าคะแนนดีขึ้นจริงๆ แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า สำหรับคนที่ดูนะครับ มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียนรู้ได้ดีจากการดูวิดีโอ
ฉะนั้น ถ้าเกิดลองคลี่ห้องเรียนออกมา ผมน่าจะสอนอยู่ประมาณ 5 แบบคือ 1.แบบบรรยายหน้ากระดาน 2.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนแบบกลุ่ม 3.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนเป็นแบบคู่ 4.ลงไปหานักเรียนที่ถนัดเรียนแบบเดี่ยว 5.แบบเรียนด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นในหนึ่งห้องเรียนเราก็พยายามจัดบรรยากาศให้นักเรียนได้เรียนผ่านวิธีการเรียนรู้หลายๆ แบบ แล้วเขาก็มีวิธีการรับรู้ที่ต่างกัน อันนี้คือใน 60 – 70% ของเทอม
แล้วก็จะมีกิจกรรมที่พี่สอญอเห็นเวลาโพสต์ เป็นกิจกรรมที่เริ่มจากตอนไปทำค่ายคณิต แล้วเราเห็นโอกาสเวลาที่เราไปทำค่ายกับครูโรงเรียนอื่น เราคิดกิจกรรมแล้วก็เล่นกัน เฮ้ย… มันเป็นไปได้นี่หว่า ทำไมสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในห้องเรียนวะ ก็เลยเอากิจกรรมที่เราไปรับจัดค่ายมาทดลองทำในห้องเรียน มันก็เวิร์ก หลังจากนั้นเราเปลี่ยนเนื้อหาในห้องเรียนมาออกแบบเป็นกิจกรรม แล้วเราก็เอากลับไปทำในค่าย มันก็เวิร์ก ทีนี้ก็เลยกลายเป็นว่า เราเอาสองงานมาเจอกันได้ เอาส่วนดีของสองอันนี้มาทำ อันนี้เวิร์กจากการเทสต์ที่ค่ายก็เอามาใช้ที่โรงเรียน อันนี้เวิร์กจากการเทสต์ที่โรงเรียนก็เอามาใช้ที่ค่าย อันไหนไม่เวิร์กก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆ อันนี้ผมคิดว่าเรามีกิจกรรมการเรียนการสอนคณิตที่แปลกใหม่ในห้องเรียน
เหมือนฟังครูกั๊กเล่านี่เป็นการคิดเชิงระบบเนาะ มีลำดับ มีกระบวนการที่เข้าไป อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นวิธีคิดเคลียร์ๆ แบบบครูคณิตศาสตร์หรือเปล่า อย่างเราจบศิลปะแต่ไปสอนสังคม มันจะมีความด้นสด หรือ Improvise เยอะมาก ครูกั๊กมีบรรยากาศด้นสดในห้องเรียนแบบนี้บ้างไหมครับ
มีครับ อย่างปีที่แล้วอาจารย์ฮูกแนะนำให้ลองสอนแบบ Open Approach (การสอนแบบเปิด ผู้เรียนเป็นคนค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นคนสนับสนุน) เราก็ไปเสิร์ช เป็นธีสิสของมศว. สักคนหนึ่งนี่แหละครับ มันมีอยู่ 4 ขั้นตอน ทำแบบนี้นะ เอาวะ ลองเอาคอนเซ็ปต์นี้ไปทำ ปรากฏว่าตอนทำก็ด้นสดเหมือนกัน (หัวเราะ) แล้วมันก็เวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้างในช่วงแรก ผมคิดว่าเป็นการลองผิดลองถูกระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งอันนี้แหละสำคัญ ครูหลายๆ คนจะยึดติดความไม่กล้าผิดเอาไว้ ในช่วงแรกผมก็เป็นนะ
