- อาจารย์หญิง จุฑา พิชิตลำเค็ญ เจ้าของวิชา Communication and Leadership แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เปิดขึ้นมาได้ราว 2 ปีแล้ว ใช่… คุณฟังไม่ผิดหรอก เธอบรรจุวิชา Soft Skills เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเลือกเรียนในคณะที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Soft Skill เหล่านี้นัก แต่เธอยืนกรานว่าวิศวกรยุคใหม่ จำเป็นต้องรู้สิ่งนี้
- “คาบแรกเชิญวิทยากรที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับละคร มาสอนเรื่อง Team Building ให้เด็กสร้างทีมและได้ทบทวนตัวเอง จากนั้นก็จะมีกิจกรรมอาบป่า มีวิชาเล่าเรื่อง Storytelling มีวิชา Nonviolence Communication มีวิชา Coaching ที่จะช่วยให้เขารู้จักการรับมือกับการมีคนเข้ามาปรึกษา แล้วก็มีวิชาการเท่าทันสื่อด้วย โดยทุกๆ คาบเราจะให้นักศึกษาเขียน Reflection เพื่อให้เขาได้คุยกับตัวเองและสะท้อนมันออกมา”
โลกของเราทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วจนตามแทบไม่ทัน
ความรู้ใหม่เกิดขึ้นเสมอ และความรู้ก็มีอายุสั้นลง หากลองมองไปที่หลักสูตรวิชาเรียนในหลายๆ มหาวิทยาลัยจึงเป็นไปได้ว่าหลักสูตรเหล่านั้น ‘เก่า’ หรือ ‘ล้าสมัย’ ไปเสียแล้ว แม้หลักสูตรเหล่านั้นจะเพิ่งปรับปรุงไปเมื่อสองปีก่อนหรือปีกลาย ความล้าสมัยที่เกิดขึ้นนั้นหลายครั้งก็ไม่ใช่ความผิดของคนออกแบบหลักสูตร เพียงแต่โลกของเรามันหมุนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วสมยุค disruption จนเนื้อหาของวิชาเรียนบางคาบหรือทักษะบางแบบไม่เพียงพอต่อการทำงานในยุคนี้อีกแล้ว
อีกทั้งทุกวันนี้ตลาดแรงงานโลกให้ความสำคัญเรื่องทักษะการทำงานที่เรียกว่า Hard Skills หรือทักษะเชิงฝีมือน้อยลง แต่ให้ความสนใจเรื่องของ Soft Skills หรือทักษะเชิงอารมณ์ และทักษะการสื่อสารเป็นอย่างมาก เมื่อโลกเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยที่เคยมุ่งสอนแต่ Hard Skills จะใช้วิธีไหนในการก้าวให้ทัน เพื่อผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของยุคสมัยออกมา
อาจารย์หญิง-รศ.ดร.จุฑา พิชิตลำเค็ญ ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำตอบว่า “ก็สร้างวิชาเรียนขึ้นมาใหม่เลยสิ”
แม้โลกจะหมุนเร็วจนตามแทบไม่ทัน แต่โลกของการศึกษาไม่สามารถมีข้ออ้างหรือข้อแม้ในเรื่องนี้ได้ เพราะการผลิตนักศึกษาที่พร้อมออกไปทำงานกับโลกที่หมุนเร็วคือหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็วแค่ไหน ก็ต้องตามให้ทัน
ปัจจุบันอาจารย์หญิง จุฑา เป็นเจ้าของวิชา Communication and Leadership แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เปิดขึ้นมาได้ราว 2 ปีแล้ว ใช่ คุณฟังไม่ผิดหรอก เธอบรรจุวิชา Soft Skills เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเลือกเรียนในคณะที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Soft Skill เหล่านี้นัก แต่เธอยืนกรานว่าวิศวกรยุคใหม่จำเป็นต้องรู้สิ่งนี้
