- “เราอยากจะฉกชิงช่วงเวลาหน้าจอของเขาให้เขาได้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด ให้เขาได้ลงมือปฏิบัติแล้วก็สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเราอยากให้เด็กๆ มัธยมมีเรื่องของ Self-Directed Learner สามารถเป็นนักเรียนรู้ได้”
- พ่อแม่เองก็ต้องรู้จักลูก รู้ว่าลูกมีความคิดอะไร มีศักยภาพด้านไหน บางครั้งพ่อแม่ยังมองไม่ออก คิดว่าลูกที่เอาแต่หมกตัวอยู่ในห้องติดเกม ซึ่งลูกอาจกำลังเขียนโค้ด (Code) หรือกำลังศึกษาบางเรื่องที่พ่อแม่ไม่เข้าใจเลยก็ได้ กระบวนการสร้างความเข้าใจกันนี้ จะทำให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกมีเป้าหมายอะไร รู้วิธีการที่จะพัฒนาไปด้วยกัน เมื่อพ่อแม่เข้าใจและให้การเรียนรู้ที่ถูกทางก็จะสามารถรับรู้กันและช่วยกันได้
- ชวนดูการจัดการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระดับมัธยมศึกษา เพื่อหาทางเลือกที่หลากหลายในแก้ปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรม โดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการ PBL (Problem Based Learning) ตามรูปแบบ Child based learning ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถอดความจากงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้’ ครั้งที่ 1
มัธยมศึกษา เป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่นวัยที่เต็มไปด้วยความคาดหวังทั้งจากพ่อแม่และตัวเอง เป็นช่วงวัยที่เริ่มเผชิญกับความซับซ้อนของสังคม นอกจากทักษะพื้นฐานที่พวกเขาจำเป็นต้องมีอย่างความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และการสื่อสารที่ดี
สิ่งที่ครูผู้สอนควรให้ความสำคัญด้วยนั่นคือ พื้นฐานความฉลาดรู้ 3 ด้าน สมรรถนะ 6 ด้าน คุณลักษณะพึงประสงค์ พัฒนา Self, Self-esteem, Self-concept พัฒนาทักษะสมอง EF รวมถึงความถนัด ความสนใจ อัตลักษณ์ พื้นฐานอาชีพหรือการศึกษาต่อ และที่ขาดไม่ได้คือ ความสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของเด็กชะงักและถดถอย ครูจะต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ โดยมีโจทย์ที่ทำให้เขาสามารถเชื่อมความรู้ที่มีไปสู่การลงมือปฏิบัติ และสร้างความรู้ด้วยตัวเอง มี Self-Directed Learner หรือการเป็นนักเรียนรู้
The Potential พาไปดูการจัดการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระดับมัธยมศึกษา เพื่อหาทางเลือกที่หลากหลายในแก้ปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรม โดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการ PBL (Problem Based Learning) ตามรูปแบบ Child based learning ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ กับ ครูณี-พรรณี แซ่ซือ ครูมัธยม โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถอดความจากงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้’ ครั้งที่ 1
ข้อสอบวัดใจ ชวนพ่อแม่วัยรุ่นทำความรู้จักและเข้าใจลูก
ในกระบวนการทำงานกับผู้ปกครองนั้น ครูณีเล่าว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าใจลูก เห็นเป้าหมาย รู้วิธี (วิธีทำ วิธีดู วิธีคิด) เพื่อพัฒนา Self, EF และสมรรถนะ
“เริ่มแรกตัวครูเองต้องเปลี่ยน Mindset ต้องมาออกแบบวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ชะงัก และยังสามารถเรียนรู้ได้ในสถานการณ์โควิด โดยลำปลายมาศเริ่มจากวิเคราะห์สภาพปัญหา วิเคราะห์ความซับซ้อนก่อน ความซับซ้อนที่ว่าคือ สถานการณ์โควิดด้วย ศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนแต่ละกลุ่มด้วย ผู้ปกครองด้วย แล้วก็อุปกรณ์ เครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ ก็ต้องออกแบบใหม่”
เมื่อออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่แล้ว ต้องกลับมา Share vision กันในกลุ่มครูผ่านวง PLC (Professional Learning Community) ระดมสมองคิดค้นวิธีการที่เหมาะในการส่งต่อการเรียนรู้สู่เด็กและผู้ปกครอง โดยตั้งเป้าหมายว่า
