- 5 พื้นที่เรียนรู้รอบเขาใหญ่ มีห้องเรียนรู้หลายแบบ หลายวิชา ทุกวิชาไม่ต้องท่องจำและไม่ต้องทำข้อสอบ พร้อมให้เด็กๆ และผู้คนที่สนใจได้ไปเรียนรู้หรือลองใช้ชีวิต เพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ในช่วงที่ระบบการศึกษาอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิตแบบทุกวันนี้
- เป็นการเรียนรู้ที่ใช้ความรู้สึกนำ เพราะสิ่งที่ประทับอยู่ในความรู้สึกมักจะติดนานกว่าความรู้ที่มาจากการท่องจำมาก
- สำหรับเด็กๆ แล้ว นี่คือการฝึกทักษะอย่างแท้จริง เพราะทักษะไม่ได้เกิดขึ้นได้จากการท่องจำ หรือลงมือทำแค่ครั้งเดียว ทักษะคือการลงมือทำซ้ำๆ เมื่อซ้ำมากพอจนอยู่มือ สิ่งนั้นจะกลายเป็นความชำนาญ จะเอาความชำนาญไปพัฒนาต่อยอดเป็นอะไรก็ตามแต่
ถ้าเราเชื่อมั่นเหมือนกันว่าห้องเรียนของลูกกว้างกว่าห้องสี่เหลี่ยม ถ้าเราเห็นเหมือนกันว่าความรู้ไม่ได้มีแค่ในตำรา และครูของลูกก็ไม่ใช่แค่คนที่สอนในโรงเรียนเท่านั้น แสดงว่าเราเชื่อมั่นสิ่งเดียวกัน ในช่วงเวลาที่เสียงบ่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ ดังหนาหูขึ้นทุกวัน ทั้งจากเด็ก จากผู้ปกครอง ไม่เว้นแม้แต่จากครูเอง สภาวะแบบนี้ยิ่งอยู่นานยิ่งไม่ส่งผลดีกับใครเลย
ครั้งนี้เราจึงอยากชวนทุกคนไปตามหาทางเลือกที่จะตอบโจทย์ชีวิตให้ลูกหลานกับ 5 พื้นที่ 5 กลุ่มรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในนามเครือข่ายเขาใหญ่ดีจังที่เรามีโอกาสไปร่วมทริปครั้งนี้ ซึ่งเชื่อมั่นเรื่องเดียวกันและลงมือทำ ลงมือสร้างการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิม ลองตามไปดูกันว่าแต่ละที่สร้างการเรียนรู้แบบไหนให้เด็กๆ กันบ้าง และที่ไหนน่าจะเหมาะกับลูกเรา
โลกคือห้องเรียนของเด็ก วิธีเรียนรู้ต้องหลากหลาย
(สวนไฟฝัน : กลุ่มไม้ขีดไฟ ปากช่อง นคราชสีมา)
การดูแลสุขภาพและการจัดการศึกษา คืออำนาจ 2 อย่างที่รัฐยึดไปจากเรานานแสนนานจนเราง่อยเปลี้ยเสียขา ทำอะไรไม่ได้ ป่วยนิดหน่อยก็ต้องพึงรัฐ(โรงพยาบาล) อยากให้ลูกอ่านออกเขียนได้ก็ส่งเข้าโรงเรียน ตั้งแต่ปากยังคาบขวดนมอยู่เลย วันนี้เมื่อการระบาดของโควิด 19 ทำให้ระบบโรงเรียนแบบเดิมทำหน้าที่ไม่ได้ เด็กๆ ต้องอยู่กับบ้าน เรียนที่บ้าน ความโกลาหลก็เกิดขึ้นทั้งกับเด็ก ผู้ปกครอง และครูผู้สอน เพราะผู้ปกครองก็จัดการเรียนการสอนให้ลูกหลานเองไม่ได้ รับมือไม่เป็น ครูก็คุ้นชินกับการยืนสอนหน้าชั้นเรียน เมื่อไม่มีชั้นเรียน ไม่มีนักเรียน ทุกอย่างจึงดูยากไปหมด เด็กเองที่ห้องเรียนไม่เคยฝึกทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองเลย คุ้นชินกับการถูกสอนและบังคับเรียน ก็ยากที่จะเรียนผ่านเครื่องมือแบบออนไลน์เช่นนี้
