- วิธีการแบบเปิด (Open Approach) เป็นแนวคิดที่ครูในประเทศญี่ปุ่นนิยมใช้กัน เป็นแนวคิดที่ทำให้ครูพัฒนาการสอนของตนเองไปพร้อมๆ กับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
- “เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ โจทย์หนึ่งโจทย์อาจไม่มีวิธีหาคำตอบเพียงวิธีการเดียว ถ้าเราเน้นที่กระบวนการ เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีหาคำตอบที่หลากหลาย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เราจะได้เห็นกระบวนการคิดของพวกเขา ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นเพียงคนยื่นโจทย์ให้และคอยเฝ้าสังเกตการณ์”
- เปิดห้องเรียนของ ครูโสม ชฎาณิศ คำจันทร์ โรงเรียนบ้านนาขนวน ที่ใช้กระบวนการ Lesson Study และวิธีการแบบเปิด Open Approach ในวิชาคณิตศาสตร์ที่จะนำไปสู่สมรรถนะการคิดขั้นสูง โจทย์ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการแก้โจทย์ปัญหา ได้พื้นฐานคณิตศาสตร์ และสามารถนำไปใช้ได้ หรือที่เรียกว่า ‘การเชื่อมโลกจริง เข้ากับโลกทางคณิตศาสตร์’
โลกของคณิตศาสตร์ เชื่อมโยงไปสู่ทักษะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างมีเหตุผล และคิดวิเคราะห์ ซึ่งล้วนเป็นสมรรถนะการคิดขั้นสูง ที่ถูกพูดถึงในหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยมีกรอบแนวคิด คือ สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารญาณบนหลักเหตุผลอย่างรอบด้าน โดยใช้คุณธรรมกำกับการตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ มีความสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ใช้จินตนาการและความรู้สร้างทางเลือกใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีเป้าหมาย
จะเห็นว่า การคิดช่วยให้เราสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ หรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ในชั้นเรียนนั้น คุณครูสามารถช่วยเสริมทักษะการคิดขั้นสูงได้ โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด Open Approach ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครูในประเทศญี่ปุ่นนิยมใช้กัน เป็นแนวคิดที่ทำให้ครูพัฒนาการสอนของตนเองไปพร้อมๆ กับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
บทความนี้ถอดความจากเวที Online PLC Coaching ของเครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โดยเรื่องเล่าจากครูต้นเรื่อง ผ่านห้องเรียน ‘การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ด้วยกระบวนการ Lesson Study และวิธีการแบบเปิด Open Approach บนฐานสมรรถนะ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5’
นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เป็นนวัตกรรมสำหรับพัฒนาวิชาชีพครูที่ได้รับการยอมรับจากนักการศึกษาทั่วโลก และนำไปปรับใช้ในประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ได้ปรับใช้เป็นวงจรการพัฒนาวิชาชีพครู 3 ขั้นตอน ได้แก่ การร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนรู้ การร่วมกันสังเกตชั้นเรียน และการ่วมกันสะท้อนผล
ส่วนวิธีการแบบเปิด หรือ Open Approach คือการเน้นกระบวนการแก้ปัญหาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการคิดของผู้เรียน เป้าหมายสำคัญของแนวคิดการสอนด้วยวิธีการแบบเปิดนั้น คือการที่เด็กๆ เรียนคณิตศาสตร์ ด้วยพลังและความสามารถของแต่ละคน ครูจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีคิดของเด็กๆ