“เด็กควรจะได้เรื่องของเซลฟ์, EF และสมรรถนะที่เราตั้งไว้ เพื่อให้การเรียนรู้ไม่ถดถอย แล้วผู้ปกครองก็ต้องเห็นเป้าหมายเหมือนกันว่า ต้องการพัฒนาลูกไปด้านไหน แล้วก็ให้การเรียนรู้กับผู้ปกครอง ให้ฟีดแบค โดยการเรียนรู้กับผู้ปกครองเราจะมีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ด้วย เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้รู้ว่าเขาจะไปสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกที่บ้านได้ยังไง”
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นที่ผู้ปกครองได้สร้างการเรียนรู้ให้กับลูก สิ่งที่ครูณีไม่อาจละเลยได้ก็คือ การทำให้พ่อแม่ได้รู้จักรู้และเข้าใจลูกก่อน หลายคนอาจจะบอกว่า รู้จักลูกอยู่แล้ว รู้ว่าลูกต้องการอะไร แต่แน่ใจหรือไม่ว่านั่นคือความต้องการของคนเป็นลูกจริงๆ ในทางกลับกันก็ต้องให้ลูกรู้จักและเข้าใจพ่อแม่ของเขาด้วย ซึ่งครูณีเชื่อว่าความเข้าใจกันและกันนี้สร้างได้
“รู้จักลูกในที่นี้หมายความว่า รู้ว่าลูกเขามีความคิดอะไร เขามีศักยภาพด้านไหน บางครั้งพ่อแม่ยังมองไม่ออก คิดว่าเขาอยู่ในห้องเขาติดเกม เขาไม่ทำอะไรหรอก แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาอยู่ในนั้นเขาอาจกำลังเขียนโค้ด (Code) กำลังศึกษาบางเรื่องที่พ่อแม่ไม่เข้าใจเลย”
กระบวนการสร้างความเข้าใจกันนี้ จะทำให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกมีเป้าหมายอะไร รู้วิธีการที่จะพัฒนาไปด้วยกัน เมื่อพ่อแม่เข้าใจและให้การเรียนรู้ที่ถูกทางก็จะสามารถรับรู้กันและช่วยกันได้
แต่ทำอย่างไรให้พ่อแม่รู้จักลูกและลูกรู้จักพ่อแม่? ครูณีใช้ช่วงเวลาของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนกันของผู้ปกครองที่โรงเรียนจัดขึ้น เริ่มจากผู้ปกครองรู้จักลูกก่อน โดยพวกเขาจะได้ทำข้อสอบที่ลูกๆ ของตัวเองเป็นคนออกให้ ซึ่งข้อสอบแบบปรนัย มีตัวเลือก พร้อมกับทำเฉลยไว้ด้วย ปรากฎว่าแต่ละคนตอบผิดกันหมด นั่นแสดงว่าวิธีคิดของพ่อแม่กับวิธีคิดของลูกนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็จะได้ออกข้อสอบให้ลูกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นความคาดหวังของพ่อแม่ หลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการทำข้อสอบแล้ว ก็จะนำข้อสอบและคำตอบเหล่านั้นนำมาเรียนรู้ร่วมกันว่า จริงๆ แล้วพ่อแม่คิดอะไร และลูกคิดอย่างไร
ขั้นต่อมาครูณีเล่าว่า เป็นการทำให้ผู้ปกครองได้เห็นความคิดความอ่านของลูกผ่านผลงานที่ของเด็ก หลังจากที่ได้เห็นผลงานนั้นแล้ว จะต้องมาวิเคราะห์กันว่า พ่อแม่คิดอย่างไรกับสิ่งที่ลูกเขียน ซึ่งฟีดแบคของพ่อแม่กลับมาให้ลูกได้วิเคราะห์เช่นกันว่า ทำไมพ่อแม่จึงคิดแบบนี้ ทำไมถึงคาดหวังกับเราอย่างนี้ แล้วควรจะทำอย่างไรดี
“ตัวอย่างคำถามที่ว่า คิดว่าพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นยังไง? แล้วลูกก็ตอบไม่ตรงกับที่พ่อแม่ต้องการ นั่นเพราะว่าเราคิดกันคนละแบบ หรือข้อสอบของลูกที่พ่อแม่ตอบไม่ถูกเลย เช่น เด็กที่พ่อแม่เขามองว่าเก็บตัว เด็กก็จะตั้งคำถามว่า รู้ไหมว่าลูกอยู่โรงเรียนลูกเป็นคนยังไง? ซึ่งพ่อแม่ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะเข้าใจว่าลูกเล่นแต่เกม ติดเกม พอได้มาคุยกันก็จะเริ่มบาลานซ์ เริ่มคิดได้ว่าทำไมเราถึงมองผิดไป ต่างฝ่ายต่างเริ่มปรับจูนกัน”
ครูจัดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ให้โจทย์ตามลักษณะของเด็ก
มาถึงการจัดการเรียนรู้ สำหรับโจทย์ระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้น มีความแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ เพราะครูจะต้องฉกชิงช่วงเวลาในการเรียนรู้ของพวกเขามาจากเวลาหน้าจอ เวลาหน้าจอก็คือช่วงเวลาที่เด็กใช้ไปกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งจากผลสำรวจของ ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2563 ระบุว่า Gen Z ช่วงอายุ 8-20 ปี มีชั่วโมงเฉลี่ยการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันราว 12 ชั่วโมง 8 นาที
