- มายาฤทธิ์ อาจจะเป็นโรงละครสำหรับเด็กแห่งเดียวในประเทศไทย
- การมีและอยู่ของโรงละครมายาฤทธิ์ ย้ำถึงความสำคัญของ space สำหรับเด็ก และยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของว่าเด็กในการเข้าสู่นันทนาการสร้างสรรค์ ซึ่งสังคมแทบมองไม่เห็น
- ทำไมต้องมีโรงละคร? เพราะละครสร้างทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 คือ เมื่อเด็กได้ดู ฟัง รู้สึก เด็กจะคิด เข้าใจ นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathy
“ทำวันนี้ให้เต็มที่…เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
ประโยคเนื้อเพลงจากละครเวทีเรื่อง ‘เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ละครเวทีสำหรับเด็กและครอบครัวแห่งเดียวในประเทศไทย ที่หยิบยกนิทานอีสปจำนวน 9 เรื่อง มาตีความถักทอเนื้อหาใหม่ให้เหมาะแก่ศตวรรษที่ 21 และไม่ลืมชวนเด็กๆ ในฐานะผู้ชมหลักให้ตกตะกอนความคิดผ่านการแก้ปัญหาในสถานการณ์ตามนิทานแต่ละเรื่อง
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้พบสื่อการเรียนรู้ในลักษณะ ‘ละครเวที’ และโรงละครมายาฤทธิ์เป็นหนึ่งในส่วนน้อยนั้น
จุดกำเนิดของโรงละครมายาฤทธิ์อยู่บนพื้นที่แนวคิดการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์และช่วยกระตุ้นจินตนาการให้กับผู้ชมที่เป็นเด็กผ่านบทละครที่สร้างสรรค์ เหมาะสมตามวัยตามพัฒนาการ รวมถึงสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ลุกขึ้นขยับร่างกาย โห่ร้อง ปรบมือ เปล่งเสียงตะโกนตอบโต้กับนักแสดงบนเวทีได้อย่างเป็นอิสระและเป็นสุขมากกว่าบังคับให้นั่งดูนิ่งๆ
The Potential ชวนถอดรหัสผ่านคำสัมภาษณ์ของ สมศักดิ์ กัณหา ผู้จัดการโรงละครมายาฤทธิ์ ถึงกระบวนการสร้างละครเวทีสำหรับเด็กโดยเฉพาะ รวมถึงไอเดีย วิธีคิด และความเชื่อที่มีต่อการเรียนรู้และพลังของนิทาน เพียงช่วงเวลาเกือบสองชั่วโมงก่อนเสียงเจื้อยแจ้วหรรษาของเด็กๆ และผู้แสดงจะลาไป ละครเวทีเรื่องนี้ได้ส่งต่อความคิดอะไรให้พวกเขา รวมถึงพ่อแม่ที่มานั่งชมไว้บ้าง
จุดเริ่มต้นของโรงละครมายาฤทธิ์มีที่มาที่ไปอย่างไร
โรงละครมายาฤทธิ์ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เราทำละครเล่นตามโรงเรียน ชุมชน หรือหอศิลป์ต่างๆ ด้วยความคิดที่ว่าการพัฒนาเรื่องการศึกษา จำเป็นต้องมี ‘นิเวศสื่อ’ นิเวศสื่อ หมายถึงการสร้างความสมดุลในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ใช้สื่อและผู้สร้างสื่อกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งมีผลช่วยสร้างคุณภาพของชุมชน
เริ่มแรกที่ก่อตั้งเราวางวัตถุประสงค์ไว้ว่า อย่างน้อยเป็นสิ่งที่เรียกว่าพัฒนาผู้เสพสื่อดี คือ audience development สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 31 ที่ระบุว่า รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็กและการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทางวัฒนธรรมและศิลปะ และ รัฐภาคีจะเคารพและส่งเสริมสิทธิของเด็ก ที่จะเข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทางวัฒนธรรมและศิลปะสนับสนุนการใช้โอกาสที่เหมาะสมเท่าเทียมกันสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมศิลปะ สันทนาการ และการพักผ่อนหย่อนใจ
ดังนั้นโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เด็กจะมีสื่อนันทนาการที่สร้างสรรค์ เด็กเข้าถึงสื่อและมีส่วนร่วม มันจึงต้องมีสเปซที่เด็กๆ เข้าถึงหรือเปล่า นั่นก็เลยเป็นที่มาของการจัดตั้งโรงละครมายาฯ ซึ่งมันมันเป็นโมเดล ที่นำไปพัฒนาในทุกจังหวัดได้ จะมีประโยชน์กับการพัฒนาเด็กมาก
ถ้ารัฐใช้วัฒนธรรมหรือศิลปะนำพาการพัฒนาสังคมหรือส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มันต้องมี theatre มี space สำหรับเด็ก โรงละครมายาฤทธิ์เป็ญสัญลักษณ์ว่าเด็กมีสิทธิเข้าสู่นันทนาการสร้างสรรค์ ซึ่งเดิมสังคมมันมองไม่เห็น
แสดงว่าตั้งแต่ปี 2558 ที่โรงละครมายาฤทธิ์ เริ่มทำงาน ตั้งธงไว้กับ ‘เด็ก’ ตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม
ตัวสถาบันศิลปะและการพัฒนาฯ เริ่มจัดตั้งตั้งแต่ปี 2524 มีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน เราคิดว่าละครเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ theatre หรือโรงละครนี่ล่ะจะช่วยได้ โดยเริ่มจากการมีละครไปเล่นตามชุมชนแออัดห่างไกลและในโรงเรียน หลังจากนั้นก็พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กไปเรื่อย เช่น มี workshop กับกลุ่มเยาวชน ครู ครอบครัว ก็มีเครื่อข่ายร่วมกันเป็นพันๆ ครั้ง ใน 30 กว่าปี เกิดเป็นเครือข่ายด้านการพัฒนาเด็กขึ้น
ทำไมเชื่อในศาสตร์ของ theatre คิดว่าละครเป็นเครื่องมือที่ดีในการสื่อสารได้อย่างไร
เวลาเราพูดถึงละคร มันเป็นการเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองต่างๆ เพราะฉะนั้นอันดับแรก ละครมันทำให้คนได้คิด พอเขาคิดเขาก็จะสามารถวิเคราะห์ ประเมินคุณค่าแล้วก็หาทางเลือกกับการแก้ปัญหาต่างๆ อันดับที่สอง ละครจะทำให้เราเข้าใจคนอื่น เพราะละครเป็นการมองเรื่องราวผ่านมุมมองอื่น เห็นมุมมองของตัวละครแต่ละตัว
การเข้าใจคนอื่นมันสำคัญมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่มีวาทกรรมที่ทำให้คนเกลียดกันมากโดยที่ไม่จำเป็นเลย ยังไม่เห็นหน้ากันเลย ได้ยินก็เกลียดกันแล้ว การที่เราเข้าใจคนอื่นมันจำเป็นมากในสมัยใหม่
อันดับที่สามที่ผมว่าสำคัญ ละครมันสร้างสิ่งที่เรียกว่า empathy หรือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะของโลกศตวรรษที่ 21 คุณธรรมเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นในใจของเราได้อย่างไร ความเมตตา ความเสียสละ ความตระหนัก หรือความห่วงใยมันจะมาได้อย่างไร – ละครทำได้ เพราะฟังก์ชั่นของละครคือการมอบข่าวสารแล้วก็ให้อารมณ์ ความรู้สึก มันก็เลยก่อให้เกิดทัศนคติ สร้าง empathy ของเด็กได้ โดยธรรมชาติของละครมันเป็นอย่างนี้แล้ว
