- เราไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นครูเลย…จนวันนี้ บอม-ศุภรัช จรัสเพชร์ ใช้คำนำหน้าว่าครูมาได้สองปีกว่าแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนอาชีพ
- ชายหนุ่มร่างเล็กผมยาวคือครูของเด็กๆ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ครูตัวเล็กยกให้เด็กๆ เป็นครูเพราะสอนทักษะชีวิตมากมายให้ ส่วนเขาก็เปลี่ยนบทบาทเป็นเพื่อน เพราะเพื่อนจะวางใจเพื่อนได้มากกว่า
- “ตื่นเช้ามายังอยากจะไปโรงเรียนทุกวัน” คือเหตุผลสำคัญที่เรามาคุยกับครูบอมคนนี้
เรื่อง/ภาพ: อรสา ศรีดาวเรือง
“เราไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นครูเลย”
เขาบอกเราเช่นนี้หลายครั้งตลอดการสนทนา และตามมาด้วยเรื่องราวที่ใครจะไปคิดล่ะว่า จากนักทำสารคดีฟรีแลนซ์และผู้ผลิตรายการอิสระ ผู้ที่รักอิสระและเดินทางเพื่อถ่ายถอดเรื่องราวผ่านงานวิดีโอ จะกลายมาเป็น ‘ครูบอม’ ศุภรัช จรัสเพ็ชร์ ของเด็กๆ เพียงเพราะการไปเยือนศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งหนึ่งโดยบังเอิญ
ความบังเอิญที่ว่านั้น เกิดจากการไปได้ยินบทสนทนาสั้นๆ ของครูและนักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เขาบอกว่า “มันทำงานกับภายในของเราอย่างจัง”
“ครูครับ อัตราส่วนเท่านี้มันพอได้ไหม” เด็กชายถามด้วยความสงสัยขณะลงมือผสมปูนเทพื้นอาคารเรียน
“ก็ลองทำดู” ครูไม่ห้ามและไม่ตัดสินถูกผิด
1. “ที่นี่เขาทำอะไรกันอยู่ ทำไมเด็กมีความกล้าขนาดนี้”
เขาถามตัวเองเมื่อสองปีก่อนด้วยประโยคนี้
แค่คำว่าลองทำดูของครู เด็กคนนั้นก็ลงมือผสมหิน ทราย ปูนทันที
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงกล้าตัดสินใจเเค่ครูบอกว่าลองทำเลย เราก็คิดย้อนกลับไปหาตัวเองตอนอายุเท่านี้ ถ้าสมมุติว่าครูเปิดโอกาสให้เราทำอะไรสักอย่าง เราจะกล้าลองทำมันจริงๆ ไหม อีกมุมหนึ่งเราก็รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นเด็กคนนี้ที่กล้าทำ เราจะเจอครูที่เปิดโอกาสให้เราหรือเปล่า”
วันที่ยังไม่มีคำว่าครูนำหน้า บอม-ศุภรัช เจอหลายคำถามซัดเข้ามาไม่ยั้ง
ที่นี่เขาทำอะไรกันอยู่? ทำไมเด็กมีความกล้า? แล้วทำไมครูถึงเปิดโอกาสให้กับเด็กขนาดนี้? เขามีวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างไร?
บอมจึงตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต เก็บข้าวเก็บของมาลองใช้ชีวิตเป็นครูอาสาที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) โรงเรียนเล็กๆ ในชุมชนชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์หรือโผล่ว ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสองปีที่แล้ว
2. “เขาไม่ได้สอนทักษะชีวิตให้เรา แต่เขาทำให้เห็น”
จากเด็กกรุงเทพฯ ธรรมดา กลายไปเป็นครูอาสาในชนบท บทเรียนแรกที่เขาต้องเรียนรู้ก่อนการเป็นครู คือการเป็นลูกศิษย์
“มันเป็นสังคมใหม่ เราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน เด็กทุกคนมีทักษะชีวิตสูงมาก เช่น เรื่องง่ายๆ อย่างการกิน ไม่ใช่แค่ทำอาหาร เขาทำตั้งแต่ออกไปหาวัตถุดิบ เดินกลับบ้านก็จะแวะเข้าป่าไปเด็ดผักเด็ดหญ้ามาทำอาหาร อันนี้คือทักษะชีวิตที่เรารู้สึกสนใจ และเราไม่สามารถทำแบบเด็กได้ ง่ายที่สุดของเราคือออกไปซื้อมากิน”
สำหรับเด็กๆ ทักษะชีวิตคือการทำซ้ำจนเกิดเป็นความชำนาญ เด็กๆ จึงเป็นครูสอน ‘วิชาทักษะชีวิต’ ให้บอม ผ่านการลงมือทำ
“เขาไม่ได้มาคอยบอกเราหรอก แต่เขาทำให้เห็นเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงหน้าฝน เราต้องเดินไปอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เขาจัดงานประเพณี ต้องเดินข้ามห้วย ทางเละๆ หน่อย เด็กๆ ก็เดินกันสนุกมาก แต่เราต้องค่อยๆ เดินเพราะเราเดินไม่เป็น กลัวลื่นกลัวล้ม การไปอยู่ที่นั่นเหมือนเราเกิดใหม่ ต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด แม้กระทั่งการเดิน” บอมเล่าไปหัวเราะไป
3. “เราอยากเป็นเพื่อนกับพวกเขามากกว่าเป็นครู”
แน่นอนว่าผู้ใหญ่ในวันนี้เคยผ่านการเป็นนักเรียน ผ่านการตั้งคำถาม และมีภาพจำบางอย่างของครู แล้วภาพที่ครูบอมเคยมี เป็นภาพเดียวกับที่สัมผัสได้ในวันนี้หรือเปล่า?
