- ในวันที่ทุกคนต่างลุกขึ้นมาเป็นยูทูบเบอร์ นักสร้างคอนเทนต์ เพื่อขายของที่ตัวเองมี ‘ครู’ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีของและต้องการขาย
- หลักสูตร Tuber Teacher ครูนักเล่าเรื่อง Workshop ครั้งที่ 3 : ลำดับภาพอย่างไรให้เป็นเรื่อง โดย บริษัท บางกอกบุรี ครีเอทีฟเฮ้าส์ จำกัด และมูลนิธิสยามกัมมาจล เวิร์กชอปที่จะเปลี่ยนคุณครูให้กลายเป็นนักสร้างวีดีโอคอนเทนต์
- บทความชิ้นนี้จะเล่าเนื้อหาการสอนตั้งแต่เทคนิคการตัดต่อ การเปลี่ยนภาพ และการลำดับภาพ ใส่ดนตรีประกอบ
ขณะที่นั่งสไลด์จอหาคลิปดูในยูทูบ เราก็พบอัตราการเกิดใหม่ของประชากรยูทูบเบอร์ประมาณ 10 ล้านคน นี่ไม่ใช่การพูดเกินจริงเลย เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราก็ค้นพบว่าทุกคนต่างมีของที่อยากโชว์ให้ทุกคนดู และการทำคอนเทนต์เช่นวีดีโอก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงมีอุปกรณ์ที่อัดคลิปได้ ประเด็นเจ๋งๆ ชวนคนดู และการตัดต่อ เท่านี้ท่านก็สามารถเป็นนักสร้างคอนเทนต์ผ่านวีดีโอได้แล้ว
พากิน ท่องเที่ยว ชอปปิง แต่งหน้า เปิดบ้าน และอีกสารพัดคอนเทนต์ที่กำลังฮอตฮิตในช่วงนี้
สิ่งที่อารัมภบทข้างต้นทำให้เราพาตัวเองมานั่งซิทอินในเวิร์กชอปที่จัดไกลถึงจังหวัดศรีสะเกษ Workshop ครั้งที่ 3 : ลำดับภาพอย่างไรให้เป็นเรื่อง ในหลักสูตร Tuber Teacher ครูนักเล่าเรื่อง โดย บริษัท บางกอกบุรี ครีเอทีฟเฮ้าส์ จำกัด และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่ 29 – 30 มีนาคม อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าทุกคนมีของที่อยากออกมาโชว์ ‘ครู’ ก็เป็นอีกคนที่มีของเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน การทำกิจกรรม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เกิดเวิร์กชอปครั้งนี้ ก็เพื่อติดตั้งเครื่องมือให้เหล่าคุณครูได้ปล่อยของ
The Art of Editing
เริ่มเซกชันแรกด้วยการเกริ่นถึงความสำคัญของการตัดต่อ ไม่ว่าคลิปที่ถ่ายมาจะดีแค่ไหน แต่ถ้าเจอการตัดต่อที่ไม่เข้าหรือเปลี่ยนสารที่คลิปนั้นต้องการสื่อ ก็อาจจะกลายเป็นการทำคอนเทนต์ที่ล้มเหลว ซึ่งการตัดต่อ (cutting) ก็คือการเอาคลิปหลายๆ คลิปมาชนกันเพื่อให้ออกมาเป็นหนึ่งสารที่คนทำต้องการสื่อออกไป เราสามารถแบ่งประเภทการตัดต่อได้ประมาณ 7 ประเภท ได้แก่
- Cutting on action เป็นการตัดต่อขั้นพื้นฐาน เอาคลิปที่มีมาต่อกัน ไม่ต้องใส่เอฟเฟกต์ที่ซับซ้อน แต่ละคลิปที่นำมาใช้อาจมีขนาด หรือมุมกล้องที่แตกต่างกัน เหมาะกับการเล่าเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เดินเป็นเส้นตรงเส้นเดียว
- Cutaway การตัดต่อโดยมีคลิปหลักและมีคลิปที่เข้ามาแทรก
- Cross cutting การตัดต่อโดยใช้เหตุการณ์มากกว่า 2 เหตุการณ์มาตัดสลับกัน ให้ความรู้สึกดำเนินเรื่องแบบเส้นขนาน เช่น คลิปหนึ่งนักเรียนกำลังเล่นอย่างมีความสุข ตัดสลับมาที่อีกคลิปผู้อำนวยการโรงเรียนกับครูกำลังประชุมอย่างเคร่งเครียด คลิปที่ใช้ควรไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นจุดเชื่อมว่าเหตุการณ์เหล่านี้สัมพันธ์กัน เช่น โทนสี อารมณ์ของตัวละคร
