- ภาพห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง? นั่งฟังครูบรรยายในห้องสี่เหลี่ยม ท่อนจำเนื้อหา แต่ห้องเรียนสังคมของครูโจ้ – ศรัณยพงศ์ จันทะศรี แห่งโรงเรียนห้วยเกิ้งพิทยาคาร จังหวัดอุดรธานี จะพาเราไปเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์พาเพลินที่ไม่จำเป็นต้องท่องจำอีกต่อไป
- การเรียนการสอนของครูโจ้ ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนและในตำราเรียน การหยิบยกเรื่องราวบริบทชุมชนใกล้ตัวมาขยายภาพในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ทำอยู่เป็นกระจำ ยิ่งเป็นวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวด้วยแล้ว ครูโจ้รับอาสาพานักเรียนออกไปเรียนรู้ในห้องเรียนชุมชน ให้ได้ลงมือคิด วางแผนการเรียน และปฏิบัติด้วยตัวเอง เพราะครูโจ้เชื่อว่า เลคเชอร์วิชาสังคมในห้องเรียน ถ้าไม่ได้ลงมือทำ ไม่มีคำว่าสนุก
ชุมชนดั้งเดิมพื้นถิ่นในตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีเชื้อสายมาจากประเทศจีน ห้วยเกิ้งเป็นชุมทางรถไฟในเส้นทางอีสานเหนือตัดผ่านโคราช ขอนแก่น อุดรธานี ก่อนไปสิ้นสุดที่หนองคาย พื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในภาคอีสานที่เต็มไปด้วยพหุวัฒนธรรมอันน่าสนใจ น่าสืบเสาะให้รู้ที่มาที่ไป และเข้าใจความเป็นไปในปัจจุบัน
ครูโจ้ – ศรัณยพงศ์ จันทะศรี จะพาเราไปเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์พาเพลินที่ไม่จำเป็นต้องท่องจำอีกต่อไป
“คุณครู…ฝากหลานด้วยนะ เด็กมันไม่มีพ่อไม่มีแม่“
เป็นประโยคสั้นๆ ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เปลี่ยนความคิดของ ครูโจ้ให้เลือกเดินบนเส้นทางความเป็นครู
ครูโจ้ เปิดเผยตรงไปตรงมาว่า เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ เอกสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ด้วยความจำใจ ช่วงขณะที่กำลังวางแผนสอบเอนทรานซ์ใหม่ เพื่อเข้าเรียนด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม แม่ขอร้องแกมบังคับให้ครูโจ้สมัครเข้าร่วมเป็นครูอาสาในโครงการค่ายอาสาของมหาวิทยาลัย
จุดหมายของการเดินทางในครั้งนั้น คือ โรงเรียนบ้านห้วยดอกไม้ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกก่อง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ที่ต้องดั้นด้นเดินทางเข้าป่า ผ่านเส้นทางถนนที่ยากลำบาก ห่างไกลความเจริญและไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
“ฉันต้องออกไปจากที่นี่” นั่นเป็นความคิดแรกในหัวของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คนหนึ่ง เมื่อเจอกับสภาพที่เห็นตรงหน้า
แต่…ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อได้ยินผู้ปกครองเอ่ยคำว่า “ครู” กับตนเอง
“เฮ้ย….เราเป็นครูเหรอเนี่ย” ครูโจ้ คิดหลังได้ยินคำนั้น
