- การสร้างการเรียนรู้ของ ‘กลุ่มฅนวัยใส’ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งได้ค้นพบศักยภาพ พัฒนาตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ดูแลครอบครัว ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
- ถ้าพ่อแม่วัยรุ่นสามารถพัฒนาตนเอง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ได้หนึ่งคน คนคนนั้นจะหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงลูกของเขาก็จะได้รับการพัฒนาเป็นเด็กคุณภาพที่เข้าสู่ระบบการศึกษาจนสำเร็จ
- บทบาทการทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา สิ่งสำคัญคือต้องมีความเมตตา เข้าใจ ไม่ตัดสิน และให้โอกาส รวมถึงจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความสนใจ ตอบโจทย์แก้ปัญหาชีวิตของเขาให้ได้
“ถ้าท้องของคนเรามันหิว ประตูแห่งการเรียนรู้ทุกอย่างมันจะถูกปิด เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาเร่งด่วน ก็เลยพยายามจัดกระบวนการเรียนรู้ให้พ่อแม่วัยรุ่น เพื่อให้เขามีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูลูกตัวเองให้ได้”
นี่คือเสียงสะท้อนของคนที่ทำงานกับ ‘พ่อแม่วัยรุ่น’ ในเวทีเสวนาออนไลน์ Little Big Communities Talk season 2 EP.4 หัวข้อ ‘สร้างการเรียนรู้ ให้พ่อแม่วัยรุ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น’ จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
The Potential หยิบหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ จากโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ มาเล่าสู่กันฟังผ่านมุมมองของ สุดาพร นาคฟัก ‘กลุ่มฅนวัยใส’ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งได้ค้นพบศักยภาพ พัฒนาตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ดูแลครอบครัว ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
“สิ่งที่เราร่วมลงมือ ลงแรงกันไป เวลาผ่านไปมันออกดอก เห็นผล แล้วชีวิตเขาดีขึ้น นี่คือเป้าหมายหลักของการทำงานของเรา”
หลักสูตรการเรียนรู้ ‘พ่อแม่วัยรุ่น’ สู่การสร้างอาชีพ
‘ป้องกันท้องซ้ำในวัยรุ่น ดูแลสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เสริมทักษะชีวิต พัฒนาสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้’ นี่น่าจะเป็นคอนเซปต์ที่ฉายให้เห็นภาพการทำงานของ สุดาพร นาคฟัก กับ ‘กลุ่มฅนวัยใส’ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชัดเจนทีเดียว
“เดิมเราทำงานด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มคนทุกคนที่อยู่ในชุมชนและโรงเรียน ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยพรีทีน วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็จะเป็นการจัดกระบวนการให้ความรู้ แต่ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยที่มีจำนวนกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น สถิติที่สูงขึ้น และในพื้นที่ที่เราทำงานเองก็มีสถานการณ์ที่พ่อแม่วัยรุ่นเพิ่มเยอะมาก พอทำงานเชิงลึกกับเขาจะเห็นเลยว่า ชีวิตของเขามันมีอุปสรรคปัญหาเยอะมาก แล้วช่องว่างก็คือว่า มันไม่เคยมีใครหรือองค์กรไหนที่ทำงานกับกลุ่มนี้แบบจริงจัง กลุ่มเราก็เลยเปลี่ยนเป้าหมายขององค์กรไปทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นโดยเฉพาะ โดยการสนับสนุนจาก กสศ.”
จากการทำงานเชิงลึก ทำให้เธอมองเห็นแนวทางและศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ว่า บางคนยังมีความฝัน แววตายังมีเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมจะเรียนรู้อีกครั้ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักคือเรื่องปากท้อง
“เมื่อก่อนประเด็นเริ่มต้นในการทำงานคือระวังในเรื่องการท้องซ้ำ เรื่องการดูแลลูก พัฒนาการเด็ก และเรื่องการส่งเสริมการอ่านนิทาน แล้วทุกครั้งที่เราชวนเขามาทำกิจกรรม ปัญหาหลักๆ ที่เป็นทุกครอบครัวคือเรื่องเงิน ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่จัดการยาก ถึงขั้นที่เขาไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก”
“ถ้าท้องของคนเรามันหิว ประตูแห่งการเรียนรู้ทุกอย่างมันจะถูกปิด เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาเร่งด่วน ก็เลยพยายามจัดกระบวนการเรียนรู้ให้พ่อแม่วัยรุ่น เพื่อให้เขามีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูลูกตัวเองให้ได้”
