- Nature Deficit Disorder (NDD) หรือ โรคขาดธรรมชาติ กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลานอกบ้านสัมผัสธรรมชาติ ทำให้มีปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ เช่น สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
- หนึ่งในใบสั่งยารักษาโรคนี้คือ ออกไปหาธรรมชาติ และบทความชิ้นนี้ของ วิรตี ทะพิงค์แก กำลังเขียนใบสั่งยาด้วยภาษาละเมียดละไม
- ยิ่งถ้าได้รู้ว่ามนุษย์มีผัสสะรับรู้มากถึง 54 แบบ ผ่าน ตา หู จมูก กาย ใจสัมผัส ถ้าไม่ได้รับการฝึกบ่อยๆ ด้วยธรรมชาติ ทักษะมหัศจรรย์นี่จะค่อยๆ เลือนหายไป
ทุกวันนี้ เมืองสมัยใหม่ทำให้คนเปลี่ยวเหงาเปล่าดาย หลายคนรู้สึกอ้างว้าง ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว บ้างมีภาวะทางจิตใจ หลายคนซึมเศร้าราวกับตัดขาดจากโลกทั้งมวล อาการดังกล่าวเป็นผลกระทบเชิงลบของความทันสมัย สะดวกสบายที่นำพามนุษย์ห่างเหินจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที
Nature Deficit Disorder (NDD) หรือ โรคขาดธรรมชาติ กำลังเป็นสภาวการณ์ที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลานอกบ้านสัมผัสธรรมชาติ ทำให้มีปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ เช่น สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เติบโตเป็นคนที่ขาดความละเอียดอ่อนและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (และสรรพชีวิต)
มูลนิธิโลกสีเขียวในฐานะองค์กรทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมานานเกือบ 30 ปี ตระหนักถึงปัญหาและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดกิจกรรม Nature Connection เพื่อเปิดโอกาสให้คนในเมืองได้เรียนรู้เพื่อกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อีก ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบงามในสนามพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เปิดผัสสะใหม่แล้วไปคืนดีกับธรรมชาติ
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวนิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว หรือ ดร.อ้อย ได้เชื้อเชิญให้เรากลับมาช้าลงและแบ่งปันความคิดสำคัญว่า “ตลอดเวลาของกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ เราเชื่อมโยง มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติมาตลอด เรารับรู้ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเพื่อความอยู่รอด ทำให้ผัสสะละเอียดของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตสมัยใหม่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เชื่อมโยงกับธรรมชาติน้อยลง ร่างกายจึงปรับตัวไม่ได้ การตัดขาดจากธรรมชาติกลายเป็นความป่วยไข้สมัยใหม่หรือ Nature Deficit Disorder … ร่างกายของเราครึ่งหนึ่งประกอบด้วยจุลชีพมากมายที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศภายใน ร่างกายจึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา แต่ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสรรพชีวิตอื่นๆ อีกมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึง”