“ผมรู้ตอนนั้นว่าคำว่าครูมันมีพลังมากจริงๆ เด็กไว้ใจคนแปลกหน้าอย่างเรา อยู่กับเรา เกาะแขน แล้วให้เราเดินจูงมือไปส่งถึงบ้าน พอเราเดินมาส่ง ผู้ปกครองยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วเรียกเราว่าครู”
“กลับมาผมตัดสินใจบอกเพื่อนที่มาด้วยกันเลยว่า ไม่สมัครเรียนต่อการท่องเที่ยวและการโรงแรมแล้ว จะเป็นครูนี่แหละ”
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ครูโจ้บรรจุเป็นครู โรงเรียนห้วยเกิ้งพิทยาคาร ตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี สอนวิชาสายสังคมศึกษา ทั้งภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็น 9 ปีที่มีคุณค่ามากสำหรับเขา
การเรียนการสอนของครูโจ้ ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนและในตำราเรียน การหยิบยกเรื่องราวบริบทชุมชนใกล้ตัวมาขยายภาพในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ทำอยู่เป็นกระจำ ยิ่งเป็นวิชาภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวด้วยแล้ว ครูโจ้รับอาสาพานักเรียนออกไปเรียนรู้ในห้องเรียนชุมชน ให้ได้ลงมือคิด วางแผนการเรียน และปฏิบัติด้วยตัวเอง เพราะครูโจ้เชื่อว่า เลคเชอร์วิชาสังคมในห้องเรียน ถ้าไม่ได้ลงมือทำ ไม่มีคำว่าสนุก
“วันนี้เราจะไปไหนดี ยกตัวอย่างจับฉลากได้พระธาตุดอนแก้ว กุมภวาปี ตั้งโจทย์สมมติว่าครูเป็นทัวร์จีน นักเรียนจะแนะนำคณะทัวร์อย่างไร บูรณาการภาษาจีนเข้ามาด้วย สิ่งที่ผมเห็นคือความจริงจังในการจัดการของเด็กๆ – เก็บเงินรวมกันมาซื้อเบรกของว่าง แจกผ้าเย็น แต่งตัวเตรียมชุดมาพร้อม หรือสมมติเป็นทัวร์มาจากกรุงเทพฯ เป็นอากงอาม่า เด็กๆ เตรียมลูกอม ยาดมมาแจกเพื่อนๆ ในห้อง
“ไปใกล้ๆ เดินสำรวจชุมชน ห้วยเกิ้งเคยเป็นชุมชนตีมีดมาก่อน มีคนจีนอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม มีศาลเจ้าของคนจีน มีชาวจีนที่อพยพมาจากโคราช โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี หรือ โรงงานชิบาโต ขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น มีแรงงานต่างชาติชาวจีนทำงานอยู่กว่าพันคน ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่กี่กิโลเมตร ทุนวัฒนธรรมที่นี่มีเยอะ เลยจับเข้ามาเป็นบทเรียนได้”
เรียนประวัติศาสตร์ ก้าวข้ามความเกลียดชัง
“ประวัติศาสตร์ควรให้เด็กได้คิด เพราะอะไร ทำไม มากกว่าแค่จำๆ ไปสอบ”
เมื่อเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ในหนังสือมีเส้นทางเรียนรู้อยู่ในขอบเขตของประวัติศาสตร์ส่วนกลาง เช่น สมัยสุโขทัย อยุธยา ครูโจ้ จึงขีดไทม์ไลน์ขึ้นมาใหม่อีก 2 เส้น เป็นเส้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อยู่และเส้นประวัติศาสตร์โลก เพื่อให้นักเรียนมองเห็นภาพกว้างและเข้าใจสถานการณ์โลกในยุคสมัยปัจจุบัน
ครูโจ้ บอกว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่มีพลังมากมหาศาล ทำให้คนภูมิใจได้ ในทางกลับกันก็ทำให้คนลืมตัวตนและลืมรากเหง้าของตัวเอง
