- “เราไม่มีกระบวนการที่ให้พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีกับผู้คน ตั้งแต่ในระบบโรงเรียนแล้วก็นอกระบบโรงเรียนด้วย ในโรงเรียนยังสอนเรื่องที่ควรจะสอน เช่น ความปลอดภัย ทักษะชีวิต น้อยเกินไป ขณะที่สื่อก็เล่นแต่ข่าวที่ต้องสดใหม่ พอข่าวจางไปก็เลิกนำเสนอ ทั้งสองอย่างนี้มีส่วนทำให้คนไทยมีมายาคติในเรื่องทางวิทยาศาสตร์อยู่เยอะมาก”
- “การศึกษาในระบบแทนที่จะเป็น Content-based ก็ไม่อาจละเลยกระบวนการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน สื่อมวลชนก็สำคัญมาก… อยากให้ตระหนักเรื่องการควบคุมคุณภาพ ต้องมีกระบวนการทำให้คนไทยสามารถเสพสื่อและสร้างสื่อที่มีคุณภาพ เพราะความรู้ที่ถูกต้องเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้ดีขึ้นได้”
ไม่ว่าจะเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไม่อาจเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต หรือเพราะความคิดความเชื่อในสังคมไทยที่ทำให้ความรู้ต้องอยู่แต่บนหิ้ง ต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยยังคงมอง ‘วิทยาศาสตร์’ ไม่ต่างจาก ‘ยาขม’ ทั้งยากและน่าเบื่อ ทั้งที่วิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อเราและต่อโลกอย่างมากมาย
The Potential ชวนคุยกับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะเเละวัสดุเเห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้มุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมมานานกว่า 20 ปี ผ่านการเขียนหนังสือและบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ สัมมนา สร้างกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง การันตีด้วยรางวัลด้าน Mahidol Science Communicator Award 2020 ประเภทรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์
ล่าสุด หนังสือ ‘ควอนตัม : จากแมวพิศวง…สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ ได้รับรางวัลดีเด่น หนังสือสารคดี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องเล่าแสนสนุกและครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง
หนังสือเล่มนี้มีที่มาอย่างไร
ผมทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มา 20 กว่าปี เขียนหนังสือมากกว่า 30 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ มีเรื่องประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์อยู่บ้าง แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขียนหนังสือควอนตัม คือผมเห็นว่าควอนตัมเป็นศาสตร์พื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900 ปัจจุบันนี้ปี ค.ศ. 2023 เรียกว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีอายุมากกว่า 120 ปีแล้ว ในหลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีหนังสือควอนตัมสำหรับคนทั่วไป หรือ Popular Science อย่างน้อยๆ กว่า 30 เล่ม
แต่น่าแปลกใจว่าประเทศไทยกลับมีหนังสือควอนตัมที่เขียนโดยคนไทยในรูปแบบของตำราเรียนเท่านั้น ไม่มีหนังสือที่เขียนเพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจอ่านได้เลย ซึ่งคนทั่วไปในที่นี้ผมหมายถึงเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป เป็นระดับที่เขาเริ่มเรียนรู้ได้มากแล้ว ดังนั้นถ้าเราเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ควอนตัม ก็น่าจะช่วยให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ควอนตัมเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกจับตาอย่างมาก
วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบวิทยาศาสตร์?