“เราอยากจะฉกชิงช่วงเวลาหน้าจอของเขาให้เขาได้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด ให้เขาได้ลงมือปฏิบัติแล้วก็สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเราอยากให้เด็กๆ มัธยมมีเรื่องของ Self-Directed Learner สามารถเป็นนักเรียนรู้ได้”
ครูณียกตัวอย่างโจทย์ที่ออกแบบใหม่ ซึ่งยังคงสอดคล้องกับการบูรณาการหน่วยการเรียนรู้ แต่สิ่งที่คุณครูจะต้องเพิ่มก็คือ ความเป็นผู้เรียนรู้และกำกับการเรียนรู้ของตัวเองได้ โดยตารางการเรียนรู้แบบใหม่มีทั้งแบบเรียลไทม์และไม่เรียลไทม์ ให้งานทิ้งไว้ที่ google classroom จากนั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน Reflection ผ่านช่องทาง zoom หรือ google meet
“ถ้าเป็น PBL เราจะให้งานแบบไม่เรียลไทม์ เราจะทิ้งงานไว้ที่ google classroom แล้วค่อยมา reflection (สะท้อนคิด) ผ่าน zoom ในช่วงเวลาของเขา ซึ่งโจทย์ต้องซับซ้อน แต่ยังสามารถบูรณาการในเรื่องของ PBL ได้ การเรียนรู้ที่บ้านที่สามารถลงมือปฏิบัติได้ แล้วเด็กๆ ก็สามารถที่จะสรุปองค์ความรู้ ความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วแต่ละคนเราความสนใจไม่เหมือนกัน งานของเด็กๆ เป็นร่องรอยการเรียนรู้ของแต่ละคน ครูก็จะรู้ว่าจะประเมิน ติดตามผล แล้วก็เห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนา เพิ่มเติมให้เขาได้ตรงไหน”
ตัวอย่าง PBL (Problem Based Learning) : ศาสดาลาพักร้อน เราจะสร้างโลกขนาด 1 ตารางเมตรให้สมบูรณ์แบบทั้งพืช สัตว์ อยู่อย่างเกื้อกูลได้อย่างไร? โดยมีเป้าหมาย คือ นำเสนอความสัมพันธ์ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา และปรัชญา จากโลกที่เราสร้างขนาด 1 ตารางเมตร กับโลกของเรา(ภายใน) จากการวิเคราะห์เชิงระบบในรูปแบบตาราง
“ตอนแรกก็ทำที่โรงเรียน พอเจอสถานการณ์โควิดก็ให้เขาเลือกว่าทำที่บ้านได้ด้วย และด้วยความที่เขาอาจจะไม่ได้มีศักยภาพทางวิชาการที่โดดเด่นมากนัก แต่ด้านทักษะชีวิต การลงมือปฏิบัติ การออกแบบการทำงาน เขาสามารถทำได้ดี เขาก็สามารถไปสร้างที่บ้าน แล้วก็มีคุณแม่ช่วยดูแลให้ด้วย”
โดยครูณีมองเห็นว่าเด็กมีโอกาสที่จะเกิดสมรรถนะ ดังนี้
การมีสติ : จดจ่อกับโจทย์หรืองาน สามารถกํากับตนเองให้ลงมือทํางาน จัดการเวลา เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ ปัจจัยต่างๆ ในการทํางานได้
การสื่อสาร : เลือกรับข้อมูลที่จะนํามาใช้ในการจัดการเรียนรู้และใช้ภาษา ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก และทัศนะของตนเองผ่าน การพูดและเขียน
การคิดขั้นสูง : ริเริ่มเพื่อออกแบบวิธีการวางแผนการสร้างโลกขนาด 1 ตารางเมตร ตระหนักต่อปัญหาที่เผชิญและมีกระบวนการทดสอบ ปรับแก้ และยืดหยุ่นนวัตกรรม
การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง : มีความสามารถในการรับผิดชอบต่อบทบาท หน้าที่ พึ่งพาตนเองในฐานะผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทําหน้าที่ต่อการเรียนรู้
จะเห็นว่าช่วงชั้นมัธยมศึกษา เด็กต่างมีศักยภาพการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง โจทย์ที่ครูณีให้แต่ละกลุ่มนั้น พิจารณาตามความถนัด ความสนใจของแต่ละคน ดังนั้นครูจะเห็นแนวโน้มว่าเด็กแต่ละคนจะไปพัฒนาด้านไหน เพื่อที่ครูจะสร้างโจทย์ที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ให้เด็กได้ท้าทายศักยภาพของตัวเอง และสามารถทำได้จริง
การจัดการเรียนรู้ของลำปลายมาศพัฒนา บทบาทสำคัญอีกอย่างของครูคือ การให้ฟีดแบคและการตั้งโจทย์ที่ตีความตามบริบทของเด็กๆ รายคน และการฟีดแบคจะต้องเพิ่มความท้าทายหรือทำให้เด็กสามารถที่จะใช้ศักยภาพของเขาได้มากขึ้น