- โรงเรือนเล็กๆ ในโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก จุดเริ่มต้น “โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี” ที่เกิดจากความสงสัยของเด็กๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แล้วช่วยกันค้นคว้าหาความรู้ ลองผิดลองถูก ช่วยกันฟูมฟักจนได้ผลผลิตเป็นไข่ไก่ปลอดภัย
- โจทย์ตั้งต้นของโครงการไก่ไข่อารมณ์ดี คือ ปัญหา “ไข่ไก่” ที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งเป็นข้อคำนึงของนักเรียนผู้ชาย 8 คนที่ยกมือตอบรับทำโครงการนี้
- หลังจากได้เรียนรู้ลงมือทำโรงเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง ครูมร – อมร หมัดเลียด ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการเห็นพัฒนาการในตัวเด็กๆ อย่างน้อยสามด้าน คือ หนึ่ง ความรับผิดชอบในการทำงาน, สอง มีสมาธิดีขึ้นในการเรียนและการทำโครงการ จากแต่ก่อนเวลาอยู่ในห้องเรียนมักหลับหรือไม่ก็ชวนกันเล่น และสาม ทั้ง 8 คน มีความเสียสละ รู้จักการแบ่งหน้าที่ และมีสำนึกพลเมือง
จากความสงสัยของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ว่า ‘ไข่ไก่’ ที่พวกเขาชอบรับประทานกันนั้นปลอดภัยหรือไม่ นำไปสู่ความคิดที่ว่า ถ้าพวกเขาเลี้ยงไก่ไข่ด้วยตัวเองจะทำให้ได้ไข่ไก่คุณภาพดีได้อย่างไร ก่อนจะพัฒนามาเป็น “โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี” ที่เด็กๆ ช่วยกันค้นคว้าหาความรู้ ลองผิดลองถูก ช่วยกันฟูมฟักจนได้ผลผลิตเป็นไข่ปลอดภัย
ซึ่งภายใต้โรงเรือนเล็กๆ ในโรงเรียน นอกจากจะกระตุ้นให้เด็กๆ ได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ยังเพิ่มทักษะชีวิตทั้งในเรื่องการทำงานเป็นทีมและความรับผิดชอบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารกลางวันในโรงเรียนและเพิ่มรายได้ให้อีกด้วย
ที่สำคัญ ความก้าวหน้าของโครงการช่วยสร้างการยอมรับนับถือในตัวเองให้กับเด็กที่เคยถูกมองว่าเกเร ทำให้พวกเขาเริ่มค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยมีคุณครูเป็นผู้สนับสนุนด้วยความเข้าใจ
‘ไข่ปลอดภัย’ โจทย์ตั้งต้นของเด็ก
ครูมร – อมร หมัดเลียด อายุ 34 ปี เป็นผู้ช่วยครูพละ สอนวิชาพลศึกษา-สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และเป็นพี่เลี้ยง “โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี” ที่ทำให้เมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนกลายเป็นเมนูอาหารปลอดภัย และช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารกลางวันลงไปได้ด้วย เพียงแค่เปิดพื้นที่ (ในโรงเรียน) และเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือทำโครงการที่ตนเองอยากทำ
“การรวมตัวของนักเรียนเริ่มจากครูให้เด็กชั้น ม.1 – ม.3 มารวมตัวกัน ให้โจทย์พวกเขาคิดโครงการ ใครอยากทำโครงการอะไรออกมาเขียนลงบนบอร์ด เช่น โครงการไก่ไข่ โครงการผ้ามัดย้อม โครงการทำเฟอร์นิเจอร์ มีประมาณ 10 โครงการ หลังจากได้ชื่อโครงการต่างๆ มาแล้ว ครูให้เด็กนั่งปิดตา และยกมือเลือกโครงการที่ตัวเองสนใจเพียง 1 โครงการ โดยครูอ่านชื่อโครงการไปทีละโครงการ เด็กๆ จะมองไม่เห็นว่าเพื่อนเลือกโครงการอะไร เราให้เขาเลือกด้วยความสนใจที่แท้จริงและความสมัครใจของเขา”
โจทย์ตั้งต้นของโครงการไก่ไข่อารมณ์ดี คือ ปัญหา “ไข่ไก่” ที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งเป็นข้อคำนึงของนักเรียนผู้ชาย 8 คนที่ยกมือตอบรับทำโครงการนี้
“จุดเริ่มต้นคือเด็กมองเห็นปัญหาการซื้อไข่ไก่จากตลาด จากการสังเกตของเด็กๆ พวกเขาสงสัยว่าไข่ไก่ที่คนในชุมชนและโรงเรียนซื้อมาทำอาหารมื้อกลางวันให้กับนักเรียน มาจากฟาร์มที่ปลอดภัยหรือไม่ ใช้สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่และสารเร่งการออกไข่ไหม เด็กๆ กลัวว่าไข่ไก่ที่ตัวเองกินเข้าไปอาจทำให้ได้รับสารพิษจากฟาร์มไก่”
“ก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ของพวกเขาทำโครงการศึกษาไก่ไข่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ รุ่นพี่เลี้ยงไก่ไข่ไว้ 10 ตัว แต่ไก่ตายหมด พวกเขาเลยสานต่อโครงการจากรุ่นพี่ จนมาเป็นโครงการนี้”
เรียนรู้จากโรงเรือน
กลุ่มเยาวชนตัดสินใจเลี้ยงไก่ไข่ด้วยตัวเอง ที่สำคัญโครงการของนักเรียนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารโรงเรียน โดยเฉพาะการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างเป็นสัดส่วน
“เริ่มต้นจากการหาพื้นที่ทำโรงเลี้ยงไก่ไข่ ผมเป็นหัวหน้าทีม ผมไม่บอกเด็กๆ ว่าใช้พื้นที่ตรงไหนได้ ให้เขาไปค้นหาเอง ทั้ง 8 คน สังเกตมองหาพื้นที่ ใครอยากทำบริเวณไหนให้มาบอกผม” ครูมร เล่า
ไก่ไข่ต้องการอาหารที่ดีจึงจะเติบโตได้อย่างแข็งแรง กลุ่มเยาวชนได้ค้นคว้าหาข้อมูลผลิตอาหารสูตรธรรมชาติไว้ใช้สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ และหากไก่มีอาการป่วยไม่สบาย พวกเขาใช้พืชสมุนไพรเข้ามาช่วยรักษาอาการป่วยแทนการฉีดยาปฏิชีวนะแบบที่ฟาร์มไก่ทั่วไปใช้กัน
“ข้อมูลเหล่านี้เกิดจากเด็กไปสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาคุยกันว่าต้องทำอย่างไร ครั้งแรกใช้เวลา 1 เดือน ลองผิดลองถูก สุดท้ายไก่ไม่ออกไข่เพราะอาหารที่ให้มีแค่หยวก รำ และเปลือกไข่ ไก่ได้รับโปรตีนในปริมาณที่น้อยเกินไปจึงไม่ออกไข่ หลังจากนั้นต้องใช้อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากโรงงานเพื่อปรับความสมดุล ไปสอบถามปราชญ์ชาวบ้านที่เคยเลี้ยงไก่ไข่ คิดวิธีผลิตอาหารสูตรธรรมชาติที่ถูกสัดส่วนให้กับไก่”
เมื่อโปรตีนเป็นส่วนที่ขาด ครูจึงให้โจทย์ใหม่ท้าทายการทำโครงการ ด้วยการให้นักเรียนช่วยกันหาโปรตีนมาเสริมในอาหารของไก่ไข่
“เด็กได้กากถั่วเหลือง ปลาและหัวกุ้งป่น ปลายข้าว ใบมัน ใบกระถิน (ใบสะตอเบา) จากการทดลองเราเห็นความแตกต่างของไข่ไก่หลังได้อาหารสูตรนี้ สังเกตได้จากไข่ไก่ที่ได้จากฟาร์มมีไข่ขาวเหลวกว่าไข่ไก่ที่กลุ่มเยาวชนเลี้ยงเอง แสดงให้เห็นว่าไก่ได้รับโปรตีนมากขึ้น”
