- แปลนคนพี่อายุ 17 กับปูนคนน้องวัย 12 ทั้งคู่ไป ‘โรงเล่นเรียนรู้’ แทนที่จะไปโรงเรียนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ
- โรงเล่นเรียนรู้ชื่อเดิมคือ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ แหล่งรวมของเล่นพื้นบ้านจากผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยเชื่อว่า ของเล่นสร้างการเรียนรู้ได้ และการเล่นทำให้เกิดการค้นพบ
- จากความสงสัย พัฒนามาเป็นความสนใจและรู้เท่าไหร่ก็ไม่พอ แปลนคนพี่เรียกกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ “ผมชอบและรักการเรียนรู้แบบนี้”
- เป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าโตขึ้นอยากทำอะไร แต่ได้ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ อะไรดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ จะถูกกรองออกไปเอง
ภาพ: ฉัตรชัย วงค์เกตุใจ และโรงเล่นเรียนรู้
ณ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 60 กิโลเมตร เด็กผู้ชายสองคนเติบโตขึ้นท่ามกลางวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่นำมาใช้ทำของเล่นพื้นบ้าน
พวกเขาไม่ไปโรงเรียน แต่เรียนอยู่กับบ้านและใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ฐานที่มั่นซึ่งเป็นทั้งบ้านและโรงเรียนให้กับทั้งสองคน ตั้งอยู่ที่ ‘พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ หน้าวัดป่าแดด ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลไม่ไกลจากกันมากนัก ตั้งชื่อใหม่ให้น่าสนุกยิ่งขึ้นว่า ‘โรงเล่นเรียนรู้’
‘แปลน’ รามิล กังวานนวกุล เด็กหนุ่มวัย 17 ปี และ ‘ปูน’ นาฬา กังวานนวกุล วัย 12 ปี สองพี่น้องที่เติบโตมากับ ‘บ้านเรียน’ หรือ ‘Home School’ บอกว่า สำหรับพวกเขาการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ที่ ‘เหมาะสม’ กับตัวเอง
โรงเล่นเรียนรู้ หรือ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าแดดมากว่า 20 ปี หลายคนรู้จักพิพิธภัณฑ์เล่นได้จากของเล่นพื้นบ้านฝีมือกลุ่ม ‘คนเฒ่าคนแก่’ ที่รวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมาใช้เวลาว่างร่วมคิด ทำ ทดลอง อนุรักษ์และฟื้นฟูของเล่นพื้นบ้านจากฝีมือและภูมิปัญญาซึ่งสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
ของเล่นที่ว่า หลายอย่างเอ่ยชื่อขึ้นมายังนึกภาพออก ยกตัวอย่างเช่น กำหมุน ลูกข่าง และจานบิน แต่หลายอย่างเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้ว ยังงงว่าของเล่นเหล่านี้หน้าตาเป็นอย่างไรและเล่นยังไง เช่น พญาลืมงาย นกหวีดน้ำ และบล็อกหมูสมาธิ ด้วยเหตุนี้ ที่โรงเล่นจึงไม่ปล่อยให้เราดูของเล่นอยู่เฉยๆ แต่พ่ออุ้ยแม่อุ้ย รวมถึงแปลนปูนเจ้าบ้านจะชวนทุกคนมาเล่นด้วยกัน ถ่ายทอดและบอกต่อเรื่องราว สร้างการเรียนรู้ให้คนที่มาเยี่ยมชมได้ทำความรู้จักกับของเล่น ได้เล่นและทำของเล่นเป็น
เพราะพื้นที่นี้เชื่อว่า ของเล่นสร้างการเรียนรู้ได้ และการเล่นทำให้เกิดการค้นพบ
‘เรียนรู้’ จากความสงสัยและสนใจ
