- ชวนไปคุยกับครูเอ๋ ปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์ ครูประจำชั้นของเด็กๆ ป.6 แห่งโรงเรียนบ้านปะทาย ที่อดีตเคยเป็นครูไหวใจร้าย แต่ปัจจุบันเธอเปลี่ยนเป็นครูเอ๋ใจดีของเด็กๆ
- “ครูที่นี่เขาจะไม่พูดเสียงดัง เพราะเขามองว่าการใช้เสียงเบาๆ จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยของเด็กเพิ่มมากขึ้น การตะคอกหรือการบ่นมันไปทำร้ายสมองเด็ก ทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ พอเราได้ยินแบบนี้นะมันทำให้เรารู้สึกว่า ‘ที่ผ่านมาเราทำผิดมาก สงสารเด็ก’ ถ้ามองย้อนกลับไปเด็กเขาเชื่อฟังเราทุกอย่างนะ เป็นเด็กดี เด็กน่ารักมากเลย แต่ทำไมเราถึงไปเสียงดังกับเขา รู้สึกเสียใจมาก เสียใจกับการใช้เสียงดังกับลูก กับนักเรียนที่ผ่านมา เรามองว่าถ้าย้อนกลับไปได้ ถ้ารู้ตั้งแต่ตอนนั้น เราจะไม่ทำแบบนั้น”
บริเวณสนามบาสโรงเรียน มีกลุ่มนักเรียนประมาณ 10 – 15 คนกำลังนั่งล้อมเป็นวงกลมขนาดใหญ่ แต่ละคนนั่งเงียบๆ ตาก้มมองมือตัวเอง มีบางคนที่อ้าปากตอบคำถามที่ผู้หญิงเสื้อชมพูเป็นคนถาม เธอเป็นผู้หญิงผิวขาว ผมรวบมัดเป็นหางม้า ท่าทางกระฉับกระเฉง เธอมีชื่อว่า ปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์ หรือ ครูเอ๋ ครูประจำชั้นของเด็กๆ ป.6 ประจำโรงเรียนบ้านปะทาย ตั้งอยู่ในอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กิจกรรมที่ครูเอ๋กำลังพานักเรียนทำ เป็นกิจกรรมจิตศึกษา (กระบวนการพัฒนาปัญญาภายใน) อันเป็นนวัตกรรมการสอนหลักของโรงเรียนบ้านปะทาย
จิตศึกษาในช่วงเช้าจะเป็นการทำ Body Scan ให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้าเรียน กิจกรรมเริ่มด้วยการบริหารสมอง การจัดท่าทางร่างกายที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อ เพื่อให้ทุกคนหันกลับมามีสติที่ตัวเอง จากนั้นครูเอ๋จะเริ่มโยนประเด็นเพื่อเริ่มต้นวงสนทนา วันนี้เธอหยิบเอาประเด็นเหตุการณ์บ้านเมืองมาถามเด็กๆ แต่ละคนว่า มีความคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอะไรกับมันบ้าง เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบ ครูเอ๋ต้องออกแรงถามเป็นรายคน พอถามวนครบทุกคนที่อยู่ในวงกลม ครูเอ๋ขอให้เด็กๆ หลับตา แล้วครูเอ๋ค่อยๆ บรรยายสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก ทำให้จิตใจของพวกเขาสงบ ผ่านไปสักพักครูเอ๋ให้ทุกคนลืมตา ก่อนจะชวนขอบคุณสิ่งที่อยู่อยู่ตัวพวกเขา ‘ขอบคุณท้องฟ้า’ ‘ขอบคุณพระอาทิตย์’ เป็นอันจบกิจกรรมจิตศึกษาสำหรับช่วงเช้า ครูเอ๋ชวนนักเรียนกลับขึ้นไปบนห้องเพื่อเริ่มเรียน ระหว่างเดินทางกลับครูเอ๋อธิบายกิจกรรมดังกล่าวให้เราฟังว่า เป็นการเตรียมเด็กๆ ให้มีสมาธิพร้อมสำหรับการเรียน โดยจะทำทุกๆ เช้า กลางวัน และก่อนกลับบ้าน