แต่ถ้าเกิดลองแล้วไม่เวิร์ก สิ่งหนึ่งที่ครูทำได้คือขอโทษเด็ก ขอโทษไปเลย บอกเด็กไปเลยว่าอันนี้ครูพยายามทดลองอยู่ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เดี๋ยวครูสอนใหม่
ในช่วงปีแรกงปีแรกผมก็ทดลองพลาดนะ ก็เฟลแต่ก็เอาใหม่ รู้สึกว่าตัวเองแพ้จากความเฟลไม่ได้ ต้องชนะมัน จนชนะมันได้เราก็เลยได้กระบวนการคิดบางอย่างในการทำ แล้วก็ค่อยๆ ฟอร์มเป็นชุดความคิดในการออกแบบของเราขึ้นมา
การเปิดพื้นที่เพื่อดึงศักยภาพของครูและนักเรียน
พอครูกั๊กนิยามตัวเองเป็น ‘นักการศึกษาที่ทำงานในโรงเรียน’ แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่วิชาคณิตศาสตร์กับนักเรียนแล้ว แต่ครูกั๊กทำชมรม แล้วก็เปิดพื้นที่ที่พยายามดึงศักยภาพนักเรียน แม้กระทั่งดึงศักยภาพเพื่อนครูอย่างที่เรารับรู้ เช่น SLC, TED Club หรือชมรมอื่นๆ อีกมากมาย อยากให้ครูกั๊กเล่าให้ฟังหน่อยครับ มันน่าสนใจยังไง ทำไมถึงทำเรื่องนี้
เอาเรื่องชุมนุมก่อนละกันเนอะ ปกติผมจะทำสิ่งที่ผมอยากทำเป็นหลักก่อน เหมือนเป็นห้องทดลองมากกว่า ผมคิดว่าชุมนุมคือห้องทดลองของผมเลย เทอมนี้เราอินเรื่องนี้ เราก็ทำเรื่องนี้ อย่างช่วงนั้นก็จะมี TED Club ช่วงที่ TEDx บูมมากคิดดว่าถ้ามีพื้นที่แบบนี้ในโรงเรียนน่าจะดี เราก็เลยเอา TED Club เข้ามาทำในโรงเรียนหนึ่งเทอม ปรากฏว่ามันช่วยให้เด็กได้เยียวยาตัวเอง รวมถึงเพื่อนเขาด้วย เหมือนผลัดกันเยียวยา แล้วเราก็ได้กระบวนการจากทีม TED Club ตรงนั้นมาทำงานอย่างอื่นต่อ เราก็ยังนำมาใช้กับการเวิร์กชอปให้กับคุณครู ครีเอทีฟ
อย่างเทอมที่แล้ว ผมทำชุมนุมค่ายเพลง เพราะว่าอยากทำค่ายเพลง (หัวเราะ) เราก็เลยเวิร์กชอปให้เด็กแต่งเพลง ลองเอาอุปกรณ์โฮมสตูดิโอง่ายๆ เอามิกซ์ไป เอาไมโครโฟนไป ‘เนี่ย…ลองเลย ครูมีโปรแกรมให้’ อย่างพวก GarageBand มันก็ใช้พรี จะมี Loop ‘อะลองทำบีทดิ๊’ แล้วเด็กทำบีทเท่มาก ‘มึงทำยังไงวะ สอนกูหน่อยดิ๊’ (หัวเราะ) กลายเป็นว่าเด็กก็สอนเรา คือเราไม่ใช่สายทำบีท เราชอบเขียนเพลงง่ายๆ ผมว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทำให้ครูกับเด็กเรียนรู้ร่วมกันได้ ถ้ามองชุมนุมเป็นฟังก์ชันนี้ก็สบายมากเลย ไม่ต้องไปแบกว่าวันนี้ต้องทำอะไร แล้วผมเสียดายครูหลายท่านที่ไม่รู้ฟังก์ชันของชุมนุมแบบนี้ ก็เลยปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมนู่นนั่นนี่ไป ทั้งที่จริงมันควรจะเป็นคาบที่เราได้เรียนรู้ร่วมกัน