ที่สวนไฟฝัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่รัฐสร้างไว้ เพราะความจริงแล้วอำนาจในการจัดการศึกษาให้ลูกหลานเคยเป็นของเรา เคยเป็นของชุมชนมาก่อน เพียงวันนี้มันถูกยึดไป ที่นี่จึงออกแบบพื้นที่ด้วยความคิดความเชื่อมั่นที่ว่า โลกคือห้องเรียนของเด็ก วิธีการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่แค่นั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม แต่ต้องมีวิธีการที่หลากหลายเพราะเด็กแต่ละคนมีความหลากหลาย และไม่มีทางเหมือนกัน รวมทั้งเชื่อว่าใครๆ ก็เป็นครูของเด็กๆ ได้ ทั้งปู่ ย่า ตา ยาย เกษตรกร คนเลี้ยงวัว แมลง พืช ฯลฯ
ที่นี่จึงไม่มีห้องเรียน แต่มีลานโล่ง มีแปลงผัก มีต้นไม้ใหญ่ มีลำน้ำ มีเตาเซรามิก มีแป้งขนมปัง มีสี มีนิทาน มีของเล่นมากมาย บางครั้งก็มีพี่ๆ ชาวต่างชาติด้วย
ที่นี่ไม่มีครูผู้รู้ที่ยืนสอนหน้าชั้น แต่มีพี่ๆ ที่ชวนตัด พับ ปะ ระบายสี ชวนปืนต้นไม้ ชวนย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ หรือบางครั้งชวนลุยสวนด้วยภาษอังกฤษ ภาษาจีน ที่นี่มีคุณลุงที่ชวนเด็กๆ ลงมือปลูกผัก เพาะต้นกล้า มีคุณป้าที่ชวนเด็กๆ เก็บผักที่ปลูกมารังสรรค์เป็นเมนูสารพัดตามใจชอบ มีคุณอาที่ชวนเด็กๆ พายเรือสำรวจลำน้ำ สำรวจสัตว์หายากริมฝั่งน้ำ ฯลฯ
ที่นี่สอนให้เด็กๆ รู้จักชีวิต รู้ว่าชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร พี่กุ๋ยซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่บอกเราว่า “ยังไม่ต้องรู้ว่าอยากจะเป็นอะไรก็ได้ แค่รู้ว่าไม่ชอบอะไร ก็ทำให้เด็กๆ สามารถมีตัวเลือกในการพัฒนาตัวเองต่อไปได้แล้ว”
ทุก (วิชา) กิจกรรมที่ออกแบบ จึงเป็นเหมือนการเสิร์ฟอาหารที่มีรสชาติหลากหลายให้เด็กๆ ได้ชิม ต้องมีสักจานแหละที่ถูกใจ อยากกินอีก หรืออยากลองลงมือทำเอง เป็นเรื่องที่เด็กต้องไปต่อยอดและลงลึกแล้วหละ วิชา (กิจกรรม)เหล่านี้จึงไม่ต้องอาศัยความรู้ระดับปริญญาจากครูผู้สอน แต่เรียนรู้และลงมือทำจากผู้รู้ที่มีประสบการณ์ตรงได้เลย สิ่งที่เด็กจะได้กลับไปไม่ใช่ความรู้ที่ท่องเอาไปทำข้อสอบ แต่เป็นความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบต่อสิ่งนั้น
การเรียนรู้ที่นี่ใช้ความรู้สึกนำ เพราะสิ่งที่ประทับอยู่ในความรู้สึกมักจะติดนานกว่าความรู้ที่มาจากการท่องจำมาก
หากการเรียนรู้ของเด็กๆ ขับเคลื่อนแบบนี้แล้ว การที่เด็กต้องอยู่บ้านนานๆ ก็จะไม่เป็นปัญหาของผู้ปกครองอีกต่อไป หากเชื่อมั่นกฎของธรรมชาติที่ว่า ไม่มีสิ่งใดเหมือนกัน ต้นไม้แต่ละต้นยังต้องการดิน แดด ปุ๋ยที่ต่างกันเลย เด็กๆ ก็เช่นกัน การออกแบบการเรียนออนไลน์ก็จะไม่เป็นปัญหาของครู (ระบบการศึกษา) อีกต่อไป แต่ถ้าหากระบบการศึกษายังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่จึงเป็นเวลาที่ต้องยึดอำนาจในการจัดการศึกษาให้ลูกหลานมาไว้ที่เราบ้างแล้ว และที่นี่จึงเป็นเหมือนห้องเรียนชีวิตที่คู่ขนานไปกับโรงเรียน สอนในสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่เอาไปใช้ในชีวิตได้จริง
เรื่องกล้วยกล้วย ที่ไม่เคย ‘กล้วย’ อย่างชื่อ
(สวนปู่สม : กลุ่มลูกมะปราง แก่งคอย สระบุรี)