ห้องเรียนชั้นป.6 อยู่บนชั้นสองของตึกเรียน ภายในห้องเหมือนกับห้องเรียนทั่วไป มีกระดาษดำ โต๊ะเรียน และกำแพงที่อุดมไปด้วยความรู้ เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เทศกาลวันสำคัญของไทย สิ่งที่สะดุดตาเราคงอยู่ที่การจัดวางโต๊ะนักเรียนไว้ด้านขวาของห้องทั้งหมด เว้นพื้นที่ตรงกลางให้ว่างเปล่า ครูเอ๋อธิบายว่า เตรียมสำหรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม
อาจเพราะเป็นคาบเรียนแรก แม้เด็กๆ จะผ่านการทำกิจกรรมจิตศึกษามาแล้ว แต่ดูท่าทางพวกเขาคงยังไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียน แต่เป็นการพูดคุยกับเพื่อนแทน เสียงในห้องจึงดังโหวกเหวก ครูเอ๋ทำการเรียกสมาธินักเรียนด้วยกิจกรรมบริหารสมองอีกครั้ง เธอให้เด็กๆ ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งกำมือ อีกข้างปล่อย ทำสลับกัน 2 ข้าง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที นักเรียนค่อยๆ หันกลับมาโฟกัสกับห้องเรียน
ครูเอ๋ให้เด็กแต่ละคนนำอุปกรณ์ที่ตัวเองเตรียมมาตรวจเช็คกันในกลุ่มว่าเตรียมมาครบหรือไม่ จัดการล้างให้สะอาดก่อนเริ่มทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมวันนี้เป็นการทำสบู่ หน้าของเราคงบ่งบอกถึงความสงสัย ครูเอ๋เลยชี้ให้เราดูบอร์ดที่ติดอยู่หลังห้อง โชว์รายละเอียดกิจกรรมที่ทำแต่ละสัปดาห์ มีด้วยกันทั้งหมด 10 สัปดาห์ เธออธิบายว่า การเรียนของที่นี่แต่ละเทอมจะแบ่งเป็นควอเตอร์ (10 สัปดาห์) โดยแต่ละควอเตอร์ตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เด็กรู้เรื่องอะไร แล้วภายใน 10 สัปดาห์ก็จะจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกัน
อย่างควอเตอร์นี่ครูเอ๋และเด็กๆ อยากรู้วิธีรับมือกับการเปลี่ยนร่างกายของตัวเอง เพราะฮอร์โมนของพวกเขากำลังเปลี่ยนก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น บางคนเริ่มมีปัญหากลิ่นตัว มีปัญหาสิว ครูเอ๋ตั้งเป้าหมายให้เด็กๆ รู้จักดูแลตัวเอง เริ่มตั้งแต่ให้เด็กรู้ว่าสภาพผิวมีแบบไหนบ้าง ของพวกเขาเป็นแบบไหน ก่อนจะพาไปรู้จักวิธีดูแลตัวเอง
“วิธีดูแลตัวเอง เราก็พาเด็กดูว่ามันมีอะไรบ้าง เช่น ต้องอาบน้ำ ซักเสื้อผ้าให้สะอาด พอเขารู้เรื่องทฤษฎีเสร็จ เราก็จะถามว่าพวกเขาอยากลองทำอะไร เด็กๆ ตอบอยากลองทำสบู่ เราก็โอเค กลับมาคุยวางแผนกัน แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มไปสำรวจว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มตัวเองมีปัญหาผิวอะไร หาสมุนไพรที่แก้ไขปัญหา เสร็จช่วยกันคิดสูตรสบู่ในกลุ่มแล้วเอามาลงมือทำ”
