- คุยกับ ‘ครูเล็ก’ ภัทราวดี มีชูธน ที่กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่นับไม่ถ้วน
- “เพื่อเข้าใจเด็ก” คือเหตุผลสำคัญที่ครูกลับไปเป็นนักเรียนในวัย 72 ปี
- ทุกคนจะรู้จักคำว่าเด็กพิเศษ แต่เด็กพิเศษของครูเล็กคือครูทุกคน รวมถึงตัวครูเองด้วย “เพราะความเป็นเด็กพิเศษมีอยู่ในตัวทุกคน”
ในวัยเลข 7 นำหน้า ‘ครูเล็ก’ ภัทราวดี มีชูธน กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่นับไม่ถ้วน เพราะครูกลับไปเรียนทั้งกีตาร์ เล่นสเก็ตบอร์ด art therapy ฝึก รด. ครูก็ยังเรียนมาแล้ว
“จะอายุเท่าไหร่ก็ช่างหัวมัน ดิฉันยังมีใจเป็นเด็กอยู่ ดิฉันจะสนุกอยู่ตลอดเวลา เด็กเล่นสเก็ตดิฉันจะไปเล่นด้วย บางทีก็ต้องปรามๆ ตัวเอง คอยเตือนตัวเองว่า เฮ้ อายุไม่ใช่ 8 ขวบนะ เจอเด็กๆ เจอครูอื่นๆ ก็ยังยกมือไหว้ก่อน อาจจะเป็นเพราะว่าสอนมาให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย ก็จะอายุ 16 เสมอต้นเสมอปลาย (ยิ้ม)”
ลิปสติกสีชอคกิ้งพิงค์ของครูสดใสไม่แพ้น้ำเสียงตื่นเต้นและแววตาที่วิบวับตลอดการสนทนา ครูเล่าเหตุผลที่ต้อง re-learn หลายเรื่องให้ฟังว่าเพราะช่วงหลังทำงานคลุกคลีกับเด็กหลายกลุ่ม ทั้งเด็กขาดโอกาส เด็กพิเศษ ที่เรียกร้องความเข้าใจสูง ครูจึงต้องกลับไปเป็นนักเรียนอีกรอบ
และครูชอบเป็นนักเรียนมากกว่า
“การเป็นนักเรียนมันดี ดีกว่าการที่เราเป็นครู เพราะถ้าเราไม่ได้กลับมาเป็นนักเรียนเลย เราจะไม่เข้าใจหัวใจเด็ก ว่าทำไมเด็กมันถึงชอบหลับตอนเรียน เราเรียนเองเรายังง่วงเลย”
ทราบว่าโรงเรียนภัทราวดี (หัวหิน) ของครูมีการเรียนการสอนที่ให้เด็กทั่วไปเรียนกับเด็กพิเศษ มีแนวคิดอย่างไรคะ
ต้องบอกว่าตอนที่เราเปิดโรงเรียนเราไม่รู้ว่าใครเป็นเด็กธรรมดา ใครเด็กพิเศษ เขาก็เรียนด้วยกัน และเราก็เริ่มมองเห็นปัญหาของเด็กพิเศษ เรามองเห็นและเราก็รู้ว่า ครูทั่วไปจะมองว่าเป็นเด็กแปลก เด็กเกเร เด็กพิเศษ แต่ว่าเด็กพวกนี้ ในบางวิชาก็เรียนได้ดี บางวิชาไม่เอาเลย บางวันก็น่ารักมาก นุ่มนวล บางวันมีปัญหาชกต่อย รุนแรง แต่เราก็ใช้เมตตาจิตสอนไปตามที่เรารู้ เพราะสมัยอยู่ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ จะมีคุณครูส่งเด็กมา เรียกเขาว่า ‘กลุ่มเด็กเปรต’ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเปรตยังไง เปรตตรงไหน เพราะเขาก็ตั้งอกตั้งใจและเขาก็เก่งมาก เด็กๆ เหล่านั้นบางคนก็ไปเป็นนางแบบโลก ไปเป็นเจ้าของธุรกิจกิจการ
เพราะฉะนั้นฉันก็ใช้วิชาเก่าๆ ที่ดีงามที่เคยเรียนรู้จากเด็กพวกนี้ ต้องนุ่มนวลกับเขาหน่อย เรียกว่าปากเปียกปากแฉะกับเขาเยอะหน่อย จนต้องไปเรียน art therapy ที่จุฬาฯ ไปฟังสัมมนาอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับเด็กมีปัญหา ก็เลยรู้ว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็กพิเศษ มีอะไรหลายๆ อย่างไม่เหมือนกันเลย มีความแปลกที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ที่มีเหมือนกันคืออารมณ์ขึ้นลงเร็วมาก คุมตัวเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนทราบ บางคนไม่ทราบ บางคนแพทย์ก็ให้ยามากิน บางคนกินแล้วก็ซึม สงบดีแต่ซึม ดิฉันก็เลยคิดว่า เอ๊ะ ลองฝึกให้เขาไม่กินยาได้ไหม จะกินยาทั้งชาติเลยหรือไง ถ้าไม่มียาทำยังไง
ที่เรามีเด็กทั่วไปกับเด็กพิเศษเรียนด้วยกันเนี่ย ทำให้เด็กทั่วไปจิตใจดีขึ้น มีเมตตา มีความอดทน เข้าใจมนุษย์อื่นๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งกลายเป็นว่ามันดีกับเด็กทั่วไป ส่วนเด็กพิเศษเขาก็มีพัฒนาการตัวเองที่ดีขึ้น มีเพื่อนๆ ช่วยกัน ครูบาอาจารย์ทุกคนก็เริ่มเข้าใจและช่วยกัน
เริ่มต้นต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาก่อน เข้าใจปลาต้องว่ายน้ำ นกต้องบิน และถ้าเขามีอารมณ์ขึ้นอารมณ์ลงนั่นถือเป็นปกติของเขา และเราต้องรู้ว่าจะอยู่กับเขาได้ยังไง ต้องไม่กลัว และดิฉันก็จะสอนวิธีหายใจเข้าหายใจออก หายใจลึกๆ เวลาโกรธเพื่อนหายใจเข้าลึกๆ 3 ที ถ้า 3 ทีไม่พอก็หายใจไปเรื่อยๆ เพื่อนฝูงก็ขัน ตัวเขาเองก็หายใจไปเรื่อยๆ ด้วยความตลก ก็เลยดูเป็นเรื่องสนุกสนานมากกว่าดูน่ากลัว
