- ใครๆ ก็บอกว่าการศึกษาไทยมีปัญหาและล้าหลัง คุณเชื่อแบบนั้นหรือไม่?
- คลี่คลายและเขย่าความคิดจาก 5 เสียง 5 คน 5 บทบาท: เด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ก่อตั้งโรงเรียน ที่ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา ผ่านประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอ
- “มันเป็นเรื่องน่ากลัว ที่เด็กๆ ในโรงเรียนกลัวที่จะผิด กลัวที่จะพลาด เขาอยากเป็นที่หนึ่ง แม้ในโรงเรียนจะมีความหลากหลายมากมาย แต่มีเพียงสองเครื่องหมายเท่านั้นคือถูกกับผิด ซึ่งมันไปปิดกั้นความอยากเรียนรู้ของนักเรียน” หนึ่งในเสียงสะท้อนของ ‘ครูมิ้น’ ครูแนะแนว ที่มีต่อการศึกษาไทย
ภาพ: พัชริดา จูจรูญ, ศิริลักษณ์ พรมภักดี
“เรียนแล้วได้อะไร”
“เรียนไปทำไม”
“เราเข้าป่าแทนเรียนหนังสือได้หรือไม่”
“ทำไมถึงไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไร”
“พ่อแม่ทำผิดพลาดได้หรือเปล่า”
คำถามมากมายเกิดขึ้นตลอดทางของการเรียนหนังสือ และคนส่วนใหญ่มักจะกล่าวหาว่าคำถามเหล่านี้ เกิดขึ้นจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่ตอบโจทย์
แล้วคุณเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่
นี่คือเสียงจากตัวแทน 5 คน 5 บทบาท: เด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ก่อตั้งโรงเรียน บนเวที TEP Forum 2019 ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
พวกเขาทั้งห้าคน ช่วยกันแกว่งน้ำในบ่อของการศึกษาไทยให้ตกตะกอนความคิด โดยอาศัยประสบการณ์จริงและสิ่งที่พวกเขาพบเจอเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางระบบการศึกษาที่ใครๆ ต่างก็ป้ายสีใส่ว่ากำลังมีปัญหาและไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน
เรื่องราวของทั้ง 5 นี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจก้อนใหญ่ เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนา หาจุดร่วม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาไทย
เราเรียนหนังสือไปทำไม
ขจรเกียรติ เก่งจันทร์วรกุล ศิษย์เก่าจากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม
เขาเคยตั้งคำถามว่า “เรียนไปแล้วได้อะไร”
วันนี้ ‘ตี๋’ ขจรเกียรติ เข้าสู่บทบาทนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยาการการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากได้ใช้ทักษะกับสิ่งที่เรียนมาผสมผสานกับโลกความเป็นจริง เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนเพิ่มเติมอะไรบ้าง แล้วคำถามที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกถูกคลี่คลายไปบ้างหรือยัง…?
ผมอายุ 18 ปี กำลังอยู่ในวัยเฟรชชี่ ถ้านับตั้งแต่อนุบาลผมอยู่กับการศึกษามา 15 ปีแล้ว เกิดคำถามในสมองของผมขึ้นมาเองตลอดว่า “เราเรียนไปทำไม”
ถ้าการเรียนรู้คือธงที่ใหญ่ที่สุด การศึกษาก็คือเครื่องมือที่ทำให้เราเรียนรู้ได้มากขึ้น ทำให้เรามีทักษะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ร่างกาย สติปัญญา สังคม หรือการอยู่ร่วมกับคนอื่น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่การศึกษามอบให้เราโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ประสบการณ์
วันนี้ผมจะมาแชร์ประสบการณ์ของผมให้ทุกคนฟัง
ช่วงที่ผมอยู่ ม.5 ผมมักได้ยินว่า “เรียนๆ ไปเถอะ เรียนไปเพื่อเอาความรู้เผื่อไว้ใช้ในอนาคต อีกอย่างโรงเรียนก็เหมือนสังคมจำลอง ที่จำลองชีวิตการทำงาน เพราะครูมักพูดว่าเราทุกคนเรียนไปเพื่อทำงาน’
ผมอยากรู้ว่าสิ่งที่ครูพูดมันจริงไหม เลยไปลองสมัครทำงานร้านฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง
ผมไม่เคยเจอปัญหาเพื่อนร่วมงานไม่ดี ตอนเช้าเดินเข้าห้างเพื่อไปเปิดร้าน ถูพื้น เก็บของ จัดโต๊ะ จนกระทั่งรับลูกค้ารับออร์เดอร์ บางครั้งลูกค้าก็เป็นต่างชาติ ช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผมลองทำงาน ผมค้นพบสองอย่าง คือ
หนึ่ง-ผมประยุกต์ใช้ความรู้จากโรงเรียนโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น เราใช้ทักษะได้ภาษาจากการรับออร์เดอร์ ได้ใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ผ่านการทอนเงิน ทักษะการจัดวางเมื่อต้องเสิร์ฟอาหาร ทำให้รู้ว่าการไปเรียนที่โรงเรียนก็ไม่ได้แย่
สอง-ผมค้นพบว่าผมไม่ได้ชอบงานที่ตัวเองทำเลย
