- ค่ายเยาวชน KRSC อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คือพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนที่เน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Learning by Doing เพื่อติดตั้งทักษะชีวิตให้เด็กๆ โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากค่ายลูกเสือ
- ดร.แอ๊ะ- เลิศจันฑา ในฐานะผู้บริหารและนักจัดการเรียนรู้ จบปริญญาเอกด้านการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 พ่วงด้วยดีกรีวิทยากรสำนักงานลูกเสือโลกและผู้ประสานงานโครงการ Scouts of the World Award คนเดียวของประเทศไทย
- การออกแบบกิจกรรมจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเด็กและพัฒนาการตามช่วงวัย ซึ่งเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายจะได้ผจญภัยตามฐานกิจกรรมต่างๆ 30 ฐานและได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม
“การมีความรู้ด้านวิชาการเป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่แล้วตามหน้าที่ที่ทุกคนต้องเรียน แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยเฉพาะเรื่อง soft skills สำคัญมากๆ เพราะมันจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข”
มุมมองของ ‘ดร.แอ๊ะ’ เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งแก่งกระจานริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แอนด์ แคมป์ปิ้ง (KRSC) ชวนให้นึกถึงระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันที่แม้จะมีการพูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น แต่กลับเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และจุดนี้เองทำให้เยาวชนหลายคนเปรียบได้กับ ‘นักรบ’ ที่ถูกมอบเพียงแค่ ‘อาวุธ’ แต่กลับไม่ได้รับ ‘ชุดเกราะ’ ที่จะช่วยปกป้องตนเองในสมรภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันตลอดเวลา
ดร.เลิศจันฑา จบปริญญาเอกด้านการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ่วงด้วยดีกรีวิทยากรสำนักงานลูกเสือโลกและผู้ประสานงานโครงการ Scouts of the World Award คนเดียวของประเทศไทย จึงนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาออกแบบอาณาจักรการเรียนรู้นอกห้องเรียนบนพื้นที่กว่า 70 ไร่ ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
“ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นรีสอร์ทของป๊ากับแม่มาก่อนค่ะ เราก็เอามาทำค่ายเยาวชนทุกชนิด เช่น การจัดค่ายอบรมเสริมทักษะการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายคุณธรรมจริยธรรม และการรับจัดค่ายลูกเสือ เนตรนารี แต่ความเป็นค่ายลูกเสือค่อนข้างจะชัดเจนที่สุด”
‘ค่ายลูกเสือ’ แห่งศตวรรษที่ 21