พอเราให้อภัยกันและกันมากขึ้นเด็กพิเศษเขาก็จะเริ่มมั่นใจมากขึ้น และเราก็จะส่งเสริมเขา อย่างแต่ก่อนเราต้องเรียนเลข เราก็จะบอกเขาว่าเอางี้ หนูไปเรียนเลขที่หนูเรียนได้ สมมุติว่าชั้นนี้เรียนเลข ม.4 หนูเรียนเลข ม.4 ไม่ได้ หนูไปเรียนเลข ม.1 ม.2 ไปเรียนประถมยังได้เลย วิชานี้หนูเรียนไม่ได้ อะคุณครูก็จะบอกว่าให้ไปเรียน ม.นู้น บางคนก็ไปประถมเลยก็มี ไม่ต้องมาฝืนใจเรียนในคลาสที่ไม่รู้เรื่อง อย่างบางคลาสเราเรียนร่วมกัน อย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ หนูก็ฟังเท่าที่หนูจะจำได้ หนูก็ปั้น หรือวาดอะไรไประหว่างที่ฟัง จะได้ไม่รบกวนเพื่อน
วิชาหนึ่งเราเรียนทั้งวัน ก็ให้เขาทำไปกับเพื่อน จบคลาสก็ให้เขาบอกว่าจำอะไรได้บ้าง ซึ่งบางทีเขาก็จำได้เยอะกว่าเด็กทั่วไปที่เรียนอีกนะ เราก็ทดลองวิธีต่างๆ ครูก็สบายใจ เด็กๆ ก็สบายใจ เพื่อนไม่มารบกวน เพราะเวลาเขานั่งนานๆ เขาจะหงุดหงิดและรบกวนเพื่อนๆ ก็หาอะไรใส่มือให้เขาทำ ซึ่งพวกนี้ก็เป็นการงานอาชีพ ขายได้ งานโรงเรียน ครูบาอาจารย์ก็ซื้อกันจนขายไม่ทัน
เพื่อเข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้น ครูเล็กศึกษาอะไรเพิ่มเติมบ้างคะ
เด็กๆ ก็สอนเราเยอะ เราก็คุยกับเด็กๆ คุยกับแพทย์ เวลามีสัมมนา คุณครูประถมมัธยมของโรงเรียนภัทราวดี (หัวหิน) ก็แห่กันไปฟัง คุณครูประถมหลายท่านก็ได้การฝึกโดยตรงจากหน่วยงาน หรือแพทย์ ด้านนี้ ซึ่งเราก็จะบอกผู้ปกครองตลอดเวลาว่า บอกเราเถอะว่าเป็นอะไร หรือถ้าไม่แน่ใจก็พากันไปเช็ค เพราะว่าถ้ามีใบรับรองแพทย์มา เราจะให้เขาอยู่ในโปรแกรมพิเศษ แล้วเด็กก็ไม่เครียด เขาก็ไม่ต้องสอบโอเน็ต เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดีกับเด็ก และถ้าเรายอมรับ มันจะทำให้ทุกคนก็จะยอมรับ การปิดบังเนี่ยเป็นบาปนะ ให้รู้ดีกว่าไม่รู้ ความไม่รู้คืออวิชชา มันทำให้เกิดโทษหลายอย่าง เพราะถ้ารู้แล้วแก้ปัญหากันดีกว่า
ครูเล็กไปเรียน Art Therapy ตอนไหนคะ เพราะอะไรถึงสนใจ
ปลายปีที่แล้ว เห็นโฆษณาจากจุฬาฯ พอดี ก็สมัครแบบไม่คิดเลย
การเรียน art therapy เนี่ย มันไม่ใช่เรื่องของการแก้ไข เพราะนั่นคือหน้าที่ของแพทย์ แต่มันคือเรื่องของการที่เราดูเด็กแล้วเราเข้าใจ จากศิลปศาสตร์ จากการพูด จากลักษณะใบหน้า จากการกระทำ ซึ่งเราจะเข้าใจเลยว่าเด็กมีปัญหาอะไร และพอเราเข้าใจเราก็จะคิดหาวิธีแก้ได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนนี้เราไม่เข้าใจ เราก็ไม่รู้จะค้นหาด้วยวิธีอะไร
ยกตัวอย่าง art therapy เนี่ย เราให้เขาวาดเราก็จะรู้เลยว่าปัญหาคืออะไร background ของเขาคืออะไร ความทุกข์ของเขาคืออะไร แล้วเราจะแก้ไขยังไง
ครูช่วยยกตัวอย่างได้ไหมคะ อะไรที่ทำให้ครูเห็นภูมิหลังของเขามากขึ้น
จริงๆ แล้ว ดิฉันดูในเด็กทุกคนแม้กระทั่งเด็กปกติ เด็กทุกคนจะมีภูมิหลัง คือไม่ใช่ว่าพ่อแม่เลี้ยงมาไม่ดีนะ พ่อแม่เลี้ยงมาดีทุกคน แต่จะมีบางอย่างที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ ซึ่งพ่อแม่ไม่ใช่จิตแพทย์ก็เลี้ยงกันไปตามนี้ บางทีรักมากไป บางทีรักน้อยไป บางทีตามใจมากไป แล้วถ้าลูกเป็นเด็กพิเศษ พ่อแม่ก็จะตามใจมาก ไม่ให้ทำอะไรเลย กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อมัดเล็กก็จะอ่อนแอมาก หยิบอะไรก็จะตกหกหมด แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็เกรงว่า เขาจะทำของตก ก็ไม่ให้หยิบอะไรเลย
เด็กจึงไม่เข้าใจเลยเพราะไม่ได้ถูกเลี้ยงมาให้ทำแบบนั้น บางคนย้ายมาเรียนที่นี่เพราะถูกเพื่อนโรงเรียนเก่าแกล้ง ดูถูก อันนี้เราดูออกจากภาพที่เขาวาด หรือบางทีผู้ปกครองก็ทำโทษหนัก ถ้าเราเข้าใจภูมิหลังเขา ครูจะรู้ว่าควรพูดกับเพื่อนๆ ยังไง เพื่อนที่โรงเรียนก็จะไม่มีใครแกล้ง เราสอนเด็กทั่วไปเรื่องเมตตาจิต เรื่องการไม่แกล้งเพื่อนที่อ่อนแอกว่า เรามีกล้องวงจรปิดเยอะ ช่วยควบคุมตรงนี้ได้เยอะมาก
เราเรียกครู เจ้าหน้าที่ คนงาน และเด็กๆ มาคุยเยอะ เรื่องการไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก อดทนนิดหนึ่ง ให้โอกาสคนอื่นบ้าง เวลาเขาพูดมากหรือเขาพูดไม่ค่อยชัดก็บอกให้เขาพูดชัดๆ หน่อย สอนเขาแทนครูหน่อย ช่วยเป็นครูกันหน่อย บอกว่าเด็กทุกคนมีปัญหา คนงาน ครู ก็มีปัญหา ก็ใช้วิชานี้ในการสอนครู หลายๆ คนที่เรียกว่าคนปกติเนี่ย จริงๆ แล้วไม่ได้ปกติสักเท่าไหร่หรอก ให้รู้ตัว แล้วก็ให้ปรับปรุง
เวลาครูกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง อายุเป็นอุปสรรคไหมคะ
จริงๆ แล้วไม่รู้สึกอะไร เพราะดิฉันจะอายุเท่าไหร่ก็ช่างหัวมัน ดิฉันยังมีใจเป็นเด็กอยู่ ดิฉันจะสนุกอยู่ตลอดเวลา ดิฉันจะสนุก เด็กเล่นสเก็ตดิฉันจะไปเล่นด้วย บางทีก็ต้องปรามๆ ตัวเอง คอยเตือนตัวเองว่า เฮ้ อายุไม่ใช่ 8 ขวบนะ ดิฉันก็ยังสนุกและแข็งแรงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอาวุโสเท่าไหร่ ก็ยังเป็นเพื่อน เจอเด็กๆ เจอครูอื่นๆ ก็ยังยกมือไหว้ก่อน อาจจะเป็นเพราะว่าถูกสอนมาให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย ก็จะอายุ 16 เสมอต้นเสมอปลาย (ยิ้ม)
เคยถามตัวเองไหมคะว่าอะไรที่ทำให้พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา
ดิฉันชอบเรื่องการเรียนรู้ ตอนเด็กๆ อยู่โรงเรียน ไม่ชอบเรียนหนังสือเลย เพราะไม่เข้าใจ แต่ชอบทำกิจกรรม พอไปอยู่เมืองนอกก็ประท้วงไม่เรียนหนังสือ พอกลับมาเมืองไทย อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ที่จุฬาฯ บอกว่า ให้ดูว่าหนูชอบแบบไหน ถ้าหนูชอบศิลปะการแสดงหนูไปเรียนศิลปะการแสดง พอไปเรียนแล้วดิฉันก็เรียนได้ดี แล้วดิฉันก็อยากรู้นั่นอยากรู้นี่
ดิฉันเลยคิดว่า ถ้าเราได้ทำอะไรที่เราชอบ เราจะมีความอยากรู้อยากพัฒนา มันคือความลับเดียว มันคือจุดเดียวเลย ที่มนุษย์จะเรียนรู้และพัฒนา เพราะชอบทำสิ่งที่ชอบ ชอบอะไรก็ไปตามนั้นอย่าบังคับกัน
ดิฉันก็เติบโตกับผู้ใหญ่ที่เป็นปราชญ์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นปราชญ์ ซึ่งดิฉันก็ชอบฟังท่าน ดิฉันก็เลยใช้สิ่งนี้เวลาอยู่กับเด็กๆ จะเล่า คุย อะไรให้เขาฟัง เล่าประสบการณ์ชีวิต นั่งรถไปไหนก็คุย เด็กๆ ก็จะซึมซับ ยกตัวอย่าง มีเด็กคนหนึ่งที่ไม่คุยเลย วันหนึ่งเขาก็คุยเยอะ เลยถามเขาเพราะอะไรทำไมเธอเพิ่งมาพูดเอาปีนี้ เขาตอบว่าตอนนี้มีข้อมูลเยอะเพราะว่าฟังครู เราก็เลย อ๋อ เพราะแค่นี้เองเหรอ
เด็กบางคนก็ชอบอ่าน บางคนก็ชอบฟัง บางทีฟังแล้วก็ไปอ่านต่อ เพราะบางทีมันยังไม่เต็มที่ ก็จะทำให้เด็กอยากอ่าน บางทีบอกให้เด็กอ่านหนังสือมันไม่อ่านหรอก แต่พอเด็กมาฟัง ฟังแล้วเอ๊ะ แล้วยังไง เขาก็จะไปหาอ่านต่อ อย่างในโรงเรียน เวลาเราคุยเราก็จะสอนคร่าวๆ เลย แค่ subject อยากรู้ต่อไหม อะ ไปเสิร์ช อันนี้คือสอนให้เด็กค้นหาเอง บางทีเด็กก็จะมาเล่าให้ฟังว่าไปเจอนั่นเจอนี่ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ แล้วก็มาแชร์ความรู้กัน ในยุคนี้ เด็กฉลาดและมีเครื่องมือสื่อสารเยอะ เพราะฉะนั้นการสอนมันก็คือการแชร์ความรู้ซะมากกว่าที่จะไปยืนสอนแล้วให้เด็กจด แล้วเรื่องใฝ่รู้มันก็ไม่ใช่แค่ไปเรียนนะคะ ใฝ่รู้กับเด็กบางทีมันก็ต้องถาม ทำไมเธอคิดอย่างนี้ เธอเอาตัวอะไรมา ซึ่งครูก็ไม่รู้จัก
เพราะฉะนั้นการใฝ่รู้ก็คือ conversation มันคือการสนทนาและมันคือการทำให้คนอื่นรู้สึกรีแล็กซ์ สบายใจที่จะคุยกับเรา ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการแบ่งครูนักเรียน ผู้ใหญ่เด็ก
ทราบมาว่าล่าสุดครูไปเรียนกีตาร์มาด้วย
เรียนหมดอะ สเก็ตบอร์ด กีตาร์ดิฉันก็เคยเล่นตอนเด็กๆ คุณฮาร์ท (สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล) ก็สอนต่อให้ ดิฉันก็เรียน ตอนเรียนก็ซื้อกีตาร์สวยงามแล้วทำท่าเท่ ดิฉันเรียนกีตาร์เพื่อให้เด็กบอกว่า เนี่ย หูย เก๋ เด็กๆ ก็เล่นตามกันเป็นแถว เดินไปที่ไหนเขาก็แซวกันว่าเป็นมือโปร แต่จริงๆ เล่นได้แค่ 4-5 คอร์ดเอง ดิฉันก็แค่จุดประกายให้เด็กอยากเล่น เหมือนสเก็ตบอร์ด ดิฉันก็ถือเดินไปเดินมาให้เด็กเห็น คิดว่าน่าจะเล่นง่าย ก็เล่นกันใหญ่
อยากให้เด็กทำอะไรเราต้องนำก่อน แต่พอเรานำ เราต้องดูสังขารตัวเองก่อนเพราะดิฉันไม่ใช่นักดนตรีด้วย ดิฉันต้องดีดกีตาร์สวยๆ และทำท่าเท่ ร้องเพลงอะไรไปเด็กก็มากัน แล้วเราก็ให้เขาต่อยอดกับครูที่เขาเก่งๆ พอเขาไปเราก็เสริมแล้วก็ชมเขานู่นนี่นั่น พอเขาไปกันต่อเราก็เหมือนเป็นทางผ่าน ก็แค่นั้นแหละ จุดประกาย