ดร.อ้อยเล่าว่าอันที่จริงมนุษย์มีผัสสะรับรู้อย่างมากมายน่าเหลือเชื่อถึง 54 แบบ แต่การที่เราไม่ได้ใช้ความสามารถเหล่านี้ ทำให้ทักษะค่อยๆ เลือนหายไป อย่างไรก็ตาม หากฝึกฝนผัสสะพื้นฐาน คือ ตา หู จมูก กาย ใจสัมผัส อย่างสม่ำเสมอ ย่อมเป็นประตูนำไปสู่สัมผัสที่หกและผัสสะละเอียดอื่นๆ อันอาจช่วยให้เราค้นพบความลับของโลกมหัศจรรย์ เข้าใจรูปแบบของธรรมชาติและอ่านปัญญาจากธรรมชาติได้ในที่สุด
ช้าช้าหน่อย
ปกติเวลาที่เราอยู่ในภาวะรีบเร่งตื่นตัว คลื่นสมองอยู่ในระดับ Beta (ความถี่ 12-30 Hz) หากอยู่ในความผ่อนคลายและสงบ คลื่นสมองอยู่ในระดับ Alpha (ความถี่ 8-12 Hz) และหากอยู่ในภาวะสมาธิหรือผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง คลื่นสมองจะลดต่ำลงในระดับ Theta (ความถี่ 7 Hz) ซึ่งภาวะที่ค่อนข้างผ่อนคลายนี้เชื่อมโยงกับคลื่นจังหวะของธรรมชาติ (earth heartbeat) ซึ่งมีความถี่ประมาณ 7.8 Hz ดังนั้น การที่เราช้า สงบ และผ่อนคลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง
เยื้องย่างดั่งหมาจิ้งจอก
การมีชีวิตในป่าโดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ต้องมีความตื่นตัวสูง ใช้ประสาทสัมผัสอย่างละเอียด เพื่อความอยู่รอดของตนเอง แต่ทุกวันนี้ การเดินของเราเปลี่ยนไปจากบรรพบุรุษ คนส่วนใหญ่เดินด้วยส้นเท้า (ใช้ส้นเท้าลงก่อน) ทำให้เกิดแรงกระแทกที่หัวเข่า ปวดหลัง ทั้งยังสร้างแรงกระเพื่อมออกไปภายนอก (สัตว์แตกตื่น) ด้วย การเยื้องย่างดั่งหมาจิ้งจอก (fox walk) จึงเป็นการเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยสัมผัสอ่อนโยน แผ่วเบา โดยใช้จมูกเท้าวางลงบนพื้นเป็นอันดับแรกแทนการลงส้นเท้า การเดินแบบนี้ช่วยลดแรงกระแทกลงอย่างเห็นได้ชัด และช่วยเปิดผัสสะละเอียดบริเวณฝ่าเท้าให้ทำงานได้ดีขึ้น
ปิดดวงตาขยายการรับฟัง
ดวงตาและการมองเห็นเป็นผัสสะหลักที่มนุษย์ใช้ดำรงชีวิต ทำให้ประสาทการรับรู้ด้านอื่นๆทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กิจกรรมการปิดตาเงี่ยหูฟัง แล้วบันทึกเป็นแผนที่ (ภาพ) ของเสียงว่าได้ยินเสียงอะไรบ้าง ตามทิศทาง (เหนือ/ใต้/ตะวันออก/ตะวันตก) คุณภาพของเสียง (ดัง/เบา) รวมทั้งระยะห่างของเสียงกับตัวเรา ช่วยฝึกความละเอียดในการใช้หูเพื่อรับฟังเสียงได้ดีขึ้น
มองให้กว้างไกลอย่างนกฮูก
มนุษย์ไม่ได้มองเห็นเพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงขอบเขตในทางกว้าง (ซ้าย-ขวา) ได้ด้วย ความช้าและการฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยพัฒนารัศมีการมองที่กว้างขึ้น สังเกตการเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวเพียงเล็กๆ น้อยๆ ได้ดีขึ้น พี่อ้อยชวนเราฝึกฝนคุณภาพการมองเห็นด้วยกิจกรรมเก็บใบไม้ให้ได้สีเขียว 3 เฉดสี และมีผิวสัมผัส 3 แบบ ทำให้หลายคนสนุกสนานและตื่นเต้นมากที่ได้สังเกตอย่างจริงจังว่าโลกนี้มีความงามที่เรายังไม่สังเกตเห็นอีกมากมายนัก เหมาะใช้เป็นแบบฝึกฝนในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาคุณภาพการมองเห็นอันส่งผลต่อความละเอียดอ่อนทางใจ
เรียนรู้สายใยที่มองไม่เห็น