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ลูกเสือ’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงความเชย ล้าสมัย หรือไม่ก็เครื่องแต่งกายทั้งชุดสีน้ำตาล หมวก ผ้าพันคอ วอกเกิ้ล พู่สัญลักษณ์ประจำหมู่ อินทรธนู เข็ม เชือก เข็มขัดตราลูกเสือ ถุงเท้าพับ พู่ถุงเท้าลูกเสือ รองเท้า ฯลฯ ที่กว่าจะใส่ครบก็ใช้เวลาไปไม่น้อยเลยทีเดียว และพอถึงคาบการเรียนลูกเสือ แน่นอนว่าสิ่งที่ใครหลายคนพบเจอคือ การตรวจเครื่องแบบ พร้อมบทลงโทษสำหรับผู้ที่แต่งตัวผิดระเบียบราวกับว่าเครื่องแบบลูกเสือเป็นเครื่องแบบศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้หลายคนค่อนข้างจะติดลบเมื่อเอ่ยถึง ‘ค่ายลูกเสือ’
แต่ไม่ใช่กับที่นี่…ค่าย KRSC ที่เน้นย้ำว่าการแต่งกายเป็นเพียงเรื่องรอง เพราะเจ้าของดูจะให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของวิชาลูกเสือที่ครูหลายคนอาจหลงลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อน
“คนที่เป็นลูกเสือจริงๆ ไม่ต้องใส่ชุดลูกเสือ แต่คนที่เป็นลูกเสือแค่ใจเป็นลูกเสือก็โอเคแล้ว จริงๆ นะ ใจลูกเสือคือลูกเสือเกิดมาเพื่อพัฒนาเด็ก ถ้าคุณเข้าใจคอนเซ็ปต์ว่ากิจกรรมทุกสิ่งอย่าง วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาเด็ก แค่นี้มันก็ฟินแล้ว สิ่งนี้มันจะออกมาจากสายตาเลยนะ ไม่ใช่แค่คำพูดการกระทำ มันจะออกมาจากสายตาว่าอยากให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อจะได้ประโยชน์ คือตามันจะเปล่งประกาย มันจะสนุกมากๆ และไม่โบราณเลยค่ะ
ปัญหาเรื่องชุดลูกเสืออยู่ที่ระบบการศึกษาบ้านเรา อย่างบางโรงเรียนเด็กแต่งตัวมาไม่ครบ ก็ลงโทษสั่งให้เขาไปเก็บขยะในชั่วโมงลูกเสือ ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้อะไร
ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ Input คือคุณครูเวลาไปเจอวิทยากรที่ไม่มีคุณภาพทำให้ไม่เข้าใจว่าลูกเสือเป็นยังไงเกิดมาเพื่ออะไร ทั้งที่จริงลูกเสือไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ผู้ใหญ่มาเอาวุฒิทางการลูกเสือหรือไปเอาเงินเดือนเหรียญตราใดๆ ถ้าแค่ครูมายเซ็ตไม่ได้แต่แรกแล้วมาสอนเด็ก เขาจะได้ยังไง พอไม่เข้าใจว่าคอนเซ็ปต์ของคนจัดตั้งลูกเสือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เขาสอนให้เรามีระเบียบวินัย เหมือนทำงานองค์กรต่างๆ คุณก็ต้องใส่ยูนิฟอร์มเหมือนกัน ชุดลูกเสือก็แค่สอนให้คุณรู้ว่าตั้งแต่หัวจรดเท้าต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ลองฝึกให้มีวินัยง่ายๆ ให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนกันไม่มีชนชั้นวรรณะ ไม่ได้เป็นทุนนิยมขนาดนั้น เราก็ควรอธิบายให้น้องๆ ฟัง ไม่ใช่ไปบังคับหรือไม่บอกเหตุผลว่าทำไมถึงให้ใส่ชุดลูกเสือ”
ดร.เลิศจันทากล่าวต่อว่าเมื่อปัญหาสำคัญของกิจกรรมลูกเสืออยู่ที่ Input หรือผู้ถ่ายทอดป้อนข้อมูล เธอจึงนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาเฟ้นหาวิทยากรที่มีคุณภาพ รวมถึงการเทรนด์สตาฟให้มีทัศนคติแบบ Positive Thinking สอนตั้งแต่เรื่องวิธีคิด การพูด รวมถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็น ก่อนลงมือออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในสไตล์ Learning by Doing ที่ช่วยให้เยาวชนเกิดสมรรถนะได้จริง