การเดินทางเรียนรู้ของแปลนกับปูนมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจสิ่งรอบตัว การคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติและผู้คนทุกเพศทุกวัย ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การค้นหาความรู้ง่ายขึ้น การเรียนรู้ของพวกเขาจึงขยายพื้นที่ออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด
แปลน เล่าว่า สนใจเรื่องแมลงตั้งแต่อายุราว 4 ขวบ ความสนใจของเขามีที่มาจาก ‘ความสงสัย’ ในสิ่งใกล้ตัว นั่นก็คือ สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ แปลนเก็บหนอนผีเสื้อ (ดอกรัก) มาเลี้ยงเพื่อดูวัฏจักรการเติบโต แล้วเริ่มต้นศึกษาเรื่องแมลงอย่างจริงจังในช่วงวัยประถมต้น เลยเถิดไปทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์แมลงชนิดอื่นๆ อีกมากมาย บางส่วนที่เลี้ยงไว้จนหมดอายุขัย ก็นำมาสตัฟฟ์ไว้เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ด้วงกว่าง แมงป่อง ที่ถึงขนาดแปะประกาศไปทั่วชุมชนว่า “ใครเจอแมงป่องให้เอามาให้หน่อย”
ไม่ใช่แค่นั้น แปลนยังเลี้ยง ตัวบึ้งหรือแมงมุมทารันทูลา (แมงมุมขนาดใหญ่ ที่มีพิษเป็นอันตรายต่อแมลงและสัตว์อื่น พิษนี้อาจส่งผลกับคนที่มีอาการแพ้ได้) ซึ่งมารู้ตอนหลังว่า ตัวที่เขาเลี้ยงเป็นทารันทูลาสายพันธุ์ดุที่สุดในประเทศไทย และเพราะทารันทูลา แปลนเลยต้องเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้เป็นอาหารโปรดของแมงมุมด้วย
“ตอนที่ผมอยากเลี้ยงหนอนผีเสื้อ เพราะอยากเห็นว่าจะมีอะไรออกมาจากดักแด้ ไม่ได้มีห้องแล็บหรือศึกษาลงลึกอะไร ผมเก็บหนอนผีเสื้อที่เห็นอยู่ทั่วไปบนต้นรักมาใส่ไว้ในตู้ แล้วคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของมัน ด้วงกว่างก็เหมือนกันสมัยผมยังเด็ก แถวนี้มีด้วงกว่างเยอะเต็มไปหมด เลยลองเลี้ยงอย่างจริงจังด้วยตัวเอง จนเข้าใจวงจรชีวิตของด้วงกว่าง แต่ตอนนี้เห็นน้อยลงมาก ยังคิดว่าถ้าไม่สนใจศึกษาไว้แต่แรก ต่อไปอาจไม่มีโอกาสเห็นด้วงกว่างในธรรมชาติแล้วก็ได้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนถามถึงอนาคตว่า “อยากเป็นอะไร?” แปลนย้ำเสมอว่า ความสนใจส่วนตัวเรื่องแมลงที่ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสื่อ หรือได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้กำหนดอนาคตว่าเขาต้องเป็นนักกีฏวิทยา หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น
“เพราะผมสนใจเลี้ยงด้วงกว่าง ทำให้หลังจากนั้นผมได้ทำงานกับศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่ง ที่ต้องปั้นชิ้นงานแมลงไปจัดแสดงในศูนย์ฯ เพราะโจทย์ของงานอยากได้ชิ้นงานของเด็กไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนอื่นๆ ที่มาชมนิทรรศการ เลยเกิดโปรเจ็คท์งานแปลนปูนปั้นขึ้นมา”
ส่วนปูน น้องน้อยที่ได้เห็น ได้สังเกต และได้ลงมือเรียนรู้ร่วมกันกับพี่แปลนไม่ห่าง จะว่าไปปูนคลุกคลีอยู่กับแมลงไม่น้อยไปกว่าแปลน แถมตอนนี้กำลังทดลองเลี้ยงสัตว์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเต่า ปลา หรือกุ้ง ในบ่อที่ทำขึ้นเองในสวนหลังบ้าน
นั่นเป็นความสนใจส่วนหนึ่ง ปูนยังมีสิ่งที่ชอบและเป็นงานถนัด คือ การ ‘เย็บ ปัก ถัก ทอ’ จินตนาการของปูนสร้างสรรค์ให้เกิดของเล่นจากผ้าที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้มากมาย กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับโรงเล่นด้วย