ตอนที่ ดร.อ้อยพาเดินเล่นในทุ่งน้ำนูนีนอย (พื้นที่ชุ่มน้ำหน้าบ้านที่ตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงพ่อและแม่ผู้ส่งมอบหัวใจความรักธรรมชาติให้ลูก) เราได้เห็นพืชริมทาง พืชริมน้ำหลายชนิด ทุกอย่างมีบทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศเสมอ เช่น คล้าน้ำเป็นแหล่งน้ำหวานของนกกินปลี ดอกไม้ป่าเป็นแหล่งน้ำหวานของผึ้งและผีเสื้อ พื้นที่ชุ่มน้ำมักถูกมองว่าเป็นพื้นที่เฉอะแฉะไร้ประโยชน์ แต่อันที่จริงเป็นพื้นที่พักน้ำ กรองสารพิษ เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนต่างๆ อาทิ ตัวอ่อนแมลงปอที่สามารถกินยุงได้วันละมากกว่าร้อยตัวต่อวัน การมีแหล่งน้ำสะอาดจึงเท่ากับมีแหล่งกำเนิดนักล่ายุงตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพที่สุดไปพร้อมกัน
กิจกรรมในความทรงจำของหลายคนคือการพบเพื่อนใหม่ในป่าจอบ (ป่าที่ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์-อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ที่ปลูกต้นไม้ไว้ในพื้นที่ส่วนตัวเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้) โดยผู้ร่วมกิจกรรมจับคู่สองคน คนหนึ่งปิดตา ส่วนคนที่เปิดตาตั้งจิตเป็นสมาธิ (ดร.อ้อยใช้คำว่าเปิดเรดาร์สแกนไปในธรรมชาติ) มองหาต้นไม้ในป่าที่ส่งกระแสพลังงานมาว่าอยากรู้จักเพื่อน (ที่ปิดตา) ของตน แล้วพาเพื่อนที่ปิดตาไปกอดต้นไม้ต้นนั้น คนที่ปิดตาจะใช้เวลาสัมผัสเพื่อนต้นไม้สักครู่ แล้วถูกนำกลับออกมา เมื่อเปิดตาแล้วจะต้องกลับไปตามหาเพื่อนต้นไม้ต้นเดิมในป่าของตัวเองให้เจอ
สิ่งที่น่าทึ่งคือเกือบทุกคนกลับไปหาเพื่อนต้นไม้ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว บางคนใช้กลิ่นจดจำเพื่อนต้นไม้ของตัวเอง คนที่ถูกปิดตาส่วนใหญ่บอกว่า ได้เพื่อนต้นไม้แบบที่ตัวเองชอบจริงๆ บางคนได้รับข้อความสื่อสารทางใจจากเพื่อนต้นไม้ของตัวเองด้วย Meet the Tree จึงเป็นกิจกรรมที่ชวนให้กลับมาใคร่ครวญว่า เรื่องราวในธรรมชาติบางอย่างอาจอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่จริง ทั้งยังยืนยันด้วยว่า “สายใยความผูกพันของคนกับธรรมชาติ” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม และทุกคนต่างมี “ต้นไม้เพื่อนรัก” อย่างน้อยคนละหนึ่งต้นแล้วในช่วงชีวิตนี้
สรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนเกี่ยวพัน
วันต่อมาเป็นการฝึกฝนให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติในพื้นที่จริงสองแห่ง คือ วัดถ้ำผาปล่องซึ่งเป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติภาวนา ด้วยภูมิประเทศของเทือกเขาหินปูนที่มีปล่องโล่งเหมือนห้องขนาดใหญ่ จึงสงบเงียบและมีพลังงานเชิงบวก ส่งเสริมให้เข้าถึงความสงบได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว ทุกคนได้ฝึกประสบการณ์ตรงเปิดผัสสะเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เรียนรู้ความสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้ง ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัย เช่น ต้นไม้ใหญ่กับกล้วยไม้หรือเฟิร์น ความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ต้นไม้ชนิดที่เป็นกระเปาะให้มดแมลงมาอยู่อาศัย โดยต้นไม้ได้ประโยชน์จากเศษอาหารกลายเป็นดิน ความสัมพันธ์แบบปรสิต เช่น ต้นไทรที่รัดต้นไม้เดิมจนตาย และความสัมพันธ์แบบย่อยสลาย เช่น เห็ดราย่อยสลายกิ่งไม้ใบไม้ให้กลายเป็นดิน เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เมื่อต้นไม้ปลดปล่อยออกซิเจนออกมา เราหายใจเข้าไป เราและต้นไม้จึงเป็นดั่งลมหายใจเดียวกัน เช่นเดียวกับเสียงซัดสาดของลำธารอันเป็นลมหายใจของสายน้ำที่เปรียบดังการเติมอากาศเพื่อให้สรรพชีวิตในน้ำได้เจริญเติบโต