“ประวัติศาสตร์สอนให้ชาติมีตัวตน แต่บางทีลบความเป็นตัวเราออกไปจากชาติ คนอีสานก็เลยอายที่เป็นอีสาน เพราะไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์อีสานบ้านเราถูกตัดออกไป ผมเลยลากเส้นไทม์ไลน์ 3 เส้นมาอธิบายไปพร้อมๆ กัน เด็กต้องยอมรับให้ได้นะว่าตัวเองเป็นลาว ในสมัยอยุธยาพื้นที่บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทร์ แล้วเพิ่งมาเป็นไทยเมื่อปี 2436”
“เรื่องประวัติศาสตร์ไทยกับลาว ผมได้เปรียบตรงที่ผมอ่านภาษาลาวได้ เพราะยายผมสอน ผมข้ามไปเวียงจันทร์ ให้ญาติที่เวียงจันทร์หาซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ลาวมาอ่านเลย พอได้อ่านได้หาข้อมูล ผมเข้าใจเลยว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะเป็นยังไง”
เรื่องเล่าของเจ้าอนุวงศ์
เจ้าอนุวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทร์พระองค์ที่ 5 และพระองค์สุดท้าย ผู้พยายามกอบกู้เอกราชชาติลาวจากการเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม
ในบทเรียนเอ่ยถึงเจ้าอนุวงศ์ในฐานะกบฏ ยกทัพมาตีเมืองโคราชในสมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ขับไล่เจ้าอนุวงศ์จนต้องยกทัพกลับเวียงจันทร์ แล้วจับเจ้าอนุวงศ์มารับโทษประหารที่กรุงเทพฯ นี่คือส่วนของประวัติศาสตร์ที่ไทยเขียนขึ้น ขณะที่ลาว ยกย่องเจ้าอนุวงศ์เป็น ‘มหาราช’ ที่ประกาศเอกราชไม่สำเร็จ เวียงจันทร์เลยโดนทำลาย นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลาว จีน และต่างชาติ เขียนเล่าสถานการณ์ต่อจากการสำเร็จโทษเจ้าอนุวงศ์ไว้อย่างน่าสนใจ
หลังสำเร็จโทษเจ้าอนุวงศ์ ไทยส่งทหารยกทัพไปตีเวียงจันทร์ เกณฑ์ผู้คนหลายแสนคนจากเวียงจันทร์มากรุงเทพมหานคร
“ถ้าตรวจดีเอ็นเอ คนกรุงเทพส่วนหนึ่งก็คือคนลาวที่มาจากเวียงจันทร์ ชุมชนบางยี่ขัน ชุมชนบ้านหม้อ ชุมชนฝั่งธน เป็นชุมชนลาวเวียง ย้อนไปอีก คนไทยจริงๆ สมัยอยุธยา ก็โดนกวาดต้อนไปพม่าตั้งแต่ครั้งที่เสียกรุงศรี สมัยก่อนเมื่อตั้งอาณาจักร ถ้าประชากรไม่มีก็ต้องเทครัวจากอาณาจักรอื่นมา ไทยแท้ไปพม่า ส่วนลาวแท้มากรุงเทพฯ คนลาวในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่อพยพลงมาที่ราบ จากการเคลื่อนย้ายประชากร”
“พอผมได้ศึกษา ผมก็สามารถบอกนักเรียนต่อได้ว่า เวลาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่าเอาจุดยืน ณ ปัจจุบันไปตัดสิน ให้คิดว่าถ้าเรายืนอยู่ ณ เวลานั้นเราจะตัดสินตามที่ประวัติศาสตร์ว่ามาหรือไม่ ประวัติศาสตร์เรียนรู้ได้ อินได้ แต่อย่าเอามาเป็นปัจจุบัน”
แม้วิชาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องเรียนในชั้นเรียน แต่บรรยากาศชั้นเรียนของครูโจ้ มีความบันเทิงแผ่กระจายจากหน้าห้องมาถึงหลังห้องได้แรงดีไม่มีตก นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมกับชั้นเรียน ตอบรับคำถาม ขานคำตอบอย่างไม่ขัดเขิน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของห้องเรียนไปแล้ว