จากงานปักลายสัตว์น่ารัก ดอกไม้ ต้นไม้ และข้อความบนผืนผ้า ได้ลองประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้ารูปแบบต่างๆ กับคุณแม่ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้และสร้างความสนุก โปรโมทในเพจ ‘ปักด้ายปักดี’ ที่เป็นแอดมินดูแลเพจด้วยตัวเอง ปูนมีความฝันอยากมีฟาร์มเป็นของตัวเอง เลยสร้างฟาร์มแบบปูน เกิดเป็นชุดของเล่น ‘ฟาร์มสุข’ ส่งต่อความสนุกจากการเล่นให้กับเพื่อนๆ ที่สนใจ
ฟาร์มสุขเป็นสิ่งประดิษฐ์เสริมสร้างจินตนาการ มีทั้งหมด 9 แบบ สามารถนำมาต่อกันเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ได้ ฟาร์มของปูนมีทั้งบึงน้ำ แปลงผัก สัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ และต้นไม้ใบหญ้า จะต่อให้อะไรอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่การวางแผนของผู้เล่น เหมือนเป็นการฝึกทำการเกษตรบนแปลงพื้นที่จำลอง
“บางอย่างเคยเห็นมาก่อน บางอย่างก็กูเกิลหา แล้วลองถักทำออกมา” ปูนอธิบาย
นอกจากชุดฟาร์มแล้ว ยังมี ‘ชุดกี่ทอผ้า’ ที่จำลองเครื่องมือทอผ้าขนาดเล็กมาย่อสเกลเป็นขนาดพกพาให้เล่นได้ สามารถทำออกมาเป็นผลงาน แล้วนำไปใช้งานได้จริง
ทำให้สุด อย่าหยุดที่ ‘ทำไม่ได้’
การลงมือทำในสิ่งที่ชอบและสนใจ นอกจากทำแล้วมีความสุข ต้องมีความรับผิดชอบในงานแต่ละชิ้นที่ทำด้วย ด้วยเหตุนี้เพื่อให้งานสำเร็จ การทำงานทุกครั้งจึงต้องมีเป้าหมายว่า ต้องการทำอะไร เพื่ออะไร ทำไปให้ใคร ใครได้ประโยชน์ แล้วลงมือทำอย่างเต็มที่ที่สุด
“แค่อยากทำ เพราะอยากรู้ อยากสนุกก็เป็นเป้าหมายได้แล้ว คนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเราเอง” แปลนเอ่ยขึ้น ก่อนขยายความขั้นตอนกระบวนการทำงานว่า
เป้าหมาย ทำให้วางแผนการทำงานได้ เช่น การออกแบบ สเก็ตซ์ (sketch) ให้เห็นภาพก่อน เพื่อมองหาความเป็นไปได้ รวมถึงการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม บางเรื่องอาศัยการสอบถามข้อมูลจากคนใกล้ตัวหรือผู้รู้ บางเรื่องก็ต้องพึ่งพากูเกิล และยูทูบ บวกกับประสบการณ์เดิมที่มี
เป้าหมายและการวางแผน จะช่วยสร้างความมั่นใจและช่วยให้ประเมินความสำเร็จได้ด้วย หลังจากนั้นจึงลองลงมือทำ แล้วปรับปรุงชิ้นงานไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
แปลนและปูน เล่าขยายความถึงโจทย์ใหญ่ท้าทายที่ได้รับ จนเกิดแปลนปูนปั้นเมื่อ 4 ปีก่อน – ผลิตด้วงกว่างตัวเล็ก 100 ตัว และตัวใหญ่ 2 ตัว ภายในระยะเวลา 1 เดือน ให้กับศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่ง ย้อนกลับไปตอนนั้นแปลนเพิ่งอายุ 13 ส่วนปูนยังอายุ 8 ปี แปลนจึงเป็นแรงงานหลัก ส่วนปูนเป็นกองหนุนคอยส่งเสบียงให้พี่
“ผมใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานเหมือนกัน เพราะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ประเมินตัวเองแล้ว ลองคำนวณ วางแผน แล้วมั่นใจว่าทำได้ เชื่อว่าประสบการณ์หลายอย่างที่ผ่านมาสามารถพาเราไปได้ แม้ว่างานที่เคยทำมาก่อนไม่เหมือนกับงานนี้เสียทีเดียว ระหว่างทำมีปัญหาคาดไม่ถึง แต่ก็ทำสำเร็จได้ทันเวลา เพราะเรามีแผน ระหว่างทำงานเรารู้ว่าอะไรทำแล้ว แล้วยังขาดอะไร” แปลน กล่าว
