- ชวนเปิดห้องเรียนออนไลน์ หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยของครูมิลค์ – นิศาชล พูนวศินมงคล แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนา กับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบเสวนา (Dialogue)
- การเรียนรู้แบบเสวนา เป็นวิธีการที่ครูชวนนักเรียนเสวนา (Dialogue) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งคำพูดถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่ง และคำพูดของครูมีพลังสูงมากต่อการเรียนรู้ของศิษย์ หากครูมีทักษะการพูดอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามจังหวะการเรียนรู้
- ‘พิชิต 3 ด่าน เชี่ยวชาญอักษรสูง’ กิจกรรมเรียนรู้วิธีการผันวรรณยุกต์อักษรสูง และฝึกผันให้แม่นยำ ผ่าน 3 ด่านที่ครูมิลค์คิดเพื่อให้เด็กๆ พิชิต โดยที่กิจกรรมจะประสบความสำเร็จได้ ห้องเรียนต้องมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อให้เด็กๆ กล้าที่จะแลกเปลี่ยนความรู้
“วันนี้ไม่ได้เก็บคะแนนใดทั้งสิ้น ให้เด็กๆ ลองผันดูว่าพอจะผันวรรณยุกต์อักษรสูงได้หรือยัง ขอสำรวจหน่อยว่าวันนี้ ใครที่ผันวรรณยุกต์ได้คล่องแคล่วมากๆ เลย”
“หนูผิดข้อที่ยากๆ ข้อฉู่ฉี่ หนูไม่ใช่ ฉ ฉิ่ง กลายเป็น ซ”
“เต้าส่วน ตรงคำว่า ส่วน หนูจะเขียนเป็นไม้โทแล้ว”
“ไม่เป็นไรค่ะ มันเป็นครั้งแรกที่เราได้ลองเขียน”
นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่าง ครูมิลค์ – นิศาชล พูนวศินมงคล กับเด็กๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนออนไลน์ หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเพลินพัฒนา โดยครูมิลค์กำลังให้เด็กๆ ได้ตรวจการบ้านของตัวเอง นอกจากเขาจะได้ทบทวนบทเรียนและเพื่อทำความเข้าใจในส่วนที่ผิดพลาดแล้ว ในห้องเรียนยังเต็มไปด้วยบรรยากาศของความ Active แม้จะเป็นการเรียนออนไลน์ แสดงให้เห็นว่า ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน พวกเขาต่างมีความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างไม่เคอะเขิน หรือที่เรามักเรียนกันว่า ‘พื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน’ นั่นเอง
ชวนเปิดห้องเรียนของครูมิลค์ แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนา นอกจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบเสวนา (Dialogue) เราจะไปดูกันว่าครูมิลค์ทำอย่างไรให้เด็กๆ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาอย่างมีเหตุผล
สานเสวนา (Dialogue) สู่การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
ก่อนจะไปถึงกิจกรรมการเรียนรู้ของครูมิลค์เรามาทำความเข้าใจกับกระบวนการเรียนรู้แบบสานเสวนา กันสักหน่อยว่าคืออะไร โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ได้อธิบายไว้ในเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู โครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเพลินพัฒนา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อให้ครูได้พัฒนาทักษะในด้านการใช้ Dialogue ไปใช้เพื่อจัดกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในชั้นเรียน เป็นการพัฒนาโรงเรียน ยกระดับคุณภาพผู้เรียน ผ่านการพัฒนาศักยภาพของ ‘ครู’
ทั้งนี้ ในหนังสือ ‘สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก’ นิยามความหมายของการสอนเสวนาว่า เป็นวิธีการที่ครูชวนนักเรียนเสวนา (Dialogue) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
“ทีนี้ Active Learning จริงๆ แล้วก็คือเรียกว่า Learning by Doing เป็นการเรียนรู้ผ่านการกระทำ การพูด ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะพูดได้ต้องเกิดการคิดก่อนแล้วจึงพูด เพราะฉะนั้นการพูดคุยกันก็เป็นส่วนหนึ่งของ Learning by Doing และในหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าคำพูดของครูมีสารพัดแบบและมีพลังสูงมากต่อการเรียนรู้ของลูกศิษย์ หากครูมีทักษะในการพูดอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามจังหวะของการเรียนรู้”
นอกจากนี้ หนังสือยังได้ระบุเป้าหมายของการพูดไว้ 6 เป้าหมายด้วยกัน คือ การกระตุ้นคิด, กระตุ้นการเรียนรู้, สื่อสาร, สร้างความสัมพันธ์เชิงประชาธิปไตย, เพื่อสอน และเพื่อประเมิน ซึ่งการพูดของครูเพื่อกระตุ้นการเรียนของนักเรียน ตามแบบที่ใช้กันทั่วไป เรียกว่า IRE (Initiated, Response, and Feedback) Initiated คือการเริ่มต้นโดยอาจจะใช้คำถาม คำพูดบางคำที่ก่อความสนใจ แล้วกระตุ้นให้นักเรียนโต้ตอบ (Response) จากนั้นครูให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ว่าเด็กเป็นอย่างไร แทนการประเมินแบบตัดสินว่าถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
“นอกจากนี้ F ไม่ควรจะเป็นเพียง Feedback แต่ควรจะเป็นการ Feed Forward คือ การพูดสนองเพื่อให้นักเรียนได้คิดต่อไปอีก เพื่อให้นักเรียน สามารถเรียนรู้ได้ในมิติที่ลึกขึ้น เกิดเป็น Deep Thinking Skill”
ภารกิจพิชิต 3 ด่าน เชี่ยวชาญอักษรสูง : เรื่องเล่าจากห้องเรียนภาษาไทย ป.3
ในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเพลินพัฒนา ครูมิลค์ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบสานเสวนา (Dialogue) ในการสร้างแผนการเรียนรู้ที่มีชื่อว่า ‘พิชิต 3 ด่าน เชี่ยวชาญอักษรสูง’
บทเรียนนี้ครูมิลค์เล่าว่า เกิดขึ้นภายหลังจากที่เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการผันวรรณยุกต์อักษรกลาง และสามารถที่จะผันวรรณยุกต์อักษรกลางได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นก้าวต่อไปของเด็กๆ คือการเรียนรู้วิธีการผันวรรณยุกต์อักษรสูง และฝึกผันให้แม่นยำ ซึ่งกระบวนการที่เด็กๆ จะฝึกผันวรรณยุกต์ได้อย่างแม่นยำนั้น ครูมิลค์ก็ได้ออกแบบด่านเอาไว้ 3 ด่านให้เด็กๆ ได้พิชิตกัน
ด่านที่หนึ่ง อ่านอย่างไรให้ลองผัน เป็นด่านที่ให้เด็กๆ ได้อ่านออกเสียงคำอักษรสูง โดยจะมีคำ 2 พยางค์ ที่เขียนด้วยอักษรสูงให้ลองอ่านพร้อมกันเพื่อเรียกความมั่นใจ
“เมื่ออ่านออกเสียงพร้อมกันแล้ว ครูขอให้ช่วยอธิบายถึงลักษณะของสิ่งนั้น เช่น คำว่า ขี้เถ้า คนแรกตอบว่าเป็นผงๆ ครูถามต่อว่าเกิดขึ้นเมื่อไร อีกคนอธิบายว่า เกิดขึ้นเมื่อเราเอาถ่านไปเผา แล้วก็จะมีขี้เถ้าสีเทาๆ ออกมา จากนั้นเพื่อนอีกคนช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า ขี้เถ้ามาจากถ่านที่เราเอามาทำอาหาร แล้วมันจะเหลือเศษเป็นขี้เถ้า แล้วครูจึงเฉลยด้วยความหมายที่เขียนไว้ในพจนานุกรม โดยเชื่อมโยงจากความเข้าใจของเด็กที่ได้อธิบายไว้”
ด่านที่สอง เขียนอย่างไรให้ลองผัน เด็กๆ จะได้ฝึกเขียนคำที่มีวรรณยุกต์อักษรสูง โดยครูมิลค์นำรูปอาหารที่เขียนด้วยอักษรสูง 5 จาน มาให้เด็กๆ ดู แล้วให้แต่ละคนเขียนชื่ออาหารตามเสียงที่ครูพูด หรือที่มักเรียกกันว่า การเขียนตามคำบอก ซึ่งเรียกความตื่นเต้นฮือฮาได้ไม่น้อย และในด่านนี้สิ่งที่จะได้เห็นอีกอย่างก็คือ เด็กๆ จะเริ่มตั้งข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นตามความสงสัย เช่น ทำไมชื่ออาหารถึงมีแต่คำว่า ‘ผัด’ ทั้งนั้นเลย
และด่านที่สาม เช็กให้ชัวร์แต่ละตัวผันอย่างไร เป็นด่านที่เด็กๆ เอ่ยปากว่ายากที่สุด เพราะจะต้องเขียนคำที่มีทั้งอักษรกลางและอักษรสูงปะปนอยู่ด้วยกัน ซึ่งเด็กคนหนึ่งได้ตั้งชื่อด่านนี้ใหม่ว่า ‘ด่านขนมสุดแสนจะน่ารัก แต่จริงๆ แล้วไม่น่ารักเลย’
“ด่านนี้เป็นชื่อขนมที่ในแต่ละชื่อจะสะกดด้วยอักษรกลางและอักษรสูงปะปนกันอยู่ ในการผันจึงมีความยากมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ชื่อด่านนี้จึงคิดขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนเพิ่มความระมัดระวังในการเขียนไปในตัว เช่น ปุยฝ้าย ถั่วแปบ เต้าส่วนถั่ว”