ซึ่งถ้าการศึกษายังไม่ทำให้เด็กค้นพบตัวเองได้ เด็กไม่รู้ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร จนเด็กเรียนจบออกไป อนาคตของเด็กคนนั้นก็คง…(อืม) เพราะขนาดผมทดลองทำงานแค่ 5 เดือน ยังรู้สึกเบื่อเลย
นอกจากนั้นผมเคยทำทดลองทำโปรเจ็คท์หนึ่ง ที่ช่วยค้นหาเครื่องมือทางการศึกษา ทำให้ผมรู้ว่าการเป็นกระทรวงศึกษาฯ นี่โคตรยากเลย กว่าจะหาเครื่องมือมาวัดประเมินเด็ก และมันคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งหาตัวเองเจอ
“เมื่อก่อนผมก็เป็นคนหนึ่งที่โทษปัญหาต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ แต่ถ้าการศึกษามันมีไว้สำหรับทุกคน แสดงว่าทุกคนต้องช่วยการศึกษาเหมือนกัน”
สิ่งที่ผมอยากจะขอคือ ให้ทุกคนรับฟังเสียงของทุกๆ คน เพื่อนำไปแก้ไข พ่อแม่เองก็ควรเปิดกว้างให้เด็กได้ลอง-ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ครูเองก็ควรจะทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเด็กทุกคนควรจะกล้าทำกล้าคิดกล้าลอง อย่างน้อยๆ เราจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง
เพราะ ‘โชค’ ชอบผู้กล้า
เป็นกำลังใจให้ทุกคนในระบบการศึกษา
พ่อแม่ต้องผิดพลาดให้ลูกเห็น
มิรา ชัยมหาวงศ์ ตัวแทนพ่อแม่
‘แม่บี’ มิรา ชัยมหาวงศ์ คุณแม่ผู้ทำ Homeschool
เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนแม่บีเคยทำงานการศึกษา มีโอกาสได้เข้าไปร่วมในเวทีปฏิรูปการศึกษาหลายเวที จากนั้นออกมาสร้างครอบครัว และไม่นานมานี้ก็ได้กลับเข้าไปในวงการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้ง ก่อนจะพบว่า “เขายังคุยกันเรื่องเดิม” ทำให้แม่บีเกิดคำถามว่า ‘20 ปี ทันไหม’
อย่างที่รู้กัน เมื่อโลกเปลี่ยนไปทุกอย่างก็เปลี่ยน แม่บีจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี 20 ปีพอไหมที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา ตอนนี้ลูกแม่บีอายุ 9 ขวบ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยจนเขาอายุ 29 ปี เลยหรือเปล่ากว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
อีกอย่างเราเป็นแม่ธรรมดาๆ ไม่ได้มีเสียงหรือมีอำนาจที่จะเอื้อมถึงผู้ใหญ่ในกระทรวง
แต่สิ่งเดียวที่แม่บีเอื้อมถึงคือลูก 2 คน
แม่บีจึงตัดสินใจทำ Homeschool แม่บีเริ่มต้นด้วยการเขียนแผนทำ Homeschool ขึ้นมา โดยตั้งไว้ว่าจะใช้กับลูกทั้ง 2 คน ปรากฏว่าเด็กทั้งสอง ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ทั้งที่เกิดจากแม่เดียวกัน พ่อเดียวกัน ลูกคนโตเวลาเขาร้องไห้ แม่บีจะร้องเพลงให้เขาฟัง แล้วเขาก็จะเงียบ ส่วนลูกคนที่สองเขาเลือกที่จะเอามือมาปิดปากเรา แผนของแม่บีจึงใช้ไม่ได้กับลูกสองคน
ลูกคนที่สอง ตั้งคำถามกับแม่บีว่า… “เราเข้าป่าแทนเรียนหนังสือได้ไหม”
เราจึงตอบคำถามเขาด้วยการทดลองเป็นการจัดทริป 1 ปี โดยมีครูเกรียง (อ.เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์) พาเด็กๆ 15 คน พร้อมพ่อแม่เข้าป่า เพื่อไปเรียนรู้เรื่องราวจากป่า
แม่บีพบว่า ป่าในประเทศเรามีความหลากหลาย ในป่าดงดิบเราอาจจะเจอสิ่งมีชีวิตมากกว่า 2 ล้านชนิด
ครูเกรียงไม่ได้พาเราเข้าป่าเพื่อไปดูว่ามีต้นไม้อะไรบ้าง แต่เราไปเพื่อเรียนรู้ว่าความหลากหลายของป่าบอกอะไรบ้าง
แม่บียังจำวันที่เราเข้าป่าที่น้ำหนาว เราเดินไปพบกองอึช้างที่มีถุงพลาสติกปะปน จากการที่ช้างกินเข้าไป แล้วมีเด็กคนหนึ่งน้ำตาคลอแล้วถามว่า ช้างจะตายไหม? นับจากวันนั้นเราไม่ต้องสอนเขาอีกเลยว่าต้องเก็บขยะออกจากป่า เด็กได้จิตสำนึก รู้ว่ามนุษย์คนหนึ่งจะสร้างผลกระทบอะไรต่อธรรมชาติบ้าง
บางทีการเดินป่า 1 ปี มันก็คุ้มเหมือนกัน แม้เราอาจไม่ได้จำชื่อต้นไม้ได้
เวลาเราไปเจออะไรแบบนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า การเรียนรู้คือกลุ่มสาระ 8 วิชา (ของกระทรวงศึกษาธิการ) หรือเปล่า
ในขณะที่มนุษย์มีความสามารถหลากหลายที่ควรได้รับการให้คุณค่าในระดับที่ไม่น้อยหน้ากัน มนุษย์ไม่ได้มีปัญญาอยู่ที่สมองซีกซ้ายเพียงอย่างเดียว เรามีปัญญาอีกมากมายที่เราลืมให้ความสำคัญ คนที่เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว มี sensing ที่ดี มีสัญชาตญาณที่ตื่นตัว มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เดินเข้าไปในป่า รู้ว่ามีอะไรกินได้ กินไม่ได้ จะหาน้ำผึ้งได้จากที่ไหน นี่คือการเรียนรู้ไหม?
