วันนี้วันครู 16 มกราคม เราชวนคุยกันดีกว่าค่ะว่า “ครูในดวงใจของเราเป็นใคร” หรือ “อะไรคือครูของเราได้บ้าง?”
เวลาพูดถึงคำว่า ‘ครู’ แวบแรกแน่นอนว่าคือ ‘บุคคล’ ที่มีผลต่อการเติบโตของเราในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ครูที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในชีวิตและแต่งตัวด้วยชุดเครื่องแบบของโรงเรียน แต่หาก ‘ครู’ คือผู้ที่ทำให้เราเรียนรู้อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย วิชาการหรือทักษะชีวิต เรื่องไร้หรือมีสาระ ไม่ว่าจะอะไร… ที่ทำให้เราเรียนรู้และรับสิ่งนั้นมาไว้ในชีวิต ประสบการณ์นั้นยังคงอยู่ในตัวและกลายเป็นเข็มทิศในชีวิต
คำว่า ‘ครู’ ก็น่าจะเป็นใคร หรือสิ่งใด ก็ได้ทั้งนั้น
เราชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาร่วมแชร์กันว่า ‘ครู’ ในดวงใจของแต่ละคนเป็นใคร ถามโดยไม่ปิดกั้นว่าต้องเป็นบุคคลเท่านั้น เราอยากรู้ว่า ‘ครู’ ของแต่ละคนหรือสิ่งใด และเขาสอนเราให้รู้จักกับอะไรบ้าง
ว่าแต่… แล้วครูในดวงใจของคุณเป็นใครหรือสิ่งใดบ้างคะ เขาผู้นั้นสอนคุณในเรื่องอะไร และการเรียนรู้ในช่วงเวลานั้นทิ้งบทเรียนสำคัญอะไรเอาไว้ในชีวิต 🙂
สุขสันต์วันครูค่ะ ขอให้คนที่อยู่ในอาชีพครูทุกท่านยังมีไฟฝันและทำงานตามกำลังและความเชื่อของตัวเอง และก็ขอให้เราต่างเป็นครูของกันและกัน และให้ทุกวัน ทุกสิ่งที่เจอเป็น ‘การเรียนรู้’ ที่ดีและมีแต่ทำให้เราเติบโตนะคะ
1.
ชื่อ-นามสกุล: ศรุตยา ทองขะโชค นักศึกษาจบใหม่
ครูในดวงใจ: อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่บอกเราว่า “I believe you can”
เหตุผล: เป็นอาจารย์ในชีวิตมหาวิทยาลัยที่ทำให้เรามีกำลังใจในการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ได้เป็นคนชอบภาษาอังกฤษ แต่มันจำเป็นต้องใช้ก็อยากพูดได้ สื่อสารได้ เวลาเรียนกับอาจารย์ อาจารย์มักจะถาม ว่า “Fa, understand?” เราก็ยิ้มแหะๆ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง อาจารย์ก็คงดูออก
มีครั้งนึงอาจารย์ให้ตอบคำถามแล้วเราอ้ำอึ้ง เขาบอกมาว่า “I believe you can, Fa” เท่านั้นแหละ ก็ยังอ้ำอึ้งอยู่ดี แต่หลังจากนั้นประโยคนี้มันแวบมาตลอดเวลาที่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ แล้วก็ทำให้เราขยันที่จะหาความรู้ทางนี้มากขึ้น หาคำศัพท์ ดูหนัง ตามทวิต ตามไอจีที่สอนภาษาอังกฤษ ลงเรียนวิชาแปลข่าวภาษาอังกฤษกับอาจารย์คนนี้ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะลงเรียนวิชานี้ได้เพราะกลัวทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้นะ “because I believe I can”
“มีครั้งนึงอาจารย์ให้ตอบคำถามแล้วเราอ้ำอึ้ง เขาบอกมาว่า ‘I believe you can, Fa’ หลังจากนั้นประโยคนี้มันแวบมาตลอดเวลาที่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ ทำให้เราขยันที่จะหาความรู้ทางนี้มากขึ้น หาคำศัพท์ ดูหนัง ตามทวิตและไอจีที่สอนภาษาอังกฤษ ลงเรียนวิชาแปลข่าวภาษาอังกฤษกับอาจารย์คนนี้ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะลงเรียนวิชานี้ได้ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้นะ ‘cause I believe I can’”
2.