ก่อนจะปล่อยให้ทุกคนทำงานอย่างอิสระ ครูเอ๋ชวนให้เด็กๆ หันมามองกระดานดำหน้าห้องมีโจทย์เลขอยู่ 3 ข้อเกี่ยวกับการคำนวณสูตรทำสบู่ เช่น ถ้ามีสบู่ก้อนปริมาณเท่านี้ต้องใส่น้ำเท่าไร เธอชวนให้เด็กคิดคำนวณก่อน พอเสร็จแล้วก็จะปล่อยให้เข้ากลุ่มทำงาน ขณะที่รอให้เด็กๆ คิดเลขเสร็จ ครูเอ๋ก็อธิบายให้เราฟังว่า กิจกรรมที่ให้เด็กทำ เธอจะผนวกวิชาเรียนเข้าไป โดยดูตามตัวชี้วัดว่านักเรียนระดับชั้นนี้ควรรู้เรื่องอะไร อย่างการทำสบู่เธอเอาวิชาคณิตศาสตร์เรื่องอัตราส่วนมาใช้ รวมถึงวิทยาศาสตร์เรื่องสสาร เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้นผ่านการทำงานจริง
พอคิดเลขเสร็จ ครูเอ๋ก็ปล่อยให้เด็กๆ ทำงานทันที เด็กแต่ละคนรู้สูตรการทำสบู่ของตัวเองอยู่แล้วซึ่งได้จากการค้นคว้าด้วยตัวเอง พวกเขาต่างจดจ่ออยู่กับการละลายเบสสบู่ก้อน เตรียมสมุนไพร เช็ดบล็อกพิมพ์ให้สะอาดซึ่งก็มีหลากหลายทั้งบล็อกพิมพ์จากกระบอกไม้ไผ่ บล็อกพิมพ์จากใบตองที่ห่อทำเป็นกระทง แต่มีบางคนที่ใจของเขาไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงาน แต่อยู่ที่มือถือแทน พอครูเอ๋มองเห็นเธอแก้ไขด้วยการเดินไปจูงมือพวกเขามาทำงานกับเพื่อน ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเด็กๆ ถึงจะยอมทำงาน โดยมีครูเอ๋คอยนั่งดู ให้คำแนะนำ
จนนาฬิกาตีบอกเวลาว่าอีก 30 นาทีจะถึงเวลาอาหารกลางวัน เด็กๆ ก็ทำสบู่เสร็จพอดี ครูเอ๋ชวนทุกคนมาจับกลุ่มคุยเพื่อให้แต่ละกลุ่มเล่าผลลัพธ์ของกลุ่มตัวเองรวมทั้งปัญหาตอนทำ เด็กแต่ละคนก็รีบชิงตอบ มีทั้งปัญหาเทสบู่ลงบล็อกพิมพ์แล้วไม่เรียบ บางคนสบู่ไม่ยอมแข็งตัว แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดมีเพื่อนบางคนไม่ได้ทำ ครูเอ๋ถามกลับว่า ‘เราจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี’ แต่ละคนเสนอไอเดียว่าขอทำใหม่ ครูเอ๋เลยบอกว่าช่วงบ่ายจะให้ทุกคนกลับมาทำสบู่ใหม่ โดยคราวนี้คนไหนที่ไม่ได้ทำช่วงเช้า ช่วงบ่ายต้องทำจริงจัง เพื่อจะได้เข้าใจกิจกรรม
เคยเป็นครูไหวใจร้าย
“ช่วงเป็นครูแรกๆ เราเคยเป็นแบบครูไหวใจร้าย ใช้อารมณ์กับเด็กตลอด จนมีเด็กชอบหนีไปอยู่ห้องน้ำ ผู้ปกครองก็มาว่าเราทำไมทำกับลูกเขาแบบนั้น”
เห็นครูเอ๋ดูท่าทางใจดีใจเย็นแบบนี้ แต่เธอบอกว่าเมื่อก่อนเธอเป็นครูที่ติดการใช้อารมณ์ เน้นระเบียบวินัย นักเรียนต้องปฎิบัติตามกรอบที่เธอวางไว้ เธอนิยามว่าเป็นเหมือน ‘ครูไหวใจร้าย’ ภาพจำครูเอ๋ของนักเรียนคือ การดุ ถ้าวันไหนครูเอ๋ไม่ดุ เด็กๆ จะพากันบอกว่า ‘วันนี้ทำไมครูไม่ดุ ครูไม่ดุแล้วกินข้าวไม่อร่อย’