แล้วเมื่อกี้พี่สอญอพูดถึง SLC จริงๆ SLC มาจากคำว่า School as Learning Community คล้ายๆ PLC (Professional Learning Community) แต่ว่าอันนั้นเป็น Personal จริงๆ ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรขนาดนั้นนะ ผมไปเชิญอาจารย์ฮูกมาเวิร์กชอปที่โรงเรียน เขาก็มาเล่าให้ฟัง ได้ใจความประมาณว่า จริงๆ SLC มันคือ PLC แต่ว่า PLC ทำกับครู แต่ SLC ทำทั้งโรงเรียน หมายความว่าจะต้องมีหน่วยของผู้บริหารมาร่วมวงด้วย อันนี้คือส่วนแรกที่แตกต่าง และ SLC มีปรัชญาอยู่ 3 ข้อครับ
ปรัชญาข้อแรก Public Philosophy การมีส่วนร่วม ความเป็นสาธารณะ ห้องเรียนไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ทำให้การนิเทศเปลี่ยนไป ผมชอบมิติอันนี้มากที่สุดเลย ปกติพี่สอญอสอนสังคมกับศิลปะใช่ไหมครับ คนนิเทศเป็นใครครับ
ก็ครูในหมวดครับ
ก็ต้องครูในหมวดถูกไหมครับ แต่ว่าการทำ SLC เขาจะใช้ครูต่างหมวดมาดูว่าเด็กคนนี้เรียนรู้อย่างไร ฉะนั้นถ้าพี่สอญอสอนสังคมหรือศิลปะ ก็จะเป็นครูเลข ครูอังกฤษเข้ามาดู เขาจะดูเนื้อหาพี่สอญอไม่ได้ แต่จะดูว่าเด็กเป็นยังไง ครูจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร มันจะมองข้ามเรื่องคอนเทนต์ไปครับ ทำให้ครูไม่ต้องมากังวลว่าฉันจะพูดเนื้อหาถูกผิดหรือเปล่า เช่น เด็กชายเอ ตอนวิชาคณิตไม่ตั้งใจเรียนเลย แต่พอไปดูคาบสังคมเขาเฉิดฉายมาก นั่นแปลว่าจริงๆ แล้วเราจะตัดสินเด็กจากวิชาของเราไม่ได้ ก็จะเห็นเด็กในมิติอื่นๆ
ฉะนั้นทำให้เวลาครูเข้าไป ไม่ได้ดูแล้วว่าครูคนนี้สอนยังไง แต่ดูว่าเด็กคนนี้เรียนรู้ยังไง สมมติเด็กคนนี้เรียนรู้ไม่ได้ เขาก็จะบอกว่า เด็กคนนี้ทำเลขยกกำลังไม่ได้ ครูประจำวิชาก็จะเห็นแล้ว่า ‘อ๋อ ฉันต้องไปเตรียมเรื่องนี้ให้กับเด็ก’ นั่นแปลว่าเหมือนเรานิเทศครูแหละครับ แต่ว่าเรายึดเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วก็ไม่รู้สึกแย่ด้วยว่าสอนเด็กไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีการที่จะทำให้เด็กคนนี้ดีขึ้นร่วมกันกับวงครู ก็เป็นเหมือนกับ PLC แต่ถ้าผู้บริหารมาร่วมด้วยก็จะเป็นภาพใหญ่ เป็น SLC ได้
ปรัชญาข้อที่สอง Democracy Philosophy ปรัชญาที่ว่าด้วยการรับฟัง เราไม่ทิ้งเสียงใคร เวลาที่มีเสียงไหนขึ้นมาทุกคนก็จะร่วมด้วยช่วยกันและไปด้วยกัน ผมคิดว่าการรับฟังเป็นเรื่องใหญ่นะ ไม่ใช่แค่ครูกับครูเท่านั้น แต่ครูกับเด็กด้วย ผมว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากๆ ยิ่งทุกวันนี้การรับฟังปัญหาซึ่งกันและกันมันน้อยมากเลย ถ้าเกิดเรานั่งคุยกันจริงๆ นะ ไม่ต้องเห็นด้วยกับเขาก็ได้ แต่ผมว่าเราจะมีความเข้าใจมากขึ้น แล้วเราก็จะเคารพในความเชื่อของเขา