ผลิตผลไข่ไก่ของกลุ่มเยาวชน มีลักษณะโดดเด่น ไข่ขาวเป็นวุ้น ไข่แดงมีสีเหลืองนวลอยู่ตรงกลาง และมีขนาดใหญ่ประมาณเบอร์ 0 และเบอร์ 1 ทั้งนี้ นักเรียนกำลังพิสูจน์เรื่องสีของไข่ไก่ต่อไปว่าไข่ไก่ที่เลี้ยงเองมีไข่แดงสีเข้มขึ้นจากอะไร สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นสารอาหารที่ได้จากหัวกุ้ง
“ตอนนี้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้แล้ว เวลาไก่เป็นหวัดเราไม่ใช้ยาฉีดแต่ใช้สมุนไพรรักษาซึ่งเป็นคำแนะนำของผู้รู้ในชุมชน เราใช้ฟ้าทะลายโจรกับบอระเพ็ดเป็นตัวช่วย รวมทั้งหญ้าเบญจรงค์ห้าสี นอกจากนี้เรายังทำงานปรึกษากับทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ศึกษาเรื่องสมุนไพรเหมือนกัน คณะผู้บริหารของเทศบาลตำบลปริกก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ เมื่อเราขาดอะไรสามารถยื่นเรื่องแจ้งได้ทันที และมีทีมสงขลาฟอรั่มคอยให้คำปรึกษาด้วย”
ไก่ไข่เปลี่ยนนิสัย
ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการ ครูมรเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นผู้ชายทั้งหมด 8 คน หากมองให้แง่วิชาการจัดว่าเป็นเด็กค่อนข้างเกเรไม่ค่อยเรียนหนังสือ ในทางกลับกันหากปล่อยให้ลงมือทำหรือปฏิบัติ ที่ไม่ใช่รูปแบบการเรียนในห้องเรียน เด็กๆ กลุ่มนี้มีความรับผิดชอบสูงมาก เห็นได้จากพวกเขาแบ่งเวรเข้ามาดูแลไก่และเก็บไข่ไก่ได้อย่างต่อเนื่องไม่มีบ่น แม้บางวันจะเหลือกันอยู่แค่ 2 คน แต่พวกเขาก็ช่วยให้อาหารไก่ทั้งที่ไม่ใช่เวรของตัวเอง
“พอพวกเขาได้ทดลองเลี้ยงไก่ไข่จนมีผลผลิตออกมา เด็กก็รู้สึกสนุกกับการเลี้ยงและการเก็บผลผลิต บางครั้งเราไม่ต้องบอกอะไรเขา เขารู้หน้าที่ พอมาถึงโรงเรียนเขาเข้าไปดูผลผลิต ให้อาหารและน้ำกับไก่ไข่ ผู้ปกครองบอกว่า เด็กๆ ตื่นเช้าขึ้นจากเมื่อก่อนนอนตื่นสาย พวกเขาตื่นเช้าเพื่อมารวมตัวกันดูแลและให้อาหารไก่ กิจกรรมนี้ช่วยดึงลูกของเขาออกจากกลุ่มเสี่ยงในชุมชน”
“ยกตัวอย่างเด็กชายธานี ทุกส่วนของโรงเลี้ยงไก่เขาเป็นคนคิดวิธีการและทำการก่อสร้างทั้งหมด เด็กคนนี้มีไอเดียอยู่ในหัว การเรียนของเขาอยู่ในระดับไม่ได้ดีมาก แต่เรื่องการปฏิบัติ การซ่อม การสร้าง ผมยกให้เขาเลย เขาเป็นผู้นำของเพื่อนทั้งหมด จากคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ตอนนี้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น บางครั้งถ้าผมไม่ว่าง ผมโทรหาธานีเป็นคนแรก เพื่อให้เขาดูแลความเรียบร้อยของโรงเลี้ยงไก่ ทั้งเรื่องให้อาหารไก่ เก็บไข่ นำไข่ไก่ที่ได้ไปวางไว้ที่ห้องผู้อำนวยการโรงเรียน”
ครูมร กล่าวว่า ความสัมพันธ์แบบ “ใจถึงใจ” ระหว่างครูในฐานะพี่เลี้ยงโครงการกับนักเรียนผู้ริเริ่มโครงการ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงขึ้นมาได้