“ภาพเก่าๆ ของครูที่เราคิดไว้ คือครูจะคอยจัดการเรียนการสอน ต้องบอกชี้แนะ เด็กจะมีหน้าที่ฟัง แต่พอเอาเข้าจริงยังมีเรื่องอีกเยอะแยะที่เรายังไม่รู้ และครูก็ไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้มากที่สุด แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองไม่ใช่ครู ในความหมายของผู้ใช้อำนาจ”
กลายมาเป็นโจทย์สำคัญของครูบอมว่า จะทำอย่างไรให้ได้เป็นเพื่อนกับเด็ก จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
“เริ่มแรกเราชวนเด็กทำสมุดไดอารี เราเห็นแค่ตาว่าพวกเขาทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง แต่เราอยากรู้จักพวกเขามากกว่านั้น อยากรู้ไปถึงความคิด ความรู้สึก เลยชวนว่า เรามาเขียนไดอารีกันดีกว่า สมุดไดอารีนี้จะเป็นความลับระหว่างคนเขียนกับเรา จะไม่มีใครรู้นอกจากนี้”
ไดอารีช่วงแรก เด็กจะเขียนแค่ว่าวันนี้ทำอะไร ตื่นเช้า กินข้าว เล่ากิจกรรมธรรมดา แต่พอเข้าอาทิตย์ที่ 3-4 ความลึกและความลับเริ่มผุดขึ้น
“เริ่มมีความรู้สึกเกิดขึ้นละ ว่าเขารู้สึกกับเพื่อนคนนี้อย่างไร รู้สึกกับครูคนนี้ต่อวิชานี้อย่างไร วันนี้เขามีปัญหาอะไร ที่บ้านเป็นยังไง เริ่มเล่าเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เรารู้เลยว่า ได้รับความไว้วางใจในระดับหนึ่งแล้วแหละ มันไม่ใช่เขาไว้ใจเราอย่างเดียวแล้ว อีกมุมหนึ่งเราก็ไว้ใจเขาเหมือนกัน”
4. “ไม่ได้เรียนจบครู แล้วไปสอนอะไรพวกเขา”
ปริญญาตรีจากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้หลายคนสงสัยว่า ครูบอมจะสอนอย่างไร และสอนวิชาอะไร
“ช่วงเช้าก็จะเรียนตาม 8 กลุ่มสาระ แต่ช่วงบ่ายจะเป็นโครงงาน PBL (Project based Learning) มีอยู่งานหนึ่งตอนเราเข้าไปใหม่ๆ ครูที่นั่นเห็นว่าเราทำเรื่องการสื่อสารมา เลยให้เราสอนเรื่องเทคโนโลยี”
เทคโนโลยีเป็นคำที่กว้างมาก โดยเฉพาะการนำไปสอนกับเด็ก ครูบอมตัดสินใจสอนโดยเริ่มจากความไม่รู้ แล้วชวนเด็กๆ มาหาคำตอบด้วยกัน เช่น
“ให้เด็กหาว่า เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวมีอะไรบ้าง เขาก็ตอบว่า ไฟฉาย นาฬิกา โทรศัพท์ นู่นนี่นั่นซึ่งก็ไม่ผิดซักอย่าง เราเลยถามต่อว่า แล้วทุกวันนี้เราใช้อะไรมากที่สุด คำตอบคือโทรศัพท์ เพราะโทรศัพท์แทบจะรวบรวมทุกอย่างไว้หมดทั้งนาฬิกา ฟังเพลง ฟังวิทยุ ถ่ายรูป ดูหนัง เราเลยถามต่อว่า แล้วจะใช้มันยังไงให้ได้มากกว่าแค่ฟังเพลง ดูหนัง แล้วถ้าเราไม่ใช่แค่คนฟังหรือคนดูล่ะ”
ครูบอมเลยชวนเด็กๆ มาทำเพลง ทำหนังกัน เล่าเรื่องอะไรก็ได้ ไม่จำกัดหัวข้อ เด็กกลุ่มหนึ่งเลือกแต่งเพลงเกี่ยวกับห้วยในชุมชน ก็พากันหิ้วกีตาร์ไปที่ห้วย นั่งเขียนเพลง อัดเพลงกันตรงนั้น กับอีกกลุ่มที่เรื่องศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็ใช้โทรศัพท์ถ่ายบรรยากาศการเรียนการสอน แล้วตัดต่อง่ายๆ เอา
พอถึงวันสำคัญที่ต้องนำเสนอผลงาน ครูบอมคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นสำคัญและมีค่า
“เลยนัดครูทั้งศูนย์การเรียนที่ว่างมานั่งเป็นวงกลมกันในห้อง เด็กก็นำเสนองานแล้วให้ครูคอมเมนต์เกี่ยวกับผลงานแล้วเราก็ไม่ได้ซีเรียสกับผลงานของเด็กด้วย มันสนุกดี สนุกมากด้วย เด็กชอบ ครูก็ชอบ”
5. เช้าวันที่ต้องตื่นมาทำสารคดี กับเช้าวันที่ต้องตื่นมาเป็นครู
มาเป็นครูได้สองปี จากที่เคยเป็นมือปืนรับจ้างผลิตสารคดี มีอะไรที่แตกต่างกันบ้างไหม เช่น เช้าที่ตื่นขึ้นมา?