พอมีระบบการศึกษา เราเอาเขาเข้ามาในระบบเรียน 8 วิชา เขาไม่สามารถเรียนได้
มันยากไปไหมที่เอาคนที่มีปัญญาทั้งร่างกายมาเรียนด้วยสมองแค่ครึ่งเดียว
ระบบการศึกษา กำลังลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ทีนี้คำถามถัดไป ถามว่าแม่บีสอนลูก 2 คน อย่างไร
ถ้าให้ลองคำนวณตัวเลขนี้ 18×5 =? คุณจะใช้วิธีไหน แม่บีสารภาพตามตรง คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่แม่บีไม่ชอบที่สุด
โชคดีที่เพื่อนส่งคลิป TED Talk ของคุณโจ โบเลอร์ (Jo Boiler) มาให้ฟัง เขาทำวิจัยเรื่อง การสอนคณิตศาสตร์กับ mindset คุณโจได้ทำการทดลองเล็กๆ โดยให้นักศึกษาไปถามคำถามนี้กับคนในมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าได้วิธีคิดมาเกือบ 20 วิธี
ดังนั้นการหาคำตอบหนึ่ง หรือการไปสู่คำตอบหนึ่ง จึงมีได้หลากหลายวิธี สิ่งที่แม่บีได้จากการฟังคลิปของคุณโจ มี 2 ข้อ คือ
หนึ่ง-คณิตศาสตร์คือการแก้ปัญหา เราไม่สอนการแก้ปัญหา เราเอาปัญหามาให้เขา แล้วให้เขาหาทางแก้ปัญหา แล้วคุยกันว่าเขาคิดอย่างไร เราคิดอย่างไร หัวใจของคณิตศาสตร์อย่างหนึ่งคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่ฟอร์ม (form) ซึ่งหมายถึง ตัวเลข จำนวน หรือการบวกลบคูณหาร แต่เรามักจะสอนฟอร์มให้เด็ก ไม่ได้สอนแก้ปัญหาแบบจริงจัง
สอง-Mistake Grows your Brain
คุณโจ โบเลอร์ ยังเล่าถึงการทดลองที่ทำโดยการแสกนสมองของคนที่กำลังเรียนคณิตศาสตร์ คุณโจเล่าว่า การสอนด้วยวิธีที่ถูกต้อง สมองจะเชื่อมต่อวงจรแค่ไม่กี่วงจร แต่เมื่อเวลาที่ทำผิด สมองจะทำงานอย่างหนักในการหาว่าจะได้คำตอบที่ถูกมาได้อย่างไร มันจะไปพยายามคิดหาวิธี พยายามประมวลผล ในสมองจะทำงานอย่างหนัก ซึ่งการเปิดโอกาสให้กับความผิดพลาดนี้ จะช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงาน และเปิดโอกาสให้เติบโต
แล้วพ่อแม่ผิดพลาดได้ไหม?
อะไรเป็นหัวใจที่แม่บีค้นพบจากการเป็นแม่ full time มา 9 ปี และจัดการศึกษาให้ลูกเองมา 4 ปี
แม่บีพบว่าเป็น “การเปิดพื้นที่ให้ความผิดพลาด” และบางครั้งเปิดโอกาสให้ความล้มเหลว ทั้งเราและลูก เราผิดพลาดแล้วเราหาทางใหม่ด้วยกัน
แม่บีเผลอดุลูกเกินความผิดของเขาอยู่บ่อยๆ เราก็ขอโทษบ่อยๆ
ลูกสาวคนโตของแม่บีเป็นเด็กที่ชอบดนตรี เป็นศิลปินมีอารมณ์อ่อนไหว ตั้งแต่เล็กๆ เขาฟังเสียงเพลงเศร้าๆ เขาก็ร้องไห้ เขาชอบดนตรี ขอเรียนดนตรี แต่วันหนึ่งเขามาขอไปแข่งดนตรี เราสองคน (แม่บีและสามี) คิดแล้วคิดอีก คิดกันหลายตลบว่าการแข่งในช่วงวัย 8 ขวบ จำเป็นกับลูกแล้วหรือยัง การออกจากความสบาย ซ้อมสบายๆ ไปซ้อมหนักๆ เพื่อแข่ง หรือไปเผชิญความกดดัน มันเป็นสิ่งที่ลูกจะรับได้ไหม และสิ่งที่ลึกๆ เรากลัวมากที่สุดในใจของเราคือ ถ้าลูกแพ้ล่ะ เรากลัวว่าลูกจะยอมรับความผิดหวังจากการพ่ายแพ้ไม่ได้
เขาวนเวียนมาขอแข่งหลายครั้ง จนสุดท้ายเราก็ยอมให้เขาไปแข่ง แน่นอนเขาซ้อมหนัก และพยายามอย่างมาก สัปดาห์ก่อนไปแข่ง เขาซ้อมถึง 8 ชั่วโมง เพื่อไปเล่น 1 นาที บนเวที จนวันก่อนไปแข่งเขาซ้อมแล้วมีท่อนที่เล่นกี่ครั้งก็ผิด และเขาข้ามมันไปไม่ได้
ความกดดันจากการแข่งขัน ความไม่อยากแพ้ ไม่อยากผิด ทำให้เขาระเบิดน้ำตาออกมา แม่บีนั่งฟังเขาร้องไห้ ไม่รู้จะพูดอะไรดี วันนั้นเราคุยเรื่องการทดลอง และความผิดพลาด ช่วงที่ลูกไปแข่งเป็นช่วงเดียวกับที่แม่บีกำลังเสนอโครงการที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ เวลาที่แม่บีไปเสนองานแล้วต้องกลับมาแก้เอกสารหน้าคอมพิวเตอร์ บางครั้งทำงานดึกๆ ไม่ได้ไปส่งเขาเข้านอน เขาจะมาถามว่า แม่ทำอะไร แม่บีก็จะเล่าให้เขาฟัง
เป็นเวลาปีกว่าที่แม่บีไปเสนองานแล้วไม่มีแหล่งทุนตอบรับ ต้องกลับมาแก้ไขโครงการ แล้วเสนอใหม่ เขาก็จะมาถามว่าทำไมยังไม่ได้อีก งานแม่ยังไม่ดีเหรอ ทำไมไม่เลิกทำแล้วมาเลี้ยงหนูอย่างเดียว แม่บีบอกเขาว่าจริงๆ บางครั้งก็ท้อแท้ และอยากจะเลิก แต่แม่บีมีความเชื่อและความฝัน พอนึกถึงความฝัน ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว มันเป็นการเรียนรู้ ที่สำคัญคือแม่ยังไม่ยอมแพ้ แม่ยังทำมันต่อไป ถ้าเรายังไม่ได้รับการตอบรับวันนี้ วันหนึ่งเราก็จะได้เอง เราแบ่งปันเรื่องนี้กันในวันนั้น
ระหว่างที่พูดไปแม่บีไม่มั่นใจว่าควรพูดเรื่องความผิดพลาดของตัวเองให้ลูกฟังไหม