การพูดว่าคนไทยไม่สนใจวิทยาศาสตร์อาจเป็นการพูดแบบเหมารวม แต่จริงๆ ยังมีคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจจริงๆ สังเกตได้จากยังมีบางสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังๆ เริ่มมีหนังสือแปลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ยังขายได้ แสดงว่าอย่างน้อยยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจ ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กด้วย แต่เป็นผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องอย่างควอนตัม หรือว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ล้ำๆ แต่ถ้าเราอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่แปลจากต่างประเทศ ก็อาจจะมีการอ้างถึงเรื่องควอนตัมอยู่เสมอ แต่ยังไม่มีใครเคยอธิบายให้เข้าใจชัดเจนอย่างเป็นระบบว่า แนวคิดของควอนตัมคืออะไร คำแต่ละคำมีความหมายอย่างไร มีแต่การกล่าวอ้างถึงที่ไม่ได้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนในตัวองค์ความรู้พื้นฐาน
ที่ผ่านมามีวิธีการเลือกเรื่องหรือประเด็นในการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไปอย่างไรให้น่าสนใจ
เริ่มแรกเลย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตอนนั้นผมใช้วิธีจับประเด็นที่เป็นข่าวในช่วงนั้นมาวิเคราะห์ ดูเหมือนว่าผู้อ่านจะตอบสนองค่อนข้างดี ให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่สดใหม่ อะไรที่เป็นข่าวดัง คนสนใจแน่นอน ผมใช้วิธีนี้มาสัก 4-5 ปี สนุกแต่เหนื่อย เพราะว่าต้องคอยไล่ตามข่าว แต่ก็ต้องเลือกข่าวที่เรามีความเชี่ยวชาญและเข้าใจมากพอที่อธิบายได้ด้วย แต่หากไม่เป็นข่าวดัง จะใช้วิธีเลือกสื่อสารในสิ่งที่ควรรู้ คือเรื่องพื้นฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มีการกล่าวถึงแต่ไม่เคยอธิบายได้ชัดเจนหรือเข้าใจพื้นฐานจริงๆ ซึ่งกรณีควอนตัมก็เข้ากับทั้ง 2 กรณี คือเป็นข่าว หรือมีการอ้างถึงในบทความ คลิป หรือสื่อต่างๆ
บางคนอาจสังเกตว่าผมเขียนเรื่องฝนฟ้าอากาศบ่อยมาก กระทั่งไปสร้างชุมชมคนรักมวลเมฆ ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 4 แสนคนแล้ว ทำไมถึงมุ่งเป้าเรื่องนี้? ก็เพราะมีข่าวพยากรณ์อากาศทุกวัน แล้วก็บ่อยครั้งที่เหตุการณ์เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศเป็นประเด็นที่คนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแค่เมฆแปลกๆ แสงสีประหลาด ฟ้าผ่า ไปจนถึงน้ำท่วมและภัยแล้ง ผมก็จะเลือกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาขยายความ
แน่นอนว่าประเด็นที่เลือกต้องอยู่ในความสามารถในการสื่อสารของเราด้วย ซึ่งการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจความรู้พื้นฐานจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราต่อยอดความรู้ได้ อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ที่คนชอบอ้างกัน แต่ความหมายที่ถูกต้องคือจินตนาการควรต่อยอดมาจากความรู้จริง เพราะถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยแล้วไปจินตนาการ ก็จะกลายเป็น ‘จินตนาเกิน’ คือเรื่องเพ้อฝัน
จริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่อาจไม่ใช่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แต่เพราะไม่รู้ว่ามีประโยชน์หรือนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้อย่างไร