“สวนกว่า 50 ไร่ พ่อปลูกทั้งกล้วย ทั้งไผ่ และต้นไม้สารพัดชนิดทิ้งไว้ให้ จึงตั้งใจว่าอยากทำสวนของพ่อให้เป็นห้องเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ลูกหลานต้องได้ใช้ประโยชน์จากสวนนี้ ไม่ใช่แค่เก็บดอกผลจากพืชพรรณของพ่อ แต่ต้องเรียนรู้ชีวิตจากสวนของพ่อด้วย” พี่หนึ่ง หัวเรือใหญ่กลุ่มลูกมะปรางเล่าที่มาของสวนให้ฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย
แค่กล้วยเรื่องเดียว ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ ที่นี่ต้อนรับเราด้วย Welcome Drink ที่เป็นน้ำหมัก (Combucha) ทำจากกล้วย อาหารเที่ยงเป็นทอดมันหัวปลี ลาบไก่ใส่หยวกกล้วย และแกงเผ็ดไก่ใส่ลูกกล้วย ตบท้ายด้วยขนมหวาน แน่นอนมันคือ กล้วยบวดชีและกล้วยเชื่อม อิ่มท้องแล้วเราทำกิจกรรมกัน ทำหน้ากากหยวกกล้วย เป็นงานฝีมือที่ใช้ทักษะการแทงหยวกที่ใช้ในพิธีกรรมชั้นสูง ที่มีสอนกันในศิลปะช่างสิบหมู่อีกด้วย ต่อด้วยการทำกระทงใบตองสารพัดแบบ เพื่อไปใส่ขนมกล้วยที่พวกเราช่วยกันทำเป็นของว่างบ่ายนี้ เมื่อได้ลงมือทำเราเองรู้ตัวเลยว่า ช่างเป็นคนใจร้อนเอาเสียจริง แทงหยวกดูเหมือนง่ายแต่ทำออกมาโย้เย้มาก แม้แต่การจับจีบกระทงใบตอง แตกแล้วแตกอีก หาความสวยงามไม่ได้เลย จนต้องทำซ้ำๆ หลายๆ ใบ คุมใจตัวเองให้นิ่ง กระทงจึงกลับมาดูสวยงามได้บ้าง
สำหรับเด็กๆ แล้ว นี่คือการฝึกทักษะอย่างแท้จริง เพราะทักษะไม่ได้เกิดขึ้นได้จากการท่องจำ หรือลงมือทำแค่ครั้งเดียว ทักษะคือการลงมือทำซ้ำๆ เมื่อซ้ำมากพอจนอยู่มือ สิ่งนั้นจะกลายเป็นความชำนาญ จะเอาความชำนาญไปพัฒนาต่อยอดเป็นอะไรก็ตามแต่
นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ต้องได้ฝึก และที่นี่พร้อมให้เด็กได้ฝึกทักษะเหล่านั้น พร้อมให้เด็กได้ทำผิดพลาด พร้อมให้เริ่มทำชิ้นใหม่เสมอ โดยไม่ถูกล้อ ไม่โดนตัดคะแนน
“แกงกล้วยแบบนี้ไม่ค่อยมีให้กินบ่อยแล้ว ชาวบ้านไม่ค่อยทำกันเพราะมันยุ่งยาก นอกจากโอกาสพิเศษจึงจะทำกินทีนึง”
“กระทงใบตองแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีใช้แล้ว แม่ค้าเค้าใช้พลาสติกมากกว่ามันสะดวกดี”
“ของเล่นจากหยวกกล้วย ต้นกล้วยไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครทำให้ลูกเล่นแล้ว ของเล่นในตลาดเยอแยะ”
“กล้วย กล้วย” เป็นคำแสลงที่ให้ความหมายว่า ง่ายๆ สบายๆ แต่เมื่อมาเรียนรู้กับที่นี่พบว่า กล้วย กล้วย มีความหมายมากมายในชีวิต และที่สำคัญไม่ได้ง่ายๆ อย่างความหมายทั่วไป หากแต่เป็นเครื่องมือให้เราเรียนรู้ชีวิตมากมายจากกล้วย ไม่ต่างจากการจัดการเรียนรู้ให้ลูกหลาน ดูเหมือนง่าย(หากทำตามๆ กันไป) แต่ถ้าลงรายละเอียดจะพบว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่เป็นสิ่งที่มีความหมาย และต้องทำอย่างเอาใจใส่
สำรวจอย่างง่ายในสวน สู่การสำรวจเชิงลึกในป่า
(The tropical E-co Coffee : กลุ่มใบไม้ บ้านนา นครนายก)
จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด ที่นี่คืออะไรกัน?