นักเรียนได้ความสนุกเพลิดเพลินที่สอดแทรกสาระความรู้ที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ ครูโจ้ เล่าว่า สมัยเริ่มสอนแรกๆ เคยมีสมุดบันทึกหนึ่งเล่มไว้เขียนสคริปท์สอน แล้วซ้อมสอนตามสเต็ปก่อนสอนจริง เขาเปรียบเทียบห้องเรียนของตัวเองว่าเหมือน “เกมโชว์”
“ได้เวลาออนแอร์แล้ว แอคชั่น” ครูโจ้ เอ่ยขึ้นเมื่อเข้าชั้นเรียน
“ผมจะไม่นั่งและเขียนขึ้นกระดานน้อยที่สุด เพราะถ้าขึ้นกระดานปุ๊บเด็กจะสนใจกระดานไม่สนใจครู พอสอนไปเรื่อยๆ ก็ต้องเช็คเรทติ้งว่านักเรียนสนใจหรือเปล่า ถ้าเริ่มแผ่วก็ต้องหาวิธีดึงความสนใจ”
วิธีการสอนของครูโจ้ที่ดึงดูดใจ แต่หากย้อนกลับไป 9 ปีก่อนก็ยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ถูกตั้งคำถามจากครูคนอื่นๆ
“มาแรกๆ ครูคนอื่นก็คิดว่าเราพาเด็กเล่นหรือเปล่า เสียงดังมาก ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอยู่ 3 ปี จนนักเรียนที่เรียนกับผมจบ ม.6 ไปเรียนต่อครู กลับมาแนะแนวรุ่นน้อง แล้วบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรา ผมว่าครูกับพระสอนยากที่สุดในโลก เราต้องทำให้เห็น ยอมรับเลยว่าช่วง 3 ปีแรกผมใช้ความอดทนมาก ช่วงนั้นผมไม่อยู่บ้านพักโรงเรียนนะ เช่าอยู่ข้างนอกเพราะรู้สึกไม่มีความสุขเวลาเจอเพื่อนครู มีความสุขแค่เวลาสอน แต่หลังจากนั้นเมื่อได้รับการยอมรับ ทุกอย่างก็ง่าย”
ครูโจ้ แนะนำเทคนิคว่า เวลาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไม่ต้องบอกหมด ให้บอกไว้เป็นน้ำจิ้ม กระตุ้นให้เด็กอยากรู้ แล้วเด็กจะไปหาคำตอบเอง เพราะยุคสมัยนี้มีช่องทางให้เด็กค้นคว้าเรื่องราวที่สงสัยได้ไม่ยาก
“บางครั้งนักเรียนทักเมสเสจมาตอนกลางคืน ครูครับ…ผมไปเจอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขียนในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์คนนี้เขียนไว้ เด็กทำไปโดยไม่รู้ตัวว่านี่คือการสืบค้นข้อมูลเพราะเขาอยากรู้”
‘เธอ เขา เราใคร?’ สืบสาแหรกเลือดในตัวที่เปลี่ยนไม่ได้
“เสียวัฒนธรรม เสียตัวตน ก็คือการเสียชาติ แต่เสียแผ่นดินไม่ได้เสียชาติ แผ่นดินก็คือแผ่นดิน คนไปสร้างประเทศบนแผ่นดินใหม่ได้ แต่ถ้าเราเสียวัฒนธรรมไป เสียความเป็นตัวเองไป เราไม่เหลือชาติ” ครูโจ้ ถ่ายทอดสารที่ยายมักสื่อให้รับรู้อยู่บ่อยครั้ง ไม่เฉพาะผ่านคำพูดแต่จากการกระทำ
ครูโจ้ เล่าว่า หากพูดถึงความเป็นไทยหรือเป็นลาวกับผู้คนแถบนี้ มักมีความย้อนแย้งที่สร้างความสับสนถึงตัวตนในสังคม
“เด็กที่นี่จะงงว่าตกลงฉันป็นไทยหรือฉันเป็นลาว ทำให้เด็กบางคนเวลาไปกรุงเทพจะไม่กล้าบอกว่าตัวเองมาจากที่ไหน เพราะอาย อายที่จะพูดภาษาถิ่นตัวเอง พอไปกรุงเทพถูกหาว่าเป็นลาว พอไปลาวทางโน้นก็ว่าฉันเป็นไทย ตกลงว่าฉันเป็นใคร…?”
ด้วยเหตุนี้ เรื่องวัฒนธรรมภูมิปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่แค่เพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่ แต่เพื่อสื่อสารถึงตัวตนของตนเอง เป็นที่มาให้ครูโจ้มอบหมายโจทย์กับนักเรียนให้ไปสืบสาแหรกหาที่มาที่ไปของแต่ละครอบครัวในกิจกรรม ‘เธอ เขา เราใคร?’