“จากที่ได้ Reflection ชั้นเรียนที่เน้นการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีกาารแบบเปิด (Open Approach) คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถคิดได้เองจนไปถึงขั้นคิดขั้นสูง” ผศ.ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา พูดถึงการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ได้สมรรถนะการคิดขั้นสูงในเวทีนี้
“เราต้องเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ โจทย์หนึ่งโจทย์อาจไม่มีวิธีหาคำตอบเพียงวิธีการเดียว ถ้าเราเน้นที่กระบวนการ เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีหาคำตอบที่หลากหลาย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เราจะได้เห็นกระบวนการคิดของพวกเขา ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นเพียงคนยื่นโจทย์ให้และคอยเฝ้าสังเกตการณ์”
การเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็ก จะทำให้พวกเขามีอิสระทางความคิด เด็กๆ ได้พูดมากขึ้น พร้อมๆ กับรับฟังมากขึ้น เรียนรู้ความคิดที่แตกต่างจากเพื่อนในชั้นเรียน เพื่อทำความเข้าใจและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากของตัวเอง ขณะเดียวกันครูก็พูดน้อยลง เน้นการสังเกตการณ์
โจทย์ปัญหาท้าให้คิด เชื่อมโลกจริงกับโลกคณิตศาสตร์
การใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ในการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงในวิชาคณิตศาสตร์ การวางบทบาทของครูก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องนึกถึงด้วย นอกจากครูจะต้องเปลี่ยนจากผู้สอนเป็นโค้ชแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจใช้คำถามหรือคำพูดในการกระตุ้นคิด
โดยในห้องเรียนของ ครูโสม ชฎาณิศ คำจันทร์ ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านนาขนวน ครูโสมใช้กระบวนการ Lesson Study และวิธีการแบบเปิด Open Approach ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่จะนำไปสู่สมรรถนะการคิดขั้นสูง ซึ่งโจทย์สุดท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการแก้โจทย์ปัญหา ได้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และสามารถนำไปใช้ได้ หรือที่เราเรียกว่า ‘การเชื่อมโลกจริง เข้ากับโลกทางคณิตศาสตร์’
“ชั้นเรียนนี้เป็นของ ป.5 ซึ่งเรียนถึงเรื่องการหารจำนวนเต็มกับทศนิยม เรามองว่าเป็นเรื่องที่ยาก ทำอย่างไรเด็กๆ ถึงจะแก้ปัญหาการหารได้ ทีมงานครูคณิตศาสตร์ก็มาช่วยกันออกแบบและวางแผนเลยพยายามที่จะเอาสื่อจริงมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเกิดแนวคิดที่จะแก้ปัญหานี้ได้”
ในที่สุดก็ได้แผนการเรียน 1 ชั่วโมง เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘แบบไหนคุ้มค่า คุ้มราคา’ ครูโสมวางจุดประสงค์ของชั่วโมงนี้ว่า เด็กๆ จะสามารถหารจำนวนเต็มด้วยทศนิยมหนึ่งตำแหน่งได้ และแสดงประโยคสัญลักษณ์ได้ถูกต้อง แสดงวิธีการแก้ปัญหา วิธีการหาคำตอบได้หลากหลายแนวคิด
ในแผนการเรียนรู้ ครูโสมมีสถานการณ์คำถามมาให้เด็กๆ ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่พพอดี จึงใช้โจทย์ที่ว่า คุณแม่อยากจะจัดงานเลี้ยงปีใหม่ จึงไปซื้อน้ำผลไม้ยี่ห้อหนึ่งที่ซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีอยู่ 2 ขนาด 2 ราคา ให้เลือก คือ ขนาด 2 ลิตร ราคา 390 บาท และขนาด 1.6 ลิตร ราคา 320 บาท เด็กๆ ช่วยคุณแม่คิดหน่อยว่าจะซื้อขนาดไหนดี จึงจะคุ้มค่าคุ้มราคา? โดยจะคาดเดาแนวคิดของเด็กๆ ไว้ 5 แนวคิด