เราจึงอยากพาผู้อ่านไปรู้จักกับอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ที่พยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยก้าวตามโลกให้ทันคนนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้คุณได้เห็นว่าทำไมเธอถึงได้กลายมาเป็นอาจารย์ไม่กี่คนในประเทศที่เป็นเจ้าของวิชา Soft Skills ในมหาวิทยาลัย
จากนักเรียนทุน ก.พ. ตรี โท เอก สู่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ด้วยโชคชะตาแบบไหน ที่ทำให้คุณกลายมาเป็นอาจารย์
การเป็นอาจารย์ไม่เคยอยู่ในหัวเลย แต่บางอย่างถ้ามันเป็นโชคชะตา ยังไงเราก็ต้องมาทำ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราเป็น นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้ทุนก.พ.ไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงเอก พอกลับไทยมาก็ต้องไปใช้ทุนโดยเข้าบรรจุในหน่วยงานรัฐสักแห่งหนึ่ง
ตอนใกล้จบเขาก็ให้เรากรอกว่าจะไปสังกัดที่หน่วยงานไหน เราจำได้เลย เราเลือกทำที่สภาพัฒน์ไป แต่ด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้ พี่ที่ก.พ.ดันโทรมาแนะนำเราว่าคุณสมบัติแบบเราที่จบปริญญาเอกในสาขานี้ น่าจะไปเป็นอาจารย์มากกว่านะ ด้วยความที่เราไม่รู้อะไรเลย ก็เลยเชื่อพี่เขาแล้วลองไปสมัครเป็นอาจารย์ดู
ตอนนั้นรู้แค่ว่าเราเรียนจบวิศวกรรมอุตสาหการมา เราก็ควรจะเป็นอาจารย์คณะนี้นี่แหละ จากนั้นก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่จะไปสอน อาจารย์ทุกคนในยุคนั้นอยากไปจุฬาฯ แต่เราอยากไปในที่ที่คนไม่ได้ชอบไปกัน ก็เลยเลือกมหาวิทยาลัยเกษตรเป็นอันดับแรก แล้วเขาก็รับเข้ามาทำงานจนถึงตอนนี้
จากนักศึกษาปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกาสู่การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรัฐ มันง่ายไหม
ยากมาก คือเราไปอยู่อเมริกามานาน ขาไปเราเจอ culture shock ทั้งเรื่องภาษา อาหาร และสิ่งแวดล้อม แต่พอเราอยู่มานานเราก็กลายเป็นอเมริกันคนหนึ่งไปโดยปริยาย ซึ่งพอขากลับมามันคือการกลับมาอยู่ในประเทศโลกที่สามอ่ะ เมื่อ 20 ปีก่อน มันไม่มีแม้แต่ Wifi หรืออินเทอร์เน็ตในห้องส่วนตัว อาจารย์ต้องเดินเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์ในห้องแลป
นอกจากเทคโนโลยี เรารู้สึกว่าการที่เราเรียนที่อเมริกามามันหล่อหลอมให้เราไม่เหมือนคนอื่น บางอย่างที่เขาทำกันเป็นปกติในอเมริกา ในมหาวิทยาลัยไทยเราก็จะไม่ทำ ยกตัวอย่างเช่น ที่อเมริกา เวลาเขาตรวจข้อสอบเสร็จเขาจะแจกข้อสอบคืนให้กับนักศึกษาแต่ที่ไทยเขาไม่ให้นักศึกษาดู เราก็จะเป็นอาจารย์ที่ให้เด็กดูข้อสอบและเอาเฉลยให้ดูด้วย เพราะรู้สึกว่ามันโปร่งใส ทุกคะแนนมันมีที่มาที่ไป การทำแบบนี้มันแฟร์กับเด็กมากกว่า
อีกเรื่องที่ยากสำหรับเราคือการสอน เรารู้สึกว่าความกระตือรือร้นในการมาเรียนของเด็กไทยมีน้อย พลังงานในห้องเรียนที่เราเคยประสบมาจากอเมริกามันไม่มีที่นี่ ประกอบกับตอนนั้นเราเป็นอาจารย์ที่ไม่แคร์เด็ก เพราะเราติดมาจากอเมริกาว่าอาจารย์ก็จะพูดๆๆ แจกสิ่งที่ต้องให้กลับไปอ่าน แล้วให้นักเรียนทำการบ้านมาเอง อันไหนไม่เข้าใจให้มาถามครู แต่เด็กไทยถ้าไม่เข้าใจเขาจะไปถามเพื่อน อีกอย่างคือเด็กที่นี่ลอกการบ้านกัน ตอนสอบก็ต้องคอยคุมไม่ให้มีการลอก นี่คือความต่างที่เราเห็น ซึ่งตอนนั้นเราไม่เข้าใจสิ่งนี้เลย