เขามองหน้าด้วยคำถามในใจ แม่บีรู้ว่าเขาไม่เข้าใจ แต่เขาก็เช็ดน้ำตาแล้วหันไปซ้อมต่อ แม่บีก็นั่งอยู่ข้างๆ เขาต่อไป
วันไปแข่งวันนั้นเขาไม่ชนะค่ะ เขาทำไม่ได้ตามเป้าที่ตัวเองตั้งไว้ เขาเล่นพลาด แน่นอนว่าเขาเสียใจมาก เขาร้องไห้ เราก็ปลอบใจ ตอนที่เขาร้องไห้ที่ตัก แม่บีพบว่า โห โชคดีจังที่เขาได้เรียนรู้ความล้มเหลวในวันที่ยังมีแม่ เรายังมีโอกาสได้กอดและปลอบใจเขา ได้ฟัง และได้อยู่ข้างๆ กัน แม้จะเป็นการแข่งเล็กๆ แต่มันยิ่งใหญ่มากสำหรับเขา
เขาร้องไห้จนพอใจ ร้องเสร็จก็ปาดน้ำตา แล้วบอกว่า “ปีหน้าหนูขอแข่งอีกได้ไหม” แม่บีงงเล็กๆ เพราะมันไม่ใช่นิสัยปกติของลูก แม่บีถามเขาว่า “แล้วถ้าแพ้อีกหนูจะไม่เสียใจเหรอ” เขาตอบว่า ถ้าหนูแพ้ หนูก็จะซ้อมมากขึ้น แล้วมาแข่งอีก หนูไม่ยอมแพ้ แต่ถ้าหนูเสียใจ แม่จะอยู่ข้างๆ หนูได้ไหม
สิ่งที่เขาได้รับจากการเอาตัวเองออกจากความสบายไปทำเรื่องที่ยากและท้าทาย อาจจะไม่ใช่การชนะ แต่แม่บีว่าวันนั้น เขาได้ข้ามเส้นความเป็นไปไม่ได้ของตัวเอง เขาไม่ใช่เด็กที่มีความสามารถพิเศษติดตัวมา แต่เขาพยายามสร้างมันขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยด้วยตัวของเขา
“แม่บีมองว่าการแบ่งปันความผิดพลาดกับลูกเป็นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกัน เด็กเขาจะทำตามเรา ถ้าพ่อแม่ล้มเป็น พลาดเป็น และไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ลูกก็จะเรียนรู้ไปกับเรา”
แค่โรงเรียนอย่างเดียวพอไหม?
แม่บีขอเล่าเรื่องลูกชายอายุ 4 ขวบบ้าง เขาสนใจเรื่องปลากัด เราพาเขาหาข้อมูล และพาไปหาที่เรียนรู้ แน่นอนพอเด็กสนใจอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถไปที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแล้วถามว่าช่วยสอนเรื่องนี้ได้ไหม เป็นหน้าที่พ่อแม่ที่พาเขาไป เราพาเขาไปพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่มีปลากัดให้ดู เราเลยลอง search google แล้วไปเจอคุณลุงคนหนึ่งชื่อลุงอ๋าเปิดอู่ซ่อมรถ และเป็นเซียนปลากัด
พอดีบ้านคุณลุงอยู่ไม่ไกลจากที่ที่เราอยู่ ก็เลยขับรถพาเขาไป ไปถึงคุณลุงกำลังล้างโหล และเปลี่ยนน้ำให้ปลากัดอยู่ เด็กๆ ก็เลยเข้าไปช่วย ระหว่างช่วยล้างไป ก็คุยกันไป คุณลุงเล่าเทคนิคมากมาย รวมถึงประวัติความเป็นมาของคุณลุง คุณลุงเล่าว่า ที่ผสมสีให้ปลากัดได้มากมายเพราะเป็นช่างซ่อมสีรถ รู้หมดว่าผสมสีอะไรอย่างไร แล้วก็เอาความรู้นั้นมาทดลองกับปลากัด จนได้สีทอง และยังเพาะจนได้สีแบบปลาคาร์ฟ หรือปลาโค่ย
เด็กๆ ฟังไปถามไปอย่างสนุกสนาน ฟังเรื่องคุณลุงไป ล้างโหลไป เปลี่ยนน้ำ เอาใบหูกวางใส่ ทำกันอย่างเพลิดเพลินเป็นชั่วโมง เราซื้อปลากัดราคาเบาๆ ของคุณลุงไปลองเลี้ยงสองตัว เพราะสู้ราคาไม่ไหว กำลังจะก้าวขาออกจากประตู คุณลุงบอกว่าเดี๋ยวก่อนๆ แล้วเดินไปช้อนปลากัดสีทองในตู้ ส่งให้เด็กน้อยวัย 4 ขวบ บอกว่าให้เอาไปลองเลี้ยงดู ลุงบอกว่าอย่าทำมันตายล่ะ
ผ่านไปสองปี ตอนนี้ปลากัดตายไปแล้วค่ะ แต่สิ่งที่ไม่ตายคือแรงบันดาลใจและ passion ที่ลุงมอบให้ลูกชายแม่บี
แม่บีคิดว่าไม่ได้มีคนอย่างลุงอ๋าปลากัด หรือครูเกรียงเพียงแค่คนเดียว แต่ถ้าเราให้คุณค่ากับคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น การเรียนรู้มันก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน
แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าการเรียนรู้ไม่ใช่ภาระของครู โรงเรียน กระทรวงหรือระบบการศึกษา เราอาจจะปฏิรูปไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เราต้อง transform กับมัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้
โลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจะรอพึ่งโรงเรียนอย่างเดียว คงไม่ทัน
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการแม่บีชื่อ Flock แม่บีเชื่อว่ามีคนที่มีคุณค่าอย่างครูเกรียง ลุงอ๋าเลี้ยงปลากัดมากมาย เราควรออกจากกรอบ อย่ามองว่ามันเป็นภาระของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว
ของขวัญจากคุณครู
‘ครูมิ้น’ สุรัสวดี นาคะวะรัง ครูแนะแนว โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
เชื่อว่าในชีวิตของคุณครูแต่ละคน ได้พบเจอกับนักเรียนมากมายหลากหลาย ถ้าลองนับเป็นเลขกลมๆ ครูน่าจะเจอเด็กนักเรียนมาแล้วนับหลักพันแตกต่างกันไป