“กิจกรรมแบบ Learning by Doing จะให้น้องๆ เขาได้ลองลงมือทำแล้วเกิดสมรรถนะ เช่น ฐานผจญภัยประมาณสามสิบฐานที่จะสอนให้น้องๆ ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งการปีนป่าย ข้ามน้ำ มุดอุโมงค์ ซึ่งพอให้น้องๆ ทำกิจกรรม เราจะแบ่งน้องๆ เป็นทีมมีทั้งหัวหน้ากลุ่มและสมาชิกกลุ่ม หัวหน้ากลุ่มมีหน้าที่ดูแลเพื่อนๆ พอทำกิจกรรมเสร็จเปลี่ยนฐานเราก็จะเปลี่ยนคนที่เป็นผู้นำให้เป็นผู้ตาม ผู้ตามกลายเป็นผู้นำเพื่อฝึกให้ทุกคนเรียนรู้ความเป็นผู้นำผู้ตามไปด้วย ซึ่งทุกๆ ฐานจะมีการสรุปบทเรียนว่าฐานนี้ทำให้เขาเกิดสมรรถนะอะไร”
แน่นอนว่ากิจกรรมแนวผจญภัยอาจสร้างความสนุกสนานเร้าใจให้กับน้องๆ หลายคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบและผ่านกิจกรรมแต่ละฐานอย่างง่ายดาย ซึ่งดร.เลิศจันฑามองว่าเป็นโอกาสดีที่จะสอนให้น้องๆ เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนต้องสนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“อย่างในบางฐาน เช่น การปีนผา ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทาย น้องๆ หลายคนกริ๊ดกร๊าดด้วยความสนุกสนาน แต่บางคนกลับกลัวและไม่กล้าเล่น เราต้องมีการ Encourage (สนับสนุนให้กำลังใจ) น้องๆ ว่าในสถานการณ์แบบนี้ควรทำยังไง เพื่อนๆ ทุกคนต้องมาอยู่กันเป็นทีมและเชียร์อัพเพื่อนๆ ให้ลองให้กล้าทำ
แต่สิ่งที่ห้ามพูดเด็ดขาดคือห้ามเปรียบเทียบ “เห้อ โบยังทำได้เลย ทำไมพอลล่าทำไม่ได้ล่ะ ไม่ได้เรื่องเลย” แบบนี้ไม่ได้ ห้ามพูด
เราก็จะสอนสตาฟรวมถึงสอนน้องๆ ให้พูดว่า “อ้าวไปช่วยเชียร์อัพพอลล่าหน่อยเร็ว พอลล่าสู้ๆ พอลล่าสู้ๆ” ซึ่งสองประโยคนี้มีความหมายคล้ายกันแต่วิธีในการพูดต่างกัน ”
เมื่อย้อนกลับมาถามเรื่องชุดลูกเสือว่าที่ค่าย KRSC มีกฎระเบียบเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน ดร.เลิศจันฑายืนยันว่าค่ายของเธอไม่ได้เคร่งครัดกับกฎมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกายหรือแม้แต่การลดทอนพิธีการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น
“เราจะสอนให้น้องๆ เข้าใจว่าความหมายของชุดลูกเสือแค่สอนให้มีระเบียบวินัย อย่างรองเท้าผ้าใบหนูต้องใส่ หนูไปผจญภัยรองเท้าผ้าใบต้องใส่สิ ขืนใส่รองเท้าแตะล้มมาจะทำยังไง แต่ถ้าเราบอกว่าหนูต้องใส่รองเท้าผ้าใบ ถ้าไม่ใส่หนูจะโดนทำโทษแบบนั้นไม่ได้ มายเซ็ตมันต่างกัน อย่างผ้าผูกคอไม่ต้องใส่ชุดลูกเสือก็ได้ใส่ผ้าผูกคออย่างเดียว
ถ้าสังเกตเดี๋ยวนี้ค่ายเยาวชนทุกค่ายมีผ้าผูกคอ ซึ่งพื้นฐานมาจากลูกเสือ จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย มันเป็นกิมมิกของการบอกว่า “เราเป็นกลุ่มเดียวกัน” แค่นี้เลยค่ะ ทีนี้พอเราอธิบายความหมาย Simplify กระบวนการให้มันง่ายขึ้น น้องๆ ไม่ต้องถึงขั้นเปิดแถวตอนเช้าร้อนๆ นานๆ ถ้าเปิดก็แค่แป๊บๆ ให้เสร็จพูดเร็วๆ แต่ได้สาระ จบเสร็จปุ๊บก็ไปทำกิจกรรมต่อ ไม่ต้องไปอยู่กลางแดด ไปอยู่ใต้ร่มไม้ แต่เวลาทำกิจกรรมให้ได้ไปเล่นฐานจริงๆ มันก็สนุกแล้วค่ะ แค่นี้มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนมายเซ็ตที่เขามีต่อลูกเสือแล้ว”
‘ค่ายทักษะชีวิต’ เสริมเกราะให้เด็กแกร่ง
นอกจากภาพลักษณ์เรื่องการเป็นค่ายลูกเสือแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังสามารถจัดค่ายเยาวชนและค่ายส่งเสริมทักษะชีวิตให้กับเยาวชนในด้านต่างๆ หรือที่หลายคนเรียกว่า Soft Skills