เราสอนได้แค่เทอมเดียวก็รู้สึกไม่อยากอยู่แล้ว เลยหาช่องทางกลับไปทำ Postdoc (นักวิจัยหลังปริญญาเอก) ที่แคนาดา บอกตัวเองว่าฉันไม่อยู่แล้วประเทศนี้
หนีเลยเหรอ
ตอนนั้นเราไม่มีความสุขเลย เราเครียด เบื่อ ไม่อยากสอน โทษเด็กว่าเด็กไทยไม่กระตือรือร้น ไม่อยากเรียน แต่ช่วงระหว่างที่เราทำ Postdoc เราก็เหงามาก คือมันเป็นการไปทำงานเลยไม่ได้มีสังคมเพื่อนอย่างตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่ไอ้ช่วงนี้นี่แหละที่ทำให้เราได้ค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงมันไม่ได้อยู่ที่สถานที่หรือคนอื่น ปัญหามันอยู่ที่ตัวฉันเอง ฉันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็เลยคิดว่าต้องกลับมาที่ไทยแล้วจัดการกับตัวเองให้ได้ ไม่อย่างนั้นฉันก็อยู่ที่ไหนไม่ได้หรอก
จัดการยังไง
เราเป็นคนที่ชีวิตต้องมีเป้าหมายตลอด ตอนอายุ 17 เป้าหมายของเราคือปริญญาเอก ชีวิตมันมีเส้นทางที่ชัดเจน แต่พอเราได้ปริญญาเอกมาแล้ว ชีวิตกลับไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น เราก็พยายามหาเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อมาเติมเต็ม
ตอนเรากลับไทยครั้งแรก เราก็ทำตามเป้าของการเป็นอาจารย์ทั่วไปคือ ขอทุนวิจัย ตีพิมพ์บทความวิชาการ ซึ่งเราก็ทำได้แต่มันก็ยังไม่ได้มีความสุข หนึ่งในตัวชี้วัดที่ดีมากของปัญหานี้คือเรามีอาการนอนไม่หลับ ตลอดเวลาที่อยู่อเมริกาตั้งแต่สมัยเรียน เรานอนไม่หลับมาเป็นสิบปี
ตอนกลับไทยครั้งที่สองหลังจาก Postdoc เราก็มุ่งว่าจะจัดการกับตัวเอง พอดีได้ไปเจอบทสัมภาษณ์ของใครสักคนที่พูดถึงการปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ เราก็เลยลองไปดู สิ่งที่สวนโมกข์ให้คือการบอกว่า จงมีสติอยู่กับปัจจุบัน แล้วหันกลับมาดูข้างในตัวเองบ้าง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน ตอนที่อยู่อเมริกา สังคมมันมีความทะเยอทะยานและมุ่งเป้าอยู่ตลอดเวลา เราที่เป็นคนมุ่งมั่นอยู่แล้วพอไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นเลยไปกันใหญ่ มันทำให้เรามองเห็นแต่เป้าหมายโดยไม่เคยมองเข้ามาข้างในตัวเราเองเลย
เชื่อไหมว่าตอนอยู่สวนโมกข์ เรานอนหลับได้ลึกที่สุดในรอบสิบปี สิ่งนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามาถูกทาง ซึ่งเรื่องของสติมันก็ยังช่วยเราในหลายๆ ด้านจนถึงทุกวันนี้
นอกจากชีวิตส่วนตัวแล้ว สวนโมกข์มีอิทธิพลกับการสอนของคุณบ้างไหม
ประโยคนึงที่ขึ้นมาพร้อมคำถามนี้เลยคือ “You Teach Who You Are” คือถ้าคุณแก้ปัญหาในชีวิตส่วนตัวไม่ได้ สุดท้ายคุณก็จะเอาสิ่งนั้นเข้ามาในห้องเรียนและสาดมันใส่เด็กนักเรียนของคุณ เราเลยรู้สึกว่าเราต้องแก้ปัญหาในเรื่องความรู้สึกส่วนตัวบางอย่างก่อน เราถึงจะสามารถมีฟังก์ชันของการเป็นคนที่สมบูรณ์ จากนั้นค่อยไปสอนคนอื่น
พอเราเริ่มมีความสุขกับตัวเอง เราก็พยายามปรับทัศนคติของตัวเองที่มีกับการสอน พยายามมีความสุขกับมันมากขึ้น พยามหามุมมองที่เราจะคลิกกับมัน