อาจจะอธิบายได้แบบนี้ วิทยาศาสตร์นั้นมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นเนื้อหากับกระบวนการ เวลาคนคิดถึงวิทยาศาสตร์มักคิดถึงเรื่องเนื้อหามากกว่า เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งเป็นการแบ่งเพื่อให้ง่ายในแง่ของการสอน แต่สำคัญไม่แพ้กันคือกระบวนการ อย่างการศึกษาด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือวิชาอะไรต่างๆ ซึ่งตัวเนื้อหาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่กระบวนการเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะว่าคุณต้องมีหลักฐานชั้นต้น ชั้นรอง แล้วคุณก็ต้องตีความภายใต้บริบทแวดล้อม แล้วเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการวิทยาศาสตร์
ดังนั้นการพูดถึงคำว่าวิทยาศาสตร์ต้องคุยให้ดีว่าเราคุยกันในด้านไหน แต่ว่าถ้าถามว่าแล้วเราพยายามทำอะไรอยู่ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ทุกคนเชื่อว่า นอกจากอยากสื่อสารเนื้อหาแล้ว อยากสื่อสารกระบวนการด้วย แต่กระบวนการเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลามากกว่า เพราะต้องค่อยๆ คิด ไตร่ตรอง สังเกต ทดลอง ตรวจสอบ แล้วก็สรุปรวบยอดความคิด ซึ่งถ้าทำได้จะมีประโยชน์กับทุกเรื่องเลย
หัวใจของการเรียนวิทยาศาสตร์คืออะไร
หัวใจของการเรียนวิทยาศาสตร์คือการจับหลักการมันให้ได้ แล้วใช้กระบวนการที่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์มีหลักการอยู่ ถ้าเอาแบบปรัชญาเลย ยกตัวอย่าง เรื่องโหราศาสตร์ หรือศาสนาที่มีพระเจ้า ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์มั้ย คำตอบคือ ไม่อยู่ในบริบทของวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ต้องถูกพิสูจน์ว่าผิดได้ (falsifiability) นี่เป็นหลักของนักปรัชญาชื่อ คาร์ล พ็อบเพอร์ (Karl Popper) คือถ้าเกิดคุณอ้างอะไรขึ้นมา แล้วไม่มีวิธีการที่ตรวจสอบว่าผิดได้ ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทของวิทยาศาสตร์ ส่วนกระบวนการทดลองทั้งหลาย จริงๆ เป็นการพยายามจับผิด เพื่อดูว่าถ้าจับผิดได้แสดงว่าสิ่งที่เชื่อมานั้นไม่ถูกต้อง ก็จบไป แต่ถ้าจับผิดไม่ได้ แสดงว่าเข้าเค้า แต่ว่าวิทยาศาสตร์จะไม่สรุปว่าเป็นปรมัตถสัจจะที่ว่าจริงแท้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพราะยังอยู่ภายใต้บริบทที่กำลังทดลองอยู่ ถ้าทำการทดลองครั้งที่ 2 ยังถูกอยู่ ความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ทดลองครั้งที่ 3 ก็ยังถูกอยู่ ความเชื่อมั่นก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ถ้าทำการทดลองครั้งที่ 4 แล้วปรากฏว่าผิด ความเชื่อมั่นจะลดลงแล้ว และเกิดข้อสงสัยว่าที่เชื่อมาไม่ครบหรือเปล่า สิ่งนี้คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งแล้วก็คือกระบวนการจับผิดความเชื่อว่าสิ่งที่เราตั้งเอาไว้จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดจับผิดได้ก็แสดงว่าทฤษฎีหรือความเชื่อที่เคยมีอยู่ยังไม่ครบ หรือยังไม่ถูกต้อง ถ้าเกิดจับผิดไม่ได้เราก็พูดว่าน่าจะใช่นะ แต่จะไม่มีการฟันธงว่าใช่ 100% นั่นคือวิทยาศาสตร์
แต่ท้ายที่สุดแล้ววิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจเปลี่ยนความเชื่อคนจำนวนหนึ่งได้ โดยเฉพาะในสังคมไทย?
เรื่องความเชื่อต้องพูดว่าเป็นเรื่องของมนุษย์ มนุษย์มีมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตรรกะอยู่ด้วย เช่น ความพึงพอใจ ผลประโยชน์ และมีความซับซ้อนอยู่มาก เรื่องต่างๆ บางทีมาอย่างซับซ้อนแยบยลจนไม่อาจแยกเหตุและผลออกจากกันได้อย่างชัดเจน คือแม้ว่าจะรู้ทั้งรู้แต่ก็ยังทำอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เรารู้ว่ารับกินอาหารมันๆ ไม่ดี แต่ก็ยังชอบกิน หรือรู้ว่ากินน้ำตาลมากไม่ดีนะ แต่เราก็ยังชอบรสหวาน แม้ว่าจะมีความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์บอกเราอยู่ แต่ถ้าเราใช้ตรรกะมากขึ้นอีกหน่อย เราก็อาจจะพยายามลด กินได้แต่กินให้น้อยๆ
คล้ายๆ กับที่เรารู้เรื่องดาราศาสตร์ แต่ก็ยังเชื่อเรื่องโหราศาสตร์กันอยู่?