ดิฉันทำได้หมดแต่ไม่ได้เก่งอะไรสักอย่าง เก่งแต่การแสดง แต่ดิฉันใช้การแสดงเพื่อที่จะให้เด็กฝึกพูดให้ชัด มันคือการสื่อสารไง ผู้จัดการบริษัทหรือเป็นเสมียนเราก็ต้องเจรจา ขอตังค์แม่ก็ต้องเจรจาพูดให้เพราะ อันนี้มันคือศิลปะ รวมถึงระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ มันเป็นเรื่องของศิลปะการแสดง เราเล่นให้ดีเนี่ยไม่ใช่เพื่อเรานะ เพื่อช่วยเพื่อนให้เขาเล่นดีต่างหาก เพราะฉะนั้นเวลาเพื่อนเล่นได้ดีเราจะชมเพื่อนข้างๆ ด้วย เช่น เธอเก่งมากเลย เธอช่วยเพื่อนคนนี้ที่เขาเงอะๆ งะๆ ให้เป็นธรรมชาติ ให้เขาสบายใจ เพราะศิลปะของการแสดงละครมันคือการพึ่งพาอาศัยกัน พึ่งเพื่อนแล้วก็เป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านเขา
อันนี้คือ เมตตาจิตในพุทธศาสนา แต่แบบนี้ดูเข้าใจง่ายกว่า ถ้าไปสอนธรรมะเป๊ะๆ ใช้คำพระบาลีเด็กก็งง แต่นี่เราทำให้เด็กเข้าใจเอาไปปฏิบัติได้ แต่ไม่ใช่เรียนเพื่อไปสอบนะลูก เรื่องสอบครูไม่สนเลย เธอได้เกรดเท่าไหร่ฉันไม่สนเลย แต่ถ้าเธอปฏิบัติได้เนี่ยเธอจะสุดยอดมนุษย์
ถ้าวันนี้เราเล่นละครแล้วพรุ่งนี้สอบโอเน็ต ก็จะบอกว่าเธอไม่ต้องไปสนใจเรื่องสอบเพราะทุกอย่างมันต้องอยู่ในหัวแล้วถ้าเธอบอกว่าเธอไม่รู้เนี่ยมันสามารถเดาได้ เพราะเธอมี common sense เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่มากของชีวิต
หลังจากเราจบจากโรงเรียนแล้วการสอบมีทุกวัน ไปสมัครงานไปทำงานเจอคนนู้นคนนี้นี่ก็คือการสอบ มันไม่มีการท่องหนังสือมาก่อนมันต้องอยู่ในหัวและมี common sense มาก่อน
ตรงนี้จะแก้ปัญหายังไง หรืออยู่ในชุมชนนี้เธอควรจะปรับเนื้อปรับตัวยังไง วิธีเหล่านี้มันอยู่ในหัวหมดแล้ว เพราะฉะนั้นโอเน็ตมันก็ควรจะอยู่ในหัว แก้ไขปัญหาทันทีทันใดให้ไว คิดไว ตัดสินใจไว ตัดสินใจถูกต้อง อันนี้ฝึกปรือมาจากศิลปะการละคร
ที่โรงเรียนภัทราวดีมีวิธีการประเมินเด็กอย่างไรบ้าง
การประเมินจะอยู่ในคลาส ครูจะประเมินเด็กทุกครั้งที่สอน ครูใหญ่จะรวบรวมแล้วเราก็จะประชุมกันทุกครั้งเพื่อประเมินเด็กทุกสิ้นเทอม ถ่ายวิดีโอบ้างเก็บภาพบ้าง อะไรแบบนี้ ถ่ายวิดีโอเพื่อที่จะเก็บตัวอย่างการพูด ทุกคนจะมาประชุมแชร์กันว่าคนนี้มีพัฒนาการยังไง เพราะบางวิชาเราไม่ได้สอน เราก็จะไม่รู้ว่าคนนี้เก่งมากในวิชากีฬา คนนี้เก่งมากนะในเรื่องนู่นนี่ ครูก็จะเป็นคนมาเล่า แล้วเราจะเก็บประวัติของเด็กแต่ละคนเอาไว้
ตอนนี้เราก็เริ่มรู้วิธีการแล้วเพราะแต่ก่อนเราก็แค่คุยกันเล็กๆ น้อยๆ เราแชร์กันว่าวิธีนี้เวิร์ค-ไม่เวิร์ค ตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ครูทุกคนมาแล้วก็สอน เสร็จ-ปิดหนังสือ-กลับบ้าน ความสามัคคีไม่ค่อยมีในโรงเรียน แต่ครูในคณะละครจะมาพร้อมกันเลิกพร้อมกัน คุยกันกินข้าวกันบางทีก็นอนด้วยกัน ความสามัคคีมันมีในการละคร แล้วเราก็เลยคิดว่าการละครมันจะเหมาะมากในการศึกษา พอเราเริ่มทำตรงนี้เราก็เลยจะเอาครูทุกคนมาอยู่ในการซ้อมทุกครั้ง เริ่มพร้อมกันเลิกพร้อมกัน แล้วก็ประชุมอยู่ด้วยกัน ครูภาษาไทย ครูเย็บปักถักร้อยจะต้องมาอยู่ด้วยกันในการซ้อม เพราะว่าเขาจะได้เห็นเช่น เด็กคนนี้ไม่ค่อยแข็งแรงนะอาจจะเอาไปวิ่งไม่ได้ หรือคนนี้รอเรือตัวกล้ำไม่ได้นะครูอาจจะช่วยเช็คเขาหน่อย ครูกับเด็กก็จะใกล้ชิด ครูกับครูก็จะสนิทกัน
ละครเนี่ยคนจะบอกว่าเหลวไหล เต้นกินรำกิน เราก็จะบอกว่าโอ๊ยไม่ใช่ เพราะเด็กจะเป็นคนนำเสนอว่าคลาสหนูต้องการจะเล่นวิชาภาษาไทย หนูอยากทำมัทนะพาธา โอเคเธอไปเอาหนังสือมาอ่าน ใครจะเล่นเป็นพระเอกนางเอก ใครจะเล่นตัวอะไร ใครจะทำบท ใครจะเป็นหัวหน้าแก๊งใครจะทำดนตรีเอาไปคิดมาแล้วมานำเสนอ ทำบทมาก็เอาเท่าที่เขาทำได้ ทำอะไรแต่น้อยๆ แล้วครูก็ค่อยๆ ติวให้ เพราะฉะนั้นเด็กก็จะเริ่มเข้าใจภาษาไทย สนุกกับการอ่าน
แล้วเขาก็อยากจะทำเรื่องนู้นเรื่องนั้นอีก แก๊งนี้ชอบประวัติศาสตร์ เธอจะทำเรื่องอะไรล่ะ เรื่องอะไรที่จำยาก อาณาจักรกรีกค่ะ ครูก็บอกทำมาเถอะ หรือเด็กคนนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย โอเคงั้นเล่นภาษาอังกฤษ โอเคคนนี้พูดไม่ชัดงั้นเป็นพิธีกรทั้งภาษาไทยทั้งภาษาอังกฤษ เด็กที่มีปัญหาเราจะให้เล่นสิ่งที่เขามีปัญหา เพราะฉะนั้นมันจะเหมือนการละครที่เป็นการเรียนการสอน เพราะเราไม่สามารถติวเด็กครบทุกคนได้ เราก็ใช้วิธีนี้ในการติวเป็นพิเศษ แล้วเด็กพิเศษไม่เคยอยู่นิ่งเลย ก็โอเคเธอมาเล่นละครเธอมาเล่นเป็นต้นไม้ยืนอยู่นิ่งๆ เธอมาเป็นก้อนหินอย่าขยับนะ (หัวเราะ)
