- ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างโอกาสให้กับคนในอำเภอพาน กร-ปกรณ์ นาวาจะ และเพื่อน (รณชัย คำปิน) จึงออกแบบ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ ซึ่งมีชื่อเรียกแบบไม่เป็นทางการว่า ‘จวนละอ่อนจาม’
- กร เรียนจบครุศาสตร์ จุฬา แต่เลือกที่จะไม่ทำงานในระบบการศึกษา เขามองว่าทุกคนสร้างการเรียนรู้ได้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา “สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้”
- เป้าหมายของเขาคือการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และ ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เขาวางตัวเองเป็นคนเชื่อมใจเชื่อมโอกาสระหว่างชุมชนกับเด็ก ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่อยากจะพัฒนาตัวเองด้วยกันทั้งนั้น”
“การเรียนรู้มันมีทุกที่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอด และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องวัดประเมินด้วยกฎเกณฑ์ หรือเกณฑ์กลางที่ตัดสินเด็กออกมาเป็นเกรด แค่ได้เห็นเขายิ้มกับชีวิตที่เขามี มองเห็นอนาคตตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง…”
นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับความทุ่มเทของ ‘กร’ ปกรณ์ นาวาจะ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โครงการ ‘จวนละอ่อนจาม’ ที่ชีวิตหันเหจากเส้นทางการเป็นครู หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มาสู่การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กนอกระบบ ที่ชุมชนบ้านร้องหลอด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
กรเล่าว่าตนเองเกิดและโตที่อำเภอพาน พอมีโอกาสไปเรียนที่กรุงเทพฯและได้ฝึกสอนในโรงเรียนระดับท็อป 5 ของประเทศ ก็ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งคุณภาพต่างกันมาก ดังนั้นแม้จะเลือกทำงานในบริษัทเอกชนแทนที่จะเป็นครู แต่เมื่อมีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้าน (work from home) เขาก็หยิบความตั้งใจที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอำเภอพานขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งแพสชันของตัวเอง

“ช่วงนั้นก็คิดกับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อเต้ย (รณชัย คำปิน) ที่อยู่เชียงใหม่ว่าเราจะทำอะไรดี แล้วโครงการของ กสศ. ก็มา เป็นงานพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้วยความที่เราอยากทำกิจกรรมอยู่พอดี แล้วงานที่ work from home อยู่ก็ไม่ได้หนักมาก น่าจะทำควบคู่ไปด้วยกันได้ เพราะว่าเราอยากสร้างพื้นที่ อยากให้โอกาสเด็กๆ ..จริงๆ ปลายทางกรอยากสร้างอาชีพเลยด้วยซ้ำ ให้มันมีอาชีพกับเด็กหลายๆ กลุ่ม หรือว่าคนในอำเภอพานเอง ช่วงนี้ก็ยังอยู่ในช่วงสำรวจอยู่ว่าเราจะทำอะไรได้บ้างด้วยศักยภาพที่เรามี”
