- Process Art เป็นศิลปะที่เน้นกระบวนการทางความคิดของเด็ก มากกว่าผลงาน ให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กคิด และลงมือทำผลงานศิลปะชิ้นนั้น โดยไม่ตัดสิน
- ครูออย – บุญทิพา คุ้มเนตร โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฏร์) ครูอนุบาลที่นำ Process Art มาใช้ในการพัฒนาทักษะ EF ในเด็กปฐมวัย ซึ่งจะช่วยให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข
- ในขั้นสุดท้ายคือ การสะท้อนคิด เด็กจะได้ประเมินผลงานตัวเอง เพื่อฝึกให้เด็กชื่นชมตัวเองเป็น รับรู้ความรู้สึกของตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะอะไร ซึ่งไม่เพียงฝึกให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก ยังมีความเป็นนักเรียนรู้มากขึ้น
เด็กทุกคนมีความชอบ ความถนัด ที่เป็นศักยภาพที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งครูเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด
“ตามหลักปรัชญาการศึกษาปฐมวัยเขาบอกไว้เลยว่า การที่เด็กจะพัฒนาได้ดีคือครูต้องดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมา แต่การดึงออกมาต้องอยู่ภายใต้บริบทสังคมรอบข้าง แล้วครูต้องดูแลและเอาใจใส่ เข้าใจเด็กจริงๆ ถึงจะดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่ และในการที่ดึงศักยภาพนั้นจะอยู่ภายใต้กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมที่เด็กจะได้ตามพัฒนาการ 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา”
ครูออย – บุญทิพา คุ้มเนตร ครูอนุบาลโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฏร์) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เล่าถึงการเรียนรู้ที่เด็กปฐมวัยควรได้รับอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงทักษะ EF ที่เป็นทักษะพื้นฐานในการพัฒนาให้เด็ก ‘คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข’ ซึ่ง Process Art สามารถดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้โดยตรง
ออกแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนา EF ให้กับเด็กๆ
Executive Function หรือ EF เป็นกระบวนการทำงานของสมองระดับสูงที่ประมวลประสบการณ์ในอดีตและสถานการณ์ปัจจุบันมาประเมิน วิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผน เริ่มลงมือทำ ตรวจสอบตนเอง และแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมอารมณ์ บริหารเวลา จัดความสำคัญ กำกับตนเอง และมุ่งมั่นทำจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หาก EF ดี ก็จะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ให้ดีตามไปด้วย
“ใน EF เขาจะมีหัวข้อหลักๆ 3 หัวข้อ เป็น 3 ทักษะ EF ทักษะแรกคือ ทักษะพื้นฐาน จะแบ่งออกเป็นเรื่องของความจำเพื่อใช้งาน ก็อาจจะเป็นการดึงประสบการณ์เดิมของเด็กออกมา แล้วก็การยืดหยุ่นและการหยั่งคิดไตร่ตรอง
ทักษะที่สองคือ ทักษะกำกับตนเอง จะเป็นทักษะที่เกี่ยวกับการจดจ่อใส่ใจ ควบคุมอารมณ์ แล้วก็การประเมินตนเอง ซึ่งถ้าเราอยากจะให้เด็กจดจ่อใส่ใจ สิ่งที่เขาทำก็ต้องเป็นสิ่งที่เขาชอบ ถึงจะจดจ่อได้นานและมีสมาธิ