ถามถึง โครงการเสน่ห์รอยร้าว ที่ครูชวนเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษกหรือเด็กที่ขาดโอกาสต่างๆ มาทำละคร ทำไมถึงชวนเขามาและคิดว่าการแสดงละครจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง
ตอนเรียน art therapy จบมันจะมีให้ลงพื้นที่ ไปเจอเด็กที่พระประแดงก่อน เด็กพวกนี้ก็จะเป็นเด็กที่ติดยาเสพติด มาเจอเขาเล่นสเก็ต เราก็ถามติดยาแล้วมาเล่นสเก็ตได้ยังไง เด็กบอกผมไม่ได้เสพเยอะเหมือนแต่ก่อนเพราะผมเล่นสเก็ตบอร์ด
เราก็บอกเขาว่าจะทำอะไรมันต้องมีครูนะลูก เราชวนคนเก่งอย่าง เก่ง จักรินทร์ (นักสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทย) มาสอนให้ เขาก็มาสอนต่อเนื่อง เราก็เลยเห็นปัญหาว่าเออ นี่ไงเขาแค่มาเล่นกีฬาแล้วก็หยุดยาเสพติด
เขาฝึกทุกวันข้างถนนจนเขาโดนไล่ เด็กจนไม่มีโอกาส เล่นข้างถนนเขายังโดนไล่เลย เด็กพวกนี้ไม่มีการศึกษาเพราะโดนไล่ออกจากโรงเรียน ถ้าประตูโรงเรียนปิดประตูคุกจะเปิด เราก็เลยทำโรงเรียนให้แล้วก็เอาครูไปสอนวิธีก่อสร้าง อย่างน้อยเธอมีวิชาก่อสร้าง เธอก็ทำลานสเก็ตสวยงาม แล้วเขาก็มาเล่นกัน จนเดี๋ยวนี้เขาเก่งมากสามารถไปแข่งได้ เด็กในซอยก็มาเล่นกัน ตอนนี้ลานสเก็ตพ่อแม่ก็มาพบปะกินข้าวกินขนมกัน กลายเป็นสถานที่พบปะที่คลีน ไม่มีบุหรี่ ไม่มียาเสพติดนะ
เดี๋ยวนี้เราก็ส่งเสริมให้เด็กๆ ทำอาชีพก่อสร้าง ตอนนี้เด็กอีกหลายๆ คนก็ไปเรียน กศน. เพราะเขาบอกว่าเขาอยากเข้ามหา’ลัย เขาบอกเขาอยากเรียนวิชาชีพ ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำอะไรมากนะ แค่มีเมตตาจิต ไปคุยกับเขา เราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เวลาเขาทุกข์อะไรเขาจะมาคุยด้วย เด็กที่โรงเรียนจะชอบคุณครูแบบนี้นะ
เด็กที่เคยมีปัญหาบางคน กลับมาหาเราบอกว่าตอนนี้ผมมีครอบครัวแล้ว เขาบอกว่าแต่ก่อนเขาหนาวนะ แต่ตอนนี้เขาอบอุ่นแล้วก็เริ่มรักพ่อรักแม่เขามากขึ้น เพราะเราจะสอนวิธีให้เขาเข้าใจผู้ใหญ่ เช่น วาทศิลป์ พูดยังไงไม่ให้ท่านเสียใจไม่ให้ท่านเสียหน้า เอาโอกาสนี้ไปทำให้ผู้ใหญ่มีความสุข
พอเราเจอเด็กคณะนี้ (พระประแดง) แล้ว เราก็เอ๊ะ เด็กในคุกเป็นยังไงนะ เราเจอเด็กที่มาดูละครลิลิตพระลอของเราที่โรงละครแห่งชาติ เรารู้สึกว่าในลูกตาเขาเนี่ยแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ โดยสิ้นเชิง คือนัยน์ตาอ่อนโยนพอสมควรแต่ลักษณะภายนอกดูน่ากลัว ข้างนอกข้างในผิดกัน มันน่าสนใจสำหรับดิฉัน ก็เลยเข้าไปในคุกไปเจอป้ามล-ทิชา ณ นคร
ป้ามลเป็นครูอีกคนที่สอน art therapy ได้วิเศษมาก ท่านพูดเข้าใจง่าย แล้วพฤติกรรมที่ท่านสอนหรือตอนอยู่กับเด็ก เรารู้ได้เลยว่าตัวเองยังต้องเปลี่ยนแปลงความเป็นครูอีกเยอะมาก เราได้คุยกับป้ามลเยอะเรื่องการสอนเด็กๆ ในคุก จนวันหนึ่งเด็กก็เออ เก่งแล้วนะเราไปเปิดหมวกที่ลิโด้กันไหม ดิฉันก็ไม่เคยเปิดหมวกนะ ก็มือใหม่พอๆ กัน ทีแรกเด็กๆ ก็จะเขินๆ ดิฉันเล่นกีตาร์ได้ 4 คอร์ดก็ไปเล่นด้วย คนก็สนุกสนานกัน เด็กๆ พอเห็นครูเล่นกีตาร์ได้แค่นี้ยังเล่นได้ ผมก็เอาบ้าง คนก็บริจาคกันเยอะแยะ ครึ่งวันหลังเนี่ยเขาเป็นสตาร์เลยเขาหลุดออกมาจากการเป็นเด็กเก้อๆ เขินๆ
เราเห็นว่าพวกนี้มี potential เยอะมากในการเป็นมืออาชีพ เราอยากส่งเสริมให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เราก็เอ๊…แล้วเราจะทำอะไรล่ะ เราก็จะรวมกลุ่มเขากับเด็กพิเศษ กลุ่มเด็กสเก็ตบอร์ดจากพระประแดง แล้วก็ทำเป็นการแสดง เอาวิชาที่ได้จากป้ามล จาก art therapy มารวมกัน เพื่อที่จะเผยแพร่ไปพร้อมกัน ให้ประชาชน พ่อแม่ ครู คนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ไปกับเรา
บ้านเราพัฒนาแต่เรื่องการศึกษาด้านวิชาการอย่างเดียว ไม่เข้าใจเรื่องจิตใจ ไม่เข้าใจเรื่องสติสมาธิ ไม่เข้าใจเรื่องการนำศิลปะเบลนด์กับการศึกษา จริงๆ แล้วสองอย่างนี้มันคือเรื่องเดียวกัน มันต้องไปด้วยกัน ที่เขาไม่ค่อยเข้าใจเพราะไม่ค่อยมีครูประเภทนี้สักเท่าไหร่ในประเทศเรา
เมื่อกี๊ครูบอกว่าตั้งแต่ครูเจอป้ามลความเป็นครูของครูก็เปลี่ยนไป?