“พอเด็กพูดแบบนั้นเราก็ถามกลับว่า ‘ทำไมครูต้องดุด้วยละ ก็วันนี้เด็กน่ารัก ไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้ครูไม่สบายใจ’ เราก็ไม่อยากเป็นนางมารร้ายตลอด (หัวเราะ)
“ที่เด็กพูดแบบนี้เรายังไม่ค่อยรู้สึกอะไรนะ คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ครูทุกคนจะต้องดุเพื่อทำให้นักเรียนอยู่ในกรอบ เพื่อให้เขาได้ในสิ่งที่เราอยากได้ ตอนนั้น mindset เรายังเป็นแบบนี้อยู่ พอยิ่งตอนท้องนะ โอ้โห เรายิ่งดุมากเลย แต่ดุยังไงเด็กยังเหมือนเดิม ครูดุก็ดุไปสิ เหมือนมันขาดอะไรไปสักอย่างถ้าครูไม่ดุ (หัวเราะ)”
แล้วการสอนของครูเอ๋เมื่อก่อน ไม่ใช่พาทำกิจกรรมอย่างวันนี้ แต่เป็นการพานักเรียนจำเนื้อหาในหนังสือแทน ‘เธอต้องจำสูตรนี้ให้ได้นะ สูตรคำนวณรูปสามเหลี่ยม สูตรคำนวณรูปสี่เหลี่ยม’ เด็กต้องได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดเป๊ะๆ ต้องสอบได้คะแนนดี ถ้าคนไหนสอบได้คะแนนไม่ดีก็จะเคี่ยวเข็ญจับมานั่งติวตัวต่อตัว
พอฟังครูเอ๋อธิบายความเป็นตัวเองสมัยก่อนให้ฟัง ทำให้เราสงสัยว่าก่อนจะมาเป็นครู ครูเอ๋เคยวาดภาพไว้ไหมว่าอยากเป็นครูแบบไหน จบประโยคคำถามครูเอ๋นิ่งไปสักพักก่อนจะค่อยๆ ตอบว่า ตอนนั้นเธอเองยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นครูแบบไหน รู้เพียงแต่ว่าตั้งแต่เด็กจนถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย ครูที่เธอเจอมาโดยตลอดเป็นครูในรูปแบบที่เนี๊ยบ เน้นกฎระบียบ ส่วนนักเรียนถูกวางกรอบว่านักเรียนที่ดี = ต้องทำตัวเรียบร้อย
“เราจำได้ว่าตั้งแต่เรียนป.1 เราก็เจอครูดุๆ มาตลอด พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เจออาจารย์เจ้าระเบียบ เหมือนเราเจอครูยุคเก่ามาตั้งแต่เด็ก ครูยุคเก่าเขาจะเป็นพวกพาทำ ให้นักเรียนลุยตามเขา เขาจะบอกว่าแบบนี้มันถูกต้องทำตามนี้เท่านั้น
“แล้วในมหาวิทยาลัยนะเขาจะบ่มเพาะให้เราเป็นครูที่เนี๊ยบ คิดตามกฏกติกา วางเป็นบล็อกๆ ว่าต้องทำแบบนี้ๆ เท่านั้นนะ ครูต้องแต่งตัวเรียบร้อย เด็กต้องมีระเบียบเรียบร้อยมีวินัยถึงจะดี 4 ปีที่เราต้องเรียนรู้แบบนี้ กลายเป็นเราก็ซึมซับมา”
เป็นครูเอ๋ที่กำลังปรับตัวเพื่อนักเรียน