เรื่องโหราศาสตร์เป็นอะไรที่อยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกยาวนานแน่นอน เพราะทุกคนอยากรู้อนาคต และน่าจะมีความคาดหวังว่าอนาคตของเราจะดีขึ้น ไม่ว่าจะส่วนตัวหรือส่วนรวม เช่น ฉันอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีฐานะดีขึ้น ในแง่สังคมเราก็อยากให้สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีสงคราม แต่ว่าอนาคตของหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก แม้ว่าบางเรื่องจะพอบอกทิศทางได้ เช่น ถ้าน้ำมันดีเซลราคาเพิ่มขึ้น สินค้าหลายอย่างก็มีแนวโน้มจะแพงขึ้นตามเพราะต้นทุนในการขนส่งสูงขึ้น แต่บางอย่างก็ทำนายได้ยาก เช่น ชีวิตคนเรา หรือเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะฉะนั้นโหราศาสตร์จะเข้ามาตรงนี้ เป็นการทำนายอนาคต เพราะว่ามนุษย์อยากรู้อนาคต เขาก็จะเล่นกับจิตวิทยามนุษย์ ดังนั้นโหราศาสตร์ยังอยู่กับเราแน่นอน
มีอีกอย่างหนึ่งที่วิทยาศาสตร์แท้ๆ แตกต่างจากการทำนายทายทักแบบอื่น คือความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของนักวิชาการ ถ้านักวิทยาศาสตร์พูดอะไรออกไป แล้วเกิดไม่จริงตามที่เขาพูด เขาก็จะเสียเครดิตมากทีเดียว การพูดเรื่องจริงให้สนุกทำได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่ง่าย เพราะว่าคุณต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด หรือไม่สื่อสารให้เข้าใจผิดเพี้ยน ในขณะที่เรื่องอื่นๆ เช่น การทำนายของหมอดู เขาก็ทายได้โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ต่อให้เขาทายผิด คุณก็คงจะไม่ไปไล่ตามเช็คบิลเขา
ท่ามกลางสังคมไทยที่เป็น ‘สังคมอุดมความเชื่อ’ อะไรคือความหนักใจในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์
มีหลายแง่มุม แต่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าส่งผลกระทบมาก คือ หากมีนักวิชาการบางคนที่หิวแสงจนกระทั่งให้ข้อมูลโดยที่ตัวเองไม่รู้จริงไปบ่อยครั้ง นี่คือสิ่งที่หนักใจเรื่องหนึ่ง เมื่อคนที่ดูน่าเชื่อถือมาพูด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์มาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วผิด แม้บางเรื่องคนเชื่อผิดไปแล้วอาจจะไม่เดือดร้อนก็ตาม แต่อาจมีบางกรณีที่สร้างความเสียหายได้ อย่างน้อยในทางวิชาการเป็นการทำให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสียหาย
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือมายาคติ เช่น ความเชื่อที่ว่า ‘โทรศัพท์มือถือล่อฟ้าผ่า’ เป็นมายาคติที่ใช้ภาษาวิทยาศาสตร์พูดด้วย เพราะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งผมก็พยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มากว่า 10 ปี พยายามสื่อสารในทุกช่องทางที่ทำได้ เพื่อให้คนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ต้นเหตุที่นำมาสู่ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากตำราเรียนและกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ยังไม่ดีพอ เรื่องที่สองคือองค์กรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่น่าจะทำ รวมถึงสื่อก็ยังไม่ให้พื้นที่ในการสื่อสารหรืออธิบายเรื่องต่างๆ เหล่านี้ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร
เราไม่มีกระบวนการที่ให้พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีกับผู้คน ตั้งแต่ในระบบโรงเรียนแล้วก็นอกระบบโรงเรียนด้วย ในโรงเรียนยังสอนเรื่องที่ควรจะสอน เช่น ความปลอดภัย ทักษะชีวิต น้อยเกินไป ขณะที่สื่อก็เล่นแต่ข่าวที่ต้องสดใหม่ พอข่าวจางไปก็เลิกนำเสนอ
ทั้งสองอย่างนี้มีส่วนทำให้คนไทยมีมายาคติในเรื่องทางวิทยาศาสตร์อยู่เยอะมาก
มองว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องใดที่ควรจะใส่ให้เด็กๆ หรือเยาวชนได้เรียนรู้?