ก. สวนมะยงชิด ข. สตูดิโอถ่ายภาพ ค. คาเฟ่ ง. พื้นที่กิจกรรม
พวกเราเดินทางผ่านสวนมะยงชิดเข้าไป จึงพบอาคารทรงเท่ๆ หลังนึง ตั้งอยู่กลางสวน ข้างในให้แสงนวลตา แสงไฟนุ่มๆ ยกกล้องไปมุมไหนก็ทำให้ภาพได้แสงสวยมาก ด้านข้างมีบาร์กาแฟ และที่นั่งสบายๆ ในพื้นที่ไม่กว้างนัก ให้อารมณ์อบอุ่นและเป็นกันเอง มาถึงที่นี่พวกเราไม่ใช่แค่ได้ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่ชอบเท่านั้น แต่เรายังได้รับรู้เรื่องราวของเกษตรกรที่ปลูกกาแฟแต่ละแบบที่เราเลือก รู้จักคนเลี้ยงผึ้งที่เอาน้ำผึ้งมาผสมเครื่องดื่มให้เรา รู้จักธรรมชาติของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ รู้จักเจ้าของสูตรผสมเครื่องดื่มแต่ละชนิด รู้จักบาริสต้าที่ชงกาแฟให้เราดื่ม รู้จักความเป็นมาเป็นไปของที่นี่ และที่สำคัญเรารู้ว่าทุกวัตถุดิบที่นี่ต้องไม่เบียดบังหรือเอาเปรียบธรรมชาติจนเกินไป
เมื่อเราดื่มด่ำกับเครื่องดื่มแก้วโปรดแล้ว ทีมงานกลุ่มใบไม้ยกอุปกรณ์ที่เป็นดอกไม้ ใบไม้ให้สี โกร่งบดยาและกระดาษมาชวนพวกเราทำกิจกรรม ‘โปสการ์ดจากสีธรรมชาติ’ มีกระดาษแผ่นเล็กๆ คล้ายๆ ใบงานให้พวกเราไปสำรวจใบไม้ในสวนตามลักษณะที่บอกในใบงาน ชวนพวกเราดูนกง่ายๆ ในสวนด้วย Application ที่สามารถโหลดได้จาก สมาร์ทโฟนของแต่ละคน เอ้า…เมื่อกี้เป็นร้านกาแฟอยู่เลย ไหงกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมซะแล้ว รวมทั้งบาริสต้า คนเสิร์ฟเมื่อกี้ก็กลายมาเป็นผู้นำกิจกรรมให้พวกเราเรียนรู้กัน
เก่งหัวเรือใหญ่ของกลุ่มใบไม้ เล่าให้พวกเราฟังว่า จากประสบการณ์การทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพมายาวนานอยากทำที่นี่เป็นสตูดิโอ และใช้สวนมะยงชิดของปู่ให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กไปในตัว
ให้เป็นเหมือนพื้นที่เริ่มต้นในการบ่มเพาะหัวใจรักธรรมชาติในเด็ก ดูนก เรียนรู้ธรรมชาติอย่างง่าย ไม่เข้มงวดมากเหมือนเวลาเข้าป่าจริง หรือไปอยู่บนอุทยานจริง เป็นเหมือนการเตรียมตัว ชิมก่อน และถ้าชอบถ้าจุดติดก็ลงลึกในป่า ในอุทยานต่อไปได้
แล้วไอเดียคาเฟ่ก็เกิดขึ้น ด้วยความชอบความสนใจก็ส่วนหนึ่ง แต่คาเฟ่ก็เป็นจุดที่จะดึงดูดผู้คนเข้ามารู้จัก มาเรียนรู้ มาทำกิจกรรม คาเฟ่จึงไม่ใช่แค่มาดื่ม แต่ในทุกเมนูที่เสิร์ฟ ก็รู้จักและรู้สึกกับธรรมชาติไปด้วยแล้วอย่างเป็น…ธรรมชาติ อย่างที่พวกเราได้สัมผัสไปแล้ว
มาถึงตรงนี้ตอบคำถามด้านบนได้แล้วหละ เพียงแต่หากจะตอบให้ถูกจริงๆ คงต้องเพิ่ม Choice ข้อ จ. ถูกทุกข้อ ลงไปด้วยคำตอบข้อนี้จึงจะถูกที่สุด
