- พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่เราไป ทุกแห่งมีมุม มีพื้นที่ มีกิจกรรม และคู่มือสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่แค่เด็กที่สนุก ผู้ใหญ่ชอบเล่นอย่างพวกเราก็สนุก ผู้ใหญ่สายเคร่งขรึมก็ได้ผ่อนคลายไปกับบรรยากาศเหล่านี้ เมื่อความสนุกมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เราก็สามารถพาให้เด็กดูงานมาสเตอร์พีซเหมือนผู้ใหญ่ได้ด้วย
- มองกลับไปที่เด็กๆ ในเยอรมนี อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เราเจอเด็กๆ มีประสบการณ์ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเยอะมาก มีงานศึกษามากมายถึงประโยชน์ของการพาเด็กเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งพอมาเห็นจริงๆ แล้ว เราคิดว่านี่เป็นผลจากการฝึกฝน การทำซ้ำ ไปเจอของจริงที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างลึกซึ้งและซับซ้อน
- พื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่แค่การได้ออกไปเล่นและใช้ชีวิต แต่คือการฝึกให้ตัวเองอยู่ร่วมกับผู้คน เห็นกฎกติกา มารยาท และกาลเทศะในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ ในพื้นที่สาธารณะนี้ พ่อแม่ ผู้ใหญ่เอง ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยไม่แพ้กัน
กลางเดือนมีนาคม ใกล้ 11 โมงในอัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ อากาศยังหนาวจัดและฝนโปรยปราย รถรางพาเรา 2 คนผ่านร้านรวงและพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลกหลายแห่ง เราจำทิศทางไปพิพิธภัณฑ์ไว้แล้วลงรถที่หน้า The Royal Concertgebouw
ชิลล์ๆ ช้าๆ มาฟังคอนเสิร์ตฟรีเป็นมื้อเที่ยง
โรงละครอายุกว่า 200 ปีตอนนี้มีคนมาเดินเล่นที่โถงกันคับคั่ง หลายคนเริ่มต่อแถวรับบัตรชมคอนเสิร์ตแล้ว เราไม่รู้จักนักดนตรีที่จะแสดงในวันนี้ แต่ที่นี่มีคอนเสิร์ตตั้งแต่ดนตรีคลาสสิก แบบวงออร์เคสตราจัดเต็ม ไปจนถึงดนตรีแนวทดลอง ทุกวันพุธเกือบทุกสัปดาห์ตลอดปี คนหลายวัย และหลายเชื้อชาติ มารอเสพศิลปะเติมบางอย่างให้ชีวิตท่ามกลางความหนาว ในแถวยาวออกไปนอกประตูอาคาร มีผู้สูงอายุยืนคุยกัน มีคนหนุ่มสาวจูงกันไปรอรับบัตรไป แต่สิ่งที่เราสะดุดตาที่สุด คือ มีเด็กหญิงร่าเริงอายุไม่เกิน 4 ขวบ ที่มากับแม่
ยากมากที่จะเห็นเด็กเล็กในการแสดงดนตรี โดยเฉพาะการแสดงดนตรีคลาสสิกที่บางจังหวะเพียงเราหายใจดังไปนิดนึง คนอยู่บนเวทีอาจจะได้ยิน ไม่ต้องพูดถึงเด็ก ที่ไม่น่าจะจัดการตัวเองได้แน่ๆ แต่ที่นี่ไม่ได้ห้ามเด็กเข้า เด็กน้อยได้เข้าชม พร้อมเบาะเสริมความสูง
ดนตรีวันนั้นแสดงโดยนักดนตรีอาชีพอายุน้อย เด็กหนุ่ม 2 คนที่อาสาเล่นดนตรีคลาสสิกออกมาเป็นแนวทดลอง ปล่อยของจัดเต็ม เสียงขึ้นลงดังเบาบ้าบอ เน้นคอนเซ็ปต์มากกว่าความไพเราะ เราอินบ้างไม่อินบ้าง แต่เด็ก 4 ขวบ จนถึงผู้ใหญ่อายุ 90 นั่งดูด้วยกันเงียบๆ ตั้งใจ จนจบ 40 นาที แล้วมอบเสียงปรบมือกึกก้อง
นี่คือเด็ก 4 ขวบที่ ‘มีประสบการณ์’ ผู้ใหญ่ 90 ที่ยังไม่แก่ และคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นที่ทดลองสร้างสรรค์
สำหรับเรา เหตุการณ์นี้คงจะผุดขึ้นในใจเป็นเหตุการณ์แรกๆ ไปอีกพักใหญ่ เมื่อพูดถึงคำว่า “Public Space” พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่สร้างมาสำหรับทุกคน
1.