เราพบว่าตัวเองเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับอิมแพค และ ความมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะสร้างอิมแพคให้กับสังคมนี้ได้มากที่สุดคือการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพออกมา เราทำวิจัยให้ตายยังไง โอกาสที่ paper จะเปลี่ยนแปลงคนหรือสังคมมันมีน้อยมาก ฉะนั้นการสร้างอิมแพคที่มีประสิทธิภาพและคุ้มกับการลงแรงของเรามากที่สุดคือการสอนเด็ก พอเราเจอทัศนคตินี้ มันก็เลยเหมือนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
ทัศนคติเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยนไปด้วยไหม
เปลี่ยน เราพยายามไปเรียนนู่นนี่นั่นมากมายเกี่ยวกับเทคนิคการสอน หาเรื่องจิตวิทยาต่างๆ อ่านเพื่อมาพัฒนาตัวเอง ซึ่งพอไปเรียน เราก็จะได้รับเครื่องมือในการเรียนการสอนมาด้วย ช่วงแรกเราเลยเป็นพวกหมกมุ่นกับเครื่องมือ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็พบว่าเทคนิคหรือเครื่องมือต่างๆ มันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น
แล้วอะไรที่จำเป็น
เราเคยทำเซอร์เวย์กับนักศึกษาปี 4 โดยมีคำถามว่า “สิ่งที่คุณประทับใจและไม่ประทับใจที่สุดในตัวอาจารย์คืออะไร” พอได้อ่านคำตอบของนักศึกษา หลายคำตอบทำเราช็อค เช่น เด็กบอกว่าโมเมนต์ที่ประทับใจที่สุดคือ “ตอนที่ผมนั่งอยู่หลังห้อง แล้วอาจารย์มาถามผมว่าเข้าใจไหม” ส่วนโมเมนต์ที่ไม่ชอบที่สุดคือ “การสอนแบบที่อาจารย์อยากสอน โดยไม่สนใจว่าผมเข้าใจหรือเปล่า”
จากทั้งสองคำตอบนี้มันทำให้เราเข้าใจว่าหัวใจของการสอนมันอยู่ที่ความใส่ใจ แค่นั้นเลย เทคนิคต่างๆ ไม่ได้จำเป็นมากหรอก จะ Active learning หรือจะเลคเชอร์ก็ดี สิ่งสำคัญคือเราต้องเชื่อมกับนักเรียนให้ได้
Soft Skills ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
วิชา Communication and Leadership มีที่มาที่ไปยังไง
ระหว่างที่เราไปเรียนเพื่อพัฒนาการสอนของตัวเอง เราก็ได้ยินสิ่งที่คนเขาพูดกันอย่างเรื่อง 21st Century Skills หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นเรื่องของ Soft Skills ต่างๆ แล้วเราก็หันกลับมามองเด็กของเรา เฮ้ย หลักสูตรที่มีอยู่มันไม่ได้ช่วยบ่มเพาะทักษะเหล่านี้เลยนี่ ช่วงปี 2561 ก็เลยเกิดความคิดที่จะเปิดสาขาวิชาใหม่เพื่อสอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ
นักศึกษาวิศวะฯ จำเป็นต้องเรียน Soft Skill ด้วยเหรอ
ต้องสิ วิศวกรยุคปัจจุบันยิ่งต้อง คือแต่ก่อนเมื่อนักศึกษาเรียนจบไปแล้วก็มักจะไปเป็นวิศวกรในโรงงาน แต่เดี๋ยวนี้งานสายการผลิตมันย้ายฐานไปอยู่ในประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า รวมถึงมีเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต ทำให้ความต้องการจ้างวิศวกรสายนี้มีน้อยลง วิศวกรจำนวนมากจึงขยับเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมการบริการ เช่น Data Analyst โลจิสติก หรือ โรงพยาบาล จากที่เคยทำงานกับเครื่องจักร ก็ถูกบีบให้มาทำงานกับมนุษย์มากขึ้น ทักษะที่เป็น Soft Skill ต่างๆ จึงจำเป็น
นอกจากนี้เราว่าวิชาของเราให้พื้นที่ในการพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้ขาด การคุยกับมนุษย์ตัวเป็นๆ มันไม่เหมือนกับการแชทกัน แล้วก็ไม่ใช่แค่คุยในเรื่องทั่วไป บางคลาสเขาต้องคุยในเรื่องละเอียดอ่อนหรือเปราะบาง ซึ่งสิ่งนี้มันสามารถเชื่อมคนถึงกันได้ในทันทีเลยในฐานะมนุษย์ ซึ่งเราว่ามันเป็นสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกว่าการไปกินเหล้าด้วยกันอีก
