- ช่วงวัยเด็กที่ ‘ขาดโอกาส’ ไม่ได้ใช้ชีวิต ทำให้ราฎา กรมเมืองตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อให้เยาวชนในชุมชนของเธอได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตัวเอง
- “เราต้องดูว่าใครถนัดด้านไหน เช่น คนไหนอยากโชว์ โชว์เลย คนไหนพูดเก่งก็ให้เขาพูด หรือคนไหนไม่ถนัดพูดแต่อยากลงมือทำ ก็ให้ไปทำ เราให้เขาทำให้สุด แล้วสุดท้ายมันมาตกตะกอนตอนถอดบทเรียนว่าแต่ละคนทำออกมาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วค่อยๆ ปรับกันไป แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นกำไรของเรา คือ การที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยทำ”
- “ในตัวของทุกคนมันมีความพิเศษซ่อนอยู่จริงๆ นะ มันกลายเป็นความเชื่อที่อยู่ในตัวเรา ทำให้เราอยากช่วยกระตุ้นเด็ก ให้เขาแสดงความพิเศษส่วนนั้นออกมาด้วย ถ้าเราขุดมันออกมาได้จะเป็นประโยชน์มากๆ เลย อยากมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ พื้นที่ที่เป็นมากกว่าเสา มากกว่าหลังคา มากกว่าลานกว้างๆ พื้นที่ที่มีกระบวนการเติมศักยภาพให้กับเด็กๆ ได้ เป็นศูนย์การเรียนรู้พัฒนาทักษะชีวิต”
“ในตัวคุณมีสิ่งพิเศษซ่อนอยู่”
ถ้าวันหนึ่งมีใครเอ่ยกับคุณด้วยประโยคนี้ คุณจะรู้สึกอย่างไร?
“หลายครั้งที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนอ่อนแอ มันไม่มีที่ยืนทำให้เราไม่กล้าแสดงความอ่อนแอออกมาเมื่อไปยืนต่อหน้าคนอื่นๆ…ฉันต้องแข็งแรงตลอดเวลา” ราฎา กรมเมือง หญิงสาววัย 30 ปี เอ่ยถึงความรู้สึกอ่อนล้าในช่วงวัยรุ่นของเธอ วัยที่หลายคนบอกว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่เธอกลับรู้สึก ‘ไม่เคยถูกมองเห็น’ และ ถูกจำกัดจากการ ‘ตีตรา’ ของคนอื่น เธอสับสนในตัวเอง จนแทบไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นใครกันแน่ แล้วกำลังทำอะไรอยู่
ความโชคดีอย่างหนึ่งของราฎา คือ เธอรู้จักตัวเองมากพอ จึงพยายามหาทางรับมือกับเรื่องที่คิดว่าแย่ จนวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปเธอต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมาในชีวิต ทั้งที่เข้ามาสร้างบาดแผล และเข้ามามอบประสบการณ์ที่ดี จนทำให้เธอเข้มแข็งขึ้นในทุกๆ วัน
เรื่องราวที่ The Potential กำลังจะบอกเล่าต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เป็นเรื่องธรรมดา ที่น่าจะสะท้อนความรู้สึกของใครอีกหลายๆ คน การถูกบูลลี่ ความเก็บกด การถูกกดดัน หรือความอึดอัดคับข้องใจ ที่หลายคนกำลังหาทางออกอยู่ในตอนนี้ การเดินทางของราฎาอาจช่วยคลี่คลายปมเหล่านั้นไปได้…ไม่มากก็น้อย
ตัดฝัน ตัดสิน จนเกือบตัดใจ
ราฎา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาการขนส่งระหว่างประเทศ ปัจจุบันเป็นทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสตูล เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า คณะที่จบ สาขาที่เรียน และอาชีพที่ทำ ไม่ได้เกิดจากความหลงใหลส่วนตัว แต่ล้วนมีที่มาจากบุคคลอื่นและองค์ประกอบภายนอก