“เมื่อก่อนเรามักได้ยินคำว่า ‘เรียนให้เยอะ จบให้สูง จบมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน’ แต่คำพูดดังกล่าวล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน เพราะความรู้และเทคโนโลยีสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นวุฒิทางการศึกษาจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าคนๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จเสมอไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนๆ นั้นมีความขยันใฝ่เรียนรู้มากแค่ไหน สามารถปรับตัวเมื่อเผชิญกับปัญหาได้อย่างไร ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นหรือเปล่า
เพราะความรู้ด้านวิชาการที่เรียนในห้องเรียนอย่างเดียวเอาตัวไม่รอด มันไม่ได้เลย มันต้องมีความพลิกแพลงยืดหยุ่น และทักษะชีวิตแบบ Soft Skills เหล่านี้เกิดจากกิจกรรมนอกห้องเรียนทั้งนั้น”
สำหรับการออกแบบค่ายทักษะชีวิตของ KRSC ดร.เลิศจันฑาได้นำทฤษฎีทักษะแห่งชีวิตศตวรรษที่ 21 กับเรื่องสมรรถนะที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และ Mindset มาดีไซน์กิจกรรมต่างๆ ให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์และช่วงวัยของเยาวชน
“ในการจัดค่ายเยาวชนจะต้องดูก่อนว่าเป็นค่ายที่เราจัดขึ้นเองหรือโรงเรียนมาใช้สถานที่ เขาก็จะบอกเราว่าต้องการให้น้องๆ เรียนรู้อะไร แล้วเราค่อยเอาหลักการข้างต้นมาบวกกับหลักที่ค่ายเขาต้องการ เช่น ค่ายทักษะชีวิต อาจารย์จะบอกว่าอยากได้ความเป็นผู้นำ อยากให้น้องๆ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทีนี้เราก็มาดูกิจกรรมว่ามีอะไรบ้างที่เราจะสามารถให้น้องๆ ได้ตามช่วงอายุ เด็กอายุ 3-5 ขวบ ต้องทำกิจกรรมการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ระบายสีสนุกๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เน้นความถูกต้องเป๊ะๆ
พอเด็กอายุ 7-12 ปี กลุ่มนี้จะต้องปล่อยพลังเยอะๆ เราต้องให้เขามีกิจกรรมที่ชาเลนจ์นิดหนึ่ง โดยเฉพาะกิจกรรมยิงธนู ปีนผานี่เป็นกิจกรรมไฮไลท์ที่น้องๆ ตื่นเต้นมาก แต่ถ้าโตขึ้นมาเป็น 12-16 ปี เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มโชว์ออฟ ฉะนั้นกิจกรรมต้องออกแบบให้มีความสวยงามดูเท่ๆ คูลๆ อย่างบางครั้งเราจะมีเวิร์กช็อปให้น้องๆ ได้ทำขนมหรืออาหารกับคนในชุมชนที่เราเชิญมาเป็นวิทยากร วิทยากรเขาก็ภูมิใจ เด็กๆ ก็สนุกอย่างครั้งที่แล้วทำขนมครก น้องๆ ก็ได้ฝึกผสมแป้งเอง หยอดเอง แคะขนมครกเอง
ส่วนถ้าเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เราจะให้น้องๆ มา Brainstorm (ระดมความคิด) ทำ Project Based (การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ) ร่วมกัน แต่ทั้งนี้ค่ายของเราจะมีช่างภาพโดยเฉพาะที่คอยถ่ายภาพหรือมีการไลฟ์กิจกรรมต่างๆ ทำให้น้องๆ รู้สึกว่ามันไม่โบราณ แถมยังได้ถ่ายภาพสวยๆ อีกด้วย”