“แนวคิดที่หนึ่งกับสองจะเป็นการเขียนประโยคสัญลักษณ์ ซึ่งคาดว่าเด็กๆ จะเขียนประโยคสัญลักษณ์อันแรก คือ การหารจำนวนเต็มด้วยจำนวนเต็ม 390 ÷ 2 กับการหารจำนวนเต็มด้วยทศนิยม 320 ÷ 1.6 และการแสดงการหารอีกสามแนวคิด คือ การหารแนวตั้งของ 390 ÷ 2, การเพิ่มขึ้น 10 เท่า เนื่องจาก 10 เท่า ของ 0.1 ลิตร คือ ราคาของน้ำส้ม 1 ลิตร และแนวคิดสุดท้ายคือ การทำให้เป็นจำนวนเต็มทั้งตัวตั้งและตัวหาร โดยนำไปคูณ 10 เพื่อให้ตัวตั้งและตัวหารเพิ่มขึ้น ตัวหารก็จะเป็นจำนวนเต็มที่สามารถใช้หารได้โดยที่ผลหารไม่เปลี่ยนแปลง”
ในขั้นตอนการจัดกิจกรรม จะมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ตามการสอนด้วยศาสตร์แบบองค์รวม : วิธีการสอนแบบเปิด (Open Appoach)
- ขั้นที่ 1 ครูให้สถานการณ์ปัญหา โดยให้เด็กออกมาทดลองเทน้ำผลไม้ใส่เหยือก ปริมาณ 2 ลิตร กับ 1.6 ลิตร ในราคาที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การเปรียบเทียบว่า แบบไหน คุ้มค่าคุ้มราคา กว่ากัน โดยใช้คณิตศาสตร์มาแก้โจทย์สถานการณ์ปัญหานี้
- ขั้นที่ 2 นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูคอยสังเกตและบันทึกแนวคิดในขณะที่นักเรียนแก้โจทย์สถานการณ์ปัญหา
- ขั้นที่ 3 อภิปรายทั้งชั้นเรียน ครูจัดกลุ่มแนวคิดของนักเรียน และวางแผนลำดับแนวคิดที่ต้องการนำเสนอ
- ขั้นที่ 4 สรุปเชื่อมโยงแนวคิด ครูร่วมกับนักเรียนจัดระบบกลุ่มแนวคิดที่ได้ในการแก้โจทย์สถานการณ์ปัญหาในครั้งนั้น และเชื่อมโยงสู่สาระสำคัญของแผนการเรียนรู้ จากนั้นให้นักเรียนเขียนสรุป
ในการเขียนประโยคสัญลักษณ์นั้น เด็กๆ เขียนออกมา 2 แบบ ด้วนกัน แบบแรก คือ 195 ÷ 10 กับ 20 ÷ 10 และแบบที่สอง 390 ÷ 2 กับ 320 ÷ 1.6
เด็กกลุ่มที่เขียนประโยคสัญลักษณ์แบบแรก อธิบายวิธีคิดว่า “นำ 2 ลิตร มาหารกับราคาน้ำผลไม้ 390 บาท แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปหารกับ 10 (10 มาจาก 10 ขีดของ 1,000 มิลลิลิตร) จะได้ 19.5 และนำ 1.6 มาหารกับราคาน้ำผลไม้ 320 บาท นำผลลัพธ์ไปหารกับ 10 จะได้ 2 สรุปว่า ขนาดที่ 1 100 มิลลิลิตร เท่ากับ 19.5 บาท ขนาดที่ 2 100 มิลลิลิตร เท่ากับ 2 บาท ดังนั้นขนาดที่ 2 คุ้มค่าคุ้มราคามากกว่า”
ส่วนกลุ่มที่เขียนประโยคสัญลักษณ์แบบที่สองนั้น ใช้วิธีการหารทศนิยมกับจำนวนเต็ม ซึ่งต้องทำให้ทศนิยมเป็นจำนวนเต็มก่อน โดยเพิ่มจำนวนเท่าๆ กันทั้งตัวตั้งและตัวหาร เพื่อทำให้ผลหารไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่าง 320 ÷ 1.6 นำ 320 x 10 และ 1.6 x 10 จะได้ 3200 ÷ 16 = 200
“สรุปได้ว่า ทุกกลุ่มเลือกขนาด 2 ลิตร ราคา 390 บาท เหมือนกัน โดยให้เหตุผลว่า เมื่อนำมาหารเพื่อให้ได้ 1 ลิตร เท่ากัน ขนาด 2 ลิตร ราคา 390 บาท ราคาต่อ 1 ลิตร จะอยู่ที่ 195 บาท ส่วนขนาด 1.6 ลิตร ราคา 320 บาท จะมีราคาต่อลิตรอยู่ที่ 200 บาท ดังนั้น น้ำผลไม้ขนาด 2 ลิตร ราคา 390 บาท จึงคุ้มค่าคุ้มราคามากกว่า”
ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุด คือ การที่เด็กได้คิดด้วยตัวเอง
ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ หรือ ครูแอน ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ให้คำแนะนำในการจัดชั้นเรียนการคิดขั้นสูงและการพัฒนาทักษะการคิดที่นำไปสู่สมรรถนะต่างๆ ว่า
“ในคาบเรียนของครูโสมนั้น เป็นการฝึกให้เด็กแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยใช้เป็นสถานการณ์เข้ามาเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ได้ลองทำ แต่ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดว่า เขาสามารถซื้อของที่คุ้มค่าคุ้มราคาจริงๆ เพราะยังมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องเพิ่มเติม อย่างการบูรณาการสิ่งที่เรียนรู้ในครั้งนี้ว่าสามารถเรียนรู้และนำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง เช่น เราบอกว่าเป้าหมายเราต้องการให้เขาสามารถที่จะซื้อของที่มีความคุ้มค่าในชีวิตประจำวันของเขาได้ นั่นคือเขานำไปแก้ปัญหาในโลกจริงของเขา”