ชื่อ-นามสกุล: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ 1 ใน 3 คณะบรรณาธิการ WAY
ครูในดวงใจ: ครูนิรนามท่านหนึ่งที่เกลียดชัง
เหตุผล:
ผมมีครูหลายคน แต่อยากเลือกพูดถึงครูคนหนึ่งซึ่งผมเกลียดชังเขา เขามักประกอบบาดแผลให้ตนและผู้อื่นอยู่เป็นนิจศีล ฝักใฝ่หาความสบายเป็นที่ตั้ง หลบหลีกปัญหาแทนเผชิญหน้า ก่อการ สำนึก ละอาย จะไม่ทำมันอีก แต่ผลิตซ้ำพฤติกรรมเดิม ผมเฝ้ามองเขามานาน บางครั้งเขาทำทีเหมือนจะดีขึ้น บางครั้งเขาก็เหมือนไม่เคยเรียนรู้อะไร แม้ผมจะเกลียดเขา แต่ยังให้โอกาสเขาเสมอมา ให้โอกาสเขาเรียนรู้ และผมก็ได้เรียนรู้ด้วย เพราะเขาคือผม ผมคือเขา คนที่อยู่ข้างใน
“แม้จะเกลียดแต่ผมยกให้เขาเป็นครูคนหนึ่ง แม้ผมจะเกลียดครูคนนี้ แต่การมีเขาอยู่ การตระหนักรู้ว่าผมมีเขาอยู่ มันทำให้รู้ว่าชีวิตนี้คือการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด และบทเรียนที่เรียกว่า ‘ความจริง’ ไม่ใช่วิชาที่ง่ายเลย”
“แม้จะเกลียดแต่ผมยกให้เขาเป็นครูคนหนึ่ง แม้ผมจะเกลียดครูคนนี้ แต่การมีเขาอยู่ การตระหนักรู้ว่าผมมีเขาอยู่ มันทำให้รู้ว่าชีวิตนี้คือการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด และบทเรียนที่เรียกว่า ‘ความจริง’ ไม่ใช่วิชาที่ง่ายเลย”
3.
ชื่อ-นามสกุล: ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ, สื่อมวลชน
ครูในดวงใจ: ครูที่สอนให้เขียนหนังสือเป็น เป็นคนแรก
เหตุผล:
ผมอายุสามสิบกว่าแล้ว เป็นธรรมดาที่ต้องเจอครูมาหลายคน แต่ทุกครั้งที่พูดถึงครูคนสำคัญในชีวิต พี่แตง (นิรมล มูนจินดา) คือคนแรกที่นึกถึง
ตอนผมเป็นกองบรรณาธิการเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว (เว็บไซต์ข่าวสิ่งแวดล้อม) พี่แตงเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่ม ขณะนั้นมีช่วงสั้นๆ ที่เว็บไซต์ไม่มีบรรณาธิการ พี่แตงเลยต้องมาช่วยดูแลน้องในทีม ครั้งแรกๆ ผมเขียนบทความเรื่องแยกขยะให้พี่แตงตรวจ ก่อนส่งคิดว่าคงผ่านง่ายๆ เพราะประเด็นไม่ได้ยากอะไร ตอนนั้นมั่นใจในตัวเองด้วย เพราะสมัยเรียนเคยทำคะแนนวิชาเขียนสารคดีได้ค่อนข้างดี แต่ความเป็นจริงคือ พี่แตงแก้ต้นฉบับอย่างละเอียด อย่าว่าแต่ทีละบรรทัดเลย พี่แตงแทบจะสอนทีละวรรคด้วยซ้ำ คนไม่เคยโดนแก้งานหนักแบบนั้น ยอมรับว่าสูญเสียความมั่นใจไปเลย ในใจแบ่งเป็นสองเสียง หนึ่ง ไม่เห็นผิดอะไรเลย ทำไมต้องแก้ด้วย และสอง จริงด้วย แก้แล้วอ่านไหลลื่นขึ้น สุดท้ายผมยอมทำตามที่พี่แตงสอน
ไม่รู้ว่าองค์กรอื่นทำงานกันยังไงนะ ทุกครั้งที่ผมส่งงานไป พี่แตงปรินท์งานออกมาเป็นกระดาษ ก้มหน้าอ่านบทความอยู่เนิ่นนาน แล้วขีดเขียนแก้ไขอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่นั้น เขาค่อยๆ อธิบายอย่างตั้งใจด้วย ทั้งในแง่ประเด็นและหลักภาษา ด้วยเป็นองค์กรเล็กๆ การทำงานเลยไม่ได้ตามข่าวรายวันมากนัก พอผมเสนอทำบทสัมภาษณ์หรือสารคดีประเด็นต่างๆ พี่แตงก็ร่วมคิดและให้คำแนะนำอย่างเต็มใจ
ผมยึดอาชีพทำงานเขียนมาร่วมสิบปีแล้ว แม้จะได้ทำงานด้วยกันแค่ช่วงสั้นๆ (หลังจากเปลี่ยนงาน ผมยังโทรไปปรึกษาพี่แตงเป็นระยะ แม้ว่าบางครั้งเขาตอบไม่ได้ แต่ก็สบายใจที่ได้คุยกัน) แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลต่อทิศทางชีวิตอย่างมาก
“พี่แตงแก้ต้นฉบับอย่างละเอียด อย่าว่าแต่ทีละบรรทัดเลย แกแทบจะสอนทีละวรรคด้วยซ้ำ คนไม่เคยโดนแก้งานหนักแบบนั้นยอมรับว่าสูญเสียความมั่นใจไปเลย ในใจแบ่งเป็นสองเสียง หนึ่ง ไม่เห็นผิดอะไรเลย ทำไมต้องแก้ด้วย และสอง จริงด้วย แก้แล้วอ่านไหลลื่นขึ้น สุดท้ายผมยอมทำตามที่พี่แตงสอน
“ผมยึดอาชีพทำงานเขียนมาร่วมสิบปีแล้ว แม้จะได้ทำงานด้วยกันแค่ช่วงสั้นๆ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลต่อทิศทางชีวิตอย่างมาก”
4.
ชื่อ-นามสกุล: ผศ.ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ครูในดวงใจ: ครูที่ทำให้เข้าใจว่า ‘การเรียน’ กับ ‘การเรียนรู้’ ต่างกันอย่างไร
เหตุผล:
ถ้าคิดถึงครูที่เป็นคนจริงๆ จะคิดถึงอาจารย์ท่านนึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เข้าคลาสแรกอาจารย์ก็สั่งจัดโต๊ะใหม่เป็นวงกลมให้ทุกคนได้เห็นหน้ากัน ก่อนเริ่มบทเรียนที่เตรียมมา อาจารย์ชวนคุยก่อนเลยว่าวันนี้มีข่าวอะไรน่าสนใจบ้าง วิเคราะห์ให้ฟังหน่อย แล้วให้พูดทีละคนจนครบวง เป็นแบบนี้ทุกคาบ จำได้ว่าใจเต้นก่อนเข้าห้องทุกครั้ง ให้ความรู้สึกเหมือนจะไปรบแบบนั้นเลย มาถึงตอนนี้รู้แล้วว่ามันเป็น trick ให้เด็กไปแสวงหาความรู้ที่เป็นวัตถุดิบด้วยตัวเอง
ในห้องเรียนอาจารย์จะช่วยเกลา ต่อยอดและช่วย facilitate ให้ทั้งห้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน วิชาแบบนี้ เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ต้องอ่าน ต้องค้นคว้าให้ตัวเองมีของไปแลกเปลี่ยนในห้องให้ได้ ในเชิงกระบวนการสื่อสารมันได้ครบเลยนะ ทั้งคิด ทั้งวิเคราะห์ ทั้งตัดสินใจ ทั้งนำเสนอ น่าสนใจว่าพอทำสักพักมันเริ่มชินและกลายเป็นนิสัย เราจะสนุกกับการอ่าน ชอบคิด ชอบแลกเปลี่ยนความเห็นจนเป็นนิสัยถึงทุกวันนี้
อาจารย์แบบนี้ทำให้เราเข้าใจจากหัวใจเลยว่าการเรียนกับการเรียนรู้มันต่างกันอย่างไร
“จำได้ว่าใจเต้นก่อนเข้าห้องทุกครั้ง ให้ความรู้สึกเหมือนจะไปรบแบบนั้นเลย มาถึงตอนนี้รู้แล้วว่ามันเป็น trick ให้เด็กไปแสวงหาความรู้ที่เป็นวัตถุดิบด้วยตัวเอง พอทำสักพักมันเริ่มชินและกลายเป็นนิสัย เราจะสนุกกับการอ่าน ชอบคิด ชอบแลกเปลี่ยนความเห็นจนเป็นนิสัยถึงทุกวันนี้ อาจารย์แบบนี้ทำให้เราเข้าใจจากหัวใจเลยว่าการเรียนกับการเรียนรู้มันต่างกันอย่างไร”
5.