“ความจริงแล้วชอบทำอาหาร แต่เป็นคนรูปร่างอ้วน ตอนนั้นถูกขัดความฝันว่า ถ้าอ้วนแล้วไปเรียนทำอาหารจะอ้วนยิ่งกว่าเดิม ก็เลยตัดความฝันเรื่องเรียนทำอาหาร ตัวเองเก่งวิชาเคมีนำคะแนนไปส่งที่มหาวิทยานเรศวร วิทยาเขตพะเยา เพราะแม่เป็นคนพะเยา เคยมีความคิดอยากไปอยู่ภาคเหนือ แต่ก็ถูกตัดความฝันอีกเนื่องจากไกลบ้านเกินไป ที่บ้านเป็นห่วงเพราะเป็นเด็กที่ไม่เคยออกจากบ้านไปไหนไกล ถ้าไปไหนก็ไปกับที่บ้าน
“ปี 2551 มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์มาแนะแนวเกี่ยวกับสาขาการขนส่งระหว่างประเทศ บอกว่าถ้าเรียนจบจะได้กลับมาทำงานที่บ้าน เพราะสตูลกำลังจะมีท่าเรือน้ำลึกปากปาราที่รัฐบาลวางโปรเจคไว้ เราไม่รู้เรื่องว่าโครงการจะมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า แต่โปรเจคนี้วางไว้ตอนเราเรียนจบพอดี เราก็ถูกขายฝันว่าเรียนสาขานี้จบแล้วได้กลับมาทำงานที่บ้าน เลยตัดสินใจไปเรียน แต่สุดท้ายท่าเรือก็ไม่เกิด เรื่องนี้ยังเป็นข้อพิพาทกับชุมชน ซึ่งตัวเรามาเห็นที่หลังว่าโครงการมีผลกระทบมากกว่าสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการพัฒนา เพราะไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ทุกอย่างผิดแผนไปหมด แต่ก็ได้กลับมาอยู่บ้านสอบได้เป็นเจ้าหน้าศูนย์ยุติธรรมชุมชน”
ราฎา ไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่ขาดแคลนจนถึงกับด้อยโอกาส แต่ปมในใจของเธอถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากการ ‘ขาดโอกาส’ ภาพความทรงจำในอดีตจึงเต็มไปด้วยเรื่องที่ถูกตัดฝัน ตัดสิน จนทำให้เธอเกือบตัดใจยอมแพ้อยู่หลายครั้ง
“เมื่อก่อนในชุมชนมีกลุ่มเยาวชนที่แข็งแรงมากซึ่งเราไม่เคยได้เข้าร่วมเลย เวลามีกิจกรรมไปต่างจังหวัด เราไม่เคยได้ไป หลังจากนั้นตัวเองรู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับความสำคัญ จึงทำให้เรามีปมถูกมองข้าม คิดเหมือนกันว่ามันคือความจริง หรือว่าเราสร้างปมให้ตัวเองหรือเปล่า
“เคยทำเรื่องสายธารชีวิตมองย้อนกลับไปดูตัวเอง เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราขาด เวลาเพื่อนๆ ได้ไปเที่ยวด้วยกัน เราไม่มีความทรงจำนั้นเลย เพราะไปโรงเรียนเช้าเย็นกลับบ้าน มาช่วยงานที่บ้าน หรือตอนเรียนมัธยมก่อนไปโรงเรียนก็ต้องไปเก็บน้ำยางพาราก่อน หลังจากนั้นต้องรีบอาบน้ำไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับมาก็ไปเก็บขี้ยางอีก เราคิดว่าไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนที่เด็กๆ คนอื่นมีกัน เช่น ไปเที่ยว เฮฮา หรือไปหาประสบการณ์”
“พอได้โควต้าไปเรียนอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนไม่ค่อยพูด มีแต่คนบอกว่าเราเป็นคนเก็บกด เราโดนตีตราอีก จนเอามาคิดว่า…ทำไม? กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเป็นแบบนั้นอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ แต่ก็พยายามเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเอง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ”
ฉายเดี่ยวท่ามกลางวงล้อมของเด็กหนุ่มวัยรุ่น
“เราไม่เคยมีโอกาสทำโครงการแบบนี้ตอนเด็ก แล้วก็คิดว่าถ้ามีโอกาสแบบนี้ เราคงโตมาเก่งกว่านี้ ความปรารถนาเดียว คือ เราอยากช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้พวกเขาได้รับโอกาสและเก่งขึ้น”
ราฎา เล่าถึงความตั้งใจของตัวเอง ก่อนเข้ามารับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีเป้าหมายเพื่อศึกษา อนุรักษ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ข้าวอัลฮัม พันธุ์ข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมตำบลเกตรีให้คงอยู่กับชุมชน ภายใต้ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน
“หลังเรียนจบกลับมาที่ชุมชนได้ 2 ปี เรารู้สึกว่ามันไม่มีเรื่องราวของเยาวชนในชุมชนเลย ไม่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม มีแต่กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน กลุ่มสตรี กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้นำท้องที่ท้องถิ่นและกลุ่มผู้นำศาสนา พอเราเห็นแบบนั้นจึงอยากทำกิจกรรมเด็กและเยาวชนขึ้นมาบ้าง ตอนแรกแค่อยากชวนน้องๆ มาทำอะไรสนุกๆ หรือมาทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเฉยๆ เช่น ถ้ามัสยิดมีงาน เราอยากเห็นภาพเด็กๆ มาช่วยเสิร์ฟน้ำ ยกของบ้าง เราคิดแค่ภาพเล็กๆ ไม่ได้คิดถึงการทำโครงการใหญ่โต แค่อยากให้เยาวชนมีตัวตน”
กระบวนการทำงานในโครงการ Active Citizen เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้คิดวางแผน เรียนรู้จากการแก้ไขปัญหาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง พี่เลี้ยงมีบทบาทเป็นผู้แนะนำและสนับสนุน สำหรับโครงการข้าวอัลฮัมฯ กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวอัลฮัม ทั้งจากอินเทอร์เน็ต เอกสาร และจากการสอบถามผู้รู้ในชุมชน มีกิจกรรม ‘นานอกนา’ หรือการทดลองปลูกข้าวในกระถางเพื่อศึกษาระยะการเจริญเติบโตของข้าว เนื่องจากระยะการทำโครงการไม่ได้อยู่ในช่วงฤดูกาลทำนา
นอกจากนี้ กลุ่มแกนนำเยาวชนยังได้ลงสำรวจพื้นที่นาร้างในชุมชน ฝึกฝนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอัลฮัมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และได้จัดกิจกรรมดำนาร่วมกับคนทั้งในและต่างพื้นที่เมื่อฤดูกาลทำนามาถึง เรียกได้ว่า พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องข้าวอัลฮัมอย่างลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม การเป็นพี่เลี้ยงผู้หญิงที่ต้องดูแลเด็กผู้ชายวัยรุ่นทั้งกลุ่ม ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ สำหรับราฎา แต่เธอผ่านมาได้ด้วย ความเข้าใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และความจริงใจ
“ครั้งหนึ่งแกล้งให้เขาวาดวงจรชีวิตข้าวโดยให้เวลา 1 อาทิตย์ เด็กๆ ได้ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ผู้รู้ และศึกษาค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต แล้วคัดลอกข้อมูลนั้นมาวางในแผ่นผ้า ผลที่ได้คือตกหล่นไปหลายอย่างมาก เราถามเขาว่าไหนล่ะ วงจรที่ข้าวตั้งท้องและการใส่ปุ๋ย เพราะสิ่งที่เขาคัดลอกมานั้น ไม่มีสาระสำคัญเลย เราถามว่าจะส่งทั้งที่งานไม่สมบูรณ์แบบนี้ใช่ไหม แล้วได้ลองทำลงในกระดาษหรือยัง เขาตอบว่ายัง”
การตั้งคำถามย้อนคิด ให้ได้ทบทวนการทำงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นวิธีการที่ราฎานำมาใช้กับกลุ่มเยาวชนแกนนำอยู่เสมอ
“ทุกครั้งที่ลงมือทำ เราได้ถอดบทเรียน ตั้งคำถามเพื่อให้เขาคิด เราจะไม่เอาชนะเขาด้วยการด่าหรือเถียง แต่ถามเพื่อให้เขาได้ย้อนคิดว่าสิ่งนั้นมันถูกหรือผิด