อาจพูดได้ว่าตลอดการเป็นครูกว่า 16 ปีของครูเอ๋ เธอยังคงเป็นครูเจ้าระเบียบที่เน้นวิชาการและวางกรอบให้นักเรียน จนกระทั่งลูกครูเอ๋อยู่ป.3 สามีของเธอชวนว่า ให้ย้ายลูกมาเรียนที่โรงเรียนบ้านปะทาย เพราะเห็นว่านวัตกรรมการสอนที่นี่แตกต่างกับที่อื่นๆ มีทั้งเรื่องจิตศึกษา การจัดกระบวนการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Base Learning: PBL) การสร้างชุมชนการเรียนรู้ (Professional Learning Community: PLC) การจัดการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active learning) ทฤษฎี 12senses ครูเอ๋เองพอได้ฟังก็รู้สึกสนใจเหมือนกัน ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายลูกมาเรียนที่นี่ ส่วนครูเอ๋ก็ตัดสินใจย้ายมาเป็นครูที่นี่โรงเรียนนี่เพื่อที่จะได้ดูแลลูก เธอบอกว่า นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำอาชีพครู การย้ายมาโรงเรียนบ้านปะทายทำให้ครูเอ๋เพิ่งรู้ว่าตลอด 20 ปีของการเป็นครูเธอสอนผิดมาตลอด
“ผอ.ที่นี่ก็ถามว่า ‘ครูเอ๋จะอยู่ได้ไหมนะ’ เราก็คิดในใจ ‘เรื่องอะไรฉันจะอยู่ไม่ได้’ (เสียงหนักแน่น) ปรากฏว่าบริบทที่นี่มันแตกต่างจากโรงเรียนที่เราเคยอยู่มาทั้งหมดเลย เราต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะมาก (ลากเสียง)
“เช่น ครูที่นี่เขาจะไม่พูดเสียงดัง เพราะเขามองว่าการใช้เสียงเบาๆ จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยของเด็กเพิ่มมากขึ้น การตะคอกหรือการบ่นมันไปทำร้ายสมองเด็ก ทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ พอเราได้ยินแบบนี้นะมันทำให้เรารู้สึกว่า ‘ที่ผ่านมาเราทำผิดมาก สงสารเด็ก’ ถ้ามองย้อนกลับไปเด็กเขาเชื่อฟังเราทุกอย่างนะ เป็นเด็กดี เด็กน่ารักมากเลย แต่ทำไมเราถึงไปเสียงดังกับเขา รู้สึกเสียใจมาก เสียใจกับการใช้เสียงดังกับลูก กับนักเรียนที่ผ่านมา เรามองว่าถ้าย้อนกลับไปได้ ถ้ารู้ตั้งแต่ตอนนั้น เราจะไม่ทำแบบนั้น”
เรื่องเสียงดังเป็นเรื่องหนึ่งที่ครูเอ๋ต้องปรับตัว นอกจากนี้เป็นรูปแบบการสอน จากที่สอนตามหนังสือ วัดตามเกณฑ์เป๊ะๆ ก็ต้องปรับใหม่เป็นการบูรณาการเอาทุกวิชามาผสมกัน สอนโดยตั้งปัญหาในห้อง ครูเอ๋อธิบายต่อว่า ความยากของที่นี่ คือ ไม่มีการสอบ จะวัดความรู้จากกิจกรรมที่เด็กๆ ทำ มันทำให้เธอที่เชื่อว่าเกณฑ์วัดคือทุกสิ่งต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง
“ตอนแรกเรายังไม่เข้าใจคำว่าบูรณาการแบบชัดเจน การบูรณาการ คือ พาเด็กทำเกษตรเหรอ? ทำอาหารเหรอ? เราตั้งคำถามตลอดว่ามันสามารถเรียนลงไปลึกได้แค่ไหน เราจะเอาเนื้อหาพวกนี้ให้เด็กได้ยังไง ความกังวลมันอยู่ตรงที่ว่าเด็กจะได้ข้อมูลครบทุกวิชาไหม