หลังจากที่เด็กๆ ได้พิชิต 3 ด่านของครูมิลค์ ก็จะเป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนความรู้สึกและหาข้อค้นพบร่วมกัน โดยครูมิลค์ชวนเด็กๆ พิจารณาคำเหล่านั้นอีกครั้ง เพื่อให้นักเรียนได้พูดทบทวนออกมาด้วยตนเอง ซึ่งในการเรียนอักษรสูงวันนั้นได้ข้อสรุปว่า เมื่อเป็นคำอักษรกลางก็ต้องผัน 5 เสียง ในขณะที่เมื่อเป็นอักษรสูงจะผัน 3 เสียง ซึ่งสถานการณ์จริง ในการอ่านและเขียนคำที่มีวรรณยุกต์ในภาษาไทย เราจะเจอคำหลากหลายชนิดอยู่รวมกัน ดังนั้นหากเราไม่ฝึกฝนบ่อยๆ เราจะใช้ไม่ถูกต้อง
และภารกิจสุดท้ายที่ครูมิลค์ให้เด็กๆ ร่วมกันทำในวันนั้นคือ การสรุปความรู้เรื่องของการผัน ‘อักษรกลาง’ และ ‘อักษรสูง’ นั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องอะไรบ้าง เป็นการฝึกให้เด็กๆ ได้เรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ ด้วยการใช้ตารางมาบันทึกสิ่งที่เพื่อนๆ คนอื่นได้นำเสนอขึ้นมา รวมทั้งได้วงเล็บชื่อของผู้นำเสนอด้วย แล้วจึงสรุปปิดท้ายด้วยการยกตัวอย่างคำ
สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนต้องมาก่อน
จากกิจกรรมการเรียนรู้ของครูมิลค์ข้างต้น จะเห็นว่าการตั้งคำถามที่ชวนให้เด็กๆ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การเสาะหาเรื่องราวที่น่าสนใจใกล้ตัวมาสร้างเป็นบทเรียนให้กับพวกเขา แล้วคำถามลักษณะไหนที่ทำให้เด็กอยากพูดคุยกันล่ะ?
“คำถามลักษณะแรกจะต้องเป็นคำถามที่ให้เด็กๆ เขาได้เล่าหรือเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ของตัวเอง ตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องแลกเปลี่ยน มีเด็กคนนึงเขาแลกเปลี่ยนเรื่องฟันน้ำนมของเขาที่หัก แล้วปรากฏว่าหัวข้อของห้องในวันนั้นทุกคนอยากจะแลกเปลี่ยนเรื่องฟันน้ำนมที่หักของตัวเองเหมือนกัน ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วคุณครูเองก็ได้ร่วมแชร์ด้วย ห้องเรียนในวันนั้นสนุกมาเลย แล้วก็เป็นหัวข้อที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กๆ เอง จากที่เขาได้สนทนากันเองจริงๆ” ครูมิลค์ อธิบาย
นอกจากนี้ครูมิลค์เสริมว่า หากครูจะคุยกับเด็กๆ ในชั้นเรียนที่สอนได้รู้เรื่องหรือจะพาเด็กเข้ามาคุยกันได้ ครูต้องเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้ก่อน ในที่นี้ความเป็นเพื่อน หมายถึงสัมพันธภาพระหว่างครูกับเด็กจะต้องมีขึ้นก่อน รวมถึงความเข้าใจในโลกของเขาด้วย
“เด็กๆ ดูอะไร เด็กๆ ฟังอะไร เด็กๆ เที่ยวที่ไหน กินอะไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ครูผู้สอนเด็กในชั้นนั้นๆ เองก็ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่ว่าเราจะได้เข้าใจโลกทัศน์แล้วก็เข้าใจภาษาของเขาได้ดีมากขึ้น แล้วเราก็จะพาเขามาแลกเปลี่ยนมานั่งพูดคุยได้มากขึ้น”
สุดท้ายแล้วในห้องเรียนแห่งนี้ ครูมิลค์ให้ความสำคัญกับพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนกันเสมอ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยสำคัญ
“ปัจจัยที่หนึ่งก็คือ กติกา เรื่องของผู้พูดและผู้ฟัง เมื่อไรที่มีผู้พูดครูมิลค์ก็จะตั้งใจฟังเขา เช่นเดียวกันก็จะย้ำกับเด็กๆ ว่า เมื่อไรที่เพื่อนพูดเราต้องตั้งใจฟังที่เพื่อนพูด
ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องของการที่ครูให้ความสำคัญกับคำตอบของเด็กๆ จะเห็นว่าจะมีการอ้างชื่อหรือว่าทวนคำตอบที่เด็กพูดออกมา สิ่งนั้นทำให้เขารู้สึกว่าเมื่อเขาตอบเขาก็จะมีตัวตน เขาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยขับเคลื่อนห้องเรียนด้วย
แล้วก็ปัจจัยที่สามคิดว่า เป็นท่าทีและน้ำเสียงของครู ที่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นมิตร แล้วก็สบายที่จะพูดคุยกับคนๆ นี้ และกล้าที่จะแชร์เรื่องราวของตัวเองออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ”