- โรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ยึดหลักนักเรียนเป็นใหญ่ นักเรียนต้องไม่เป็นแค่นักเรียน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารงานต่างๆ ของโรงเรียน รวมถึงเป็นคนสอบสัมภาษณ์น้องใหม่และคัดเลือกครูที่อยากเข้าสอน
- โรงเรียนมีชัยพัฒนามุ่งเน้นสร้างให้นักเรียนเป็นนักพัฒนาชุมชนที่สามารถบริหารธุรกิจในชุมชนของตัวเองโดยไม่ต้องไปทำงานในเมือง และใช้การทำธุรกิจเกษตรบนฐานคิดของผู้ประกอบการสังคม (SE) เป็นเครื่องมือ
- บทความชิ้นนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นวิธีกระตุ้นให้นักเรียนมีนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ หัวใจหลักคือ ‘นักเรียนต้องได้ทำจริง’ – ทำธุรกิจจริง ลงสนามบริหารโรงเรียนจริง
- “การได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้เหมือนเป็นการสะสมทักษะ การเรียนที่นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เจออะไรก่อน ได้รู้อะไรก่อน ทำให้หนูมีมิติในความคิดมากขึ้น เราพร้อมที่ออกไปเจออะไรก่อนเพื่อนคนอื่น แทนที่จะรอ เราสะสมประสบการณ์ เราพร้อมเริ่มต้นได้แบบไม่ต้องรอเวลา”
หลายคนมักพูดว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง ถ้านับเวลาแบบเร็วๆ เริ่มต้นตั้งแต่อนุบาล ผ่านช่วงประถม มัธยม เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เราใช้เวลาไปกับการเรียนหนังสือประมาณ 20 ปี จำนวนตัวเลขที่มากเช่นนี้ สร้างประสบการณ์ต่างๆ รวมกันจนกลายเป็นบุคลิก นิสัย และความคิดอ่านบางอย่างติดตัวมา
ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา จากบทเรียน ตัวละครต่างๆ เรื่องราวและความสัมพันธ์ ทั้งหมดทั้งมวลค่อยๆ หล่อหลอมและสร้างตัวตนของเราให้ชัดเจนขึ้น
ฉะนั้นประโยคสุดคลาสสิก ‘โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง’ อาจไม่สำคัญเท่าคำถามที่ว่า “แล้วบ้านหลังนั้นจะสร้างเราให้เป็นแบบไหน”
แน่นอนว่า ‘บ้านแต่ละหลัง’ มีจุดดีจุดเด่นแตกต่างกัน สำคัญกว่าคือ ‘ความต่าง’ นั้นตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อโลกการศึกษาปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุค disruption โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้อายุสั้นลง เกิดอาชีพใหม่ๆ รวมถึงทักษะใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในเมื่อโลกไม่เหมือนเก่า จากโทรศัพท์ตั้งโต๊ะกลายเป็นโทรศัพท์มือถือ
“โรงเรียนจึงไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้องค์ความรู้กับเด็กนักเรียนเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่จะต้องขยายขอบของตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู หรือชุมชนด้วย” ประโยคสำคัญของ ดร.มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้ง และกลายมาเป็นเป้าหมายหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนา
โรงเรียนมีชัยพัฒนา ตั้งอยู่ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยรูปแบบเป็นโรงเรียนประจำ เปิดสอนระดับมัธยมตั้งแต่ ม.1-6 ปัจจุบันมีนักเรียนราว 180 คน
นอกจากเป้าหมายที่ชัดเจน หัวใจหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนาคือการกระตุ้นให้นักเรียนมีนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
“โรงเรียนต้องทำตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางพัฒนาชุมชน โรงเรียนไม่ควรแยกส่วนกับชุมชน โรงเรียนต้องเป็นประตูไปสู่ความเจริญของหมู่บ้าน” ดร.มีชัย ย้ำ