อะไรที่ไม่รู้ก็ค้นคว้าก็เติม อะไรที่ไม่มีก็หา หลายๆ กิจกรรมของกลุ่มใบไม้เกิดจากอาสาสมัครที่สมัครใจจะทำ พวกเขาจึงสละเวลาวันหยุดจากการทำงานประจำเพื่อมาทำค่ายกับเด็กๆ สละค่าน้ำมันรถเดินทางมาเองเพื่อไปช่วยกิจกรรมแม่ปลาวางไข่ หรือสละเงินเพื่อเติมบางส่วนในกิจกรรมให้เต็ม บางครั้งหากหาผู้สนับสนุนกิจกรรมไม่ได้จริงๆ พวกเขาก็ช่วยกันขายของระดมทุนเพื่อหาเงินไปทำกิจกรรมนั้น
“ผมมักบอกเพื่อนๆ ในทีมเสมอว่า ทำในสิ่งที่เราทำได้ ณ จุดที่เราอยู่ ด้วยสิ่งที่เรามี แต่อย่าให้ความไม่มี มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำหากสิ่งนั้นมันสำคัญและจำเป็นต่อธรรมชาติและผู้คน” เก่งบอกพวกเรา
คาเฟ่แห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กๆ และผู้คนที่มาดื่มด่ำรสชาติกาแฟและเครื่องดื่มไปในตัว เรียนรู้แบบไม่เคร่งเครียด ไม่ยัดเยียด เป็นปรัชญาหนึ่งของการศึกษาที่ดี เพราะเรื่องนี้สำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์
พื้นที่เรียนรู้ชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
(บ้านสวนมีกิน : กลุ่มต้นกล้า เมืองนครนายก)
ที่นี่ชวนเราตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อตามพี่ปูไปดูนกแถวบ้าน ด้อมๆ มองๆ ส่องนก จดจำสี ลักษณะ มาเทียบเคียงกับหนังสือตำราดูนก แล้วบันทึกว่านกที่เราเจอชื่ออะไร มันอาศัยอยู่ถิ่นไหนบ้าง แค่ข้างบ้านระยะประมาณ 1 กิโลเมตร เช้าวันนี้นเราก็เห็นนกตั้ง 14 ชนิดแล้ว ทำให้คนไม่ชินกับการตื่นเช้าอย่างเรา ตื่นตาตื่นใจได้ตลอดเส้นทาง
พี่ปูรู้จักนกแทบทุกตัว ไม่ใช่แค่ชื่อที่ปรากฏในหนังสือ แต่รู้จักเรื่องราวของมันด้วย เมื่อเรื่องราวของนกแต่ละชนิดถูกถ่ายทอดออกมาท่ามกลางสถานที่จริง ที่เราเพิ่งเห็นนกตัวนั้นจริงๆ มันทำให้เรื่องราวเหล่านั้นประทับอยู่ในใจของเราทันที ไม่ใช่แค่ในสมอง พี่ปูชวนพวกเรามารู้จักบ้านหลังน้อยที่ไม่ใช้ไฟฟ้า (แม้ไฟฟ้าจะเข้าถึงก็ตาม) ไม่ใช้แก๊ส หลีกเลี่ยงการเป็นผู้สร้างขยะ โดยลดการใช้กระดาษทิชชู่กลับมาใช้ผ้าขี้ริ้ว ลดการใช้สบู่ ใช้ยาสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้าที่ทำเองด้วยส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ ทำให้ลดการใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์และลดการขนส่ง พี่ปูปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัวอินทรีย์ไว้กินเอง แม้ไม่ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยผักทั่วๆ ไปที่ใช้บ่อยๆ ก็มีให้เก็บกิน
เพราะชีวิตผูกพันกับนก กับป่าเขา กับธรรมชาติและรู้ว่ามนุษย์นี่แหละคือส่วนสำคัญในการรบกวนธรรมชาติ พี่ปูจึงมุ่งมั่นที่จะใช้วิถีของตัวเองให้รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่มนุษย์คนนึงจะทำได้ จึงออกแบบบ้านหลังนี้ ออกแบบชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตั้งใจ และใช้ชีวิตกับที่นี่มานานแล้ว
พร้อมทั้งให้ที่นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่บ่มเพาะหัวใจรักธรรมชาติให้เด็กและเยาวชน โดยไม่ได้มุ่งหวังให้ต้องมาใช้ชีวิตแบบเดียวกัน แต่แค่ขอเป็นส่วนนึงให้เด็ก เยาวชนและคนที่สนใจ รับรู้ เข้าใจและรู้สึกบ้างก็พอ
ที่นี่จึงมีกิจกรรมให้ทำมากมายเพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น ทั้งวาดรูปนกจากที่ไปดูมา ทำรังไว้ให้นกอาศัย หรือจะเป็นกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย อย่างกิจกรรมนักสืบสายน้ำ นักสืบสายลม ที่พี่ปูชวนเล่น ชวนทำได้ทั้งวัน จนค่อยๆ รู้จัก ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รักธรรมชาติแบบไม่รู้ตัว
เป็นสะพานให้เด็กๆ ‘รู้สึก’ กับธรรมชาติ
(กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ : อช.เขาใหญ่)
สถานที่สุดท้ายของเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง คือกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ โดยใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นห้องเรียนรู้ห้องใหญ่ของพวกเรา มาถึงเขาใหญ่ มาอยู่กับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ พลาดไม่ได้ที่จะต้องได้ทำกิจกรรมเดินป่า สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง พี่นิม พาพวกเราเดินเข้าป่าเส้นดงติ้ว มอสิงโต ท่ามกลางสภาพหลังฝนตก แน่นอนว่าเรามีเพื่อนร่วมทางตัวเล็กที่ชื่อว่า ‘ทาก’ จำนวนมหาศาล
“เดินป่าหน้าฝน ถ้าไม่มีทากแสดงว่าป่านั้นไม่มีความหลากหลายมากพอ ทากจึงเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของป่า” ได้ฟังแบบนี้ก็ทำใจเดินไปพร้อมน้องทากก็ได้นะ
ระหว่างเดินป่า พี่นิมชวนให้พวกเรารู้จักต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้น ทั้งสมุนไพรมากมาย หลายอย่างเราก็เคยเห็นมาบ้าง แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีประโยชน์ เป็นยา หรือสามารถกินได้ด้วย บางอย่างเคยได้ยินแต่ชื่อ เพิ่งเคยเห็นต้นจริงๆ วันนี้แหละ พี่นิมชวนเราทำกิจกรรมที่เรียกว่า Nature Game แบบง่ายๆ โดยให้เราหาต้นไม้คนละต้นแล้วหลับตากอดเขาไว้นิ่งๆ ใช้หูฟังทุกเสียงที่ได้ยิน แล้วมาคุยกันว่าใครได้ยินเสียงอะไรบ้าง ไม่ต้องเล่าต่อก็น่าจะพอรู้นะว่าเมื่ออยู่ในป่าลึกจะมีเสียงมากมายขนาดไหนให้เราได้ยิน แค่เรา…ฟังบ้าง
เมื่อก่อนเราก็อยากให้ผู้คนที่มาเจอเราได้รับรู้ข้อมูลมากมายเรื่องธรรมชาติ เพื่อให้เขารักธรรมชาติ แต่เราพบว่า ข้อมูลและการรับรู้ด้วยสมองนั้นมันลืมง่าย
หลายปีมานี้เราจึงทำหน้าที่เป็นสะพานให้เด็กๆ และผู้คนได้รู้สึกกับธรรมชาติ “รู้สึกนะไม่ใช่แค่รู้จัก” เพราะการรู้จักหาข้อมูลที่ไหนก็ได้ แต่การรู้สึกต้องพาไปเจอจริงไปสัมผัสจริง ถึงจะบอกได้ว่ารู้สึกอย่างไร กับป่า กับช้าง กับทาก อย่างที่เราไปเจอมานั่นแหละ พี่อ๋อ บอกพวกเรา
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่จึงออกแบบทุกกิจกรรมที่มุ่งไปที่เรื่องนี้ ทั้งกิจกรรมพาน้องเดินป่า กิจกรรมหมอยาน้อย หรือแม้แต่กิจกรรมรณรงค์ มาตรการ 4 ม ขอไม่มาก ที่เรามาเจอน้องๆ กำลังทำกิจกรรมในวันนี้ เพื่อให้น้องได้เจอจริง สัมผัสจริง และรู้สึกกับมัน วันนี้อยู่ในป่ารู้สึกได้ว่าอากาศดี เย็นสบาย วันที่อากาศร้อนอบอ้าวในเมือง เขาจะรู้สึกได้ด้วยตัวเอง หากเขาจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้อากาศดีมันคงอยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามมากๆ สำหรับสะพานแห่งนี้
และความโชคดีของที่นี่คือ การมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นห้องเรียนห้องใหญ่ มีหลากหลายวิชาให้เรียนรู้ในห้องเรียนห้องนี้
กิจกรรมธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารต้านเศร้าได้
ในทริปนี้ไม่ใช่มีแค่พวกเรา แต่มีพี่ที่จบด้านจิตวิทยา และอาจารย์ที่ทำงานนิทานสำหรับเด็กร่วมทริปไปกับพวกเราด้วย ทุกวันพวกเราจะได้แลกเปลี่ยนเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่ากิจกรรมของแต่ละที่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะเอา STEAM หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 มาจับ แต่ละกิจกรรมตอบโจทย์เหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างรายละเอียดตามกิจกรรม เพราะเบื้องต้นของการออกแบบกิจกรรมคำนึงถึงสิ่งเหล่าเป็นหลักอยู่แล้ว มิใช่การมุ่งเน้นให้ท่องจำและทำข้อสอบ เพราะฉะนั้นในทุกกิจกรรมมันคือทักษะที่จำเป็นในการประกอบชีวิตต่อไปในอนาคตของเด็ก
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสะดุดใจมากๆ พี่เขาเล่าว่า ข้อมูลจากการรับโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต พบว่าช่วงนี้เด็กๆ มีความเครียด ความกังวล จากเรื่องเรียน เรื่องครอบครัว ปัญหาความรัก และมีภาวะซึมเศร้า การอยู่บ้านอยู่หน้าจอเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีกิจกรรมอื่นใดเลยส่งผลให้เด็กจัดการความเครียด จัดการภาวะซึมเศร้าได้ยากกว่า
“การแก้ภาวะซึมเศร้าคือการต้องให้ร่างกายหลั่งสารต้านเศร้า และกิจกรรมธรรมชาติ ช่วยได้”
ทั้ง 5 พื้นที่เรียนรู้ 5 กลุ่มที่ไม่ไกลจากเมืองหลวง มีห้องเรียนรู้หลายแบบ มีหลายวิชา ทุกวิชาไม่ต้องท่องจำและไม่ต้องทำข้อสอบ ที่พร้อมให้เด็กๆและผู้คนที่สนใจได้ไปเรียนรู้ ได้ไปลองใช้ชีวิต เพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ในช่วงที่ระบบการศึกษาอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิตแบบทุกวันนี้ ห้องเรียนห้องใหญ่ 5 ห้องนี้น่าจะช่วยเติมเต็มและเป็นทางเลือกสำคัญที่ทุกคนกำลังตามหาอยู่ก็ได้