ทุกที่เป็นห้องเรียน ทุกการลงมือทำคือบทเรียน
‘ความล้มเหลว’ เป็นสิ่งที่หลายคนกลัว กลัวจนไม่กล้าเพราะไม่อยากทำผิด ไม่อยากพลาด ทั้งที่ความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือการทำสิ่งนี้ไม่ได้ ทำสิ่งนั้นไม่เป็น หรือแม้แต่ความไม่รู้ ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ได้ทั้งหมด
การอยู่ในพื้นที่ที่มีบรรยากาศเอื้อให้ได้ทดลอง ลงมือทำ และเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ โดยไม่ต้องกังวลว่าถูกหรือผิด จะสำเร็จหรือล้มเหลว จึงช่วยสร้างการเรียนรู้ เพราะยิ่งได้ทำ ยิ่งผิดพลาด ยิ่งต้องทำซ้ำมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดความชำนาญมากขึ้นเท่านั้น
“การเรียนรู้จากการลงมือทำ ทำให้เราเข้าใจได้เร็ว และลงลึกกับสิ่งที่อยากทำได้มากกว่าศึกษาหาข้อมูลเฉยๆ แล้วจบไป”
“ผมเคยไม่ชอบการเขียนโครงงาน เพราะใจเราอยากทำชิ้นงานให้เสร็จก่อน ทำเสร็จแล้วค่อยมาเขียน แม่จะบอกตลอดว่าให้เขียนก่อน ทำเสร็จแล้วให้เขียนสรุปบทเรียนอีกทีว่ามีปัญหาอุปสรรค ข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง พอทำๆ ไป เราได้รู้เองว่า เออ… ถ้าเราเขียนโครงงานก่อนแล้วค่อยทำ ก็เหมือนเราได้วางแผน มันทำให้เราทำงานง่ายกว่า เพราะได้หาข้อมูล ได้ทำความเข้าใจไปทีละขั้นตอน แล้วที่เคยเขียนสรุปบทเรียนไว้หลังทำงานเสร็จแต่ละชิ้น มันมีประโยชน์เมื่อทำงานชิ้นต่อไป พอได้กลับไปอ่าน เราจะรู้เลยว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เอาสิ่งที่เคยเขียนมาพัฒนาต่อได้”
หลังจากปั้นแมลง 100 ตัวจนหนำใจ หนึ่งปีหลังจากนั้น แปลนหันมาสนใจปั่นจักรยาน ความชื่นชอบผลักดันให้แปลนออกไปปั่นขึ้นเหนือล่องใต้เป็นระยะทางกว่า 5 พันกิโลเมตร และเปิดธุรกิจทำร้านออนไลน์จำหน่ายอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับจักรยาน ชื่อ ‘14bike’
หากวัดผลทางธุรกิจ 14bike กำลังก้าวไปได้ดี และกำลังให้ผลกำไร แต่เพราะได้ลงมือทำ แปลนจึงได้เข้าใจตัวเองว่า สิ่งนี้ยังไม่ใช่ตัวเขา
“ทำธุรกิจต้องตามความต้องการลูกค้า บางทีทำให้รู้สึกเหนื่อย เลยกลับมามองว่าอะไรที่เรามีความสามารถทำได้ แล้วไม่ต้องตามใคร อยากทำตามความสนใจของตัวเอง ตอนนี้ผมหันมาทำงานต่อยอดจากของเล่นพื้นบ้านเดิม สร้างสรรค์ของเล่นขึ้นใหม่ให้เป็นของเล่นวิทยาศาสตร์ เป็นทั้งสื่อการเรียนรู้ และจำหน่ายเป็นรายได้ด้วย”
การเรียนรู้ไม่มีวันหมดอายุ: จากนักวิจัยแมลง สู่ผู้ริเริ่มเมคเกอร์ สเปซ
จากเรื่องแมลง มาสนใจเรื่องการปั่นและปลุกปั้นธุรกิจ แปลน สังเกตความสนใจของตัวเองแล้วพบว่า เขาชื่นชอบการคิดค้นและการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งชอบงานศิลปะด้วย จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในชุมชนที่มีความสนใจเหมือนกัน ชื่อกลุ่ม ยัง เมคเกอร์ (Young Maker) คนรุ่นใหม่บ้านป่าแดด ที่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จาก ‘การเล่น’ และ ‘การทำของเล่น’ ร่วมกับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ และโรงเล่น/พิพิธภัณฑ์เล่นได้มาก่อน แล้วสร้างพื้นที่ใหม่ในโรงเล่น เรียกว่า เมคเกอร์ สเปซ (Maker Space) เป็นพื้นที่ทำงานของกลุ่ม
