- สนามเด็กเล่นคือ ภาพจำลองของการเข้าสังคม มีการแบ่งปัน แย่งชิง รวมกลุ่มและกีดกัน ช่วยเหลือและทอดทิ้ง
- เมื่อโตขึ้น เขาจะเป็นส่วนหนึ่งหรือแปลกแยกของสังคม สนามเด็กเล่นมีส่วนสำคัญ
- พ่อแม่หรือคุณครู ไม่เป็นเพียงผู้ดูแลข้างสนาม แต่ยังสามารถเข้าไปช่วยเด็กๆ ในสนามได้ด้วย ช่วยอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
คุณเห็นอะไรที่สนามเด็กเล่น?
เด็กๆ วิ่งพลางส่งเสียงดัง ครูยืนคุมข้างสนาม พ่อแม่นั่งคุยกันหรือก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ แต่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งมองเห็นมากกว่า
พวกเขาเห็นการแบ่งปัน การแย่งชิง การรวมกลุ่ม การกีดกันออกจากกลุ่ม การเป็นผู้นำและผู้ตาม การช่วยเหลือและการทอดทิ้ง
สนามเด็กเล่นคือ ภาพจำลองขนาดย่อของการเข้าสังคม และเป็นสถานที่สำคัญที่จะสามารถมอบพลังบวกในการพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้
จากผลการวิจัยในวารสารด้านสาธารณสุขอย่าง บีเอ็มซี พับลิค เฮลธ์ (BMC Public Health) ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์สนามเด็กเล่นของโรงเรียนเกือบ 500 แห่งทั้งในและนอกตัวเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา พบว่า ช่วงเวลาพักผ่อนในสนามเด็กเล่นส่งผลเชิงบวกต่อการสร้างความสัมพันธ์และทักษะทางสังคมที่สำคัญได้เป็นอย่างดี
ระหว่างอยู่ที่โรงเรียน เด็กๆ ใช้เวลาเคลื่อนไหวร่างกายในสนามเด็กเล่นมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ แต่บ่อยครั้งที่โรงเรียนส่วนใหญ่กลับประเมินศักยภาพทางสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะได้รับจากช่วงเวลานี้ต่ำเกินไป ทำให้พวกเขาไม่สามารถออกแบบสนามเด็กเล่นที่ส่งผลเชิงบวกต่อเด็กๆ ได้เต็มที่
จากการสำรวจ ทีมนักวิจัยตั้งความหวังว่า จะสามารถสร้างเครื่องมือที่ทำให้โรงเรียนต่างๆ รับรู้ได้มากกว่าแค่เรื่องทางร่างกาย และทบทวนประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย ทรัพยากร การมีส่วนร่วมของนักเรียนและผู้ใหญ่ พฤติกรรมเอื้อสังคม (Prosocial) พฤติกรรมต่อต้านสังคม (Antisocial) รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของเด็กๆ ในสนามเด็กเล่นให้มากขึ้น
พลังของเวลาเล่น
เพราะสนามเด็กเล่นคือภาพจำลองวิธีสร้างความสัมพันธ์ในสังคม สิ่งที่เด็กๆ จะได้จากการเล่นจึงไม่ใช่แค่เหงื่อกับความแข็งแรง แต่ยังได้เรียนรู้วิธีรับมือกับพื้นที่ทางอารมณ์ สังคม ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของวัยเด็กอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการผลัดกันเล่นชิงช้า การเล่นเป็นทีม การทะเลาะกัน และการรับมือกับความพ่ายแพ้ในเกมกีฬาต่างๆ งานวิจัยระบุว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยวางรากฐานความสำเร็จตั้งแต่ในโรงเรียน จนถึงความสัมพันธ์และหน้าที่การงานในอนาคตได้
“โรงเรียนต้องตั้งคำถามที่จะสามารถเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมและเป็นตัวของตัวเองของเด็กๆ ในสนาม เช่น กิจกรรมหลากหลายที่พวกเขาได้มีส่วนร่วม พวกเขาเข้ากันได้ดีและใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาทักษะทางสังคม และเด็กๆ สามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างมั่นใจ โดยไม่มีผู้ใหญ่มาก้าวก่าย” ทีมนักวิจัยแนะนำ
ทั้งหมดนี้เพื่อย้ำเตือนว่า ช่วงเวลาพักไม่ใช่แค่การเล่นสนุกไปวันๆ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รอบรู้และมีสุขภาพดีได้
ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบ ไม่ใช่แค่ผู้คุมกฎ
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กๆ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาทักษะเข้าสังคมของเด็กรุดหน้าได้เร็ว แต่โรงเรียนหลายแห่งวางตำแหน่งครูให้เป็นแค่ผู้คุมกฎข้างสนาม ทั้งที่จริง ผู้ใหญ่สามารถเป็นได้ทั้งผู้คุมกฎและต้นแบบท่าทีเชิงบวกให้เด็กๆ เห็นได้
นอกจากคอยดูไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้ง ครูหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ สามารถช่วยให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่นทุกคนโดยไม่มีใครถูกกีดกันออกไปให้รู้สึกโดดเดี่ยว สร้างการรวมกลุ่ม และสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งการเป็นเจ้าของ (Culture of Belonging) ซึ่งทำให้เด็กๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมากขึ้น
งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกกับครูและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จ ทั้งในการศึกษาและในระยะยาว
“ถ้าสภาพแวดล้อมในสนามเด็กเล่นยังมีการกลั่นแกล้งและพฤติกรรมต่อต้านสังคมเกิดขึ้น การสร้างสุขภาวะด้านสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้คงเป็นไปได้ยาก” ทีมผู้เขียนงานวิจัยอธิบาย
Safety First ปลอดภัยไว้ก่อน
คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเล่นในสนามที่เครื่องเล่นพังๆ – จริงไหม
ถ้าอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นไม่เคยได้รับการบำรุงซ่อมแซม ชั่วโมงพักผ่อนของพวกเขาจะมีแต่ความวุ่นวายและไม่ไว้วางใจ แล้วจะไปหวังอะไรกับการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม
เพราะฉะนั้น ทีมนักวิจัยแนะนำว่า โรงเรียนต่างๆ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ในสนามให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ตั้งแต่แป้นเกลียว ตัวน็อต โครงสร้าง พื้นสนาม รวมทั้งดูว่ามีพื้นที่อันตรายอย่าง สถานที่ก่อสร้างหรือพื้นที่การจราจร ที่ถูกปิดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่
เพราะสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลอย่างดี จะทำให้เด็กๆ มีความสุขและเอื้อต่อการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ได้มากกว่า แม้ในสนามนั้นจะมีแค่ลูกบอลกับเชือกกระโดดก็ตาม