แล้วละครเรื่อง ‘เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ต้องการจะสื่อสารอะไร
‘เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ เป็นการรวบรวมละครอีสปทั้ง 9 เรื่องไว้ คือ 1.อึ่งอ่างกับวัว 2.ลูกปูกับแม่ปู 3.ชาวสวนกับลูก 4.เด็กกับฝูงกบ 5.ลมเหนือกับดวงอาทิตย์ 6.ภูเขาคลอดลูก 7.ค้างคาวกับเพียงพอน 8.เมื่อทหารแตรถูกจับเป็นเชลย และ 9.ลูกแกะในฝูงแพะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันประมาณ 3 เรื่องใหญ่ๆ
อย่างแรกคือเราต้องการเสริม self-esteem ที่ดีกับเด็ก ตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งตน เห็นได้จากเวลานักแสดงช่วยวอร์มอัพเด็ก ทำให้เด็กๆ เปลี่ยนบทบาทจากผู้ชมที่ต้องนั่งเฉยๆ มาเป็นฝ่ายกระทำการ สามารถสั่งให้เวทีเปิดปิดไฟได้ ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันยิ่งใหญ่ในใจเด็ก เขาจะรู้สึกมีส่วนร่วมกับการแสดง มีสิทธิโต้ตอบตลอดเวลา เราสื่อสารกับเด็กโดยตรงกับเขาในฐานะเป็นมนุษย์ ให้เขาได้คิดตัดสินใจเอง เป็นการส่งเสริมให้เด็กมี self-esteem เราเห็นได้จากอากัปกริยาต่างๆ ที่เด็กแสดงออกมา
เป้าหมายอย่างที่สอง คือ self-empowerment หมายความว่า เราเสริมพลังอำนาจให้เด็กสามารถเผชิญกับโลกจริง เรา empower หมดเลย เช่น นิทานเรื่องกบเลือกนาย คติเดิมของนิทานเรื่องนี้บอกว่าไม่ควรเปลี่ยนเจ้านายบ่อยๆ เพราะไม่ดี แต่เราไม่เสนอแบบนั้น เราพยายามตีความใหม่ ให้ self-empowerment เสนอมุมมองใหม่ว่าเราก็สามารถปกครองเราด้วยตัวเราเองได้ ทุกอย่างมันเริ่มที่ตัวเรา เราตัดสิน เราแก้ปัญหาได้
ประเด็นที่สาม คือ การใช้ละครเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระหว่างทำการแสดง จะเห็นได้ว่าเราพยายามเปิดพื้นที่ วิธีคิด กระสวนภาษาใหม่ เช่น ประโยคที่ว่า ‘พรุ่งนี้จะดีกว่าถ้าเราใช้ภาษาให้ถูกต้อง’ ‘พรุ่งนี้จะดีกว่าถ้าเราเห็นอกเห็นใจคนอื่น’ มองว่านี่จะกลายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้-เครื่องมือในการใช้ชีวิตของเด็กเลย
มองภาพรวมไปแล้ว อยากชวนถอดรหัสนิทานในละครสักเรื่องหนึ่ง ว่ามันเกี่ยวกับอะไร แล้วเด็กจะได้อะไรจากนิทานอีสปเรื่องนั้น
นิทานเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร ทุกตัวละคร ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกรู้สมไปกับเรื่อง ได้คิด ได้จินตนาการ เช่น นิทานเรื่องลมเหนือกับพระอาทิตย์ พูดถึงสังคมที่ใช้ความรุนแรง เวลาเราจัดการสื่อสารกับเด็ก ไม่ว่าจะพ่อแม่ครู เราต้องใช้ความละมุนละม่อม เด็กก็จะอ่อนโยน เมื่อเขาอยู่ในภาวะไร้ความกดดัน เขาก็จะยอมรับฟังสิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21
ต่อไปนี้จะเป็นโลกของเขานะครับ ผมมีความเชื่อกับคนรุ่นใหม่ โลกไม่ใช่ของเราอีกต่อไปแล้ว ถ้าเราไม่เชื่อเขา มันจะเดินต่อยังไง สิ่งที่ทำได้คือเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด เราต้องเชื่อมั่นในเด็ก เขาเป็นคนที่จะต้องอยู่ดูแลโลกใบนี้ ถ้าสมมุติคนรุ่นเราไม่เตรียมทักษะที่จำเป็นสำหรับเขาเลย แล้วสังคมจะอยู่ได้ยังไง