มองได้หลายมิติเลย มิติที่เป็นรูปธรรม เช่น การเรียนที่ตั้งต้นจากตัวเรา ร่างกายและจิตใจรักษาให้ดี กินอาหารอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ และบางทีต้องสอนให้ลึกกว่านั้นด้วย เช่น นอกจากกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ยังต้องดูแลจุลินทรีย์ในร่างกายเราให้ถูกต้องด้วย เมื่อร่างกายดีแล้วก็ต้องมาดูแลจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญ อย่างคนในปัจจุบันคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น เมื่อกาย-ใจดีแล้วค่อยขยายผลไปปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เรื่องจิตวิทยาต่างๆ แล้วก็สิ่งแวดล้อม จากนั้นค่อยเอาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เข้าไปเติมเต็มในจุดที่พอเหมาะ เช่น สารอาหารเป็นเรื่องเคมี กระบวนการย่อยในร่างกายก็เป็นทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา วิชาเหล่านี้เป็นสาขาที่มีเสน่ห์โดยตัวมันก็จริง แต่ถ้าเราเอาสุขภาพกาย-ใจเป็นตัวตั้ง ศาสตร์เหล่านี้จะเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่มีพลัง
ยกตัวอย่าง ถ้าเราเรียนรู้งานช่าง แล้วอยู่ๆ เราก็บอกว่ามาเรียนเรื่องค้อน เรื่องเลื่อย กันเถอะ ก็จะดูแปลก แทนที่จะบอกว่าเรามาเรียนเรื่องสร้างสิ่งของกัน สร้างสิ่งของต้องทำยังไงก่อน คุณต้องไปเลื่อยไม้มาก่อน ต้องฉลุ ทาสี เป็นต้น ใช้ค้อนใช้เลื่อยเป็นเครื่องมือ เปรียบกับการเรียนวิทยาศาสตร์ก็เหมือนเราไปเรียนเครื่องมือ แล้วเรียนแบบละเอียดด้วย ดังนั้น ผมคิดว่าหากเราใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เช่น สุขภาพกาย-ใจของคน แล้วจากนั้นก็ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นรูปธรรม แต่ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการสังเกตธรรมชาติอันงดงาม และการได้เล่นกับการทดลองสนุกๆ อย่างแน่นอน ผมคิดว่าต้องใช้วิธีการต่างๆ ผสมผสานกันให้เหมาะกับวัยและบริบทในเรื่องหนึ่งๆ
ดูเหมือนว่าถ้าเราจะลดอคติกับวิทยาศาสตร์ ต้องเชื่อมโยงหรือบอกได้ว่าวิทยาศาสตร์มีประโยชน์กับชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะปัจจุบันเด็กอาจมองว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม?