‘ปิดจุดด้อย เสริมจุดเด่น’ กระบวนการทำงานกับพ่อแม่วัยรุ่น
อย่างไรเสีย ‘พ่อแม่วัยรุ่น’ ก็คือ ‘มนุษย์วัยรุ่น’ คนหนึ่ง ที่วันนี้กลายมาเป็นพ่อแม่ กระบวนการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทั้งในบทบาทของความเป็นพ่อแม่ที่จำเป็นต้องเลี้ยงดูอีกชีวิตให้เติบโตอย่างดีที่สุด ในบทบาทของความเป็นลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ และในบทบาทของความเป็นพลเมืองที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงต้องเริ่มจากการทำความรู้จักกันเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้
โดยภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เช่น โรงพยาบาลสารภีกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานร่วมกันในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการประสานงานลงพื้นที่เยี่ยมบ้านพ่อแม่วัยรุ่นเหล่านั้น
“กลุ่มเด็กวัยใสเขาจะเหมือนมีตราบาป เวลามีใครติดต่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดใจยอมให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้ปัญหาของตนเองและครอบครัวของตนเอง ค่อนข้างจะปิด เพราะฉะนั้นเราจะใช้แรงพลังในการหาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้”
ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เป็นการเข้าไปทำความรู้จักกัน เริ่มจากแนะนำตัวเองในฐานะคนทำงาน เพื่อหาแนวร่วมว่าในครอบครัวนี้ มีญาติพี่น้องหรือใครที่เป็นแนวร่วมเพื่อทำงานพัฒนาศักยภาพเขาได้บ้าง จากนั้นจึงกลับมาวางแผนกระบวนการทำงาน
“แล้วก็จะมีเวทีชวนเข้ามาทำความรู้จักเราเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ สมมติว่าเขาไปเรียนรู้หรือว่าเขาไปที่ไหนแล้ว เขารู้สึกว่าพื้นที่แห่งนั้น หรือว่าคนที่อยู่ที่นั่นตีตราซ้ำเติม ดูถูกเหยียดหยามเขา มันไม่มีทางที่เขาจะเปิดตัวเองก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน เพื่อไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีกระบวนการที่ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเขา กับเพื่อนๆ”
“เด็กแต่ละคนจะมีเบื้องหลังของชีวิตที่ค่อนข้างต่างกัน แม้ว่าเขาจะมีสถานการณ์ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเหมือนกัน มันต้องมีกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วก็ออกแบบกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีและความต้องการของเขาจริงๆ สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตของเขาให้ได้”
บทบาทการทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องมีความเมตตา เข้าใจ ไม่ตัดสิน และให้โอกาส
“ความรู้ของตัวเราเองที่จะต้องหาเติมอยู่ตลอดเวลาให้ทันกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญก็คือต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความสนใจ แล้วก็ตอบโจทย์แก้ปัญหาชีวิตของเขาให้ได้ รวมถึงครอบครัวของเขา ถ้าเขาเข้าใจกันกลับไปสู่ครอบครัวได้ แล้วครอบครัวช่วยเหลือ กลุ่มนี้จะไปได้ไกล”
จุดประกายฝัน จัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิต
จุดเด่นที่เข้มแข็งของเด็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้ คือ มีความฝันและมีพลังในการขับเคลื่อน แต่อีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่ทุกบ้านที่อยากเปิดแผล หรือให้ใครมาเรียนรู้ปัญหาของตนเอง เพราะสิ่งที่เจอก็หนักหนาพอแล้ว
ในการช่วยเหลือนั้น จะแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน กลุ่มที่ยังมีครอบครัวคอยสนับสนุน และกลุ่มที่ไม่เอาอะไรเลย ซึ่งกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ไม่มีความมั่นใจพอที่จะเปิดตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้สิ่งอื่น แบ่งกลุ่มเพื่อดูแลเป็นรายบุคคล ส่วนกลุ่มที่พอจะสามารถเรียนรู้ได้ ก็จัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของเขา
เพราะการจัดการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนนั้นสำคัญมาก ต่อให้กระบวนการดีเพียงใดหากไม่มีคนสนใจหรือไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ก็จะเป็นการทำงานที่ไร้ประโยชน์เสียเปล่าๆ
“สมมติเขาอยากเรียนรู้เรื่องทำอาหาร แต่เราชวนเขาไปเรียนรู้เรื่องการตากผ้า แล้วสมาชิกในกลุ่มมันไม่มีใครสนใจเลย แม้ว่าเราจะมีกระบวนการหลักสูตรตั้งไว้ 1-5 ถ้าเขาไม่สนใจ เขาไม่มาเรียน ดังนั้นการออกแบบกระบวนการของเรามันต้องตอบโจทย์ชีวิตของเขาจริงๆ สามารถนำความรู้หรือทักษะที่เราฝึกให้ไปใช้ได้จริงๆ”
กระบวนการนี้จะทำให้เห็นว่า ความสนใจ ความต้องการ ความฝันของพวกเขา จากนั้นจึงเสริมด้วยการพาไปเปิดโลกทัศน์ตามสิ่งที่เขาสนใจ หรือให้ข้อมูลในการประกอบอาชีพนั้นโดยการพาไปสัมผัสจากคนที่มีประสบการณ์ เมื่อเขาเลือกอาชีพหรือเส้นทางได้แล้วจึงสนับสนุน
“พอเขาเลือกอาชีพได้เสร็จ ก็สอนให้เขาคำนวณเรื่องรายรับ-รายจ่าย วางแผนที่จะขายสินค้า ไม่ใช่ว่าเขาอยากขายลูกชิ้น ก็ไปซื้อลูกชิ้นมา แล้วก็ไปขายเลย มันก็ไม่ได้ แต่เราก็จะสอนให้เขาคิด วิเคราะห์ออกแบบอาชีพ คำนวณต้นทุน กำไร หาวัตถุดิบ แล้วถ้าต้องการอุปกรณ์ ที่ไหนมีขาย เราก็พาไปซื้ออุปกรณ์ ทดลองทำ ทำแล้วเอามาชิม ชิมเสร็จ ทุกคนโอเค เห็นว่าสินค้านี้สามารถนำสู่ตลาดได้ ก็เริ่มสนับสนุนให้ขาย พอสนับสนุนอาชีพเสร็จ ก็ต้องมีกระบวนการในการติดตามหนุนเสริม ดูแลให้คำปรึกษาเป็นระยะ ให้เขาประกอบธุรกิจหรืออาชีพของเขาให้นานที่สุดให้ได้”
ซึ่งจากการทำงาน 2 ปี ที่ผ่านมาของกลุ่มฅนวัยใส ทำให้มองเห็นปัญหาว่า “เด็กกลุ่มนี้ยังมีทักษะชีวิตอีกหลายด้านที่จำเป็นต่อเขา เพราะว่ากว่าที่เด็กคนหนึ่งจะประกอบอาชีพได้ หลังบ้านเขาต้องถูกจัดการ ลูกเขาต้องมีคนดูแล มีคนช่วย ต้องผ่านกระบวนการจัดการระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าขาดหายไปก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้สำเร็จ มันจะวนลูปมาเหมือนเดิม
ถ้าเราพัฒนาทักษะชีวิต จัดการชีวิตเขาให้ดี จัดการชีวิตลูกให้ดี จัดการปัญหาที่อยู่เบื้องหลังได้ เขาก็จะนิ่ง มีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า”
“ปัญหาของเขาอีกอันหนึ่งที่จะเป็นตัววัดว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอาชีพหรือไม่ คือเรื่องลูก ถ้าลูกเขามีปัญหาพัฒนาการบกพร่อง พูดช้า หรือว่าสมาธิสั้น หรือว่ามีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ มันทำให้เขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้แบบจริงจัง เพราะฉะนั้นหลังบ้านเขาจะต้องพัฒนามาระดับหนึ่ง เพราะว่าด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิเขา จะต้องพึ่งพิงคนอื่นสูง แต่ถ้าสมมติมีคนคอยช่วย เขาจัดการปัญหาเบื้องต้นได้ เขาจะไปได้ไกล แม้ว่าเขาจะไม่สามารถประกอบธุรกิจของตัวเอง แต่เขาสามารถทำงานประจำได้”
การพัฒนาตนเองพ่อแม่วัยรุ่น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูก
ในฐานะคนทำงานด้านการพัฒนาในพ่อแม่วัยรุ่น สิ่งที่เธอมองเห็นคือ ถ้าพ่อแม่วัยรุ่นสามารถพัฒนาตนเอง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ได้หนึ่งคน คนคนนั้นจะหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงลูกของเขาก็จะได้รับการพัฒนาเป็นเด็กคุณภาพที่เข้าสู่ระบบการศึกษาจนสำเร็จ
“เพราะฉะนั้นการลงทุนกับพ่อแม่วัยรุ่น 1 คน มันไม่มีทางที่จะสูญเปล่า ในระยะเวลา 5-10 ปีต่อไป มันจะงอกเงย มีประโยชน์ และมีผลต่อคนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้หลุดพ้นจากความยากจนอีกหลายคน”
หากมองอีกมุมหนึ่งเด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นต้นกล้าที่กำลังเติบโต แต่เขาต้องเป็นต้นไม้ที่จำเป็นต้องโต เพื่อจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้กับต้นกล้า หรือต้นไม้ต้นอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวด้วย ถ้าทำให้ต้นไม้ต้นนี้แข็งแรงได้ ต้นอื่นๆ ที่เป็นครอบครัวก็จะแข็งแรงด้วย
“เราพัฒนาเด็กหนึ่งคน เพื่อให้เด็กคนนี้ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้กับครอบครัว ให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัวอีกหลายคน เพราะว่าเขามีปัญหา มันเหมือนว่าเขาเป็นตัวปัญหา แต่ว่าวันใดที่ตัวปัญหานั้นกลับมาเป็นที่พึ่งให้กับคนในครอบครัวได้ ครอบครัวเขาก็จะกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดี มีความสุข มีความอบอุ่นเหมือนเดิม” สุดาพร ทิ้งท้าย