ใช่ โดยสิ้นเชิง
ก่อนหน้านี้ครูเป็นครูแบบไหน แล้วตอนนี้ครูเป็นครูอย่างไรคะ
ช่วงที่เด็กทำผิดเยอะๆ เด็กเกเรชกต่อย ทำของแตกหัก มีอาวุธหรือบางคนก็เสพยา เราก็ให้ออก แต่เจอป้ามล ป้ามลก็บอกว่าประตูโรงเรียนปิดประตูคุกเปิด มันใจหายแว้บเลยอะ แล้วเด็กที่เราให้ออกไป ก็ติดตามนะเขาก็ไม่ได้ติดตะรางอะไร แต่ถ้าเราเข้าใจเร็วกว่านั้น เขาก็จะมีที่เรียน
เราก็เริ่มมองดูว่าไม่ได้ละ และประตูโรงเรียนจะปิดไม่ได้ เด็กมีปัญหาเราต้องแก้ เพราะเราเป็นครู หน้าที่เราคือแก้ปัญหาให้เด็กไม่ใช่ไล่ออก แล้วก็ไล่ให้เขาไปอยู่บนถนน มันเป็นปัญหาของบ้านเมืองประชาชนหรือตำรวจ เราต้องเป็นด่านแรกและต้องแก้ปัญหาให้เขาก่อน เพราะว่าคนอื่นจะได้แก้ปัญหาน้อยลง เราก็คิดไปถึงตรงนี้เลย
ตอนนี้โรงเรียนจะไม่มีการไล่ออกไม่ว่าจะเคสใด นอกจากบางเคสที่หนักมากต้องพึ่งแพทย์ ให้เขาไปอยู่โรงพยาบาลก่อน หายดีแล้วค่อยกลับมาใหม่ เพื่อน ครู ทุกคนก็จะยอมรับสิ่งเหล่านั้น เพราะเราต้องช่วยกัน ไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ครูอย่างเดียว
แล้วป้ามลจะชมเด็ก ให้กำลังใจเยอะมาก ดิฉันเนี่ยจะเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ได้ตรงไหน จะติเลย วาทศิลป์ก็ทำไม่เป็น แต่ก่อนเรารู้สึกว่าวาทศิลป์มันไม่จริงใจหรือเปล่า แต่พอไปดูป้ามล การมีวาทศิลป์ที่ให้กำลังใจเนี่ยมันจริงใจได้ แล้วมันก็เป็นปกติได้ ไม่ต้องหวาน แกมีวิธีที่ทำให้เราเห็น
เช่น เด็กเล่นละครไม่เป็นสับปะรดเลย แล้วเพื่อนๆ ก็ปรบมือให้ ป้ามลก็จะขอบคุณเพื่อนๆ ที่ปรบมือให้เพื่อน แล้วบอกว่า เห็นไหมว่าเพื่อนๆ ให้กำลังใจเธอนะ ป้ามลมีวิธีพูดที่มันเจ๋งอะ แล้วแกก็จะทิ้งหน้าที่ที่จะแก้ไขต่อไปให้กับครู เราก็เอามาปรับใช้ แก้นิสัยตรงไปตรงมาเป็นการให้กำลังใจให้มากขึ้น แต่ความตรงไปตรงมาก็ยังต้องมีเพราะถ้าไม่ตรงไปตรงมาแล้วเด็กจะเก่งได้ยังไง ผิดพลาดต้องบอกให้เขารู้ แต่มันต้องมีวิธีที่นุ่มนวลขึ้น ก็ฝึกมาเรื่อยๆ พลาดบ้างดีบ้าง แต่ทุกครั้งที่เราทำได้เราก็ดีใจ ที่ทำไม่ค่อยได้เราก็เอาไงดี เอาไงดี เพราะฉะนั้นนี่คือการเรียนรู้ตัวเอง ที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ทุกวัน
เด็กคนหนึ่งที่ไปโรงเรียนภัทราวดีต้องเรียนอะไรบ้าง
เรียนเหมือนกันกับโรงเรียนอื่นค่ะ เรียนวิชาสามัญ 8 วิชาครบหมดทุกตัว วิชาอื่นๆ เราเพิ่มให้ ไม่ต้องจ่ายเงินพิเศษ พ่อแม่มาดูละครก็ดูฟรี พาไปเที่ยวไหนก็ฟรี คือมูลนิธิซัพพอร์ต โรงเรียนซัพพอร์ต
ตอนนี้มีเด็กประมาณกี่คน
ไม่เยอะค่ะ มี 100 คน ห้องนึงเรารับ 15 คนเท่านั้น บางห้องก็ไม่ถึง ไม่มีการสอบเข้า เราใช้ระบบ First Come First Serve ใช้ระบบ ‘พรหมลิขิต’ คุณพ่อคุณแม่พามาแล้วเราคุยกัน ถ้าเห็นว่าเราน่าจะแก้ปัญหาให้ลูกท่านได้ แล้วท่านก็ไว้ใจเรา
เราไม่ใช่โรงเรียนการแสดงนะ เราเป็นโรงเรียนปกติ แต่เราเสริมทักษะพวกนี้เพราะว่าเป็นเด็กประจำเยอะ เราก็อยู่กับเด็กจนเด็กหลับ ครูผลัดเวรกัน ถ้าใครอยากเรียนอะไร เช่นปีนึงจะมีเด็กที่เขาอยากเป็นดีไซเนอร์ เราก็เอาดีไซเนอร์จากนิวยอร์คที่เป็นเพื่อนกัน มาอยู่แล้วทำโปรเจ็คต์กับเขา สร้างแฟชั่นโชว์ใส่พอร์ตฟอลิโอ เด็กๆ คนอื่นก็ได้เรียนรู้ไปด้วย
สอบโอเน็ตด้วยใช่ไหมคะ
โอเน็ตเราก็ได้เหรียญทองหลายครั้งนะ ทั้งๆ ที่เมื่อคืนเรายังเล่นละครกันอยู่เลย เราก็ได้เหรียญทอง ภาษาอังกฤษเนี่ยเราได้เหรียญทองประจำ ปีที่แล้วได้วิทยาศาสตร์ เราตกใจมาก เพราะว่าเราไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์เหมือนโรงเรียนอื่น แต่ว่าเด็กบางคนเขาก็เก่ง เพราะฉะนั้นใครเก่งอะไรเราก็ไปตามนั้น แล้วเขาก็จะช่วยเพื่อนช่วยฝูง ดึงกันขึ้นมา