คลาสแรกที่สอนเป็นยังไงบ้าง
มันผิดจากที่เราคาดไว้เยอะเลย ปรากฎว่าคอร์สที่สอน Soft Skill มันกลายเป็นคอร์สเยียวยานักศึกษาไปด้วย คืออย่างที่เราเห็นว่ายุคนี้มันมีเด็กที่เป็นโรคทางจิตเวช ป่วยซึมเศร้า ซึ่งบางคนก็เข้ามาเรียนในวิชาของเรา มันก็เลยได้มีการพูดคุยเพื่อแนะนำ รับฟัง และเยียวยาพวกเขา
คลาสของคุณหน้าตาเป็นแบบไหน
ทุกๆ อาทิตย์เราจะมาเจอกัน 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 ครั้ง มีคลาสที่เราสอนเองประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนั้นจะเป็นการเชิญวิทยากรเข้ามาสอนในวิชาต่างๆ เช่น คาบแรกเชิญวิทยากรที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับละครมาสอนเรื่อง Team Building ให้เด็กสร้างทีมและได้ทบทวนตัวเอง จากนั้นก็จะมีกิจกรรมอาบป่า มีวิชาเล่าเรื่อง Storytelling มีวิชา Nonviolence Communication มีวิชา Coaching ที่จะช่วยให้เขารู้จักการรับมือกับการมีคนเข้ามาปรึกษา แล้วก็มีวิชาการเท่าทันสื่อด้วย โดยทุกๆ คาบเราจะให้เขาเขียน Reflection เพื่อให้เขาได้คุยกับตัวเองและสะท้อนมันออกมา
นอกจากนี้บางคาบเราก็จะพานักศึกษาออกนอกสถานที่ ปีก่อนเราพาเขาไปศึกษาชีวิตคนไร้บ้านที่คลองหลอด ปีนี้เราพาไปศูนย์เด็กเล็กที่คลองเตย แล้วก็จะมีพาร์ทที่เป็นฟินาเล่ของวิชาคือการพาเด็กไปเข้าป่าเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
วิชานี้ไม่มีสอบ แต่ต้องทำโปรเจ็กต์เรื่องการออกแบบชีวิต เราจะให้เขาไปวางแผนชีวิตในอีก 5 ปีข้างหน้ามา 3 แผน จากนั้นจะต้องออกไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในอาชีพที่เขาอยากทำมา 3 คน แล้วมาพรีเซนต์ให้คลาสฟัง ซึ่งการทำแบบนี้มันจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา และทำให้เขาเห็นภาพสิ่งที่อยากเป็นด้วย
วิชานี้ดูเหมือนจะพานักศึกษา ออกนอกห้องบ่อย
เราอยากสอนให้เด็กมีความเข้าอกเข้าใจคนที่แตกต่างออกไป อยากให้เขาได้เจอคนที่เขาไม่ค่อยเจอในชีวิตประจำวัน เด็กบางคนใช้ชีวิตอยู่ใน Bubble มาตลอด เขาไม่รู้จักโลกเลย เราเลยอยากให้เขาได้เรียนรู้ ส่วนเรื่องป่า มันมาจากที่เราเคยไปทำนิเวศภาวนากับพี่ณัฐฬส วังวิญญู ในป่า แล้วเรารู้สึกว่าได้เรียนรู้จากตรงนั้น ก็เลยอยากเอาสิ่งนี้มาให้เด็กได้เรียน อีกส่วนหนึ่งคืออยากให้เขาได้สัมผัสกับธรรมชาติด้วย
แต่ละคาบของวิชานี้มันหลากหลายมาก จนเด็กเคยเดินมาบอกว่า หนูตื่นเต้นทุกครั้งที่จะเข้าเรียน ปกติหนูไม่เคยเปิด Syllabus แต่วิชานี้หนูต้องเปิดดูก่อนว่าอาทิตย์นี้หนูจะเจอกับอะไร
คุณสอนวิชานี้มา 2 ปีแล้ว ปีแรกกับปีนี้แตกต่างกันไหม
ต่างนะ ต่างทั้งเนื้อหา ลำดับคาบเรียน รวมถึงตัวเราก็เปลี่ยนไป ในปีแรกที่เราทำ เรายังไม่ค่อยรู้อะไร เราเป็นแค่คนประสานงานให้วิทยากรเข้ามาสอน แต่พอเราทำหลายๆ ครั้ง เรารู้สึกว่าเราสามารถจัดการกับห้องเรียนได้ดีขึ้น ควบคุมบรรยากาศของห้องได้ดีขึ้น อาจเป็นเพราะว่าคลาสในปีแรกเราได้ฟังเรื่องราวของนักศึกษามาหลากหลาย ทำให้เรามีประสบการณ์ในการจัดการกับคำถามหรือคำพูดของเขา มันเหมือนเป็นความหยั่งรู้เล็กๆ ว่าถ้ามาแบบนี้ 1 2 3 4 มันจะเป็นยังไงต่อ