- Jump cut การตัดคลิปหนึ่งให้กระชับเพื่อย่นระยะเวลา แม้เนื้อเรื่องอาจจะดูกระโดด แต่องค์ประกอบยังคงเหมือนเดิม เพื่อสื่อสารให้เห็นความไม่ปกติของเนื้อเรื่อง ณ ขณะนั้น หรือเพื่อกระชับเวลา
- Match cut จับคู่คลิปที่มีการกระทำ (action) คล้ายกัน ให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงไปด้วยกัน เช่น คลิปคนกำลังดื่มน้ำคู่กับคลิปคนกำลังเทน้ำ
- Montage cutting การตัดต่อแบบประมวลภาพรวมทั้งหมด เน้นสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของเรื่อง โดยอาจจะมีดนตรีประกอบ เช่น การทำทีเซอร์ (teaser) ตัวอย่าง (trailer)
- Flashback การตัดต่อมีพาร์ทที่เล่าย้อนอดีต
Creative transition การเปลี่ยนภาพ
คราวนี้ลงลึกกับเทคนิคการตัดต่อ คือ การเปลี่ยนภาพ ซึ่งเทคนิคการเปลี่ยนภาพที่ดีจะมีส่วนช่วยทำให้คนเข้าในเนื้อหา ลงลึกไปกับคลิปเรา และที่สำคัญเป็นส่วนทำให้คนจดจำคลิปเราได้ด้วย เทคนิคการเปลี่ยนภาพก็มีหลากหลาย ที่นำมาสอนในเวิร์กชอปนี้มีด้วยกัน 4 แบบ
- Fade การเปลี่ยนภาพจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่ง โดยที่ภาพแรกจะค่อยๆ มืดและสว่างปรากฎเป็นอีกภาพ หรือจากภาพที่สว่างไปเป็นมืดปรากฎเป็นอีกภาพแทน ส่วนใหญ่ใช้กับตอนต้นหรือตอนจบเรื่อง
- Dissolve การซ้อนภาพ ภาพจะค่อยๆ เปลี่ยนจากภาพหนึ่งไปอีกภาพโดยมีภาพนั้นซ้อนอยู่ เพื่อให้ความรู้สึกลื่นไหลขณะที่เปลี่ยน ไม่มีสะดุด
- Wipe การปาดภาพ เป็นเทคนิคดังเดิม สมัยที่เริ่มมีการใช้เอฟเฟกต์ในการเปลี่ยนภาพ ตัวอย่างเช่น ภาพยนต์ชุด star wars ที่จะมีลูกเล่นการเปลี่ยนภาพ เช่น ปาดภาพหรือหมุนแบบนาฬิกา ให้ความรู้สึกไม่สมจริง เน้นความสนุก
- B-roll อาศัยเทคนิคตอนถ่ายทำ คือ ใช้กล้องและอุปกรณ์เสริม เช่น ไม้กันสั่น เพื่อทำให้ให้ได้คลิปที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ภาพจะแปลกและสวย
Creative pacing & rhythm จังหวะการลำดับภาพ
เมื่อเตรียมวัตถุดิบเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การปรุง ‘การลำดับเรื่อง’ เป็นการใช้ศาสตร์ของความมีเหตุมีผลในการเลือกใช้สิ่งที่กล่าวไปข้างต้น (เทคนิคการตัดต่อ การเปลี่ยนภาพ) บาลานซ์กับความเป็นศิลปะ อารมณ์และความรู้สึก
เริ่มกันที่จังหวะคลิป แน่นอนว่าคลิปๆ หนึ่งคงไม่ได้มีจังหวะการดำเนินเรื่องเพียงจังหวะเดียว เป็นงานที่อาศัยทั้งความเป็นเหตุเป็นผลและศิลปะ เช่น ต้องมีช่วงที่ทิ้งให้คนดูได้ตั้งหลักคิด หรือปลุกเร้าอารมณ์คนดูไปพร้อมๆ กับเนื้อเรื่อง
สังเกตไหมว่าเวลาที่เราดูภาพยนตร์สักเรื่อง หรือละครสักตอน ทำไมเรื่องนี้รู้สึกดูง่าย ทั้งๆ ที่เนื้อหาเข้าใจยาก กลับกันบางเรื่องพล็อตธรรมดา แต่ดูได้ไม่เท่าไรต้องกดปิดเพราะงง ไม่เข้าใจ เวลาที่เราดูภาพยนตร์แล้วรู้สึกง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะจังหวะการลำดับภาพ
เสียงเป็นอีกวัตถุดิบสำคัญที่จะช่วยบิลด์อารมณ์ให้คนดูรู้สึกอิน เข้าใจคลิปเรามากขึ้น เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อจินตนาการของมนุษย์ การเลือกใช้ดนตรีประกอบงานของเรา ก็เหมือนกับการแต่งตัวว่าวันนี้เราอยากออกมาในลุคไหน เปรี้ยวซ่าหรือหวานเจี๊ยบ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปที่ไหน เป็นงานอะไร เช่น ไปทำงาน ไปงานแต่ง งานศพ เป็นต้น
ไม่มีกฎตายตัวว่างานคลิปแบบนี้ ต้องเลือกใช้เพลงแบบไหน มีเพียงข้อแนะนำหลักๆ คือ ให้คำนึงถึงอารมณ์ สารที่เราต้องการส่งไป แต่ต้องโน้ตไว้เล็กๆ ว่าการรับสารของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับชุดประสบการณ์เดิมที่คนๆ นั้น เช่น เปิดเสียงดนตรีที่ได้จากเปียโนผสมไวโอลิน บรรเลงช้าๆ ฟีดแบ็กของคนที่ฟังอาจจะไม่เหมือนกัน คนหนึ่งฟังแล้วนึกถึงคู่รักที่กำลังใช้เวลาร่วมกัน บางคนฟังแล้วรู้สึกเศร้าเหมือนกำลังสูญเสียบางอย่าง
การเปิดเรื่อง ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนสร้าง เน้นว่าต้องเป็นจุดเปิดที่สามารถตีหัวเรียกคนดูได้ เช่น ใช้ปัญหานำ สร้างความน่าสนใจ ดึงจุดร่วมให้คนดูรู้สึกว่า ‘ฉันก็มีปัญหาแบบเธอ’ เพื่อทำให้เขาอยากดูต่อ แต่ไม่ควรเน้นดราม่าหรือปัญหาแต่อย่างเดียว ควรมีมุมสร้างพลังบวก (positive thinking) เช่น ให้เครื่องมือ นำเสนอทางออกให้คนดู
วิธีเล่าเรื่อง หลักๆ จะแบ่งได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ หนึ่ง – ใช้การสัมภาษณ์คนเป็นตัวเดินเรื่อง และสอง – มีผู้บรรยายหลักเล่าประกอบทั้งคลิป ซึ่งแบบหลังต้องมีการเขียนบท รวมถึงวิเคราะห์ว่าควรใช้น้ำเสียง โทนการเล่าอย่างไรให้เข้ากับเรื่อง นอกจากนี้ถ้ารู้สึกว่าเนื้อหาในคลิปเยอะและดูท่าจะเข้าใจยาก การใส่ copy ไฮไลท์คำพูดสำคัญๆ จะช่วยให้คนดูเข้าใจประเด็นที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น
หัวใจของคลิป คือ เนื้อหา
เมื่อเรียนเนื้อหาจบแล้ว ก็เข้าสู่พาร์ทลงมือทำ ซึ่งโจทย์ที่ผู้ร่วมเวิร์กชอปได้รับ คือ ให้ทำคลิปนำเสนอโรงเรียนของตัวเอง โดยใช้ฟุตเทจที่ตัวเองมีสร้างสรรค์คลิปออกมา ซึ่งข้อแนะนำที่พวกเขาได้รับ คือ ต้องใส่ใจทำคลิปตั้งแต่การวางเนื้อเรื่อง (storyboard) จะเป็นตัวไกด์ไลน์ว่าคลิปของเราควรเดินไปทางไหน เทคนิคอาจเป็นเพียงเครื่องเคียง หัวใจสำคัญอยู่ที่สารของเรา
การทำคลิปที่แนะนำโรงเรียน อันดับแรกควรหาข้อมูลก่อน อาจจะด้วยการลงพื้นที่ สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลคร่าวๆ พอที่จะรู้ว่าเราควรตั้งต้นด้วยประเด็นใด ก่อนจะออกแบบการถ่ายทำและมาสู่ขั้นตอนการตัดต่อ ซึ่งคลิปที่แต่ละคนนำเสนอส่วนใหญ่ประเด็นหลักที่เล่าจะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น BBL (Brain Based Learning การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง)
รอยยิ้มจากเหล่าคุณครูคงพอเป็นเครื่องมือที่การันตีได้ว่า พวกเขารู้สนุกกับการเรียนรู้ครั้งนี้ บางทีหลังจบงานครั้งนี้เราอาจได้เห็นยูทูปเบอร์สายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างคุณครู