ตอนนี้มีน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษเยอะไหมคะ
เราว่าพิเศษทั้งโรงเรียนอะ รวมทั้งครูด้วย (หัวเราะ)
จริงๆ แล้วคำว่าเด็กพิเศษเนี่ย ดิฉันว่ามันไม่มี ทุกคนมีปัญหา เด็กเรียนเก่งก็มีปัญหา เด็กเรียนเก่งแล้วเอาแต่อ่านหนังสือเราต้องดึงมา เฮ้ย มานั่งคุยกัน มาตีลังกา มาเล่นสเกตบอร์ด มาร้องเพลง มาช่วยคนอื่นบ้าง มาช่วยครูทำนู่นทำนี่ ไม่งั้นเธอจะกลายเป็นเด็กเห็นแก่ตัวแล้วไม่ช่วยใครเลย เธอก็จะเป็นนักวิชาการที่พูดมากแต่ทำไม่เป็น บ้านเมืองมีเยอะเลย เพราะพอทำไม่เป็นเนี่ย เธอก็จะไม่ว่ารู้ปัญหาจริงๆ มันคืออะไร เพราะเธอไม่เคยลงไปถึงรากหญ้า เธอเอาแต่อ่านตำรา เธอต้องเอาตำรามาบวกกับปัญหาจริงๆ
ทำไมครูถึงคิดว่าทุกคนเป็นเด็กพิเศษ
ใช่ๆ เราก็ว่าเราเป็นเด็กพิเศษ เพราะว่าเรามีหลายอย่างที่คล้ายๆ เช่น อารมณ์ขึ้นอารมณ์ลงเราก็มี บางทีเราก็ทำอะไรตามใจตัวเอง เลอะเทอะ ไม่มีระเบียบวินัย เราก็เป็น แต่เราถูกฝึกมาดี เราควบคุมได้ แต่บางวันก็ควบคุมไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นความเป็นเด็กพิเศษมันมีอยู่ในทุกคน บางคนความจำเรื่องภาษาไม่ค่อยดีเลยแต่ความจำอื่นดีมาก บางคนไม่ชอบอาบน้ำ สกปรก ไม่มีระเบียบ ก็เพราะว่าทางบ้านไม่ฝึกมา บางคนก็พูดจาหยาบคาย ซึ่งเด็กปกติก็หยาบคายกันทั้งนั้น มันเป็นเหมือนกันทุกคนเลย ครูก็เป็น เพราะฉะนั้นเราก็บอกครูว่า เธออย่านึกว่าเธอเป็นคนปกตินะ เห็นไหมน่ะ เธอก็เป็นเหมือนเด็ก บางทีเธอก็หงุดหงิดงุ่นง่านอะไรของเธอ พูดจาเลอะเทอะ นั่นแหละ เห็นไหม เหมือนไอ้เจ้านี่เลย
ระหว่างความเป็นครูกับความเป็นนักเรียน ครูชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ชอบการเป็นนักเรียนมากกว่านะ เพราะเหลวไหลได้ แอบนั่งหลับได้ (หัวเราะ) แล้วก็ไม่เคยไม่ส่งการบ้าน เพราะถูกเทรนมาดีเรื่องการบ้าน แต่ว่าการที่เป็นนักเรียนอายุขนาดนี้ ต้องมีเพื่อนๆ น้องๆ ช่วยทำการบ้านนะ เช่นการใช้แอพฯ เราไม่เข้าใจครูส่งอะไรเข้ามาในกูเกิลไดรฟ์ เราหาไม่เจอ เราก็เรียนรู้จากเพื่อนๆ ก็เลยเข้าใจความเป็นเด็ก เข้าใจนักเรียนเรามากขึ้น เพราะเวลาเราสอนอะไรแล้วเราเห็นหน้าเด็ก เรารู้เลยหน้าอย่างนี้มันคือไม่รู้เรื่อง เพราะหน้าเหมือนเราเลยตอนที่เราเรียน เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้การสอนเราช้าลง ละเอียดขึ้น
การเป็นนักเรียนมันดี ดีกว่าการที่เราเป็นครู เพราะถ้าเราไม่ได้กลับมาเป็นนักเรียนเลย เราจะไม่เข้าใจหัวใจเด็ก แล้วบางทีเขาง่วงมากๆ เขาหลับแล้วเราก็เอ็ดเขา เราไม่เข้าใจหัวใจเด็ก เพราะเราเองก็หลับทุกครั้ง เพราะกินข้าวเสร็จแล้วมันก็ง่วงอะ (หัวเราะ) ก็ไม่ว่ากัน
การกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งมันเติมอะไรให้ครูบ้าง
เยอะมากค่ะ การเป็นนักเรียนมันสนุก (หัวเราะ) มันสนุกนะ ได้ตื่นเช้า ต้องไปโรงเรียน ต้องบอกทุกคนว่า เดี๋ยวครูไปโรงเรียน แล้วทุกคนก็ ฮะ ตกลงไปสอนหรอ บอกไม่ ไปเรียน (ยิ้มภูมิใจ) แล้วเวลาไปที่จุฬาฯ ทุกคนก็จะ สวัสดีค่า คุณครูมาสอนวิชาอะไรคะ เราบอกไม่ ครูมาเรียนหนังสือ มันมีความภูมิใจมาก แล้วทุกคนก็ทำหน้าไม่เชื่อ (หัวเราะ) มันทำให้เรา lively กระปรี้กระเปร่า เวลาครูสอนให้ทำอะไร ลุกนั่ง ลงนอน exercise วิ่งบ้าง ก็ทำด้วย มันเลยทำให้เราแข็งแรง ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้บังคับ แต่เราก็มีความรู้สึกว่าเฮ้ย มันต้องเสมอภาค ฝึกทหารก็ไปนะ
ฝึกทหารด้วย?
ฝึกผู้บังคับ รด. ผู้กำกับ รด.