มิ้นเองก็เช่นกัน เราเจอนักเรียนมากมายหลากหลาย เชื่ออย่างหนึ่งว่าการที่ครูได้พบเจอเด็กสักคน ครูต้องให้อะไรบางอย่างแก่เด็กคนนั้น ไม่ว่าความรู้หรือการอบรมสั่งสอนให้เขากลายเป็นเด็กที่ดี
วันนี้จะอยากพาทุกคนมารับฟังเรื่องราวของเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กผู้หญิงมีพฤติกรรมชอบส่งงานช้า งานที่ส่งไม่ค่อยมีคุณภาพ ดูเหมือนจะไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบคุยเล่นกับเพื่อนบ้าง มีความเสี่ยงที่เขาอาจจะเรียนไม่ผ่านวิชานี้ เพราะเขาส่งงานที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
ในความคิดของคุณครูทุกท่าน เด็กคนนี้เป็นยังไงบ้าง
อาจจะรู้สึกว่าเธอขี้เกียจจังเลย เธอไม่น่ารักจังเลย หรืออาจจะมองเขาว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ
หลายท่านก็น่าจะคิดแบบนี้ แต่มีคุณครูอยู่ท่านหนึ่งที่ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาคิดว่าน่าจะลองเข้าไปคุยสอบถามกับเด็กคนนี้ดูก่อน จนได้คำตอบว่าเด็กคนนี้รู้สึกแย่ รู้สึกอายทุกครั้งที่เขาทำงานที่ครูมอบหมายให้ออกมาไม่ดี กลัวคุณครูมองว่าตัวเขา เป็นเด็กที่ไม่ฉลาด ไม่เก่ง แม้เขาจะคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อกับงานที่ครูสั่งมา ทำอย่างไรให้งานออกมาดีที่สุดแล้วก็ตาม
มัวแต่คิดๆ แล้วก็คิดๆ จนหมดเวลาและไม่ได้ส่งงาน ก็ต้องเร่งทำให้เสร็จ ทำให้งานไม่มีคุณภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีแต่ความเครียด ความกดดัน ความคาดหวังในตัวเอง อยากเป็นเด็กที่ทำให้ครูประทับใจ
พอครูรู้เช่นนี้ ครูคิดแล้วว่าเด็กคนนี้ต้องการความช่วยเหลือ ครูจึงปลุกปั้นพลัง ให้กำลังใจ และพูดเพียงประโยคเดียวว่า ครูเชื่อว่าเราทำได้ จากเด็กที่ดูจะเรียนไม่จบพร้อมเพื่อน ดูทำงานไม่ทัน สุดท้ายเขาก็เรียนผ่านมาได้ แถมยังจบไปพร้อมกันกับเพื่อนอีกด้วย
มันก็เลยทำให้มิ้นคิดอย่างหนึ่งว่า สิ่งเหล่านี้มันเหมือนของขวัญที่ครูให้กับนักเรียน ทำให้เด็กที่คิดว่าชีวิตเขามีแต่ความมืด ถูกตัดสินว่าเป็นเด็กที่ไม่ดี เพียงแค่ครูคนหนึ่งเชื่อมั่นในตัวเขา มันช่วยปลุกปั้นแสงสว่างในตัวเขาขึ้นมา
ถ้าคิดในทางกลับกัน เด็กคนนี้ไม่ได้เจอกับครูคนนี้ ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร?
มิ้นคิดว่าเด็กคนนั้นคงรู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป
ทุกคนอาจจะคิดว่ามิ้นเป็นครูคนนั้นใช่ไหมหรือเปล่า – แต่ไม่ใช่ มิ้นเป็นนักเรียนคนนั้น
มิ้นเคยเป็นนักเรียนที่ล้มเหลวเคยถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เป็นนักเรียนที่ดูไม่ตั้งใจเรียน แต่เพราะของขวัญที่ครูท่านนั้นยื่นมาให้ ทำให้มิ้นรู้ว่าเรายังมีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่
ของขวัญชิ้นนี้ทำให้เราเรียนรู้ความผิดพลาดของเรา และทำให้มิ้นรู้ว่าถ้ามิ้นไปสอนเด็กคนไหนก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่ง/ไม่เก่ง เป็นเด็กดี/ไม่ดี ในสายตาของใคร สิ่งที่มิ้นจะทำกับเขา คือการหยิบยื่นโอกาสมองเห็นแสงสว่างในตาของเขา และเชื่อมั่นในตัวเขา
“เพราะกว่าเด็กหนึ่งคนจะเติบโตขึ้นมา ไม่มีใครหรอกค่ะที่ไม่เคยผิดพลาด ทุกคนล้วนผ่านการผิดพลาดมาแล้ว แต่จะมีครูสักกี่คนที่ให้โอกาสกับความผิดพลาดของเด็กๆ”
“มันเป็นเรื่องน่ากลัว ที่เด็กๆ ในโรงเรียนกลัวที่จะผิด กลัวที่จะพลาด เขาอยากเป็นที่หนึ่ง แม้ในโรงเรียนจะมีความหลากหลายมากมาย แต่มีเพียงสองเครื่องหมายเท่านั้นคือถูกกับผิด ซึ่งมันไปปิดกั้นความอยากเรียนรู้ของนักเรียน”
อยากชวนทุกๆ คน ส่งมอบของขวัญให้กับเด็กๆ ทุกคน
ให้พวกเขาได้รับโอกาส
ให้พวกเขาได้รับแสงสว่างในตัวเอง
ย้อนกลับมาในห้องเรียน ครูหลายๆ ท่านอาจจะตั้งคำถามว่าก็ไม่ได้สอนวิชาแนะแนว ไม่ได้สอนวิชาเสรี จะไปทำอะไรได้ มันไม่ได้ง่ายแบบที่ครูมิ้นทำ
แต่จะบอกคุณครูทุกๆ กลุ่มสาระทุกท่านว่า ครูทุกคนมีความสำคัญกับเด็กๆ มาก ทุกท่านมีหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็กๆ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ครูทุกท่านช่วยพาเด็กค้นหาตัวเองผ่านวิชาที่ครูสอนได้ บางครั้งเด็กไม่จำเป็นต้องเก่งในวิชาของครู แต่ครูก็อาจจะช่วยให้เขาเข้าใจว่า แม้วิชานี้เด็กไม่ถนัด แต่เขายังมีวิชาอื่นที่เขามีความถนัดอยู่
แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะว่าประเทศของเรายังมีเกณฑ์ที่วัดเด็กแบบเดียว ทั้งๆ ที่เด็กไทยมีความหลากหลายเกินกว่าจะเอาเกณฑ์เพียงเกณฑ์เดียวมาวัดและตัดสิน ซึ่งมันจะดีมากๆ ถ้าเด็กทุกคนได้รับการยอมรับจากความสามารถของเขาที่หลากหลาย ไม่ใช่การถูกตัดสินของคุณครูว่าเขาเก่งหรือไม่เก่งอะไร
มิ้นเชื่อว่าตอนนี้มีครูหลายๆ ท่านที่กำลังส่งมอบของขวัญให้กับเด็กๆ อยู่
มิ้นอยากจะขอบคุณคุณครูทุกท่านที่กำลังทำหน้าที่นี้ มันไม่ง่ายเลยที่จะมอบของขวัญเหล่านี้ท่ามกลางความสิ้นหวัง ความเหนื่อยยาก และสายตาที่คนอื่นๆ มองมา แต่เชื่อเถอะว่าของขวัญที่ครูทุกคนมอบให้กับนักเรียนเราไม่ได้มอบให้กับตัวเขาแค่คนเดียว แต่เขาเองจะเป็นของขวัญให้กับสังคมของเราอีกต่อไป และเขาเองจะทำหน้าที่ส่งมอบของขวัญให้กับคนอื่นอีกมากมาย เหมือนที่มิ้นได้รับของขวัญจากคุณครูคนนั้น
อาตมาผู้สอนวิชาพลังงานทดแทน
พระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ โรงเรียนเสียดายแดด
อาตมามาในนามของโรงเรียนเสียดายแดด ได้นำเรื่องของโซลาร์เซลล์มาบูรณาการในชั้นเรียน วิชาที่อาตมาสอนคือพลังงานทดแทนหรือโซลาร์เซลล์และจัดเข้าไปในหลักสูตร โดยอาตมาเขียนตำราเป็นวิชาเพิ่มเติมเข้าไป
ย้อนไปปี 2553 ตอนที่อาตมาเปิดโรงเรียนแรกๆ ท่ามกลางกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาหาว่าเราเป็นโรงเรียนเถื่อน เป็นพระที่ไม่มีความรู้แล้วจะมาจัดการศึกษาอย่างไร ไม่มีใครอยากเข้ามาเรียน
ช่วงแรกมีเด็ก 96 คน ระดับชั้น ม.1 – ม.4 แต่เมื่อสอนๆ ไป ปีถัดมาเด็กก็เข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น แต่อาตมาไม่มีพื้นที่เรียน ต้องมาปั้นบ้านดินเพื่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เพราะไม่มีใครให้การสนับสนุน
เมื่อเปิดสอนจริงจังอาตมาก็คิดไม่ออก ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ก็เลยไปเปิดข้อมูลอ่านว่า การจะพัฒนากำลังคนในประเทศชาติต้องทำอย่างไร และดึงปัญหาออกมาช่วยชาติได้อย่างไร จึงพบข้อมูลมากมาย ทั้งเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหายาเสพติด ท้องก่อนวัย คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ขาดศีลธรรม ดังนั้นถ้าเราคิดจะทำโรงเรียนทั้งที ก็น่าจะไปตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้อาตมาทำมาตลอด 8 ปี ไม่เคยหยุด
ปัญหาที่อาตมาพบคือ วัยแรงงานเริ่มไม่ค่อยมีทักษะและฝืมือในการทำงาน ด้วยความที่อาตมาเป็นช่าง เป็นนักประดิษฐ์ ก็เลยไปขอแผ่นโซลาร์เซลล์ที่แตก ชำรุดแล้วมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน สำหรับสอนวิชาต่อวงจรไฟฟ้าให้นักเรียน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ
รวมถึงอาตมาก็สอนทฤษฎีต่างๆ ไปด้วย เช่น สอนเรื่องกฏของโอห์ม เรื่องการหาความเอียง ความชัน ทำให้เด็กเห็นว่าถ้าทำแบบนี้ เสาข้างหน้าสูง 1 มือ เอียง 15 องศา เสาข้างหลังจะเอียงเท่าไร ประยุกต์ความรู้ไป
ให้เด็กรู้สึกว่าเรียนแล้วได้ใช้งานจริง
กระทั่งมีคนมาศึกษาดูงานที่โรงเรียนแล้วบอกว่า
‘โรงเรียนศรีแสงธรรมมีลักษณะเป็น STEM โดยธรรมชาติ’ อาตมาก็ไม่รู้ว่า STEM คืออะไร อาตมาก็แค่พาเด็กทำ พาเด็กสร้างนวัตกรรม ทำโซลาร์เซลล์ และจำลองระบบโซลาร์เซลล์ ทำทุกอย่างไว้ในโรงเรียน ทุกอาคารในโรงเรียนจะมีการติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ทั้งหมด
ถ้ามองการแก้ปัญหาระดับชาติ ระดับชุมชน ผู้ปกครองบางคนเองก็ยังไม่อยากให้เด็กมาเรียน แต่อาตมาบอกเลยว่าถ้าไม่อยากมาเรียนที่นี่ก็อย่ามา เพราะที่นี่มีที่เพียง 25 ที่ รับเด็กได้เพียง 25 คนเท่านั้น ถ้าจะเข้ามาเรียนต้องตอบอาตมาให้ได้ก่อนว่าอยากจะเรียนคณะอะไร
รวมถึงปัญหาการไม่มีเงินอุดหนุนมาก เงินอุดหนุนให้มาปีละ 3 แสน แต่อาตมาต้องจ่ายเดือนละ 3.2 แสน ถ้าไม่มีผ้าป่า โรงเรียนนี้ติดลบไปนานแล้ว เพราะเงินอุดหนุนกับงบมันไม่ไปด้วยกัน เราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค แต่ถ้ารอแต่คนมาบริจาค แล้วอาตมาตายไป ใครจะมาบริจาค
จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน อาตมาจึงให้เด็กๆ ออกไปทำงาน รับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามสถานที่ต่างๆ