แม้กิจกรรมของค่ายจะค่อนข้างหลากหลายไปตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ ดร.เลิศจันฑายืนยันว่ากิจกรรมของ KRSC จะเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning หรือ Learning by Doing ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการลงมือทำ
“ถ้าเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เราจะเน้นเรื่อง 3R คืออ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น กับ 4C คือ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การร่วมมือกัน และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ ดังนั้นทุกกิจกรรมที่ทำเราจะพยายามทำให้ตอบโจทย์ในทุกอัน เช่น ถ้าน้องๆ ต้องระบายสี เราจะแบ่งเป็นทีม เขาก็ต้องร่วมมือกับเพื่อนว่าจะทำยังไงให้ลายออกมาไม่เหมือนกันแต่มีแนวทางคล้ายๆ กันทั้งทีม เช่น เป็นสีชมพูเหมือนกันทั้งทีมห้าคน แต่ออกมาไม่เหมือนกัน นั่นคือความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือถ้าสีชมพูไม่พอเราจะกระจายหรือทำยังไงให้ได้เหมือนกัน การสื่อสารคือต้องคุยกับเพื่อนๆ ด้วย เพราะฉะนั้นทุกกิจกรรมเราจะเน้นทุกอัน”
นอกจากทฤษฎีที่กล่าวมาแล้ว การนำทฤษฎี 21 วันมาปรับใช้กับน้องๆ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่าหากเราทำอะไรซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเราต่อไป
“แม้น้องๆ ส่วนมากจะอยู่กับเราแค่ 3 วัน 2 คืน หรือเต็มที่ที่สุดที่เคยจัดคือ 5 วัน เราก็จะปรับทฤษฎี 21 วัน เป็น 21 ชั่วโมง แล้วก็ทำอะไรซ้ำๆ บอกซ้ำๆ อยู่ภายใต้กฎซ้ำๆ เชียร์อัพบ่อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้าใจเริ่มจำไปอย่างน้อยนิดหนึ่งก็ยังดี ซึ่งในการสร้างเงื่อนไขในการเรียนรู้ก็เคยมีคำถามกับเราว่าทำไมต้องกำหนดขนาดนี้ แอ๊ะก็บอกว่าเวลาเราอยู่ในสังคม เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เพราะฉะนั้นการมี Common Rules คือพื้นฐานของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ถ้าน้องๆ ทำตามกฎเล็กๆ ได้เหมือนกัน สังคมก็จะอยู่ง่าย เหมือนกับที่ทำไมถึงต้องมีกฎหมาย เพื่อที่ให้ทุกคนเข้าใจว่าโอเค เราอยู่ร่วมกันหลายคน บริบทในการเติบโตเราต่างกัน”
แต่หากน้องๆ ที่มาค่ายไม่ทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ร่วมกัน เช่น การพูดคำหยาบ ทีมงาน KRSC ก็จะใช้วิธีการสอนด้วยรักและอธิบายกับน้องๆอย่างเป็นมิตร ซึ่งดร.เลิศจันฑาเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนมายเซ็ตของน้องๆ ได้ในที่สุด
“ถ้าน้องพูดคำหยาบไม่สุภาพ แอ๊ะจะเข้าไปใส่ซอฟท์เลยค่ะ แอ๊ะจะเดินไปกอดแล้วบอกน้องว่า ‘เราจะไม่พูดอย่างนี้นะลูก อยู่ในค่ายเราจะไม่พูดจาไม่เพราะกัน เพราะว่าเพื่อนอาจจะไม่เข้าใจว่าความหมายเป็นยังไง เราเปลี่ยนคำพูดดีไหมลูก’ แรกๆ น้องเขาก็จะงงๆ ทำไมพูดไม่ได้ แต่เราก็จะพูดซ้ำๆ สามสี่ครั้ง พอน้องพูดหยาบอีกเราก็ชาร์จอีก พูดอีกก็ชาร์จอีก ชาร์จจนกว่าจะหยุดพูด จริงค่ะ เป็นแบบนั้นจริงๆ
ซึ่งมันเหมือนกับการเลี้ยงลูกเลย พอเวลาเราใส่ความรักไปสุดๆ ความรักมันจะท่วมท้นเขา แล้วเขาจะเปลี่ยนมายเซ็ต