เมื่อห้าปีที่แล้วเขาให้ส่งครูไปเรียนเป็นผู้กำกับ รด. แล้วไม่มีใครไป ดิฉันก็เลยไป ก็ไปโดดหอ โดดร่ม (หัวเราะ) ยิงปืน ท่องป่า อะไรอย่างนี้ สนุก ก็เป็นครูผู้อาวุโสแต่ว่าก็โดนทำโทษให้สก๊อตจั๊มพ์บ้าง ให้อะไร เหมือนกับทุกคน ก็คงสนุกเขาแหละ (หัวเราะ)
มีวิชาอะไรที่ครูอยากเรียนอีกไหม
ดิฉันไม่ได้นึกอยากจะเรียนอะไรเลยนะ แต่ว่าชีวิตเนี่ยมันทำให้ต้องเรียนนี่ต้องเรียนนั่น ต้องไปเรียนกำกับไฟ ทำไฟ ต้องไปเรียนทำดอกไม้ ทำหุ่น เรียนร้องเพลง มันก็อย่างนี้แหละ เลยทำให้ต้องเรียนไปเรื่อย ตอนนี้ถ้าเจออะไรอีกก็เรียนได้อีก ดิฉันไม่จำกัดอายุ
ไม่จำกัดสาขาด้วยนะคะ?
ไม่จำกัดสาขาค่ะ เพราะว่าการเรียนรู้ทุกอย่างมันเสริมกัน เพราะฉะนั้นเด็กเราก็เลยให้เรียนรู้ทุกอย่าง ทั้งวิชาการ กีฬา ดนตรี เย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ไปเที่ยววัด ชมวัด เป็นล่าม เป็นพิธีกร เรียนรู้หมดทุกอย่าง ให้ทำให้เป็นหมดทุกอย่าง แล้วเธอค่อยไปเลือกเอง เพราะทุกอย่างที่เราเรียนน่ะ และบางทีที่พ่อแม่บังคับให้เรียน ได้ใช้หมดเลย
เด็กๆ เคยเล่นสเก็ต ตอนนี้ก็เล่นได้ เพียงแต่ลูกๆ บอกอย่าเล่น เพราะว่าเดี๋ยวซิ่งแล้วล้ม เลยเล่นสกูตเตอร์แทน ง่ายๆ หน่อย ก็เชื่อฟังเขา แต่จริงๆ ก็เล่นได้เพราะเคยเล่นตั้งแต่เด็ก
คนที่มองเข้ามาในโรงเรียนของครูเล็กจะเจอแต่เด็กเก่ง เจอแต่เด็กมีพรสวรรค์ แต่ว่าหลังๆ ครูเล็กเริ่มมาทำงานกับเด็กพิเศษหรือว่าเด็กขาดโอกาสมากขึ้น ครูเล็กคิดอะไรถึงได้ลงมือทำงานแบบนี้
จริงๆ ในโรงเรียนนี้เด็กก็ไม่เก่งนะ เด็กมีพรสวรรค์ในจุดของเขา เราช่วยเขาค้นพบ เด็กทุกคนพอค้นพบแล้วก็จะเก่งทุกคน ไม่มีใครที่ไม่เก่งในอะไรเลย มันจะเก่ง บางคนกวาดบ้านเก่ง อย่างคนงานดิฉันเนี่ยบางคน โห มันกวาดบ้านสะอาด สะอาดกว่าคนงานอื่นๆ อะ นี่คือพรสวรรค์ เพราะฉะนั้นจะมาดูถูกไม่ได้ว่าเขาเป็นเมท ก็เลยบอกเด็กๆ ว่าดูสิ เห็นไหม บางคนมันตัดต้นไม้แล้วสวยมาก ไม่รู้มันตัดยังไง เราไปตัดก็ไม่สวยเหมือนเขา ทั้งๆ ที่เราก็มีวิชาเท่าเขา นี่ไง นี่เขาเรียกพรสวรรค์ ก็ให้เด็กทุกคนรู้ว่าหาให้เจอนะ
เหมือนเรา ไปเรียนวิชาการแสดงแล้วเราก็มีพรสวรรค์ ก็ได้ A ตลอด แล้วสนุก พอเรียนอื่นๆ ก็ง้องแง้งๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้ว่าเด็กทุกคนควรจะมีโอกาสค้นพบว่าตัวเองเก่งอะไร
คนสมัยก่อนเขาจะบอกว่าอย่าหยิบโหย่ง เรียนอะไรก็เรียนไปสักอย่าง แต่ปัจจุบันมันต้องเรียนหลายๆ อย่าง แล้วเราจะรู้ว่าอะไรคือใช่ ถ้าเรากินอาหารอยู่อย่างเดียว สารอาหารมันไม่ครบ เพราะฉะนั้นต้องกินอาหารหลายๆ อย่าง
เพราะฉะนั้นเด็กๆ เนี่ย ให้ลองทุกอย่าง ลองแล้วเลิก เล่นเปียโน สามวันเลิก ไม่เป็นไร แสดงว่าเธอไม่ชอบ แล้วเดี๋ยวปีหน้า ผมขอเล่นใหม่ อะ โอเค มา คือเราจะไม่ปิดโอกาส ต้องให้เขาทำ จนเขาโตแล้วเขาจะเลือกไปเอง แล้วเขาก็จะอยู่ตรงนั้นแหละ แต่วิชาอื่นๆ ที่เขาเรียนมันจะช่วยให้เขากว้าง มีเพื่อนที่กว้างขึ้น เอามาผสมผสานเชื่อมโยง
กว้างก่อนแล้วค่อยลึกใช่ไหมคะ
ใช่ คือถ้าเรากว้างแล้วเราจะรู้ว่าตรงนี้ จุดนี้เราชอบ เราลงลึกแต่เราเอาวิชาอื่นลงมาด้วย ถึงวิชาอื่นไม่ลึกมากแต่มันจะช่วยทำให้ดูลึกลงไปได้อีกเยอะเลย เหมือนทำให้รากมันโตขึ้น วิชาอื่นๆ มันก็เหมือนแสงแดด อาหาร มันก็จะช่วยให้รากเจริญ พอรากเจริญเติบโต ต้นไม้ก็จะสูง ออกดอก ออกใบ ออกลูก
เราจะเปรียบต้นไม้กับเด็ก เล่าให้เด็กฟังว่า ไอ้ต้นนี้ครูซื้อมาแปดหมื่น ไม่มีราก เห็นไหมลูก สามปีแล้วมันอยู่เหมือนเดิมเลย เลี้ยงก็ยาก ต้องดูแล ประคบประหงมเพราะมันไม่มีราก รากคือวัฒนธรรม รากคือศิลปศาสตร์ แต่ไอ้ต้นนี้ ครูถมเม็ดไปเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว มันโตเห็นไหม โตสูงด้วย ออกลูกเต็มเลย มันมีราก รากหยั่งลึก เพราะฉะนั้น คิดต่อเอาเอง (หัวเราะ)