“แผนการสอนเราช่วงแรกๆ เลยเป็นแบบแยกส่วนว่าสัปดาห์นี้เรียนอะไร เช่น สัปดาห์นี้สังคม สัปดาห์หน้าวิทยาศาสตร์ ใน 1 ควอเตอร์ (10 สัปดาห์) จะมีครบทุกสาระทุกวิชา ส่วนเนื้อหาก็จะวัดจากตัวชี้วัดว่าเด็กควรรู้อะไรบ้าง พอเข้าควอเตอร์ที่ 2 เราก็ดูว่าสอนเนื้อหาอะไรเด็กไปแล้วบ้าง เรื่องไหนที่เรายังไม่ได้สอนเด็กก็เอามาสอน
“ที่นี่มีครูจากโรงเรียนลำปลายมาศมาเห็นแผนการสอนเรา เขาก็ถามว่า ‘ทำไมพี่เอ๋สอนเป็นวิชาๆ แบบนี้ละ’ เลยถามเขากลับว่า ‘พี่ควรทำยังไงให้ทุกวิชามันสามารถผสมกันได้’ ทำยังไงให้เราสามารถลงลึกไปในแต่ละวิชาได้ ครูเขาก็ถามกลับว่าเราอยากทำอะไร อยากสอนอะไรเด็ก แล้วคิดว่าเรื่องนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กได้ไหม
“อย่างกิจกรรมทำสบู่ เราจะมองละว่าเรื่องนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กได้ยังไง จะเอาแต่ละวิชามาผสมแบบไหน จะใช้คำถามแบบไหนให้เด็กเข้าใจปัญหา ให้ครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนช่วยดูแผนการเรียนทั้ง 10 สัปดาห์ว่าเราขาดตรงไหนต้องเติมอะไร เริ่มมองออกยากว่าช่วงนี้เป็นวิชาการงาน ช่วงนี้เป็นวิชาวิทยาศาสตร์นะ เราเข้าใจตัวหลักสูตรมากขึ้นในแต่ละวิชาที่เราไม่เคยสอน ปกติเราเคยสอนแต่คณิตศาสตร์ ไทย อังกฤษ อย่างวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่งเคยได้สอนก็ตอนอยู่ที่นี่ เรื่องไหนเราไม่รู้ไม่เป็นไรพาเด็กทำไปกับเรา เรียนไปพร้อมๆ กับเขา
“วิธีสอนแบบเดิม เด็กเรามีผลการสอบ O-net ระดับต้นๆ ของเขตพื้นที่ ได้เป็นตัวแทนแข่งขันกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ระดับภาค เราก็ภูมิใจนะ แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะในชีวิตของเด็กเขายังมีอีกหลายสิ่งที่ควรรู้นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ แล้วการสอนแบบปัจจุบันทำให้เรามีความสุข ได้เห็นเด็กๆ เรียนรู้อย่างสนุก มีความสุข และสิ่งที่เขารู้มันมีความหมายต่อเขา”
เรียกได้ว่าการย้ายมาโรงเรียนบ้านปะทาย เป็นการทำลายกรอบความเป็นครูที่ครูเอ๋ยึดมาตลอด 16 ปี ทิ้งไป เธอเปลี่ยนตัวเองเป็นครูแบบใหม่ ครูที่ไม่วางกรอบให้กับตัวเองและนักเรียน
เป็นครูเอ๋ที่พร้อมเข้าใจเด็ก
พอปรับตัวเข้ากับกระบวนการสอนได้แล้ว แต่ยังเหลือสิ่งหนึ่งที่ครูเอ๋ยังปรับตัวเข้าหาไม่ได้ คือ นักเรียน บางครั้งเผลอใช้เสียงดังกับเด็ก ไม่พอใจที่เด็กไม่ตั้งใจเรียน ตอนนั้นครูเอ๋เองก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูก เธอรู้สึกว่าเชื่อมกันไม่ติด เหมือนมีคลื่นรบกวนตลอดเวลา ประกอบกับวัยของลูกเธอเป็นวัยเดียวกันกับนักเรียนของเธอเอง เพื่อให้เข้าถึงจิตใจของเด็กมากขึ้น ครูเอ๋ตัดสินใจไปเรียนวิชาภายในจัดการกับจิตใจตัวเอง