“มันเป็นเรื่องใจแลกใจ เวลาทำโรงเลี้ยงไก่ เด็กเหนื่อย เด็กหิว เขาขอดื่มน้ำแดง ผมให้เงินไปซื้อน้ำมาดื่ม ถ้าหิวข้าวให้เขาไปซื้อข้าวมา 4 ห่อ แบ่งกันกิน 8 คน การที่เราดูแลเขา ทำให้เขามีใจอยากทำงาน ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมให้โจทย์เขาไปคิดค้นสูตรอาหาร วันรุ่งขึ้นเขาเอาสูตรที่หาได้มาให้ผมดู แบบนี้ผมเรียกว่าใจแลกใจ”
“ส่วนปัจจัยภายนอก ผมคิดว่าการที่ผู้บริหารให้ความใส่ใจ ชื่นชมและพร้อมให้ความช่วยเหลือ สนใจลงมาดูสิ่งที่เด็กๆ ทำ แสดงความเป็นห่วง หาขนม หาน้ำมาให้เด็กๆ ได้ทานก็เป็นเรื่องที่ทำให้ได้ใจพวกเขา”
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนหัวโจกทั้ง 8 คน หลังได้เรียนรู้ลงมือทำโรงเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง ครูมร เห็นพัฒนาการในตัวเด็กๆ อย่างน้อยสามด้าน
หนึ่ง พวกเขามีความรับผิดชอบในการทำงาน
สอง พวกเขามีสมาธิดีขึ้นในการเรียนและการทำโครงการ จากแต่ก่อนเวลาอยู่ในห้องเรียนมักหลับหรือไม่ก็ชวนกันเล่น
และ สาม ทั้ง 8 คน มีความเสียสละ รู้จักการแบ่งหน้าที่ และมีสำนึกพลเมือง
“อนาคตของเด็ก 8 คน ถามว่าไปเรียนด้านวิชาการต่อได้ไหม พวกเขาอาจไปไม่รอด แต่ถ้าไปเรียนสายวิชาชีพ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟ ผมคิดว่าพวกเขามีความสามารถทำได้ เด็กพวกนี้ที่ผมสอนอยู่ เรื่องวิชาการเขาอาจไม่ถนัด แต่เขาเก่งเรื่องของการปฏิบัติ เก่งด้านกีฬา ในอนาคตถ้าเขาไม่ไปกับเพื่อนกลุ่มเสี่ยงหรือว่าพ่อแม่หย่าร้าง เขาน่าจะไปได้ไกล ตอนนี้พวกเขาอยู่ภายในโรงเรียนเขาไม่เป็นไร แต่ข้างนอกมีกลุ่มเสี่ยงค่อนข้างมาก”
โรงอาหารในฝัน
ไก่ไข่ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารจากธรรมชาติและดูแลอย่างใส่ใจทุกขั้นตอน ทำให้กลุ่มเยาวชนมีไข่ไก่กลับไปรับประทานที่บ้าน และช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารกลางวันสำหรับใช้ซื้อไข่ของโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกลงไปได้
“อย่างที่บอก ผมอยู่กับเด็กแบบใจแลกใจ ถ้าเรามีเราให้ เขามีเขาให้ เช่น วันนี้เราเก็บไข่ได้ 65 ฟอง เด็กมา 4 คน ครูแบ่งให้เขาคนละ 5 ฟอง พวกเขาทำหน้าที่สละเวลาของเขามาดูแลไก่ เราต้องแบ่งปันคืนให้เขาบ้าง เมื่อเราเก็บไข่ไก่ได้จำนวน 2 แผง จะส่งไปที่โรงอาหาร ลดจำนวนการสั่งไข่ไก่จากภายนอก โดยปกติโรงอาหารสั่งไข่ไก่ต่อครั้งจำนวน 8 แผง พอเราเก็บไข่ได้ 2 แผง ตรงนี้ช่วยลดรายจ่ายของโรงเรียน ถ้ามีไข่เหลือมากพอบางครั้งเราขายให้กับครูในโรงเรียน”
นอกจากนี้ โครงการของกลุ่มเยาวชนยังได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในชุมชน ทำให้การเลี้ยงไก่ไข่กลายเป็นเรื่องที่คนในชุมชนสนใจเข้ามาสอบถามข้อมูล
“มีชาวบ้านหลายคนอยากเลี้ยงไก่ไข่ เข้ามาถามความรู้จากโรงเรียน เขาอยากลองเลี้ยงบ้าง แต่เขาไม่รู้วิธีเลี้ยงไก่ไข่ ผมแนะนำว่ามีเด็กหนึ่งกลุ่มที่ทดลองเลี้ยง เข้าไปสอบถามข้อมูลที่บ้านของเด็กๆ ได้ ถ้าไม่เจอตัวเด็กให้มาถามข้อมูลกับผมหรือให้มาสอบถามข้อมูลการเลี้ยงไก่ไข่ได้ที่โรงเรียน”