“ยายผมบอกว่าตัวเองไม่มีประเทศเพราะถูกเนรเทศออกมา (สมัยสงครามกลางเมืองลาว หรือสงครามลาวแตก ช่วงปี 2496-2518) แกคงตายแล้วไม่มีทางกลับเข้าไปประเทศลาวได้อีกแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นลาว อย่างหนึ่งที่ทำได้ คือ การแต่งตัว แกเลยไม่เปลี่ยนแต่งตามแบบไทย แม่ผมสมัยเป็นครูยังนุ่งซิ่นแบบผู้หญิงลาวไปสอนหนังสือ เพราะอยากให้คนรู้ว่าฉันเป็นลาว
ถ้ากลับไปบ้านผมต้องพูดสำเนียงลาวแบบเวียงจันทร์ สืบสาแหรกจริงๆ คนเวียงจันทร์กับคนเชียงใหม่เป็นญาติกัน สำเนียงลาวเวียงจันทร์ฝั่งนี้เลยเป็นสำเนียงผสมระหว่างลาวกับเชียงใหม่ ผมบอกเด็กว่าครูไม่อายนะ เพราะยายครูสอนมาแบบนี้ ครูรู้เรื่องราวของตัวเอง ภูมิใจในความเป็นตัวเอง ผมเลยคิดว่าเด็กที่อายอาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ประวัติของเขา เราเปลี่ยนค่านิยมคนสมัยเก่าไม่ได้ แต่เราปรับคนสมัยใหม่ได้”
เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของบทเรียนท้องถิ่น ที่ไม่มีบรรจุไว้ในตำราส่วนกลางเล่มไหน ครูโจ้ บอกว่า เขาเก็บเกี่ยวเนื้อหาบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่นจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนตามนโยบายของโรงเรียน
“การเยี่ยมบ้านเป็นนโยบายของโรงเรียน บ้านนักเรียนบางคนไกลออกไป 40 กิโลเมตร ขับรถไปผมก็ได้เห็นบริบทชุมชน เวลาไปคุยกับผู้ปกครอง ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่เราจะคุยเรื่องเราให้เขาฟังก่อนไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ฟังก่อน…เตรียมไป 3 คำ – ครับ จริงเหรอ สุดยอดเลยครับ – เท่านั้น นั่งฟังไปฟังมา เราก็ได้เนื้อหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พอผู้ปกครองเริ่มเหนื่อย เราก็คุยเรื่องของเราได้”
เปิดกว้าง (Openness)
The Potential ให้ครูโจ้เลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ จากบัตรคำทั้งหมด 24 ใบ “เปิดกว้าง” เป็นคำที่ครูโจ้เลือก
ครูโจ้ บอกว่า อัตตา ความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงเกิดไปเป็นกับดักอย่างหนึ่งในการเป็นครูผู้สอนโดยเฉพาะในวิชาสังคมศึกษา แต่ประสบการณ์ทำงานสอนให้ครูโจ้ ‘รับฟัง’ และ ‘ยอมรับสิ่งใหม่ๆ’ เปิดกว้างเพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากใจถึงใจ
“ถ้าผมไม่เปิดกว้าง เป็นคนอัตตาสูงมาก เชื่อมั่นมากว่าสิ่งที่ฉันรู้ถูกต้องแล้ว โดยไม่รับฟังความรู้ชุดใหม่ ผมคงเป็นครูสอนวิชาสังคมไม่ได้ เพราะผมจะไปเถียงคนอื่นในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่ตัวเองรู้ เท่ากับผมปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเอง ปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กที่จะได้เรียนกับผม
“หรืออย่างการออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ถ้าผมไม่รับฟังผู้ปกครอง รับรองได้ว่าผมคงไปเยี่ยมบ้านครั้งต่อไปไม่ได้ แต่เพราะผมเปิดกว้างที่จะรับฟัง จนเขารู้สึกเต็มที่ หลังจากนั้นผมถึงเริ่มงานของตัวเอง แม้แต่ในชั้นเรียนผมฟัง มีเวลาให้นักเรียนได้คุย บางทีคำตอบที่นักเรียนตอบมาอาจไม่ถูกต้องแต่มีเหตุผลสนับสนุนคำตอบนั้น เป็นเหตุผลที่ทำให้เรา…เฮ้ย! ได้เหมือนกัน เราก็มาคิดต่อว่าเขาคิดแบบนี้เพราะอะไร
“เวลาผมแซวนักเรียนเรื่องไปดูหมอลำ กลับบ้านดึกไม่ทำการบ้าน ผมก็ไปดูนะครับ ผมไปดูให้รู้ว่าเป็นยังไง เคยไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์สมัยเรียนเต็มที่เหมือนกัน ผมถึงได้รู้ว่าเป็นแบบนี้ พอมาเป็นครูก็ตัดตรงนั้นไปแต่ผมเอาสิ่งที่ไม่ดีในอดีตมาเล่าเพื่อเป็นบทเรียนให้กับนักเรียนได้ นักเรียนที่มีปัญหาถูกตีตราไปแล้วว่าติดยาเสพติด เราก็ต้องเปิดกว้างให้โอกาสเขา”