ปรัชญาข้อที่สาม Excellence Philosophy ปรัชญาแห่งความเป็นเลิศที่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพแห่งความเป็นเลิศที่ต่างกัน ซึ่งมันก็คือเรื่องที่เราคุยกันว่าเด็กทุกคนไม่ได้เหมือนกัน เขาอยากให้เรามองเขาว่าเขาเก่งแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้เอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนข้างๆ ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ 3 ข้อนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้ SLC แข็งแรงและน่าสนใจที่จะไปทำต่อ
ผมคิดว่ามันไปไกลกว่า PLC ที่ส่วนใหญ่จะไปดูท่าทีการสอนของครู แต่ SLC นี่เรามุ่งพัฒนาไปที่ตัวเด็กเลย พอเอาไปทดลองทำ แล้วผลเป็นยังไงบ้างครับ
ผมบอกตรงๆ นะ โคตรงูๆ ปลาๆ เลย (หัวเราะ) ตอนแรกอาจารย์ฮูกบอกให้ไปรวมคนให้ได้ก่อน มันยังรวมไม่ได้ แต่เราอยากทำแล้ว ก็เริ่มที่เอากระบวนการเดิมๆ มาใช้ ซึ่งวันแรกที่ใช้ ผมใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘กระจกหกด้าน’ เป็นปัญหา 6 มิติที่ในโรงเรียนน่าจะค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านนักเรียน อาคารสถานที่ ครู ผู้บริหาร งานวิชาการ งานกิจกรรม หรืองานสัมพันธ์ชุมชน แล้วเราก็ให้เขาแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่ม ให้เขาคุยกันเหมือนเป็น World Cafe คอยไปเติมประเด็นกัน แต่ก่อนที่จะทำอันนี้คือให้ครูคุยกันก่อนด้วยนะ เหมือนใช้ไดอะล็อกในการละลายพฤติกรรม จริงๆ ครูในโรงเรียนรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคุยในประเด็นอื่น เราก็เลยชวนเขาคุยก่อน คล้ายๆ วงก่อการครู พอทำตรงนั้นเสร็จเราถึงจะมาทำปัญหา
ตอนที่ทำปัญหาพบว่าทุกโรงเรียนตอบเหมือนกัน คือ เด็กไม่สนใจเรียน ครูไม่ค่อยเข้าสอน มันเป็นปัญหาคลาสสิก แต่ที่เลือกทำเพราะเรารู้สึกว่าการที่เขาได้เขียนออกมาหรือคุยกับเพื่อนครูด้วยกัน มันมาจากตัวเขาเอง เสียงสะท้อนที่ออกมาคือ หนึ่ง – นี่คือปัญหาที่เรารู้อยู่แล้ว เลยมีคำถามว่า รู้อยู่แล้วทำไมไม่แก้ไข สอง – เขารู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของปัญหาจริงๆ แล้วรู้ว่าตอนนี้มีคนรู้สึกร่วมไปกับเขา เขาไม่โดดเดี่ยว ผมว่า SLC หรือว่า PLC มันคือใจความนี้แหละ คุณครูไม่ควรทำงานอย่างโดดเดี่ยว ครูเขาก็บอก ‘ขอบคุณที่ให้ทำกิจกรรมแบบนี้ รู้สึกเหมือนมีคนเข้าอกเข้าใจ รู้สึกไม่เหงาแล้ว’ ผมพึ่งทำไปแค่ 2 ครั้ง ครั้งที่สองก็เชิญอาจารย์ฮูกไปคุย