หากมองด้วยสายตาธรรมดา ลำธารก็เป็นเพียงแค่สายน้ำ ดร.อ้อยจึงชวนเราพลิกก้อนหินมองหาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในลำธาร แล้วมองผ่านแว่นขยายซึ่งเปรียบดังตาวิเศษเพื่อพินิจชีวิตเหล่านั้น มีทั้งตัวอ่อนแมลงชีปะขาว แมลงเกาะหินจั๊กกะแร้ฟู แมลงหนอนปลอกน้ำ ซึ่งเป็นดัชนีแสดงคุณภาพของน้ำว่าสะอาดมาก
ความรู้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก เมื่อเรารักสิ่งใดแล้วเราย่อมอยากรักษาให้สิ่งนั้นคงอยู่ยาวนานที่สุด
การได้มีประสบการณ์ตรงกับการผ่านกิจกรรมนักสืบสายน้ำฉบับย่อ ทำให้เรามองลำธารไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเรารู้แล้วว่านี่คือบ้านของสรรพสิ่งมากมาย เรารู้ว่าก้อนหินคือปอดของลำธาร เราจึงไม่เก็บหินออกไปและไม่เรียงหินเล่นเป็นชั้นๆ และเราย่อมเรียนรู้แล้วว่าการทำฝายไม่ใช่วิธีการแสดงความรักต่อผืนป่าและสายน้ำเสมอไป หากขาดความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอ
เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์
เมื่อพี่อ้อยให้ทุกคนได้ใช้เวลาส่วนตัวอยู่ลำพังเพื่อฝึกเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับผืนป่าและธรรมชาติ บางคนเลือกที่จะนอนใต้ต้นไม้ บางคนนั่งอยู่ริมน้ำ ฉันเลือกเดินตามลำธารลงไปให้ห่างไกลผู้คน นั่งลงบนก้อนหินกลางน้ำ ทอดสายตาผ่อนคลายไปในผืนป่า สะดุดตากับต้นไม้ใหญ่สูงสง่าต้นหนึ่งราวกับมีพลังดึงดูดให้เข้าใกล้ เวลานั้นป่าร่มครึ้มดูเขียวเข้มไปหมดเพราะอากาศครึ้มฝน แต่อยู่ๆ แดดก็เจิดจ้าขึ้นมา ลำแสงจากดวงอาทิตย์ส่องประกายฉายฉานความงามให้ผืนป่ามีชีวิตชีวาด้วยสีเขียวหลายเฉดสีปรากฏขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ ฉันรู้สึกได้รับข้อความจากป่า “ต้นไม้ทุกต้นมีศักยภาพในการเติบโตแบบของตัวเอง มีจังหวะในแบบของตัวเอง ทุกครั้งเมื่อโอกาสมาถึง จงเติบโต (go) เบ่งบาน (grow) และเปล่งประกาย (glow)” เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ฉันรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งเหลือเกิน
เพื่อนคนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ว่า ตอนที่เธอนอนหลับตาอยู่ใต้ต้นไม้ ตั้งจิตว่าต้องการได้รับพลังจากผืนป่า เธอรู้สึกราวกับตัวเองค่อยๆ เติบโตขึ้นเหมือนต้นไม้แทงยอดขึ้นไปหาแสงอาทิตย์ จนดวงตาร้อนผ่าว เสมือนกับตัวเองได้กลายเป็นต้นไม้ที่สังเคราะห์แสงจริงๆ บางคนเกลียดกลัวแมลงทุกชนิด แต่เมื่อหลับตากอดต้นไม้ เธอยอมเปิดใจและไว้วางใจ จนรู้สึกได้ถึงการโอบอุ้มคุ้มครอง บางคนมีโลกส่วนตัวสูงมาก แต่เมื่อเรียนรู้เชื่อมโยงโลกด้วยความวางใจ เธอพบว่ามิตรภาพนั้นอยู่รอบตัว ถึงกับพูดว่า “ราวกับได้ดวงตาใหม่” ทั้งดวงตาทางกายภาพและทางจิตใจ ทำให้เห็นว่าโลกใบนี้งดงามและมีความมหัศจรรย์อยู่ในสรรพสิ่งเล็กน้อยรอบตัวแทบทั้งสิ้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยมองเห็นเท่านั้นเอง
เพื่อนบางคนถึงกับหลั่งน้ำตาปิติที่ได้รับความไว้วางใจจากธรรมชาติ เมื่อเธอสามารถเข้าใกล้ผีเสื้อตัวหนึ่งได้จนบินมาเกาะที่มือ
“ตอนแรกยื่นมือไปได้ใกล้มากแล้วผีเสื้อบินหนี เราถอดใจแล้ว แต่ปรากฏว่าเขาบินกลับมาเกาะมือของเราเอง ลองขยับมือแล้วก็ไม่บินไปไหน เขาอยู่นิ่งๆ ให้เรามองจนพอใจ ตอนนั้นน้ำตาไหลเลย ทั้งดีใจ ทั้งตื้นตันใจ ความรู้สึกได้รับความไว้วางใจมันเป็นแบบนี้เอง เราคิดว่าเราได้เพื่อนใหม่ หรืออาจเรียกว่าญาติเลยก็ว่าได้”