“ไปเรียนเยอะมากทั้งเรียนแมนดาลา (ศิลปะบำบัด) นพลักษณ์ (ศาสตร์ที่ช่วยให้รู้จักตัวเอง เข้าใจจุดอ่อน/จุดแข็งของคนแต่ละประเภท แบ่งคนออกเป็น 9 กลุ่ม) เขาให้เราลองมองย้อนกลับตอนเราเป็นเด็ก ตอนนั้นเราเป็นยังไง วิธีคิดของเรา แล้วกลับมามองเด็กที่อยู่ตรงหน้าเรา ถ้าเราโดนให้ทำอะไรที่ฝืนใจตัวเอง ทำอะไรไม่ถูกใจถูกตำหนิ เราจะรู้สึกยังไง
“เราถึงได้มองเห็นตัวเองว่า เราเป็นคนที่เร็ว วางแผนอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ เช่น ถ้าคืนนี้เราวางเป้าหมายว่า ต้องทำแผนการเรียนทั้ง 10 สัปดาห์ให้เสร็จ ก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ แม้จะต้องอยู่ถึงตีสามก็ตาม ฉะนั้น แล้วเด็กก็ต้องเป็นเหมือนกับเรา ต้องทำอะไรรวดเร็ว วางเป้าหมายก็ต้องทำให้สำเร็จเหมือนเรา พอเด็กทำไม่ได้เราจะตัดสินทันที
“พอเรารู้ปัญหาตรงนี้ก็แก้ไขมัน กลายเป็นเรารู้จักรอคอยมากขึ้น ไม่รีบร้อน ยืดหยุ่น รอคอยเด็กได้ แล้วรู้สึกว่าเราแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น อย่างชั่วโมงเรียนบางชั่วโมงถ้ากิจกรรมที่เตรียมมาเด็กทำไม่ได้ ถ้าเมื่อก่อนคงเครียด กดดันทั้งตัวเราและตัวเด็กให้ทำให้ได้ แต่ตอนนี้เราจะคิดว่า ‘เราจะเปลี่ยนยังไงดี’ ‘ค่อยๆ ปรับยังมีเวลา’
“มีสัปดาห์หนึ่งพาเด็กไปเรียนเรื่องตรวจน้ำ พาออกนอกสถานที่ไปทะเลสาบ แต่พอไปถึงเด็กไปเล่นน้ำแทนไม่สนใจเรียน เราก็โมโหแต่พยายามตั้งสติ ทำให้ใจเราเย็นก่อนมานั่งคุยกับเด็กว่าเป็นอะไรกัน เกิดอะไรขึ้น การที่หนีไปเล่นน้ำ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะส่งผลกับใคร ถ้าแต่ก่อนยังไม่ได้ไปเรียนเรื่องพวกนี้นะ เราก็คงจะไปบ่นให้ครูคนอื่นฟัง (หัวเราะ) ‘เด็กเป็นอย่างนี้หนูจะทำยังไง อันนี้หนูวางแผนไว้แล้วมันต้องได้ ทำไมเขาถึงทำไม่ได้’ กลายเป็นเครียดมาก พอเรียนเรื่องภายในเราก็เข้าใจสภาวะของตัวเองมากขึ้น มองเห็นทางออก ยอมรับอะไรได้มากขึ้น”
เป็นครูเอ๋ที่จริงใจต่อตัวเองและเด็กๆ
คาบบ่ายเริ่มด้วยการทำกิจกรรมจิตศึกษา Body Scan อีกครั้ง เด็กๆ นั่งเป็นวงกลมในห้องเรียน กระบวนการเหมือนกับช่วงเช้า พอเสร็จครูเอ๋ก็ย้ำข้อตกลงที่ทำร่วมกันเมื่อช่วงเช้าว่า กิจกรรมช่วงบ่ายเด็กๆ ทุกคนจะต้องได้ทำสบู่ ไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กแต่ละคนพยักหน้ารับทราบก่อนจะแยกย้ายไปทำงาน คราวนี้ไม่มีใครนั่งเล่นมือถือ แต่ตั้งใจทำสบู่แทน