“เหตุการณ์วันนี้เป็นเพราะไม่เตรียมคำถามไปใช่ไหม แล้วเสียผ้าไป 1 เมตรเป็นเพราะอะไร เขาตอบว่าเดี๋ยวผมซื้อใหม่ก็ได้ครับ เราก็บอกว่าซื้อใหม่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ผลที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะอะไร เพราะบางครั้งเขาอาจไม่ได้คิดจริงจัง หรือบางครั้งคำตอบที่ออกมาฟังดูกวนๆ เราก็บอกว่าแน่ใจนะ คิดดีๆ แล้วเราก็ออกจากสถานการณ์ตรงนั้นเลย
“เราต้องใจเย็นมาก ทั้งที่ข้างในเราคุกรุ่นมาก ให้เขาลองทำ ในใจเราเชื่อว่าเขาจะทบทวนได้เพราะเราโยนคำถามให้เขาคิดแล้ว
“ปัญหาคลี่คลายตอนที่เราถอดบทเรียน ซึ่งน้องๆ ก็สะท้อนสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ ว่าบางครั้งเขารู้สึกโกรธและไม่พอใจ เขาก็รู้ว่าผิดที่เขาไม่ได้วางแผนกันมาก่อน ไม่ได้ลองวาดในกระดาษก่อน บอกเราว่า ผมขอโทษผมผิด เราก็สะท้อนตัวเองด้วยเช่นกันเพราะเราใช้อารมณ์ แล้วได้ขอโทษน้องๆ ออกไป การทำงานกับเด็กผู้ชาย นิสัยต้องตรงไปตรงไป เราต้องปรับตัวเอง เปิดอกคุยกันด้วยความจริงใจ”
ราฎา บอกว่า การเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ Active Citizen เปลี่ยนมุมมองความคิดด้านการทำงานกับเด็กและเยาวชนของเธอไปอย่างสิ้นเชิง
“เมื่อก่อนทำโครงการอื่นเราต้องนำเพราะเราเป็นพี่ ต้องสั่งให้เขาทำเพื่อให้งานสำเร็จ เป็นคนจัดการทุกอย่าง แต่โครงการนี้เด็กต้องเป็นคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง บางครั้งเราต้องกัดฟันให้เขาทำเอง ล้มเองบ้าง เขาจะได้เรียนรู้ ก่อนหน้านี้เราคาดหวังให้โครงการสำเร็จ เด็กๆ ก็แค่ดีใจ แต่ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่า นี่เป็นโครงการที่เขาคิดเอง และจัดการทุกอย่าง รูปแบบการทำงานมันคนละเรื่องกันเลย”
ดีที่สุดในจุดที่ยืน
เด็กแต่ละคนมีจุดเด่น มีความสามารถแตกต่างกัน และทุกคนพัฒนาได้ แต่เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันเป็นทีม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
“เราต้องดูว่าใครถนัดด้านไหน เช่น คนไหนอยากโชว์ โชว์เลย คนไหนพูดเก่งก็ให้เขาพูด หรือคนไหนไม่ถนัดพูดแต่อยากลงมือทำ ก็ให้ไปทำ เราให้เขาทำให้สุด แล้วสุดท้ายมันมาตกตะกอนตอนถอดบทเรียนว่าแต่ละคนทำออกมาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วค่อยๆ ปรับกันไป เราพยายามเพิ่มเติมวิธีคิดการทำงานให้เขา เช่น รู้ไหมว่าสิ่งที่เราถนัด นั่นคือสิ่งที่ดี แล้วเราทำมันให้ดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นกำไรของเรา คือ การที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยทำ”
ราฎา บอกว่า คำพูดดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้กลุ่มแกนนำเยาวชนมีความกระตือรือร้น หันมาสนใจและมีความกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น คนที่ชอบพูดเปลี่ยนมาถ่ายภาพ คนที่ถ่ายภาพลองมาระบายสี หรือคนที่ระบายสีก็ไปล้างจานบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป
“เรื่องสันทนาการที่ว่ายากที่สุด เด็กในทีมฝึกสันทนาการเกือบครบทุกคนแล้ว คู่นี้ซ้อมเสร็จเปลี่ยนคู่ใหม่ คนที่เคยเก็บอุปกรณ์ ลองทำสันทนาการดู ถ้ายังออกมาได้ไม่ดี เรากลับมาถอดบทเรียนกัน มีน้องคนหนึ่งบอกว่า วันนี้ผมทำได้ไม่ดี เราก็ถามเขาว่า อยากแก้ตัวไหม เขาตอบว่า อยากครับ แต่ผมยังไม่พร้อม เราก็ท้าทายเขานะ บอกว่า ตัดสินใจดีๆ น้อง เหล็กถ้าตีตอนร้อนมันจะง่ายนะ เขาก็บอกว่าอาทิตย์หน้าผมจะลองใหม่
เราพยายามเปลี่ยนวิธีคิดเขา ทำยังไงให้น้องมันสู้ เพราะเด็กรู้สึกนอยด์ แต่ในใจเราเชื่อว่าเขาทำได้ แค่เขามักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนอีกคนที่ทำดีกว่า” ราฎา ยกตัวอย่างตอนฝึกสับเปลี่ยนแกนนำเยาวชน ให้รับบทบาทฝ่ายสันทนาการซึ่งเคยเป็นตำแหน่งที่มีแต่คนอยากปฏิเสธ
“สองคนแรกที่ผ่านไป พวกเขาทำได้ดีเพราะมีประสบการณ์ในการขึ้นเวทีมาก่อน บังเอิญมาจับคู่กันพอดี ผลที่ออกมาคือเล่นดีและเต็มที่มาก ส่วนสองคนนี้เป็นสายวิชาการ เขาอยากลองแต่พอเจอสถานการณ์ตรงนั้น ทำให้รู้สึกกดดัน มองภาพเพื่อนในอดีตว่าเก่ง ตัวเด็กอยากถอนตัวแล้ว แต่การถอนตัวถอนได้แค่เพียงความรู้สึก ดังนั้น ถ้าจะทำต่อต้องไปให้สุดและต้องเร็ว เพราะเราถอดบทเรียนกันแล้วรู้ว่าพลาดตรงไหน ผิดพลาดตรงที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ ดังนั้น ครั้งต่อไปต้องควบคุมให้ได้ เราคิดว่าถ้าเกิดปล่อยไว้นาน แล้วมีคนอื่นมาแทรกอีก มันจะมีตัวชี้วัดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกว่า คู่นี้ทำได้ดีกว่าเราอีก ดังนั้นทำเลยอย่ารอ ลุยเลย ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีกว่ารอบแรก น้องเกิดความภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เราก็ไม่ห่วงแล้ว ถ้าวันไหนไม่มีใครมาสันทนาการ เขาก็สามารถทำได้”
สิ่งที่ราฎายึดมั่นในการเป็นพี่เลี้ยง คือ เด็กทุกคนมีศักยภาพ เธอจึงไม่เปรียบเทียบ แต่ให้โอกาสน้องๆ ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน ประสบการณ์จากการทำงานที่หลากหลาย ทำให้กลุ่มเยาวชนมีความเข้าใจและเอื้อเฟื้อต่อกันมากขึ้น
“เราสร้างโจทย์และความท้าทาย เพื่อให้เขาไม่ยึดติด เพราะเดิมทีเด็กๆ บอกว่า ‘ผมไม่ถนัดอันนั้น อันนี้’ แต่นี่คือโอกาสให้เขาได้ลองทำ มันคือการเรียนรู้ ถ้าไปที่อื่นไม่มีใครให้โอกาสขนาดนี้นะ ถ้าไปที่อื่นเขาให้แสดงจริง ไม่มีให้ซ้อมแบบนี้นะ
“เราพยายามหาโครงการหางานให้น้องๆ ทำ ให้ทุกคนได้ลองเป็นประธาน เพราะตำแหน่งประธานไม่มีใครเข้าใจมันลึกซึ้งพอถ้าไม่ได้ลงมาทำเอง แล้วเวลาที่เขาไม่ได้เป็นประธาน เขาจะเป็นผู้ตามที่ดีมาก จากเมื่อก่อนบางคนเป็นผู้ตามที่ไม่ได้สนใจอะไรมาก พอวันนึงได้มาเป็นประธาน เขาจึงเข้าใจว่าเราต้องการทีมแบบไหน แล้วเขาจะเป็นลูกทีมแบบไหนที่สามารถช่วยเหลือประธานได้ พอเห็นแบบนี้ก็ไม่เป็นห่วงแล้ว เพราะทุกคนมีความรับผิดชอบและเข้าใจคนที่เป็นผู้นำ งานก็สามารถเดินต่อไปได้ เราไม่ให้ใครทำหน้าที่ของตัวเองซ้ำๆ ถ้าน้องได้ลองทุกอย่างเหมือนกัน น้องจะเข้าใจทุกคนมากขึ้น เพราะแต่ละงานมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าตั้งแต่ที่ทำงานมาน้องไม่เคยทะเลาะกัน