อ่านธรรมชาติ มองเห็นปัญญาอนาคต
การเรียนรู้ในปัจจุบันเป็นการเรียนรู้ผ่านความคิดด้วยหัว (สมอง) แต่การเรียนรู้ในแบบที่ ดร.อ้อยเปิดประตูให้พวกเราเป็นการเรียนรู้ด้วยหัวใจผ่านประสบการณ์จริง เพราะรอยประทับ (ใจ) นั้นจะคงอยู่กับเราเสมอไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ความรู้หรือนวัตกรรมหลายอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีแรงบันดาลใจและใช้หลักการจากธรรมชาติ เรียกว่า ชีว ลอกเลียน (Biomimicry) เช่น ตีนตุ๊กแก (แถบแปะที่รองเท้าหรือเสื้อผ้า) ที่พัฒนามาจากเมล็ดพืชที่มีหนามตะขอรอบตัว เสื้อผ้ากันน้ำหรือสีทาบ้านที่พัฒนามาจากใบบัว (ไม่เปียก/ไม่เปื้อน) หรือการสร้างบ้านด้วยหินปูนที่เลียนแบบปะการัง เป็นต้น ดังนั้น สถานการณ์ของโลกที่วิกฤติรุนแรงขึ้นทุกทีนั้น เราไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีคิดแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะโลกใบนี้ยังมีปัญญาอนาคตอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในธรรมชาติเพียงรอให้เราเข้าไปค้นให้พบด้วยวิธีคิดและการรับรู้ใหม่
“การที่เราปล่อยให้ร่างกายได้เชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัว มันนำมาสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อชีวิตอื่นๆ และพลิกจิตสำนึกบางอย่างขึ้นมาได้ เหมือนเราได้เชื่อมโยงกับต้นไม้และตระหนักรู้แล้วว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ ความตระหนักรู้แบบนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการกระทำ เราจะไม่ใช้ชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป” ดร.อ้อยกล่าวทิ้งท้าย การมีความรู้เพื่ออ่านธรรมชาติได้ (ecological literacy) จึงเป็นสะพานอันสำคัญที่นำพามนุษย์ไปเรียนรู้ เข้าใจและอยู่ร่วมกับสรรพชีวิตได้อย่างเป็นมิตรมากขึ้น เพื่อให้สรรพชีวิตดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ความงามและความมหัศจรรย์ของโลกจึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่เสมอไป หากเพียงเรามีสะพานเชื่อมดวงใจได้ ความวิเศษนั้นย่อมปรากฏกายในทุกเวลา
ฝึกกิจกรรม Nature Connection ประจำวันเลือกมุมโปรดที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติใกล้บ้านที่เข้าถึงง่ายทุกวัน ผ่อนคลาย สังเกตธรรมชาติอย่างละเอียดผ่านประสาทสัมผัสทุกด้าน ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ผิวกายสัมผัส เลือกโจทย์ในแต่ละวัน เช่น สังเกตเฉดสีเขียวของใบไม้ ฟังเสียงรอบตัว รู้สึกถึงลมผ่านใบหน้า เฝ้าดูพฤติกรรมนกหรือแมลง หรือฝึกร่วมกับการภาวนา แล้วจดบันทึกเป็นเรื่องเล่าประจำวันกิจกรรม Nature Connection จัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบผัสสะต่างๆ ในร่างกายไปสู่ความละเอียดขึ้นจนเชื่อมโยงกับสรรพชีวิตและพบความมหัศจรรย์ในธรรมชาติได้ จัดขึ้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดตามข่าวสารในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปได้ที่ facebook: มูลนิธิโลกสีเขียว ที่มา: มูลนิธิโลกสีเขียว ปรับจาก 8-shields Institute |