และทักษะสุดท้าย ทักษะปฏิบัติ เริ่มที่ริเริ่มและลงมือทำ จริงๆ แล้วทักษะปฏิบัติตัวนี้เขาจะนิยมไปใช้กับพี่ๆ ประถมขึ้นไป เพราะว่ามีการวางแผน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ซึ่งในเด็กวัยนี้เขาอาจจะวางแผนเป็นลำดับขั้นตอนเหมือนพี่ประถมยังไม่ได้”
ซึ่งครูออยบอกว่า ทักษะปฏิบัติของ EF นั้น เกี่ยวข้องกับ Process Art ที่เด็กๆ จะได้คิดเอง และลงมือทำเองตามความสนใจ โดยมีการวางแผน เตรียมอุปกรณ์ และลงมือทำผลงาน
“ทั้งหมดนี้เป็นตัวพื้นฐานของ EF ซึ่งถามว่ามันสำคัญยังไงกับเด็กในวัยนี้ เพราะว่าทักษะเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาที่ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น แล้วก็อยู่กับบุคคลอื่นได้ด้วยความสุข ซึ่งสอดคล้องกับตัว well-being ที่โรงเรียนเราทำเป็นหัวข้อใหญ่ มันคือการพัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพจิต
ทักษะพื้นฐานของ EF มันสามารถไปสอดคล้องทำให้เกิดตัว well-being ได้ ก็เลยเลือกที่จะหยิบตัว EF มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเด็ก เพื่อให้เขามีเกราะป้องกัน มีภูมิในการที่จะใช้ชีวิตต่อไป ให้มีทั้งสุขภาพกายที่ดีและสุขภาพจิตที่ดี”
ในส่วนของกิจกรรมที่เด็กปฐมวัยจะได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อดึงศักยภาพของเด็กออกมาในแต่ละหนึ่งวันนั้น ครูออยขยายความว่า ทำโดยใช้กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เริ่มต้นด้วย ‘กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ’ ซึ่งจะทำในทุกๆ วันตอนเช้า เป็นการเคลื่อนไหวตัวเองตามเสียงเพลง ตามจังหวะที่ครูได้กำหนดให้ และแสดงออกท่าทางตามจินตนาการของแต่ละคน
สอง ‘กิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์’ เป็นการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เด็กปฐมวัยต้องเรียน โดยในหนึ่งปีการศึกษาจะมีประมาณ 40 หน่วย หนึ่งหน่วยจะเรียนกัน 1 สัปดาห์
“ยกตัวอย่างเด็กเปิดเรียนมาก็อาจจะเป็นหน่วยนี่คือตัวฉัน ให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ฉันชื่ออะไร คุณครูของฉันชื่ออะไร เพื่อนๆ ของฉันมีใครบ้าง ในมุมห้องของเรา โต๊ะของเราอยู่ไหน ที่เก็บรองเท้าเราอยู่ตรงไหน ในแต่ละวันก็จะเรียนรู้ทีละเรื่องๆ ที่อยู่ในขอบเขตของหน่วยเดียวกัน
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ได้มาจากสาระที่ควรเรียนรู้ตามหลักสูตรปฐมวัยอยู่ 4 สาระ สาระแรก เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก สาระที่สอง บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เช่น บ้าน โรงเรียน หรือคนในครอบครัว, สาระที่สาม ธรรมชาติรอบตัว และสาระสุดท้าย สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก เป็นความรู้เกี่ยวกับการฟัง พูด อ่าน เขียน หรือการสังเกตและเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ รอบตัว”
สาม ‘กิจกรรมสร้างสรรค์’ คือกิจกรรมที่ได้ทำงานศิลปะตามที่ได้เรียนรู้ในกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์