ระหว่างนั้นกรและเต้ยก็ได้รู้จักกับชุมชนวัดร้องหลอด ที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำงานพัฒนามานาน ซึ่งนอกจากจะมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างท่านเจ้าอาวาส พระครูพิศาล สังวรคุณ พื้นที่นี้ยังมีคอนเนกชั่นกับหลายหน่วยงาน รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ
“เราก็ดุ่มๆ มาคุยกับท่านเจ้าอาวาสเเลย ว่าผมอยากทำโครงการและอยากใช้พื้นที่วัด ท่านก็เห็นด้วยเพราะมีโครงการในส่วนของผู้สูงอายุอยู่แล้ว ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ท่านมองว่าอยากให้วัดเป็นพื้นที่กลางสำหรับทุกเพศทุกวัย ตอนนี้ขึ้นเสาผู้ใหญ่ผู้สูงอายุแล้ว เหลือเสาเด็กที่ยังไม่มีใครมาทำ พอเราเข้ามา ท่านก็เลยว่า…งั้นมาทำเลย”
ในที่สุดความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นเด็กเหลือขอ เด็กเกเร เด็กใจแตก ฯลฯ ก็เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
บางพื้นที่พอได้ยินว่าทำงานกับเด็กนอกระบบอาจมีความกังวลมีอคติว่าเป็นพวกเหลือแก่นเหลือขอ ที่นี่มีปัญหาในลักษณะนี้บ้างไหม
ช่วงแรกก็ต้องทำความเข้าใจอยู่ครับ แต่ชุมชนที่นี่เขาเปิดมากอยู่แล้ว ชาวบ้านค่อนข้างเปิดกับข้อมูลใหม่ๆ กับทัศนคติใหม่ๆ รวมถึงอีกคนหนึ่งคือผู้อำนวยการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เมืองพาน เป็นคนเปิดมาก เข้ามาซัปพอร์ตมาช่วยดูแล พยายามจูนให้ชาวบ้านเปิดใจ อย่าเพิ่งไปตัดสินใคร
แล้วในช่วงเริ่มโครงการ กรก็จะชวนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ท่านเจ้าอาวาส ชาวบ้านบางส่วน คนที่ใช้พื้นที่วัดประจำ พวกแม่ๆ ที่ทำกับข้าวอะไรอย่างนี้ มาเวิร์กชอปกันก่อน มาปรับความเข้าใจกันก่อน ว่ามีเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มองเขาให้เป็นมนุษย์ แล้วเราจะเห็นว่าเราต้องช่วยกันซัปพอร์ตนะ เขาก็ค่อยๆ ปรับทัศนคติกับเด็กกลุ่มนี้ให้ตัดสินน้อยลง โดยเราใช้แนวคิดภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) มาวิเคราะห์ ให้เขาลองวิเคราะห์ตัวเองด้วย ว่าจริงๆ ฉันเป็นอย่างนี้ก็เพราะอย่างนี้ เด็กก็อาจจะเป็นแบบนี้ได้ ก็น่าจะมีอะไรที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งเหมือนกัน ก็ช่วยให้ตัดสินกันน้อยลง

ตอนนี้มีเด็กนอกระบบที่อยู่ในโครงการกี่คน
จริงๆ โครงการมี 30 คน แต่ว่าธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้ ทุกที่เลยนะครับ เหนือใต้ออกตก 40 หน่วยที่ทำงานมา เจอเหมือนกันคือเด็กจะเคลื่อนที่เคลื่อนไหวตลอด บางคนต้องย้ายไปทำงานต่างอำเภอต่างท้องที่ บางคนต้องย้ายตามพ่อแม่ หรือว่าเงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่าง