เพราะเด็กที่มาเรียนกับอาตมาอยู่ฟรี กินฟรี มีรถรับส่งฟรีอยู่แล้ว ดังนั้นต้องออกไปทำงานช่วงปิดเทอม หรือไม่ก็ช่วงเสาร์อาทิตย์ จะได้มีเงินซื้ออาหารกลางวัน แม้ปกติก็ทำนาอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพอเพราะเราก็ต้องซื้อหมูซื้อไก่กิน
โดยที่เด็ก ม.1-3 อาตมาจะให้เขาเป็นผู้ช่วยอบรม ส่วนพี่ๆ ม.4-5 ก็จะออกทำงานติดตั้ง เคยไปทำไกลสุดที่ภูเก็ต กรุงเทพฯ ก็เคยไป ส่วนสถานที่สาธารณะก็เคยไปติดให้ เช่น โรงพยาบาลต่างๆ
มีคนมาถามว่าอาตมาอยากทำอะไรให้ประเทศอีก อาตมาอยากติดแผงโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลรัฐ 800 แห่ง ทั่วประเทศโดยใช้งบประมาณติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 4,320 ล้าน แต่จะช่วยลดค่าไฟของรัฐได้ 28,800 ล้าน แต่เป็นเรื่องที่กำลังดำเนินงาน ไม่รู้ว่าจะอย่างไร
ส่วนผลการศึกษา โรงเรียนศรีแสงธรรมมีเด็กจบออกไปแล้ว 6 รุ่น สอบติดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 100 เปอร์เซ็นต์ ติดเยอะหน่อยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะในโรงเรียนอาตมาคิดว่าเหมือนสอนเตรียมความถนัดทางวิศวะ เรามีการสอน coding เขียนโปรแกรม เขียน AI เรียนการทำฮาร์ดแวร์ เพราะอาตมาเห็นว่าเทคโนโลยีมันไปไกลมากในยุคดิจิทัล ก็เลยพาเด็กเรียนเรื่องพวกนี้ นั่นแปลว่าที่หมู่บ้านดงดิบ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลที่โรงเรียนศรีแสงธรรมตั้งอยู่) จะมีวิศวกรที่เรียนจบพร้อมกัน 5 คน ถือเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของหมู่บ้านนี้ เป็นสิ่งที่อาตมาพอใจแล้ว เพราะอาตมาไม่ได้เรียนหนังสือ และสุดท้ายคือเราสามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้ ลดค่าไฟได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ค่าไฟในโรงเรียนเหลือ 40 บาท จากเดิม 14,000 บาท
ตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่ก็คือการเตรียมพัฒนาเด็กให้เรียนรู้ ทั้งระบบการซื้อขายไฟ ในรูปแบบบ้าน-บ้าน ซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านบิตคอยด์ในอนาคต
ที่ทำทั้งหมดทั้งมวล มีสิ่งที่อยากจะบอกคือ อาตมาทำทุกอย่างด้วยใจ อาตมาไม่ได้เรียนสูงจบแค่ ม.5 จึงอยากให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ได้เรียน โดยที่ไม่ต้องคิดว่าตัวเองมีข้อจำกัดอะไร
ถ้าถามว่าทำไมถึงยอมขาดทุน เพราะอาตมาไม่เคยหวังว่าอาตมาจะได้อะไรจากเด็กนักเรียน แต่หวังแค่ว่าเด็กนั่นแหละจะได้อะไรจากอาตมา
ความไว้ใจสร้างตัวตน
ชุติกาญจน์ กนกกันทรากร นักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ
ต้องบอกก่อนว่าแต่ก่อนหนูเป็นเด็กขี้อายมาก ไม่กล้าแสดงออก ถ้าให้ขึ้นมาพูดแบบนี้ ไม่เอาเลย ไม่พูดจนคนคิดว่าเป็นใบ้ไปแล้วก็มี แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าเด็กขี้อายแบบหนูพอกลับไปบ้าน หนูจะพูดไม่หยุดเลย หนูจะเล่าทุกเรื่องในแต่ละวันที่หนูไปเจอมาให้พ่อแม่ฟังทุกวันโดยไม่เบื่อ เพราะพ่อแม่จะใส่ใจและเอ็นจอยไปกับทุกเรื่องของหนู ถึงแม้บางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกของพวกเขาก็ตาม
ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ พ่อแม่จะพาหนูกับน้องไปเล่นไปทำกิจกรรมใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งมันทำให้หนูสนิทและสบายใจ ที่จะเล่าทุกเรื่องให้พ่อแม่ฟัง
จริงๆ มันก็ไม่แปลกนะ ถ้าเด็กคนหนึ่งจะมี 2 บุคลิกเพราะสภาพสังคมรอบข้างเขาต่างกัน สิ่งที่หนูกลัวที่สุด คือความกดดัน ยิ่งถูกดดันจะยิ่งไม่กล้า แต่พ่อแม่หนูแทบจะไม่เคยกดดันหนูเลย มีแต่เชื่อมั่นว่าเมื่อหนูโตขึ้นไป หนูก็จะพูดได้เอง และไม่เคยกังวลว่าหนูจะขี้อายไปตลอดชีวิต เพราะพ่อแม่ไว้ใจและสร้างพื้นที่ให้หนูมาตั้งแต่เด็ก จนหนูเข้าโรงเรียนมัธยม หนูเห็นเพื่อนทำกิจกรรมในโรงเรียนโดยการเป็นพิธีกร หนูเห็นแล้วอยากทำบ้าง เพราะใจจริงอยากพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น แต่มันติดอยู่กับความขี้อาย ไม่อยากทำเพราะกลัวคนที่เก่งกว่า หนูเป็นมือใหม่หัดพูด แต่ต้องไปพูดต่อหน้านักพูดเก่งๆ มันจะมีความกดดันเป็นธรรมดา