“เช่น กิจกรรมนี่คือตัวฉัน เด็กอาจจะวาดตัวเอง วาดร่างกายของฉัน ให้เด็กได้สื่อความคิดออกมา สื่อจินตนาการของเขาออกมา เหมือนครูได้ทบทวนแหละว่าเด็กเขาเข้าใจไหม เกี่ยวกับหน่วยเสริมประสบการณ์ที่เขาเรียนไป”
สี่ ‘กิจกรรมเสรี’ เป็นกิจกรรมที่เด็กได้เล่นตามมุมต่างๆ ที่ครูจัดไว้ให้ เช่น มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมเกม โดยเลือกเล่นตามมุมที่สนใจ ซึ่งจะมีกำหนดเวลาให้ 20 นาทีโดยประมาณ หากมากกว่านั้นเด็กจะเริ่มเบื่อ
ห้า ‘กิจกรรมกลางแจ้ง’ จะเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ออกไปนอกห้องเรียน เด็กได้ใช้พลังงานของตัวเองเต็มที่ ออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ออกไปวิ่งเล่น ออกไปเตะฟุตบอล ซึ่งในแต่ละวันก็จะสลับกันไป
และสุดท้าย ‘กิจกรรมเกมการศึกษา’ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กทำก่อนกลับบ้าน เช่น เกมต่อภาพจิ๊กซอว์ ที่เกี่ยวกับหน่วยที่ตัวเองได้เรียนไปในวันนั้น หรือเกมจับคู่ เป็นต้น ถือว่าเป็นการทบทวนเด็กก่อนกลับบ้านว่าในหนึ่งวันได้เรียนรู้อะไรไปแล้วบ้าง นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ เสริมเข้ามาด้วย เช่นตอนเช้าก็จะมีกิจกรรมส่งเทียน เพื่อเสริมสร้างสมาธิในตอนเช้า เป็นต้น
Process Art ศิลปะที่เน้นกระบวนการ มากกว่าผลงานชิ้นโบว์แดง
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ที่ว่าด้วยความสามารถที่หลากหลายของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง เขาเคยกล่าวไว้ว่า…
การเรียนรู้ด้านศิลปะจะงอกเงยได้ดีจากการที่เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เพียงลอกเลียนแบบจากผู้อื่น แต่สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นการวาด การปั้น ระบายสี หรือประดิษฐ์ กิจกรรมศิลปะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์และทำให้เกิดความเข้าใจในโลกรอบตัว ผลงานจะเป็นการแสดงออกถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เด็กได้มีประสบการณ์เดิมอยู่ หรือบางครั้งเป็นการแสดงความรู้สึก ความคิดใหม่ๆ ของตัวเด็กเอง ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่อาจมองดูไม่สวย ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แต่ผลงานนั้นคือสิ่งที่แสดงออกถึงประสบการณ์และความสนใจของเด็กอย่างแท้จริง
“Process Art เป็นศิลปะที่เน้นกระบวนการ แต่กระบวนการในที่นี้ไมได้เน้นกระบวนการที่ทำตามครูบอก มันคือกระบวนการทางความคิดของเด็ก เด็กคิดยังไงที่เขาทำแบบนั้นตามที่เขาสนใจ ตามที่เขาวางแผน
จริงๆ แล้วตัว Process Art มันเริ่มมาจากช่วงโควิดที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ แล้วเราก็ได้เจอหลักฐานทางวิชาการ ที่เขาได้ตีพิมพ์ออกมาว่ามันสามารถที่จะพัฒนาเด็กโดยแบบไร้กรอบ เราก็เลยหยิบตัวนี้ลองมาทำดูดีกว่าว่ามันจะใช้กับเด็กเราได้ยังไง เอาลองมาปรับดู”