ทักษะเกิดจากการลงมือทำ
‘ทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา’ ส่วนหนึ่งใน soft skills ที่จำเป็น เมื่อการศึกษาเดินเข้าหาศตวรรษที่ 21 นอกจากวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรตามที่กระทรวงศึกษากำหนดอย่าง คณิตศาสต์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา คือ การให้เด็กเรียนรู้การบริหารโรงเรียนด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสามารถและช่วยเด็กสะสมประสบการณ์ชีวิต
นุ่น-จิตตินี คำมินทร์ นักเรียน ม.7 ชั้น Pre-degree* อดีตคณะมนตรีของโรงเรียน เล่าว่า
“หนูเคยทำงานเป็นคณะมนตรี ได้ช่วยครูในการบริหารงาน เช่น การจัดซื้อของ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ซื้อมา หนูไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในเดือนหนึ่งโรงเรียนใช้เงินเท่าไร ซื้ออะไรเข้ามาบ้าง แต่ที่นี่นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะถาม มีสิทธิจะรู้ ว่างบประมาณก้อนนี้ใช้ไปกับอะไร ค่าน้ำค่าไฟเท่าไร เป็นความรู้ด้านบริหารจัดการภายในที่ไม่คิดว่าเด็กจะได้ทำ”
การจัดตั้ง ‘คณะมนตรี’ นักเรียนจะถูกแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ เช่น ‘คณะจัดซื้อ’ จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าแต่ละเดือนโรงเรียนจะต้องซื้ออะไรบ้าง ซื้อในจำนวนเท่าไร ‘คณะตรวจรับ’ จะทำหน้าที่ตรวจสอบคณะจัดซื้ออีกที ดูว่าสินค้ามีคุณภาพตามต้องการหรือไม่
ข้อดีของโลกจำลองการบริหารใบนี้ ทำให้นักเรียนรู้จังหวะความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโรงเรียน เช่น เดือนนี้ค่าน้ำค่าไฟพุ่งสูง, เบิกใช้กระดาษชำระไปจำนวนมาก, นำไปสู่การทำงานคณะมนตรีในฐานะผู้นำที่ต้องวางแผนนโยบายให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนช่วยกันประหยัด
ทั้งหมดทั้งมวลเด็กๆ จะได้ให้ทดลองทำงานบริหารจริง ไม่ต่างจากนักการเมืองในสภา ผ่านการทำงานร่วมกับครูและเพื่อน ได้ใช้ทักษะประสานงานและสื่อสาร พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและเพิ่มภาวะผู้นำ
นอกจากนี้คณะมนตรียังมีอำนาจในการคัดเลือกครูผู้สอนที่สมัครเข้ามาด้วย การคัดเลือกครูทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน เพราะนักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้สอบสัมภาษณ์ และพิจารณาผ่านการทดลองสอนหน้าชั้นเรียนของครู รวมถึงร่วมสอบสัมภาษณ์นักเรียน ม.1 อีกด้วย
เกษตรเป็นจุดเริ่มต้นสร้างทักษะง่ายที่สุด
นักเรียนต้องไม่เป็นแค่นักเรียน แต่ควรเรียนที่จะเป็นนักธุรกิจ นักกิจการเพื่อสังคม นักพัฒนาชนบท ที่สามารถบริหารธุรกิจอยู่ในชุมชนของตัวเองได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ภารหลักกิจหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนาคือการรวมโรงเรียนและชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างชุมชนและโรงเรียนจะต้องเกิดการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ นำไปสู่หลักสูตรที่ว่าด้วย Social Entrepreneur (SE) หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม
“นักเรียนต้องเรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่มัธยม” คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้เกิดความพยายามผลักหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม (SE) ให้เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการสอน ผ่านการทำอาชีพต่างๆ โดยเริ่มต้นที่การเกษตร
“เพราะการเกษตรเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่าย ใกล้ตัว และเห็นผลจริง ที่สำคัญการทำการเกษตรให้เป็นธุรกิจ ยังสามารถขยายผลไปให้สู่ชุมชนได้อีกด้วย” ดร.มีชัย อธิบายว่าทำไมต้องเป็นการเกษตร
บริเวณด้านหลังของโรงเรียนจึงเขียวไปหมดด้วยพื้นที่ของแปลงผักในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ (ผักไร้ดิน) ผักสวนครัว รวมถึงผลไม้อย่างเมล่อน ที่นี่เด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 จะได้เรียนรู้การผสมดิน อัดเห็ด เพาะเห็ดในโรงเพาะ ปลูกผักบุ้ง หรือผักชนิดอื่นๆ ทดลองตั้งแต่ต้นกระบวนการ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต จากนั้นนักเรียนจะนำผลผลิตที่ได้ส่งต่อไปให้โรงครัวเพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือส่งออกขายสู่ตลาด สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ
นอกจากการต่อยอดด้านธุรกิจเกษตรแล้ว บทบาทของเนื้อหาด้าน ผู้ประกอบการสังคม (SE) ยังถูกยกระดับขึ้นไปอยู่ในหลักสูตรขั้นเตรียมมหาวิทยาลัย (Pre-degree) อีกด้วย
“โรงเรียนเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากขึ้น ให้เราได้ค้นพบตัวเองว่าเราเหมาะกับอะไร และควรไปอยู่ตรงจุดไหน” นุ่นบอก
“การได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้เหมือนเป็นการสะสมทักษะ การเรียนที่นี่ทำให้รู้สึกว่าเราได้เจออะไรก่อน ได้รู้อะไรก่อน ทำให้หนูมีมิติในความคิดมากขึ้น เราพร้อมที่ออกไปเจออะไรก่อนเพื่อนคนอื่น แทนที่จะรอ เราสะสมประสบการณ์ เราพร้อมเริ่มต้นได้แบบไม่ต้องรอเวลา”
ปัจจุบันนุ่นกับเพื่อนๆ รวมตัวกันทดลองทำธุรกิจด้านเกษตรตามนโยบายของโรงเรียน เป็น ‘ธุรกิจรับซื้ออาหาร’ ดำเนินงานโดยนักเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์
“เดิมทีโรงเรียนเคยซื้อกับพ่อค้าคนกลาง แต่หนูกับเพื่อนๆ จะเป็นตัวแทนออกไปซื้ออาหารหรือวัตถุดิบกับชาวบ้านในชุมชนเองโดยตรง ซึ่งจะได้ในราคาที่ถูกกว่า ผลลัพธ์คือโรงเรียนจะได้สินค้าที่สดใหม่ ในราคาที่ถูกลง และนักเรียนได้กำไรส่วนต่าง (ยิ้ม)” นุ่นอธิบาย
ความฝันของนุ่นคือการกลับไปทำธุรกิจในบ้านเกิด
“หนูเกิดที่จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ถ้าหนูมีที่ดินสักผืน จะแบ่งทำรีสอร์ท มีฟาร์มเกษตร มีแหล่งเรียนรู้ชุมชนอยู่ในตัว นั่นคือความฝันที่วางไว้ แต่ตอนนี้หนูเรียนอยู่ ก็อยากจะทำธุรกิจเล็กๆ กับโรงเรียนไปก่อน ตั้งใจเก็บเงินเพื่อวันหนึ่งจะได้ทำตามความฝันของตัวเอง และจะนำทักษะที่ได้เรียนจากโรงเรียนไปทำงาน” นุ่นย้ำ
Pre-degree คือ หลักสูตรนำร่องสู่หลักสูตรขั้นเตรียมมหาวิทยาลัย โรงเรียนมีชัยพัฒนาหลักสูตรโดยร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ตั้งแต่ปี 2557 เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความตั้งใจจะกลับไปทำธุรกิจพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองหรือมีความฝันอยากทำธุรกิจในจังหวัดบ้านเกิด เด็กที่เรียนจะต้องเรียนเนื้อหาด้านปริญญาตรีควบคู่กับวิชาพื้นฐานไปด้วย เริ่มเรียนตั้งแต่ ม.4 โดยขยายระยะเวลา 2 ปี (นับจากจบ ม.6) จึงจะสามารถสำเร็จในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ศิลปศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Arts Program in Social Entrepreneur) |