“ชุมชนนอกโรงเรียนรับรู้ จากการประกาศของโรงเรียนในวันประชุมผู้ปกครอง เขารู้ว่าที่โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่ มีไข่ไก่และผักปลอดสารพิษขาย ผู้ปกครองทุกระดับชั้นรับรู้ในวันนั้น ผู้ปกครองบางคนโทรมาสั่งซื้อไข่ไก่โดยตรง หลังจากที่เขาซื้อไปเขาพูดปากต่อปากว่าไข่ที่โรงเรียนไม่เหมือนที่อื่น ที่โรงเรียนมีบอร์ดแจ้งข่าวสารกิจกรรมในโรงเรียนให้เข้ามาดูได้ เรามีป้ายกิจกรรมโครงการไปแขวนไว้ เพื่อสร้างการรับรู้ว่าโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกมีโครงการแบบนี้อยู่”
ครูมร กล่าวว่า นอกจากโครงการไก่ไข่อารมณ์ดีแล้ว ทางโรงเรียนยังสนับสนุนโครงการเกษตรปลอดสารพิษที่ผลิตผักให้โรงอาหารของโรงเรียน โครงการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์นำไม้ที่ไม่ได้ใช้งานมาแปรรูปใหม่ โครงการผ้ามัดย้อมและมีแนวโน้มที่จะทำโครงการขนมไทยพื้นบ้านในอนาคต
“ผู้บริหารบอกว่า ถ้ามีงบประมาณหรือมีสถานที่เลี้ยงดีๆ ยิ่งส่งผลดีกับโรงเรียน อย่างน้อยเราไม่ต้องไปสั่งไข่จากตลาด เราได้ผลผลิตจากการเลี้ยงไก่ไข่เอง ได้ผักที่ปลอดสารพิษ ผู้บริหารรู้สึกปลื้มใจและชอบโครงการที่เด็กๆ ทำ เรามีรายได้หมุนเวียนจากการขายไข่ไก่บ้าง คนในพื้นที่เทศบาลได้กินไข่ไก่ที่ปลอดสารพิษ เราให้เขาเข้าคิวจองไข่ไก่ไว้ ถ้าเหลือจากการส่งให้โรงอาหาร เราจะนำมาขายเพื่อเป็นค่าอาหารไก่ต่อไป”
“ผมคิดว่าควรมีโครงการนี้ต่อไปในโรงเรียน ผมอยากพัฒนาสูตรอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ผลิตเป็นอาหารเม็ด เราอยากเพาะพันธุ์ไก่ไข่เอง จะได้ไม่ต้องซื้อไก่ไข่ใหม่ เมื่อเพาะพันธุ์ไก่ได้ เราจะขายลูกเจี๊ยบส่งให้กับชุมชน อยากทำให้ครบวงจร” ครูมร กล่าวอย่างมุ่งมั่น
ขนาด ‘ไข่’ เรื่องไม่เล็ก ไข่เป็นวัตถุดิบคู่จานอาหารของคนไทย เป็นแหล่งโปรตีนที่หาได้ง่าย ใกล้ตัว และยังอุดมด้วยไปคุณค่าทางอาหาร เพราะนอกจากโปรตีนสูงแล้ว ยังมีสารอาหารจำพวกเลซิทิน โคลีน วิตามินบี 12 และโอเมก้า 3 อยู่ด้วย สำหรับไข่ที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาดวัดราคาขายกันตามขนาด ไล่จากไข่ใหญ่ไปไข่เล็ก มีตั้งแต่เบอร์ 0-5 ไข่เบอร์ 0 คือไข่จัมโบ้มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 70 กรัมขึ้นไป ไข่เบอร์ 1 คือไข่ใหญ่พิเศษที่มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 65-69 กรัม ไข่เบอร์ 2 คือไข่ใหญ่ที่มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 60-64 กรัม ไข่เบอร์ 3 คือไข่กลางที่มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 55-59 กรัม ไข่เบอร์ 4 คือไข่เล็กที่มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 50-54 กรัม ไข่เบอร์ 5 คือไข่จิ๋วที่มีน้ำหนักขั้นต่ำต่อฟอง 45-49 กรัม |