ชื่อ-นามสกุล: นายรดิศ ค้าไม้ นักศึกษาชั้น ปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครูในดวงใจ: เกมออนไลน์ที่ทำให้เข้าใจระบบเศรษฐกิจเหตุผล:
เกมออนไลน์สอนการใช้ชีวิตให้ผม ผมเล่นตั้งแต่ตอนที่ผมอายุประมาณ 7-8 ขวบ เกมนี้มันก็มีระบบค้าขายให้เราต้องหาของมาขายแลกเปลี่ยน ทำให้เราเข้าใจระบบเศรษฐกิจว่าของที่มีน้อยราคาจะแพง ของที่หาง่าย ขายได้ไม่เยอะก็ราคาถูก ทำให้เราเข้าใจเลยว่าการค้าขายจริงๆ เป็นยังไง มันยังมีระบบปาร์ตี้ให้เรากับเพื่อนไปสู้กับมอนสเตอร์ มันสอนการเข้าสังคม รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เรื่องความสามัคคี เพื่อให้เราจัดการกับมอนสเตอร์ได้ มันให้ประสบการ์ณหลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกับโลกจริงๆ ซึ่งในโลกจริงอาจไม่เคยได้ทำหรือทำไม่ได้
“เกมออนไลน์สอนการใช้ชีวิตให้ผม ผมเล่นเกมนี้ตั้งแต่ 7-8 ขวบ ว่าด้วยระบบค้าขาย ต้องหาของมาแลกเปลี่ยน ให้เข้าใจระบบเศรษฐกิจว่าของที่มีน้อยราคาจะแพง ของที่หามาขายได้ไม่เยอะจะราคาถูก เกมให้ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกับโลกจริงๆ ซึ่งในโลกจริงอาจไม่เคยได้ทำหรือทำไม่ได้”
6.
ชื่อ-นามสกุล: กตัญญู สว่างศรี ซีอีโอแห่งครีเอทีฟเอเจนซี Katanyu86ครูในดวงใจ: แม่ ครูในดวงใจที่สอนสิ่งเล็กน้อยแต่คือพื้นฐานชีวิตเหตุผล:
ครูในดวงใจของเราคือแม่ แม่เป็นครูที่สอนให้เราเข้าใจด้วยการเปิดโอกาสให้เราทำทุกอย่างที่เราสนใจ แม้ว่าข้อจำกัดของแม่จะมากมาย แม่ไม่เคยสอนเราแบบจริงจังในเรื่องความคิด แต่สอนเรื่องเล็กน้อยตั้งแต่ หุงข้าว ซักผ้า เช็ดพัดลม เพราะแม่ไม่เคยกำหนดหรือหวังให้เราเป็นอะไร ทุกอย่างที่แกสอนจึงคือพื้นฐานชีวิต และนั่นทำให้แม่เป็นครูในดวงใจ ที่ห่วงใยและเปิดกว้างให้เราอย่างแท้จริง
“แม่ไม่เคยสอนเราแบบจริงจังในเรื่องความคิดแต่สอนเรื่องเล็กน้อยตั้งแต่ หุงข้าว ซักผ้า เช็ดพัดลม เพราะแม่ไม่เคยกำหนดหรือหวังให้เราเป็นอะไร ทุกอย่างที่แกสอนจึงคือพื้นฐานชีวิต นั่นทำให้แม่เป็นครูในดวงใจ ที่ห่วงใยและเปิดกว้างให้เราอย่างแท้จริง”
7.
