- บทความภาคต่อจากโรงเรียนธรรมชาติโดย เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ครูสอนธรรมชาติศึกษา ที่สอนเรื่องเล็กๆ ในธรรมชาติ หวังให้เด็กๆ ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับความเข้าใจเรื่องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
- ประเด็นสำคัญของบทความตอนนี้คือการตอบคำถามยอดนิยมอย่าง ทำไมต้องเรียนวิชาธรรมชาติ, วิชาธรรมชาติมีอะไรบ้าง และเรียนแล้วต้องไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเปล่า? จากครูเกรียง
- รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่เห็นผลได้ชัดจากการนำเด็กๆ ออกนอกห้องเรียนปกติไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติ
ทำไมต้องเรียนวิชาธรรมชาติ, วิชาธรรมชาติมีอะไรบ้าง และเรียนแล้วต้องไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเปล่า? มักจะมีคนสอบถามผมเสมอๆ ว่าเรียนธรรมชาติไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร?
คำตอบแบบสั้นๆ และง่ายที่สุดก็คือ
“ถ้าเรายังหายใจอยู่และลมหายใจเรามาจากธรรมชาติ เราไม่คิดอยากจะทำความรู้จักกับธรรมชาติเลยเหรอ”
ดูเหมือนง่ายแต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี
เรามีโรงงานผลิตโน่นนี่นั่นมากมายมหาศาลเล่าเป็นปีก็ไม่จบว่ามนุษย์เราผลิตอะไรได้บ้างที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่เชื่อไหมว่ายังไม่มีโรงงานไหนคิดค้นและผลิต ‘ออกซิเจน’ ได้เลย
มีเพียงโรงงานเดียวที่ ‘ธรรมชาติ’ ตั้งขึ้นและตั้งมาตั้งแต่หลายพันล้านปีที่แล้วที่ริเริ่มสร้างโรงงานนี้ แม้ในช่วงต้นออกซิเจนที่ผลิตได้จะยังเป็นสารพิษของสิ่งมีชีวิตบางชนิดอยู่ แต่เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนานกลไกชีวิตต่างๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองจนอยู่ในภาวะที่เหมาะสม บรรพบุรุษของมนุษย์ (Homo) เรามีชีวิตอยู่ในช่วงสองล้านปีเศษที่ผ่านมาเท่านั้นเองหลังจากตั้งโรงงานมานานมากแล้ว
โรงงานนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่มีพนักงานที่อยู่ในสายพานการผลิตหลายล้านตำแหน่ง แต่ละแผนกต่างทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงเวลาของตัวเอง ใครอยู่กะกลางคืนก็ทำหน้าที่กลางคืนไป ใครอยู่กะกลางวันก็ทำหน้าที่กลางวันไป พนักงานบางตำแหน่งมีรูปร่างเล็กจิ๋วเท่าฝุ่นละออง บางตำแหน่งมีร่างกายใหญ่ยักษ์ยาวกว่า 30 เมตร ทุกตำแหน่งต่างทำงานในหน้าที่ของตนอยู่ในฟันเฟืองของธรรมชาติ
งานหลักๆ เท่าที่เราจะพอมองเห็นได้เช่นแมลงต่างๆ ทำหน้าที่ในการผสมเกสรพืชพันธุ์ พอติดผลออกลูกจนสุกงอม นก กระรอก ชะนี ค้างคาว เก้งกวาง และสัตว์อื่นๆ ก็พากันมา นำพาเมล็ดหว่านกระจายไปยังที่ต่างๆ ไม่ให้กระจุกกันอยู่บริเวณโคนต้นแม่
เห็ดราปลวกหนอนด้วงพากันช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์ที่ล้มตายระเกะระกะในป่าให้เน่าเปื่อยรวดเร็วมากขึ้น เพื่อจะได้ปุ๋ยไปบำรุงต้นที่ยังยืนหยัดอยู่ หรือเมล็ดที่จะรอวันงอกเจริญเติบโตต่อไป
ทุกชีวิตทุกหน้าที่กำลังดำเนินไปในโรงงานยักษ์นี้เหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อให้โลกได้มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นๆ ทั้งพนักงานที่อยู่ในโรงงานเองและชีวิตอื่นที่รายล้อมอยู่ท่ามกลางโรงงานยักษ์
เราเป็นมนุษย์เราได้เห็นอะไรบ้าง และเราได้เข้าใจกลไกของโรงงานนี้มากน้อยแค่ไหน เราใช้ประโยชน์จากโรงงานนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อเราได้ประโยชน์มากมายขนาดนี้เราจะไม่ดูแลโรงงงานนี้เลยหรือ และเราจะดูแลโรงงานและพนักงานทุกชีวิตที่กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างขะมักเขม้นนี้อย่างไรถึงจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปจนถึงลูกหลานเหลนของพวกเรา
การเรียนเรื่องธรรมชาติก็เพื่อให้เราได้เข้าใจธรรมชาติให้ลึกซึ้งและสามารถดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในสายเลือดของมนุษย์เราทุกคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือนักวิจัยธรรมชาติ ไม่ใช่นักชีววิทยาหรือผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้
เด็กทุกคนควรจะต้องเรียนรู้ทำความรู้จักกับขบวนการการทำงานของโรงงานนี้ตั้งแต่ยังเด็กๆ ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ด้วยซ้ำเพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องอยู่กับพวกเขาในอนาคต หากละเลยจนกว่าเขาจะรู้ว่ามันจำเป็นก็สายไปแล้ว
นี่เป็นเหตุผลเดียวของมนุษยชาติที่จะเอาชีวิตรอดในยุคข้างหน้า ก็คือการรักษาโรงงานนี้ไว้ให้ยาวนานและยั่งยืนมากที่สุด
นี่น่าจะเป็นคำตอบที่พอจะเข้าใจได้สำหรับคำถามว่าจะเรียนเรื่องธรรมชาติไปทำไม ส่วนผลพลอยได้เรื่องอื่นๆ เช่นเด็กๆ ที่ผ่านการเรียนเรื่องพวกนี้ในธรรมชาติมาสักระยะหนึ่งจะมีความเข้าใจเรื่องชีววิทยาได้ดีมากขึ้น เมื่อเขาเรียนในระดับที่สูงขึ้นไม่มีผลวิจัยอะไรมายืนยัน แต่จากการสอนเด็กๆ ในโรงเรียนมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา ได้เห็นเด็กอนุบาลเด็กประถมที่เข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยหลายคนมีความชื่นชอบและทำคะแนนได้ดีในสาขาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเห็นเองและผู้ปกครองประเมินให้ฟัง
ผู้ปกครองบางท่านหันมาเปิดโรงเรียนระดับอนุบาลและประถม และนำเอาวิชาธรรมชาติเข้ามาอยู่ในหลักสูตร หลังจากมีความมั่นใจและเห็นผลกับลูกของตัวเองที่ได้ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติมากับโรงเรียนทางเลือกที่ผมสอนอยู่
มีโรงเรียนอนุบาลสองแห่งที่ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียงสามสี่ปีที่ผ่านมานำขบวนการเรียนการสอนในเรื่องของธรรมชาติเข้าสู่ภายในโรงเรียน นำเด็กนักเรียนออกนอกห้องเรียนปกติไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติมากขึ้น
มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวเด็กหลายด้านทั้งในด้านการเรียนรู้ เด็กๆ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น มีข้อสงสัยและมีการตั้งคำถามมากขึ้น ลดความกังวลความกลัวในเรื่องบางอย่างในธรรมชาติ
ถามว่าเมื่อไม่ได้อยากให้ลูกๆ ทำงานในด้านนี้ ไม่ได้อยากให้ลูกๆ เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้อยากให้ลูกๆ มาเป็นนักวิจัยสัตว์ป่า นักวิจัยพันธุ์พืช จำเป็นต้องให้ลูกมาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยหรือ
คำตอบอยู่ในตอนต้นของบทความนี้แล้วครับ
หมายเหตุ: อ่านบทความ โรงเรียนธรรมชาติ ของครูเกรียง ย้อนหลังได้ที่นี่
โรงเรียนธรรมชาติ: ธรรมชาติคือครูที่สุดยอด เด็กๆ ต้อง ‘ปลอดสายตา’ พ่อแม่บ้าง
โรงเรียนธรรมชาติ: รู้จักชีวิตที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