เด็ก 30 คนนี้เราได้มาจากการลงพื้นที่ ตอนแรกคิดว่าแค่ในชุมชนร้องหลอดนี้ก็จะถึง 30 คน แต่พอสำรวจจริงๆ มีแค่ 7 คน เราก็ไปทั่วอำเภอพาน ได้ ผอ. ของ รพสต. ช่วยประสานกับ อสม. ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ แล้วก็ไปลงพื้นที่กับเขาเลย เขาก็พาเราเข้าไปคุยกับเด็กที่บ้าน เราไปลงพื้นที่เป็นเดือนเลยครับ
เกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการคืออะไร
ที่นี่จะแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม ‘กลุ่มที่อยากออกจากระบบการศึกษาเอง’ ไม่ได้มีปัญหาอะไร กับ ‘กลุ่มที่จำเป็นต้องออก’ และกลุ่มที่เรียกว่า ‘เข้าไม่ได้’ เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาเลย ยากจนมาก ก็จะเป็น 3 กลุ่มนี้ มีน้องที่รู้สึกว่าตัวเองไม่แมตช์กับโรงเรียน ออกมาเองดีกว่า เรียนอะไรก็ไม่เวิร์ก เขากลัวโดนเพื่อนโดนคุณครูตัดสิน รีบชิงออกมาก่อนดีกว่า อีกกลุ่มก็ยากจนมาก บางคนมีน้องที่ต้องเลี้ยงดูแบบคนเดียวเลย ที่บ้านไม่ช่วยอะไร อันนั้นก็คือต้องออกมาทำงาน
ซึ่งพอทำงานจริงๆ เรามองเห็นเลยนะว่า สุดท้ายเด็ก 1 คนมากับปัญหาของเขาเอง ปัจเจกมาก ไม่สามารถเอาวิธีการแก้ปัญหาของเด็กคนนี้ไปลงกับเด็กคนนี้ได้เลย แบ็คกราวด์ไม่เหมือนกัน มีกิจกรรมหนึ่งที่เราตั้งใจจะจัด 1 ครั้งให้เด็กรู้จักกัน รวมมาได้เยอะสุด 10 คนจาก 30 คน แต่แค่ 10 คนก็จะมีแก๊งที่ไม่ถูกกัน ก็จะตีกันอยู่แล้ว กลายเป็นว่าเราต้องจัดกิจกรรมซ้อนกันเป็น 10 ครั้ง เพื่อเด็ก 30 คน เพื่อที่จะลดปัญหา
กิจกรรมที่จัดให้เด็กๆ มีอะไรบ้าง ตั้งเป้าไว้อย่างไร
แรกสุดเราอยากให้เขารักตัวเองให้ได้ก่อน เขาโดนสังคมตัดสินมาเยอะแล้ว เราก็เลยไม่อยากให้เขาเองตัดสินตัวเองด้วย ก็พยายามให้เขาโอบกอดตัวเองให้ได้ มองหาข้อดีของตัวเอง
มองหาข้อดีเสร็จก็มองหาทรัพยากรด้วย ตอนนี้ในมือเรามีอะไรบ้าง ทักษะเรามีอะไรบ้าง คอนเนกชั่นเรามีใครบ้าง ให้เขาเขียนออกมาให้ได้เยอะที่สุด แล้วให้เขามองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ตัวเองมีในตอนนั้นน่ะ ว่ามันกลายเป็นอะไรได้บ้าง

น้องบางคนก็คิดว่าตัวเองไม่มีมาตลอด คิดว่าตัวเองถูกกดขี่มาตลอด แต่พอมาสำรวจปุ๊บ บอกว่าเราก็มีลู่ทางในชีวิตอยู่นะ มันยังพอจะเป็นไปอย่างนี้ได้อยู่ หลังจากนั้นเราจะให้เขาลองวางแผนชีวิตตัวเองดู อีก 5 ปีข้างหน้า จากทรัพยากรที่ตัวเองมี มันจะเป็นยังไงได้บ้าง 5 ปีข้างหน้าสมมุติว่าถูกหวย อะไรอย่างเงี้ย แบบเออจู่ๆ ก็รวยขึ้นมา อยากทำอะไร หรือว่า 5 ปีข้างหน้า ถ้าสมมุติว่าจู่ๆ ต้องสูญเสียอะไรสักอย่าง ไม่เหลือชิ้นดีเลยเนี่ยจะเป็นยังไง เพื่อให้เขาเตรียมรับมือ
แผนแรกที่เป็นการให้เขาสำรวจทรัพยากร อันนี้คือเขาทำได้ และเขาจะมองเห็นชัดขึ้นว่าเขาต้องทำอะไร อย่างแผนโชคดีนี้ก็จะได้คิดออกว่าวันไหนที่เรามีตังค์ขึ้นมา สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ มันคืออะไร ลึกๆ ในใจแล้วสิ่งที่ตัวเองปรารถนาที่สุดคืออะไร แล้วแผนสุดท้ายก็คือ ถ้ามันล้มเหลวจริงๆ เราก็ยังมีอะไรรองรับนะ ไม่ใช่ว่าจะมืดไปหมดทุกทางเลย อันนี้เป็นพาร์ทของ Self (ตัวตน) พาร์ทภายใน