ชื่อ-นามสกุล: ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ ผู้อำนวยการบ้านซันเสร่ (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี)
ครูในดวงใจ: นักเรียนที่สอนให้เห็นความหลากหลายของการเป็นมนุษย์
เหตุผล
สำหรับเรา ครูที่เรารักที่สุดคือนักเรียนที่เราสอนนี่แหละ ทุกครั้งที่เราสอน เราไม่ได้คิดว่าเรามีก้อนความรู้อะไรไปให้เขา แต่เราจะคิดว่าเรามีความรู้อยู่ก้อนนึง ลองเอามานั่งคิดนั่งคุยกันดู แล้วไอ้ตอนนั่งคิดนั่งคุยนี่แหละที่ชอบมีอะไรทำให้เราตกใจได้เสมอเพราะมันหลากหลายมากๆ วิธีคิดของเด็กบางคนสะท้อนถึงวิธีการเลี้ยงดู บางคนสะท้อนถึงประสบการณ์ที่เคยเจอ บางคนสะท้อนถึงสภาพสังคมและการเมืองในยุคที่เขาเติบโตมา สำคัญที่สุดคือทุกวิธีคิดสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์มีความรู้สึกออกมาภายใต้บทบาทความเป็นลูก เป็นนักเรียนหรือเป็นประชาชนคนนึง ทุกครั้งที่เราเข้าสอน คนที่ได้อะไรกลับไม่ใช่แค่นักเรียนของเรา แต่มันเพิ่มความ empathy ให้เราในทุกๆ ครั้งที่ได้คุยกับนักเรียน
“นักเรียนคือครูที่เรารักที่สุด นักเรียนชอบมีอะไรมาทำให้เราตกใจได้เสมอ วิธีคิดของเด็กบางคนสะท้อนถึงการเลี้ยงดู ประสบการณ์ที่เขาเคยเจอ หรือสภาพสังคมและการเมืองในยุคที่เขาเติบโตมา สำคัญที่สุดคือวิธีคิดสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกภายใต้ความเป็นลูก นักเรียน หรือเป็นประชาชนคนนึง”
8.
ชื่อ-นามสกุล: นายวิศรุต ชาลี นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีครูในดวงใจ: ที่ปรึกษาที่สอนตั้งแต่ความผิดหวังยันธุรกิจสตาร์ทอัพเหตุผล:
เขาชื่อครูพี่ต้นฮะ เขาอาจไม่ใช่ครูสอนหนังสือจริงๆ แต่เขาสอนเรื่องการใช้ชีวิต สอนการทำสตาร์ทอัพ ให้แนวคิด เป็นที่ปรึกษาที่ดี เขายังสอนให้ผมรู้จักการต้องเจอกับความผิดหวัง ตอนล้มเหลว ให้เรารีบลุกเพื่อหาจุดยืนใหม่ หลายๆ อย่างจากพี่คนนี้ทำให้ผมมีทุกวันนี้และเดินมาจนถึงทุกวันนี้ครับ
“เขาอาจไม่ใช่ครูสอนหนังสือจริงๆ แต่สอนเรื่องการใช้ชีวิต การทำสตาร์ทอัพ ให้แนวคิด เป็นที่ปรึกษาที่ดี เขายังสอนให้ผมรู้จักการต้องเจอกับความผิดหวัง ตอนล้มเหลว ให้เรารีบลุกเพื่อหาจุดยืนใหม่ หลายๆ อย่างจากพี่คนนี้ทำให้ผมมีทุกวันนี้และเดินมาจนถึงทุกวันนี้ครับ”
9.