ต้องบอกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่จริงๆ มนุษย์เราบอกทางอ้อมมีข้อดีอยู่ บอกตรงๆ เราฟังเข้าหู แต่บอกอ้อมๆ อาจจะช่วยให้หลายคนนึกขึ้นเองได้ คือเมื่อผ่านประสบการณ์ ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วกลับไปชี้ให้เขาเห็นว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับงานช่าง ถ้าไม่มีสิ่ว ไม่มีค้อนจะเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนกันถ้าคุณไม่รู้คณิตศาสตร์จะเกิดอะไรขึ้น คุณจะคิดคำนวณหรือทำบางเรื่องไม่ได้
อยากให้ลองอธิบายควอนตัมในแบบที่คนทั่วไปเข้าถึงได้และสนใจ
ทฤษฎีควอนตัมเป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของสิ่งเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ สิ่งเล็กๆ ที่ว่านี้ เช่น อะตอม โมเลกุล หรืออนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ทฤษฎีควอนตัมมี 3 มิติใหญ่ มิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ มิติที่เป็นเทคโนโลยี และมิติที่เป็นปรัชญา จุดนี้เป็นเสน่ห์ของควอนตัม ยกตัวอย่างมิติที่เป็นเทคโนโลยีก่อนเพราะค่อนข้างใกล้ตัว ปัจจุบันคนเราชอบเทคโนโลยี คุณรู้มั้ยว่าของไฮเทคทั้งหลายที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ LED ทรานซิสเตอร์ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือต่างๆ ทำงานด้วยกลไกที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ธรรมดาไม่ได้ ต้องลงลึกถึงระดับควอนตัม ถ้าวันหนึ่งคุณเป็นวิศวกร คุณต้องการเทคโนโลยีบางอย่างก็ต้องเรียนศาสตร์นี้
สำหรับควอนตัมในมิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาจจะน่าสนใจว่าการถือกำเนิดของทฤษฎีควอนตัมช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงความเชื่อบางอย่างได้อย่างมีเหตุผล บางความเชื่อที่เคยเชื่อแบบ 100.00% ควอนตัมก็พลิกความเชื่อได้ ยกตัวอย่างเรื่องแสง ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่มหัศจรรย์มาก คือนักคิดถกเถียงกันมานานราว 2 พันปีแล้วว่าแสงเป็นอนุภาคหรือเป็นคลื่นกันแน่ ถ้าเป็นอนุภาคมันก็จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ที่เคลื่อนที่มาเป็นสายธาร หรือถ้ามันเป็นคลื่น มันก็อาจมีการกระเพื่อมคล้ายกับธงโบกสะบัดหรือผิวน้ำที่กระเพื่อมขึ้นลง อย่างนิวตันเชื่อว่าแสงน่าจะเป็นอนุภาค เพราะเวลาเราฉายแสงไปบนกระจกจะสะท้อนเหมือนเราโยนลูกปิงปองลงบนกระจก ลูกปิงปองก็จะเด้งขึ้นมา นี่ไงแสงเป็นอนุภาค แต่ว่าภายหลังโทมัส ยังทำการทดลองพบว่าแสงมีพฤติกรรมเลี้ยวเบนได้ก็แสดงว่าแสงต้องเป็นคลื่นแน่ๆ 100% คำว่า การเลี้ยวเบน นี่ลองนึกง่ายๆ ว่า ถ้าเราอยู่ในห้องที่เปิดประตูอยู่ แล้วมีคนยืนอยู่ข้างนอกห้องแต่เรามองเขาไม่เห็น แต่พอเขาพูด เราจะได้ยินเสียงเขาได้ เพราะว่าเสียงเลี้ยวเบนเข้ามาได้
แต่ต่อมามีการค้นพบว่าแสงทำตัวเป็นอนุภาคได้ เช่น ในปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เคยเชื่อกันมา 100% สามารถพลิกได้ พูดแบบง่ายๆ ก็คือ แสงตีสองหน้าได้ คือเป็นคลื่นในบางสภาวะ หรือเป็นอนุภาคในบางสภาวะ
ดังนั้น ทฤษฎีควอนตัมสอนเราว่าแม้แต่หลักฐานที่คุณเชื่อกันมาอย่างมั่นใจ 100% อาจนานกว่าศตวรรษก็ได้ คุณก็อย่าได้มั่นใจนัก อาจจะต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่มาหักล้างความเชื่อนั้นได้
แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้ใช้ได้กับหลายเรื่องในชีวิต นี่ขนาดวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการทดลองอย่างชัดเจน ดังนั้นนับประสาอะไรกับเรื่องความเชื่อของสังคมมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามค่านิยมหรืออำนาจต่างๆ ส่วนควอนตัมในมิติปรัชญา ก็มีแง่มุมให้ถกเถียงกันในการตีความเกี่ยวกับ ‘ความจริง’ เรื่องปรัชญาในทฤษฎีควอนตัมนี้เถียงกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววจะจบเลย
เด็กจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากควอนตัมที่เชื่อมโยงมาถึงความเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต
ถ้าถามถึงในชีวิตประจำวัน อาจจะตอบไม่ได้ตรงไปตรงมานัก เพราะว่าทฤษฎีควอนตัมพูดถึงของเล็กๆ เช่น กลไกการทำงานของอนุภาคต่างๆ ในอะตอม ในโมเลกุล หรือในสสาร แต่ว่าทฤษฎีควอนตัมช่วยให้ความเข้าใจในธรรมชาติลึกซึ้งขึ้น ส่วนใครก็ตามที่มีจริตชอบเทคโนโลยีก็อาจจะสนใจ วันนี้อาจยังเด็กอยู่ แต่วันหนึ่งเขาอาจจะเรียนหรือทำงานด้านนี้ ไปสร้างอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เช่น สร้างเซนเซอร์ที่มีความไวสูงมากกว่าเดิม หรือสร้างนาฬิกาไฮเทคที่วัดเวลาที่แม่นยำกว่าเดิม ถ้าเราวัดหรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น อาจมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น การช่วยชีวิตคน เป็นต้น ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร ก็ยิ่งมีโอกาสสูงขึ้นที่จะช่วยเขาได้ทัน
ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มองว่าคนรุ่นใหม่มีมิติความเข้าใจวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง?
มองว่าขึ้นอยู่กับสื่อที่เขาเสพ ถ้าเป็นคนที่ใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม และเลือกสื่อได้ถูก ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ ก็จะสามารถรับสารได้อย่างถูกต้อง ถ้าใครสักคนได้อ่านหนังสือดีๆ อ่านเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ หรือฟัง Podcast ที่มีสาระ ความเข้าใจคนๆ นั้นก็ย่อมดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องระวังการเสพสื่อ ถ้าสื่อไม่มีคุณภาพ มีข่าวปลอม หรือมีข้อมูลผิดเพี้ยนเยอะ ก็จะทำให้การเรียนรู้ผิดพลาด
เรื่องนี้คนที่ใช้เทคโนโลยีไอทีต่างๆ จำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะว่าเรื่องนี้เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ คนนี้พูดเรื่องนี้เชื่อได้ แต่ถ้าพูดเรื่องอื่นอาจต้องระวัง เป็นต้น
ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้คือการใช้วิจารณญาณแยกแยะ?
การแยกแยะใช้ได้กับทุกเรื่อง และวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน เพราะแม้แต่ตอนนี้สื่อวิทยาศาสตร์เองก็มีสื่อที่คุณภาพดีมากๆ เลย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามทำกันอยู่ กับแบบที่ทำกันเองก็มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ถ้าเปรียบเทียบกับการทำหนังสือ การทำสื่อแบบออนไลน์มีข้อดีคือเร็ว เปลี่ยนคอนเทนต์ เพิ่มคอนเทนต์ได้ง่าย แต่ออนไลน์มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากเลยคือ เนื้อหาจำนวนมากไม่ได้ผ่านระบบบรรณาธิการที่เข้มข้น ซึ่งบรรณาธิการมีหน้าที่ขัดเกลาบทความให้ดีขึ้น พอไม่มีบรรณาธิการก็ขึ้นอยู่กับคนที่ทำคอนเทนต์แล้ว ซึ่งจะมีสักกี่คนที่มีคุณภาพพอที่จะสร้างคอนเทนต์ดีๆ ได้ ในการทำหนังสือที่มีคุณภาพ ขนาดคนทำคอนเทนต์ดีๆ พอผ่านบรรณาธิการยังถูกปรับแก้ได้มากมาย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าในเมื่อโลกขณะนี้ไปในทิศทางออนไลน์เยอะขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารกับผู้เสพสื่อต่างๆ ว่าคุณจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับสารอย่างไร
นอกจากแยกแยะได้แล้ว ต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์?
ต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แล้วก็ต้องมากับพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ด้วย ถ้ามีทักษะอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้พื้นฐาน คุณก็ไม่มีอะไรจะวิเคราะห์ นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมผมถึงเขียนหนังสือควอนตัมเล่มนี้ ก็เพราะว่าคุณต้องมีความรู้พื้นฐานก่อนที่จะไปคิดวิเคราะห์ต่อได้ และในทางกลับกันถ้าคุณมีความรู้พื้นฐาน แต่ไม่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ คุณก็จะจับต้นชนปลายไม่ถูก ฉะนั้นต้องมีทั้งสองอย่างประกอบกัน ต้องไปคู่กันทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย
เราจะยกระดับความรู้หรือกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชนในบ้านเราได้อย่างไรบ้าง
ขอมองทั้งสังคมนะครับ เรื่องนี้มองได้หลายมิติ ถ้ามองจากฝั่งการศึกษา การศึกษาในระบบแทนที่จะเป็น Content-based ก็ไม่อาจละเลยกระบวนการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน สื่อมวลชนก็สำคัญมากเช่นกัน แน่นอนบางอย่างคุณผลิตคอนเทนต์เองได้ เพราะว่าคุณมีความเชี่ยวชาญ มีคลังข้อมูล คุณก็ต้องคัดคอนเทนต์ออกมาให้ดีมีคุณภาพ แต่ถ้ายังไม่เชี่ยวชาญก็ต้องสร้างขึ้นมา แล้วก็ต้องเลือกคนผลิตคอนเทนต์ให้ดีด้วย เพราะสื่อเหล่านี้จะคงอยู่ไปอีกนาน ฉะนั้นสิ่งที่คุณเขียน พูด หรือทำคลิปต่างๆ มันอยู่ไปอีกนาน
ผมมักเตือนตัวเองว่าหนังสือเล่มหนึ่งมีอายุยาวนานกว่าคนเขียน นานกว่าสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ และอาจจะยาวนานกว่าอารยธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก
เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ผลิตสื่อขึ้นมา ควรทำให้ดีที่สุด อยากให้ตระหนักเรื่องการควบคุมคุณภาพ ต้องมีกระบวนการทำให้คนไทยสามารถเสพสื่อและสร้างสื่อที่มีคุณภาพ เพราะความรู้ที่ถูกต้องเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้ดีขึ้นได้
ในบทบาทของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีข้อเสนอในการปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้การส่งเสริมคนเก่งๆ ที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้วและก็ใช้ทรัพยากรมาก แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือเราจะยกระดับคนส่วนใหญ่ที่อาจจะอยู่ในระดับปริ่มๆ เกณฑ์ ซึ่งมีจำนวนมากเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร ต้องช่วยกันคิดตรงนี้ คิดกระบวนการทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างข้อสอบ 100 คะแนน คะแนนเฉลี่ยคือ 30 นี่ฟังแล้วคิดว่าน่าจะทำใด้ดีกว่านี้ เราจะยกระดับคนส่วนใหญ่ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นได้อย่างไร ทำให้พวกเขาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรต้องทำครับ