ในประเทศที่เจริญแล้วการพาเด็กไปดูละคร เป็นเรื่องปกติมาก มันเป็นวัฒนธรรม เป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าเมื่อเด็กดูละคร เขาจะดู ฟัง รู้สึก คิด แล้วก็ใฝ่ฝัน เชื่อมชีวิตกับละคร
ภาพรวมของนานาชาติเขาให้ความสำคัญกับการดูละครมาก มีรวมตัวกันรณรงค์ให้พาเด็กไปดูละคร เช่น ออสเตรเลีย แต่ละมลรัฐ จำเป็นต้องมีโรงละครประจำรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องสนับสนุน มีละครไปเล่นให้เด็กดูที่โรงเรียน ขณะเดียวกันก็มีนโยบายพาเด็กไปดูละคร ปีละ 2-3 เรื่องด้วย เพราะว่าประเทศเหล่านี้เขาเห็นถึงความสำคัญของการใช้ศิลปะในการพัฒนาสังคม-พัฒนาประเทศ
ในความเห็นส่วนตัว สถานการณ์หรือการรับรู้ถึงการมีโรงละครในเมืองไทย รวมถึงวัฒนธรรมการดูละครเวทีของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
สมัยก่อนวัฒนธรรมการดูละครของเราผูกติดกับราชสำนัก เป็นระบบอุปถัมภ์ โดยผู้มีฐานะจะมีคณะละครของตัวเอง และใช้เล่นเป็นนันทนาการเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลง รัฐทำหน้าที่นี้แทน รัฐเองกลายเป็นผู้ส่งเสริมศิลปะประเพณีมากกว่าศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะละครเวทียิ่งน้อย ไม่ต้องพูดถึงละครเวทีสำหรับเด็ก ไม่มีเลย ยิ่งในเขตต่างจังหวัดยิ่งขาดแคลน
สำหรับโรงละครในประเทศไทย ยังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีกไหม
สำหรับเมืองไทยภารกิจสำคัญคือการสร้างคุณภาพประชาชน ส่งเสริมสุนทรียศาสตร์ สร้างผู้เสพสื่อดี ต้องมีหน่วยงานส่งเสริม audience development รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ทำอย่างให้มีโรงละครสำหรับเด็กและเยาวชนทุกจังหวัด และเด็กสามารถเข้าถึงได้มากกว่านี้
โรงละครสำหรับเด็กมันเหมือนหรือต่างกันกับโรงละครผู้ใหญ่อย่างไร
จริงๆ ผมว่าก็คงต้องเข้มข้นเหมือนๆ กัน เพียงแต่ว่าการทำงานละครสำหรับเด็กมันอาจจะต้องมองเรื่องสารและนำเสนอให้เด็กด้วย มายาฤทธิ์เลือกเรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็กและครอบครัว โจทย์คือเราต้องการเห็นเด็กที่มี self-esteem ที่ดี ตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งตน และจะทำอย่างไรที่จะ empower เด็กได้ ทำอย่างไรจะให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับละครเด็ก
แล้วในแง่ของการสื่อสารออกมา ตัวนักแสดง แสง เพลง บรรยากาศรวมๆ ละครเด็กน่าจะต่างกับผู้ใหญ่ไหม
ถ้ามองในเรื่องเทคนิค ย้อนกลับไปสมัยก่อนเวลานั่งดูละครรามเกียรติ์ เราจะดูกับพ่อแม่เพราะมันเป็นสื่อที่เป็นองค์รวมดูได้ทั้งครอบครัว ผู้ปกครองที่มาชมละครบอกเราว่าพาลูกๆ มาเสพงานศิลปะ เหมือนเวลาเราไปดูงานศิลปะที่หอศิลป์ อาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด แต่มันสร้างรสนิยมสุนทรียศาสตร์
โดยละครที่เหมาะกับการเรียนรู้สำหรับเด็ก เราอาจจะต้องใช้วิธีแบ่งออกเป็นตอนย่อยๆ เพื่อให้เด็กเริ่มแล้วก็จบในตอน จากนั้นก็เริ่มใหม่ คำนึงให้เข้ากับระยะความสนใจของเด็กด้วย
เราต้องเข้าใจว่าระยะเวลาที่เด็กเขาจะจดจ่อ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่สามารถต่อได้ ขยายได้โดยใช้เทคนิคการนำเสนอเป็นตอนย่อย โรงละครมายาฤทธิ์เราจะท้าทายเด็กด้วยภาษาที่ยาก ในเรื่องมีการใช้ภาษาที่ซับซ้อน เช่น ภูเขา เราใช้คำว่าบรรพต คิรี สิงขร พอเด็กได้ยินปุ๊บ เขาก็จะหันกลับมาถามความหมายกับพ่อแม่ กลายเป็นว่าลูกได้คลังคำใหม่ๆ ได้ภาษาใหม่ๆ
ข้อที่สำคัญอีกอย่าง การดูละครเวลาช่วยฝึกสมาธิให้ลูกๆ การมานั่งอยู่ในโรงละคร 1-2 ชั่วโมง มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็ก ละครของเราเด็กตั้งแต่ 2 ขวบ สามารถเข้าดูได้ จะทำอย่างไรให้เด็กไม่งอแง เราก็ต้องมาทำการบ้านเชิงเทคนิคกันต่อ
นักแสดงทั้งหมดคือใคร
เป็นอาสาสมัครหมดเลย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ จากหลายๆ คณะ มีศิลปศาสตร์ เอกอังกฤษ เอกไทย จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ วารสารฯ นักแสดงทั้งหมดต่างมีความสนใจเรื่องเด็กและการพัฒนาเด็ก แต่ไม่ได้มีทักษะละครติดตัวกันมา ก็มาหัดใหม่ มา workshop ทำงานกันอย่างหนัก อย่างละครเรื่องนี้ใช้เวลาฝึกซ้อมร่วมสองเดือน
ถ้าพูดถึงการทำงาน วิธีการหยิบแต่ละ theme ขึ้นมาเป็นละคร มีวิธีคิดและเลือกอย่างไร
เรามีธงใหญ่ที่จะพาเด็กไปให้ถึง นอกจากความสนุก เราต้องติดตั้งเครื่องมือการเรียนรู้ให้เขา ขั้นตอนทำงานเราก็มานั่งคิดว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กควรจะได้ ‘พรุ่งนี้จะดีกว่าถ้าอะไรบ้าง…’ ใช้วิธีระดมความคิดกันในทีมงาน
เริ่มจากผู้กำกับก่อนว่าเขาเห็นภาพอะไร มีไอเดียอะไร จากนั้นก็พัฒนาบท บทเป็นจุดเริ่มของการสร้างสรรค์ การผลิตเริ่มจากการอ่านบทพร้อมกัน frist reading จากนั้นก็ improvise ระหว่างซ้อมนักดนตรีเข้ามา ทำเพลง มีนักดนตรีมาทำเพลง นักแสดงมาอิมโพรไวซ์ ฝ่ายเสื้อผ้า หน้า ผม เวที ฉาก แสง เทคนิคพิเศษ อุปกรณ์ประกอบฉาก
เทคนิคที่ละครใช้เป็น object theatre เพื่อกระตุ้นจินตนาการเด็ก รวมถึงการแฝงนัยยะ เช่น เรื่อง ลูกปูกับแม่ปู ที่จะเสนอว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน โดยแฝงเรื่องการใช้ภาษาของแม่ปูที่ไม่ถูกต้อง แล้วให้ลูกปูกับแม่ปูพูดคุยกันเรื่องภาษา ปิดท้ายด้วยการพาท่องเพลง 20 ไม้ม้วน ซึ่งเด็กๆ ที่มาดูก็จะได้ความรู้เรื่องภาษาติดตัวไป มีคุณแม่หลายคนที่ลูกอยู่โรงเรียนนานาชาติ เขาบอกว่า ชอบมาก ทำให้ลูกเขาใจภาษาไทยขึ้น เป็นคำสอนที่ดีที่สุด
ในฐานะคนทำละครเพื่อการเรียนรู้ แล้วระหว่างทางได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่กำลังทำอยู่บ้าง
ได้เรียนรู้ว่าละครเป็นภาวะร่วมสร้างสรรค์ เขาเรียกว่าเป็น collective creativeness เพราะฉะนั้นทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เป็นกระบวนทางประชาธิปไตย ที่สำคัญคือสุขใจที่ผู้ชมมีความสุข