มิติการทำงานนอกห้องเรียน
เมื่อกี้พูดถึงเรื่องในห้องเรียน คราวนี้อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือ มิตินอกห้องเรียน ครูกั๊กก็มาทำงานกับเพื่อนครู แม้กระทั่งกลุ่มครูขอสอน กลุ่มก่อการครู กลุ่ม insKru ครูปล่อยของ และ Thai Civic Education ด้วย มีปรากฏการณ์ที่คิดว่าจุดประกายและเป็นความหวังไหม อย่างครูกั๊กเราเรียกว่าเป็นครูนวัตกรรม เดี๋ยวมี SAR (รายงานประเมินตนเอง) หน้าเดียว เดี๋ยวมีวิจัยหน้าเดียว และที่ผมสนใจมากเลยคือ ‘วิทยฐานะครบเครื่อง’ เรื่องครูเล่มเดียว คุณรู้สึกว่ามันอิมแพ็คกับตัวเองหรือกับเพื่อนครูยังไงบ้างครับ เขย่าวงการไหม (หัวเราะ)
น่าจะเขย่าตัวเองก่อนครับ หลายๆ คนคิดว่าผมทำไปเพราะกล้า เอาจริงๆ ผมกลัวทุกอันเลยนะ ตั้งแต่ SAR หน้าเดียวแล้ว เรารู้สึกว่า ผอ.เขาจะเซ็นไหม จะโดนด่าอะไรไหม แต่ก็ลองดู ส่งไปเสร็จปุ๊บ ผ่าน! คือตอนแรกผมถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก คิดว่าผมควรไปสร้างความชอบธรรมจากการแชร์ก่อน ถ้าสังคมข้างนอกยอมรับ ในโรงเรียนก็น่าจะยอมรับสิวะ ก็เลยบอกผอ. ‘คนแชร์เยอะมากเลยครับ ถ้าเราทำก็น่าจะเป็นโรงเรียนแรกของประเทศเลยครับ’ จริงๆ ตอนที่ผมจะให้เซ็น โรงเรียนอื่นทำตามไปแล้ว แล้วโรงเรียนอื่นก็เซ็นแล้วด้วย ‘โรงเรียนที่โคราชเซ็นแล้วนะ ดีมากเลยครับผอ. น่าจะไปต่อนะ’ สุดท้ายผอ.ก็เซ็น
ตอนนั้นเหมือนได้ใจจาก SAR หน้าเดียว นโม (ชลิพา ดุลยากร เจ้าของแพลตฟอร์ม Inskru สตาร์ทอัพทางการศึกษาที่ต้องการสร้างพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน) ก็บอกว่า ‘ไม่ทำแผนหน้าเดียวเลยล่ะ’ คือจริงๆ แผนหน้าเดียวมันมาจากวันที่เราไปอบรมด้วยกันนะพี่ ของครูเอทีฟ (เวิร์กชอปที่ insKru จัดขึ้น) ครั้งแรก ซึ่งวันนั้นยังไม่เป็นแผนหน้าเดียวด้วยซ้ำ ยังให้ทำ Scenario (สถานการณ์จำลอง) ของคาบหนึ่งแบบขั้นนำ ขั้นสอน ขั้นสรุป แล้วผมรู้สึกว่า เฮ้ย… มันเป็นไปได้ เอาสิ่งนั้นมาเติมรายละเอียดให้ครบ ต้องมีหัวข้อ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ วัดประเมินผล พอมันได้เราก็ทดลองทำไปเลย 1 วิชา ชื่อวิชาความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์
วิชานี้เปิดขึ้นมาเพื่อให้หน่วยกิตของเด็กเต็ม จริงๆ มันไม่มีเนื้อหาอะไรแล้ว ผมก็เลยไปรับช่วงต่อจากครูคนเก่า แล้วคิดวิชานี้ขึ้นมาใหม่ แล้วก็ออกแบบมาเป็นกิจกรรมทั้งหมดแบบเป็นหน้าเดียว ซึ่งวันนั้นรู้สึกว่าแผนนี้ทั้งวิชาจะมีอยู่แค่ประมาณ 16 หน้ากระดาษเท่านั้น (หัวเราะ) แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากเก็บแผน 16 ใบนี้มากเลย เพราะเราตั้งใจทำ มันไม่ใช่แค่แผนนะครับ มันเป็นการออกแบบ คิดแล้วคิดอีก แล้วแผนหน้าเดียวผมตั้งใจทำให้สวย ด้วยเหตุผลสองอย่าง หนึ่ง – เราอยากดูมันซ้ำ ผมว่ามันคือการทำงานศิลปะแบบที่ผมเคยโหยหาเมื่อตอนป.4 ที่เคยจีบสาวตอนนั้น (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าผมทิ้งงานศิลปะไม่ได้เลย สอง – มันต้องโชว์ได้ว่ามันเห็นภาพ มันสวย มันฟังก์ชัน อย่างปกติเวลาเราประเมินเด็กว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ เขาจะเขียนเป็น 60% แต่เราออกแบบเป็นกราฟแท่งแล้วก็ระบายเอา เรารู้สึกว่าพอทำแบบนี้เรามีความสุข แล้วไม่คิดด้วยว่าจะผ่านไม่ผ่าน
เชื่อไหมครับ ตอนนั้นส่งไปตอนต้นเทอม ไม่มีใครเซ็นนะครับ จนผ่านไปหลายเดือน มีคนประเมินจากภายนอกมา เขาก็ถามว่ามีครูคนไหนสอนโดยใช้กิจกรรมบ้าง ก็มีผมคนเดียวที่สอนด้วยกระบวนการทั้งหมดในวิชานี้ ก็โดนไปตามมา จังหวะนั้นก็แบบ ‘หึ… ทีของกูแล้ว กูมาแน่’ (หัวเราะ) เลยวิ่งไปหยิบแผนหน้าเดียวมา จำได้ว่าเทอมนั้นเขาถามในที่ประชุมโรงเรียนว่ามีใครที่เซ็นแผนเป็นปัจจุบันบ้าง มีเราคนเดียวที่ยกมือ ผมไม่ได้โทษครูคนอื่นว่าไม่ได้สอนนะ ผมเชื่อว่าครูคนอื่นเขาสอนอยู่แล้ว แต่ว่าการที่เขาจะต้องมานั่งเซ็นแผน มานั่งเขียน ผมว่ามันไม่ฟังก์ชันจริงๆ อย่างครูโรงเรียนผมสอน 20 – 30 กว่าคาบ โห…จะให้มานั่งทำอันนี้ไม่ไหวหรอก ผมก็เปิดให้กรรมการดู ‘อันนี้คือ Course Syllabus (ประมวลการสอนรายวิชา) นะครับ เด็กจะต้องทำเรือได้ ทำนี่ได้’ คือเห็นภาพไม่ต้องอธิบายเพิ่ม แล้วพอไปดูแผน เห็นกระบวนการครบถ้วนทุกขั้นตอน ‘อันนี้คืออะไรหรอ’ ‘อันนี้ Design Thinking ครับ อันนี้ Open Approach ครับ อันนี้ Creative ครับ’ ‘นี่สอนในวิชาคณิตหรอ’ ‘ใช่ครับ’ กลายเป็นว่ากรรมการชอบมาก จำได้ว่าวันนั้นรองก็เซ็นให้แล้ว ก็เลยรู้สึกว่า อ๋อ..บางทีการขับเคลื่อนเราอาจจะต้องทำจากข้างนอกก่อน หรือมีผู้ทรงคุณวุฒิยืนยัน แสดงว่ากระบวนการทางวิชาการมันต้องสำคัญ
อย่างอันแรก SAR หน้าเดียวใช้วิธีการใช้สื่อในการขับเคลื่อน และใช้ความเป็นวิชาการเข้ามา จริงๆ ผมควรจะต้องทำวิจัยด้วย แล้วก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้จนได้ ก็ผ่านความกลัวมาเหมือนกัน
ส่วนวิทยฐานะเล่มเดียว อันนี้ผมบอกเลยว่าตอนที่ทำผมเครียดมากนะ แต่เรารู้สึกว่า เห้ย…ใจความมันได้ยังไงมันก็ต้องได้ ผมเรียนรู้แล้วว่ามันจะต้องรีวิวมาก่อน ผมก็ไปรีวิวจากเพื่อนกันเอง แล้วก็เพื่อนครูต่างโรงเรียน ในเฟซบุ๊ก ในกูเกิล ผมเสิร์ชหมดเลย ภาพที่เราเห็นมีอะไรบ้าง บางโรงเรียนเป็นไวนิลอลังการ บางโรงเรียนเป็นบอร์ด เป็นแฟ้ม เป็นพาวเวอร์พอยต์ วิดีโอก็มี ทุกแบบผ่านทุกคนเลยว่ะ แล้วเราก็เห็นว่า อ๋อ…รูปแบบไม่เกี่ยว ใจความสำคัญคือตัวชี้วัดผ่านหรือเปล่า แสดงว่าเราสามารถนำเสนอผ่านรูปแบบไหนก็ได้ ผมก็เลยคิดว่า อะ…ยังไม่มีหนังสือ คิดว่าจะทำหน้าเดียวก็คงไม่ได้ (หัวเราะ) การจะเอาเงินเดือนขึ้น 3,500 บาท หน้าเดียวไม่ผ่านแน่นอน เราก็เลยทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก เอาทุกอย่างใส่เข้าไปในนั้น แล้วก็จัดฟอร์มให้มันเป็นหนังสือ อ่านง่ายๆ เป็นภาพ เป็นบุลเล็ต ผมไม่พรินต์เอกสารใดเพิ่ม นอกจากพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนั้นเล่มเดียว แผนการสอนผมก็หน้าเดียวอยู่แล้ว
วิทยฐานะมันคือการที่บอกว่าเราชำนาญ เรามีความสามารถ ผมมั่นใจว่าเกียรติบัตรกรอบทองไม่ได้บอกว่าผมมีความสามารถ ผมว่าใจความของผมมันอยู่ในเล่มนั้น แล้วผมก็เล่าทุกอย่างผ่านเล่มนั้นลงไป สิ่งที่พลาดวันนั้นมีอย่างเดียวแล้วก็ยังรู้สึกผิดจนถึงทุกวันนี้คือ ผมไม่ได้เอาแท็กเล็กๆ ไปติดว่าหน้านี้คือตัวชี้วัดไหน ทำให้กรรมการดูยาก แต่ว่าอันอื่นเขาโอเคหมดเลย ปกติเวลาประเมินเราจะเลือกกรรมการได้ แต่ผมใช้วิธีการให้เขตเลือกให้ ผมว่ามันมีผลต่อการขับเคลื่อนครับ คือถ้าเราเลือกกรรมการ เหมือนเอาคนที่สนิทมาประเมินเรา มันก็จะเป็นข้อครหาว่า ‘นี่ไงแกสนิทเลยผ่านได้’ ผมเลยใช้วิธีการสุ่ม ก็เป็นครูที่ไม่รู้จักมา 2 คน เขาก็ประเมินจนผ่าน
อันสุดท้ายเป็นวิจัยหน้าเดียว จริงๆ ผมว่าวิจัยอันนี้ไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะตอนที่ทำไอเดียมันมาจากโปสเตอร์งานวิจัย ถ้าพี่เคยเห็นเวลาเขานำเสนอโปสเตอร์ ต้องจบในหนึ่งใบใหญ่ วิจัยหน้าเดียวใช้หลักการเดียวกัน เราก็แค่ย่อลงมา คือวิจัยในชั้นเรียนอันนี้ก็รีวิวมาเหมือนกัน เขาบอกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็น 5 บทใหญ่ หรือ 5 บทย่อยก็ไม่จำเป็นขนาดนั้น 2 – 3 หน้าก็เป็นวิจัยในชั้นเรียนได้แล้ว ขอแค่คุณครูปฏิบัติการจริงๆ แก้ปัญหาจริงๆ ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้ว และวิจัยหน้าเดียวผมมีเป้าหมายแค่ว่า อยากชวนครูกลับมาทำงานที่มีความหมาย แก้ปัญหาไปเถอะ แล้วตอนสรุปขอหน้าเดียวก็พอ ผมว่าผมคิดแบบนี้มีความสุขตอนทำวิจัยขึ้นเยอะเลย
ยังมีประเด็นไหนอีกไหมครับที่กำลังทำ ที่ทดไว้ยังแบ่งปันไม่ได้ใช่ไหมครับ?