“ตั้งแต่จำความได้ ผมเจออะไรรอบตัวก็ชอบหยิบมาประดิษฐ์โน่นนี่ ตัวพื้นที่ ครอบครัวหรือชุมชนมีส่วนกระตุ้นการเรียนรู้ แต่ไม่เท่ากับความสนใจของตัวเอง ตอนเด็กๆ ผมไม่ได้มีเครื่องมือในการประดิษฐ์อะไรเยอะแยะเท่าที่เห็นตอนนี้ ผมเริ่มจากสิ่งที่สนใจ ทำจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ ยังนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าหากวันนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมไม่สนใจเรื่องพวกนี้ ตอนนี้ผมจะทำอะไรอยู่
แปลนเล่าว่า เมคเคอร์ สเปซ ถูกประดิษฐ์ เสริม เติมแต่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นช่วงต้นปี 2561 ห้องทดลองนี้เต็มไปด้วยอุปกรณ์งานช่างให้สมาชิกในกลุ่มเข้ามาใช้สอยได้เต็มที่ ที่นี่จึงเป็นเหมือนพื้นที่ให้ได้ออกแรงทางความคิด และทดลองทำ
ของเล่น งานไม้ หรืออะไรก็ตามที่เห็นมาตั้งแต่จำความได้ เด็กๆ บอกว่า พวกเขาอยู่กับของเล่นทุกวันจน ‘เบื่อ’ จึงนำความรู้ด้านการประดิษฐ์และงานกลไกที่ตนเองสนใจ มาพัฒนาต่อยอด ชุบชีวิตของเล่นให้มีชีวิตชีวา และตื่นตาตื่นใจมากขึ้น
ทำยังไงให้คนเคยมาโรงเล่นแล้วกลับมาอีก เพราะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้ของเล่นอยู่ได้ยั่งยืน ไม่สูญหายไปพร้อมคนเฒ่าคนแก่?
นี่คือโจทย์ที่เป็นจุดมุ่งหมายของปูนแปลนและกลุ่มยัง เมคเกอร์ ซึ่งมีแกนนำหลัก 3-4 คนในตอนนี้ พวกเขารวมตัวกันสร้างสรรค์ของเล่นใหม่ๆ นำวัสดุท้องถิ่น อุปกรณ์และองค์ความรู้เดิมที่มี บวกเข้ากับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของคนทำที่เพิ่มลูกเล่นเข้าไป ‘ของเล่นพื้นบ้าน’ จึงไม่ใช่แค่ของเล่นดั้งเดิม ไม่ใช่ของเก่าที่สื่อสารแค่ความโบราณน่าอนุรักษ์ แต่เป็นของเล่นที่ดึงดูดความสนใจและน่าสนุกมากขึ้น
แปลนปูนบอกว่า ของเล่นพื้นบ้าน ไม่จำเป็นต้องโบราณเสมอไป
จากของเล่นพื้นบ้านทั่วไปที่มีกลไกเป็นจุดหมุนธรรมดา แปลนเสริมเฟือง ลูกเบี้ยวเพิ่มความซับซ้อนให้ของเล่นเครื่องไหวได้ด้วยตัวเอง หรือในเชิงเทคนิคเรียกว่า ออโตมาตา (Automata เครื่องกลซึ่งเคลื่อนที่หรือทำงานเองได้)
“หลายคนได้ยินคำว่าของเล่นพื้นบ้านก็คิดไปแล้วว่า ‘เชย’ เราอยากทำให้คนลองหยิบอะไรก็ตามที่เป็นพื้นบ้านขึ้นมาแล้วเป็นของเล่นที่สนุกได้ สามารถเรียนรู้กับมันได้”
นอกจากนี้ แปลนยังหยิบจับความรู้ทางเทคโนโลยีที่ตัวเองสนใจมาประกอบร่าง ‘โฮโลแกรม’ สื่อ 3 มิติแบบแฮนด์เมดในรูปแบบต่างๆ ทำให้การเล่นกับการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น
- โฮโลแกรมเกี่ยวกับฝิ่นและประวัติความเป็นมา จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
- โฮโลแกรมส่งเสริมการอ่าน ไว้ใช้งานที่ห้องสมุด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งพัฒนาต่อจากโมเดลบ้านฝิ่นให้มีเสียงประกอบการฉายเพิ่มเข้ามาด้วย
- โฮโลแกรมฉายภาพพระทองคำเชียงแสน ที่มีมูลค่าเกินกว่าจะนำของจริงมาจัดแสดงได้ และโฮโลแกรมฉายภาพของเล่นพื้นบ้านโบราณ ที่แสดงให้เห็นทั้งรูปแบบและวิธีการทำของเล่นแต่ละขั้นตอน