การหารได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กๆ รู้ว่าสิ่งนั้นมีปริมาตรเท่าไร และสามารถซื้ออย่างคุ้มค่าได้ ซึ่งเป็นการให้เหตุผลในเชิงปริมาณอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันความคุ้มค่าต้องมีเหตุผลเชิงคุณภาพประกอบการตัดสินใจด้วย
“ของแพงกว่าไม่ได้หมายความว่าจะไม่คุ้มค่านะ ของถูกก็ไม่ได้ดีเสมอไป ทำอย่างไรเขาจะมีมิติของการคิดในการแก้ปัญหาและให้เหตุและผล เขารู้แหละว่าอันนี้มันมีปริมาณมากกว่า แต่ของบางอย่างมันมีคุณภาพมากกว่า เป็นต้น
เอาคณิตศาสตร์ไปช่วยแก้ปัญหาเชิงปริมาณ ในขณะเดียวกันก็มีการแก้ปัญหาเชิงคุณภาพ ให้แสดงความคิดเห็น การคิดที่เป็นเชิงคุณภาพอาจเป็นเรื่องของสุขศึกษา คุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้การเรียนการสอนนี้มันเข้าไปในโลกจริงของเด็กได้อย่างลึกซึ้ง แล้วเด็กจะเรียนรู้คาบนี้ได้อย่างมีความหมายมากขึ้น”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.นฤมล เสริมว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียน จะเห็นว่าเน้นให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นเดี่ยวหรือกลุ่มขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมในแต่ละคาบเรียน ซึ่งการเรียนการสอนลักษณะนี้คุณครูจะมีหน้าที่สำคัญคือการสังเกต ส่วนหน้าที่ของเด็กๆ คือ การฝึกแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียน
“โจทย์ให้อะไรมา มีเงื่อนไขอะไร ต้องแก้ยังไง ฝึกเขียนอธิบายแนวคิดของตัวเอง แล้วในกลุ่มเพื่อนอาจจะมีแนวคิดที่ไม่เหมือนกันหรือขัดแย้งกัน เขาก็จะต้องพยายามหาเหตุผลหรือว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบางอย่างมาพูดเพื่อให้เพื่อนในกลุ่มยอมรับไอเดียเขา เราต้องพยายามฝึกเด็กให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่จะต้องทำร่วมกับผู้อื่น มองเห็นว่าแนวคิดของผู้อื่นมันก็โอเคนะ ไม่ใช่ยึดของตัวเอง อันนี้ก็จะถูกสอดแทรกในกระบวนการนี้ไปด้วย”
ที่สำคัญ ในช่วงของการสรุปและเชื่อมโยงจากแนวคิดของนักเรียน จะนำไปสู่การตระหนักและการเห็นคุณค่าของแนวคิดของตนเองและผู้อื่น เพราะว่าทุกแนวคิดจะไม่ได้ถูกทิ้ง แต่เน้นให้เห็นจุดสำคัญ ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมในชั้นเรียน
เป้าหมายของชั้นเรียนแบบนี้ ไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ถูก แต่เราเน้นกระบวนการ 4 ขั้นตอนการสอนของคุณครู นี่เป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาการคิดขั้นสูง โดยใช้วิธีการแบบเปิด
“ถ้าเราเน้นต้องการให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเองเราก็ต้องจัดกระบวนการในลักษณะนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะออนแฮนด์ มันก็เป็นการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาหรือการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของเขาที่เขาทำมาก่อน แล้วเราก็ต้องมีเวทีให้เขาได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเวทีในที่นี้อาจจะออนไลน์ก็ได้ ออนไซต์ก็ได้ หรืออาจจะติดเป็นบอร์ดของโรงเรียน แล้วก็ให้เขามาสังเกตสิ่งที่เพื่อนทำแล้วก็บันทึก เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้” ผศ.ดร.นฤมล ทิ้งท้าย