ฉันและเพื่อนไปเที่ยวทริปประจำปีกันที่อัมสเตอร์ดัม พวกเราเปิดร้านหนังสือและพื้นที่เรียนรู้ในกรุงเทพฯ ด้วยกันมา 3 ปี แล้ว และโหยหาความรู้สึกของการเดินทางเสมอ ยิ่งเปิดพื้นที่เรียนรู้ ก็ยิ่งอยากรู้เรื่องการเรียนรู้ มีเวลา 2 สัปดาห์ ทริปนี้นอกจากการพัก และการไปเยี่ยมเพื่อนที่เยอรมนี ก็เป็นการทำงานที่เรารัก คือการเที่ยวแหล่งเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ (และกินของอร่อย แฮร่) ในเวลา 15 วัน นอกจากตลาด คาเฟ่ ร้านหนังสือ ร้านอาหารนับไม่ถ้วน เราเข้าพิพิธภัณฑ์เล็กใหญ่หลากหลายเรื่องราวไปน่าจะ 10 แห่ง ใน 2 ประเทศ
สิ่งที่เราเห็นทุกวันตลอดทริป เห็นมากกว่าคลอง เจอเยอะไม่แพ้ขนมปังและชีส คือ เด็ก! ตั้งแต่เด็กวัยหัดเดินจนถึงวัยรุ่น เราเจอเด็กๆ ทุกวัน ในทุกๆ ที่ ในการเดินริมคลอง ในจักรยานพ่วงข้าง ในจักรยานของตัวเองริมถนน ในรถราง ในพิพิธภัณฑ์ทุกแห่ง ในร้านอาหาร ในตลาด โรงละคร ร้านหนังสือ กระทั่งในคาเฟ่ฮิปๆ
ซึ่งเราก็คิดว่าพอจะเห็นที่มาที่ไป และน่าสนุกน่าอิจฉาน่าลอง
ใน Rijksmuseum พิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลกของอัมสเตอร์ดัม ที่เราจะเห็นงานของ Vangogh, Vermeer, Rembrandt, Caravaggio และอื่นๆๆ อันตระการตา ก็มีไกด์ทัวร์สำหรับพาครอบครัวพร้อมเด็กๆ เที่ยวชมโดยเฉพาะ และมีอุปกรณ์การเที่ยวชมในรูปแบบเกม ให้ทั้งครอบครัวเล่นเกมตามล่าไขปริศนาในมิวเซียม (โดยดูภาพต่างๆ ไปเรื่อยๆ นี่แหละ) ด้วยกัน เล่นชนะมีเซอร์ไพรซ์ให้ด้วย
วันที่เราไป โถงใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ กลางลานมียกพื้นเล็กๆ มีคุณลุงคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้ รอบๆ ตัวเรียงรายไปด้วยขาตั้งวาดรูปสิบกว่าอัน พร้อมกระดาษวาดรูปแผ่นใหญ่ ชาโคล แท่งถ่านสำหรับวาดรูปประจำที่ วันนี้เป็นวันมีนายแบบฟรี นักท่องเที่ยว ชาวบ้าน นักเรียนศิลปะ ใครก็ตามสามารถเดินมาที่ขาตั้งแล้ววาดรูปคุณลุงได้เลย
พวกเราเดินดูไปรอบๆ คุณลุงยักคิ้วให้หนึ่งที เห็นเด็กๆ มาวาดกันด้วย รูปคุณลุงเหมือนการ์ตูนน่ารักมาก ผู้ใหญ่ น้องๆ พี่ๆ นานาชาติ วาดรูปกันหลากหลายสไตล์ หลายงานเท่มาก มุมมองหลากหลาย ดูเหมือนใครๆ ก็สร้างงานศิลปะได้ในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก พอวาดเสร็จปุ๊บ เราจะเอารูปกลับก็ได้ หรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็จะหยิบมาวางกระจายๆ โชว์รวมกัน พร้อมบริการเปลี่ยนแท่งถ่านให้คนถัดไปมาเรียนมาเล่นได้ทันที
อีกวัน ใน Vangogh มิวเซียม เราเห็นเด็กๆ เดินชี้ชวนดูภาพไปกับพ่อแม่ บางคนจะถือแผ่นกระดาษ ที่เอาให้เขาไว้วาดรูปที่เขาชอบ ไขปริศนาบางอย่าง ตอบคำถามตลกๆ ที่ต้องสังเกตรูปภาพของ Vangogh ก่อนถึงจะตอบได้ เห็นคุณแม่คนหนึ่ง พร้อมเด็กจิ๋ว 2 คน เดินดูงานไปด้วยกัน ชี้กันดูภาพ งานหนักตกอยู่ที่คุณแม่จะต้องคอยตอบคำถามหน่อยว่า แม่คิดว่า รูป Vangogh รูปนี้ เป็นแบบนั้นแบบนี้อย่างที่เขาคิดรึเปล่า
ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่เราไป ทุกแห่งมีมุม มีพื้นที่ มีกิจกรรม และคู่มือสำหรับเด็กๆ กระทั่งจุดขายของ ยังมีอุปกรณ์และพื้นที่ให้เด็กเล่นได้เพิ่ม ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กที่รู้สึกสนุก ผู้ใหญ่ชอบเล่นอย่างพวกเราก็สนุก ผู้ใหญ่สายเคร่งขรึมก็ได้ผ่อนคลายไปกับบรรยากาศเหล่านี้ เมื่อความสนุกมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เราก็สามารถพาให้เด็กดูงานมาสเตอร์พีซเหมือนผู้ใหญ่ได้ด้วย
การไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อดู Rembrandt หรือ Caravaggio ของเด็กๆ ก็เลยสนุกไม่แพ้สนามเด็กเล่น
2.
ในระหว่างเดินทาง บริการรถสาธารณะที่อัมสเตอร์ดัมสะดวกมาก รถรางรถเมล์ทั่วถึงตรงเวลา เลนจักรยานส่วนใหญ่กว้างและมีเกาะกลางคั่นจากถนน ปลอดภัยพอที่เด็กจะปั่นจักรยานเองได้ พ่อแม่สามารถพาลูกไปไหนมาไหนบนรถเข็นเด็กได้ไม่ลำบาก
ในสวนสาธารณะ อย่าง Vondelpark สวนใหญ่มากกลางอัมสเตอร์ดัม ทุกไกด์บุคจะบอกว่า ถ้าเราอยากเห็นชาวดัตช์ทุกวัยทุกสไตล์ ให้ลองมาที่นี่ แน่นอนว่า เราไปเดินเล่นนั่งเล่นอยู่ครึ่งวัน ดูเป็ด ดูหมา ดูแก๊งค์วัยรุ่น คนวิ่ง ปั่นจักรยาน ปิกนิก เม้ามอย และแน่นอน เด็กๆ ก็มาเล่น
สวนสะอาดเรียบร้อยดี เด็กๆ สำรวจพื้นที่ตามใจชอบ พ่อแม่เล่นด้วยบ้าง นั่งเล่นดูอยู่ห่างๆ บ้าง เด็กเล่นเต็มที่แต่ก็ไม่ได้รบกวนใคร …เป็นเด็กมีประสบการณ์ ☺
3.
กลับมาจากทริปแล้ว เราได้มีโอกาสดูหนังสารคดีเรื่อง Ex Libris: The New York Public Library หนังสงบๆ ยาว 4 ชั่วโมงกว่า ของผู้กำกับระดับรางวัลรุ่นเก๋า Frederik Wiseman พูดถึงห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กที่มีภารกิจสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนทั้งมหานคร ห้องสมุดมีหลายสาขาหลายตึกกระจายอยู่ทั่วเมือง หนังพาเข้าไปฟังวงคุยหรือดูกิจกรรมที่จัดในห้องสมุดหลายสาขาในแต่ละชุมชน วงคุยต่างๆ นับว่าพีคและหลากหลายมาก
มีวงคุยตั้งแต่เรื่องมุสลิมกับการค้าทาสในศตวรรษที่ 16 การอ่านบทกวีโดยนักเขียนที่สนใจการเมืองเป็นพิเศษ การสอนเด็กๆ เขียนโค้ดหุ่นยนต์ การสอนคนตาบอดอ่านอักษรเบลล์ คุยเรื่องวิธีการแต่งตัวและวางตัวเมื่อสมัครงานในย่านชุมชนแออัด คุยเรื่องละครเวทีสำหรับคนหูหนวก คุยเรื่องคนไร้บ้านที่มาใช้บริการห้องสมุด และอื่นๆๆๆๆๆ เรียกได้ว่าเห็นทุกๆ เรื่องที่เป็นไปได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระดับไหน เรื่องใกล้ไกลตัวยังไง ห้องสมุดก็เป็นพื้นที่นั้นๆ ให้ คือ เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว
สำหรับเราหนังเรื่องนี้ ทำให้คำว่า พื้นที่สาธารณะ สำหรับ ‘ทุกคน’ ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมมาก สิ่งที่ชาวเมืองได้รับ ก็คือ ห้องสมุดที่ไม่ได้เป็นที่เก็บหนังสือ แต่เป็นแหล่งสร้างและส่งต่อปัญญาของผู้คน พาทุกคนในสังคมไปด้วยกันจริงๆ ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไร แต่งตัวแบบไหน ทำอาชีพไหน ผิวสีอะไร เราจะถูกมองเห็น และรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ดูหนังจบ เราลองค้นหาข้อมูลเรื่องพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติม บางนิยามบอกว่าองค์ประกอบที่สำคัญของพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้อยู่ที่รัฐหรือเอกชนจะเป็นเจ้าของ จะใหญ่เล็ก หรือมีวัตถุประสงค์แบบไหน แต่คือ พื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ และสร้างให้เกิด ‘Public Life’ ซึ่งพื้นที่สาธารณะสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมาก เกี่ยวไปถึงความปลอดภัย และไปจนถึงความมีชีวิตชีวาของเมือง ซึ่งก็คือ ความสุขรื่นรมย์ของผู้คนด้วย
ดูหนังจบ เราลองค้นหาข้อมูลเรื่องพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติม บางนิยามบอกว่าองค์ประกอบที่สำคัญของพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้อยู่ที่รัฐหรือเอกชนจะเป็นเจ้าของ จะใหญ่เล็ก หรือมีวัตถุประสงค์แบบไหน แต่คือ พื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ และสร้างให้เกิด ‘Public Life’ ซึ่งพื้นที่สาธารณะสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมาก เกี่ยวไปถึงความปลอดภัย และไปจนถึงความมีชีวิตชีวาของเมือง ซึ่งก็คือ ความสุขรื่นรมย์ของผู้คนด้วย
มองกลับไปที่เด็กๆ ในเยอรมนี อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ เราได้เจอเด็กๆ ที่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเยอะมาก มีงานศึกษามากมายถึงประโยชน์ของการพาเด็กเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งพอมาเห็นจริงๆ แล้ว เราคิดว่านี่เป็นผลจากการฝึกฝน การทำซ้ำ เป็นการไปเจอของจริงที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆได้อย่างลึกซึ้งและซับซ้อน
ธรรมชาติของการไปเที่ยว คือ ทุกสิ่งที่เห็น สัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้สึก เป็นสิ่งใหม่ อาหารหลากหลาย คนที่ต่างไป กิจกรรมและพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ประสาทสัมผัสทุกด้านตื่นตัวขึ้นมารับมือ เด็กๆ อาจเจอสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา คิด รู้สึก และฝึก
ในพื้นที่สาธารณะ เขาจะได้เห็นเงื่อนไขของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยที่พ่อแม่ไม่ทันบ่น เข้าใจเหตุและผลของโลก เมื่อจะต้องเข้าแถว เดินสวนกับคน มองดูทาง ให้เกียรติคนรอบข้าง ทำให้การอดทน รอคอย ไม่โวยวาย ไม่ทิ้งข้าวของ และดูแลตัวเองให้ได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้น เห็นภาพ และรู้สึกได้จริงสำหรับเด็ก
เด็กๆ จะได้ฝึกที่จะเห็นตัวเองอยู่ร่วมกับผู้คน เห็นกฎกติกา มารยาท และกาลเทศะในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ ในพื้นที่สาธารณะนี้ พ่อแม่ ผู้ใหญ่เอง ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยไม่แพ้กัน
เด็กๆ จะได้ฝึกที่จะเห็นตัวเองอยู่ร่วมกับผู้คน เห็นกฎกติกา มารยาท และกาลเทศะในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ ในพื้นที่สาธารณะนี้ พ่อแม่ ผู้ใหญ่เอง ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยไม่แพ้กัน
4.
ช่วงท้ายของทริป เราเดินเล่นไปหาร้านกาแฟ เจอเด็กหญิงร้องไห้แบบสุดเสียงอยู่ข้างจักรยานหน้าตึกออฟฟิศ พี่ชายตัวเล็กซ้อนจักรยานรออยู่ คุณพ่อคุยกับเด็กน้อยอยู่นาน พ่อพูดเบาๆ แล้วหยุดรอ ทำซ้ำๆ เราเห็นความใจเย็นมหัศจรรย์นี้ดำเนินไปช้าๆ จนเด็กน้อยโอเค สงบ และขึ้นจักรยานออกไปด้วยกัน
เราคิดว่าเด็กน้อย 4 ขวบในคอนเสิร์ตฮอลล์ที่แม่ปล่อยให้เดินเล่นไปมาท่ามกลางคนคับคั่งตอนรอฟังดนตรี ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตที่นี่เป็นครั้งแรก แม่ลูกอาจผ่านการคุยแบบมหัศจรรย์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
แล้วก็คิดว่า เด็กๆ ที่เนเธอร์แลนด์และเยอรมนีที่เราเห็นโชคดีมาก เพราะได้มีพื้นที่ฝึกฝนเรียนรู้เติบโต เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมือนทั้งเมืองเป็นพื้นที่สาธารณะ เต็มไปด้วยทรัพยากรทรงคุณค่าและหลากหลาย คล้ายเมืองได้เขย่าทรัพยากรทั้งหมดที่คนทั้งสังคมมีมาใช้ และเด็กๆ ก็เข้าถึงมันได้พร้อมพ่อแม่
แล้วก็คิดว่า พ่อแม่ที่นั่นก็โชคดีเหมือนกัน ยังได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่ตัวเองชอบ ออกไปชิลล์ ไปสนุกในพื้นที่สารพัดแบบ และพาลูกไปสนุกด้วยกันได้ด้วย ☺
ป.ล. เตรียมพร้อมเดินทางสู่เนเธอร์แลนด์ ชวนอ่านหนังสือชื่อ The Happiest Kids in the World พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ
หนังสือมีฉบับแปลไทย เขียนถึงความเป็นพ่อแม่และความเป็นเด็ก ที่เลี้ยงดูแบบชาวดัตช์ได้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะการเลี้ยงที่พ่อแม่เองไม่ต้องทุ่มจนหมดหน้าตัก ไม่ต้องผลักดันลูกไปที่ไหน และรู้ว่าความสุขสำคัญ
เราคิดว่าทั้งหลายนี้ในเนเธอร์แลนด์ มันเกิดขึ้นได้เพราะคน ‘เห็น’ ตัวเอง และทำให้ ‘เห็น’ คนอื่นด้วย
ความเข้าใจ เห็นใจ อดทน ประนีประนอม ให้พื้นที่กับทุกเสียง เห็นปลายทางแท้จริงของการถกเถียง หาทางที่ดีกันได้จริงๆ โดยพ่อแม่ไม่ต้องทำตัว ‘เยอะ’
คนเขียนซึ่งเป็นแม่ เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อพ่อชาวดัตช์พยายามให้เหตุผลกับลูก 3 ขวบ ว่าทำไมลูกต้องเข้านอนเร็ว
มันดูเสียเวลาและไร้สาระที่เราต้องมายืนเถียงกับเด็กวัยหัดเดินไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาเข้านอน แต่พ่อก็ยังคงทำอย่างใจเย็น เพื่อการเรียนรู้และฝึกฝนการใช้เหตุผลตัดสิน ให้เด็กๆ รู้ว่าเขามีสิทธิ์ในชีวิตของตัวเอง ฝึกให้รู้ตัวว่าเขาสบายใจหรือไม่สบายใจกับอะไร ประโยคในเล่มเขียนว่า “มันคือทักษะที่จะเป็นประโยชน์เมื่อเขาโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านแรงกดดันจากเพื่อน การรับมือเมื่อพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม หรือการยืนยันสิทธิ์ของตนเองในที่ทำงาน”
พ่อแม่ชาวดัตช์คาดหวังให้เด็กคิดคำโต้แย้งได้เอง อดทน และก้าวต่อไปเมื่อการโต้เถียงยุติ และรู้ว่าเขาจะได้รับการเคารพ ไม่มีการสบถ ไม่พูดคำหยาบ และไม่มีการขัดจังหวะ
“มันน่าเหนื่อยใจมาก และเป็นการทดสอบความอดทนของคุณ ถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะแทบคลั่งกับการพยายามโต้เถียงอย่างมีเหตุผลกับเด็กวัยหัดเดิน เราก็จะไม่เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น…มันยังเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขา (ชาวดัตช์) จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขที่สุดในโลก และมันต้องเริ่มต้นจากที่ไหนสักแห่ง…”
ดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนกันเนอะ
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.schoolofchangemakers.com/knowledge/11075
วิทยานิพนธ์เรื่องพื้นที่สาธารณะ นางสาวศุภยาดา ประดิษฐ์ไวทยากร
ภาพยนตร์สารคดี Ex Libris: The New York Public Library ฉายโดย Documentary Club
หนังสือ คู่มือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก สสส.
หนังสือ The Happiest Kids in the World พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ
ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ – นักอ่าน นักทำงานอดิเรก ชอบการเดินทางและกำลังสนุกกับกล้องฟิล์ม หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสือและพื้นที่เรียนรู้ Fathom Bookspace สวนพลู |