โฮโลแกรมแต่ละรุ่น ได้ผ่านการคิดค้น ทดลองทำ แก้ไข และปรับปรุงให้ใช้งานได้สะดวก มีดีไซน์สอดคล้องและเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละสถานที่ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ผลิตซ้ำความรู้เดิม แต่มีความยืดหยุ่น แล้วพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นชุดความรู้ใหม่
เมื่อชัดเจนในความสนใจ และรู้ความถนัดของตัวเอง ตอนนี้แปลนอยากเปิดช่องยูทูบสำหรับเผยแพร่วิธีการประดิษฐ์ของเล่น หรือนวัตกรรมที่ได้ลองผิดลองถูก แล้วทำขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่างเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะตัวเขาเองก็ต้องอาศัยช่องทางเหล่านี้ ศึกษาหาความรู้จากผู้รู้ที่นำมาถ่ายทอดอยู่เสมอ
“ผมอยากจุดประกายให้คนอื่นด้วยว่า ของเล่นไม่จำเป็นต้องซื้ออย่างเดียว เราสามารถทำเองได้ แล้วระหว่างที่ได้ลองทำ จะมีอะไรให้ได้เรียนรู้อีกมาก”
“ตอนนี้ ถึงแม้ยังไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร หรืออยากทำอะไร แต่ผมเชื่อว่าสามารถนำประสบการณ์ที่ผ่านมาไปปรับใช้ได้ในอนาคต ถึงจะมีเรื่องอีกมากมายที่ยังไม่รู้ แต่เรารู้ว่าจะหาวิธีเข้าถึงความรู้นั้นได้อย่างไร เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตครับ”
แปลนยังคงไม่มีคำตอบให้กับคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” เพราะสิ่งที่อยากเป็นหรืออยากทำเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่แล้วในตอนนี้
“ผมคิดว่าไม่ว่าอายุเท่าไรผมก็ยังสนุกไปกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผมชอบและรักการเรียนรู้แบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนจะเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะเรียนแบบไหนก็ตาม ถ้าการเรียนรู้นั้นเหมาะกับเรา วิธีการนั้นจะกลายเป็นวิธีการที่ดีที่สุดได้”
ถามว่า สิ่งที่เหมาะกับตัวเองเป็นแบบไหน?
“สิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรา คือ เราต้องชอบและทำแล้วสนุก” นี่คือคำตอบของแปลน
“วันนี้อารมณ์ไม่ค่อยดีกันครับ เพิ่งทะเลาะกันมา” แปลน เอ่ยบอกขึ้นตั้งแต่แรกเมื่อเจอกันช่วงเช้า
จากสถานการณ์คุกรุ่นในตอนเช้า บวกกับอากาศที่ร้อนเสียจนแทบเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี แต่แปลนกับปูนก็สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองแล้วกลับมาเป็นทีมเวิร์คกันได้ในที่สุด
พระอาทิตย์ตกดินไปพร้อมๆ กับเกมการแข่งขันเปตองที่ถึงแม้แปลนปูนจะได้คะแนนรวมน้อยกว่าทีมผู้ใหญ่ แต่ความสามัคคีและความร่วมมือของพวกเขาในเกม แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะ ความฉลาดทางอารมณ์ และการไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในวันที่อารมณ์ไม่ปกติ
ตามกติกาฝ่ายที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า ต้องเดินทำท่าเป็ดไปรอบๆ แปลงที่ดิน พวกเขาเดินไปหัวเราะไป ขันๆ เขินๆ แต่ก็ยอมรับผลการแข่งขัน ‘รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย’ อีกบทเรียนหนึ่งแห่งการเรียนรู้ชีวิตในวันนี้