ก็อาจจะพอเล่าได้นิดหน่อยครับ ตอนที่ทำวิทยฐานะเล่มเดียว ผมว่าผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าจักรวาลมันจะดึงดูดสิ่งที่เราสนใจมาอยู่กับเราเสมอ ผมพึ่งมาสนใจเรื่องวิทยฐานะได้ไม่นาน แล้วไม่ได้มาสนใจเพราะอยากเงินเดือนขึ้นนะ แต่ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วครูทุกคนที่มีความสามารถ ควรจะมีเงิน เพราะมันคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูกลับมาเตรียมตัวสอนมากขึ้น สมมติว่าถ้าผมมีเงินเยอะๆ ผมก็ไม่ทำงานอื่นนะ ผมก็นั่งโฟกัสกับงานที่ผมทำ
เราก็อินเรื่องนี้ ก็ทำกับ insKru ผลก็คือ มีวันหนึ่งได้ไปร่วมงานกับ TDRI เขาก็เชิญ Stakeholder ของการศึกษามาหมด แล้วเราก็คุยกันเรื่องทำ SAR ทำวิทยฐานะเล่มเดียว ปรากฏว่าคนที่อยู่ใกล้ๆ ตรงนั้นคือหัวหน้า ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) คือคนที่ออกเกณฑ์วิทยฐานะ ก็เลยกลายเป็นว่าเราได้เจอพี่เขา ถ้าผมไม่มาทำตรงนี้ก็ไม่ได้มาเจอพี่เขา ถ้าผมไม่ทำเรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าผมจะคุยกับเขาได้ยังไง ซึ่งพี่เขาถามว่า ‘นี่แกคิดเองเลยหรอ’ ‘ใช่ครับ’ พี่เขาก็ ‘อื้ม!’ (เสียงหนักแน่น) หลังจากนั้นก็เลยได้รับการเชิญจาก ก.ค.ศ. ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับเกณฑ์วิทยฐานะ แล้วเราก็รวบรวมข้อมูลเอาอะไรที่มันดูไม่สมเหตุสมผลเล่าให้เขาฟัง ผมว่า ก.ค.ศ. ชุดนี้น่ารักมาก เขายอมปรับหลายๆ อย่าง เอาเป็นว่ามีความหวังในการเปลี่ยนเกณฑ์วิทยฐานะแล้วสมเหตุสมผลด้วย
อันนี้คือไปฟังรอบสองด้วยนะ ซึ่งรอบที่สองไม่ได้พูดถึงวิทยฐานะ แต่พูดถึงมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งของครู ผู้บริหาร ผู้บริหารการศึกษา วันนั้นสนุกมาก เราจัดเต็มมาก ผู้บริหารควรเป็นแบบไหน คุณครูควรเป็นแบบไหน แล้วแบบไหนที่มันเวิร์กจริงๆ ผมคิดว่าส่วนตรงนี้มันโอเคมากๆ จากการที่เราทำเล่มเดียว ที่เราเขย่า สุดท้ายตรงนั้นมันก็ส่งผลให้เราไปช่วยคุณครูคนอื่นได้อีก ผมว่าอันนี้มันพลังงานของจักรวาลมากเลย
ผมว่าน่าจะมีหลายประเด็นที่เราต้องทดคุยกันอีพีสองแล้วครับ จาก SAR หน้าเดียวจะเป็นครั้งแรกที่ ‘ข้างๆ ครูคูล’ จะมีอีพีสอง วันนี้ขอบคุณครูกั๊กก่อนครับ แล้วเดี๋ยวเรามาคุยกันต่ออีพีต่อไป คิดว่ายังมีเรื่องมันๆ ให้คุยและแลกเปลี่ยนกันต่อครับ สวัสดีครับ