กิจกรรมช่วงบ่ายผ่านไปด้วยดี ดูได้จากสบู่ในบล็อคพิมพ์ที่แห้งเรียบร้อย รูปร่างออกมาเรียบสวยงามตรงใจเด็กๆ ครูเอ๋ให้เด็กเอาสบู่ออกจากพิมพ์เก็บใส่กล่องเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมวันพรุ่งนี้ คือการทำแพ็คเกจห่อสบู่
เมื่อใกล้เวลาเลิกเรียก ครูเอ๋เรียกนักเรียนรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสรุปกิจกรรมที่ได้วันนี้ เธอแจกกระดาษ A4 ให้นักเรียนคนละ 1 แผ่น ให้ทุกคนเขียนสรุปวิธีการทำของตัวเองและประโยชน์ที่ได้จากกิจกรรมนี้ แต่นี้ยังไม่ใช่กิจกรรมสุดท้ายของวัน หลังจากนักเรียนคนสุดท้ายส่งกระดาษ ครูเอ๋ก็ให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลมเหมือนตอนเช้า กิจกรรมจิตศึกษาก่อนกลับบ้าน
กิจกรรมจิตศึกษาที่ทำในครั้งนี้เรียกว่า AAR (After Action Review) การสนทนาหลังทำกิจกรรมเสร็จ เพื่อทบทวน ใคร่ครวญ เช่น เราได้อะไรจากการทำกิจกรรมนี้ รู้สึกอย่างไร บทสนทนาในวงกลมเริ่มต้นด้วยการแจกนมโรงเรียนอันเป็นการเติมพลังก่อนกลับบ้าน ครูเอ๋ชวนทุกคนคุยว่าวันนี้ความรู้สึกของแต่ละคนเป็นอย่างไร กิจกรรมที่ทำทุกคนรู้สึกโอเคกับมันหรือไม่ ก่อนจะให้นักเรียนหลับตา แล้วครูเอ๋ก็ปิดท้ายด้วยการ empower เด็กๆ ผ่านการขอบคุณที่พวกเขาทำกิจกรรมกับครูเอ๋ พร้อมชวนขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัว ขอบคุณวัวที่ให้นม ขอบคุณท้องฟ้า ขอบคุณพระอาทิตย์ เป็นอันจบการเรียนในหนึ่งวันของโรงเรียนบ้านปะทาย
บทสนทนาระหว่างเรากับครูเอ๋ก็ดำเนินมาถึงฉากสุดท้าย เราทำการวางบัตรคำจำนวน 24 ใบ แล้วขอให้ครูเอ๋เลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ ครูเอ๋นิ่งคิดสักพักหนึ่งก่อนจะเอื้อมมือมาหยิบบัตรคำ ‘จริงใจ’ ขึ้นมา เธออธิบายว่า เพราะว่าตัวเองชอบคนจริงใจ แล้วการที่จะได้เจอกับคนจริงใจ ตัวเราต้องจริงใจกับเขาก่อน มีน้ำใจกับเขา หวังดีจริงใจกับเขาจริงๆ เหมือนกับที่เธอจริงใจกับตัวเอง ยอมรับข้อผิดพลาด พร้อมที่จะแก้ไขปรับตัวเพื่อเด็กนักเรียน
“เรามองเห็นคำๆ นี้เพราะเราคิดว่ามันทำให้เด็กไว้ใจเรา กล้าที่จะพูด กล้าที่จะเปิดใจให้เรา เด็กบางคนเดินมาบอกเราว่า ‘ผมรู้สึกอิจฉาที่เพื่อนเก่งกว่า ทำใจไม่ได้’ พอเขากล้ามาเปิดใจเล่าปัญหาของเขาให้เราฟัง มันทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาและหาทางช่วยเขาได้
“ครูเป็นคนๆ หนึ่งที่สามารถมองเห็นคุณค่าของเด็กได้ ตอนแรกเราเองเกือบไม่ได้มีโอกาสเรียนต่อแล้ว แต่เพราะมีครูที่เห็นคุณค่าเราสนับสนุนให้เราเรียนต่อ เราถึงได้มาเป็นครูอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่เราทำเราพยายามมองหาคุณค่าในตัวเด็ก ผลักดันให้ตัวเขาและคนอื่นๆ เห็น” ครูเอ๋กล่าวทิ้งท้าย