“เราพยายามบอกน้องๆ ว่า อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะเรามีคนเดียวบนโลก ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราคอยสนับสนุนเพื่อให้เขาภูมิใจในตัวเอง ให้เขาหาจุดเด่นให้เจอว่าตัวเองเด่นด้านไหน ดังนั้น เวลาที่เราคุยกับเด็กก็จะแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญคือเราอยากให้เขายืนหยัดในตัวเอง เวลาที่เขาคิดก็เป็นแบบของเขา พื้นที่การเรียนรู้ของเรามันไม่มีผิดหรือถูก น้องคิดแบบไหน จงพูดในสิ่งที่คิดออกมา ไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนคนอื่น เด็กบางคนพูดเก่ง แต่อาจทำไม่เก่ง ในขณะที่บางคนไม่กล้าคิดไม่กล้าพูด แต่กลับทำทุกอย่างได้ดี”
กว่าจะมาเป็นตัวเองในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับราฎา เธอใช้ประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตเป็นบทเรียนขับเคลื่อนพลังบวกที่มีอยู่ภายในตัวเอง
“แรกๆ เราต้องไปเอาความรู้มาจากคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันมีคนสะท้อนมาว่า เขาได้รับความรู้จากเรา เราก็งงนะว่าเราให้อะไรกับคนอื่นได้ด้วยเหรอ เพราะไม่รู้ตัวว่าเราสามารถให้คนอื่นได้ มันทำให้เราเข้าใจว่าบทบาทพี่เลี้ยงคือผู้ที่ถ่ายทอด
“แต่วันนี้ในความเป็นเรา เราได้รับมาจากเด็กเยอะมาก ได้รับความรู้ กำลังใจที่เขาเติมให้กับเรา ทุกคนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันได้ แม้แต่เด็กก็ยังถ่ายทอดให้เราได้ในสิ่งที่เด็กมีและสิ่งที่เด็กเป็น เราก็ถ่ายทอดให้คนอื่นได้ในสิ่งที่เรามีที่เราเป็น ปราชญ์ชาวบ้านที่เราลงพื้นที่ เขามีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวนาที่ไม่มีอะไรเลย เขาแค่ทำนา มีหน้าที่เอากล้าไปปัก แต่เขาคือองค์ความรู้ที่เด็กไปศึกษา ถ้าไม่มีเขาเหล่านี้ เด็กๆ จะไม่รู้วิธีการทำนาเลย”
“ในตัวคุณมีสิ่งพิเศษซ่อนอยู่”
ราฎา บอกว่า เธอเชื่อมั่นในคำนี้ เธอจึงไม่รอจนกว่าจะมีความพร้อม จนกว่าจะสะดวก หรือจนกว่าจะมีใครหยิบยื่นโอกาสอีกแล้ว แต่เธอจะลงมือทำงานด้านเด็กและเยาวชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีเวลาก็จะพยายามจัดสรร หากไม่สะดวกก็จะพยายามแหวกหาทางมาให้ได้ จะทำทุกวิถีทางเพื่อส่งต่อโอกาสให้เด็กเยาวชนในชุมชนรุ่นต่อๆ ไป
“ความรู้ที่เรามี เราสามารถส่งต่อได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองก่อน ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร และมีคุณค่า โดยที่ไม่ต้องเก่งเหมือนใคร
“ในตัวของทุกคนมันมีความพิเศษซ่อนอยู่จริงๆ นะ มันกลายเป็นความเชื่อที่อยู่ในตัวเรา ทำให้เราอยากช่วยกระตุ้นเด็ก ให้เขาแสดงความพิเศษส่วนนั้นออกมาด้วย
“ถ้าเราขุดมันออกมาได้ จะเป็นประโยชน์มากๆ เลยอยากมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ พื้นที่ที่เป็นมากกว่าเสา มากกว่าหลังคา มากกว่าลานกว้างๆ พื้นที่ที่มีกระบวนการเติมศักยภาพให้กับเด็กๆ ได้ เป็นศูนย์การเรียนรู้พัฒนาทักษะชีวิต”
“ใจจริงอยากมีอาชีพที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเลย อาชีพที่หนึ่งตอบโจทย์รายได้ สองตอบโจทย์ความสุข สามตอบโจทย์คุณค่าในชีวิตของเรา เป็นสามสิ่งที่เรารู้สึกว่าอยากทำและอยากมี เพราะยังอยากมีโอกาสพัฒนาตัวเอง เรารู้สึกว่ามันยังมีองค์ความรู้มากมายที่เราไม่มีโอกาสไปด้วยภาระงานประจำที่ทำอยู่ ตอนนี้เราแค่ใช้เวลาว่างมาทำงานเด็ก แต่ถ้าเรามาทำงานเกี่ยวกับเด็ก เราก็จะพัฒนาตัวเองได้เยอะกว่านี้อีก มันน่าจะสนุกมากเลยนะ” ราฎา กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นในอนาคต