นอกจากนี้ ครูโจ้ บอกว่า การเปิดกว้างทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะได้รับฟัง ลองทำ และไม่ด่วนตัดสินใจ จนได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไรจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังห้องเรียน
“ครูเป็นเหมือนเชฟ ทฤษฎีต่างๆ ไอดอลที่ชื่นชอบเป็นเหมือนวัตถุดิบที่ครูเป็นคนเลือกหยิบมาปรุงอาหารเมนูใหม่ ดึงสิ่งที่ตัวเองชอบและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมาผสมกันเป็นเมนูของตัวเอง นักเรียนกินแล้วก็ได้ประโยชน์ เป็นนวัตกรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง
“ครูไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ถ้าครูเหมือนกันหมดก็คงไม่ต่างจากหุ่นยนต์ ถ้าเป็นแบบนั้นเรียนในกูเกิ้ลเอาก็ได้ แต่เสน่ห์ของการเรียนกับครูตัวเป็นๆ อยู่ที่ความไม่เหมือนกัน เป็นสีสันให้เด็กได้ลองในแต่ละชั่วโมง”
ความสำเร็จของนักเรียนในมุมมองของครูโจ้ คือ การที่เด็กสามารถเดินไปบนเส้นทางที่อยากเดินและเลือกเดินด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคง มีความสุขและเลี้ยงตัวเองได้ พร้อมที่จะปรับเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชีวิตของตัวเอง
ครูโจ้ เล่าว่า เมื่อแรกเข้ามาทำงานได้พบปัญหาเรื้อรังในชุมชน ทั้งเรื่องฝุ่นควันจากการเผาไร่อ้อยและโรงงานอุตสาหกรรม สาเหตุหลักที่ทำให้คนในพื้นที่มีสถิติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจสูง จึงมีความมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่เป็นอยู่ แต่เส้นทางแห่งการเรียนรู้ทำให้ครูโจ้เข้าใจความสำคัญของ “การปรับ” ที่จะนำมาสู่ “การเปลี่ยนแปลง” ภายหลัง
“แต่ก่อนเรามุ่งเน้นแต่ว่าเราจะไปเปลี่ยน แต่เราไม่เคยคิดเรื่องการไปปรับให้เด็กอยู่กับสิ่งที่มีแล้วทำให้ดีขึ้นได้”
“เด็กบางคนเรียนจบปริญญาตรีออกมาทำไร่อ้อยที่บ้าน แต่กลับมาทำแบบมีสติ…มาบอกว่าผมไม่เผานะครู บางคนเอาข้าวมาฝากบอกว่าทำอย่างที่ครูเคยสอน จากเดิมที่ปลูกแต่อ้อยต้องซื้อข้าวกิน กลับมาทำไร่อ้อยและทำข้าวด้วย ตอนนี้ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ไปเจอเด็กขายอาหารอยู่ในงานวัด ทักเราแล้วบอกว่า ครูจำผมได้มั๊ยครูเคยสอนผม วิชาเศรษฐศาสตร์ของครูเลยนะ ที่ผมขายหมาล่าที่นี่เพราะมีคนจีนเยอะผมเลยขาย อุปสงค์ของผมคือคนจีน สิ่งเหล่านี้ที่เจอทำให้ผมภูมิใจเพราะสิ่งที่เราสอนเด็กนำไปใช้จริง ไม่ใช่ทฤษฎีที่ลอยอยู่บนฟ้าจับต้องไม่ได้”
จากจุดเริ่มต้นที่แรงบันดาลใจถูกปลุกเมื่อได้ไปเป็นครูอาสา จนกระทั่งอาสาไปสอนบ่อยๆ เพื่อเติมพลังให้ตัวเองทำในสิ่งที่ใช่ “ฉันเป็นครูนะ ฉันเป็นครูนะ” ครูโจ้ ย้ำว่า ทุกครั้งเมื่อได้ทำหน้าที่ หัวใจของเขาพองโต เพราะความสุขที่ได้สอน และไม่เคยมีตอนไหนที่คิดเปลี่ยนใจไปจากความเป็นครู
“ทำอย่างไรเด็กจะมีความสุขในการเรียน ทำอย่างไรเด็กที่เรียนกับเราจะประสบความสำเร็จ สุดท้ายสิ่งที่เราทำกับเด็กจะตอบมาเป็นวิทยฐานะของเราเอง ครูไม่ใช่นักวิจัยที่จะมาทำเอกสารเป็นเล่มๆ การเขียนแผนการสอนเป็นเรื่องจำเป็น บางอย่างถ้าไม่จำเป็นผมก็ไม่ทำ แต่ถ้าให้สอนให้ทำให้ดู มาเลยเราทำได้ทันทีเลย มาสอนแข่งกันก็ได้…กล้าท้าสู้เลยครับ”
แม้น้ำเสียงที่กล่าวทิ้งท้ายจะฟังดูผ่อนคลาย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความตั้งใจและจริงจัง