หลังจากน้องๆ กลับบ้านไปก็มีพ่อแม่หลายคนรีวิวค่ายมาว่าอาจารย์ทำยังไง ทำไมน้องกลับไปแล้วไม่พูดคำหยาบ น้องกลับมาช่วยพ่อแม่ล้างชาม พ่อแม่ก็งงเพราะที่ผ่านมาปกติน้องอยู่บ้านเอาแต่เล่นเกม แอ๊ะบอกที่นี่เราเก็บโทรศัพท์ค่ะ แต่จะให้เล่นได้ในช่วง Free time activity แต่ระหว่างนั้นเราก็จะหาอะไรมาให้น้องๆ มาร่วมเล่นกัน เช่น พาไปเดินป่า เพื่อให้เขาไม่มีเวลาว่าง อย่างการพูดไม่เพราะเราก็ชาร์จ จนตอนหลังเขารู้สึกว่าเพื่อนไม่พูดอ่ะ It’s not cool. เราจะบอกว่ามันไม่คูลเลยนะลูก คนเท่ๆ เดี๋ยวนี้เขาไม่พูดกันหรอก เด็กๆ พอฟังก็จะบอกว่านึกว่าพูดแล้วคูลมาตลอดเลย
ดังนั้นเด็กเดี๋ยวนี้ถือว่าน่าสงสารนะเพราะเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี แล้วคนสอนมันไม่ใช่แค่เฉพาะครูในโรงเรียนกับครอบครัว คนสอนมันมีอยู่เยอะมาก มัน Flood of Information และเขาได้เรียนรู้จากใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จัก การพูดการจาที่ไม่เพราะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเขา เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่อยู่กับเราก็พยายามให้เขาปรับมายเซ็ต และสร้างสื่อในด้านบวกๆ ให้ค่อยๆ ซึมไป”
‘Soft Skills’ กุญแจสู่อนาคตในโลกที่พลิกผัน
ในฐานะที่ทำงานด้านการศึกษาและการจัดค่ายสำหรับเยาวชนมาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี รวมไปถึงการเป็นผู้ประกอบการ ดร.เลิศจันฑาเน้นย้ำว่าทักษะนอกห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับน้องๆ ในอนาคต เพราะการเก่งอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะความรู้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้เราอาจต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างโรคโควิด ซึ่งสิ่งต่างๆ ทำให้เธอตระหนักว่า Soft Skills คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้ในโลกที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว
“สมัยนี้จะอาศัยแค่ความรู้แค่วิชาการอย่างเดียวเอาตัวไม่รอดค่ะ มันไม่ได้เลย มันต้องรู้จักพลิกแพลงยืดหยุ่น ซึ่ง soft skills เหล่านี้เกิดจากกิจกรรมนอกห้องเรียนทั้งนั้น
สอนให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง ทำงานร่วมกับผู้อื่นยังไง ถ้าเราคิดแต่ว่าเราตัวคนเดียวไม่ทำงานร่วมกับคนอื่นเลย ไม่มี Connection ไม่รู้จักการสื่อสารเชิงบวก ไม่รู้จักใครเข้ากับใครไม่ได้ อย่างช่วงโควิดไม่มีทางรอดเลยค่ะ
ถ้าเราเป็นคนไม่ดีชอบบูลลี่เพื่อนตลอดเวลาเพื่อนจะคบจะช่วยเราไหมก็ไม่มีทาง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้ มันคือสมรรถนะทั้งหมด มีทักษะอย่างเดียวไม่มีความรู้ได้ไหมก็ไม่ได้อีกค่ะ เพราะในการใช้ชีวิตต้องรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่าฉันเอาตัวรอดอย่างเดียวแต่ไม่สนใจว่าความถูกผิดคืออะไรแบบนี้ก็ไม่ได้
ฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากและต้องปลูกฝังน้องๆ ตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่ ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนร่วมกัน เพื่อทำให้สังคมนี้ให้น่าอยู่ขึ้นมากๆ สังคมดีไม่มีขายค่ะ อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง”