- ของเล่นและสนามเด็กเล่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งในไทยยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่ถูกใช้งานจริง และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาการเด็กเล็ก
- ทั้งๆ ที่เด็กเล็กคือวัยที่ต้องได้เล่นมากที่สุด เพื่อนำไปสู่พัฒนาการและการเรียนรู้ต่างๆ
- ชวนทำความเข้าใจว่าของเล่นและสนามเด็กเล่นเพื่อพัฒนาการควรเป็นแบบไหน พร้อมข้อเสนอวิธีแก้ไขที่ควรทำและทำได้จริงผ่านงานออกแบบและการมีส่วนร่วมของชุมชน
เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อน 7 ปี การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของหนูๆ ในช่วงวัยนี้คือการเล่น และหากเป็นการเล่นอย่าง ‘อิสระ’ หรือ unstructured play – ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นแต่ให้เขาหยิบจับสิ่งใกล้ตัวมาเล่นตามจินตนาการ หรือจะเล่นกับธรรมชาติ เช่น ปีนต้นไม้ หยิบใบไม้ในสวนมาเล่นหม้อข้าวหมอแกง หรือการเล่นด้วยวิธีใดก็ตามที่ไม่ขึ้นกับของเล่นยิ่งดีใหญ่
เพียงได้เล่นอย่างเต็มที่และมีผู้ใหญ่คอยดูแลไม่ห่าง ยิ่งไม่จำเป็นต้องนำเด็กๆ เข้าชั้นเตรียมอนุบาล หรือ อนุบาลเลยด้วยซ้ำ
แต่ก็เป็นที่รู้กันอีกเช่นกันว่ามีผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง (ในที่นี้ขอโฟกัสที่ผู้ปกครองเด็กๆ ปฐมวัยก่อนเข้าเรียนอนุบาล หรือ ประถม) ไม่สามารถอยู่กับลูกได้เต็มวัน ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างข้อจำกัดให้ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเต็มเวลา ต้องฝากเด็กๆ วัย 2-5 ปีไว้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) หรือเนิร์สเซอรี และหวังใจว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อพัฒนาการตามวัยได้ หรืออย่างน้อยก็ขอให้เด็กๆ มีคนดูแลและมีความสุข
อย่างไรก็ตาม การจัดพื้นที่และการเรียนรู้ใน ศพด. หลายแห่งยังมีปัญหา โดยเฉพาะภาพที่ให้เด็กๆ มานั่ง (นิ่งๆ) รวมกันในห้องเรียน ฝึกเขียนอ่าน นอกจากทำให้เด็กไม่แจ่มใส ขาดพลังแห่งการอยากเล่นอยากรู้สมวัย และอาจตัดโอกาสการพัฒนาสมองซึ่งจะกลายเป็นขุมพลังและศักยภาพในการเรียนรู้ต่อไปในชีวิต
เชื่อว่าผู้ปกครองหลายท่านไม่คาดหวังให้ลูกๆ ในวัยก่อน 3 ขวบรู้หนังสือจนอ่านออกเขียนได้ในช่วงวัยนี้ คุณครู ศพด. (หลังจากนี้จะขอโฟกัสที่ ศพด. ในแง่การให้บริการของรัฐ) ก็คงไม่ได้คาดหวังกดดันให้เด็กๆ ทำได้เช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน ศพด. หลายแห่ง พบว่ามีการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่จับเด็กก่อน 3 ขวบนั่งหันหน้าเข้าหากันเพื่อนั่งท่องตัวหนังสือและเขียนอ่านให้ได้จริง อุปกรณ์การเรียนรู้เช่นของเล่น ไม่น่าเล่นหรือเป็นอันตราย สนามเด็กเล่นดูไม่ปลอดภัย ไม่น่าเล่น ไม่ร่มรื่น และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาฐานกายและใจตามเป้าหมายของมัน
ปัญหาที่เกิดจริง เช่น ลูกปัดร้อยเชือก แม้จะเสริมสร้างพัฒนาการแต่เส้นผ่าศูนย์กลางสั้นกว่า 3 เซนติเมตร ซึ่งหวาดเสียวว่าเด็กจะกลืนลงคอได้ (ทำให้ผู้ดูแลต้องเหนื่อยเป็นพิเศษเพราะต้องสอดส่องเด็กจำนวนมากกว่า 20 คนว่าคนไหนทำท่าจะกลืนลงคอหรือเปล่า) ของเล่นไม่ได้มีฟังก์ชั่นเหมาะสมกับการสร้างพัฒนาการเด็กตามวัย ส่วนสนามเด็กเล่นที่ควรจะเป็นความสุขกลับแห้งแล้ง บางแห่งมีเพียงสไลเดอร์พลาสติกขนาดย่อมที่มีชุดห้องครัวอยู่ข้างใต้ (สไลเดอร์ชุดคลาสสิกที่เราๆ ต่างผ่านมือมาแล้วนั่นเอง)
ทั้งที่จริงๆ แล้วของเล่น – แม้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของที่ผลิตมาเพื่อเป็นของเล่น – มีฟังก์ชั่นแยบคายเพื่อการพัฒนาสมองและกล้ามเนื้อมัดต่างๆ
ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองไม่ควรนำเด็กไปฝากไว้กับศูนย์เด็กเล็ก และไม่ใช่ศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งมีปัญหา ประเด็นคือกิจกรรมที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กนั้นออกแบบอย่างไรบ้าง? เด็กได้เล่นตามวัยหรือไม่ กิจกรรมในห้องเป็นอย่างไร ของเล่นแบบไหนที่สร้างจินตนาการ ของเล่นจำเป็นต้องซื้อหาจริงหรือ? สภาพแวดล้อมในสถานที่เรียนเป็นแบบไหน ทั้งหมดนี้ต่างหากคือประเด็นที่เราอยากชี้ชวนดู
ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับ ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUD4S) หน่วยงานใหม่ของจุฬาฯ ที่ต้องการให้องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้ประเด็นสังคมผ่านสายตาของนักออกแบบ ซึ่งขณะนี้ทีมมีโปรเจ็คต์ที่กำลังทำอยู่ 8 โครงการ แต่ประเด็นที่ผู้เขียนลงพื้นที่ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วยคือโปรเจ็คต์ ‘ของเล่น’ และ ‘สนามเด็กเล่น’ ที่สร้างพัฒนาการเรียนรู้* หนึ่งในโปรเจ็คต์ย่อยของ CUD4S หมวดการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
วันนั้นเราเดินทางไปที่ตัวเมืองจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองที่ทีมนักออกแบบและนักวิจัยตั้งใจอยากใช้พื้นที่นี้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 8 แห่ง ชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมวงเพื่อช่วยกันโยนปัญหาหรือบอกความต้องการของแต่ละคนในการใช้ของเล่นและสนามเด็กเล่น ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่นักการศึกษาด้านปฐมวัย ครูปฐมวัย นักออกแบบ ตัวแทนคนในพื้นที่ประกอบด้วยภาคเอกชน ครู/ผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ปกครอง รวมถึงทีมงานจาก PlanToys แบรนด์ของเล่นที่เน้นพัฒนาการเด็กและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงงานหลักตั้งอยู่ที่จังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ให้คำปรึกษาและสนับสนุนทรัพยากร
ทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อคุยกันแค่เรื่อง ‘ของเล่น’ และ ‘สนามเด็กเล่น’ โดยเฉพาะ!
วิธีการคือลงสำรวจพื้นที่กายภาพและของเล่นใน ศพด. แต่ละแห่ง มากางดูว่าปัญหาในมุมนักวิชาการคืออะไร ตรงกับปัญหาที่ครู/ผู้แลเด็กใน ศพด. และผู้ปกครองในพื้นที่เห็นไหม
- ถ้าใช่ ผู้ปฏิบัติงานและผู้ปกครองเห็นตรงกันหรือเปล่าว่าควรปรับปรุง และจะปรับอย่างไร
- ถ้าไม่ใช่ ครู/ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองมองว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร
และทั้งหมดนี้จะแก้ไขด้วยงานออกแบบได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักออกแบบย้ำว่าจำเป็นอย่างมากในแง่การถามความต้องการและปัญหาของผู้ใช้งานจริง
ปรับปรุงของเล่น และ สนามเด็กเล่น ด้วยการออกแบบ
มองในมุมการเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ ซึ่ง วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้ง PlanToys ย้ำในวงคุยอีกครั้งว่า อันที่จริงไม่จำเป็นต้องมีของเล่นด้วยซ้ำ ของใกล้ตัว ของที่อยู่ในบ้าน ใบไม้ใบหญ้า ไม่ว่าอะไรก็หยิบมาเป็นของเล่นได้ทั้งนั้น แม้แต่ ‘ฝนตก’ พ่อแม่ยังชวนลูกแต่งนิทานจากฝนได้เลย หากเข้าใจว่าฟังก์ชั่นของเล่นเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งช่วยกระตุ้นให้เด็กได้สร้างจินตนาการและออกกำลังเคลื่อนไหว
แต่หากต้องสร้างของเล่นใน ศพด. เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กสูงสุด สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ
ประการแรก–ของเล่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการจะแบ่งตามช่วงวัย เช่น ช่วงวัย 2-5 ปีที่เด็กๆ เข้ามาอยู่ใน ศพด. นั้นเป็นช่วงวัยที่ พัฒนาฐานกายและความรู้สึก ช่วงวัยเติบโตค่อนข้างเร็ว เต็มเปี่ยมด้วยพลัง สงสัยใคร่รู้ แม้เป็นช่วงที่เริ่มรู้จักอารมณ์หลากหลาย (หงุดหงิด น้อยใจ งอน) แต่เริ่มรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเพื่อนและตัวเองกับคนอื่นๆ นอกจากคนในครอบครัว
ของเล่นในช่วงวัย 2-5 ปี โดยรวมจึงควรเป็นของเล่นที่ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ เช่น ของเล่นเป็นชิ้นๆ ที่ถอดประกอบได้ตามรูปทรง, puzzle รูปทรงต่างๆ, ของเล่นที่ได้ยินเสียง, ของเล่นจำลองการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน เช่น การทำครัว, ของเล่นจำลองอาชีพ – สิ่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องซื้อหา แต่ลองมองหาสิ่งของใกล้ตัวที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมลักษณะนี้ก็ได้
ส่วนการเล่นที่ไม่ใช่ของเล่น คือการชวนเด็กๆ พูดคุยโดยชี้ชวนให้ฟังเสียง ดมและแยกแยะกลิ่น ชวนจำแนกสี ทุกครั้งที่เด็กไม่พอใจก็ชวนกันคุยว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาขณะนี้มีชื่อว่าอะไร (อย่าเพิ่งรีบเฉลยคำตอบกับเด็กๆ หรือพูดคุยในเชิงตรรกะเหตุผล ช่วงเวลานี้เป็นช่วงฝึกให้เข้าใจอารมณ์ หรือใช้สมองส่วนขวาบน) และดีที่สุด ชวนเขาออกไปเล่นกับเพื่อน
(ชวนอ่านการเล่นที่อิงพัฒนาการตามวัย ที่นี่)
ประการที่สอง-สนามเด็กเล่น สนามเด็กเล่นที่เอื้อต่อพัฒนาการเด็กในช่วง 2-5 ปี อันดับแรกควรออกแบบให้ปลอดภัยและอยู่สบาย สนามเด็กเล่นที่พบส่วนใหญ่ ถ้าไม่เอาของเล่นภาคสนามจำลองมาไว้ในตัวตึกเรียน (และตั้งวางบนพื้นปูน) ก็จะถูกวางไว้กลางแจ้งซึ่งไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา และช่วงเวลาที่เด็กๆ ใน ศพด. จะออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นคือตื่นจากนอนกลางวัน ราวบ่ายสามโมงเย็น (จุดนี้อาจลองจินตนาการได้ว่าแดดช่วงเวลานั้นจะแสบร้อนอย่างไร ชวนเล่นขนาดไหน)
พื้นที่สนามเด็กเล่นควรกว้างพอและมีต้นไม้ให้ร่มเงา อาจมีบ่อน้ำเล็กๆ และลึกเหมาะสมกับช่วงวัย 2-5 ปี ออกแบบวิธีเล่นให้เด็กๆ ได้ใช้ร่างกายให้มาก เช่น ตัวอาคารอาจเป็นสองชั้นและมีเชือกให้ป่ายปีน จับโหน หรือฝึกการเดินทรงตัวบนเชือก การปีนเชือกจะฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่และทักษะการทรงตัว นอกจากเป็นการปลุกประสาททุกส่วนให้ตื่นตัวระหว่างการเล่นแล้ว ยังเปิดจินตนาการให้เด็กๆ ระหว่างการเล่นด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกับการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL: Brain-Based Learning) ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเล่นอย่างครบถ้วน
สนามเด็กเล่นที่ ‘น่าเล่น’ และเอื้อต่อพัฒนาการร่างกายและสมอง ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันคือนวัตกรรม ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ ออกแบบโดย อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งทีม CUD4S ตั้งใจใช้แปลนนี้พัฒนาในพื้นที่นำร่องด้วย ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ มีฟังก์ชั่นครบเหมือนที่กล่าวไปข้างต้น แต่อยู่ในรูปแบบแปลนพื้นฐานที่ทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือคนในชุมชน ตอนนี้เปิดให้หน่วยงานดาวน์โหลดใช้แล้ว ที่นี่ ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ (สสส.) สำนัก 3 ได้นำร่อง ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ ในบางพื้นที่ในประเทศไทยแล้ว
“เขายังมีเวลาเรียนอีกมากและอาจเป็นทั้งชีวิต มีแต่เพียงช่วงวัยนี้แหละที่จะได้เล่นและอยู่กับคนที่รักเขาเพื่อให้เขาได้มีตัวตน น่าเศร้าที่ต้องเห็นภาพเด็กตัวเท่านี้นั่งนิ่งๆ แล้วท่องหนังสือ”
ครูปฐมวัยคนหนึ่งพูดกับฉันก่อนเดินออกจาก ศพด. แห่งหนึ่งระหว่างลงพื้นที่
ในทางทฤษฎีมันเป็นอย่างนั้น แต่เราต่างรู้กันว่าท่ามกลางสภาพสังคมเช่นนี้ สิ่งที่ทำได้คือผลักดันให้ – แม้เด็กก่อน 5 ขวบจะต้องอยู่ใน ศพด. แต่ต้องช่วยกันส่งเสียงให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าใจการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ที่สมจริงที่มาจากความเข้าใจหลักการพัฒนาสมอง และผลักไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่อย่างง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด
คำถามคือ เราเข้าใจกันตรงกันแล้วหรือยังว่าพัฒนาการที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ตอนโต แต่คือช่วงปฐมวัยต่างหาก