ในกระบวนการทำ Process Art จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ โดยครูออยหยิบกรอบของ STEAM Design Process ของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มาเป็นกรอบใหญ่ในการทำกระบวนการนี้ โดยเริ่มด้วย ‘การถาม’ อย่างที่ครูออยได้ถามเด็กๆ ไปว่า “อยากทำงานศิลปะอะไร?” ถามเพื่อให้เด็กได้จินตนาการ จากนั้นเด็กจะเริ่มใช้ ‘ความคิด’ เพื่อ ‘วางแผน’ และลงมือ ‘สร้างสรรค์ชิ้นงาน’ ก่อนจะมา ‘สะท้อนคิด’ ในขั้นตอนสุดท้าย นี่คือ 5 กระบวนการของ STEAM Design Process แต่ทั้งนี้ครูออยตั้งต้นไว้ที่ 3 กระบวนการใหญ่ๆ คือ ขั้นเตรียมอุปกรณ์ ขั้นลงมือทำ ขั้นประเมินตนเอง เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่านี่คือ 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ที่พวกเขาต้องทำในกิจกรรมต่อจากนี้
โดยบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ด้วย Process Art นั้น นอกเหนือจากการเรียนรู้ตามหน่วยการเรียนรู้ทั้ง 6 หน่วยที่ได้กล่าวไป ช่วงหลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันของเด็กๆ ในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง พวกเขาจะได้ทำกิจกรรมที่ครูออยออกแบบตามความสนใจของเด็กๆ โดยมีการพูดคุยกันก่อนวันเริ่มทำกิจกรรม ซึ่งครูออยบอกว่าเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ต่างตื่นเต้นและตั้งตารอ
“เรารู้อยู่แล้วกิจกรรมศิลปะเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบจากการที่เขาได้เรียนในหน่วยการเรียนรู้ก็จะมีหน่วยศิลปะด้วย แต่ทีนี้ถ้าเราจะนำ Process Art มาใช้กับเด็กๆ มันจะต้องเป็นกิจกรรมศิลปะที่แตกต่างออกไป เพื่อให้เขาไม่เบื่อ เราก็จะถามเด็กๆ ทุกคนว่า ถ้าครูจะพาทำกิจกรรมศิลปะเด็กๆ อยากทำไหม อยากทำอะไรกันบ้าง เพื่อดึงประสบการณ์เดิมของเขาออกมา เขาก็จะตอบมาตามประสบการณ์ที่เขาเคยมี วาดภาพ ปั้น ระบายสี หนูอยากประดิษฐ์ หนูอยากออกไปเก็บดอกไม้ แล้วก็นำมาจัดกลุ่มการเรียนรู้ ”
ยกอย่างเช่น วันจันทร์ครูออยได้ออกแบบการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กๆ ไว้ 4 กลุ่ม 4 กิจกรรม ได้แก่ เงาสร้างภาพ, เล่นสีตามชอบ, นักปั้นตัวจิ๋ว และพิมพ์ภาพกับสิ่งรอบตัว โดยให้เด็กเลือกเข้าฐานได้ตามใจชอบ จากนั้นก็มาเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก โดยการดึงประสบการณ์เดิมของเขาออกมา
“สมมติเป็นเช้าก่อนวันเริ่มทำละ เราก็บิลต์เขาก่อน เรียกประสบการณ์เดิมเขาก่อนว่า กลุ่มเงาสร้างภาพ หนูจะสร้างภาพยังไง มันต้องใช้เงา เราต้องออกไปตรงไหนละ ตรงที่มีแสงหรือป่าว แล้วถ้ามันไม่มีแสง อยู่ในที่มืดละ มันจะมีเงาไหม อย่างนี้เป็นการดึงประสบการณ์เดิมเขาออกมา
กลุ่มเล่นสีตามชอบ ใช้สีอะไร อยากได้สีอะไรบ้าง ไปหยิบสีนั้นมา กลุ่มนักปั้นตัวจิ๋ว ใช้อะไรปั้นได้บ้าง หนูเคยปั้นอะไรบ้าง ดินน้ำมันหรือว่าดินเหนียว หรือว่าอยากใช้อะไรปั้น แล้วกลุ่มพิมพ์ภาพกับสิ่งรอบตัว ใช้อะไรพิมพ์ได้บ้าง เราก็จะถามเขา เขาก็จะไปหาอุปกรณ์มาในวันเริ่มทำ ซึ่งเราก็จะเตรียมอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น สี กาว กรรไกร วางไว้ให้เขาเดินมาชอปปิ้งอุปกรณ์กลับไปทำงานศิลปะของตัวเองด้วย