“ตอนทำสารคดีมันสนุกตรงที่ได้คุยกับหลายคน เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และก็เลือกหยิบเอามาถ่ายทอด แต่พอทำเสร็จมันก็จบไป เราไม่ได้ทำอะไรต่อกับเรื่องนั้นอีกแล้วเพราะเราต้องไปทำเรื่องใหม่ แตกต่างกับตอนนี้ เพราะมันคือการอยู่ที่นี่ ได้เห็นตัวเองและเด็ก เห็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
ตอนนี้ครูบอมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าตัวเองทำงานด้านการศึกษา ครูต้องทำงานกับเด็กและเด็กก็ต้องเติบโต
“การเติบโตนี่แหละที่มันค่อยๆ เปลี่ยน ไม่ใช่เรื่องเดิมที่แค่เล่า จบ แล้วหายไป แต่การมาเป็นเราได้เอาทักษะบางอย่างตอนทำงานมาใช้ ตอนทำสารคดีเราจะใช้การคุย ใช้คำถามที่เป็นปลายเปิดเพื่อรับฟัง ครูก็เหมือนกัน ต้องมีคำถามปลายเปิดเพื่อรับฟัง ไม่ชี้นำ มันทำให้เราไม่ล็อคความคิดของเด็กๆ ด้วย”
6. “เราไม่ได้มองโลกเปลี่ยนไป เราแค่ได้เรียนรู้มากขึ้น”
ครูบอมนิ่งอยู่พักใหญ่ เมื่อต้องตอบคำถามว่า สองปีผ่านไปมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
“การเปลี่ยนโดยการพลิกหรือบิดรูปมันไปเลย การศึกษาอาจจะไม่มีภาพนั้น มันเป็นการเติบโตมากกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เหมือนการปั้นดินน้ำมันที่ปั้นรูปแล้วขยำ แล้วก็ปั้นรูปใหม่ แต่มันคือการที่เด็กหรือคนเรียนรู้ร่วมกันทั้งเด็กทั้งครู มีฐานหรือประสบการณ์เดิมอยู่ ค่อยๆ เติบโต แต่ละคนมีฐานเก่าของมันอยู่ เพราะฉะนั้นการค่อยๆ เปลี่ยนฟอร์มไป มันก็จะมีความบิดเบี้ยวของมันอยู่เป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่ส่วนตัวครูบอม การเปลี่ยนแปลงวัดผลได้จากคำพูดคนอื่น
“แรกๆ ที่เราไปเป็นครู แล้วได้กลับมากรุงเทพฯ เจอพี่ที่เคยทำงานโปรดักชั่นด้วยกัน เขาถามเราเรื่องการไปเป็นครู เราก็เล่าให้ฟัง พอเล่าจบแล้วพี่เขาก็บอกว่า เฮ้ยมึงทำเรื่องนี้มึงน่าจะมีความสุขนะ เพราะตอนที่มึงเล่า มึงยิ้มตลอดเลย อันนี้คือสิ่งที่พี่เขาบอกเรานะ”
เขาไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเขามีความสุขอย่างไรต่อสิ่งที่ทำอยู่ในวันนี้ แต่กลับเป็นเราเองที่อยากบอกครูบอมว่า ขณะที่นั่งสนทนากันอยู่นี้ แววตาของเขาเป็นประกายและเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกเอาเองว่า ครูบอมกำลังมีความสุขในชีวิตฉากใหม่ จากความตั้งใจแรกที่อยากทำสารคดีของศูนย์การเรียนรู้ฯ สู่การเป็นครูอาสา และกลายเป็นครูบอมเต็มตัวในวันนี้
เราไม่ได้ถามครูบอมต่อว่า แล้วเขาจะยังเป็นครูไปถึงเมื่อไหร่ เพราะตลอดบทสนทนาร่วมๆ สองชั่วโมง เรารู้ทันทีว่าชายหนุ่มวัย 28 กำลังสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่จบสิ้นไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน กับชุมชน และกับเหล่าเด็กนักเรียนที่เขาเรียกว่า ‘เพื่อน’