หลังจากนั้นเราก็จะพาน้องไปสำรวจชุมชนต่อ เพื่อให้เห็นว่าผู้ประกอบการในชุมชนเขาเป็นอะไรมาก่อน เขาทำอะไรมา แล้วเขาสร้างรายได้จากการอยู่ในชุมชนยังไง เราไม่อยากพาเขาออกไปไกลมาก อยากให้เขาเห็นว่าในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ มันก็สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ กรกับเต้ยก็ลงพื้นที่ เดินเข้าไปหาสถานที่ให้เด็กได้มาดูงาน เช่นที่อู่ซ่อมรถ ที่ร้านกาแฟ หรือแม่ๆ ที่ทำขนม เราก็พาเด็กไปดูเขาทำขนม
มันมีเรื่องอัศจรรย์ใจอย่างหนึ่งของโครงการคือ ทุกคนที่เราไปดีลเปิดโอกาสให้เด็กหมดเลย เรายังไม่ได้บอกว่ามาในนาม กสศ. หรือในนามวัดนะ บอกแค่ว่าตอนนี้ดูแลเด็กๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อะไรอย่างนี้ อยากให้เขามาดูงาน อย่างน้อยอยากให้เขาเห็นแนวทางอาชีพ ไม่จำเป็นต้องไปทำก็ได้ แค่ให้เห็นว่ามันมีโอกาสอย่างนี้อยู่นะ เขาบอก…มาเลย บางทีแค่เข้าไปคุย 10 นาที มาเลยค่ะ นัดวันมาได้เลย ทำไมคนบ้านเราใจดีขนาดนี้ เราไม่มีเอกสารอะไรไปยื่นให้เขาด้วยนะ เราเดินเข้าไปดุ่ยๆ เลย แล้วก็ได้โอกาสจากหลายคน บางคนก็อยากสอนด้วย แบบมีใจอยากจะให้ คือเราตั้งงบค่าตอบแทนวิทยากรได้ แต่บางคนเขาก็ไม่เอา บางคนเขาก็รับไว้ แล้วก็คืนให้เราไปใช้เป็นค่าน้ำค่าขนมให้เด็กๆ
กรรู้สึกว่าคนบ้านเราใจดีมาก ทุกคนพร้อมที่จะให้โอกาสเด็ก แต่ว่ามันไม่มีคนไปเชื่อมโอกาสนี้ให้เขา เราก็เลยเหมือนเป็นคนเชื่อมโอกาสของชุมชนให้กับเด็ก ก็แฮปปี้เหมือนกัน
จากพาร์ทที่พาเด็กไปดูงาน บางคนชอบสกิลนั้นไปเลย อย่างน้องผู้หญิงคนนึงชอบทำเล็บ เราก็ซัปพอร์ตเขาเรื่องอุปกรณ์ ส่วนการหาลูกค้าก็มีหลายคนช่วย สร้างรายได้ให้กับน้อง หลายคนได้โอกาสจากที่ไปดูงานมา ด้วยความใฝ่รู้ของเขาเอง เขาก็ได้ไปต่อ ก็มีหลายคนอยู่

หลังจากทำงานมา 1 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างไรบ้างคะ
เห็นเยอะครับแต่ก็ไม่ใช่ทุกคน บางคน ความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะเล็กมากๆ เช่น กล้าที่จะพูดความต้องการของตัวเอง วันที่จัดงานปิดโครงการที่นี่ เรากังวลมาก เพราะว่ามันจะมีเหมือนทอล์กที่ทุกโครงการในภาคเหนือจะส่งเด็กมาที่นี่ เรากังวลมากว่าเด็กของเราใครจะเป็นคนขึ้นไปพูด แล้วจะพูดเรื่องอะไร เราเลือกให้ยอร์ชขึ้นไปพูด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่เต็มใจจะมาร่วมกิจกรรมเท่าที่จะมาได้ ยอร์ชก็กังวลว่าจะพูดอะไรดี เราก็เขียนสคริปต์ให้ แต่พอขึ้นเวทีจริงๆ เขาพูดจากใจเขาเองเลย
ที่บอกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงคือ เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ความต้องการของตัวเอง?