ทีนี้พออุปกรณ์ทั้งหมดอยู่บนโต๊ะละ ทุกคนแยกกลุ่มไปนั่ง 4 กลุ่ม เขาก็จะมาหยิบอุปกรณ์ โดยที่เขารู้ว่าต้องหยิบอะไรบ้าง เพราะว่าเขาได้พูดอุปกรณ์ออกมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ขอบเขตว่า อุปกรณ์แบบนี้มันคือของเขานะ ที่จะหยิบมาสร้างชิ้นงานในหัวข้อที่เขาเลือก แล้วเรานั่งทำพร้อมกัน
ครูออยก็จะเดินดูแต่ละกลุ่ม เพื่อดูว่าเราพอจะไปชี้แนะเขาตรงไหนได้บ้าง หรือเขาติดปัญหาอะไร แล้วก็ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอไว้ด้วย เพื่อให้ได้ยินคำพูดของเด็ก เวลาเขาทำงานร่วมกันเขาคุยเรื่องอะไรกัน เขาแสดงออกยังไง เขามีวิธีการวางแผนยังไง หรือเขาแนะนำเพื่อนยังไง เราอยากรู้ว่าเขากล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะแสดงออก กล้าคิดไหม มีความอดทนไหมในเรื่องของอารมณ์ตัวเอง จดจ่อใส่ใจได้ไหม จนครบเวลาเสร็จแล้วก็ให้เด็กช่วยกันเก็บอุปกรณ์ แล้วเขาก็เอาชิ้นงานมาให้เราดู”
ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของเด็กๆ คือเกณฑ์การวัดประเมินผลที่ดีที่สุด
กิจกรรมนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผลงานของเด็กๆ ทุกชิ้น ครูออยบอกว่าล้วนเป็นสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อสารถึงความรู้สึก ความต้องการ และในขั้นสุดท้ายต้องมาสะท้อนถึงสิ่งที่ทำเสมอ รวมถึงให้เด็กประเมินผลงานตัวเองด้วย เนื่องจากครูออยต้องการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เพื่อให้เด็กแสดงความรู้สึกชื่นชมตัวเองเป็น ซึ่งเด็กจะได้รับรู้ความรู้สึกของตัวเองด้วยว่าชอบหรือไม่ชอบ และสามารถบอกได้ว่าชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร
“อย่างที่บอกว่าชิ้นงานจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ เราไม่ได้โฟกัสว่าชิ้นนี้ไม่สวยเลย เราไม่พูดแบบนั้น เพราะว่าการที่พูดแบบนั้นมันจะทำให้เขาขาดความมั่นใจ แล้วก็ปิดกั้นจินตนาการของเขา แล้วมันจะเป็นปมของเขาเลย ชิ้นต่อไปเด็กอาจจะไม่กล้าทำก็ได้”
“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลยคือจะมีเด็กอยู่คนนึงที่ไม่ค่อยพูด เกิดจากพื้นฐานครอบครัวไม่ค่อยมีเวลา แล้วตั้งแต่เริ่มทำงานศิลปะ Process Art ตัวนี้ เริ่มทำไปหลายสัปดาห์ เริ่มพูดมากขึ้น ประเมินตนเองได้ อธิบายได้ว่าทำอะไร ชอบแบบนี้เพราะอะไร พอใจแค่ไหน ให้ตัวเองกี่ดาว เราจะมีให้เด็กให้ดาวตัวเอง ถ้าให้สองดาวเพราะอะไร ให้หนึ่งดาวเพราะอะไร เราจะถามเหตุผลกับเขา ให้เขาได้ลองอธิบายดู
แล้วก็จะมีเด็กอีกคนนึงที่พ่อแม่เขาเลิกกัน เด็กเขาปั้นรูปผู้หญิง ในกิจกรรมนักปั้นตัวจิ๋ว เราก็ถามว่าปั้นรูปใคร เขาก็บอกว่าปั้นรูปแม่ ก็เลยรู้ว่าพื้นฐานที่เด็กแสดงออกผ่านงานศิลปะมันคือพื้นฐานในจิตใจของเขา กับเรื่องราวที่เขาได้เจอมา บางทีเด็กเขาอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ว่าชิ้นงานมันสามารถบอกได้ว่าในใจลึกๆ แล้วเด็กคิดยังไง”
ครูออยเล่าต่อว่า เป้าหมายของการนำ Process Art มาใช้คือ อยากให้เด็กมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ซึ่งผลลัพธ์ของเด็กๆ ก็เป็นเช่นนั้น
“เราเห็นได้ชัดว่าเด็กมีความกล้าแสดงออก เขาสามารถที่จะคิด วางแผน ลงมือทำด้วยตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าครูจะว่าไหม จะผิดหรือจะถูก เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้
เพราะเราทำทั้งหมด 14 ครั้ง พอหลายๆ ครั้งเข้าเราเริ่มเห็นแล้วว่าเขาเริ่มมีความเป็นตัวเองสูงในเรื่องของการตัดสินใจ เริ่มมีการบอกเล่าสิ่งต่างๆ ได้ อันนี้เรามีการทำแบบประเมิน google form ให้กับผู้ปกครองได้ประเมินด้วยว่าตอนที่เด็กปิดเทอมไป เขามีพฤติกรรมยังไงบ้าง ซึ่งหัวข้อที่เราใช้ในการประเมินอิงมาจาก EF เอาทักษะต่างๆ นั่นแหละมาเป็นตัวทำประเมิน เพราะเราอยากให้เด็กเกิดทักษะเหล่านี้
แล้วตัว well-being หรือสุขภาพกาย สุขภาพจิต มันก็สอดคล้องกับ 3 ทักษะใหญ่ของ EF อยู่แล้ว เราก็เลยหยิบหัวข้อ EF มาเป็นตัวประเมินเลย ให้ผู้ปกครองประเมินด้วย รวมถึงตัวครูเองก็ประเมินก่อนหลังด้วย ไม่ใช่แค่เราที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ผู้ปกครองก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกเขาด้วยเหมือนกัน”
นอกจากการที่เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก สิ่งที่ครูออยมองเห็นและสัมผัสได้ด้วยตัวเองเลยก็คือ เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียน มีความอยากเรียนรู้
“เขาทำกิจกรรมแล้วเขาสนุก คุยกันเจื้อยแจ้ว เขามีความสุขในการแสดงออก เพราะเขารู้สึกได้ว่าครูไม่ได้จ้องจับผิดเขา หรือคอยตัดสินเขาว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก เขาก็จะเริ่มพูดทุกอย่างในสิ่งที่เขารู้สึก แล้วเราก็สามารถจับจากคำพูดเขาได้ด้วย ว่าเขารู้สึกยังไง กำลังคิดอะไรอยู่”
บทบาทของครูปฐมวัยที่ต้องปรับ และความท้าทายของงานครู
บทบาทของครูปฐมวัยในมุมมองของครูออย นอกจากการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การทำงานร่วมกับผู้ปกครอง
“ครูต้องไปปรับบทบาทของตัวเองค่อนข้างเยอะ เพราะว่าในหนึ่งวันที่ทำ มันจัดกิจกรรมหลายอย่าง ตัวครูจะต้องไปหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสนใจ สิ่งที่เด็กบอกว่าเขาอยากทำ กิจกรรมศิลปะใหม่ๆ เราต้องไปหาความรู้ตัวนั้น มันก็เลยเป็นการท้าทายตัวเราเองด้วยว่า เราจะนำพาเด็กเขาไปได้แค่ไหน เราจะมองถึงการพัฒนาแล้วให้เขาไปถึงจุดสูงสุดที่เขาจะทำได้ยังไง
ซึ่งบทบาทของเรามันไม่ใช่แค่กับเด็ก เราต้องประสานงานกับผู้ปกครอง เราต้องอธิบายให้ผู้ปกครองฟังในสิ่งที่เราทำว่า บทบาทผู้ปกครองต้องเป็นแบบนี้ แล้วผู้ปกครองต้องช่วยกันทำนะ ซึ่งช่วงนั้นที่ทำต้องบอกเลยว่ามันเหนื่อยมากๆ ทั้งเด็กทั้งผู้ปกครองด้วย ไหนจะกิจกรรมที่เราจะต้องจัดให้กับเขาด้วยในแต่ละวัน แล้วด้วยความเป็นเด็กปฐมวัยที่พลังเหลือล้น มันวุ่นวายอยู่แล้ว ตัวเราเองก็คุมคนเดียว มันก็เลยจะเหนื่อยหน่อย แต่ว่าผลลัพธ์ที่เราได้เห็นแล้วมันตอบสนองกับเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ เราก็รู้สึกมีความสุข”
แน่นอนว่าในการทำงานกับผู้ปกครองช่วงแรกๆ ย่อมมีปัญหาบ้าง เนื่องจากผู้ปกครองยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำ สิ่งที่ทำนั้นจะพัฒนาได้จริงหรือ?
“เราก็พยายามดึงผู้ปกครองที่เขาเข้าใจ มาเป็นตัวอย่างให้กับผู้ปกครองท่านอื่นๆ ได้ดูว่า เขาทำแบบนี้นะ แล้วก็พยายามอัพลงไลน์กลุ่ม จะได้เห็นทั่วๆ กัน มันจะเป็นการกระตุ้นผู้ปกครองคนอื่นๆ เขาเห็นแล้วเขาก็อาจจะรู้สึกว่า ลูกฉันไม่ได้ทำ ต้องทำแล้วละ เพราะลูกคนอื่นมีผลงานละ ฉันต้องทำละ มันจะเป็นอย่างนี้จริงๆ ค่ะ นี่คือการนำผู้ปกครองมาเป็นตัวกระตุ้นกันเองด้วย
แล้วฟีดแบคของผู้ปกครอง เขาก็จะบอกว่าน้องดีขึ้น บางคนมาพูดบอกว่า เมื่อก่อนน้องเขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้ เพราะว่าบางทีเขาไม่มีสมาธิ แต่ว่าครั้งนี้มีสมาธิมากขึ้น ทำให้มันส่งผลต่อการเรียนทางวิชาการ เขารู้สึกสนใจการบ้านมากขึ้น กระตือรือร้นอยากจะทำ เป็นผู้ปกครองมาพูดกับครูออยเอง หรือบางคนไม่ได้มาพูดกับเรา แต่เราเจอเราต้องเดินเข้าไปถามว่าน้องเป็นยังไงบ้าง ไปเช็คฟีดแบค”
สุดท้าย สำหรับคุณครูท่านอื่นๆ ที่กำลังหาแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ในเด็กปฐมวัย หรือผู้ปกครองที่อาจจะยังไม่เห็นว่า EF สำคัญกับเด็กอย่างไร ครูออยในฐานะครูปฐมวัยมีคำแนะนำที่น่าจะนำไปปรับใช้กันได้
“ถ้าจะให้แนะนำ ต้องเริ่มที่ครูต้องเข้าใจก่อน สำหรับครูออยๆ คิดว่าต้องเข้าใจเด็กก่อน ต้องเข้าใจว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง พื้นฐานเขาเป็นยังไง ต้องสนใจด้วยว่าครอบครัวเขาเป็นยังไง ต้องสนใจไปถึงครอบครัวเลย บางทีครูบางคนมองข้ามไป แต่หารู้ไม่ว่าการที่เด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากครอบครัว แล้วการที่เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาบางทีต้องมีการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อที่จะเปลี่ยนตอนที่เขาอยู่บ้านได้ด้วย มาโรงเรียนครูก็ช่วยเสริมได้ด้วย นี่คือการใส่ใจ ทำความเข้าใจเด็กก่อน แล้วเราจะรู้ถึงปัญหาของเด็กคนนั้นเลย พอรู้ถึงปัญหาแล้ว กระบวนการในการแก้ปัญหามันจะตามมา คือถ้าเราไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ เราก็ไม่สามารถทราบปัญหา”
“แล้วก็สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ครูสร้างความไว้วางใจให้เด็กๆ แล้วเขาก็จะกล้าเล่า ถ้าเราทำตัวให้เขาไว้ใจ เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัย เขาก็จะพูดคุยกับเรา”