คุณในโหมดวิชา Communication and Leadership กับคุณในโหมดวิชาด้านวิศวกรรม เป็นคนเดียวกันไหม
คนเดียวกันนะ แถมมันช่วยเสริมกันและกันด้วย
วิชา Communication and Leadership เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักเด็กมากขึ้น รู้จักชีวิตและพื้นเพของเขา มันทำให้เราเข้าใจเด็กมากขึ้น ตัดสินเขาน้อยลง ซึ่งสิ่งนี้มันก็ติดตัวเราไปยังวิชาอื่นๆ ด้วย จากที่แต่ก่อนเราอาจจะบ่นว่าทำไมขี้เกียจจัง ทำไมไม่ใส่ใจเรียนเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาอาจจะมีเรื่องเครียดในใจ หรือมีปัญหาที่บ้านอยู่ก็ได้ เราคิดว่าเรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและปฏิบัติกับเด็กอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย
มันแปลว่าคุณใจดีขึ้นใช่ไหม
เราไม่ชอบคำว่าใจดีเลย เพราะคำนี้สำหรับเรามันพ่วงมาด้วยความไม่มีวินัย แต่เรามีขอบเขตที่ชัดเจน มีความคาดหวังที่ชัดเจน เราไม่ใช่คนที่อะไรก็ได้ ยังมีมาตรฐานอยู่เหมือนเดิม แต่บางเรื่องก็เปลี่ยนวิธีการลงโทษ เช่น ถ้าเด็กเข้าห้องช้า แทนที่เราจะตำหนิ เราก็เปลี่ยนมาเป็นปรับเงินแทน ซึ่งมันเวิร์ค ด่าเด็กไม่มีประโยชน์ ปรับเงินเนี่ยเห็นผลสุด
Unique Teacher
ความ Unique ของคุณคืออะไร
คำตอบแรกที่ขึ้นมาคือเรากล้าที่จะเป็นตัวเอง เราไม่เคยทำตัวเป็นคนทรงภูมิหรือทำตัวเหนือกว่านักศึกษา เราเป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ เพราะพลังงานที่เราอยากให้กับนักศึกษาคืออยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน ซึ่งอันนี้มันอาจจะมาจากที่เราเคยอยู่อเมริกามาด้วย ที่นู่นอาจารย์ก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง เราเรียกชื่ออาจารย์ด้วยชื่อต้น ไม่ต้องมีคำว่าคุณหรือต้องสุภาพมากจนเกินไป
การให้ความเป็นเพื่อนกับนักศึกษา ทำให้เขามีความเกรงใจน้อยลงไหม
ไม่นะ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือเพื่อนของเรา เราก็จะมีขอบเขตที่ชัดเจนอยู่ดี ซึ่งขอบเขตนี้มันทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่มั่นคงและยืนยาวกว่าการไม่มีขอบเขต เราคิดว่าการให้ความเป็นเพื่อนทำให้เราเชื่อมกับนักศึกษาได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาคือเด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขารู้สึกผ่อนคลาย แล้วการที่เขาจะผ่อนคลายได้ เขาจะต้องรู้สึกเชื่อมโยงกับเรา มันจึงกลับมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ฉันอยากให้พวกแกเกิดการเรียนรู้ในห้อง เพราะฉะนั้นฉันจะคอนเนคกับแกด้วยความเป็นเพื่อนนี่แหละ
ถ้าให้ลองนึกคำมา 1 คำ คุณอยากเลือกคำไหนมาใช้เพื่ออธิบายตัวตนของคุณ
เราเลือก “มั่นใจ” ละกัน เรารู้สึกว่าความมั่นใจของเรามันทำให้เกิดผลที่จับต้องได้ คือคนทุกคนมีไอเดียแหละ แต่คนที่จะทำให้มันเกิดผลออกมาคือคนที่ต้องมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ซึ่งฉันมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ว่าถ้าฉันตั้งใจ ฉันต้องทำได้แน่นอน