แต่โรงเรียนหนูเหมือนมีเซนส์อะไรบางอย่างที่รู้ว่าเด็กต้องการอะไร
การเป็นพิธีกรของหนู เปิดโอกาสโดยครูท่านหนึ่ง ครูแค่ไว้ใจ และเชื่อว่าหนูจะทำออกมาได้ดี ทั้งๆ ที่หนูยังไม่เคยทำผลงานอะไรออกมาให้เขาเห็นเลย
จากโอกาสครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกความกล้าแสดงออกของหนู และหนูฝึกมันมาเรื่อยๆ จนได้มายืนอยู่บนเวทีนี้ เพราะครูเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และครูก็นำศักยภาพเหล่านี้มาพัฒนาต่อ
ดังนั้นการสอน จะไม่ได้สอนให้เด็กทุกคนเหมือนกัน แต่จะสนับสนุนสิ่งที่เด็กทำได้ดีมากกว่า
สำหรับหนู ครูเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เพราะเวลาหนูมีเรื่องอะไร หนูสามารถคุยกับครูได้ทุกเรื่อง เหมือนพ่อแม่คนที่สอง มันจึงทำให้โรงเรียนกลายเป็นบ้านหลังที่สองเช่นกัน
เชื่อไหมว่า หนูเป็นเด็กที่อยากไปโรงเรียนทุกวันด้วยความเต็มใจ เพราะอยากรู้ว่าในแต่ละวันโรงเรียนจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราอีก ล่าสุดตอนเปิดเทอม ม.3 มาหนูต้องเจอกับปัญหาที่เด็ก ม.ต้นไม่ควรหนักใจ คือ การสมัครงาน ครูทำเหมือน ม.3 เป็นทีวีช่องหนึ่ง ที่มี 3 รายการ คือ ข่าว สารคดี และนิตยสารทีวี ถ้าใครอยากทำห้องไหน ก็แค่ทำเรซูเม่ส่งให้เหมาะสมตามตำแหน่งที่ตัวเองอยากเข้า
หนูตื่นเต้นมากว่าเด็ก ม.3 จะผ่านไหม แต่ก็ชอบที่โรงเรียนมีเซอร์ไพรส์ตลอด
หรือแม้กระทั่งการสั่งงาน ล่าสุดหนูไปอยู่กับชุมชนริมแม่น้ำโขงเป็นเวลา 5 วัน ไปอยู่ในที่ที่ลำบาก เพราะเวลาเราโตขึ้นเราจะได้ไม่บ่นกับมันมาก ไปอยู่กับชาวบ้าน ไปดูว่าวิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร กำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ เช่น ชาวบ้านที่ประสบปัญหาหาสัตว์น้ำไม่ได้ ครูจะพาเราคิดต่อว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในวงจรปัญหานี้หรือเปล่า จากนั้นก็คิดช่วยแก้ไข โดยการทำออกมาในรูปแบบสื่อสารคดีประชาสัมพันธ์ หนังสั้น หรือทำหนังสือ
หนูจะไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้เลย ถ้าโรงเรียนไม่ให้อิสระและความไว้วางใจ ให้ลงมือทำงานด้วยตัวเอง
นอกจากนั้นหนูมีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฟินแลนด์ ที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
หนูพบว่ามันมีสิ่งแปลกใหม่ที่ต่างจากประเทศไทยและน่าสนใจ เช่น เวลาเปลี่ยนคาบเรียนจะใช้วิธีเดินเรียน ย้ายไปเรียนตามแต่ละวิชา โดยมีครูประจำวิชาอยู่แต่ละห้อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ห้องเรียนมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเรียนต่างๆ บวกกับจำนวนเด็กที่น้อยทำให้ครูดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการประเมินเด็กที่ลดการเปรียบเทียบระหว่างกัน เพราะจะมีแค่ครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเองเท่านั้นที่รู้ และพื้นที่ทำงานที่ไม่ได้มีแค่โต๊ะและกระดาน เด็กๆ สามารถใช้พื้นที่รอบๆ โรงเรียนคิดงาน นั่งทำงานได้ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนั้นโรงเรียนในฟินแลนด์ยังแบ่งเวลาพักกับเวลาเรียนเท่าๆ กัน อีกด้วย เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างไปทำประโยชน์อื่นๆ
แต่เขามั่นใจได้อย่างไร ถึงกล้าและไม่กลัวว่าเด็กจะเอาเวลาว่างเหล่านั้นไปทำอย่างอื่น
ท่านทูตไทยที่ฟินแลนด์ ตอบหนูสั้นๆ เพียงว่า เพราะความไว้ใจ
ครูไว้ใจเด็ก เพราะแค่ให้ความไว้ใจและอิสระแก่เด็ก จะทำให้เด็กเรียนรู้บางอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง เหมือนที่หนูได้รับความไว้ใจจากพ่อแม่ ครู โรงเรียน
“หนูไม่รู้ว่าการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกคืออะไร แต่สำหรับหนูการศึกษาที่ดี ขอแค่มันดีกับเด็กและทำให้เด็กเป็นคนดีก็พอแล้ว”
อาจจะเริ่มจากการไว้ใจคนใกล้ๆ ตัวก่อน เช่น พ่อแม่หรือครูของหนู เพราะหนูเชื่อว่าความไว้ใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตและยิ่งใหญ่กว่าที่ทุกคนคิด
และเชื่อมั่นว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ในโรงเรียนเท่านั้น พ่อแม่ หรือโรงเรียนก็มีส่วนช่วยทำให้เด็กไทยเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์
เอาใจช่วยการศึกษาไทยนะคะ