เด็กบางคนพอเราให้ลองวางแผนดู เขาเห็นตัวเองชัดขึ้น เขารู้ว่าเขาต้องไปทำงาน ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงบางคนเขาเริ่มที่จะพิทักษ์สิทธิตัวเอง รู้ว่าอะไรดีไม่ดี แล้วก็กล้าตัดสินใจเพื่อตัวเองมากขึ้น หรือบางคนเป็นเด็กที่เงียบมาก ไม่เปิดใจกับใครเลย ตัดสินตัวเอง แต่พอเขามาร่วมกิจกรรมกับเราเรื่อยๆ เขาก็กล้าที่จะปรึกษาเรื่องต่างๆ กล้าที่จะเข้ามาหาเราในมิติของเพื่อนกัน หรือคนที่ปรึกษากันได้
แล้วเป้าหมายปลายทางที่โครงการคาดหวังคืออะไร
เป้าหมายของทั้งโครงการและของท่านเจ้าอาวาสตั้งแต่แรกคือเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ แล้วก็เป็น ‘พื้นที่ของโอกาส’ ซึ่งเด็กหลายๆ คนในโครงการ มีคำหนึ่งที่พูดกันออกมาว่า “ผมอยากเป็นเด็กเหมือนคนอื่น” เราถามกลับไปว่า เหมือนคนอื่นคืออะไร “เขาได้เรียนหนังสือครับ” แต่เราเคยตั้งคำถามว่า เรียนแล้วยังไงต่อ เขาก็ตอบว่าจะได้ทันเพื่อน แต่หลังๆ มาเด็กก็จะบอกว่า เรียนเพื่อให้มีวุฒิเอาไปสมัครงาน ได้เงินเยอะขึ้น เพื่อให้ตัวเองได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าตอนนี้
แต่ที่นี่เพิ่งทำปีแรก เรายังให้วุฒิเด็กไม่ได้ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กก่อน ทำให้เขามองเห็นโอกาสอะไรบางอย่างจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทำ ดังนั้นแค่เด็กกล้าพูดเป้าหมายของตัวเอง มาเล่าให้เราฟังว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไร เราก็แฮปปี้มากแล้วที่ได้ยินว่าเด็กสู้เพื่อตัวเอง
จากที่เรียนด้านครุศาสตร์มา พอมาทำงานกับเด็กนอกระบบ มุมมองเรื่องการศึกษาเรื่องการเรียนรู้มันต่างไปจากเดิมไหม
เปลี่ยนไปตลอดกาล เรากล้ากลับเข้าไปคุยกับอาจารย์ในคณะเลยว่า ทำไมไม่มีครูที่อยู่นอกระบบ หมายถึงว่าดูแลเด็กที่หลุดออกมานอกระบบที่ไม่ใช่ครูกศน.บ้าง ทำไมเราถึงไม่พัฒนาบุคลากรที่จะมารองรับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำไมสถาบันผลิตครู ถึงผลิตครูแต่อยู่ในระบบ ทำตามตัวชี้วัดต่างๆ นานา อะไรอย่างเงี้ย ก็ได้มุมมองนี้มาจากการทำงานนี้ หลายๆ อย่างที่เราเรียนมาในคณะแทบจะไม่ได้ใช้ คำว่าตัวชี้วัดเนี่ย ชี้วัดอะไรไม่ได้เลยนะ วัดผลอย่างนี้ สอบให้ได้คะแนนเท่านี้ ผ่านเกณฑ์เท่าโน้นเท่านี้ ก็ใช้ไม่ได้อีกเลย
สิ่งที่เราเห็นคือมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้น แล้วการเรียนรู้มันมีทุกที่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอด และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องวัดประเมินด้วยกฎเกณฑ์ หรือเกณฑ์กลางที่ตัดสินเด็กออกมาเป็นเกรด แค่ได้เห็นเขายิ้มกับชีวิตที่เขามี มองเห็นอนาคตตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง และเด็กบางคนรู้ว่าฉันต้องไปเรียนอะไรต่อ เพื่อที่จะทำให้ชีวิตข้างหน้าฉันดีขึ้น อันนี้คือดีแล้ว
เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ เส้นทางเขาอาจจะแคบกว่าคนอื่นนิดนึง แสงสว่างข้างหน้ามันทำให้มองเห็นทางแยกน้อยกว่าเด็กคนอื่นนิดนึง เราก็เหมือนได้ส่องไฟให้เขา แล้วให้เขาเลือกเองว่าจะไปทางไหนได้
ซึ่งต่างจากที่คณะสอนพอสมควรเลยครับ เขาไม่ได้คิดถึงตรงนี้ เพราะว่าเขาก็พัฒนาครูในระบบ อยากให้เป็นครูต้นแบบ เป็นอะไรต่างๆ ที่จะทำให้เด็กแฮปปี้ การศึกษาในภาพรวมมันดีขึ้น

ถ้ามองในมุมนี้ทุกคนก็สามารถจัดการเรียนรู้ได้?
กรมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ถ้าเด็กปลอดภัยเด็กจะเปิด ถ้าเด็กเปิด เด็กก็จะกล้าที่จะเรียนรู้ แล้วพอ Mood มันได้ คนที่มาให้ความรู้เขาก็อยากจะสอน เพราะว่าเขารู้สึกว่าเด็กไม่ได้ถูกบังคับมา เขาจะรู้สึกว่าเด็กอยากมา เขาก็จะอยากให้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงาน 1 ปี มันเกิดขึ้นเองโดยที่เราแค่เป็นตัวเชื่อม เราไม่ได้เอาความรู้ครุศาสตร์มาร่างหลักสูตรว่า 3 ชั่วโมงนี้เราเจอกัน พี่ต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้เด็กนะ เดี๋ยวพี่ต้องจับเครื่องนี้ให้เด็กดู ไม่มีครับ มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
แล้วบางคนก็แฮปปี้มากกับการที่เด็กอยู่แล้วเด็กถามเรื่อยๆ แต่แค่เราต้องมาขมวดตอนท้ายว่าวันนี้ได้อะไรบ้าง มันเป็นอย่างนี้นะ ตลอด 3 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่เราเจอกัน เราได้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กเขาเห็นว่าประสบการณ์ที่เขาได้รับนั้นมันมีคุณค่ายังไง ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดได้ทุกวัน เด็กก็จะได้เห็นคุณค่า มองว่าสิ่งนี้มันคือการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่เขาเคยกลัวกัน เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้จะกลัวโรงเรียนแล้วตีไปว่านั่นคือทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมมันแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เอง ซึ่งพอมาแนวทางนี้ เป้าหมายของการศึกษาหรือการเรียนรู้ มันไม่ใช่เกรด ไม่ใช่วุฒิการศึกษา หรือว่าปริญญาอะไร มันคือการพัฒนาตัวเองมากกว่า
กรคุยกับเต้ยและเพื่อนภาคีที่น่านว่าด้วยโครงสร้างสังคมเรา วุฒิการศึกษามันคือเงินที่จะได้มากขึ้น มันคือเพดานที่จะขยับไป ยิ่งวุฒิสูงมี Certificate หรืออะไรก็จะพาไปได้เยอะขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เราก็มาตั้งคำถามกันว่า แล้วถ้าเด็กไม่มีวุฒิเลยล่ะ เป็นไปได้หรือเปล่า สุดท้ายมันก็ยังวนกลับไป เราก็เลยมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างตรงนี้ว่า สังคมไม่ได้มีพื้นที่ขนาดนั้นให้กับการศึกษาที่ไม่ถูก Certify
เพราะพอพูดว่าเด็กไม่มีวุฒิ ในหัวเขาก็จะจินตนาการทันทีว่าเด็กพวกนี้คือเด็กมีปัญหา ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหา แต่สังคมหรือหลายๆ คนก็ยังมองแบบนี้อยู่ เราจะเปลี่ยนภาพนี้ยังไง ตอนนี้ก็เลยกลายเป็น Mission ใหม่ว่า เราจะทำยังไงให้ภาพของคำว่าเด็กหลุดจากระบบ เด็กไม่มีการศึกษา มันไม่ใช่ปัญหา มันคือเรื่องปกติ
เขาคือคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะทำเพื่อชีวิตตัวเองภายใต้เงื่อนไขที่มันหนัก ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของเขามากกว่า ซึ่งถ้าเขาอยู่ในระบบไม่ได้ก็สามารถไปในแนวทางอื่นที่สามารถพัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ถึงตอนนี้มองบทบาทของตัวเองอย่างไร
อยากบอกว่าเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ครับ เราแค่อยากเห็นว่าเด็กเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองยังไง แต่ก็ไม่ได้มีตัวชี้ว่าเขาต้องเปลี่ยน เขาจะเป็นแบบเดิมก็ได้ แค่เขาเห็นโอกาส เห็นว่าเขาไปยังไงได้อีก เราโอเคแล้ว
จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กนอกระบบ อยากจะสื่อสารอะไรไปถึงสังคมบ้าง
อยากจะบอกว่าให้มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ให้มองว่าเราตัวเราเองก็มีโอกาสที่จะเป็นแบบเขาได้เหมือนกัน เขาหนึ่งคนก็มีประสบการณ์ที่ตัวเองแบกมาเยอะ หลายอย่างเหมือนกัน เพียงแต่ว่าประสบการณ์ที่ตัวเขาแบกมา มันไม่เหมือนกับคนที่อยู่ในระบบเฉยๆ มันดันไม่เหมือนกับค่านิยมที่สังคมอยากให้มันเป็นเฉยๆ แต่มันก็เป็นก้อนนึงที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ก็ไม่อยากให้เขาตัดสินครับ
อยากจะบอกว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่อยากจะพัฒนาตัวเองกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าทุกคนก็มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนและมีข้อจำกัดของตัวเอง อยากให้มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากจะไปข้างหน้า เพียงแต่ว่าเขามีเงื่อนไข ถ้าอยากจะช่วยกัน ก็ช่วยมามองเห็นก่อนว่าเงื่อนไขที่เขามีเป็นอะไร เราจะได้ซัปพอร์ตถูก ไม่ใช่ตัดสินเขาไปเลยว่าไม่ดี เงื่อนไขมันก็จะกลายเป็นก้อนทึบๆ ที่เขียนคำว่า ‘ไม่ดี’ แปะเอาไว้ แล้วคุณก็ไม่ทำอะไรกับมันเลย แล้วคุณก็จะมองเด็กคนนึงที่มีก้อนที่ว่าไม่ดีนี้ทับหัวอยู่ แล้วก็มองว่าคนๆ นี้คือก้อนนี้ ซึ่งจริงๆ คนๆ นี้แค่พกก้อนนี้ไว้ในกระเป๋าเฉยๆ เขาไม่ได้เป็นก้อนๆ นั้น อย่าตัดสินกันครับ

เปิดใจยอมรับความแตกต่าง หยุดตัดสินตีตรา?
มาทำความรู้จักกับเขาก่อนสิ เปิดใจให้เขา พอเขาเปิดใจกับเรา คุณก็จะได้รู้จักเขาเอง คุณยังไม่เปิดใจให้เขาเลย คุณก็ตัดสินเขาแล้ว พูดได้เพราะเมื่อก่อนตัวเราเองก็เป็นคนที่ตัดสินเหมือนกัน แต่พอมาทำงานนี้ ได้เห็นปัญหาจริงๆ เราตัดสินใครไม่ลงเลย ไม่ได้เลย ก็คือพอเราได้คุยได้อะไร ทุกคนก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างภาพ เวลาเรามองแบบเด็กๆ ที่ค้ายา อาจจะมองแบบ โอ้โห…เกิดมานี่คงก้าวร้าวเลวร้าย แต่บางคนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แค่สภาพชีวิตทำให้เขาไปในทางนั้น เขาเกิดมาก็เจอสิ่งนี้แล้ว เขาแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันดีหรือมันไม่ดี รู้แค่ว่าเขาต้องทำ มันเป็นอย่างเดียวที่เขาจะทำได้เพื่อดำรงชีวิต เขาก็ต้องทำ
สำหรับเด็กที่กำลังอยู่ในเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงแล้วมองไม่เห็นว่าชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร อยากจะฝากอะไรถึงพวกเขาไหม
อยากให้เขาเบรกสักนิดนึง มันไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะมืดแปดด้านนะ สำรวจตัวเองดีๆ ก่อน สำรวจว่าตัวเรามีอะไร แบบไม่อคติเลยนะ แบบไม่ตัดสินตัวเอง แบบไม่มองตัวเองแย่ ดูซิว่าตัวเองมีอะไร ทักษะที่ตัวเองมี แล้วคนรอบข้างมีใครบ้าง ลองมองหาประโยชน์จากมัน บางทีเราอาจจะเจอองค์ประกอบ 2 อย่าง ที่เรามองไม่เห็นเลย แล้วพอมันมารวมกัน มันอาจกลายเป็นเส้นทางใหม่ก็ได้
ไม่ต้องเครียดขนาดที่ว่า ฉันไม่มีหนทางแล้ว มันมี ทุกคนก็มีของในตัวเองแหละ ไม่ต้องรีบพุ่งไปข้างหน้า หยุดสักก้าวหนึ่ง หยุดทบทวนตัวเอง หยุดตั้งสติ มองเห็นตัวเองเยอะๆ แล้วมันก็จะเห็นอะไรบางอย่างที่อยู่ในตัวแลัวดึงออกมาใช้ ถ้าไม่เห็นมันก็อยู่รอบตัวเรานั่นแหละ มันไม่ได้มืดแปดด้าน มันไม่ได้แย่ไปทั้งหมด