การเปิดให้เด็กจินตนาการ เด็กจะโตมามีคาแรคเตอร์แบบไหน
คือสังคมไทยต้องการให้เด็กคิดเหมือนกัน ใครคิดต่างนี่เป็นปัญหา แต่ละครไม่ใช่ เราให้เด็กเขา free to be you and me เติบโตเป็นตัวเขาในแบบที่เขาเป็น ไม่ควรไปจำกัดกรอบให้เขา มนุษย์ไม่เหมืนอนกัน เราแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้เขาค้นพบตนเอง โลกสมัยใหม่เป็นสังคมที่ inclusive ต้องการความหลากหลายเพื่อขับเคลื่อนโลกของเรา
ลึกๆ แล้วมองคำว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นอย่างไร
ครอบครัวมักจะยกภาระการเรียนรู้ทั้งหมดให้กับโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วการเรียนรู้มันเกิดขึ้นได้ทุกเวลาจริงๆ นะ เด็กจะเรียนรู้ได้ทุกที่ที่เขาอยากเรียน เพราะฉะนั้นแหล่งเรียนรู้คู่ขนานตามอัธยาศัย เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ร้านหนังสือ โรงละคร เป็นพื้นที่ที่มีผลกับเด็กมาก เพราะเป็นที่ที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก ก่อให้เกิดทัศนคตินำไปสู่การปรับใช้
เคยดูข่าว โอ้โห เด็กญี่ปุ่นไปพิพิธภัณฑ์บ่อยมาก ซึ่งการไปพิพิธภัณฑ์ของเด็กหมายความว่า เด็กวางแผนจะไปเรียนรู้อะไร ไปยังไง จะห่ออาหารไปยังไง มันเกิด planning มันมีเรื่องระหว่างทางที่เกิดขึ้น ไอเดียการเรียนรู้คู่ขนานสำคัญมาก แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญ
ลองทบทวนดูว่า พิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก หอศิลป์สำหรับเด็ก ร้านหนังสือสำหรับเด็ก โรงละครสำหรับเด็ก ประเทศเรามีพื้นที่ตรงนี้มากน้อยแค่ไหน หากเป็นเช่นนี้คุณภาพของเด็กจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เด็กกำลังเติบโตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งในโลกปัจจุบันความรู้มันอยู่กระจายทั่วทุกที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว โจทย์ต่อไปคือ จะกระตุ้นให้เด็กสนใจอยากจะรู้ได้ยังไง ซึ่งมันจะต่อยอดให้เกิดการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ตามมา
ตั้งแต่ทำการแสดงมา feedback ของโรงละครมายาฯ เป็นอย่างไรบ้าง
ดีครับ ผู้ปกครองบอกต่อ แชร์กัน เขารู้สึกรู้สม บางคนก็มีความเป็นห่วงโรงละคร จะอยู่ยังไง ไม่มีผู้สนับสนุน แต่ที่สำคัญคือ เด็กๆ ลูกๆ ได้โตมากับละครมายาฤทธิ์
คิดว่าโรงละคร ที่เป็นส่วนหนึ่งของ public space มันจะเติมเต็มหรือช่วยเสริมอะไรให้เด็ก
ละครจะช่วยบ่มเพาะหรือเติมเต็มการเรียนรู้ ทำให้เด็กคิดและรู้สึกรู้สมไปกับสถานการณ์ตรงหน้า เห็นความแตกต่างของมนุษย์ ว่าคนเราไม่เหมือนกัน เห็นอกเห็นใจกัน มี under standing the others เข้าใจคนอื่น ละครทำให้เขาคิด วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า แล้วก็แสวงหาทางออกสำหรับเรื่องนั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นทักษะที่จำเป็นมากในศตวรรษที่ 21