ชื่อ-นามสกุล: กันตพร สวนศิลป์พงศ์ นิสิตปริญญาโทคณะจิตวิทยา สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ปี 2
ครูในดวงใจ: คนในความสัมพันธ์ทั้งที่จบไปและยังอยู่
เหตุผล: มีไม่กี่คนหรอกที่เราจะเปิดเผยและใช้ความเป็นตัวเองมากๆ เวลาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเมื่อมีการทะเลาะ การไม่ลงรอย การจบความสัมพันธ์ มันก็เกิดบาดแผลให้เราต้องทำแผล การทำแผลตรงนั้นคือการต้องกลับมาเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า อะไรทำให้เราเลือกกระทำหรือแสดงออกแบบนั้น มีอะไรไหมที่เราคิดแคบไป หรือจริงๆ แล้วเราเห็นแต่อีกคนในสายตาจนไม่รักตัวเองเลย บางทีเมื่อนึกย้อนก็พบความผิดพลาดในอดีตที่ไม่เคยรู้ตัว พอพบก็เลยเข้าใจว่าเราจะอยู่กับอีกคนให้ดีขึ้นได้ยังไง คำตอบคือเราต้องเข้าใจและยอมรับตัวเอง พร้อมๆ กับเข้าใจและยอมรับในตัวอีกคนด้วย เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก แต่ถ้าทำได้ ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะจบหรือยังประคองไว้ได้อยู่ ความเข้าใจที่ได้ก็มีแต่กำไร เพราะมันจะทำให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น บางทีเราคิดเล่นๆ ด้วยซ้ำว่า ชีวิตคงส่งคนคนนี้เข้ามาเพื่อสอนให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นในแง่มุมนี้
“เราต้องเข้าใจและยอมรับตัวเอง พร้อมๆ กับเข้าใจและยอมรับในตัวอีกคนด้วย ความเข้าใจที่ได้มีแต่กำไร เพราะมันจะทำให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น”
10.
ชื่อ : ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์
ครูในดวงใจ: คาวาโต้ จากการ์ตูนเรื่อง ‘Rookies’
เหตุผล: คาวาโต้เป็นครูมือใหม่ไฟแรง เป็นคนซื่อๆ (จนบางทีก็บื้อ) แต่มีสิ่งที่เขาจริงจังอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ นั่นคือการให้ความสำคัญกับการมีความฝันและลงมือทำ ภารกิจของคาวาโต้คือการฟื้นฟูชมรมเบสบอลที่เหลวแหลก เต็มไปด้วยเด็กเกเรที่ใช้ห้องพักนักกีฬาเป็นบ่อนการพนัน คาวาโต้มักถามทุกคน (ออกไปดื้อๆ) ว่า ‘ความฝันของพวกเธอคืออะไร’ มันดูเชยและทื่อมาก แต่สุดท้ายคาวาโต้ก็ชนะใจนักเรียนเกเรทุกคนให้ตระหนักถึงการมีความฝันและทำเต็มที่เพื่อให้ฝันนั้นสำเร็จ (ในที่นี้คือการเล่นเบสบอล โดยใช้ข้อดีและความถนัดของแต่ละคน เช่น คนขี้ขโมยฝีเท้าไว เปลี่ยนเป็นตัวขโมยเบส, อันธพาลจอมบ้าพลัง เปลี่ยนเป็นนักตีโฮมรัน) ด้วยความจริงใจและทุ่มเทต่อสิ่งที่ทำแบบสุดความสามารถของคาวาโต้ ทำให้คำสอนของเขา เช่น “ห้ามดูถูกความฝันของคนอื่น”, “ความกรุณาคือดอกไม้แห่งความดี” และ “คนเรามีข้อดีเพียงข้อเดียว ก็นับเป็นข้อดี” ที่อาจจะฟังดูเลี่ยนๆ แต่ติดตรึงใจผมมาก”
เล่าแล้วจะยาว เอาเป็นว่า Rookies คือการ์ตูนที่ชอบอ่านที่สุดในชีวิตเรื่องหนี่งและหยิบมาอ่านซ้ำนับไม่ถ้วน เพื่อรับพลังและคำสอนจากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากคุณครูท่านนี้
“ห้ามดูถูกความฝันของคนอื่น”, “ความกรุณาคือดอกไม้แห่งความดี” และ “คนเรามีข้อดีเพียงข้อเดียว ก็นับเป็นข้อดี” เป็นคำสอนที่อาจจะฟังดูเลี่ยนๆแต่ติดตรึงใจผมมาก
Rookies คือการ์ตูนที่ชอบอ่านที่สุดในชีวิตเรื่องหนึ่งและหยิบมาอ่านซ้ำนับไม่ถ้วน เพื่อรับพลังและคำสอนจากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากคุณครูท่านนี้